- เต๋า บีบอยวัย 23 กับเวลา 9 ปี ในสนามการแข่งขันและสนามซ้อมป้อมพระสุเมรุ
- ทางลัดความสำเร็จของเต๋า คือการแพ้อย่างต่อเนื่องในช่วงแรก แต่ต้องเปิดใจ ห้ามหมดไฟและดับวินัยในตัวเองเด็ดขาด
- “ล่าสุดผมได้รับเชิญให้เข้าสมาชิกกลุ่ม B-Boy นานาชาติในแถบเอเชีย มีทั้งเกาหลี จีน ไทย เวียดนาม และลาว หน้าที่ของผมคือฝึกฝนตัวเองให้เต็มที่ เพราะต่อให้เก่งระดับโลกแค่ไหน ถ้าทำตัวไม่ดีก็ไม่มีใครรัก สุดท้ายโลกที่เราสร้างขึ้นจะกลับมาทำร้ายตัวเราเอง”
“หากอยากประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องพยายามเท่าไร อดทนแค่ไหนถึงจะพอ?”
ถ้าความสำเร็จมีฟอร์มูลาร์หรือสูตรคิดคำนวณตายตัว เราคงไม่ต้องมานั่งตั้งคำถามและปวดหัวกับการค้นหาคำตอบให้กับชีวิต
นั่นสิ…ในเมื่อไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เราจะวัดความสำเร็จในชีวิตได้จากอะไรกันแน่?
จากใบปริญญา จากรายได้ที่ได้รับ จากคำชื่นชมของเจ้านาย จากการยอมรับของเพื่อนร่วมงาน จากโปรโมชั่นหรือการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง จากโบนัส จากความภาคภูมิใจในตัวเอง หรือจากเวลาที่มีเหลือเฟือเพียงพอให้ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ฯลฯ
The Potential พูดคุยกับ กันตภณ รอดสอาด หรือ เต๋า B-Boy หนุ่มวัย 23 ถึงสนามซ้อม ณ ป้อมพระสุเมรุ กับเส้นทางการเรียนรู้วิถี B-Boy ตลอดระยะเวลา 9 ปี กระทั่งได้แชมป์ทุกสนามการแข่งขันในประเทศไทย ความสำเร็จที่ใช่ว่าจะได้มาง่ายๆ แต่เขากลับบอกว่า ความสำเร็จคือการไม่ติดกับดักความสำเร็จ เพราะการแพ้หรือชนะไม่สำคัญเท่าการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงทั้งในสนามฝึกซ้อมและในสนามแข่งขัน
เปลี่ยนปมชีวิตลบให้เป็นสมการบวก
ย้อนกลับไป 9 ปีก่อน สมัยยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เวลา 2 ทุ่มเป็นเวลาเคอร์ฟิวที่เต๋าต้องกลับบ้านให้ทันเวลา โชคยังดีที่บ้านอยู่ไม่ไกลจากป้อมพระสุเมรุมากนัก เมื่อตกหลุมรักการเต้น B-Boy เต๋าจึงไม่สร้างข้ออ้างขึ้นมาเป็นอุปสรรค เขารับผิดชอบด้วยการพาตัวเองกลับบ้านได้ทันเวลาแม้ว่าต้องมาซ้อมเต้นทุกวัน
ความตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ถึงที่สุดมีที่มาจากความสนใจในสิ่งนั้นก่อน แล้วจึงอยากเรียนรู้อยากลงมือทำ เต๋าเล่าว่า B-Boy ไม่ได้เป็นการเต้นประเภทแรกที่เขาได้ลองฝึกฝน เห็นคาแรคเตอร์ปัจจุบันกวนๆ แบบนี้ ก่อนหน้านี้เต๋าเคยเต้นลีลาศ และ K-Pop มาก่อน
“ผมเห็นน้องคนหนึ่งแถวบ้านเต้น B-Boy อยู่ ตอนนั้นผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่า B-Boy คืออะไร เต้นกันแบบไหน รู้แค่ผมชอบเต้นเลยบอกน้องว่าอยากลองฝึกดูบ้าง บ้านผมอยู่แถวพระราม 8 ไม่ไกลจากตรงนี้ ตอนแรกผมชวนเพื่อนอีกคนมาด้วยเพราะผมเป็นคนขี้อายมากไม่กล้ามาคนเดียว ครั้งแรกได้เต้นก็ชอบเลย ผมชอบบรรยากาศที่ได้มาพบเจอพี่ๆ น้องๆ ที่นี่ ทุกคนเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้ผมอยากมาซ้อมทุกวัน” เต๋า เล่าถึงความรู้สึกรักแรกพบ จุดเริ่มต้นในการเต้น B-Boy ของเขา
นอกจากการไม่กล่อมตัวเองให้หยุดซ้อม ด้วยข้อจำกัดที่หากสรรหาคงมีข้ออ้างได้มากมายแล้ว การยอมรับตัวเอง เป็นอีกสเต็ปหนึ่งที่จะทำให้คนคนหนึ่งก้าวเดินไปในเส้นทางความฝันได้อย่างมีเป้าหมายและไม่โซซัดโซเซ
“ผมเป็นเด็กกำพร้าทั้งพ่อและแม่ จุดนี้ทำให้ผมผลักดันตัวเองมากขึ้น ผมไม่ได้เป็นคนเรียนดี แต่ในห้องเรียนผมขยันตลอด หลังเลิกเรียนถึงมาเต้น พอเราเริ่มมีรายได้จากการเต้น B-Boy ผมเก็บเงินสะสมไว้เป็นค่าเทอมให้ตัวเองเพราะไม่อยากรบกวนพ่อแม่ที่เลี้ยงดูผมมา ผมเคยคิดกับตัวเองเหมือนกันว่าทำไมผมมีไม่เหมือนคนอื่น งานวันเด็ก งานวันพ่อ งานวันแม่ พ่อแม่คนอื่นมากันแต่ผมไม่มีเลย
“โตขึ้นหน่อยผมก็คิดได้ว่าคิดไปก็เท่านั้น เพราะถึงจุดหนึ่งคนเราต้องแยกจากกันอยู่ดี ถึงเราไม่มีเหมือนคนอื่นก็ไม่เป็นไร เราสามารถเป็นคนดีได้ เอาบทเรียนในชีวิตมาสร้างอนาคตของตัวเองได้ ผมคิดเสมอว่าถ้าผมมีครอบครัวมีลูก ผมจะไม่ทิ้งเด็กคนหนึ่งให้ต้องใช้ชีวิตแบบที่ผมเคยเจอ” เต๋า กล่าวด้วยแววตามุ่งมั่น
เกรดเฉลี่ยจากห้องเรียนนอกตำรา
จังหวะ เสียงดนตรี และความท้าทายในการคิดออกแบบ และจดจำท่วงท่า เป็นเสน่ห์ของศิลปะการเต้น B-Boy ที่ทำให้เต๋าหลงใหล แต่เต๋ายืนยันว่า การทำสิ่งที่หลงใหลให้ได้อย่างต่อเนื่องต้องใช้ ‘ใจ’ ล้วนๆ
“มันดีนะ มันรู้สึกอย่างนี้นี่เอง” เต๋าเล่าถึงความรู้สึกหลังแข่ง B-Boy ครั้งแรกในชีวิต ทั้งที่ครั้งนั้นผลลัพธ์ออกมา คือ ‘เแพ้’ ตั้งแต่รอบแรก
อ้าว แพ้แล้วดีตรงไหน?
เต๋าบอกว่า การแข่งขันคือการเรียนรู้ ไม่ว่าผลออกมาแพ้หรือชนะ ทั้งสองอย่างเป็นประสบการณ์ที่ช่วยให้สามารถพัฒนาตัวเองได้มากขึ้นไปอีก
“ทุกอย่างมันเริ่มจากการแพ้ก่อน ผมว่ายากที่จะมีใครมาถึงแล้วชนะเลย การแข่งขันถึงแม้ว่าเราแพ้ แต่มันทำให้เราได้เจอกับผู้คนมากมายที่ชอบในสิ่งเดียวกัน รักในสิ่งเดียวกัน เรารักการเต้น B-Boy รักในเสียงเพลง การแข่งขันครั้งแรกถึงแพ้ก็ทำให้ผมมีแรงบันดาลใจมากขึ้น ทำให้อยากเต้นจริงจังมากขึ้นไปอีก ผมรู้สึกว่าอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น
ผมแพ้มานับไม่ถ้วน ครั้งแรกที่เข้ารอบผมดีใจจนบอกไม่ถูก ยังจำความรู้สึกที่ผ่านเข้ารอบครั้งแรกได้ว่ารู้สึกดีมากขนาดไหน ไม่ชนะไม่ได้รางวัลก็ไม่เป็นไร ถ้ารักในสิ่งที่ทำจริงๆ ต่อให้แพ้กี่ครั้งเราก็จะทำมันต่อ เพราะทำแล้วมีความสุข ยิ้มได้กับสิ่งที่ทำและเป็นตัวเรามากที่สุด ทุกครั้งที่ได้ลงแข่ง นั่นเป็นประสบการณ์ของเราแล้ว
เต๋าอธิบาย
ทำอย่างไรถึงจะเก่ง?
เต๋าเล่าจากประสบการณ์ว่า คนเราจะเข้าใจความรู้ สร้างทักษะและทำทุกอย่างได้ดีก็ต่อเมื่อผ่านการปฏิบัติและการฝึกฝนซ้ำๆ ไม่ต่างจากการเต้น B-Boy ที่ต้องอาศัยการซ้อม เพื่อฝึกความชำนาญและเข้าใจการเคลื่อนไหวของสรีระร่างกาย
“สูตรคำนวณ ถ้าเราไม่เคยนำมาใช้คิดเราก็ลืม ภาษาอังกฤษในห้องเรียนถ้าไม่พูดในชีวิตประจำวันก็พูดไม่ได้ ในกลุ่ม B-Boy พวกเราใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารได้ในระดับหนึ่ง เพราะเราต้องสื่อสารกับเพื่อนๆ B-Boy ชาวต่างชาติ พอได้ฝึกได้ใช้ อาจจะมีผิดบ้างถูกบ้างแต่เราก็สื่อสารได้โดยไม่เขินอาย”
สำหรับเต๋า ‘รุ่นพี่ ยูทูบ และตัวเอง’ เป็น ‘ครู’ และ ‘ห้องเรียน’ ของเขา เต๋าเรียนรู้การเต้นจากคนรอบตัว ศึกษาวิดีโอการเต้น B-Boy ระดับโลกจากยูทูบ และนำคลิปวิดีโอการเต้นของตัวเองในการแข่งขันแต่ละครั้งมาศึกษาข้อบกพร่อง เมื่อเวลาผ่านไปความพยายามและอดทนหมั่นฝึกซ้อม การยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเองและไม่เคยคิดหยุดพัฒนาตัวเอง ทำให้การแข่งขันของเต๋าเข้ารอบลึกไปเรื่อยๆ จากตกรอบเป็นผ่านเข้ารอบ จากผ่านเข้ารอบเป็นได้รับรางวัลที่ 3 ที่ 2 กระทั่งได้แชมป์ในที่สุด
เต๋าบอกว่า การเรียนรู้ขั้นแรกเริ่มจาก เปิดใจรับฟังแล้วนำมาปฏิบัติ ส่วนสเต็ปต่อไป คือ การมีวินัยกับตัวเอง ด้วยการฝึกซ้อมๆๆ แล้วก็ซ้อม
“รุ่นพี่สอนท่าให้เรา บอกให้เราฟังเพลง ให้ข้อคิดว่าเราควรเพิ่มท่าใหม่ลงไปในการเต้นของเรา ปรับท่าให้มีความนุ่มนวลไม่แข็งกระด้าง ผมรับฟังแล้วปรับมาเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ผมสอนคนอื่นได้และสอนตัวเองได้ด้วย ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมสอนตัวเองไม่ได้หรอก ทุกวันนี้เวลาดูคลิปตัวเอง ต่อให้คนอื่นว่าดีแล้วเก่งแล้ว ผมจะยังมองหาว่าทำให้ดีขึ้นยังไงได้อีก แล้วก็มาฝึกทำให้ได้
“ผมไม่เคยคิดว่าผมจะมาถึงจุดๆ นี้ได้ ตอนนี้ผมกำลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในเวทีต่างประเทศ พาตัวเองออกไปแข่งขัน หรือบางเวทีชวนผมไปร่วมแข่งขัน รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้หมด
ล่าสุดผมได้รับเชิญให้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม B-Boy นานาชาติในแถบเอเชีย มีทั้งเกาหลี จีน ไทย เวียดนาม และลาว หน้าที่ของผมคือฝึกฝนตัวเองให้เต็มที่ เพราะต่อให้เก่งระดับโลกแค่ไหน ถ้าทำตัวไม่ดีก็ไม่มีใครรัก สุดท้ายโลกที่เราสร้างขึ้นมาจะกลับมาทำร้ายตัวเราเอง
เต๋ากล่าวย้ำ
พื้นที่กับแรงหนุน = สมการยกกำลังสอง
แรงสนับสนุนและความเข้าใจจากผู้ใหญ่และผู้คนในสังคมเป็นกุญแจสำคัญในการไขศักยภาพด้านต่างๆ ของเด็กและเยาวชนออกมาได้ เช่นเดียวกับเส้นทางการเรียนรู้วิถี B-Boy ของเต๋าที่แม้จะมีอุปสรรคหลายด่านมาให้ฟันฝ่าแต่ก็เป็นเส้นทางที่ไม่โดดเดี่ยว
ป้อมพระสุเมรุและรุ่นพี่ในวงการ B-Boy (บุญประเสริฐ ศาลางาม หรือ โอมาน) เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการจนทำให้เต๋ามีวันนี้ ป้อมพระสุเมรุ เป็นพื้นที่สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครที่เปิดให้กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมถึงกลุ่ม B-Boy เข้ามาใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรมจนถึงเวลาประมาณ 3 ทุ่มของทุกวัน ใครเคยผ่านไปผ่านมาละแวกนี้ คงเคยเห็นผู้คนหลากหลายกลุ่มมารวมตัวกันทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ ส่วนโอมาน เป็นรุ่นพี่ที่เป็นทั้งครูและพี่ชายคอยฝึกซ้อมและผลักดันให้เต๋าได้เข้าแข่งขันในเวทีต่างๆ
“B-Boy ต้องการพื้นที่เล็กๆ กับเวลาการซ้อมแค่วันละ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน แต่หลายๆ ครั้งขนาดพวกเราทำเอกสารขอใช้พื้นที่แล้ว ก็ยังได้รับการปฏิเสธ เมื่อก่อนนอกจากป้อมพระสุเมรุ ยังมีพื้นที่ตรงทางเดินเชื่อมระหว่างมาบุญครองกับสยาม จุดนั้นเป็นพื้นที่รวมกลุ่มของ B-Boy ทั้งในและต่างประเทศ แต่ตอนนี้เราใช้พื้นที่ตรงนั้นไม่ได้แล้ว ป้อมพระสุเมรุเลยเป็นพื้นที่ถาวรที่สุดที่เรามาฝึกซ้อมร่วมกันได้
“เป้าหมายต่อไปของผม ผมอยากสร้างชื่อเสียงให้ B-Boy ไทยในระดับโลก จนมีคนสนใจเข้ามาสนับสนุน B-Boy ไทยมากขึ้น ผมอยากให้คนอื่นๆ ที่สนใจและชื่นชอบการเต้น B-Boy เหมือนผม ได้มีพื้นที่เข้ามาเรียนรู้และฝึกฝนเหมือนอย่างที่ผมเคยได้รับโอกาสนั้น”
“หากอยากประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องพยายามเท่าไร อดทนแค่ไหนถึงจะพอ?”
บทสนทนากับเต๋า ทำให้ต้องใคร่ครวญในคำตอบของคำถามนี้กับตัวเอง ก่อนจะตอบตัวเองว่า… “ความพยายามและความอดทนเท่าไรก็คงไม่พอ”
เอ๊ะ…ฟังดูเป็นคำตอบที่ไม่ช่วยเสริมกำลังใจเอาเสียเลย แต่ไม่ใช่!!
เส้นทางความสำเร็จของเต๋า สะท้อนให้เห็น คุณค่าของความพยายามและความอดทนอย่างไม่มีขีดจำกัด ความสำเร็จหรือแม้แต่ความล้มเหลวไม่ได้มีไว้ให้ยึดถือ เพราะเป็นแค่สิ่งที่ผ่านเข้ามาทักทายชั่วครั้งชั่วคราวแล้วผ่านไป แต่ความเปลี่ยนแปลงในตัวเองระหว่างทางต่างหากเป็นสิ่งที่ควรโฟกัสและภาคภูมิใจ
“ผมไม่รู้ว่าจู่ๆ ผมกลายเป็นคนที่มีความกล้าแสดงออกและมีความมั่นใจในตัวเองตั้งแต่ตอนไหน แต่การฝึกซ้อมทำให้ผมมีความมั่นใจในสิ่งที่ผมทำ จากที่ไม่กล้าสบตากับคนเดินผ่านระหว่างซ้อมเพราะเขินหรือกลัวคนจับผิด พอเราให้โอกาสตัวเองได้มาฝึกซ้อมไปเรื่อยๆ ผมกล้ามองคนที่เขามองดูเราเวลาเต้น
“จากคนที่ไม่มีความสามารถอะไรโดดเด่น กลายเป็นคนที่มีความสามารถ การเต้น B-Boy ให้โอกาสผม ผมรู้สึกดีมากที่ผมได้เข้ามาเต้น มันเปลี่ยนชีวิตของคนคนหนึ่งเป็นอีกคนได้เลย ถึงตรงนี้ผมตอบได้เลยว่า คนเราถ้ามีความพยายามและอดทน แล้วทำให้ดีที่สุด เราทำอะไรก็ได้”
จากคนขี้อายคนหนึ่ง เต๋ากลายเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองแต่ไม่โอ้อวด เป็นคนที่มีความรับผิดชอบมากพอที่จะดูแลความเป็นอยู่ของตัวเองและครอบครัว และสิ่งสำคัญที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลย คือ ความพยายามและความอดทนเพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นในทุกๆ วัน
หากจะถามหาสูตรความสำเร็จ คงเป็น “ความพยายามและความอดทน” นี่แหละที่ทำให้เต๋าก้าวขึ้นบันไดแต่ละขั้นได้อย่างมั่นคง…