- ในซีรีส์ ‘รักที่จะ…’ เราออกไปพูดคุยกับวัยรุ่น อดีตวัยรุ่น และคนทำงานกับวัยรุ่นในประเด็นหลากหลาย เพียงเพื่ออยากจะรู้ว่า ในวัยรุ่น เขาจะเปลี่ยนพลังที่พลุ่งพล่าน ไปสนใจเรื่องอะไร ไปหลงรักอะไร และด้วยเหตุผลอะไรบ้าง
- Dif Kids ขึ้นเวที Rap Is Now TWIIIO มาแล้ว ส่วน D3 ก็กำลังหลงไหลบีทและแร็ปอย่างหัวปักหัวปำ
- นี่คือรักที่จะแร็ป ว่าด้วยพื้นที่่แสดงออกทางความคิด ซึ่งแม้ความสุดโต่งจะพาให้พวกเขาไปอยู่ในความเสี่ยง และความรุนแรง แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการสมองวัยรุ่นที่ต้องการสร้างการยอมรับทั้งจากผองเพื่อน และรู้จักที่จะควบคุมตนเองไม่ให้เลยเส้นของกาลเทศะหรือเขตแดนที่จะพาตัวเองไปสู่ความยุ่งเหยิง
เรื่อง โกวิท โพธิสาร, รัชดา อินรักษา
“มึงยังกระจอกสัส กูให้มึงกลับไปหัดก่อน
ก่อนที่มึงจะออกหมัด แต่โดนกูตวัดศอก
กลับไปซะไอ้กลับกลอก มึงทำได้แค่เหน็บกัด
ยืนอยู่ตรงนี้กูมองมึงแม่งกระจอกสัส”
ความเกรี้ยวกราดจากท่อนแร็ปของเขาเป็นภาพตรงข้ามกับเด็กหนุ่มที่ปรากฏต่อหน้าเรา จากคำหยาบแทบทุกวรรคตอนของเพลงแร็ปเหลือเพียงมุกตลกคาเฟ่ที่เอาไว้หยอกหยิกพอได้หัวเราะในลำคอ
D3 (D-Three) ยีนส์-ยุทธพิชัย พุทธมนต์ วัย 25 ปี นั่งคุยกับเราพร้อม Dif Kids อะตอม-ศตายุ โปลิตานนท์ วัย 26 ปี แร็ปเปอร์หน้าตาเกลี้ยงเกลาที่วาจาจากบางบทเพลงนั้นทั้งรัว เร็ว รุนแรงจนอาจสร้างความขุ่นเคืองให้ทั้งโสตประสาทและความรู้สึก
“Shut Up ถ้าใจยังไม่กล้าพอ
เปรียบพวกมึงเป็นเหยื่อ กูนี่นักฆ่าไล่ล่าในหนังสยอง
อย่ามาคิด อย่ามาแร็พ อย่ามาสด อย่ามาหลบ
อย่ามาถาม อย่ามาตาม อย่ามาจด
อีก 1 วินาทีมึงคิดดีๆ มึงอาจจะกลายเป็นศพ”
บางวรรคตอนของการสนทนา เขาบอกกับเราว่าถ้อยคำเดือดดาลเหล่านั้นเป็นเพียงการแสดงอย่างหนึ่ง เพราะที่สุดแล้วชีวิตจริงไม่มีใครเที่ยวสาดกระสุนน้ำลายให้กับผู้คนได้ตลอดเวลาแบบนั้น บางคนเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน เป็นลูกที่น่ารักของพ่อแม่ และเป็นมนุษย์ที่ตระหนักเรื่องกาลเทศะอยู่เสมอ
แน่นอนว่าภาพลักษณ์ของเหล่าแร็ปเปอร์ไม่ได้ถูกฉาบด้วยสีพาสเทล แม้บทสัมภาษณ์ฉบับนี้อาจต้องกำชับว่าผู้อ่านอายุน้อยกว่า 18 ปีควรได้รับคำแนะนำจากผู้ปกครอง แต่สิ่งที่เราสนใจคือจังหวะไหนเป็นการเล่นตามเกมกลอน จังหวะใดคือวรรคตอนที่ต้องขีดเส้นสีแดงว่าจะไม่เดินล่วงล้ำเข้าไป
ทั้งสองเข้ามาสู่วงการแร็ปได้อย่างไร
Dif Kids: สำหรับผมคือเริ่มจากความชื่นชอบการแร็ปในเพลงป๊อป ซึ่งในไทยยังไม่มีแร็ปแบบนั้น ผมอยากจะนำเสนอแร็ปในมุมมองที่คนไทยไม่เคยทำ เลยมาศึกษาอย่างจริงจังมากขึ้น และเพิ่งรู้ว่าในประเทศไทยก็มี community นี้อยู่ อย่าง Rap is Now ผมก็เข้าไปศึกษาวัฒนธรรมเขาเป็นยังไง มีการแข่งแร็ปแบทเทิล (Rap Battle) ซึ่งปกติแล้วผมจะชอบทำเพลงอย่างเดียว แต่พอมีโอกาสได้ไปแข่งก็รู้สึกว่ามันก็เป็นตัวตนของเราเหมือนกัน รู้สึกสนุกกับมัน หลังจากนั้นก็เริ่มทำเพลง เริ่มแข่งมาเรื่อยๆ
D3: ของผมเห็นน้องชายไปแข่ง จริงๆ แล้วผมฟังแร็ปมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ก็ยังไม่ได้รู้เยอะขนาดนั้น สมัยก่อนมันไม่ได้กว้างขนาดนี้ มีฟลิป (flip) มีโฟลว (flow) อะไรแบบนี้ เพิ่งมารู้ทีหลังก็รู้สึกว่ามันสนุกดีครับ
ฉายา Dif Kids และ D3 มาจากอะไร
D3: ดีสามหรือดีทรี มาจากซอยบ้านผมครับ ตอนนั้นจะไปอัดเพลงนึกไม่ออก (หัวเราะ)
Dif Kids: ตอนปี 2016 ก็มาจากความชอบที่แร็ปในเพลงป๊อป ซึ่งอย่างที่บอกว่าตอนนั้นเพลงแบบนี้ไม่ค่อยมีในไทย เลยตั้งชื่อว่า Dif Kids มาจาก Different Kids หมายความว่าเด็กที่ไม่เหมือนใคร
แร็ปเปอร์ส่วนใหญ่มักถูกคนทั่วไปมองว่าพูดจาหยาบคายและก้าวร้าว ตัวตนที่แท้จริงของคุณสองคนเป็นแบบนั้นหรือเปล่า
Dif Kids: แล้วแต่คนนะ พูดจริงๆ บางคนก็หยาบโดยชีวิตประจำวันอยู่แล้ว อย่างยีนส์ (D3) ในชีวิตประจำวันก็เป็นคนพูดจากวนตีนอยู่แล้วใช่ไหม (หัวเราะ)
D3: ผมเป็นคนอ่อนน้อมครับ (หัวเราะ)
Dif Kids: อย่างตัวผมเองปกติก็ไม่ใช่คนแบบหยาบช้าขนาดนั้น แต่การแข่งแร็ปแบทเทิลเป็นการแข่งที่เฉือนกันด้วยถ้อยคำ ซึ่งเราจะมาพูดว่า คุณดีอย่างนู้น ดีอย่างนี้ มันอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่สนุกสำหรับเกม
D3: ถ้าสมมุติแร็ปแบทเทิลกัน แล้วต้องมานั่งถามกันว่า “คุณพ่อคุณสบายดีไหม” ก็ไม่ใช่ คืออยากให้มองในการใช้คำ เพราะก็มีหลากหลายรูปแบบคนที่ไม่หยาบคายก็มี พี่ตอม (Dif Kids) ก็แร็ปไม่หยาบคาย
Dif Kids: บางคนก็ชนะได้ด้วยคำที่สวยกว่า ไม่ใช้คำหยาบก็มี เลยทำให้คนอื่นมองว่าคิดได้ไงอะ คนทางบ้านรู้สึกแม่งคิดได้ไงวะคำนี้ คนก็เลยชอบ
การดิสแบทเทิล (Diss Battle) ซึ่งเรามักเห็นตามเวทีแข่งแร็ปมันเป็นอย่างไร
Dif Kids: การแข่งแบบดิสแบทเทิลพูดง่ายๆ คือแร็ปด่ากัน คนภายนอกมองว่ารุนแรง แต่พวกเรารู้กันอยู่ว่าเป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่ไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายอะไร เหมือนกับการชกมวย ต่างคนต่างเจ็บตัวแต่สุดท้ายคือ กีฬา
สาดคำหยาบใส่กันขนาดนั้นมีวิธีการควบคุมอารมณ์ตัวเองอย่างไร
Dif Kids: ยอมรับว่าตอนแข่งบางทีก็มีโกรธบ้าง รู้สึกแบบ “ไอ่เ -ี้ ยมันด่าเราว่ะ” แต่ก็ไม่ได้โกรธจริงๆ เพราะว่าเราเข้าใจตั้งแต่แรกอยู่แล้ว พอแข่งจบ พอเราถอยมาก้าวหนึ่งก็รู้สึกว่ามันเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง ส่วนมากมาเป็นเพื่อนสนิทกันหลังจากนั้นก็มี ทำเพลงด้วยกัน เยอะแยะเลย อย่างผม ไปแร็ปแบทเทิลกับเขาเสร็จ ออกมา “เฮ้ย ทำเพลงกันดีกว่า เราชอบอะ” คือได้สังคมใหม่ ได้เพื่อนใหม่ ไอ่คำหยาบนี่แหละพาเรามาเจอเพื่อนใหม่
D3: โกรธประเดี๋ยวประด๋าว ถ้าโกรธ จะโกรธที่รู้สึกว่าเราไม่มีโอกาสได้ตอบโต้แล้ว หมดบาร์แล้ว ซึ่งบางทีบางอย่างคำด่าจะจริงหรือไม่จริงบ้าง แต่ถ้าผมโกรธ แค่สองสามวันผมก็ลืมละ เหมือนที่แฟนเก่าลืมผม (หัวเราะ)
มีจำกัดตัวเองไหมว่าห้ามพูดหรือทำอะไรที่เป็นการล้ำเส้นอีกฝ่าย
Dif Kids: มีครับ ทั้งกายกรรมและวจีกรรม มีเส้นบางๆ กั้นอยู่ระหว่างความเหมาะสมและไม่เหมาะสมอยู่ ต้องไม่ล่วงเกินอีกฝ่ายหนึ่ง ถึงแม้เขาทำอะไร เราก็ต้องห้ามใจตัวเอง ไม่ควรให้มันเกิดขึ้น เราก็บอกไม่ได้ว่าเกินเลยมันคืออะไร
D3: เราต้องรู้อยู่แล้วว่าต้องเล่นแค่ไหน บางทีชัยชนะไม่ได้สำคัญขนาดให้เราไปทำร้ายคนอื่น
อะไรคือเกณฑ์การตัดสินแพ้ชนะของการแข่งขันดิสแบทเทิล ต้องหยาบกว่า ต้องสะใจกว่าหรือเปล่า
Dif Kids: เกณฑ์ง่ายๆ คือเสียงเชียร์ “เฮ” หรือคนดูชอบ ไม่จำเป็นเลยว่าต้องด่าเสมอไป บางคนชมจนอีกฝ่ายหนึ่งเขินแล้วชนะก็มี ไม่จำเป็นต้องหยาบเสมอไป
แต่ที่คนนิยมด่ากันด้วยคำหยาบบนการแข่งขันดิสแบทเทล เพราะว่าเป็นสิ่งแรกที่คนฟังแล้วเกิดเสียงเฮได้เลย แต่ถ้าเป็นคำชมคือ ต้องมาคิดก่อนว่าจะเฮดีไหม คนส่วนมากเลยใช้การด่าในการนำเสนอ
หมายความว่าเกณฑ์ตัดสินคือแล้วแต่คนชอบเหรอ
Dif Kids: ใช่ แล้วแต่คนชอบ แล้วแต่สไตล์ของเขา
แร็ปเปอร์ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยคำนึงถึงตอนแพ้ บางคนแพ้ขึ้นมาก็พาตัวเองไปในจุดที่เฟลมากๆ รู้สึกแพ้มากๆ จุดนั้นจะเป็นจุดอันตรายของแต่ละคน บางคนถึงกับเลิกทำไปเลย
ที่เปรียบการแร็ปเหมือนการเล่นกีฬา แสดงว่าต้องมีความคาดหวังถึงชัยชนะ ถ้าผลออกมาแพ้มีวิธีคิดกับสิ่งนั้นอย่างไร
Dif Kids: มีครับ แร็ปเปอร์ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยคำนึงถึงตอนแพ้ บางคนแพ้ขึ้นมาก็พาตัวเองไปในจุดที่เฟลมากๆ รู้สึกแพ้มากๆ จุดนั้นจะเป็นจุดอันตรายของแต่ละคน บางคนถึงกับเลิกทำไปเลย
ทุกการแข่งขันเราจะคาดหวังเล็กๆ น้อยๆ พอไม่ได้ดั่งใจเราจะรู้สึกเสียใจเล็กน้อย แต่สุดท้ายจะคิดว่าการแข่งแบทเทิลคือกีฬา มีแพ้ มีชนะ มีอภัยสำคัญที่สุด ถ้าเราอภัยให้ฝั่งตรงข้ามได้ อภัยให้ตัวเราเองที่ทำได้ไม่ดีได้ วันนึงเราก็เริ่มใหม่ Go on
D3: ผมรู้สึกผิดหวังมากกว่า อย่างการไม่เข้ารอบ หรือแพ้ ผมเคยแพ้แบทเทิลครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นก็ไม่ได้ขึ้นเวทีอีกเลย เปลี่ยนเป็นแข่งออดิโออย่างเดียว ขึ้นเวทีแล้วรู้สึกตื่นเต้นไม่มั่นใจ
ก่อนขึ้นเวทีเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
Dif Kids: แน่นอนว่าเตรียมเรื่องที่จะด่าฝ่ายตรงข้าม เรื่องที่จะทำให้คนดูชอบเรา ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น แต่ต้องซ้อมระดับหนึ่งให้สามารถขึ้นไปแล้วไม่ยืนเอ๋อ ไม่หลุด
ไรม์ (คำกลอน เนื้อหาในการแร็ป) แบบไหนที่ใช้ประจำ
Dif Kids: ของผมจะเป็นแบบเปรียบเทียบ เช่น ‘มึงลองกลับไปคิดดูสักนิด หน้ามึงไม่ต่างกับพวกเนติวิทย์’ ชอบการเปรียบเทียบให้เห็นภาพ สนุกดี ถือเป็นเอกลักษณ์ของผมเลยทุกรอบต้องมีเปรียบเทียบ
D3: เล่นมุกครับ ขึ้นอยู่กับว่าใช้กับใคร ต้องดูลักษณะดูท่าทางเขาก่อน จะเล่นเรื่องตลกเล็กๆ น้อยๆ เช่น เพลงที่ทำกับพี่ตอม (Dif Kids) ก็คิดคอนเซ็ปต์ก่อนว่าทำไมต้องชอบเรา ผมก็ ‘คบกับเรานี่แหละจะสบาย ดูดบุหรี่แบบนี้สามสิบปีผมก็ตาย ตายจริงก็เอาทรัพย์สินผมไปขายได้’
ตอนขึ้นเวที Rap is Now รอบไฟนอลออดิชั่น ระหว่าง Dif Kids กับ FXRD (ฟอร์ด) ทำไมต้องใช้คำดิสแบทเทิลกันรุนแรงบนเวทีขนาดนั้น
Dif Kids: แล้วแต่คนนะ บางคนก็ด่าเรื่องชีวิตประจำวันของอีกคนหนึ่ง บางคนก็ด่าเรื่องจดไหม (การเตรียมโพยมาบนเวที) สดไหมเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับผมช่วงเวลานั้นคือการแสดง ก่อนขึ้นเวทีผมยังคุยสนุกสนานกับน้องฟอร์ดอยู่เลย แต่พอขึ้นเวทีก็ฉะกันจริงจัง พอออกมาก็เป็นพี่น้องกันเหมือนเดิม สนุกสนาน
อย่าง HASSADIN (หัสดิน) ขึ้นแร็ปแต่ละทีเหมือนจะต่อยกัน
Dif Kids: ใช่ๆ ผมเจอหัสดินคนแรกเลยครับ ผมรู้สึกว่าแม่งมาว่ะแต่พอจบเกมก็ได้ไปคุยกับน้อง ซึ่งน้องก็ไม่ได้เป็นคนเลวร้ายอะไร ไม่ได้จะฆ่าผมตลอด คุยกันเหมือนคนปกติทั่วไปคุยกัน
แร็ปแบบใช้คำสุภาพบ้างไม่ได้หรือ
Dif Kids: เดี๋ยวนี้แร็ปแบทเทิลไม่ใด้มีแค่แร็ปด่ากันแล้ว สมัยนี้เหมือนเขาเปลี่ยนรูปแบบ อยากให้สังคมยอมรับมากขึ้น มีทั้งแร็ปชม แร็ปสรรเสริญอีกฝ่าย ปีนี้จะได้เห็นอีกหลายๆ รายการที่แบทเทิลด้านบวก แบทเทิลเพลงรักก็มี แบทเทิลโชว์สกิลก็มี ซึ่งเป็นอะไรที่ใหม่มากและเป็นเรื่องที่น่าสนใจดี
การแข่งเหมือนเป็นเกม เหมือนเราเป็นนักมวย ปกติเขาก็ไม่ได้ไปต่อยคนที่เดินผ่านไปผ่านมาอยู่แล้ว ก็ต่อยเฉพาะบนเวที
หลายๆ คนพอลงจากเวทีแล้วก็เป็นอีกคนเลย
Dif Kids: ใช่ๆ อย่างน้อง OAK (โอ๊ค) ที่เป็นแชมป์ Rap is Now Season 3 ปกติเป็นคนที่ถ่อมตัวมาก พูดเพราะ เคารพรุ่นพี่ พออยู่บนเวทีแม่งเอาตาย คือฆาตกร ซึ่งผมก็เคารพน้องนะ อยู่บนเวทีคีป (keep) ตัวเองได้ค่อนข้างดี
D3: อย่างเช่น RAFA (ราฟา) เป็นน้องที่เรียนด้วยกันตั้งแต่มัธยม ซึ่งตอนนี้ก็ทำเพลงด้วยกัน เป็นเด็กที่รู้กาลเทศะ เคารพรุ่นพี่ เป็นที่รักของทุกคน แต่พออยู่บนเวทีก็จะตั้งใจ โฟกัสเรื่องที่อยู่ตรงนั้น
Dif Kids: ส่วนใหญ่ชีวิตจริงของแร็ปเปอร์ ตอนแข่งกับชีวิตจริงจะเป็นคนละคนกันเลย บางคน กลางวันช่วยพ่อแม่ขายของ ตกเย็นมาแข่งแบทเทิล เป็นเรื่องธรรมดาของคนทั่วไป ไม่มีใครมานั่งด่ากันตลอดเวลา อย่างมาสัมภาษณ์ก็ไม่มีใครมานั่งด่ามึงอย่างงู้นอย่างงี้ การแข่งเหมือนเป็นเกม เหมือนเราเป็นนักมวย ปกติเขาก็ไม่ได้ไปต่อยคนที่เดินผ่านไปผ่านมาอยู่แล้ว ก็ต่อยเฉพาะบนเวที
แม้กระทั่งเพลงของ Dif Kids ที่ทำกับเพื่อนก็ต่างจากบนเวทีลิบลับเลยนะ ออกจะหวาน ว่าด้วยความรักแบบกุ๊กกิ๊กด้วยซ้ำ
Dif Kids: ร้อยละ 90 จะเป็นเพลงรัก รักมากๆ รักจนมดแดก รักแม่ รักเพื่อน รักแฟน แต่พอหลังๆ เมื่อเริ่มโตขึ้นก็อยากเล่าเรื่องกึ่งๆ ชีวิตบ้าง เช่น เล่าเรื่องอวดรวย มีฮิปฮอปเข้ามาบ้างซึ่งก็ทำร่วมกับน้องยีนส์ (D3) ด้วย เนื้อหาเพลงก็เล่าถึงชีวิตประจำวันของเราว่าเท่อย่างไรบ้าง อย่างเพลง ‘ไม่กล้าบอก’ ก็มาจากเรื่องของเราครับ ส่วนมากแร็ปเปอร์จะเล่าเรื่องตัวเอง เล่าเรื่องที่ตัวเองรู้สึก ซึ่งเพลงนั้นก็เป็นเพลงที่ผมรู้สึกและมีโมเมนท์ที่แอบชอบคนคนหนึ่งก็เลยแต่งมันขึ้นมา
เท่ากับว่าการเป็นแร็ปเปอร์คือการสร้างตัวตนอีกแบบหนึ่งของเรา ซึ่งมันมีตัวตนจริงๆ ของเราในนั้นบ้างไหม
Dif Kids: มีครับ ต้องมีอยู่ในนั้นไม่มากก็น้อย
D3: อย่างผมทำงานเครียด ผมก็หงุดหงิดงานแล้วผมก็ด่า อันนั้นก็อาจเป็นตัวตนที่ผมสร้างขึ้น
Dif Kids: เหมือนเรางัดด้านดาร์คไซด์ของเรามาเล่า ซึ่งปกติคนเราไม่ได้พูดเรื่องนี้ แต่เราสามารถพูดในเวทีที่เราไปแข่ง เหมือนงัดหยินงัดหยางมาพูด งัดด้านมืดเรามาพูด
D3: ดีนะผมไม่ค่อยมีด้านมืด (หัวเราะ)
การแร็ปแบทเทิลที่ใครๆ ก็พูดถึงคือในหนังเรื่อง ‘8 Mile’ พวกเราเป็นแบบนั้นไหม
Dif Kids: ผมคิดว่า ‘8 Mile’ ไม่เหมือนกับการแร็ปของไทย เพราะด่ากันเสร็จก็กลับไปด่ากันต่อ ไปยิงกันเลยก็มี ซึ่งมันตรงข้ามกับเมืองไทยว่าพอแร็ปกันเสร็จก็เป็นพี่น้องกันได้ แสดงให้เห็นความแตกต่างตรงนี้มากกว่า
แล้วรางวัลจากการแข่งขันแบทเทิลสำหรับพวกคุณคืออะไร
Dif Kids: สำหรับผมคือ คนกลับมาฟังเพลงเรามากกว่า ไม่คิดว่าจะต้องได้เงินไปต่อยอดในชีวิตประจำวัน แค่มีคนกลับมาฟังเพลงเรา มีคนติดตามผลงาน “เอ้ย ผมจำพี่ได้ พี่โดนด่าอย่างงั้น อย่างงี้” เราก็ดีใจแล้วที่เขาจำเราได้ในฐานะที่เราเป็นแร็ปเปอร์
D3: ผมแค่แร็ปก็ถือเป็นรางวัลแล้วครับ ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นมาก ปกติผมแร็ปอยู่บ้าน แร็ปกับเพื่อน แร็ปเล่นอยู่ทุกวัน
Dif Kids: แบบแค่แร็ปก็เป็นรางวัลชีวิตแล้ว
D3: ไม่ใช่หรอกพี่ ไม่มีคนฟัง (หัวเราะ)
โมเม้นท์ไหนที่ดีที่สุดสำหรับการแร็ปของคุณ
Dif Kids: ตอนนั้นนั่งรถไปกับพ่อแล้วได้ยินเพลงตัวเอง เพลง ‘ไม่กล้าบอก’ จากวิทยุ Seed Virgin HitZ เนื้อเพลงเกี่ยวกับความรัก การแอบชอบคนคนนึง
ซึ่งตอนนั้นรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราอยากทำมาตั้งแต่เด็กแล้วอยากมีเพลงของตัวเองขึ้นวิทยุ แล้ววันนั้นที่ได้ยินครั้งแรกเป็นโมเมนท์ที่เราไม่ได้ตั้งตัวจริงๆ พอได้ยินแล้วรู้สึกแบบ “เฮ้ย แร็ปแม่งสร้างเราได้ว่ะ” แร็ปแม่งยังอยู่ในประเทศไทยได้ สู้กับเพลงป๊อปได้ (หัวเราะ)
D3: ส่วนผมชอบตอนที่คนจำคำพูดเราได้ จำไรม์เราได้ ไม่ต้องจำหน้าผมก็ได้ เช่น “รังสิตผมเดินมาหมดแล้ว เพราะผมไม่มีรถ” “ต้องยกมือไหว้เพราะกูยืนใกล้ศาล ไม่ได้เป็นนักมวย แต่กูเป็นเบาหวาน” อะไรแบบนี้ เดินเข้าซอยมามีแต่คนทัก เพื่อนทักผมก็โอเค ปกติหน้าตาผมไม่ค่อยมีคนทัก (หัวเราะ)
แบบนี้จะสามารถทำเป็นอาชีพหลักได้หรือเปล่า
Dif Kids: ได้ครับ บางคนเป็นนักแร็ปแบทเทิลพอแข่งเสร็จ เขาจะมีคนฟัง มีคนชอบ ตามร้านอาหารหรือร้านเหล้าอยากได้ตัวไปเล่น คนแบบนี้ค่อนข้างเยอะ มันสามารถเกี่ยวโยงเป็นอาชีพได้ หลังแข่งแบทเทิลเสร็จ บางคนเลือกทำเป็นอาชีพหลักเลยก็มี
ปลายทางของคนทำเพลงแร็ปของคุณคืออะไร
Dif Kids: สำหรับผมคือความสุข บอกไม่ได้ว่าความสุขมาจากอะไร บางคนความสุขมาจากการชนะ บางคนมีความสุขจากการได้ขึ้นโชว์ แต่สำหรับผมไม่รู้เลยว่าความสุขคืออะไร บางทีแร็ปแล้วมีเด็กห้าขวบเดินมา “พี่ครับผมขอถ่ายรูปหน่อย” เออแม่งคือความสุขแล้ว แค่นั้นเอง เราอยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่ชื่นชอบฮิปฮอปก็พอแล้ว
D3: ปลายทางคือมีความสุขครับ ใจผมถ้าการแร็ปสามารถทำงานให้ผมได้พอสมควร ผมก็ออกมาทำแล้ว ประเด็นคือ ทุกวันนี้มันยังต้องกินต้องใช้ ยังต้องเหนื่อยอยู่ (หัวเราะ)
เช่นนั้นแล้วอาชีพหลักของคุณตอนนี้คืออะไร
Dif Kids: ทำเกี่ยวกับเพลงครับ เป็นครีเอทีฟของค่ายเพลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบอยู่แล้ว
D3: ผมเป็น consult เกี่ยวกับสถาปนิกครับ
Dif Kids: แต่ถ้าอยู่บ้านล่ะ?
D3: คนเศร้า (หัวเราะ)
ตอนแบทเทิลผมไม่อยากให้ฟังเลย อยากแชร์หน้าวอลแล้วตั้งให้พ่อแม่ไม่เห็นมากๆ กลัวเขาไม่เข้าใจ แต่สุดท้ายผมก็ไม่รู้ว่าเขาฟังหรือเปล่านะ แต่ไปเห็นแม่เมนท์ใต้คอมเมนท์ว่า “Dif Kids สุดยอดเลย” ซึ่งในนั้นแบบด่าว่า “ไอ้สัส” “ไอ้เหี้ย” เต็มไปหมดเลย
พ่อแม่เคยฟังเพลงแร็ปของเราหรือเปล่า
D3: ผมอยู่กับย่า ถ้าเป็นแทร็คแข่งจะไม่ฟัง เปิดปุ๊บย่าเดินไปนอนเลย ถ้าเป็นแทร็คเพลงก็ฟังไม่ทัน เปิดอยู่สามสี่รอบ เขาก็บอก “อือๆ ก็ดี”
Dif Kids: ตอนแบทเทิลผมไม่อยากให้ฟังเลย อยากแชร์หน้าวอลแล้วตั้งให้พ่อแม่ไม่เห็นมากๆ กลัวเขาไม่เข้าใจ แต่สุดท้ายผมก็ไม่รู้ว่าเขาฟังหรือเปล่านะ แต่ไปเห็นแม่เมนท์ใต้คอมเมนท์ว่า “Dif Kids สุดยอดเลย” ซึ่งในนั้นแบบด่าว่า “ไอ้สัส” “ไอ้เหี้ย” เต็มไปหมดเลย
แต่พอผมถอยมาก้าวหนึ่งคิดว่าเขาคงเข้าใจแหละ จากตอนแรกที่ไม่กล้าส่งให้เขาฟัง หลังๆ พอเราไปแข่งเราก็กล้าส่งให้เขาฟังบ้าง เขาเข้าใจกระบวนการทำงานของมัน สุดท้ายก็เป็นแค่เกม พ่อแม่ก็ฟัง และเขาก็แชร์เองด้วย จริงๆ ไม่อยากให้แชร์เท่าไหร่ เขินญาติพี่น้อง (หัวเราะ)
การเข้ามาสู่วงการนี้ พ่อแม่เป็นห่วงไหม
Dif Kids: เป็นห่วงๆ เขาคอยถามว่า คนนั้นโกรธไหม คนที่แร็ปด้วยกันโกรธหรือเปล่า ไปด่าเขาอย่างนั้นพ่อแม่เขาจะว่าอย่างไร
ครอบครัวมีส่วนทำให้เรามีความมั่นใจที่จะเป็นแร็ปเปอร์มากขึ้นไหม
Dif Kids: ให้เราในด้านกำลังใจมากกว่า อย่างน้อยบางงานคนอาจจะไม่ชอบเราทั้งสตูฯ เลยก็ได้ แต่มีแม่มาบอกเราว่า “ตอมเก่งนะ” ก็ทำให้เรามีกำลังใจไปต่อ
เราเห็นพัฒนาการของวงการแร็ปบ้านเราอย่างไรบ้าง ตั้งแต่แร็ปเปอร์ใต้ดินจนถึงบนดิน
Dif Kids: ผมมองว่าเด็กทั่วไปมีโอกาสมากขึ้น วันหนึ่งโอกาสก็อาจมาอยู่ที่เราก็ได้ ปัจจุบันมีแร็ปเปอร์จำนวนมากที่ดันตัวเองจาก underground ขึ้นมาเป็นสื่อกระแสหลักได้
แต่แร็ปมันยังไม่แมสขนาดนั้น เราไม่สามารถไปแร็ปร้านเหล้าได้ทุกร้านเหมือนนักดนตรีปกติ ต้องเป็นเฉพาะกลุ่มวันนั้นหรืออาจเป็นอีเวนท์ คิดว่าวันหนึ่งแร็ปจะกลับมาได้ กลับมาแบบทุกคนอยากฟังแร็ปทุกวัน
D3: สมัยก่อนยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ผมฟังแร็ปตั้งแต่ตอนนั้นทั้งๆ ที่ไม่รู้เลยว่าจะฝึกอย่างไร ต้องทำอะไร สมัยนี้กว้างไปหมด ใครๆ ก็สามารถแร็ปได้แล้ว มีเด็กแร็ปมากมายเกิดขึ้นในวงการนี้ มีทั้งกระแสหลักและกระแสรอง เช่น เพลงต้องเป็นแนวนี้ถึงจะเป็นที่นิยมในตอนนี้ ผมว่ามันก็วนๆ กันไป ถึงจะดูเหมือนว่าช่วงนี้บูมขึ้นจริงๆ แต่สุดท้ายแล้วก็จะเหลือแต่คนที่รักมันครับ
มีความคิดเห็นอย่างไรถ้าเด็กๆ อยากจะมาเป็นแร็ปเปอร์บ้าง โดยเฉพาะถ้ามองเรื่องท่าทีความกังวลของคนในครอบครัว
D3: ผมอิจฉาคนที่เริ่มตั้งแต่เด็กนะครับ แต่ถ้าถามว่าพ่อแม่จะว่าอย่างไร ถ้าเป็นพ่อแม่สมัยก่อนอาจจะแอนตี้ แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถห้ามเด็กได้หรอก เราเริ่มเร็วก็ดีเป็นตัวเราเอง แต่ว่าอย่าเอาตัวเองบนเวทีไปพูดกับพ่อแม่ การมีกาลเทศะสำคัญที่สุด
Dif Kids: แม่ก็บ่นนะว่าทำไมต้องหยาบคายขนาดนั้น แต่สุดท้ายแล้วก็มาถามเราว่าเป็นไงลูก สนุกไหม คือผู้ใหญ่สมัยนี้ค่อนข้างเข้าใจเรานะ
ถ้ามีเจตนาที่ดี ผมว่าผู้ใหญ่สมัยนี้ก็เข้าใจนะ ไม่มีพ่อแม่คนไหนไม่อยากให้ลูกทำสิ่งที่เขาชอบหรอกครับ ถึงแม้จะเป็นการด่ากัน แต่ถ้าเราลองมองดีๆ มันก็เป็นการเฉือดเฉือนด้วยถ้อยคำ ใช้คำหยาบแค่โมเมนท์นั้น ถ้าในชีวิตประจำวันเขาไม่ใช้ก็โอเค
Dif kids: สำหรับผมแค่อยากให้น้องคนที่อยากจะเป็นแร็ปเปอร์กลับไปถามตัวเองก่อนว่า คุณอยากเป็นแร็ปเปอร์จริงหรือเปล่า หรือแค่อยากมีชื่อเสียง อยากมีตัวตนในกลุ่มเพื่อน ผมว่าถ้าชอบจริงๆ ก็ทำแม่งเลย ชอบก็ทำ ถ้าเกิดเราชอบจริงๆ เดี๋ยวก็มีคนเห็นเราเอง