- กินหอยนางรมสดอย่างไรให้ปลอดภัย? โจทย์ตั้งต้นที่ แม๊ค – ภานุรุจ นิลรัตน์ นักศึกษาสาขาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานีได้รับ
- ‘เหตุผลที่ทำให้คนกินท้องเสียเพราะแบคทีเรียในหอยที่มาจากการล้างไม่สะอาด’ ข้อค้นพบที่แม๊คเจอและนำมาประดิษฐ์เครื่องมือที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว นั่นคือ Clean Oyster เครื่องล้างหอยนางรม ลดเชื้อเอมบริโอในหอยนางรมสด
- ความน่าตื่นเต้นไม่ใช่แค่เจ้าเครื่องล้างหอยนางรม แต่เป็นระหว่างทางที่แม๊คสร้างสิ่งประดิษฐ์ คือการทำความเข้าใจปัญหา โดยต้องเปลี่ยนบทบาทจากจากผู้วิจัยไปเป็นผู้ถูกวิจัย จากคนไปเป็นหอย และจากห้องทดลองไปสู่ท้องทะเล
เพราะการที่นวัตกรรมสักชิ้นจะสามารถแก้ปัญหาให้ผู้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวนวัตกรจำเป็นต้อง “เข้าให้ถึง” ปัญหา จึงจะสามารถออกแบบนวัตกรรมที่มีศักยภาพขึ้นมาได้
นวัตกรส่วนใหญ่จึงมักเก็บเกี่ยวปัญหาใกล้ตัวที่คุ้นชิน มาตั้งเป็นโจทย์ในการริเริ่มทำงาน
สำหรับ ภานุรุจ นิลรัตน์ หรือ แม๊ค นักศึกษาสาขาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี แม้ว่าที่บ้านคุณพ่อจะเป็นตำรวจ และคุณแม่ประกอบอาชีพค้าขาย ซึ่งฟังดูแล้วไม่มีเหตุปัจจัยอะไรเชื่อมโยงหรือส่งผลให้แม๊คเติบโตมาทางด้านไอทีหรือนวัตกรรมเลย แต่กลายเป็นว่าตัวแม๊คกลับมีความหลงใหลในการงัดแงะแกะประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยความอยากรู้อยากเห็นมาตั้งแต่เด็ก จนกลายเป็นฐานให้เขาเติบโตขึ้นมาทางสายนวัตกรโดยไม่รู้ตัว
และประกอบกับที่เป็นเด็กสุราษฎร์ตั้งแต่เกิด ทำให้แม๊คคุ้นชินกับหอยนางรม ซึ่งเป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดมาตั้งแต่เด็ก และตัวเขาเองก็ชอบทานหอยนางรมสดเป็นชีวิตจิตใจ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์หอยนางรมทำพิษจนเขาต้องนอนแบบไปร่วมสัปดาห์
ประสบการณ์ใกล้ตัวนั้นเองที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนและเป็นแรงผลัก ทำให้แม๊คเกิดความตั้งใจที่จะหันหน้าเข้าหาความเป็นนวัตกรอย่างเต็มตัว มุ่งแก้ปัญหาให้ชุมชนด้วยการใช้ความหลงใหลส่วนตัวด้านไอทีมาเป็นทักษะสำคัญในการพัฒนานวัตกรรม
แล้วแม๊คทำอะไร? และสิ่งที่แม๊คทำจะเชื่อมโยงไปช่วยชุมชนได้อย่างไร? ลองไปฟังแม็คเล่ากันดู…
เชื่อมโยงเรื่องส่วนตัว ไปสู่ประเด็นส่วนรวม
เป็นที่ทราบกันว่า หอยนางรมสดนั้นนอกจากจะอุดมด้วยแร่ธาตุและวิตามินมากมายแล้ว มันยังมีแบคทีเรียวิบริโอ วัลนิฟิคัส (Vibrio Vulnificus) ที่สามารถทำให้ผู้ที่ทานเข้าไปเกิดอาการอาหารเป็นพิษ คอและหน้าบวม หายใจไม่ออก หรือบางรายอาจช็อคเสียชีวิตได้ ซึ่งแม๊คเคยเจอมากับตัวเอง
“ปัญหาที่เจอ คือ ผู้รับประทานหอยนางรมสดที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมักจะเกิดอาการท้องร่วงท้องเสีย ส่วนตัวผมก็เคยเป็น พูดได้ว่าเป็นฝันร้ายในการกินหอยนางรมของผมทีเดียว ท้องร่วงเกือบสัปดาห์”
แต่ด้วยความที่ชอบทานหอยนางรมมาก ประกอบกับเมื่อขยายมุมมองออกจากตัวเองไปสู่ชุมชนแล้วพบว่า ปัญหาแบคทีเรียในหอยนางรมไม่ได้สร้างปัญหาให้ตัวแม๊คคนเดียว หากแต่ส่งผลถึงเศรษฐกิจของจังหวัดสุราษฎร์ธานีเลยทีเดียว
“จังหวัดสุราษฎร์ธานีของขึ้นชื่อคือหอยนางรม พอมีข่าวออกมาว่าหอยนางรมสดทานแล้วเป็นแบบนี้ เศรษฐกิจบ้านเราก็ซบเซา ไม่ค่อยมีใครซื้อหอยนางรม เลยนำแนวคิดจากปัญหานี้ไปคุยกับอาจารย์ ว่าเราจะทำอย่างไรให้ชุมชนของเราดี ถ้าเราแก้ปัญหาให้หอยนางรมของเราสด สะอาด ปลอดภัย ปราศจากแบคทีเรีย น่ารับประทานมากขึ้น ก็จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้หอยนางรมของเรา”
ปัจจุบันแม๊คอายุ 21 ปี แน่นอนว่าหอยนางรมมีอยู่มาก่อนที่แม๊คจะลืมตาดูโลก และแน่นอนว่าต้องไม่ใช่มีแม๊คคนเดียวที่อาหารเป็นพิษจากแบคทีเรียวิบริโอในหอย เมื่อตระหนักว่ามันต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการแบคทีเรียในหอยนางรมอยู่แล้ว แม๊คจึงเริ่มหาคำตอบ โดยการเข้าถึงกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากแบคทีเรียในหอยมากที่สุด นั่นก็คือ แม่ค้าขายหอยนางรม
จากการลงไปขุดคุ้ยหาข้อมูล ทำให้แม๊ครู้ว่าการจะทำให้หอยนางรมปราศจากเชื้อโรค 100% นั้นคือต้องทำให้หอยสุก แต่การทานสุกให้รสสัมผัสที่แตกต่างไปจากการทานสด พ่อค้าแม่ค้าขายหอยจึงใช้องค์ความรู้ดั้งเดิมคือ การล้างด้วยโซดา ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ก่อนจะพบว่าวิธีดังกล่าวเป็นมายาคติ เพราะเมื่อแม๊คนำหอยที่ล้างด้วยโซดากับหอยที่ไม่ได้ล้างอะไรเลยไปตรวจวิเคราะห์เปรียบเทียบกัน ค่าเชื้อโรคยังคงเท่าเดิม แถมการล้างด้วยโซดายังให้ผลทางลบต่อภาพลักษณ์ของสินค้าด้วย
“การล้างด้วยโซดา แม่ค้าต้องแกะหอยเพื่อแช่น้ำโซดา ทำให้ความเป็นกรดของหอยลดลง แต่ผลที่ตามมาก็คือหอยที่ผ่านการแกะแช่จะมีสีขุ่นและมีกลิ่นที่เปลี่ยนไป แต่ถ้าเป็นหอยสดที่ไม่ผ่านการแช่ สีจะขาวนวล ผู้บริโภคก็เลือกที่จะไม่ซื้อหอยแกะ”
การใช้องค์ความรู้ดั้งเดิมจึงมีอันตกไป แต่ไฟของแม๊คยังไม่หมด เขาเกิดความคิดว่าในเมื่อกระบวนการแบบเดิมใช้ไม่ได้จริง เขาก็ควรจะต้องสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาแทนที่ โดยเชื่อมโยงตัวเองไปสู่ประเด็นปัญหา ใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างทักษะทางช่างอิเล็กทรอนิกส์ สร้างเครื่องล้างหอยนางรมขึ้นมา
“ผมมาเรียนด้านนี้เพราะส่วนตัวสนใจเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อยู่แล้ว ตอนเด็กๆ ชอบงัดแงะแกะซ่อม ตั้งแต่ ป.5 ป.6 ได้คอมพิวเตอร์มาใหม่ ซื้อลำโพงมาตัวหนึ่งเพราะอยากฟังเพลงดังๆ แต่สงสัยทำไมไม่ดังสะใจ เลยลองแกะดีไอวายเอง เอาลำโพง 2 – 3 ตัวมาต่อพ่วง สรุปโหลดเกินพังทั้งชุด (หัวเราะ) แต่ก็ยังไม่หยุด ด้วยความเป็นคนขี้สงสัย ก็ยังรื้อต่อไปด้วยความสงสัยว่าทำไมแกะแล้วพัง เลยเลือกมาเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อจะได้ซ่อมสิ่งต่างๆ ได้”
ทำอย่างไรให้หอยอ้าปาก?
ธรรมชาติของหอยนางรมนั้นอยู่ได้ด้วยการอ้าปากดูดน้ำกินแพลงตอนและออกซิเจนที่อยู่ในน้ำเพื่อดำรงชีวิต ก่อนจะปล่อยน้ำทิ้งออกไปจากตัว คุณสมบัติของหอยนางรมในมุมหนึ่งจึงไม่ต่างอะไรกับเครื่องกรองน้ำ ที่คอยกรองสารแขวนลอยต่างๆ รวมไปถึงเศษหินเศษดินและเชื้อโรคต่างๆ ที่อยู่ในน้ำ เข้าไปกักเก็บไว้ในตัวเอง
โจทย์ในการล้างหอยนางรม จึงอยู่ที่การทำให้หอยอ้าปาก ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถทำความสะอาดชะล้างแบคทีเรียและเศษดินเศษหินในตัวหอยได้
“จะทำอย่างไรให้หอยนางรมยังคงสดแต่ปราศจากเชื้อโรค พวกเราจึงไปหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับธรรมชาติของหอยนางรมจากผู้เลี้ยงหอยซึ่งจะมีความรู้และประสบการณ์เรื่องหอยมากกว่าพ่อค้าแม่ค้า ได้ไปพูดคุยและหาข้อมูลแล้วเกิดความคิดปิ๊งขึ้นมาว่า จะล้างอย่างไรก็ได้ให้หอยมันอ้าปาก เพื่อที่จะให้มันคายเศษดินเศษหิน รวมทั้งพวกเมือกพวกเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในกระเพาะของหอยออกมาให้หมดด้วย”
แต่ประเด็นก็คือ เครื่องล้างหอยนางรมเวอร์ชันแรกที่แม๊คและทีมพัฒนาขึ้น และนำไปทดลองกับผู้ใช้โดยตรงนั้น ไม่สามารถทำให้หอยอ้าปากได้ทุกตัว
กระบวนการจึงต้องย้อนกลับมาสู่การค้นคว้าหาคำตอบ ผ่านการแสวงหาข้อมูลความรู้และการทดลอง ซึ่งแม๊คบอกว่าเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความอดทนและเวลานานที่สุดในการพัฒนาเครื่อง
การทดลองครั้งแล้วครั้งเล่าผ่านไป แม๊คและทีมต้องพบกับความล้มเหลวหลายครั้ง เพราะมุ่งหาคำตอบในฐานะคนนอก จนกระทั่งแม๊คเริ่มปรับมุมมองใหม่ ลองเปลี่ยนสถานะจากผู้วิจัยไปเป็นผู้ถูกวิจัย จากคนไปเป็นหอย และจากห้องทดลองไปสู่ท้องทะเล
“การทดลองว่าทำอย่างไรให้หอยอ้าปาก วิธีแรกเราใช้ปั๊มน้ำเจาะถังแล้วฉีดที่ตัวหอย ปรากฏมันไม่อ้าปากเลย เหมือนแค่มีสิ่งรบกวนรอบๆ ตัวหอยเฉยๆ วิธีที่สองผมทดลองทำเป็นสเปรย์ฝอยฉีดบนผิวน้ำ ก็ไม่อ้าปากเหมือนเดิม ทีนี้ตอนอยู่ในทะเลหอยมันอ้าปาก ผมจึงไปค้นคว้าว่าในทะเลมีอะไรบ้าง ไปเจอบทความหนึ่งเกี่ยวกับคลื่นน้ำว่ามีความสำคัญช่วยให้หอยจับแพลงตอนกินได้ จึงมาดัดแปลงเครื่องล้างหอยของเราให้มีตัวทำน้ำวนเพื่อสร้างน้ำวนใต้น้ำ ปรากฏว่าหอยอ้าปากและสามารถคายเศษดินเศษสกปรกออกมาได้ ส่วนพวกเศษดินเศษสกปรกก็จะถูกระบบทำน้ำวนดูดออกไปยังถังกรองด้านล่าง ซึ่งวิธีนี้ได้ผลดีที่สุด”
และไม่ใช่เพียงรูปแบบการเคลื่อนที่ของน้ำที่ใช้ล้างเท่านั้นที่เป็นปัจจัยทำให้หอยอ้าปาก ทว่าคุณสมบัติของน้ำก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่แม๊คและทีมต้องใช้เวลาศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลอยู่นาน กว่าจะได้คำตอบ ซึ่งขอบเขตการค้นคว้าของพวกเขานั้น ขยายไปถึงการอ่านงานวิจัยต่างประเทศเลยทีเดียว
“พวกผมไปเจอบทความหนึ่งที่ว่า ค่า PH25 ของหอยนางรมเป็นค่าหลักที่ทำให้หอยนางรมอ้าปาก คือตอนแรกเครื่องของเราใช้น้ำเปล่าหรือน้ำประปาผสมกับเกลือในการล้าง ซึ่งหอยนางรมไม่อ้าปากเพราะค่าความเค็มไม่ถึงค่า PH ของมัน เราจึงแก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนมาใช้น้ำทะเลที่สำรองกันไว้ในที่ต่างๆ เช่น ในบ่อกุ้ง หรือน้ำทะเลของกรมประมง สรุปคือเราต้องใช้น้ำทะเลที่มีค่ามาตรฐานอยู่ที่ PH25-30 หอยจะอ้าปากทุกตัว”
นั่นคือองค์ความรู้ที่แม๊คและทีมค้นพบ ที่ทำให้เครื่องล้างหอยนางรมของพวกเขามีประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างสมบูรณ์
ทว่าโจทย์ที่พวกเขาต้องแก้ก็ยังไม่หมดไป…
ความถนัดไม่พอ ต้องต่อยอดทักษะอื่น
การประดิษฐ์เครื่องล้างหอยนางรมของแม๊คกับเพื่อนนั้น ใช้ฐานคิดในการทำงานแบบ PDCA (วงจรการบริหารงานคุณภาพ ย่อมาจาก Plan (วางแผน), Do (ปฏิบัติ), Check (ตรวจสอบ) และ Act (การดำเนินการให้เหมาะสม) ซึ่งวงจร PDCA สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกๆ เรื่อง) ที่มีสอนอยู่ในหลักสูตรอยู่แล้ว ทำให้พวกเขารู้ว่าก่อนที่จะประดิษฐ์อะไรขึ้นมาสักชิ้น มันควรเริ่มจากอะไร?
“ก่อนจะประดิษฐ์อะไร เราต้องหาข้อมูลให้ครบ เพราะถ้าเราลงทุนไปแล้วเกิดไม่สำเร็จ ทุนก้อนนั้นจะหายไปเลย ผมจึงเริ่มต้นจากไปคุยกับพ่อค้าแม่ค้าว่า ถ้าพวกผมจะผลิตเครื่องล้างหอยนางรม พวกเขามีความต้องการอย่างไรบ้าง เขาก็บอกว่าขอเป็นเครื่องที่เคลื่อนย้ายได้สะดวก และด้วยพ่อค้าแม่ค้าก็จะไม่ถนัดด้านเทคโนโลยีนัก เราจะทำเครื่องที่เทคโนโลยีสูงนักก็ไม่ได้ เลยออกแบบเครื่องล้างหอยเป็นแนวรถเข็นไอศกรีมเพื่อให้เคลื่อนย้ายได้สะดวก และให้มีการใช้งานโดยการกดเพียงปุ่มสวิตช์เดียวเครื่องก็จะทำงานไปเรื่อยๆ คือ เรารวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาออกแบบเครื่องให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด”
นั่นคือที่มาของผลงาน Clean Oyster เครื่องล้างหอยนางรม ลดเชื้อเอมบริโอในหอยนางรมสด ที่แม๊คและทีมประดิษฐ์ขึ้น และส่งผลงานเข้าร่วมในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปีที่ 7
จริงอยู่ว่าการใช้ทักษะความสามารถของตนเองเป็นฐานในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์จะเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมได้มากที่สุด ทว่าในโลกแห่งความจริงที่ทุกสิ่งเชื่อมร้อยโยงใยกันเป็นสหวิทยาการ องค์ความรู้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจไม่เพียงพอต่อการประดิษฐ์นวัตกรรมที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการส่วนตัว ความต้องการของผู้ใช้ สภาพความเป็นจริง และปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจได้
กล่าวคือการพัฒนาเครื่องล้างหอยนางรมนี้ แม๊คและเพื่อนร่วมทีมไม่สามารถใช้ทักษะความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์ได้เพียงอย่างเดียว แต่สถานการณ์บีบบังคับให้พวกเขาต้องเปิดใจที่จะเรียนรู้และฝึกปรือทักษะด้านอื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อให้ผลงานไปถึงเป้าหมาย
“ความรู้ที่มีอยู่ในตัวอยู่แล้วคือ เรื่องวงจรควบคุม การทำงานของเครื่อง การประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด แต่สิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมคือ งานเหล็ก งานเชื่อมสเตนเลสแต่ละแบบ คือตอนแรกเราใช้โครงสร้างเหล็ก ก็พบปัญหาเป็นสนิม จึงต้องเปลี่ยนโครงสร้างใหม่เป็นสเตนเลสทั้งหมดเพื่อให้ใช้งานได้นานขึ้น เราก็ไปหาข้อมูลว่าเหล็กอะไรที่มีความทนทานสูง ก็ได้ว่าเป็นสเตนเลส แม้จะราคาสูงกว่าเหล็ก แต่เมื่อเทียบกับไทเทเนียมที่ราคาสูงกว่ามากซึ่งผู้ใช้รับราคาไม่ได้ จึงเลือกเป็นสแตนเลส”
เข้าให้ถึงทุกซอกเร้นของประเด็นปัญหา
เพราะขอบเขตของการพัฒนาเครื่องล้างหอยนางรมถูกวางเอาไว้เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนไว้แต่ต้น ดังนั้น การพัฒนาจนเครื่องมีประสิทธิภาพ สามารถทำให้หอยอ้าปากและล้างได้หมดทุกตัว จึงยังไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์ดังกล่าวได้
เพราะในมิติของการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ มีอีกหลายด่านที่แม๊คและเพื่อนต้องจัดการปิดช่องโหว่ ทั้งการเปลี่ยนวัสดุถังกรองและถังล้าง ที่เริ่มต้นจากการใช้พลาสติก แต่เมื่อถูกน้ำเค็มไปนานๆ ก็เริ่มกรอบแตก แม๊คและทีมจึงต้องมองหาวัสดุใหม่ ภายใต้โจทย์ที่ว่า ต้องทนต่อน้ำเค็ม ก่อนจะฉุกคิดถึงเรือไฟเบอร์ของชาวประมง และนำไอเดียมาผลิตถังกรองและถังล้างจากไฟเบอร์ ซึ่งมีความทนทานและใช้งานได้ดี
ทั้งเรื่องการการันตีความสะอาดปลอดเชื้อของหอยนางรมที่ผ่านเครื่องล้าง แม๊คและทีมก็ได้ส่งตัวอย่างหอยนางรมที่ผ่านการล้างด้วยเครื่อง ไปทดสอบที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และได้ข้อสรุปว่าต้องใช้เวลาล้างนาน 4 ชั่วโมงจึงจะล้างแบคทีเรียออกได้ดีที่สุด พร้อมทั้งได้การการันตีว่า ผู้บริโภคสามารถรับประทานหอยนางรมสดได้โดยไม่เป็นอันตราย
แต่ที่น่าประทับใจที่สุดเห็นจะเป็นความละเอียดในการเข้าถึงผู้ใช้ ด้วยการมองหาโซลูชั่นสำหรับแม่ค้าขายหอย ว่าถ้าหากแม่ค้าไม่สามารถหาน้ำทะเลมาใช้ในการล้างหอยได้ แล้วจะทำอย่างไร?
“เราทดลองเรื่องน้ำที่ใช้ล้าง โดยลองใช้น้ำผสมเกลือล้างดู ก็ได้ค่าแบคทีเรียเท่าเดิม ใช้น้ำทะเลก็ล้างออกบ้างแต่ไม่หมด เพราะน้ำทะเลแต่ละแหล่งค่าความเค็มไม่ได้มาตรฐานเท่ากัน สุดท้ายทดลองใช้น้ำเปล่าผสมเกลือสมุทรที่ไม่ใส่ไอโอดีน ซึ่งทำให้หอยอ้าปากได้เหมือนกัน ที่ทดลองตรงนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้ใช้ที่ไม่มีน้ำทะเลหรือบ้านอยู่ไกลทะเล ก็สามารถใช้น้ำประปาผสมเกลือสมุทรมาใส่ทดแทนได้”
จะเห็นได้ว่าแต่ละขั้นตอนของการพัฒนาผลงาน ตั้งแต่ Plan-Do-Check-Act คือความทุ่มเทตั้งใจในการแก้โจทย์ไปทีละเปลาะ บนฐานของการมองให้ลึกถึงแก่นปัญหา และมองให้กว้างถึงขอบเขตของการแก้ปัญหา เรียกได้ว่าแม๊คและทีมพยายามอย่างยิ่งที่จะ “เข้าให้ถึง” ทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้อง ทั้งความต้องการของผู้ใช้ ธรรมชาติของหอยนางรม และตัวชิ้นงาน
เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้…
“ด้วยนิสัยเป็นคนอยากค้นหา ถ้าอยากรู้อะไรจะหาคำตอบให้ได้โดยหาให้ตรงจุด เมื่อเราพบปัญหาอะไรก็ค้นคว้าก็สอบถาม เมื่อได้คำตอบก็เอามาทดลองทำ ถ้าไม่สำเร็จก็ไปค้นคว้าต่อ ถ้าสำเร็จก็ดีใจเพราะถือว่าเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จเราเพิ่มขึ้น การทดลองซ้ำไปซ้ำมาก็อาจทำให้เบื่อบ้าง แต่เราตั้งใจทำแล้วต้องทำให้ประสบความสำเร็จให้ได้ นี่คือส่วนตัวของผม”
ถึงวันนี้ เครื่องล้างหอยนางรม Clean Oyster อาจยังเป็นเพียงตัวต้นแบบ แต่ด้วยความตั้งใจแรกที่ยังมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงของแม๊ค ว่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้นให้ได้ ก็ทำให้เชื่อได้ว่า สักวันผลงานชิ้นนี้จะต้องถูกผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ได้เป็นผลสำเร็จ
และเมื่อนั้น ผู้บริโภคก็จะได้กินหอยอย่างหรอยแรงกันถ้วนหน้า…
“สุดท้ายเราต้องเข้าสู่เชิงพาณิชย์ให้ได้ อยากให้ได้ขายถึงมือพ่อค้าแม่ค้าหอยนางรม เพราะเครื่องนี้สามารถเพิ่มมูลค่าหอยได้ 10-15 บาทต่อตัว และหวังว่าจะเป็นส่วนช่วยให้เศรษฐกิจบ้านเรากลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง ธุรกิจค้าขายหอยนางรมน่าจะดีขึ้น ผู้บริโภคก็เกิดความมั่นใจว่าได้รับประทานหอยนางรมที่สดสะอาดปลอดภัยแน่นอน”