- เปิดวงสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการอาหารสำหรับเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน เพราะอาหารโรงเรียนเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก
- การจะขับเคลื่อนประเด็นนี้จำเป็นต้องร่วมกันทั้งฝั่งโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ปกครอง และผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการดูแลอาหารเด็กๆ
ย้อนกลับไปในวัยเด็กสมัยประถมฯ มื้อกลางวันเรากินอะไรกัน แล้วมีเมนูไหนที่ทำเราฝังใจจนลืมไม่ลงบ้าง… อย่างเช่น บรรดาวิญญาณหมู เห็ด เป็ด ไก่ แกงหม้อใหญ่ที่ปริมาณน้ำเกินครึ่ง ผักที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่มักถูกทำออกมาได้ไม่น่ารับประทานนักสำหรับเด็กเล็กๆ บางคนถึงขนาดเป็นเหตุผลให้ไม่ชอบกินเมนูนั้นไปเลย และอาจหมายความว่า อาหารกลางวันมื้อนั้นเป็นมื้อที่ทำให้เด็กคนหนึ่งมีโภชนาการที่ไม่ดีนัก
จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้จัดการโครงการศูนย์เรียนรู้ต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส สถาบันสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ และในฐานะผู้ที่นำโปรแกรม Thai School Lunch พัฒนาโดยสวทช.และสถาบันโภชนาการ ไปถ่ายทอดให้กับโรงเรียนในโครงการเด็กไทยแก้มใส แสดงความเห็นในงาน ‘อาหารกลางวันโรงเรียนในฝัน’ จัดโดย The Potential อีเวนท์เล็กๆ ที่ชวนเปิดวงสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการอาหารสำหรับเด็กเล็กและเด็กวัยเรียนไว้ว่า
“ภาวะทางโภชนาการของเด็กแต่ละคน แก้ไขเฉพาะที่โรงเรียนและมื้ออาหารกลางวันอย่างเดียวไม่พอ จะต้องแก้ไขไปที่พ่อแม่พฤติกรรมการกินของตัวเด็กเอง ผู้ปกครองต้องเอาใจใส่ด้วย ถ้าไปคาดหวังว่าเด็กจะต้องสอบโอเน็ตได้คะแนนสูง เรียนได้คะแนนดีๆ เป็นไปไม่ได้ ในเมื่ออาหารและโภชนาการไม่ถึง เด็กจะเอาสติปัญญาที่ไหน สมาธิไม่มี ปวดท้องเพราะหิว ไม่มีอาหารไปเสริมสมอง”
อีกหนึ่งเสียงจาก อิทธิพล ด่วนกลิ่นคง นักศึกษาคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผู้ทำวิจัยและสารคดีเรื่องอาหารกลางวันเด็ก เล่าว่า
“จากที่ไปเก็บข้อมูลในโรงเรียนขยายโอกาส สังกัดท้องถิ่น อาหารกลางวันโรงเรียนเป็นประเด็นปัญหาหนึ่งที่เด็กหลายๆ คนพูดถึง ส่งเสียงให้เราได้ยิน ข้าวขาวแบบแห้งๆ ราดแกงเขียวหวานไก่ที่มีแต่มะเขือ เศษไก่สับ หรือเป็นหนังไก่ ยกตัวอย่างอีกอันปลาซิว ปลาตัวเล็กๆ ทอดกรอบ ซึ่งมันเค็มมาก เมนูพวกนี้ทำให้น้องทานอาหารที่โรงเรียนน้อยลง เขารู้สึกว่ามันไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ควรได้รับในมื้ออาหารนั้น และทำให้การเรียนตอนบ่ายไม่โอเค”
ซึ่งตอกย้ำว่า ปัญหาอาหารกลางวันเด็กไทยยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง คำถามคือ หากเราใส่ใจมื้อกลางวันของเด็กๆ มากพออาหารที่มาถึงพวกเขาอาจจะดีกว่านี้หรือไม่
what’s existing
สะท้อนความจริงปัญหาอาหารกลางวันโรงเรียนผ่านอาหารจานแรก
ข้าวขาว 1 ทัพพี ปลานิลทอด 2 ชิ้นเล็กๆ ไข่ต้ม แอปเปิ้ลเขียว ถั่วเขียวต้มน้ำตาล และนม 1 กล่องถูกเสิร์ฟมาในถาดหลุมที่คุ้นตา นี่คือเมนูมื้อกลางวันจานแรกที่ เชฟมนต์เทพ กมลศิลป์ เชฟอาหารไทยประยุกต์ ที่ปรุงด้วยวัตถุดิบท้องถิ่นประจำห้องอาหาร TAAN (ธาน) ณ โรงแรม Siam @ Siam และเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง 4 เมนูอาหารกลางวันที่จะพูดถึงต่อไป ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของงานนี้
เชฟมนต์เทพเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้เห็นวัตถุดิบสำหรับทำอาหารกลางวันที่ดูมีโภชนาการดีของโรงเรียนบ้านนาสาร โรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และพอได้คุยคุณครูที่โรงเรียนปรากฏว่า เป็นรูปแบบการบูรณาการแบบครอบครัว ชุมชน พ่อแม่ และครูตั้งกลุ่มกันเอง เอาวัตถุดิบในชุมชนมาทำ ด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือ เราจะต้องทำอาหารให้ลูกหลานกิน กลายเป็นภาพอาหารกลางวันที่สมบูรณ์ ซึ่งไม่ใช่สมบูรณ์เพียงรูปลักษณ์ หรือนโยบาย แต่สมบูรณ์ด้วยองค์รวมที่ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม
“สิ่งที่ผมมาเสนอวันนี้คือ อารมณ์ของอาหารในจาน ไม่ได้หมายถึงเราจะมาร้องรำ แต่หมายถึงอาหารมันมีอารมณ์เชิงลึก-เชิงตื้น อยากนำเสนอสิ่งที่มันอิมแพคเรา สิ่งที่เราเจอที่บ้านนาสารในวันนั้น เอามากางบนโต๊ะอาหารให้ผู้ที่เข้าร่วมเห็นภาพว่าเราเจออะไร เราอยากนำเสนออะไร ออกมาในรูปแบบจานอาหาร 4 จาน เพื่อที่เขาจะได้เอาสิ่งเหล่านี้ไปอินสปายต่อ”
ในจานแรกเชฟมนต์เทพจึงเลือกหยิบความจริงที่อยู่ในถาดหลุมมากางบนโต๊ะอาหาร แต่ปัญหาคือ ไม่ใช่ทุกชุมชนจะลุกขึ้นมาจัดการเช่นนั้นได้
“สมัยก่อนพ่อแม่จะใกล้ชิดลูก และโรงเรียนคือหัวใจของชุมชน พ่อแม่เลยไปช่วยกันปลูกผัก ปลูกข้าว เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เพื่อเอามาเป็นอาหารกลางวัน พอถึงเวลาอาหารกลางวันก็พ่อแม่นั้นแหละมาช่วยกันทำ เอาลูกๆ เข้ามาช่วยด้วย กินด้วยกัน เป็นวัฒนธรรมแบบเดิม ปัจจุบันทำไม่ได้เพราะต่างคนต่างมีงานที่ต้องทำ” คุณจงกลนีเสริม
นำไปสู่การนำเสนอปัญหาในจานที่สอง นั้นคือการเอาความจริงที่มีอยู่มาวางทับกัน สะท้อนปัญหาที่มีอยู่แล้วมาสุมกัน ผ่านอาหารที่เป็นวัตถุดิบเชิงเดียวแล้วมาประกอบร่างกันจนเกิดเป็นอาหารจานใหม่ คล้ายจะให้เห็นกับปัญหานั้นมีทางออกเสมอ ในจานมีมะละกอดิบ ไก่บ้านต้มที่ถูกฉีกเป็นฝอยๆ น้ำพริกเผา กะปิ ไข่ต้ม ผักชีลาว ใบสาระแหน่ หอมแดง พริก แยกน้ำยำซึ่งเสิร์ฟใส่กล่องนมโรงเรียน
อาหารมีผลต่อร่างกายและการเรียนรู้ของเด็ก
เพื่อการเจริญเติบโตที่สมวัย เด็กๆ จำเป็นต้องได้รับสารอาหารในมื้อกลางวันอย่างเต็มที่ ทั้งอิ่มอร่อย อิ่มท้อง และเต็มอิ่มไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
“ทำไมต้องใส่เลือดในแกงเขียวหวานไก่ ทำไมต้องให้กินผัก เพราะว่าจากการประเมินอาหาร ทั้งในโรงเรียนของโครงการเด็กไทยแก้มใสของเราเอง สิ่งที่เด็กขาดมากที่สุด คือ ธาตุเหล็ก แล้วก็วิตามินเอ ธาตุเหล็กมาจากไหน ตับส่วนหนึ่ง แต่ที่มากที่สุด คือ เลือดสัตว์ แล้วตับก็มีวิตามินเอสูง ถัดมาคือแคลเซียมที่เด็กจะต้องโต ต้องสูง สามตัวนี้ขาดไม่ได้ในการทำอาหาร และส่วนใหญ่ที่เราเจอเด็กประถมปลาย โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงซึ่งเป็นวัยที่มีประจำเดือน จะซีด ขาดธาตุเหล็ก รัฐบาลกระทรวงสาธารณะสุขเลยต้องเสริมการทานธาตุเหล็ก” คุณจงกลนี อธิบาย
อีกทั้งในโปรแกรม Thai school lunch ยังแนะนำว่าต้องเสริมธัญพืชให้เด็ก พวกถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ เช่น ถั่วเขียวซึ่งสารอาหารที่ดี มีประโยชน์ แต่ถ้าให้วิเคราะห์สารอาหารในจานๆ นี้ คุณหน่อยแนะนำว่า ข้าวขาวไม่มีสารอาหาร ควรจะให้เด็กกินข้าวกล้องผสม เพราะมีใยที่เคลือบวิตามินบี 1และ 2 ส่วนปลาค่อนข้างเค็ม โซเดียมสูง และในจานก็ไม่มีผักที่เป็นใยอาหารเลย แม้จะมีถั่วเขียว แต่ก็ให้ปริมาณน้อย และหวานเกินไป
“ข้าวประมาณ 1 ทัพพีสำหรับเด็กก่อนวัยอนุบาล จริงๆ ถ้าใช้วิธีเติมก็ไม่ถูก เพราะว่าโปรแกรมคำนวนมาให้แล้วว่าวัยขนาดนี้กินเท่านี้ที่พอดีกับร่างกายของเด็ก ถ้าเด็กประถมฯ 2 ทัพพี เด็กมัธยมฯ 2 ทัพพีครึ่งถึง 3 ทัพพี ขึ้นอยู่กับว่าเด็กต้องใช้พลังงานมากน้อยแค่ไหนในแต่ละวัน เราอาจจำกัดข้าว แต่ไปเน้นที่ผักผลไม้ได้ ซึ่งผลไม้มีทุกวันได้ก็จะดี ผักต้องมีให้ครบเพราะผู้ใหญ่ต้องกินวันละ 400 กรัม ถ้าเด็กก่อนวัยอนุบาลประมาณ 30 กรัม เด็กวัยโตขึ้นมาประถมต้น 250 กรัม ประถมปลายมื้อหนึ่งประมาณ 70 กรัม 2 ช้อน กินเกินไม่เป็นไร”
Solution
นโยบาย งบประมาณ และการบริหารของแต่ละโรงเรียน
ในส่วนของโรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษา สมุทรปราการ ผอ.อรัญญา พิสุทธากุล ผู้อำนวยการโรงเรียน เล่าว่า
“อย่างของเรามีหลายๆ บริบท วันไหนที่เป็นข้าวแกงเขียวหวานกับขนมจีน ซึ่งเด็กๆ ชอบมาก ราคาต่อวันที่เราซื้อหัวเฉลี่ยจะต้องคุมให้ได้ในงบ 19,000 บาท เฉลี่ยหัวละ 20 บาท เด็ก 1,056 คนเบื้องต้น จะต้องคอนโทรลให้อยู่ใน 18,200 บาท แต่เราไม่ใช้หลักการนั้น เราเอางบรวมตั้ง วันที่เด็กๆ ทานแกงเขียวหวานขนมจีน แม้ว่าจะต้องจ่ายถึง 23,000 บาท ไม่เป็นไร เรามองว่าในวันรุ่งขึ้น ผัดบล็อกโคลี่กุ้งกับแกงจืดเต้าหู้ปลา อันนี้อาจจะใช้งบประมาณรวม 16,000 บาท มันก็คือหัวเฉลี่ยอยู่ในก้อนนั้น รายละเอียดตรงนี้จะทำให้เราบริการจัดการงบประมาณและปริมาณอาหารกลางวันของเด็กได้”
โดยจะต้องจัดการแบ่งมื้ออาหารในหนึ่งอาทิตย์ รวมถึงทำรายการใช้จ่ายทั้งของสดของแห้ง และในทุกวันจะต้องรายงานผอ.อรัญญาก่อน 9 โมงเช้า เพื่อให้แม่ครัวดำเนินการต่อ หากวันนั้นป็นเทศกาลตรุษจีน เด็กๆ อาจหยุดถึง 20% ของนักเรียน ก็สามารถลดงบประมาณในวันนี้ได้ โดยงบที่เหลือสามารถนำไปจัดในสัปดาห์สุดท้ายของภาคเรียนได้
“เมื่อก่อนเคยซื้อหมูเนื้อแดงกิโลละ 130 บาท ตอนนี้ 170 บาทต่อกิโลกรัม บอกเลยว่าถ้าไม่ใช่การบริหารจัดการ เด็กไม่สามารถทานกันได้ ตอนนี้ก็ได้รับการซัพพอร์ทพอสมควรจากเทศบาล แต่โรงเรียนที่ไม่ได้รับการซัพพอร์ทอย่างเรา การที่จะให้เขาเดินหน้าอย่างสวยงามหรือว่ายอมทำ เด็กได้ทานข้าวไรซ์เบอรี่ ทานข้าวกล้องหอมทุกๆ วัน ทำได้ยาก”
ซึ่ง รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ อดีตคณบดีคุรศาสตร์ จุฬาฯ และผู้บริหารโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นด้วยว่า เป็นสิ่งที่จะตอบโจทย์เรื่องอาหารกลางวันทั้งหมดว่า อยู่ที่การบริหารจัดการ
“ในการจะบริหารโรงเรียน ยกตัวอย่างรูปแบบที่หนึ่งคือทำด้วยตัวเองในงบ 20 บาท รูปแบบที่สอง ผลิตผลผลิตวัตถุดิบด้วยตัวเองเสริม เน้นปลา เน้นผัก ซึ่งอาจจะต้องใช้เงินทุน รูปแบบที่สาม ก็ให้ทางอบต. สนับสนุน รูปแบบที่สี่คือการต้องไปขอสปอนเซอร์ อย่างนี้มันจะกลายเป็นรูปแบบของการบริหารโครงการ ซึ่งจะต้องอบรมผ่านการกลั่นกรองและแนะนำจากคนที่เกี่ยวข้องว่าควรจะทำอย่างนี้ และต้องมีกลไกติดตามการทำงานของผอ.ด้วย แล้วถ้ามีคนมีผู้ปกครองมาโวยวายว่าอาหารกลางวันไม่ดี ก็ย้ายเลย มันจะเกิดสำนึกขึ้นทันที”
ด้านคุณจงกลนี แลกเปลี่ยนว่า ในงบประมาณ 20 บาท ถ้าเด็ก 1,000 คนก็วันละ 20,000 บาท สามารถไปซื้ออาหารที่ดีได้ เนื่องจากซื้อปริมาณมากราคาถูก แต่ถ้าเด็ก 40 คน ก็ได้ 800 บาท ให้แม่ครัว 300 บาท ค่าแก๊สวันละ 40 บาท ค่ารถไปจ่ายกับข้าว หากตัดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปแล้วจะเหลือเงินค่าวัตถุดิบจริงๆ เท่าไรกัน แต่แม้โรงเรียนทั่วประเทศจะมีโปรแกรมที่ทราบอยู่แล้วว่าคุณค่าทางอาหารที่เด็กควรได้รับในแต่ละช่วงวัย แต่เกิดอะไรขึ้นทำไมถึงยังออกมาเป็นวิญญาณไก่กันอยู่ ปัญหาอยู่ตรงไหนกัน
“อยู่ที่การบริหารจัดการ ปัจจัยสำคัญคือ ผู้บริหาร จริงๆ เป็นงบจากรัฐบาลกลางให้มาหัวละ 20 บาท ให้ทุกสังกัดเหมือนกันหมดเลย แต่ให้กรมส่งเสริมไปช่วยกระจายลงท้องถิ่น ท้องถิ่นเป็นคนจัดสรรงบตรงนี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สพฐ เป็นการกระจายอำนาจ ซึ่งงบมีอยู่ 2 หมวด หมวดที่มาจากรัฐบาลกลาง แต่ยังมีงบอีกงบหนึ่ง เป็นงบที่เป็นรายได้ของท้องถิ่น สามารถเอางบตรงนี้ไปสมทบเพิ่มได้ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีของบุคคลที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ มีหน้าที่ต้องดูแลลูกหลานของเขาด้วย”
“อยากจะให้ผู้ใหญ่ได้มองเห็นและมุ่งไปที่ตัวเด็กจริงๆ ว่า อาหารสมองสำคัญที่สุดสำหรับเด็กไทยทุกยุคทุกสมัยหลายคนฟังและอยากจะแก้ แต่ก็มัวไปสนใจเรื่องนโยบาย แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองจริงๆ ก็เริ่มต้นจากที่บ้านได้ เช้ามาต้องให้ลูกทานอาหารเช้าที่มีประโยชน์ เพื่อสร้างวัฒนธรรมการกินที่ถูกต้องตั้งแต่ในครัวเรือน”
จานที่สาม จึงเป็นเมนูถาดหลุมธรรมดาๆ ที่นำเสนอการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์กับ solution ที่เกิดขึ้นจริง ทำให้กลไกการปรับราคาขับเคลื่อนได้โดยเห็นรูปธรรมมากขึ้น ผ่านการใช้วัตถุดิบพื้นบ้านที่ได้มาจากแต่ละท้องถิ่นจริงๆ ไม่ใช่แค่ให้มื้อหนึ่งจบๆ ไป โดยองค์ประกอบในถาดหลุมจานนี้มีข้าวอบตะไคร้พวงไข่ ไก่บ้านต้มขมิ้นพันกับผักน้ำพริกเผากะปิมาโยเนส ต้มมะละกอดองปลานิล ใบกระเพรา โหระพา และถั่วเขียวต้มน้ำผึ้งเนย
“สิ่งที่พยายามจะนำเสนอมันคือเรื่องของ Local วัตถุดิบของจานแรกกับจานที่สองรวมกัน จะเห็นว่ามีถั่วเขียวผมเอาไปผัดกับน้ำผึ้งและเนย ในการเสิร์ฟในโรงอาหารโรงเรียนอาจเป็นไปไม่ได้ แต่นี่คือสิ่งที่เราพยายามนำเสนอว่า ถ้าเราใส่ของที่แตกต่างไปนิดเดียว มันสร้างความแตกต่างได้นะ ตัวซุปที่บอกว่าเป็นแกงเลียงจริงๆ คือซุปมะละกอ ที่มีข่า ตะไคร้ และก็มีปลานิลเค็มจากจานแรก แต่พอมาอยู่ในบริบทที่ถูกต้อง จานนี้ผมไม่ได้ปรุงรสชาติเพิ่มเลย จะมีความกลมกล่อมพื้นฐานของไก่บ้านเหนียวๆ ที่อยู่ในจานที่สอง ทานคู่กับน้ำพริก แล้วก็ผมเสิร์ฟแนมกับตัวผักที่ใส่อยู่ในจานแรกด้วย
จริงๆ จานนี้อยากจะให้เห็นภาพว่ามันไม่สามารถทำอะไรมุมเดียวได้เลย เราเอาความจริงมาวางทับกันเราเห็นแต่ปัญหา แล้วเราก็จะมองว่าฝั่งฉันทำอย่างนี้แล้ว อีกฝั่งหนึ่งทำไรไม่ได้เลย แต่พอมันบูรณาการกันในจานนี้แล้ว เราเอาชุดความคิดของจานแรกมาโมดิฟลายด์ให้เป็นจานที่สอง และมาปรับให้กลายเป็นจานนี้ ซึ่งอยู่ในงบ 37 บาทที่สามารถจัดการได้บางมื้อ ซึ่งมื้ออาหารวันนี้ผมพยายามจะรวมทั้งหมดให้อยู่ประมาณ 1,000 บาท ” เชฟมนต์เทพ อธิบาย
อาหารในจินตนาการจากรากฐานความจริงที่สามารถเกิดขึ้นได้
ฟอร์แมทในการนำเสนอไล่มาตั้งแต่จานแรกฉายภาพความเป็นจริงและปัญหาอาหารกลางวันโรงเรียน จากนั้นก็ว่ากันด้วยโซลูชั่นที่มีในปัจจุบันและเราจะร่วมมือแก้ไขกันได้อย่างไร ซึ่งสำหรับจานสุดท้ายนี้ เชฟมนต์เทพมองว่า มันคือความต่าง เป็นจานหนึ่งที่ยากมากสำหรับเขา
“เราทำทาร์ตทั้งหมดจากแป้งข้าวเจ้า แล้วก็เราเอาของที่มีอยู่ในเมนู เช่น น้ำพริกกะปิ มาเป็นส่วนประกอบของจานนี้ด้วย เพราะฉะนั้นวิธีการเสิร์ฟมันคือเรื่องของความคิดที่คลี่คลาย แนะนำให้ทุกๆ ท่านค่อยๆ คลี่กระดาษออก ด้านในก็จะพบว่ามีขนมอยู่หนึ่งชิ้นที่จริงๆ แล้วเป็นวัตถุดิบตั้งแต่จานแรกเลย คือ แอปเปิ้ลเขียว มะละกอ ข้าว แล้วก็มีซอสน้ำพริกกะปิคาราเมล จานนี้สำหรับผมผมรู้สึกว่ามันคือความกล้า มันอาจจะไม่ได้ทำให้อร่อยขึ้น แต่ว่าอย่างน้อยคนที่ไม่เคยทานเปิดใจมากขึ้น ซึ่งจริงๆ เราทานกะปิกับผลไม้กันอยู่แล้ว อย่างเช่น มะม่วงเราก็จิ้มกับกะปิ แต่พอมันอยู่ในบริบทที่เปลี่ยนไปเรามักจะกลัว”
จะเห็นว่า วัตถุดิบหนึ่งอย่างสามารถทำได้หลายเมนู หลายรูปแบบ บางครั้งก็เป็นวัตถุดิบหลักของเมนูนั้น ขณะที่บางครั้งก็เป็นวัตถุที่ช่วยเสริมให้จานๆ นั้นมีรสชาติมากขึ้น โดดเด่นขึ้น หรือทำให้กินได้ง่ายขึ้น อย่างผักพื้นบ้าน ถ้านำมาปรุงแล้วช่วยดับกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ลงได้ เด็กอาจยอมกิน ซึ่งทำให้เขากินได้หลากหลาย
“ความความสร้างสรรค์ อาจจะสร้างความสนใจให้เด็กๆ อยากทานอาหารมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก แต่ก็ยังต้องเชื่อมโยงไปสู่เรื่องของคุณค่าอาหารด้วย สารอาหารครบ 5 หมู่ไหม เพราะว่าอย่างที่เราทำ Thai School Lunch ยังต้องมีว่าอันนี้กี่กรัมๆ รวมออกมาแล้วผลจะได้ 5 ดาว เด็กๆ ต้องทานอย่างน้อย 4 ดาว ถึง 5 ดาว อย่างวันนี้ทำทำแกงส้มกุ้งกับมะละกอ แต่ยังขาดแคลเซียมก็เอาปลากระป๋องใส่เพื่อให้เด็กได้ทานแคลเซียม แล้วรสชาติไม่เสียหายด้วย” ผู้อำนวยการโรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษา ทิ้งท้าย