- โครงการการศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบ้านหนองสะมอนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหาอยู่หากินของคนในชุมชน โดยกลุ่มแกนนำเยาวชนบ้านหนองสะมอน มีเป้าหมายเพื่อสร้างการเกื้อกูลกันระหว่างการพัฒนา การอนุรักษ์และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่ไปกับความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคมของคนในชุมชน
- เมื่อปลูกต้นไม้จำนวนมากขึ้นมาแล้ว ขั้นตอนสำคัญถัดไป คือ “การดูแลรักษา” ให้ต้นไม้เหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นป่า รวมถึงการดูแลป่าบริเวณอื่นที่มีอยู่เดิมในชุมชนให้ปราศจากการถูกคุกคาม
- ผ้าสบงพระสีส้มอมน้ำตาลผูกล้อมรอบต้นไม้ไว้ หรือที่เรียกว่า “การบวชป่า” และข้อความบนป้ายรณรงค์ที่ติดไว้ตามต้นไม้ใหญ่ แม้จะเป็นเรื่องของความเชื่อเล็กๆ แต่ก็ทำงานกับความรู้สึกนึกคิดของคน พวกเขาจึงใช้วิธีนี้ในการรักษาต้นไม้ใหญ่
ภาพ เยาวชนบ้านหนองสะมอน
3 ปีก่อน คนบ้านหนองสะมอน ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ กว่า 40 คนใช้เวลา 2 วันปลูกต้นไม้ร่วมกันกว่า 1 หมื่นต้น ยังไม่นับต้นไม้ที่ต้องปลูกซ่อมหลังจากไม้ล็อตแรกตายไปเกือบครึ่งเพราะเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้น้ำท่วมขังอยู่กว่า 2 อาทิตย์ โชคยังดีที่กล้าไม้เหล่านี้ได้มาจากธนาคารต้นไม้ของหมู่บ้าน การปลูกต้นไม้ครั้งนั้นนำโดยเด็กและเยาวชนกลุ่มหนึ่ง
“ต้นตะเคียนทนน้ำท่วมขัง”
“ต้นพะยูงไม้มงคล เนื้อแข็งทนแล้ง”
“ต้นขี้เหล็กเอายอดมาใช้ทำแกง”
“ยอดอ่อนดอกอ่อนต้นสะเดา เอามาลวกกินและทำแกงได้”
“ส่วนไผ่ป่าเอาหน่อมาทำแกงได้อีกเหมือนกัน”
กลุ่มเยาวชนบ้านหนองสะมอน เล่าให้ฟังถึงประโยชน์ของพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ ที่พวกเขาและชาวบ้านในชุมชนร่วมกันปลูกขึ้นบนพื้นที่รอบ หนองแสนแสบ เมื่อสามปีก่อน
“หลังจากปลูกป่าเสร็จแล้ว เรากลับไปดูแลพื้นที่ที่ปลูกต้นไม้ไว้ สังเกตว่าต้นไม้โตขนาดไหน มีสิ่งรบกวนหรือเปล่า ตอนนี้เห็นต้นไม้โตขึ้นเป็นป่าย่อมๆ ผมรู้สึกดีใจและภูมิใจ ถือว่างานของเราสำเร็จไปอีกขึ้นหนึ่ง” เบลล์-ชิณกร มียิ่ง หนึ่งในแกนนำเยาวชนบ้านหนองสะมอน ที่ทำโครงการยุวชนอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าหนองแสนแสบกับรุ่นพี่ เมื่อปี 2560 ครั้งนี้เขาเป็นตัวตั้งตัวตีสานต่อ โครงการการศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบ้านหนองสะมอนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหาอยู่หากินของคนในชุมชน ในปี 2562 มีเป้าหมายเพื่อสร้างการเกื้อกูลกันระหว่างการพัฒนา การอนุรักษ์และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่ไปกับความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคมของคนในชุมชน
จากข้อมูลของกรมป่าไม้ ระบุว่า ระหว่างปี 2557-2559 พื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยลดลงร้อยละ 0.02 ทุกๆ ปี จากสถิติประเมินการสูญเสียป่าไม้ในรอบ 50 ปี จังหวัดศรีษะเกษเป็นจังหวัดที่สูญเสียป่าไม้อยู่ในระดับ ‘สูญเสียมาก’ แต่ยังไม่ถึงขั้น ‘รุนแรง’ แต่ก็มีป่าไม้ปกคลุมอยู่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ เมื่อพื้นที่ป่ามีน้อยจึงเกิดภาวะแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อยามน้ำหลากก็เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และทำให้เกิดการพังทลายของหน้าดินอย่างรุนแรงได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่หนองสะมอนได้เผชิญหน้ากับความไม่แน่ไม่นอนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้น
บ้านหนองสะมอนอยู่ห่างจากตัวเมืองศรีษะเกษมาทางทิศตะวันตกราว 50 กิโลเมตร หนองแสนแสบเดิมเป็นหนองน้ำขนาดเล็ก สภาพโดยรอบเป็นป่า มีต้นกกขึ้นอยู่เต็มไปหมด ชาวบ้านเก็บต้นกกไปทอเสื่อสร้างรายได้เสริม บ้างจูงวัวควายมาปล่อยหากินหญ้าตามธรรมชาติ
ต่อมาในปี 2560 หนองแสนแสบถูกปรับพื้นที่ มีการขุดลอกหนองและขยายให้เป็นแก้มลิง เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร อุปโภคบริโภค และแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง ทำให้จำเป็นต้องตัดโค่นต้นไม้จำหนึ่งมาก
ครั้งนั้นบ้านหนองสะมอนสูญเสียพื้นที่ป่าแลกกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่มีต้นเหตุหลักมาจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำและป่าไม้ ที่ไม่ได้รับการจัดการดูแลจนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่
ถึงตอนนี้ต้นไม้บริเวณหนองแสนแสบโตขึ้นสูงกว่าสองเมตร แม้ยังไม่ให้ร่มเงาได้เท่าต้นไม้ใหญ่ แต่บางต้นก็สามารถเก็บกินและใช้ประโยชน์ได้แล้ว ระบบนิเวศที่เคยถูกทำลายได้กลับมามีลมหายใจและมีชีวิตอีกครั้ง
“อยากให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลป่าไม้”
“แต่เดิมชาวบ้านไม่ค่อยสนใจเรื่องป่าไม้ บางหนองมีข้อห้ามไม่ให้เข้าไปจับสัตว์ในป่า ก็ยังมีการบุกรุกเข้าไป ผมเข้ามาร่วมโครงการเพราะอยากทำให้ชาวบ้านตระหนักถึงประโยชน์ เห็นว่าป่ามีความสำคัญอย่างไร”
เป็นเสียงสะท้อนหนึ่งจากเด็กเยาวชนวัยมัธยมปลาย กลุ่มแกนนำเยาวชนบ้านหนองสะมอนที่เห็นปัญหาและความเปลี่ยนแปลงในชุมชนแล้วอยากเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา จนได้อาสาเข้าร่วม โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ โครงการที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนจากพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดศรีสะเกษได้ริเริ่มโครงการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นบ้านเกิดในประเด็นที่ตนเองสนใจ
ปลูกฝังความรู้ ปลูกความยั่งยืนให้ชุมชน
การเก็บข้อมูลชุมชนระหว่างทำโครงการ ทำให้กลุ่มแกนนำเยาวชนได้รับรู้สาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ ทำเลที่ตั้งบ้านหนองสะมอนอยู่บนที่ราบสูง แต่ในช่วงหน้าฝนพื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านกลับเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำเนื่องจากอยู่ใกล้กับลำห้วยทับทัน ลำน้ำตามธรรมชาติที่น่าจะเป็นแหล่งน้ำไว้ใช้หล่อเลี้ยงเกษตรกรรมในชุมชนได้ แต่เพราะชุมชนไม่มีพื้นที่เก็บน้ำขนาดใหญ่เพียงพอ ประกอบกับหนองน้ำเท่าที่มีอยู่ในชุมชนตื้นเขินเพราะขาดการดูแล คราวหน้าฝนกลับเกิดน้ำท่วมขัง ขณะที่เมื่อยามหน้าแล้งมาเยือนชาวบ้านกลับประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการบริโภคและการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนแห่งนี้เสื่อมโทรมลงไม่ต่างจากพื้นที่อื่นโดยรอบ
“บ้านหนองสะมอนเป็นหมู่บ้านที่ทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ต้องใช้น้ำปริมาณมากเพื่อการเพาะปลูก บางปีน้ำแล้ง บางปีน้ำเกิน จึงต้องขุดลอกหนองเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ แล้วส่งปล่อยน้ำในหนองให้คนในชุมชน ยิ่งปีนี้น้ำแล้งข้าวในนาให้ผลผลิตไม่สมบูรณ์ ผู้ใหญ่บ้านก็ใช้เครื่องสูบน้ำดึงน้ำจากหนองขึ้นไปตามคลองไส้ไก่เข้านาให้ชาวบ้าน” เบลล์ เล่าสถานการณ์การจัดการน้ำของชุมชนในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา
เป็นที่รู้กันว่าการขุดลองหนองแสนแสบเพื่อทำแก้มลิงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ในระยะยาวจำเป็นต้องมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชน กลุ่มเยาวชนบ้านหนองสะมอน บอกว่า ทรัพยากรธรรมชาติมีหลากหลายหมวดหมู่ ทั้งดิน น้ำ และป่าไม้ โครงการครั้งนี้พวกเขาโฟกัสไปที่การจัดการทรัพยากร “ป่าไม้” ก่อนเพื่อต่อยอดการดำเนินงานจากปีที่ผ่านมา
เมื่อปลูกต้นไม้จำนวนมากขึ้นมาแล้ว ขั้นตอนสำคัญถัดไป คือ “การดูแลรักษา” ให้ต้นไม้เหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นป่า รวมถึงการดูแลป่าบริเวณอื่นที่มีอยู่เดิมในชุมชนให้ปราศจากการถูกคุกคาม กลุ่มเยาวชนบ้านหนองสะมอน บอกว่า
วิธีการ “การดูและรักษาป่า” ของพวกเขา คือ ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่คนในชุมชน เกี่ยวกับประโยชน์ของป่า ระบบนิเวศ และความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ รวมถึงขอแรงและความร่วมมือให้ทำตามข้อตกลงและทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่วนรวมร่วมกัน
“ทุกเดือนมีเวทีประชาคมหมู่บ้าน บ้านหนองสะมอนมีอยู่ประมาณ 245 ครัวเรือน ทุกบ้านต้องส่งตัวแทนมาเข้าร่วมประชุม ปกติผู้ใหญ่บ้านจะแจ้งข้อมูลข่าวสารต่างๆ พวกเราก็ใช้เวทีนี้นำเสนอข้อมูลสร้างความเข้าใจให้ชาวบ้าน ที่ผ่านมาอาจมีการตัดไม้ เผาป่า หรือล่าสัตว์ในพื้นที่ แต่นั่นเป็นเพราะชาวบ้านไม่มีความรู้ ในชุมชนเองก็ไม่มีการจัดการและสร้างข้อตกลงร่วมกัน
เราเอาข้อมูลมานำเสนอว่า วิถีชีวิตของเราเป็นแบบนี้ ยังไงก็ได้ใช้ประโยชน์จากป่า ต่อให้ไม่ได้ตัดไม้มาใช้โดยตรงแต่น้ำที่ใช้มาจากป่า พอเราเอาข้อมูลมานำเสนอ เอาวิดีโอที่ถ่ายทำในชุมชนมาฉายให้ดู เล่าถึงประโยชน์ที่เขาจะได้รับจากการอนุรักษ์ ดูแลป่า แล้วขอความร่วมมือชาวบ้านก็ไม่ขัดข้อง ตั้งแต่ทำโครงการมาการเผาป่าไม่มีแล้ว ส่วนการตัดไม้ยังมีบ้างแต่ก็ไม่มาก ในภาพรวมผมประเมินว่าชาวบ้านให้ความร่วมมือ 70%”
การทำกิจกรรมภายใต้โครงการศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบ้านหนองสะมอนฯ ในช่วงที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น การบวชป่าและการติดป้ายรณรงค์สร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับป่าไว้บนต้นไม้ใหญ่ นอกจากนี้ ชุมชนยังได้จัดตั้งคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจำนวน 15 คน ที่มีแกนนำเยาวชน 9 คนเป็นคณะทำงานร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และผู้รู้ของชุมชน
“ผมจำได้ครั้งหนึ่งผมมาเวทีประชาคมแทนแม่ ตอนนั้นยังไม่ได้ทำโครงการ ผู้ใหญ่บ้านถามขึ้นมากลางเวทีว่าชุมชนอยากให้เด็กเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาชุมชนยังไงบ้าง แล้วผู้ใหญ่คนหนึ่งพูดว่า เด็กจะมีปัญญาทำอะไรให้กับชุมชน ตอนนั้นผมหันไปมองหน้านัน (พินิทนันท์ สุทธิ์สน หนึ่งในแกนนำเยาวชนบ้านหนองสะมอนรุ่นแรกและรุ่นที่สอง) แล้วคิดในใจว่าผมคงต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแสดงให้ผู้ใหญ่เห็นว่า เด็กอย่างเราก็ทำงานพัฒนาชุมชนได้ เลยสนใจเข้ามาทำโครงการตั้งแต่ทีแรก ดีใจที่ตอนนี้ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมด้านสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน ผมอยากให้เด็กเยาวชนทุกคนในหมู่บ้าน คนในหมู่บ้าน และผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม อยากให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนมีความสำคัญในการพัฒนาชุมชนของตัวเอง” เบลล์ เล่าอย่างตั้งใจ
ผ้าสบง ป้ายรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ และการพยากรณ์อากาศ
ขอบเขตการดูแลป่าของเยาวชนไม่ได้จำกัดอยู่แค่บริเวณหนองแสนแสบเท่านั้น แต่กระจายครอบคลุมไปยังป่าด้านอื่นๆ ด้วย ได้แก่ ป่าหนองพอง ป่าห้วย – อยู่ติดกับลำน้ำห้วยทับทัน และป่ากุ๊กรุกสะมัง เสือ – วัชรพงษ์ สมัญ อีกหนึ่งแกนนำเยาวชน เล่าว่า กว่าต้นกล้าที่ปลูกจะเติบโตขึ้นเป็นป่าที่มีต้นไม้หลากหลาย ผลิตพืชพรรณให้ได้เก็บกินเพื่อยังชีพและสร้างรายได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี ยกตัวอย่างวัฎจักรการเติบโตของเห็ดที่ต้องอาศัยร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ ใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นมากลายเป็นปุ๋ยและเป็นแหล่งเพาะเชื้อเห็ดตามธรรมชาติ
หากใครมีโอกาสเข้ามายังป่าชุมชนบ้านหนองสะมอนในตอนนี้จะได้เห็นผ้าสบงพระสีส้มอมน้ำตาลผูกล้อมรอบต้นไม้ไว้ หรือที่เรียกว่า “การบวชป่า” และข้อความบนป้ายรณรงค์ที่ติดไว้ตามต้นไม้ใหญ่
“ป่าคือลมหายใจของชุมชน”
“ไม่มีป่า…ไม่มีน้ำ”
“ป่าคือต้นน้ำ”
“รักน้ำ รักป่า”
“ป่าไม้คงไว้ให้ลูกหลาน”
“save ป่า”
กลุ่มเยาวชนบ้านหนองสะมอน บอกว่า การบวชป่าเป็นเรื่องของความเชื่อ ส่วนป้ายรณรงค์แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็ทำงานกับความรู้สึกนึกคิดของคน เบลล์เคยมีประสบการณ์ตรงกับการทำงานพัฒนาชุมชนลักษณะนี้มาก่อน
“ตอนที่ผมไปทำกิจกรรมอาสาที่น้ำตกห้วยจันทร์ อ.ขุนหาญ ร่วมกับทีมอื่นๆ ในโครงการ(พัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ) พวกเราได้เข้าไปฟิ้นฟูพื้นที่น้ำตกห้วยจันทร์ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแต่ขาดการดูแล มีขยะทิ้งเกลื่อนกลาด ทำป้ายห้ามทิ้งขยะไปติดตามจุดต่างๆ หลังจากนั้นมาก็เห็นผลลัพธ์ว่าคนไม่นำขยะไปทิ้ง เป็นไอเดียให้นำมาใช้กับโครงการในชุมชน”
ก่อนจัดกิจกรรมการบวชป่าและติดป้ายรณรงค์ แกนนำเยาวชนในนามคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมชุมชน ประกาศเชิญชวนและนัดหมายวันเวลาทำกิจกรรมให้คนในหมู่บ้านรับทราบในเวทีประชาคม วันงานพวกเขาไม่ทำพิธีรีตองอะไรมากมาย แต่ทุกขั้นตอนเต็มไปด้วยความเคารพระหว่างคนกับป่า
“เรานัดเจอกันที่ศาลาประชาคมก่อน นำเสนอแผนงาน แจ้งขั้นตอนกิจกรรมว่าเราจะไปป่าไหนกันก่อน แล้วค่อยกระจายตัวไปตามจุด คนในชุมชนมากันไม่ต่ำกว่า 50 คน มีทั้งเด็ก ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่บ้าน คนแก่ก็มา การบวชป่าเราไม่ได้เชิญพระสงฆ์ ไปถึงเราตั้งใจผูกผ้าสบงให้ได้มากที่สุด เน้นต้นไม้ใหญ่ที่ควรอนุรักษ์ เอาผ้าไปผูก พนมมือไหว้ แล้วขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ที่แห่งนั้นให้ดูแลต้นไม้ต้นนี้ด้วย บอกว่าเราเข้ามาทำดีไม่ได้เข้ามาทำร้ายต้นไม้” เบลล์ อธิบาย
เพื่อให้การทำงานของกลุ่มเข้าถึงเด็กและเยาวชน และทำให้คนในชุมชนเห็นความเคลื่อนไหว พวกเขาใช้โซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยงานประชาสัมพันธ์ ตั้งชื่อเฟสบุคตรงไปตรงมาว่า “กลุ่มแกนนำเยาวชนบ้านหนองสะมอน” เป็นช่องทางเผยแพร่ข่าวสารประจำวัน รวมถึงการรายงานพยากรณ์อากาศ
“ฝนกำลังมาแล้ว ขอให้เกษตรกรระมัดระวังพืชผลทางการเกษตร”
“เกิดพายุฤดูร้อนในหลายอำเภอ พ่อแม่พี่น้องโปรดระมัดระวังกันด้วยนะครับ”
เป็นข้อความส่วนหนึ่งที่ปรากฏหน้าเฟสบุคของกลุ่ม เบลล์ บอกว่า การพยากรณ์อากาศเป็นเรื่องที่เขาชอบและสนใจมากที่สุด
“ผมอยู่ในกลุ่มไลน์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เลยได้เรียนรู้เรื่องเรดาห์และแผนที่พยากรณ์อากาศ สังเกตการเคลื่อนตัวของกลุ่มเมฆฝน กลุ่มพายุจากแผนที่รายชั่วโมง ผมช่วยพยากรณ์อากาศแจ้งกับคนในชุมชนได้ มีความแม่นยำมากกว่าเพราะจำกัดเฉพาะในบริเวณพื้นที่บ้านเรา” เบลล์ เล่า
การพัฒนาที่มาจากความร่วมมือ
การสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ว่ากับเรื่องใดก็ตาม ไม่สามารถขับเคลื่อนได้จากกำลังของคนเพียงคนเดียว แต่เกิดขึ้นจาก “ความร่วมมือ” ของบุคคลที่เกี่ยวข้องและให้ความสำคัญกับเรื่องราวเหล่านั้น เช่นเดียวกับโครงการการศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบ้านหนองสะมอนฯ เบลล์ สะท้อนว่าการที่กลุ่มเด็กเยาวชนในชุมชนซึ่งเห็นความสำคัญของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติมาร่วมไม้ร่วมมือกันทำโครงการอย่างจริงจัง ทำให้การทำกิจกรรมต่างๆ ของพวกเขามีความน่าเชื่อถือในสายตาผู้ใหญ่ เมื่อผู้ใหญ่ให้ความเชื่อมั่นก็พร้อมให้การสนับสนุน นอกจากนี้ การทำงานเป็นทีมยังทำให้กลุ่มแกนนำเยาวชนมีความมั่นใจในตัวเองจากแรงส่งเสริมของกันและกัน
“แต่ละคนมีความถนัดมีความชอบต่างกัน อย่างผมถนัดพูด เพื่อนในกลุ่มบางคนถนัดเขียน คนที่ไม่ค่อยพูดในกลุ่มก็วาดรูปเก่ง ระบายสีสวย พิมพ์งานได้ไว ทุกคนสนับสนุนกัน แต่การทำงานตั้งแต่สองคนขึ้นไปยังไงก็ต้องมีทะเลาะกันบ้างอยู่แล้วเป็นเรื่องธรรมดา เราก็ต้องปรับตัว เอาเรื่องงานมาก่อนความรู้สึกส่วนตัว” เบลล์ กล่าว
ท้ายที่สุดแล้ว “ความร่วมมือ ความเชื่อมั่นและความมั่นใจ” ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกชุมชนทำให้โครงการจากการริเริ่มของเด็กเยาวชนชุมชนบ้านหนองสะมอนดำเนินการต่อเนื่องมาได้ถึง 2 รุ่น แม้มีบางช่วงบางตอนที่ขลุกขลักอยู่บ้างแต่ก็สร้างผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ดีกว่าการใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ โดยไม่ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ที่สำคัญการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทำโครงการยังบ่มเพาะวิธีคิดและมุมมองการใช้ชีวิตให้กับพวกเขา
“เราไม่ได้ทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาชุมชนอย่างเดียว แต่กระบวนการเรียนรู้จากการทำโครงการเสริมสร้างทักษะให้กับพวกเราด้วย เช่น ฝึกให้กล้าพูด กล้าคิด กล้าแสดงความคิดเห็น สำหรับบางคนการจับไมค์พูดต่อหน้าคนเยอะๆ เป็นเรื่องยากมาก ต้องใช้ความกล้าและท้าทายความกลัวของตัวเอง” เบลล์ กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของน้องๆ ภายในกลุ่ม แล้วกล่าวถึงตัวเองว่า “ผมเป็นคนอารมณ์ร้อน อยากฝึกตัวเองมากกว่านี้ให้ใจเย็นขึ้น รวมถึงเรื่องการพูดที่บางทีมีอะไรอยู่ในหัวเต็มไปหมดแต่พูดออกมาไม่ถูก ไม่ได้อย่างใจ เวลาเห็นคนอื่นพูดได้ดีก็อยากพูดได้อย่างเขาบ้า อยากเรียบเรียงความคิดการพูดเพื่อสื่อสารให้ดีขึ้น”
“ตอนเรียนในห้องเรียนเราแค่ได้คิด เป็นการคิดเพื่อบรรลุตัวชี้วัด ไม่มีผู้ใหญ่ให้คำปรึกษาและไม่ได้ลงมือทำเหมือนในโครงการ ตอนทำโครงการเราคิดแล้วได้ลงมือทำต่อ มีผู้ใหญ่ที่เราเข้าหาเพื่อขอคำปรึกษาได้ เมื่อก่อนผมไม่ได้เห็นความสำคัญของชุมชนเลย คิดว่าโตขึ้นแค่ออกไปเรียน แล้วไปทำงาน แต่พอได้เปิดใจมาเข้าร่วมทำโครงการ ก็ได้เห็นความสำคัญของชุมชนตัวเองว่าหนึ่งชีวิตเราที่เกิดมา เราควรทำคุณ ตอบแทนสิ่งที่ชุมชนนี้ให้กับเรา” เบลล์ เล่าถึงความคิดที่เปลี่ยนแปลงไป
เมื่อถามถึงโปรเจคที่อยากทำต่อไปในอนาคต เบลล์ บอกว่า บ้านหนองสะมอนมีพืชผลทางการเกษตกรหลากหลาย เป็นหมู่บ้านที่ส่งผลผลิตทางการเกษตรออกขายมากเป็นอันดับหนึ่งของอำเภอ ยกตัวอย่างเช่น พริกชี้ฟ้า ส้มเขียวหวาน ปาล์ม ยางพารา ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง จึงอยากศึกษาเรื่องการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ
“ความเสื่อมโทรม” ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แหล่งน้ำ หรือที่ดิน เป็นผลมาจากการเข้ามาใช้ประโยชน์ของมนุษย์ การบริโภคในระดับที่เกินพอดี จนเกินขีดความสามารถที่ระบบนิเวศจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลได้ด้วยตัวเอง สิ่งที่กลุ่มเยาวชนบ้านหนองสะมอนกำลังทำแสดงให้เห็นว่า
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมเริ่มต้นได้จากการปรับปรุงระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติภายในชุมชนและสังคมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในชุมชน
“ต่อไปในอนาคตเราต้องโตเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ที่อยู่ตอนนี้ก็ต้องตายจากไป ตัวเราก็เห็นอยู่ว่าเด็กเยาวชนในชุมชนมีน้อยมากเลยที่จะสนใจปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ไม่แก้ปัญหาตอนนี้แล้วตอนไหนเราถึงจะทำ” เบลล์ กล่าว