- ม.ล.จิราธร จิรประวัติ ศิลปิน ดีไซเนอร์ นักวาดภาพประกอบระดับตำนานของเมืองไทย กับอีกหนึ่งบทบาทในฐานะ ‘ครูใหญ่’ แห่งโรงเรียนมหานาค ผู้มีสไตล์การสอนศิลปะที่ยึดความชอบของนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ผสมผสานกับการถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์ชีวิตที่หาไม่ได้จากตำราไหน
- นอกจากถ่ายทอดความรู้ด้านศิลปะแล้ว ‘ครูโต’ ของลูกศิษย์ มักหาจังหวะสอดแทรกวิชาชีวิตแก่นักเรียนอยู่เสมอ เพราะแม้ว่าทักษะอาชีพจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ทัศนคติที่ดีจะทำให้คนเราประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
- ครูโตสอนให้นักเรียนทุกคนกล้าที่จะเดินตามความฝันของตัวเอง แม้ระหว่างทางอาจพบเจออุปสรรค เพราะความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นจากความชัดเจนในสิ่งที่รัก การรู้จักนำสิ่งรอบตัวมาฝันใหม่ และการมีวินัยอย่างสม่ำเสมอ
บ่ายวันหนึ่งของเดือนเมษายน ผมมีโอกาสแวะมาทำธุระที่โรงเรียนมหานาค และได้พบกับ ‘ครูโต’ ม.ล.จิราธร จิรประวัติ ศิลปิน ดีไซเนอร์ และนักวาดภาพประกอบระดับตำนานของเมืองไทย
แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมมาโรงเรียนแห่งนี้ แต่ด้วย ‘เสน่ห์’ ที่ไม่เหมือนใครทำให้ผมตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้มาเยือน
เสน่ห์ที่ว่านี้คือสไตล์การสอนศิลปะที่ยึดความชอบของนักเรียนเป็นหลัก ผสมผสานกับการถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์ชีวิตที่หาไม่ได้จากตำราไหน จนบางครั้งผมรู้สึกว่า ‘โรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้สอนแค่ศิลปะ แต่สอนวิชาชีวิต’
ดังนั้นเมื่อสบโอกาส ผมจึงชวนครูโตมานั่งพูดคุยสบายๆ โดยไม่มีสคริปต์หรือเตี๊ยมกันมาก่อน ถึงเรื่องราวของ ม.ล.จิราธร ในฐานะ ‘ครูใหญ่’ แห่งโรงเรียนมหานาค
“ครูไม่ชอบมานั่งดูก่อนว่าหนูจะถามอะไร ฉะนั้นมีอะไรก็ถามครูมาได้เลย”
เด็กน้อยผู้เก่งวิชาเดียว
ทุกอย่างเริ่มต้นในเช้าวันอาทิตย์เมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว วันนั้นเป็นวันที่ ม.ล.จิราธร หยิบหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ของคุณย่าออกมาพลิกเล่น แล้วสะดุดตากับคอลัมน์การ์ตูน เด็กน้อยจึงนำกระดาษแผ่นบางมาวางทาบบนคอลัมน์นั้น ก่อนลากเส้นตามด้วยความสนุกสนาน โดยไม่รู้ว่านี่เป็นการค้นพบพรสวรรค์ของตัวเอง
“จากนั้นตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยม ครูจำได้ว่าในหนึ่งสัปดาห์ ครูเฝ้ารอวิชาเดียวคือวิชาวาดเขียน เพราะเป็นวิชาเดียวที่ครูเรียนแล้วมีความสุข ทุกวันนี้ครูยังจำช่วงเวลาที่ครูนั่งวาดรูปแล้วครูสอนศิลปะเดินมายืนข้างๆ แล้วมองครูด้วยความอัศจรรย์ในสิ่งที่ครูทำได้เกินอายุ”
อย่างไรก็ดี ครูโตยอมรับว่าตัวเองในวัยเด็กดูไม่มีแววที่จะโตมาเป็นครูสักนิด ไล่ตั้งแต่การไม่ชอบไปโรงเรียน ไม่ชอบทำการบ้าน ไม่ชอบอ่านหนังสือ รวมถึงผลการเรียนที่ไม่เก่งอะไรเลยนอกจากวิชาศิลปะวิชาเดียว
“เหมือนสวรรค์ให้ครูเก่งอยู่วิชาเดียว เลยลืมให้สมองส่วนอื่น โดยเฉพาะคณิตศาสตร์ ถ้าบวกลบเกินสิบนิ้วครูก็ทำไม่ได้แล้ว พอทำไม่ได้ก็ฟาดหัวฟาดหางร้องไห้ ซึ่งโชคดีที่พ่อแม่ครูไม่ได้ว่าอะไร”
ครูโตบอกว่าพ่อแม่ของครูไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องผลการเรียนของลูกๆ แต่จะเน้นเรื่องมารยาทและการเป็นตัวของตัวเองโดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น แถมครูยังกล่าวติดตลกว่าพ่อของครูได้ให้ลูกทุกคนกิน ‘ยามั่นใจ’ มาตั้งแต่เด็กๆ
“ที่ครูบอกว่าพ่อให้ครูกินยามั่นใจมาตั้งแต่เด็ก จริงๆ แล้วหมายถึงการที่พ่อคอยให้กำลังใจครูและสอนให้ครูเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ครูมีความกล้าที่จะทำสิ่งต่างๆ และมุ่งมั่นกับสิ่งที่ครูรักอย่างสุดใจขาดดิ้น”
เมื่อได้รับยามั่นใจบ่อยเข้า ครูโตก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีบุญที่เก่งวิชาเดียว เพราะไม่เพียงทำให้ครูโตค้นพบตัวเองไวกว่าคนอื่น การเก่งวิชาเดียวยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ครูโตหลุดพ้นจากกับดักทางการศึกษาที่ว่าเด็กที่เก่งคือเด็กที่ได้ A ทุกวิชา
“พอครูชัดเจนว่าครูชอบอะไร ครูก็เซ็ตระบบให้ตัวเองฝึกมือวาดรูปทุกวันอย่างสม่ำเสมอ เพราะขนาดสามวันยังจากนารีเป็นอื่น ดังนั้นถ้าไม่มีวินัยครูคงมาถึงทุกวันนี้ไม่ได้”
นิสิตติวเตอร์
หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมปลายชนิด ‘เส้นยาแดงผ่าแปด’ ครูโตก็เริ่มเข้าสู่เส้นทางของการเป็นครูด้วยการสอบเอนทรานซ์เข้าไปในคณะครุศาสตร์ (เอกศิลปะ) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ตอนนั้นครูยังไม่ได้คิดเรื่องต้องเป็นครู แต่ตอนนั้นคณะศิลปกรรมของจุฬายังไม่เปิด จะเข้าจิตรกรรมก็ต้องติว ดังนั้นครูเลยต้องเข้าครุศาสตร์เพื่อให้ตัวเองได้เรียนศิลปะ ซึ่งพอได้เข้าไปเรียนในสิ่งที่ครูชอบแล้ว ครูกลับพบว่าในวิชาที่ครูชอบมันก็มีวิชาที่ครูไม่ชอบอีกเช่นกัน เขียนแบบไม่ชอบ ปั้นดินก็เลอะเทอะไม่ชอบ ไหนจะวิชาบังคับอย่างสถิติ ที่อาจารย์ถึงกับบอกครูตรงๆว่าครูเป็นเด็กที่อ่อนที่สุดนับตั้งแต่ที่ท่านเคยสอนมา (หัวเราะ)”
ถึงอย่างนั้น ม.ล.จิราธรกลับไม่ย่อท้อ แถมเอาตัวรอดในวิชาต่างๆ มาได้ พร้อมไปกับการยื่นแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) สมัครเป็นนักวาดภาพประกอบตามนิตยสารต่างๆ จนได้รับงานประจำตั้งแต่อายุ 20 ปี
“พอคนเริ่มรู้ว่าครูเขียนภาพประกอบขณะยังเป็นนิสิต พ่อแม่บางคนก็พาลูกที่กำลังจะเอนทรานซ์มาที่บ้านครูเพื่อให้ครูช่วยติวช่วยฝึกมือให้”
โรงเรียนมหานาค
หลังก้าวเท้าออกจากรั้วจุฬา ม.ล.จิราธร ยังคงประกอบอาชีพนักวาดภาพประกอบ รวมถึงได้จัดนิทรรศการเดี่ยวของตัวเอง ทำให้ศิลปินดังนำเงินเก็บที่ได้มาเปิดร้านเสื้อผ้าของตัวเองที่ตึก Promenade ย่านชิดลม
“พอมีร้านเสื้อแบรนด์เล็กๆ ครูก็ทำเต็มที่ ไม่อยากให้มันเจ๊ง ครูเลยหาวิธีให้ตัวเองอยู่ร้าน ด้วยการบอกใครๆ ว่าฉันจะสอนวาดรูป จากนั้นก็เริ่มมีคนใกล้ตัวค่อยๆ มาเรียน ครูเลยเหมือนได้สอนไปด้วยทำงานไปด้วย ทีนี้พอสอนไปเรื่อยๆ จุฬาก็ติดต่อให้ครูไปสอนวิชาภาพประกอบบ้าง หรือสอนแฟชั่นบ้าง จนล่าสุดครูได้เป็นอาจารย์สอนกราฟิก ครูเลยรู้สึกว่าครูเป็น 3 in 1 ที่ได้เป็นเจ้าของวิชาทั้งคณะนิเทศศาสตร์ ศิลปกรรม และครุศาสตร์ จนทุกวันนี้ครูชอบบอกนักศึกษาว่าครูสอนวิชานี้มาตั้งแต่ก่อนพวกหนูเกิด ซึ่งความผิดปกติของครูคือครูไม่เคยเบื่อในสิ่งที่ทำ”
แม้ครูโตจะสอนวาดภาพที่ร้านเสื้อผ้ามาตั้งแต่ปี 1993 แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อตึกที่เปิดมาราว 20 ปี ปิดให้บริการ ทำให้ครูโตต้องหาห้องเรียนแห่งใหม่ไว้สานต่องานที่ตัวเองรัก
“ครูมาขอพี่ชายเปิดโรงเรียนสอนศิลปะที่วังมหานาค และวางศิลาฤกษ์ในปี 2014 ปีนี้ขึ้นปีที่ 9 ถ้ารวมที่เก่าที่สอนมา 20 ปี ปีหน้าโรงเรียนของครูก็ครบรอบ 30 ปี”
หลักสูตรดึงพรสวรรค์
ถ้าพูดถึงการศึกษาแบบไทยๆ ผมนึกเปรียบเปรยกับโรงงานผลิตเสื้อโหลที่ออกแบบให้ทุกคนได้ใส่เสื้อแบบเดียวกัน โดยมองข้ามและหลงลืมความต้องการของเด็กแต่ละคน ทว่าสำหรับครูโตแล้ว การศึกษาไม่มีหลักสูตรตายตัว หากมุ่งเน้นไปที่การโฟกัสนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อดึงศักยภาพออกมาให้มากที่สุด
“ตอนเด็กๆ ไม่มีใครสอนครูว่าทำไมต้องเรียนทุกวิชา จนพอครูได้มาเป็นครู ครูเลยเข้าใจว่าทุกคนต้องเรียนทุกวิชาเพราะจะได้รู้ว่าชอบวิชาอะไร ครูถึงชอบถามนักเรียนว่าหนูชอบราดหน้าหรือผัดซีอิ๊ว ไอติมกาแฟหรือไอติมช็อกโกแลต ทะเลหรือภูเขา หมาหรือแมว เพื่อให้นักเรียนเห็นภาพว่าหนูคือใคร เห็นไหมว่าชีวิตมันลอกข้อสอบไม่ได้ ถ้าหนูทำตามคนอื่นทั้งที่หนูไม่ถนัด สุดท้ายหนูก็แป้กอีก”
เช่นนี้ หากใครมาเรียนวาดรูปที่โรงเรียนมหานาค จะพบว่าครูโตมีวิธีการสอนศิลปะแบบ 1:1 โดยยึดเอานักเรียนเป็นศูนย์กลาง
“สมมติหนูบอกว่าจะไปเรียนต่อแฟชั่น โอเค งั้นวันนี้มาเรียนเขียนแฟชั่นกัน ครูจะถามว่าอังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อเมริกา ดีไซเนอร์ที่หนูชอบที่สุดคือชาติอะไร ถ้าหนูบอกว่าฝรั่งเศส ครูก็จะถามต่อว่า Channel, Christian Dior, Louis Vuitton คือครูจะให้หนูเลือก ถามว่าทำไมต้องทำแบบนั้น เพราะครูอยากให้หนูเรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จ
ดังนั้นถ้าหนูเลือก Christian Dior ครูก็จะให้หนูเปิดรูปชุดที่ชอบของแบรนด์นั้นขึ้นมา จากนั้นครูจะสอน Drawing ลงบนกระดาษ A4 หรือถ้าหนูอยากเขียนภาพวิวแบบเซซาน (ปอล เซซาน ศิลปินชาวฝรั่งเศสที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่) ครูก็จะบอกหนูว่าหนูต้องเริ่มต้นตั้งแต่ 1-10 ยังไง ท้องฟ้ามาก่อน ภูเขาตามมา ต่อด้วยต้นไม้ เห็นไหมครูตอบกว้างๆ ไม่ได้ เพราะศิลปะไม่มีกฎตัวตายแบบคณิตศาสตร์ ครูเลยต้องรู้ว่าหนูต้องการสิ่งใดแล้วครูจะสนองตอบ”
วิชาศิลปะแห่งชีวิต
ระหว่างการสอนศิลปะ ผมสังเกตว่าครูโตมักหาจังหวะสอดแทรกวิชาชีวิตแก่นักเรียนอย่างแนบเนียน ครูโตบอกว่าแม้ทักษะอาชีพจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ทัศนคติที่ดีจะทำให้เราประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
“จากจุดเล็กๆ ที่ชอบวิชาเดียว โลกหมุนไป ทุกวันนี้ครูยังคงมุ่งมั่นสุดๆ เชื่อไหมว่าถ้าวันไหนไม่ได้วาดรูป ครูจะรู้สึกเหมือนตัวเองทำบาปจนต้องหากระดาษมาวาดรูปให้ตัวเองสบายใจ
ครูถึงบอกนักเรียนเสมอว่าถ้าหนูอยากเก่ง คิดอย่างเดียวไม่ได้นะ หนูต้องมีวินัยอย่างสม่ำเสมอด้วย แต่ทั้งหมดทั้งมวลครูจะพูดไม่ได้เลยถ้าครูไม่ประสบความสำเร็จหรือมีชื่อเสียง”
สำหรับนักเรียนที่เป็นศิลปิน ผมได้ยินครูโตสอนว่า “วิชาที่ครูสอนห้ามจำแต่ให้รู้สึก และความรู้สึกเปลี่ยนได้” เพราะศิลปินเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความรู้สึกและจินตนาการในการฝันถึงสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
“สิ่งที่ครูสอนว่าหนูต้องรู้สึก และความรู้สึกจำไม่ได้ เพราะถ้าหนูจำความรู้สึก หนูก็จะหยุดอยู่กับที่ หรือแม้แต่ตัวครูเอง ทุกครั้งที่เขียนรูปเสร็จ ครูจะทิ้งความรู้สึกในจิตไปหมดเลย เพราะเมื่อไหร่ที่เราหยุดนิ่งหรือติดในภาพจำ เมื่อนั้นเราจะติดกับดักของความสำเร็จและจะทำให้เราไม่พัฒนาไปไหน นอกจากการย้ำรอยเดิม”
ด้วยหัวใจของความเป็นครูและประสบการณ์ในฐานะศิลปินที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ผมสัมผัสได้ถึงการถ่ายทอดวิชาชีวิตของครูโตที่ลื่นไหล พร้อมไปกับวิธีการประเมินผลงานของนักเรียนแต่ละคนอย่างเมตตา ให้เกียรติ และไม่หักหาญน้ำใจซึ่งกันและกัน
“ครูว่าคนเราไม่สามารถพูดอะไรก็ได้ ไม่ได้นะ แบบนั้นเรียกว่าไม่มีมารยาท เราต้องให้เกียรติผู้อื่น ครูดีใจที่ครูรูดซิปปากได้ แต่ถ้ารักกันจริง ครูมีสิทธิประเมินผลให้ตัวต่อตัว แต่รับรองว่าครูจะไม่ประเมินผลในที่สาธารณะ เพราะมันคือเรื่องส่วนตัว เหมือนตอนเด็กๆ ครูสอนภาษาไทยสอนครูว่าเราไม่ควร ‘ตบหัวกลางศาลา ขอขมาที่บ้าน’ แปลว่าตอนอยู่ในที่สาธารณะไม่ควรไปหักหาญน้ำใจกัน ดังนั้นความอดทนจึงเป็นบทเรียนที่ดีมากสำหรับชีวิต”
ส่วนนักเรียนทั่วๆ ไปที่อยากวาดรูปเป็นงานอดิเรก ครูโตมักสอดแทรกวิชาชีวิตที่เรียบง่าย หากลึกซึ้งกินใจ โดยนำอาวุธประจำกายอย่าง ‘ปากกาหมึกซึม’ มาเป็นบทเรียนสำคัญ
“เวลาวาดรูปด้วยปากกาหมึกซึม ครูชอบบอกเด็กๆ ให้ติ๊งต่างว่าโลกนี้ไม่มียางลบ เพราะครูจะได้รู้ว่าครูผิดไม่ได้ ครูต้องกล้าหาญ จากนั้นครูก็ลากเส้นออกไปช้าๆ โฟกัสกับการจรดปากกาทุกขณะ เหมือนกับการใช้ชีวิตที่หนูต้องมีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่ว่าหนูจะทำอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างมันถูกบันทึกเอาไว้หมดแล้ว”
สำเร็จ-ล้มเหลว
ในการสอนศิลปะและวิชาชีวิตให้กับนักเรียนรุ่นใหม่ๆ หลายคนมักตั้งคำถามว่าต้องมาเรียนกี่ครั้งถึงจะเก่งหรือประสบความสำเร็จ ทำให้หลายครั้งครูโตรู้สึกว่าสังคมสมัยนี้เหมือนสังคมแบบ ‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’ ที่ทุกคนอยากรวยอยากดัง และตัดสินผลแพ้ชนะกันอย่างรวดเร็ว
“ครูชอบศัพท์คำว่า หิวแสง ทั้งที่จริงการประสบความสำเร็จมันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น ไม่งั้นทุกคนคงรวยและดังกันหมดแล้วสิ ทุกอย่างมันเร่งไม่ได้เหมือนกับต้นไม้ที่หนูต้องปลูกให้ถูกที่ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน รดน้ำ รอเวลาที่สุกงอม อย่างครูก็ต้วมเตี้ยมของครูไปเรื่อยๆ กว่าจะเป็นที่ยอมรับ แต่บางทีคนอาจไม่เข้าใจเพราะคิดว่าทุกอย่างง่ายเหมือนกับเกมที่สามารถตัดสินแพ้ชนะกันตอนนั้น”
แม้สภาพสังคมจะกดดันให้คนรุ่นใหม่ไขว่คว้าหาความสำเร็จจนเกิด ‘ดาวเด่น’ และ ‘ดาวดับ’ มากมาย แต่ในมุมของครูโต ‘การประสบความสำเร็จ’ นั้นไม่จำเป็นต้องแข่งกับใคร
“สำเร็จหรือไม่สำเร็จมันต้องดูกันยาวๆ ครูไม่อยากให้นักเรียนของครูดังแบบพลุที่สว่างวาบแล้วก็หายไป เหมือนหลายคนชอบเอาเงินทองเป็นที่ตั้ง แต่ครูจะสอนให้นักเรียนเอาฉันทะเป็นที่ตั้ง”
ขณะเดียวกันครูโตได้สอนให้นักเรียนทุกคนกล้าที่จะเดินตามความฝันของตัวเอง แม้ระหว่างทางอาจต้องสะดุดหกล้มบ้างก็ตาม
“ถ้าหนูสังเกตตรงทางขึ้นโรงเรียน หนูจะเห็นคำว่า ‘sometimes you win , sometimes you learn.’ ซึ่งครูชอบมาก เลยเอามาติดไว้ให้ลูกศิษย์ได้อ่าน เพราะสำหรับครู ครูไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว ครูรู้สึกว่ามันเป็นบทเรียนและประสบการณ์ชีวิตมากกว่า ดังนั้น sometimes I win , sometimes I learn. ”
หลังพูดคุยกับครูโตเป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง ผมรู้สึกได้ถึงแรงบันดาลใจอันเปี่ยมล้น ครูโตย้ำเสมอว่า ความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นจากความชัดเจนในสิ่งที่รัก การรู้จักนำสิ่งรอบตัวมาฝันใหม่ และการมีวินัยอย่างสม่ำเสมอ
รักและให้เกียรติตัวเอง
ก่อนจากกันวันนั้น ผมถามครูโตในวัยย่าง 63 ว่ามีแผนเกษียณตัวเองหรือไม่ ครูโตยิ้มอย่างเมตตาก่อนบอกกับผมว่าจะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหว
“งานของครูไม่ต้องรีไทร์ ครูเข้าข้างตัวเองว่าครูยิ่งแก่ยิ่งเก๋า ครูเอนจอยกับปัจจุบันไปเรื่อยๆ และครูก็ไม่หยุดอยู่กับที่ งานของครูเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ครูไม่รู้คนอื่นทำงานยังไง แต่ครูเซ็ตระบบให้ตัวเองมีวินัยอย่างน่าอัศจรรย์ เหมือนเวลาเปิดทีวีดูแฟชั่นโชว์แล้วเห็นฟอร์ม สี เท็กซ์เจอร์ เสื้อผ้า หน้าผม หรือแม้แต่การแต่งหน้า ครูจะรู้สึกโอ้โห! องค์ประกอบนี้สวยจังแล้วรีบหยิบสมุดมาสเก็ตช์ในแบบของครูทันที คือทุกเวลานาทีสิ่งที่ครูเห็นสามารถเป็นแรงบันดาลใจในงานเขียนรูปได้หมดเลย
ดังนั้น ประโยคที่ว่ายังไม่มีแรงบันดาลใจ ยังไม่มีอารมณ์เอาไว้ก่อน จะไม่มีวันออกจากปากครูเลย เพราะครูรักและให้เกียรติตัวเองมาก”
นอกจากจะรักและให้เกียรติตัวเองแล้ว ในฐานะที่เป็นครูในอุดมคติของใครหลายๆ คน ครูโตทิ้งท้ายสั้นๆ ว่านักเรียนที่ดีก็ควรรักและให้เกียรติตัวเองด้วยเช่นกัน
“ครูไม่อยากได้นักเรียนที่มาเรียนกับครูเพื่อขอถ่ายรูปลงสื่อ ทำเหมือนครูเป็นมาการองที่ฉันมาลองแล้วหนหนึ่ง ครูไม่อยากได้แบบนั้น มันไม่มีประโยชน์เลย ครูอยากได้คนที่มาเรียนเพราะอยากเป็นมืออาชีพหรืออยากมีงานอดิเรก ครูชอบนักเรียนที่ตั้งใจเรียนและมาเรียนอย่างสม่ำเสมอ”