- อย่างน้อยการรั่วของ TCAS3 ก็ทำให้ต้นทางอย่าง ทปอ. แอ่นอกยอมรับพร้อมประกาศแก้ ‘ทุก’ ปัญหา
- เนื้อหาสำคัญของบทความชิ้นนี้คือการยอมรับความจริง แก้ปัญหาและมองไปข้างหน้าร่วมกันผ่าน TCAS จากทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แม้กระทั่งเด็กเองก็ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการเผื่อใจในกรณีเลวร้ายที่สุด
- เพราะทุกฝ่ายรู้ดีว่าเส้นทางการศึกษาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมันคือ ‘เขาวงกต’ ดีๆ นี่เอง
เรื่อง: พชรกฤษณ์ โตอิ้ม
ภาพ: เวชะรดา มะเวชะ
‘Thai University Central Admission System’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘TCAS’ ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยล่าสุดที่ถูกออกแบบมาเพื่ออุดรูรั่วต่างๆ จากสนามสอบในรอบหลายปีที่ผ่านมา กลับกลายเป็นรูรั่วเสียเองจากปรากฏการณ์กันที่ใน TCAS3
จึงกลายมาเป็นวาระสำคัญของเวทีจุฬาฯ เสวนาครั้งที่ 13 เมื่อ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในหัวข้อ ‘ทีแคส – ทีใคร มองอนาคตการศึกษาไทย’
ความน่าสนใจของงานนี้คือ การออกมายอมรับความผิดพลาดของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) พร้อมวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า, ประสบการณ์และความรู้สึกของเด็กไทยที่หลงวนอยู่ในสนามสอบกว่า 10 ปีจากพี่ลาเต้ เว็บไซต์ DEK-D.com, ผลกระทบทางใจและวิธีการพยุงตัวเองขึ้นมาให้ได้จากนักจิตวิทยา
รวมถึงทางออกที่ว่า “เมื่อไหร่เรา (เด็กๆ) จะหลุดพ้นจากเขาวงกตนี้เสียที”
พี่ลาเต้: TCAS ทฤษฎีสวย แต่ระบบการจัดการไม่ดี
“จำได้ไหมครับว่าตอนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นรุ่นอะไร ระบบไหนเป็นระบบไหน แล้วจำได้ไหมครับว่า วินาทีที่เราเข้ามหาวิทยาลัยตอนนั้นระบบดีหรือเปล่า เครียดหรือเปล่า อย่างผมทำงานที่ Dek-d มา 10 ปี ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 11 ก็เห็นการเปลี่ยนระบบมา 3 ครั้งแล้ว”
พี่ลาเต้ หรือ มนัส อ่อนสังข์ บรรณาธิการข่าวการศึกษา และแอดมิชชั่น เว็บไซต์ DEK-D.com กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย จุดประสงค์ของการเปลี่ยนระบบคัดเลือกเข้าทุกครั้งก็ล้วนแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหาการสอบเข้ามหาวิทยาลัยทั้งสิ้น ซึ่งในเจตนารมณ์ของระบบ TCAS นี้มีความปรารถนาดีที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งมีเวลารับนักศึกษาที่เหมือนกัน มีการใช้ข้อสอบส่วนกลางแบบเดียวกัน รวมไปถึงให้ความสำคัญกับการสอบหลังสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กต้องทิ้งการเรียนและมัวแต่สนใจการสอบเพียงอย่างเดียว
“ถ้าเรามองในแง่ตัวเลข มันก็อาจจะไม่สวยเสียทีเดียว เพราะ 10 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนระบบ 3 ครั้ง ซึ่งมันอาจจะไม่แฟร์สำหรับน้องๆ ที่จะต้องเตรียมตัว เพราะหลายๆ คนก็คิดว่า เด็ก ม.6 ค่อยเตรียมตัวตอนเปิดเทอม ม.6 เทอม 1 แต่น้องๆ หลายคนเตรียมตัวมาตั้งแต่ ม.4 แล้วว่าเขาจะต้องใช้วิชาอะไร
น้องสะท้อนหนักมากว่า มันกะทันหันมากเกินไป แม้แต่เด็ก หรือว่ามหาวิทยาลัยเองก็ยังเตรียมตัวรับระบบไม่ทัน
“อย่างเช่น มีอยู่มหาวิทยาลัยนึง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโควตาพื้นที่จะต้องเข้าอยู่ในหมวดไหน จนตอนนี้โควตาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยนั้นกลายเป็นรับเด็กทั่วประเทศไปแล้ว แล้วมันก็ไม่ได้รับเด็กเฉพาะแค่ในพื้นที่”
ปัญหาหลักของระบบ TCAS คือไม่เคยเอามาทดลองใช้กับเด็กจริงๆ เพราะระบบนี้เป็นแต่เพียงโมเดลทางความคิดที่ยังไม่เคยเอาไปใช้จริงทดลองกับระบบจริงๆ พี่ลาเต้เน้นย้ำว่า ตามหลักแล้ว TCAS ทางทฤษฎีมันสวย แต่ระบบการจัดการไม่ดี จึงก่อให้เกิดข้อบกพร่องอย่าง ‘การกันที่’ ให้เห็น
“ทปอ. บอกว่าเลือกหนึ่งที่ก็ได้ แต่ใครจะกล้าล่ะครับ มันก็เลยเป็นอย่างที่เห็น”
พี่ลาเต้ เสริมประเด็นรูปแบบ ‘กันที่’ เพิ่มเติมว่า ระบบเดิมอาจมีเด็กสอบติดได้มากถึง 10 ที่ ในขณะที่ระบบ TCAS เปิดโอกาสให้เด็กสามารถสอบติดสูงสุดเพียงแค่ 4 ที่เท่านั้น แต่ข้อสังเกตที่ตามมาคือ แม้ว่าจำนวนคณะที่เด็กสอบติดจะลดน้อยลงจริง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือกลไกของระบบนี้เอื้อให้เด็กที่สอบติดได้ไม่เกิน 4 ที่นั้นกลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย
จึงกลายเป็นว่าจำนวนเด็กที่เพิ่มขึ้นมานั้นก็หวนกลับมา ‘กันที่’ เช่นเดิม
ทปอ.: เรารับแก้ปัญหาทุกกรณี
รายละเอียดการคัดเลือกตามระบบ TCAS มีอยู่ทั้งสิ้น 5 รอบ คือรอบที่ 1 เป็นการรับด้วยแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) โดยไม่มีการสอบข้อเขียน รอบที่ 2 เป็นการรับแบบโควตาที่มีการสอบปฏิบัติและข้อเขียน รอบที่ 3 เป็นการรับตรงร่วม รอบที่ 4 เป็นการรับแบบ Admission และรอบที่ 5 เป็นการรับตรงแบบอิสระ (รอบเก็บตก) โดยอิงตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง
จากเหตุการณ์ข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประเมินถึงสถานการณ์ปัญหาเรื่องของระบบ TCAS ว่า ปัญหาของระบบ TCAS ตอนนี้ คือเรื่อง ‘กันที่’ ในระบบ TCAS รอบที่ 3 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาที่ทางที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สปอ.) ยอมรับถึงข้อผิดพลาดและกำลังพยายามเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว
“ที่เป็นประเด็นคือ (TCAS) รอบสาม แต่ผมเรียนได้เลยครับ ว่าการ ‘กันที่’ ปีหน้าคงลดน้อยถอยไป เรารับฟังข้อเสนอที่จะทำจัดอันดับ แต่ก็ต้องบอกว่าในปีนี้เราไม่สามารถปรับได้ แต่เราพยายามที่จะทำให้ความรู้สึกดีขึ้นโดยการมี 3/2 มาช่วยครับ”
“เราพยายามแก้ปัญหาโดยเร็ว โดยที่ทางเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ปัญหาที่ตามมาเราก็ยอมรับหมด เพราะการแก้ปัญหาในวิกฤติ มันย่อมมีประเด็นปัญหาที่พัวพันอยู่ เรารับแก้ปัญหาทุกกรณีนะครับ และถ้าใครมีปัญหาจากระบบเราจะจัดการให้ทุกกรณี”
“ข้อที่ 1 ทำไม กสพท. ถึงมา ‘กันที่’ แล้วข้อที่ 2 ทำไมถึงไม่มีการจัดอันดับ คือเรารับไว้หมดเลยครับ เราสามารถจัดการปัญหานี้ได้แน่นอน แต่วิธีการเป็นยังไง ตอนนี้เราเห็นวิธีแล้ว แต่คงต้องร่วมมือกับมหาวิทยาลัยค่อนข้างเยอะมาก เพราะว่ามันจะทำในรอบนี้ได้ มหาวิทยาลัยก็จำเป็นจะต้องช่วยด้วย เพราะเกณฑ์ในการตัดสิน มันเป็นของมหาวิทยาลัย ซึ่งเกณฑ์เรามีอยู่ประมาณ 3,000 หลักสูตร หรือ 3,000 เกณฑ์ครับ ลองคิดถึงต่างคนต่างมีเกณฑ์ดูสิครับ”
อีกหนึ่งประเด็นที่ทาง ทปอ. ให้ความสำคัญคือ TCAS ในแต่ละรอบมีระยะห่างกันมากเกินไป โดยที่ระหว่างรอบที่หนึ่งและรอบสุดท้ายมีระยะเวลาห่างกันมากเกือบ 6 เดือน ซึ่ง ผศ.ดร.ประเสริฐ คาดการณ์ไว้ว่า ปัญหาดังกล่าว ปีหน้าจะเร่งแก้ไขให้ระยะเวลาหดสั้นลงมากกว่าเดิม
“เราพยายามให้โอกาสเด็ก เราไม่นึกหรอกว่า องค์ประกอบโดยรวม (sentiment) ของน้องมันจะ swing ไปอีกด้านนึง เพราะฉะนั้นปีหน้า เราจะพยายามปรับเปลี่ยนเรื่องนี้ใหม่ และสิ่งที่หายไป คือการวิ่งรอบสอบก็จะตกอยู่ในรอบที่สาม และถ้าไม่พลาดอะไร ภายในเดือนพฤษภาคมก็ต้องจบหมด เราคิดว่าปีหน้าเราจะทำให้กระชับขึ้น แล้วมันก็จะทำให้จบกระบวนการทั้งหมดได้เร็วขึ้น”
จิตวิทยา: เด็กต้องนึกสภาพที่เลวร้ายที่สุดเผื่อไว้ด้วย
ด้าน รศ.ดร.วิชาญ ลิ่วกีรติยุตกุล อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในทางปฏิบัติจริง รอบ ‘TCAS3’ ก็ยังคงมีความหมายเดิมอยู่ คือเป็น ‘รอบรับตรง’ ส่วนรอบ ‘TCAS4’ หมายถึงระบบแอดมิชชั่นกลาง ที่มีหน้าที่รองรับเด็กส่วนใหญ่ต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ดังนั้น TCAS รอบแรกๆ ก็ยังคงทำหน้าที่คัดกรองเด็กเก่งให้หลุดออกจากระบบไปตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่แตกต่างอะไรจากที่เคยเป็นในระบบเก่า
รศ.ดร.วิชาญ มีความเห็นว่า ในแง่นี้เด็กเก่งจะไม่มีปัญหากับระบบ TCAS แต่กลุ่มที่ประสบปัญหาจริงๆ คือกลุ่มเด็กตั้งแต่เด็กระดับปานกลางลงไป เนื่องจากระบบใหม่ถูกออกแบบมาให้เด็กทุกคนต้องผ่านระบบเดียวกัน
ระบบนี้จึงมีลักษณะเหมือนอยู่ในท่อที่ถูกต่อยาวไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด และเมื่อเด็กอยู่ในท่อนี้นานเกินไป ความเครียดจึงตกอยู่กับพวกเขา
“จริงๆ แล้วสมัยก่อนเด็กไม่จำเป็นจะต้องผ่านทุกรอบ บางคนอาจจะไม่สนใจระบบ Portfolio หรือ ระบบโควตา เขาอาจจะยื่นระบบแอดมิชชั่นทีเดียวเลย จริงๆ แล้วเขาอาจจะอยู่ในระบบแค่ หนึ่งหรือสองแบบเท่านั้น
ในมุมมองด้านจิตวิทยานั้น ทาง ผศ.ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ อธิบายว่า เมื่ออุปสงค์ (demand) กับ อุปทาน (supply) ไม่เท่ากัน ย่อมก่อให้เกิดความเครียดเสมอ ในกรณีนี้คือความเครียดเรื่องจำนวนที่นั่งสอบไม่สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก จึงไม่แปลกที่เด็กจำนวนมากรู้สึกเครียดและกดดัน
“ครั้งนี้มันเครียดหนักกว่าเดิม เพราะอะไร บังเอิญว่า ระบบ TCAS มันใหม่ มันก็เลยมีความไม่แน่นอน มีความไม่มั่นใจ แล้วการสื่อสารมันก็ยังไม่สอดคล้องเต็มที่ ความสับสนมันก็ยิ่งเกิด หลายสิ่งมันก็มารวมๆ กันก็ทำให้เด็กยิ่งเครียดและกังวลหนัก”
“มากกว่าเครียดก็คือ กลัว” ผศ.ดร.พรรณระพี เอ่ย
“ตรงนี้แหละที่มันเกิดวงจร คือคุณค่าของฉันตอนนี้ถูกสังคมกำหนดว่า ‘ฉันจะต้องสอบเข้ามหาลัยให้ได้’ ทุกครั้งที่มันมีคำว่า ‘ไม่ได้’ ใจเด็กก็จะกิ่ว (ใจเสีย) ไปนิดนึง”
ในแง่ของจิตวิทยาอะไรที่จะคาดเดาไม่ได้ ล้วนแต่นำไปสู่ความเครียดทั้งนั้น ผศ.ดร.พรรณระพี แนะนำว่าเด็กต้องสมมุติสภาพที่เลวร้ายที่สุด (worst case) เผื่อไว้ด้วย เด็กต้องพยายามวางแผนล่วงหน้าว่าจะรับมือกับปัญหาอย่างไร หากตัวเองสอบไม่ติด และอย่าปล่อยให้ชีวิตของเด็กนั้นมีทางเลือกแค่ทางเดียว แต่ให้พยายามลองคิดช่องทางอื่นไว้ด้วย
หากวางแผนล่วงหน้าได้แล้ว ความเครียดที่มีอยู่ก็จะลดลงเป็นอย่างมาก
ทางออกการศึกษาที่กลายเป็นเขาวงกต
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการด้านการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ชวนถกเถียงไปไกลกว่าปัญหาระบบ TCAS ว่า อนาคตของการศึกษาไทยตอนนี้เหมือนอยู่ในเขาวงกต นอกจากปรากฏการณ์ TCAS แล้ว ปัญหาอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ มหาวิทยาลัยกำลังมีเป้าหมายที่คลุมเครือ เพราะมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มุ่งแต่ผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานเท่านั้น
“มีการคาดหวังว่าจะต้องหา input ที่ใช่ที่สุดเข้ามาเรียน เพราะฉะนั้นมันจึงกลายเป็น ทำให้ระบบรับเข้าที่เป็นคอขวดก็ต้องออกแบบมาเพื่อการนั้น เราต้องคุยเรื่องเป้าหมายว่า จริงๆ แล้วมหาวิทยาลัยผลิตแรงงานอย่างเดียวเหรอ หรือมหาวิทยาลัยคือช่วงเวลาที่คนหนุ่มสาวของเราจะมาพัฒนาตัวเองเพื่อออกไปพัฒนาสังคม
“ถ้าเราไม่คุยกันประเด็นแบบนี้ ก็คงพูดกันลำบาก เพราะปัญหาระบบก็แก้เชิงเทคนิคไปเรื่อยๆ ปัญหาเดิมก็ไม่ถูกแก้ไข”
สังคมไทยต้องตั้งคำถามไปไกลกว่าเดิมว่า กำลังต้องการสังคมแบบไหน ผศ.อรรถพล คิดว่าประเด็นตรงนี้เป็นเรื่องที่สังคมควรถกเถียงกันเป็นวงกว้าง เพราะนับวันการศึกษายิ่งมีอัตราการแข่งขันการศึกษาที่สูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งทุกคนต่างยอมรับกันว่า นี่คือเวทีการแข่งขันของเด็กโดยที่มีพ่อแม่เป็นพี่เลี้ยง
“เมื่อเราเห็นภาพของโลกที่เป็น ideal แล้วเราจะขยับไปสู่จุดนั้นได้ยังไง” ผู้ร่วมเสวนาคนหนึ่งถามขึ้นมา ในช่วงท้ายของงาน
ผศ.อรรถพล ตอบคำถามข้างต้นว่า เวลาการพูดคุยถึงเรื่องการออกแบบระบบ สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือการสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ขึ้นมาทดแทน ทั้งนี้การออกแบบนั้นต้องอาศัยแรงส่งเชิงนโยบายร่วมด้วย ซึ่งทางกระทรวงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน
“มองว่าโจทย์หลักคือ ‘ทำเช่นไรที่ไม่ให้มหาวิทยาลัยต้องมีบทบาทหน้าที่การออกแบบระบบแต่เพียงฝ่ายเดียว ถ้าเราไม่พูดถึงกลไกเชิงระบบที่สนับสนุนค่านิยมใหม่ มันก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ค่านิยมไม่ได้เกิดแค่วันสองวัน และไม่ใช่พอผมพูดเสร็จแล้วมันจะสำเร็จภายในปีนี้”
“โลกงานเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และถ้าเราไม่คิดระบบ หรือหลักสูตรที่จะมองไปข้างหน้า เราปล่อยให้มหาวิทยาลัยต่างคนต่างอยู่ แล้วก็ใช้วิธีการเรียกเด็กเก่งๆ มาเรียนด้วยกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะผลิตซ้ำ แล้วพอถึงวันหนึ่งเราก็จะพบว่า เราไม่ได้ให้เด็กเตรียมตัวกับอนาคตเลย” ผศ.อรรถพล กล่าวทิ้งท้าย