- ‘Connext Klongtoey’ คือโปรเจ็คต์ที่เล่าเรื่องจริงของ ‘ชุมชนคลองเตย’ ผ่านเสียงจริงของ ‘เด็กคลองเตย’ เสียงของเด็กๆ ถูกบอกเล่าผ่านศิลปะ 4 แขนงคือ แฟชั่น แร็ป ภาพถ่ายและลายสัก หลังจากได้เวิร์คช็อปอย่างเข้มข้นเป็นเวลาร่วม 2 เดือน
- ศิลปะทั้ง 4 แขนงนี้ จะทำให้เด็กๆ ในชุมชนคลองเตย เห็นคุณค่าของตัวเอง เรียนรู้และฝึกการคิดวิเคราะห์ (critical thinking) และสร้างพื้นที่ปลอดภัยได้
- กระบวนการเวิร์คช็อปในโปรเจ็คต์นี้ ช่วยทำให้เห็นมิติอื่นๆ ของเด็กคลองเตย เช่น ภาวะผู้นำ ที่พวกเขาไม่เคยเเสดงออกมา เช่น ภาวะผู้นำ
เรื่องเล่าที่เราเคยได้ยินมาเกี่ยวกับ ‘ชุมชนคลองเตย’ คงจะเป็นเรื่องเล่าที่พูดถึงพื้นที่สีเทา หรือชุมชนแออัดขนาดใหญ่ที่อุดมไปด้วยปัญหาต่างๆ สะสมไว้อย่างเรื้อรัง
แล้วในความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่?
นั่นอาจเป็นเพียง ‘ภาพจำ’ บางส่วนที่คนนอกยัดเยียดให้คลองเตย หาก ‘คนใน’ รู้ดีว่าชุมชนคลองเตยยังมีอีกหลายมิติ เพียงแต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะสื่อออกมาอย่างไรและสื่อออกมาเพื่ออะไร แล้วใครจะฟัง
โปรเจ็คต์ ‘Connext Klongtoey’ จึงเข้ามาเพื่อ เล่าเรื่องจริงของ ‘ชุมชนคลองเตย’ ผ่านเสียงจริงของ ‘เด็กคลองเตย’
เสียงจริงของเด็กๆ เหล่านี้ ถูกบอกเล่าผ่านศิลปะ 4 แขนงคือ แฟชั่น แร็ป ภาพถ่ายและลายสัก หลังจากได้เวิร์คช็อปอย่างเข้มข้นกับตัวจริงเป็นเวลาร่วม 2 เดือน
สองในสามตัวจริงคือ กลุ่ม Eye on Field นำโดย ‘เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย’ ‘นัท-นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล’ สองนักออกแบบผู้ก่อตั้ง และอีกหนึ่งคนสำคัญคือ ‘ครูโมสต์–สินีนาฏ คะมะคต’ กำลังสำคัญจากโครงการ Teach for Thailand ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 4 ที่สอนประจำในวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมต้น ในโรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนาชุมชนคลองเตย
โดยปลายทางของโปรเจ็คต์ จะถูกสื่อสารผ่านนิทรรศการงานศิลปะในงาน Bangkok Design Week วันที่ 26 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ นี้
เข้ามาร่วมทำโปรเจ็คต์นี้ ได้อย่างไร
นัท: เดิมทีเราทำงานเกี่ยวกับการผลิตสื่อต่างๆ เป็น creative เป็นคนที่ทำนิทรรศการ ทำภาพเคลื่อนไหว ผนวกกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ ซึ่งอยู่ในรูปแบบของงานศิลปะเชิงพาณิชย์ ภายใต้ทีมที่ชื่อว่า Eyedropper fill
และ Eye On Field ก็คือส่วนที่แตกหน่อมาจาก Eyedropper Fill ที่มีภาพจำหรือคาแรคเตอร์เดิม เป็นกลุ่มนักออกแบบที่ทำงานศิลปะ อยู่กับแสง สี เงา แต่ระหว่างทางที่ทำงานเราก็ค้นพบอีกเลเยอร์ที่เราสนใจนั่นคือเรื่องสังคม วัฒนธรรม การปกครอง การเมือง การศึกษา เพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตรอบๆ ตัว ดังนั้นงานหลักของ Eye on Field ในฐานะคนทำสื่อหรือนักออกแบบ เราจึงพยายามหาช่องทางที่จะเข้าไปมีส่วนรวมกับสังคม ไม่ว่าจะในรูปแบบของงานวิดีโอ งานกราฟิก เวิร์คช็อป สารคดี นิทรรศการ เพราะเชื่อว่าสื่อทุกประเภทมันสามารถช่วยขยายเนื้อหา สร้างสะพานเชื่อมระหว่างคนทั่วไปให้เข้าถึงได้หมด
เราจึงเป็นตัวกลางที่ช่วยทำให้คนที่อาจจะไม่ได้อินเรื่องสังคมสามารถเข้าใจคอนเทนต์นั้นได้ โดยที่คอนเทนต์นั้นจะต้องเฉียบคมและมีประโยชน์ ซึ่ง Connext Klongtoey เป็นโปรเจ็คต์แรกที่ Eye on Field ได้ทดลองทำ
Eyedropper fill กับ Eye on Field แตกต่างกันไหม
เบสท์: หลังจากการได้ทำ Eye on Field เราทำงานลงพื้นที่มากขึ้น ทำงานกับชุมชนมากขึ้น มันทำให้เราได้เปิดดวงตา ได้พบปะมนุษย์อย่างหลากหลาย เราไม่ได้สื่อสารกับกลุ่มคนที่เป็นลูกค้าหรือเอเจนซีเหมือนแต่ก่อน มันทำให้เราพบกลุ่มคนอีกหลายๆ แบบที่เราต้องพยายามคิดว่าจะทำอย่างไรให้สื่อสารไปถึงพวกเขา
และเมื่อเราไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องทำงานกับใครแค่กลุ่มหนึ่ง มันทำให้เห็นเฉดของความเป็นมนุษย์หลายแบบขึ้น ส่งผลให้ ศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ มันสามารถสื่อสารได้กับคนทุกรูปแบบจริงๆ
มาเป็น Connext Klongtoey ได้อย่างไร
เบสท์: โดยส่วนตัวเรามีความสนใจเรื่องการศึกษาอยู่แล้ว พวกเราเคยเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยทางการศึกษา เราเลยอินกับเรื่องนี้
“เราสองคนเป็นเด็กเรียนวิทย์-ที่ไม่ใช่เด็กวิทย์ โดนกดดันให้เรียนด้านวิทย์มาตลอด ทั้งที่เราชอบอาร์ต ชอบศิลปะ บวกกับโรงเรียนก็ไม่ได้มีอะไรที่ตอบโจทย์เราเลย พอเวลาผ่านไปจนเราเข้ามหาวิทยาลัยทำให้โลกของเราเปิดกว้างขึ้น พอได้เริ่มทำงานด้านศิลปะ มีโอกาสได้กลับไปบรรยายในโรงเรียนมัธยมต่างๆ แล้วพบว่า เฮ้ย มันยังเหมือนเดิม”
เด็กยังบ่นเรื่องเดิม เด็กยังเจอกับปัญหาแบบเดิม จึงเริ่มอยากทำอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับการศึกษาจนได้มาเจอกับครูโมสต์
ทำไมต้องทำโปรเจ็คต์กับ ‘เด็กคลองเคย’
“หนูเรียนไม่เก่ง ในโรงเรียนไม่วิชาไหนที่หนูชอบเลย ถ้าเรียนไม่เก่งแต่เอาตัวรอดได้ นี่หนูโคตรชอบเลย” ประโยคของเด็กหญิงคนหนึ่งในชุมชนคลองเตย จากในวิดีโอ
ครูโมสต์: อย่างที่เรารู้กันดีว่า การศึกษาไทยมักใช้มาตรวัดทางด้านวิชาการในการตัดสินเด็ก นั่นคือ เด็กจะต้องเรียนเก่ง สอบติดมหาวิทยาลัย ซึ่งถ้ามองย้อนดูเด็กในคลองเตย พวกเขาไม่ได้เก่งวิชาการเลย ติดศูนย์-ซ้ำชั้นเป็นเรื่องปกติ เรียนไม่จบก็ไม่เป็นไร เด็กไม่มีความฝัน ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ซึ่งการใช้มาตรวัดเช่นนี้ ทำให้เด็กคลองเตยส่วนใหญ่คิดว่า เขาไม่มีคุณค่า เขาเรียนไม่เก่ง เขาเป็นเด็กสลัม เขารู้สึกว่าตัวเองโง่ แต่ในความเป็นจริง เด็กคลองเตยหลายๆ คนเขาก็มีศักยภาพในตัวเอง มีเเววบางอย่างที่สามารถต่อยอดไปในสายอาชีพ ใช้ทำมาหากินได้ เราจึงอยากให้เขาเจอทางตัวเอง ภูมิใจในตัวเอง เรียนไม่เก่งไม่เป็นไร เด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องเก่งวิชาการ จึงอยากทดลองทำโปรเจ็คต์นี้ขึ้นมา
กระบวนการ ตั้งแต่ต้น-กลาง-จบ ของโปรเจ็คต์นี้เป็นอย่างไร
ครูโมสต์: โปรเจ็คต์นี้จะถูกแบ่งเป็นสามช่วง pre work shop – workshop – exhibition เราจะแบ่งหน้าที่กันชัดเจนว่าใครทำอะไร ครูจะช่วยประสานงานกับตัวเด็ก-ดูแลเด็ก ส่วนทีม Eye on Field ช่วยออกแบบกระบวนการเวิร์คช็อป จัดหาวิทยากร โดยเริ่มจากการสร้างความใกล้ชิดกับเด็กในชุมชนคลองเตยก่อน เริ่มสำรวจพฤติกรรม ลงพื้นที่ชุมชนจริงๆ สร้างความคุ้นเคยกับเด็ก ส่วนที่มาที่ไปของศิลปะ 4 สาขา 4 แขนง ก็เกิดขึ้นจากความสนใจของเด็กทั้งหมด โดยสำรวจโพลว่าเด็กคลองเตยชอบอะไร สนใจอะไร อยากเรียนอะไร ซึ่งผลลัพธ์ออกมามีหลากหลาย ทั้งอยากเป็น Youtuber อยากเรียน Photoshop อยากถ่ายภาพ เราสกัดมาจนเหลือ 4 แขนง ที่พอจะเกิดขึ้นจริงได้ นั้นคือ ‘แฟชั่น แร็ป ถ่ายภาพ ลายสัก’
เบสท์: เมื่อเราเคาะ 4 สาขาออกมาได้แล้ว เราก็จัดหาวิทยากรที่จะมาช่วยถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ซึ่งฟิลเตอร์ที่เราต้องการจากวิทยากรที่จะมาร่วมทำงานด้วยกัน คือต้องมีใจที่จะช่วยเด็กจริงๆ และต้องเข้าใจบริบทสังคม อาจจะเคยทำงานกับเด็กมาก่อน หรือเคยทำงานด้านสังคม เช่น HockHacker ที่ช่วยสอนแร็ปก็คลุกคลีอยู่กับประเด็นสังคม เราก็เชิญเขามา
ครูโมสต์: เวลาสำหรับ pre- workshop คือ ช่วงหลังเลิกเรียน ประมาณ 4 โมง – หนึ่งทุ่ม ส่วนเนื้อหาที่นำมาสอน ขึ้นอยู่กับวิทยากรจะออกแบบมา ส่วนช่วงเวิร์คช็อปจะเต็มวัน อาจจะเป็นวันธรรมดาหรือว่าเสาร์-อาทิตย์ เพราะว่ามันเป็นช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา
เด็กจะได้ประโยชน์อะไร จากการลงมือทำจริงในศิลปะ 4 แขนง
เบสท์: ประโยชน์ที่เด็กจะได้จากในคลาสต่างๆ ก็คือ ความรู้ทักษะจากวิทยาการที่ถ่ายทอดให้ ตัวอย่างเช่น เริ่มต้นจากคลาสถ่ายรูป (photo) เด็กหลายคนเข้ามาเพราะแค่อยากมีกล้องถ่ายรูป อยากโดนถ่ายรูป ไม่ได้อยากได้เรียนรู้จริงๆ ซึ่งเราไม่ได้ไปบังคับ ปล่อยอิสระตามธรรมชาติของเด็ก ถ้าคุณอยากเรียนก็มา ไม่ได้มีการเช็คชื่อ โดยเราให้เด็กแต่ละคนเขียนเล่าเรื่องก่อน ฝึกให้เขาเล่าเรื่อง จากนั้นก็เริ่มให้ออกไปถ่ายรูปในชุมชน แล้วกลับมาตั้งวงคุยกันว่า คุณคิดอย่างไรกับภาพนั้น เป้าหมายเราไม่ได้ฝึกเด็กให้เป็นช่างภาพ ต้องถ่ายเก่ง ถ่ายสวย ถ่ายเชิงเทคนิค แบบมืออาชีพ (แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ดี) ในเบื้องต้นเราแค่อยากทำให้คลาสนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เขาจะสื่อสารสิ่งที่ตัวเองคิด พูดคุยกันผ่านศิลปะ ผ่านรูปถ่าย และฝึกให้เขาคิดวิเคราะห์ (critical) กับภาพที่ตัวเองถ่าย ซึ่งเราจะไม่เจอวิธีคิดเช่นนี้ในห้องเรียน
ส่วนคลาสแร็ป เป้าหมายของเราก็ไม่ใช่การปั้นให้เขาเป็นแร็ปเปอร์ แต่เราฝึกความเป็นทีมเวิร์ค ให้เขารู้จักว่าการผลิตเพลงขึ้นมาสักเพลง มันต้องมีหน้าที่อะไรบ้าง คุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนแร็ป คุณเป็นคนทำบีท (beats) หรือจังหวะก็ได้ คุณเป็นโปรดิวเซอร์ เป็นผู้จัดการค่ายก็ได้ ให้เห็นว่าทุกตำแหน่งมีคุณค่าในตัวเองเหมือนกัน
คลาสต่อมา คือการออกแบบแฟชั่น เริ่มจากการให้เด็กวาดรูปออกแบบชุดขึ้นมา มีทั้งรูปนก รูปเรือ รูปหมวดปริญญา โดยเหตุผลที่วาดคล้ายๆ กัน ว่ารูปที่เขาวาดจะเป็นพาหนะที่ช่วยให้เขาออกจากชุมชนนี้ไปได้
สุดท้ายคลาสสักลาย ข้อค้นพบเลยคือมันเฟล แรกๆ เด็กให้ความสนใจในคลาสนี้เยอะมาก เพราะเขาคิดว่าตัวเองจะได้สัก อยากโดนสัก แต่เมื่อเข้าเวิร์คช็อปไปเรื่อยๆ พอรู้ว่าต้องเรียนวิธีการสัก รู้เรื่องลายสัก เด็กกลับไม่สนใจ จนสุดท้ายก็ไม่เหลือนักเรียนในคลาส
ซึ่งทีมเรากับครูโมสต์ไม่ได้รู้สึกเสียใจ โปรเจ็คต์นี้เป็นโปรเจ็คต์ทดลอง อะไรก็เกิดขึ้นได้ เราไม่ได้คาดหวังให้มันสวยหรู ปล่อยตามธรรมชาติของเด็ก เมื่อไม่เหลือเด็กก็ไม่เป็นไร ผลลัพธ์นี้มันสะท้อนอะไรบางอย่างขึ้นแล้ว
การเวิร์คช็อปทำให้เด็กเปลี่ยนไปไหม?
นัท: เราไม่ได้ต้องการเปลี่ยนเด็กคลองเตยให้เป็นเด็กดี เราไม่ได้ตั้งใจที่จะ change klongtoey เราก็แค่คนธรรมดาคนหนึ่ง แอบเขินเสียด้วยซ้ำที่โปรเจ็คต์เรามีคนสนใจเยอะ เพราะจริงๆ แล้ว เราอาจเป็นแค่ส่วนจุลภาคมากๆ แค่อยากเปลี่ยนทัศนคติของเด็กที่เขามีต่อตัวเอง เพียงไม่กี่คน แค่นั้นเอง
ครูโมสต์: แต่การเวิร์คช็อปครั้งนี้ เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กในห้องเรียน บางคนเปลี่ยนเเทบจะเป็นอีกคนหนึ่ง
“เราเห็นมิติอื่นๆ ของเขาเมื่อเขาอยู่ในกระบวนการเวิร์คช็อป เห็นภาวะบางอย่างที่เขาไม่เคยเเสดงออกมา เช่น ภาวะผู้นำ เขาสามารถเเบ่งงานให้เพื่อนๆ ได้โดยที่ไม่ได้ใช้อำนาจเผด็จการ แต่เป็นการแบ่งและพูดคุยตามศักยภาพของเพื่อน” ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารู้สึกประทับใจมากๆ
ซึ่งครูเองก็ได้เรียนรู้จากกระบวนการของโปรเจ็คต์นี้เยอะมากเช่นกัน เราเห็นมิติของเด็กเยอะขึ้น แม้กระทั่งกระบวนการของภาพถ่ายเอง ถึงแม้ไม่ได้แสดงออกถึงภาวะอะไรมากเหมือนพวกแร็ปที่ต้องทำงานกลุ่ม แต่ว่าภาพถ่ายเป็นเครื่องมือในการบอกเล่าความคิดข้างในของเขาออกมา ทำให้เราได้เรียนรู้บุคลิกนิสัยใจคอ ของเด็กได้ชัดเจนมากขึ้น
โปรเจ็คต์ช่วยบอกอะไรกับสังคม
ครูโมสต์: อยากให้เห็นภาพหัวใจของการศึกษา การศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก คือการให้เด็กได้ลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นเด็กคลองเตยหรือเด็กที่ไหน ถ้าอยากให้เขามี critical thinking (การคิดวิเคราะห์) ก็ควรจะให้เขาลงมือค้นหาอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง
ในโปรเจ็คต์นี้เราใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือเท่านั้นเอง แต่เป้าหมายหลักคือการให้เขาค้นหาตัวเอง ฝึกการคิดวิเคราะห์ ทำให้เขามีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง พวกเขาไม่ได้โง่ คุณมีดีแค่คุณยังไม่เห็น เพราะไม่มีโอกาสได้ทำอะไรนอกเหนือจากการเรียนแบบเดิมๆ คุณไม่มีคนมาชื่นชม ไม่มีคนมาสนับสนุนให้คุณรู้สึกภูมิใจ เพราะฉะนั้น ปลายทางเราจึงคิดให้มี exhibition เพื่อให้เด็กคลองเตยเอาผลงานของตัวเองมาโชว์ ให้คนอื่นได้เห็น ได้ชมเชยงานของพวกเขา อย่างน้อยก็ได้พูดคุยกับคนอื่น น่าจะทำให้เขารู้สึกภูมิใจในตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเองมากยิ่งขึ้น
เบสท์: อย่างที่ครูโมสต์บอก
“เด็กคลองเตยมักมีภาพติดลบกับตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่ฉลาด แต่ถ้าไปดูในเนื้อเพลงหรือรูปถ่าย จะเห็นว่าเขาทำได้ดี อย่างน้อยก็ใช้เนื้อเพลงหรือรูปถ่ายแสดง inside อะไรบางอย่าง ช่วยลดความรู้สึกไม่ดีกับตัวเองไปได้ประมาณหนึ่ง”
ที่เราใช้ชื่อโครงการว่า Connext สะกดด้วยตัว x เพราะอยากให้เป็นพื้นที่เชื่อมต่อและก้าวไปข้างหน้าด้วย ให้คนในคลองเตยกับคนภายนอกเขาได้ Connext กัน โดยที่ไม่มีฟิลเตอร์หรือภาพจำเดิมๆ ที่เคยเหมารวมมองว่าพวกเขาเป็นอย่างไร ซึ่ง Connext มันดันเกิดขึ้นกับทีมเราด้วย อย่างเบสท์เองที่ลงไปขลุกอยู่กับเด็ก ได้เรียนรู้ผ่านเรื่องราวหลายๆ อย่างที่ค่อนข้างเซนซิทีฟ ดูเหมือนทุกอย่างเชื่อมต่อกันไปหมด และดูทุกอย่างมันก้าวไปด้วยกัน
NEXT STEP ของ Connext คลองเตย คืออะไร
ครูโมสต์: เราคุยกับทีม Eye on Field ไว้ ว่าอยากให้สิ่งที่เราร่วมกันทำมานี้มันไม่สูญเปล่า อยากให้มันยั่งยืน อยากเอาโปรเจ็คต์นี้ส่งต่อให้กับครูท่านอื่นๆ นำไปพัฒนาต่อ
นัท: สำหรับเรามองว่าโปรเจ็คต์มันค่อนข้างประสบความสำเร็จในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่พอได้ทำแล้วเราปล่อยวิดีโอออกมา เราช็อกโคตร ‘เฮ้ย ทำไมคนแชร์เยอะ ทำไมคนสนใจ ทำไมมีสื่อหลายสำนักมาสัมภาษณ์ แสดงว่าปัญหาเรื่องการศึกษา หรือปัญหาเรื่องเด็กคลองเตยมันเป็นเรื่องที่คนรู้สึกอยู่แล้ว แล้วดันไปกระทบใจของเขา
ดังนั้นก้าวต่อไปที่เราอยากเห็นและหวังว่ามันจะเกิดก็คือการพัฒนาเด็กที่ร่วมเข้าเวิร์คช็อปกับเรา ในงาน exhibition ที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ จากศิลปะ 4 แขนง จะมีเด็กประมาณ 10 คน ซึ่ง เด็ก 10 คน ก็มี 10 แบบ ถ้าพวกเขาได้รับโอกาสต่อไปก็น่าจะดี