- ปัญหาเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะมาจากโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้เกิดภาวะจนเฉียบพลัน ผู้ปกครองตกงานไม่มีรายได้ หรือโดนลดเงินเดือน หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น เป็นตัวเร่งให้เด็กๆ หลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น จากข้อมูลของกสศ. รายงานว่าสิ้นปีการศึกษา 2564 อาจมีจำนวนเด็กหลุดจากระบบประมาณ 65,000 คน
- ‘การศึกษา’ ที่ควรเป็นสิ่งเข้าถึงง่าย เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับ แต่สถานการณ์ ณ วันนี้ ทำให้เราตั้งคำถามว่า การศึกษากำลังกลายเป็นสิ่งของที่เราต้องมีเงินมากพอหรือไม่ ถึงจะคว้าได้ หรือไม่ทำให้ตัวเองตกจากขบวนรถไฟแห่งนี้
- The Potential ชวน เฟลอ – สิรินทร์ มุ่งเจริญ นิสิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่ม Spring movement พูดคุยในประเด็นดังกล่าว
836,535 เป็นตัวเลขจำนวนนักเรียนในกลุ่มยากจนพิเศษจากจำนวนนักเรียนในการศึกษาภาคบังคับกว่า 7 ล้านคน (ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือกสศ. ในปี 2562) ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงและต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษเพื่อให้ยังอยู่ในระบบต่อไปได้
แต่ปัญหาเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะมาจากโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้เกิดภาวะจนเฉียบพลัน ผู้ปกครองตกงานไม่มีรายได้ หรือโดนลดเงินเดือน ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น จากรายงานของธนาคารโลก อัตราความยากจนของประเทศไทยระหว่างปี 2558 – 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 จำนวนประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนเพิ่มขึ้นเป็น 6,700,000 คน
ปัจจัยเหล่านี้ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เด็กๆ หลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น จากข้อมูลของกสศ. รายงานว่าสิ้นปีการศึกษา 2564 อาจมีจำนวนเด็กหลุดจากระบบประมาณ 65,000 คน
‘การศึกษา’ ที่ควรเป็นสิ่งเข้าถึงง่าย เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับ แต่สถานการณ์ ณ วันนี้ ทำให้เราตั้งคำถามว่า การศึกษากำลังกลายเป็นสิ่งของที่เราต้องมีเงินมากพอหรือไม่ ถึงจะคว้าได้หรือไม่ทำให้ตัวเองตกจากขบวนรถไฟนี้
The Potential ชวน เฟลอ – สิรินทร์ มุ่งเจริญ นิสิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่ม Spring movement พูดคุยในประเด็นดังกล่าว
เมื่อการศึกษาเรียกร้องให้เด็กมีมากกว่าความสามารถในการเรียน
ปัญหาในกลุ่มวัยเรียน ณ วันนี้มีอะไรบ้าง เฟลอแชร์ว่า ปัญหาหลักๆ คือ ปัญหาในการเรียนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงอุปกรณ์ สภาวะการเรียนในตอนนี้เรียกร้องให้นักเรียน – นักศึกษาต้องมีอุปกรณ์หลายอย่าง หน้าจอหลายเครื่อง ทั้งๆ ที่สำหรับบางคนการมีหน้าจอเดียวยังยาก
“การมีอินเทอร์เน็ตไม่ใช่แค่มีอย่างเดียว แต่ต้องดีด้วย เพื่อใช้ในการเปิดกล้องเวลาเรียน หรือวิดีโอคอลทำงาน อุปกรณ์การเรียนที่ต้องมีสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ แล้วมีในหลายกรณีที่มันแย่มากๆ คือ เด็กต้องมีอุปกรณ์มากกว่า 1 เครื่อง เช่น มีแล็ปท็อปไว้เรียน มีไอแพดไว้จดเลกเชอร์ ซึ่งไม่ใช่สำหรับทุกคนที่จะทำแบบนั้นได้ บางคนจอเดียวยังยากเลย
“คณะเฟลอมีมาตรการช่วยนิสิต เช่น ซับพอร์ตด้านอินเทอร์เน็ต ให้นิสิตแจ้งความต้องการแล้วเขาจะให้ซิมไปใช้ หรือให้ยืมอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งก็โอเคในระดับหนึ่ง ส่วนฝั่งโรงเรียนเฟลอไม่แน่ใจว่ามาตรการแต่ละที่เป็นอย่างไร แต่เท่าที่ตามอ่านข่าวก็เจอเยอะมากว่า มีเด็กต้องหยุดเรียนเพราะไม่มีอุปกรณ์”
ปัญหาอีกอย่างที่เฟลอมองว่าสำคัญมาก คือ ปัญหาสุขภาพจิตในวัยเรียน ความเครียด ความกดดันในการเรียนจากเดิมที่มีอยู่แล้ว ยิ่งเกิดโรคระบาดทำให้ต้องเรียนอยู่บ้าน ไม่ได้ออกไปเจอเพื่อน สังคม ความเครียดเพิ่มขึ้น (อ่านบทความ โรคระบาด ความเครียด การฆ่าตัวตาย และสถานการณ์ที่วัยรุ่นทั่วโลกกำลังแบกรับ) ยิ่งในเด็กปฐมวัยที่การเจอเพื่อนถือเป็นหนึ่งปัจจัยในการพัฒนาทักษะการเข้าสังคม การตัดขาดเช่นนี้อาจส่งผลกระทบได้ เฟลอมองว่าควรมีผู้เชี่ยวชาญมาดูแลตรงนี้
“เด็กที่โตแล้วระดับม.ปลายหรือมหาวิทยาลัย เขาพอมีสังคมระดับหนึ่งที่จะ keep in touch ได้ อยู่คนเดียวได้ แต่เด็กเล็กอยู่ในช่วงพัฒนาทักษะเข้าสังคม เขาต้องได้เล่นกับเพื่อนเพื่อพัฒนาส่วนนี้”
สำหรับการรับมือของภาครัฐ เฟลอมองว่า ควรมีการจัดสรรงบเพื่อดูแลนักเรียน – นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบ กระจายให้ท้องถิ่นเป็นคนดูแล ไม่ใช่เปิดรับบริจาคเป็นรายคนเช่นที่เราเห็นในโซเซียลขณะนี้
“อยากให้ออกนโยบายให้แต่ละพื้นที่เขาจัดการตัวเองได้ ไม่ใช่ต้องพึ่งส่วนกลางรัฐ หรือระดับปัจเจกในการบริจาค ให้แต่ละท้องถิ่นมีอำนาจ อาจจะกระจายงบประมาณไปแต่ละที่ และให้โรงเรียนในท้องถิ่นสามารถใช้งบประมาณตรงนี้จัดซื้ออุปกรณ์การเรียนให้นักเรียน
“สิ่งที่อยากให้มีอีกอย่าง คือ สนับสนุนให้ครูประจำชั้นติดตามนักเรียนแบบจริงๆ เพราะแค่สอนตอนนี้คงไม่พอ ครูที่ปรึกษาหรือครูประจำชั้นต้องติดตามนักเรียนว่า มีปัญหาการเรียนไหม เข้าถึงได้หรือเปล่า ปัญหาสุขภาพจิตด้วย”
ทักษะการคิดวิเคราะห์ สิ่งที่ยังขาดในระบบการศึกษาไทย
ปัญหาในภาคการศึกษา ณ เวลานี้อาจไม่ได้มาจากโควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่มีอย่างยาวนาน สำหรับเฟลอมองว่า ปัญหาในระบบการศึกษาในไทยมีจำนวนมากและเป็นมายาวนาน ปัญหาแรก คือ การเข้าถึงการศึกษา มีเด็กไทยอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างแท้จริงเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่ทุกคนควรได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ฝั่งภาครัฐอาจจะมีนโยบายแก้ปัญหาส่วนนี้ เช่น เรียนฟรี แต่ว่าก็ยังคงมีคนที่ไม่ได้เรียน เพราะการเข้าถึงไม่ใช่แค่มีเงินเรียน แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การเรียน หนังสือเรียน หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ
สุดท้ายคนที่ไม่มีส่วนนี้ซับพอร์ตก็ต้องหลุดจากระบบการศึกษา หรือคนชายขอบ คนที่มีความบกพร่องทางการเรียน ก็ไม่สามารถ fit in (ปรับตัวให้เข้า) การเรียนปกติได้ ควรมีมาตรการที่ช่วยให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ จะเรียนแบบไหนก็ได้ โรงเรียนทั่วไป หรือโฮมสคูล แต่เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษา
ปัญหาที่สอง คือ หลักสูตรที่ค่อนข้างจำกัด อย่างเช่น ในระดับมัธยมตอนปลายมีสายเรียนให้เลือกไม่มาก โรงเรียนบางแห่งมีแค่ 2 ตัวเลือก สายวิทย์ – สายศิลป์ จำกัดทางเลือกเด็กว่าต้องเลือกสายเรียนตั้งแต่ม.3 ต้องวางแผนว่าจะเรียนอะไรต่อในอนาคต เนื้อหาในหลักสูตรเองก็ขาดการให้เด็กฝึกวิเคราะห์ เพราะเน้นการท่องจำ เนื้อหาหลายๆ อย่างก็ค่อนข้างเป็น propaganda เช่น หน้าที่พลเมือง
“ระบบการศึกษาบ้านเราทำให้รู้สึกว่าทุกอย่างเป็นการแข่งขัน เราถูกปลูกฝังว่าต้องแข่งขันตลอดเวลา ต้องเป็นที่หนึ่งของห้อง ต้องสอบเข้าโรงเรียนชื่อดัง เข้าคณะดีๆ ถึงจะได้รับการยอมรับ เด็กอยู่แต่กับการแข่งขัน โฟกัสที่การเรียน ความสามารถในการเรียน ถ้าเขามีความสามารถด้านอื่น เช่น ดนตรี วาดรูป ก็ไม่ได้รับการยอมรับเท่ากับด้านวิชาการ”
และปัญหาสุดท้ายที่ผู้ใหญ่บางคนอาจไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาหรือเกี่ยวข้องกับการเรียน คือ กฎในโรงเรียน
“ไม่ว่าจะกฎกระทรวงหรือกฎของโรงเรียนเอง เฟลอรู้สึกว่ามันค่อนข้างจำกัดสิทธิเสรีภาพของนักเรียน เช่น การกำหนดทรงผมนักเรียน กฎห้ามแต่งหน้า ห้ามทาเล็บ ฯลฯ เราไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องจำกัดไม่ให้เราแสดงความเป็นตัวเองออกมา ทำไมต้องพยายามทำให้เราทุกคนแต่งตัวเหมือนกัน ทำผมเหมือนกัน ให้คิดเหมือนกัน เป็นเซตเดียวกัน บางคนโดยเฉพาะผู้ใหญ่จะมองว่า ‘ไม่เห็นเกี่ยวกับเรื่องเรียนเลย จะมาเรียกร้องทำไม’ แต่สำหรับเฟลอคิดว่าเป็นปัญหาสำคัญ
“ต้องย้อนถามผู้ออกกฎว่า กฎที่ออกมามันเกี่ยวข้องกับการเรียนยังไง การตัดผมเกี่ยวกับการเรียนไหม? ไม่เกี่ยว แต่เป็นการคอนโทรลเด็กให้อยู่ใต้บังคับบัญชา ไม่เกี่ยวกับการศึกษาเลย เป็นเรื่องที่เราควรต้องพูดต้องคุย เพราะว่าเด็กควรเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพตั้งแต่ตอนนี้ เขาต้องเข้าใจเรื่องสิทธิเหนือร่างกายตัวเอง ถ้าเขาทำตามกฎแบบนี้มาตลอด โตไปเขาจะไปเป็นยังไง”
แนวโน้มระบบการศึกษาไทย
สถานการณ์ ณ ตอนนี้ คงทำให้เราบางคนตั้งคำถามว่า ในอนาคตการศึกษาไทยจะมีแนวโน้มเช่นไร เราต้องมีเงินเพื่อให้เข้าถึงได้ ต้องทำตัวให้ fit it กับระบบการศึกษาเพื่อให้อยู่รอด ความหมายของ ‘การศึกษา’ ในเวลานี้คืออะไร?
“การศึกษาสำหรับเฟลอ มันเป็นพื้นที่ที่ทำให้เด็กได้โตมาเป็นคนที่ตัวเองอยากเป็น ได้พัฒนาสิ่งที่ชอบ เรียนรู้อะไรที่เป็นทักษะพื้นฐาน ความถนัดของเด็กควรได้รับการสนับสนุน เป็นระบบการศึกษาที่เด็กโตมาแล้วรู้ว่าฉันชอบอะไร อยากทำอะไรในอนาคต ความหลงใหล (Passion) เขาอยู่ตรงไหน
“แต่เฟลอก็เห็นเหมือนกันว่า การศึกษากำลังถูกทำให้เป็นของเข้าถึงยาก ซึ่งเราจะปล่อยให้เป็นแบบนั้นไม่ได้เลย เพราะว่าการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะการศึกษาด้านไหนก็ตาม ทุกคนควรเข้าถึงได้ เมื่อไหร่ที่การศึกษาเริ่มกลายเป็นของสำหรับคนมีเงิน มันยิ่งทำให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำสูงมากขึ้น เราจะกำจัดความเหลื่อมล้ำหรือสร้างความเท่าเทียมอะไรไม่ได้เลย ในขณะที่ยังมีคนตกหล่นจากระบบการศึกษา
“ถ้าในประเทศที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ มันก็คงเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไร พอเป็นที่ไทยต้องใช้เงินในการเข้าถึง แถมต้องสามารถ fit in กับในโรงเรียนให้ได้ แค่การมีการศึกษาก็นับเป็น privilege (สิทธิพิเศษ) แล้ว” เฟลอทิ้งท้าย