- การประชุมแบบออนไลน์อาจทำให้ขอบเขตการใช้สมองในการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ ‘แคบลง’ มากกว่าการได้พูดคุยต่อหน้า
- มีงานวิจัยชี้ว่า ‘การระดมสมองออนไลน์’ ได้จำนวนไอเดียน้อยว่าการมาปฏิสัมพันธ์ต่อหน้า แต่กลับได้แนวคิดเจ๋งๆ ที่เกิดขึ้น … เรียกว่า ‘น้อยแต่มาก’ อย่างแท้จริง!
- นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อประชุมแบบออนไลน์ เรารู้สึกเหมือน ‘เป็นหน้าที่’ ที่ต้องจ้องจอภาพตลอดเวลา ทำให้เรามีโอกาสเปลี่ยนเป้าสายตาไปรอบๆ แบบเดียวกับการประชุมต่อหน้าน้อยกว่า
ตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 มีข้อถกเถียงกันมากว่า การเรียน การสอน การประชุมและการทำงานแบบออนไลน์มีประสิทธิภาพดีหรือแม้แต่ใกล้เคียงกับการทำงานแบบได้ปะหน้าค่าตากันจริงหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม ก็มีงานวิจัยที่ชี้ว่าในคนทำงานบางส่วนทำงานได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือได้ผลงานมากขึ้นถึง 35-40% ทีเดียว แถมงานที่ได้ยังมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วยคือ มีความผิดพลาดน้อยลง 40% หากเทียบกับการทำงานในออฟฟิศ [1]
คำอธิบายยอดนิยมก็คือ การทำงานทางไกลช่วยตัดเรื่องการเดินทางและลดการประชุมที่ไม่จำเป็น ที่หัวหน้าบางคนชอบทำเมื่อเข้าทำงานในออฟฟิศ รวมไปถึงการพูดคุยกระจุกกระจิกไม่รู้จักจบจักสิ้นระหว่างเพื่อนร่วมงาน และเรื่องสิ้นเปลืองเวลาที่ไม่ก่อประโยชน์อื่นๆ ที่หลายคนอาจนึกออกเพิ่มเติมอีก
แต่ผลสรุปแบบนี้คงใช้ไม่ได้กับทุกคนเช่นกัน คนที่ไม่มีวินัยในตัวเองก็อาจมีประสิทธิภาพการทำงานลดลงก็ได้
ข้อเท็จจริงอีกเรื่องที่น่าสนใจคือ เมื่อมีการยินยอมให้ทำงานแบบทางไกลได้มากขึ้น อัตราการลาออกก็ลดลงและพนักงานก็แสดงความพึงพอใจในการทำงานมากขึ้นด้วย ช่วยลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสัมภาษณ์หรือต้องหาคนใหม่ การฝึกให้คุ้นกับงานใหม่ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ซ่อนอยู่และไม่อาจมองเห็นได้โดยง่าย [2]
ข้อดีหลายข้อดังกล่าวทำให้มีการเรียกร้องให้ออฟฟิศต่างๆ อย่างน้อยก็ควรจัดให้มีการทำงานแบบผสมผสานและไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน การสำรวจโดย Harvard Business Review สรุปว่า พนักงานออฟฟิศที่ร่วมแสดงความคิดเห็นอยากให้มีการทำงานแบบทางไกลสัปดาห์ละ 2.5 วันและมีการทำนายว่าสุดท้ายแล้วอย่างน้อย 20% ของวันทำงานของคนอเมริกันจะเป็นแบบทำงานทางไกล [3]
แต่แน่นอนว่าข้อเสียของการทำงานทางไกลกันหมด ติดต่อกันเฉพาะทางออนไลน์ก็มีเช่นกัน ขณะที่พนักงานบางส่วนชอบการทำงานจากบ้านหรือร้านกาแฟ บางส่วนก็รู้สึกว่าการทำงานแบบนี้มันขาดความเชื่อมโยงกับเพื่อนร่วมงาน ลดความรู้สึกว่าเป็นทีมเดียวกัน บางคนที่เซนซิทีฟหรืออ่อนไหวง่ายมากสักหน่อยก็อาจรู้สึกเหงาหรือขาดแรงจูงใจบางอย่างในการทำงานได้ง่ายๆ เช่นกัน รายที่แย่หน่อยก็มีโอกาสกลายเป็นซึมเศร้าได้เวลาเจองานยากและไม่มีหัวหน้าหรือเพื่อนคอยสนับสนุนอยู่ใกล้ๆ [4]
การสื่อสารผ่านแอปแบบไม่สนใจเวลาจะดึกดื่นหรือวันหยุดก็ไม่สน ทำให้เกิดความเครียดกับคนจำนวนมากเช่นกัน
แต่ดูเหมือนเรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือ การประชุมแบบออนไลน์ไม่สามารถทดแทนการประชุมกันแบบต่อหน้าได้อย่าง 100% เพราะขาดการสื่อสารทางกายอื่นๆ นอกเหนือไปจากคำพูดหรือน้ำเสียง
หากพิจารณาเฉพาะการระดมสมอง (brainstorm) ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญทั้งกับการทำงานและการเรียนในระบบการศึกษา การหันมาประชุมแบบออนไลน์ส่งผลอย่างไรบ้าง?
มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ค.ศ. 2022 ที่ชี้ว่า การสื่อสารผ่านระบบแอปหรือระบบวิดีโอที่นิยมกันเช่น Zoom อาจส่งผลให้ลดจำนวนความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ [5]
นักวิจัยทดลองแบบนี้ครับ เริ่มจากรับอาสาสมัครซึ่งก็ได้มา 602 คน จากนั้นก็ให้จับคู่กันแบบสุ่มและมอบภารกิจคือ ให้ออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งให้สร้างสรรค์ที่สุด การจับคู่นั้นมีทั้งแบบให้จับคู่กันทำงานแบบออนไลน์หรือต้องมาทำงานกันต่อหน้า จากนั้นก็ให้จัดอันดับแนวคิดว่าอันไหนสร้างสรรค์มากน้อยอย่างไร โดยให้พิจารณาเรื่องของความแปลกใหม่ว่ามีมากน้อยเพียงใด
จากนั้นก็ให้เลือกไอเดียที่คิดว่าดีที่สุดเพื่อส่งให้นักวิจัย
เมื่อนำงานที่ได้มาวิเคราะห์พบว่า คู่ที่ทำงานแบบออนไลน์ด้วยกัน ได้จำนวนไอเดีย ‘น้อยว่า’ อย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าปฏิสัมพันธ์บางอย่างที่ต้องทำกันต่อหน้าเท่านั้นจำเป็นต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์มาก
แต่ที่น่าสนใจไม่น้อยกว่ากันก็คือ คู่ที่ทำงานแบบออนไลน์กลับได้คะแนนมากกว่า หากพิจารณาจากแนวคิดเจ๋งๆ ที่เกิดขึ้น … เรียกว่า ‘น้อยแต่มาก’ อย่างแท้จริง!
นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้ว่าผลลัพธ์ข้างต้นอาจจะเกิดจากการประชุมแบบออนไลน์ทำให้ขอบเขตการใช้สมองในการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ ‘แคบลง’ มากกว่าการได้พูดคุยต่อหน้า จึงทดสอบโดยสุ่มให้อาสาสมัครบางคนมาประชุมพร้อมๆ กันทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้รู้ว่าเมื่อมีการประชุมต่อหน้าร่วมด้วย อาสาสมัครจะใช้เวลามองคนที่อยู่ในห้องเดียวกันและสิ่งรอบๆ ตัวเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แทนที่จะเอาแต่จ้องไปที่จอภาพอย่างเดียวอยู่ตลอดเวลา
การมองกันและกันและสิ่งแวดล้อมรอบตัวขณะพูดคุยจึงอาจมีส่วนกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
นักวิจัยยังทำการทดลองอีกชุดหนึ่ง คราวนี้ทำกับวิศวกรโทรคมนาคมจำนวนเกือบ 1,500 คน โดยให้สุ่มจับคู่อีกเช่นกัน จากนั้นก็ให้ช่วยกันคิดไอเดียใหม่ๆ และเลือกเอามาสักไอเดียหนึ่งเพื่อใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคต
ผลการทดลองก็ตอกย้ำสิ่งที่เกิดขึ้นในการทดลองก่อนหน้าคือ คู่ที่พูดคุยแบบต่อหน้าได้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ จำนวนมากกว่า แต่หากเทียบเรื่อง ‘คุณภาพ’ ของแนวคิดสุดท้ายที่เลือกมาก็อยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างจากคู่คิดแบบออนไลน์เท่าใดนัก
นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเราประชุมแบบออนไลน์ เรารู้สึกเหมือนกับว่า ‘เป็นหน้าที่’ ที่ต้องจ้องจอภาพในขณะที่ประชุมเหมือนเป็นมารยาทที่ดีแบบหนึ่ง ทำให้เรามีโอกาสเปลี่ยนเป้าสายตาไปรอบๆ แบบเดียวกับการประชุมต่อหน้าน้อยกว่า เพราะเกรงว่าจะเป็นการเสียมารยาทหรือหยาบคาย ทำนองเดียวกับคุยกันต่อหน้าแต่เรากลับหันข้างหรือหันหลังหรือแม้แต่เดินไปที่อื่นทั้งๆ ที่คุยกันอยู่
ครูอาจารย์หลายคนที่ต้องสอนออนไลน์อย่างยาวนานตั้งแต่สมัยโรคโควิดยังระบาด ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อเปลี่ยนมาสอนแบบออนไลน์ มีจุดอ่อนบางอย่างอยู่จริง เช่น การไม่สามารถมองนักเรียน นักศึกษาทั้งห้องหรือทุกคนได้พร้อมกันในคราวเดียว และยากจะเรียกร้องความสนใจให้เด็กๆ มองมาที่ตนอยู่ตลอดเวลาได้
แต่ก็มีข้อดีบางอย่างเกิดขึ้นเช่นกัน ยกตัวอย่าง มีแนวโน้มที่นักเรียนจะแย่งกันพูดน้อยลง แต่จะคอยให้เพื่อนพูดจบก่อนมากขึ้น นอกจากนี้นักเรียนที่ขี้อายและปกติไม่ค่อยกล้าพูดในห้อง หลายคนก็พูดบ่อยมากขึ้น แสดงให้เห็นว่ามีความกังวลใจเรื่องการพูดต่อหน้าคนอื่นลดลง
นักวิจัยแนะนำว่าการยอมให้คนที่ประชุมออนไลน์อยู่ ‘ปิดกล้อง’ บ้าง ก็ช่วยให้เจ้าตัวรู้สึกปลอดโปร่งและคิดไอเดียต่างๆ ได้ดีมากขึ้น
แต่ก็ดังที่ทุกคนทราบดีแล้วว่า หลังจากสิ้นสุดการระบาดของโรคโควิด-19 ออฟฟิศแต่ละแห่งก็ปรับตัวแตกต่างกันไป แล้วแต่ผู้บริหารจะมองเรื่องการมาอยู่พร้อมหน้ากันมีความจำเป็นแค่ไหน แต่ตามข้อมูลข้างต้นที่ให้ไปแล้ว การอนุโลมให้ทำงานระยะไกลจากบ้าน (หรือที่ไหนก็ได้) ก็มีข้อดีและประโยชน์ต่างๆ อยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่ควรทำเช่นนั้นตลอดเวลา ควรต้องมาพบปะเจอะเจอกันบ้าง
เฉพาะเรื่องการระดมสมอง แม้การระดมสมองทั้งออนไลน์และออฟไลน์จะได้แนวคิดดีๆ ไม่แตกต่างกันนัก แต่การมาเจอหน้ากันก็ช่วยให้ได้แนวคิดที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งอาจเหมาะสมกว่าในบางกรณีก็เป็นได้
เอกสารอ้างอิง
[1] https://www.activtrak.com/blog/remote-work-vs-office-productivity/ เข้าถึงข้อมูลวันที่ 12 เม.ย. 2025
[2] https://www.bls.gov/opub/btn/volume-13/remote-work-productivity.htm เข้าถึงข้อมูลวันที่ 12 เม.ย. 2025
[3] Scientific American Mind, July/August 2022, p. 8-10
[4] https://themobilereality.com/blog/hr/working-at-home-vs-office เข้าถึงข้อมูลวันที่ 12 เม.ย. 2025[5] Brucks, M.S., Levav, J. Virtual communication curbs creative idea generation. Nature605, 108–112 (2022). https://doi.org/10.1038/s41586-022-04643-y