- การกลั่นแกล้ง คือ พฤติกรรมก้าวร้าวผ่านคำพูด ร่างกาย สังคม หรือจิตใจ ของคนหรือกลุ่มคนที่มีต่อคนหรือกลุ่มที่มีอำนาจน้อยกว่า ก่อให้เกิดอันตราย ความทุกข์ หรือความหวาดกลัว
- การกลั่นแกล้งในโรงเรียน คือรูปแบบการกลั่นแกล้งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่โรงเรียน ทั้งการกลั่นแกล้งเพื่อนกับเพื่อน การกลั่นแกล้งเด็กเล็กกว่าของเด็กกว่าเด็กโตกว่า หรือการกลั่นแกล้งที่ครูเป็นเหยื่อ และเป็นผู้กระทำ
- เกือบหนึ่งในสามของนักเรียนทั้งหมดที่มีอายุ 12-18 ปี เคยถูกกลั่นแกล้ง และบางคนถูกแกล้งทุกวัน
เดินๆ อยู่ แล้วมีเพื่อนมาผลัก เพื่อนเอาหมากฝรั่งมาป้ายผม เพื่อนล้อว่าเป็นตุ๊ด เพื่อนตั้งฉายาให้เยอะแยะ ทั้ง อ้วน ดำ หน้าสิว เตี้ย ขาโต๊ะสนุ้ก พอชื่อเหล่านี้ถูกเรียกขึ้นมาเมื่อไหร่ ทั้งคนพูด และคนได้ยินก็ขำกระจาย แล้วคนโดนล้อล่ะ! ได้แต่ทำหน้ายิ้มๆ แล้วเดินจากไป หารู้ไม่ว่าในใจเจ็บปวด และอายแค่ไหน
ในฐานะคนแกล้ง อาจจะรู้สึกว่า ที่ทำไป ก็แค่ขำๆ ไม่ได้อะไร จะคิดมากทำไม แต่ในฐานะคนโดนแกล้ง มันไม่ตลก บางทีอาจจะทำเป็นขำ เพื่อให้ผ่านๆ ไป แต่ในใจต้องข่มความเจ็บปวดแล้วยิ้มให้ ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
บทความนี้จะทำให้ผู้อ่านได้รู้จัก กับ Bullying หรือการกลั่นแกล้ง เพื่อย้อนกลับไปถามตัวเองว่าเราเคยทำอะไรที่ถือว่าแกล้งคนอื่นหรือเปล่า หรือเราอาจจะเป็นคนที่ถูกแกล้ง แต่กลับไม่รู้ตัว รู้ตัวอีกทีก็เจ็บปวดไปทั้งกายและใจ….
‘การกลั่นแกล้ง’ คืออะไร
การกลั่นแกล้ง คือ พฤติกรรมก้าวร้าวผ่านคำพูด ร่างกาย สังคม หรือจิตใจ ของคนหรือกลุ่มคนที่มีต่อคนหรือกลุ่มที่มีอำนาจน้อยกว่า ก่อให้เกิดอันตราย ความทุกข์ หรือความหวาดกลัว พฤติกรรมการกลั่นแกล้ง มีลักษณะเฉพาะสามารถจำแนกได้ดังนี้
- การล่วงละเมิดผ่านภาษาพูดหรือภาษาเขียน เช่น เรียกชื่อ ล้อเลียน แสดงข้อความที่ไม่เหมาะสม
- การใช้ความรุนแรง – รวมถึงภัยคุกคามของความรุนแรง
- การล่วงละเมิดทางเพศ
- โฮโมโฟเบีย (ความรู้สึกเกลียดกลัวคนหลากหลายทางเพศอย่างไม่มีเหตุผล) หรือไม่เป็นมิตรกับเพื่อนด้วยเหตุผลเรื่องเพศสภาวะและเพศสภาพ
- การแบ่งแยก รวมไปถึงการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ การเลือกปฏิบัติกับคนที่มีอัตลักษณ์แตกต่าง
การกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์ ทั้งออนไลน์ หรือผ่านทางโทรศัพท์ การกลั่นแกล้งสามารถเกิดขึ้นทุกพื้นที่ ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเป็นได้ทุกเพศทุกวัย แต่ถ้ามองการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เราจะเห็นข้อมูลที่น่าสนใจจาก ‘สำนักงานสถิติแห่งชาติ’ ของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ปี 2550 เกือบหนึ่งในสามของนักเรียนทั้งหมดที่มีอายุ 12-18 ปี เคยถูกกลั่นแกล้ง และบางคนถูกแกล้งทุกวัน
การกลั่นแกล้งในโรงเรียน คือรูปแบบการกลั่นแกล้งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่โรงเรียน ทั้งที่เกิดขึ้นระหว่างเพื่อนกับเพื่อน ระหว่างเด็กเล็กกว่ากับเด็กโตกว่า หรือการกลั่นแกล้งโดยที่มีครูเป็นทั้งผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำ
การกลั่นแกล้งในโรงเรียนแบ่งออกเป็น แกล้งเป็นกลุ่ม กับ แกล้งเดี่ยว
- การถูกกลั่นแกล้งโดยกลุ่ม ปี 2552 รายงานของ Wesley Mission (องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของสัญชาติออสเตรเลีย ที่มีเป้าหมายช่วยเหลือผู้คนทุกเพศทุกวัย และทุกๆด้านของปัญหา เช่น ปัญาหาเด็กและครอบครัว ปัญหาผู้สูงอายุ เป็นต้น) ศึกษากลุ่มที่ถูกรังแกในประเทศออสเตรเลีย พบว่าการกลั่นแกล้งโดยกลุ่ม มักพบในเด็กช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย และยาวนานกว่าการกลั่นแกล้งโดยบุคคล การกลั่นแกล้งโดยกลุ่มอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบทางร่างกาย หรือจิตใจ ที่กระทำโดยคน หรือทางไซเบอร์ ถ้าทำโดยกลุ่มคนจะพบการกลั่นแกล้งได้ในบริเวณสนามของโรงเรียน สนามกีฬา โรงยิม ห้องเรียน และบนรถบัสโรงเรียน
- การกลั่นแกล้งแบบตัวต่อตัว สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในพื้นที่จริง และพื้นที่ออนไลน์ การแกล้งสามารถส่งผลต่อร่างกาย และจิตใจผู้ถูกแกล้ง จากงานศึกษาของ Wesley พบว่า การกลั่นแกล้งชนิดนี้พบมากในเด็กชั้นประถมศึกษา ส่วนสถานที่ที่เกิดการกลั่นแกล้งจะพบเหมือนกับการแกล้งเป็นกลุ่ม และยังรวมไปถึงสถานที่คับแคบที่กลุ่มไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น ห้องน้ำ
การกลั่นแกล้งโดยแบ่งตามผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำ คือ แกล้งทางร่างกาย และ แกล้งทางจิตใจ
- การกลั่นแกล้งทางร่างกาย เป็นการแกล้งที่ล่วงละเมิดทางกายภาพ เช่น การผลัก การตี การต่อสู้ ถ่มน้ำลาย ทำให้สะดุด เป็นการปฏิบัติต่อร่างกาย และตั้งใจบังคับให้ผู้ถูกกระทำทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ
- การกลั่นแกล้งทางอารมณ์ เป็นการกลั่นแกล้งที่รวมปัจจัยที่นอกเหนือการปฏิสัมพันธ์ทางร่างกาย เช่น การด่า การดูหมิ่นดูถูก การเรียกชื่อ และการล้อเลียน และรวมถึงการทำให้เหยื่อขวัญเสีย เช่น การเพิกเฉย หรือไม่สนใจ หรือที่เรียกว่าการกลั่นแกล้งทางสังคม การแกล้งทางอารมณ์ยังรวมถึงการทำให้เกิดการเข้าใจผิด ซึ่งสามารถกระทำโดยตัวต่อตัวหรือผ่านทางไซเบอร์
รูปแบบของการกลั่นแกล้งภายในโรงเรียน แบ่งเป็น การแกล้งต่อหน้า (ผู้ที่มีความกล้าและไม่อาย) และ แกล้งบนโลกไซเบอร์ (นักเลงคีย์บอร์ดทั้งหลายแหล่)
- การกลั่นแกล้งต่อหน้า เป็นการแกล้งที่นักเรียนต้องเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายกระทำและถูกกระทำ
- การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ เป็นการแกล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ออนไลน์ เช่น อีเมล ห้องสนทนา (chat room) สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ การส่งข้อความ การโพสต์ในเว็บไซต์ หรือ บล็อก การแกล้งทางไซเบอร์ผู้แกล้งอาจไม่แสดงตัวตนให้เหยื่อรับรู้ เนื้อหาของการกลั่นแกล้งชนิดนี้ ประกอบด้วยเนื้อหาทุกประเภทที่กล่าวถึงในการกลั่นแกล้งทางอารมณ์ รวมทั้งโพสต์ความคิดเห็นที่ดูถูกและดูหมิ่นเกี่ยวกับใครบางคน รวมถึงการโพสต์เนื้อหาที่ละเอียดอ่อน หรือเป็นส่วนตัว เพื่อให้บุคคลอื่นเสียหาย
กลุ่มเป้าหมายที่ถูกแกล้งบ่อยๆ มีใครบ้าง…
- การกลั่นแกล้งคนที่เจาะจง การข่มขู่กลั่นแกล้งเป็นบางครั้งเพราะมีประชากรกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ
- นักเรียนที่มีลักษณะพิการ ก็จะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะถูกกลั่นแกล้ง
- เชื้อชาติ เป็นกลุ่มเป้าหมายอันดับสามที่จะถูกกลั่นแกล้ง กลุ่มนี้จะมีเชื้อชาติหรือวัฒนธรรมที่เฉพาะ
- ศาสนา กลุ่มเป้าหมายจะเป็นพวกที่มีความเชื่อทางศาสนาที่เฉพาะ
จากการศึกษาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนของ The NCES (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) รายงานว่า
- พบการกลั่นแกล้งในช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น (ประถม 6 มัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2) มากกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย
- การกลั่นแกล้งทางอารมณ์เป็นรูปแบบที่พบบ่อยที่สุด ส่วนการกลั่นแกล้งโดยร่างกายเช่น ผลัก / ทำให้สะดุด / ทำให้ลื่น จะรองลงมา
- การกลั่นแกล้งภายในโรงเรียนจะเกิดขึ้นภายในอาคารโรงเรียนบ่อยที่สุด รองลงมาคือบริเวณนอกอาคารเรียน และบนรถบัสโรงเรียนตามลำดับ และการกลั่นแกล้งนอกพื้นที่โรงเรียนจะพบน้อยที่สุด
- นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มักจะถูกรังแกบนรถโรงเรียน
- นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีแนวโน้มได้รับบาดเจ็บจากการถูกกลั่นแกล้งมากที่สุด และนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นจะถูกกลั่นแกล้งมากกว่านักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเปอร์เซ็นต์การถูกกลั่นแกล้งจะลดลงเรื่อยๆ จากชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
- เหยื่อหรือผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งจะมีลักษณะการตอบสนองหลายรูปแบบ แม้ว่าจะเป็นการตอบสนองในอีกหลายปีต่อมา เช่น มั่นใจในตัวเองน้อยลง ไม่เชื่อใจคนอื่น ขาดความแน่วแน่ ก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์โกรธยาก แปลกแยก