- ทำไมสถิติการกลั่นแกล้งรังแก (Bully) ของไทยจึงยังติดอันดับต้นๆ ของโลก? จริงหรือที่การกลั่นแกล้งรังแกเกิดขึ้นจากพฤติกรรมส่วนตัวของเด็กบางคน? ปัจจัยอะไรที่สนับสนุนให้การกลั่นแกล้งรังแกนับวันจะยิ่งรุนแรงและเรื้อรัง?
- The Potential ร่วมหาคำตอบกับนักวิชาการ นักการศึกษา และจิตแพทย์ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเด็กๆ ให้ออกจากวังวนของความรุนแรงในรั้วโรงเรียน
- หากถามว่าควรเริ่มต้นแก้ปมปัญหานี้จากจุดไหนก่อน อยากชวนให้ทุกคนร่วมกันส่งเสียงว่า “ไม่ว่าใครก็ไม่ควรถูกกลั่นแกล้งรังแก” และ “ไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่น” …ไม่ว่าจะอ้างเหตุหรือเจตนาใดๆ ก็ตาม
“สังคมต้องเข้าใจว่าการกลั่นแกล้งรังแกเกิดขึ้นทุกวัน และไม่ใช่แค่เรื่องธรรมดาทั่วไป ไม่มีใครสมควรถูกรังแกและทุกคนมีสิทธิที่จะไม่ถูกรังแก”
ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ชวนตั้งโจทย์ให้ตรงจุดเกี่ยวกับปัญหาการกลั่นแกล้งรังแก (Bully) ที่หลายคนอาจมองข้ามไป ทั้งที่ ‘ทุกคน’ ทุกเพศ-ทุกวัย ต่างสมควรได้รับการเคารพบนหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเด็กๆ มนุษย์ตัวเล็กที่ยังต้องการการปกป้องคุ้มครองจากการคุกคามทั้งทางร่างกายและจิตใจ
จากการสำรวจเด็กและเยาวชนจำนวน 31,271 คน ในปีพ.ศ. 2566 โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพโดยกองสุขศึกษา พบว่า ร้อยละ 44.2 เคยตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งรังแก โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในโรงเรียนสูงถึงร้อยละ 86.9 ซึ่งถ้าจะพูดให้เห็นภาพมากขึ้นคือ ในจำนวนนักเรียน 100 คน จะมีเกือบครึ่งหนึ่งที่เคยถูกกลั่นแกล้งรังแก และส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่โรงเรียน
สอดคล้องกับรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ที่ระบุว่า เด็กและเยาวชนก่อคดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายเพิ่มขึ้น ที่น่าสนใจคือ เด็กและเยาวชนที่ถูกกลั่นแกล้งเคยคิดแก้แค้นเอาคืนกว่าร้อยละ 42.8 ซึ่งอาจลุกลามไปสู่การก่อคดีอาชญากรรมได้ในอนาคต
ใครจะเป็น ‘เหยื่อ’ รายต่อไป?
[กรณีตัวอย่างนี้เป็นนำข้อมูลจากนักเรียนที่ถูกบูลลี่ในหลายเหตุการณ์มาเรียบเรียงใหม่]
‘ซูโม่’ (นามสมมติ) นักเรียนมัธยมฯจากโรงเรียนชายล้วนชื่อดัง เขาถูกแก๊งอันธพาลประจำรุ่นกลั่นแกล้งเป็นประจำ ไล่ตั้งแต่การล้อเลียนปมด้อย รีดไถเงิน ใช้กรรไกรตัดผมให้แหว่ง ชกต่อยจนร่างกายมีรอยฟกช้ำ ยิ่งไปกว่านั้นยังถ่ายภาพไว้แบล็คเมล์อีกนับไม่ถ้วน
แม้ซูโม่จะพยายามหาทางออกจากฝันร้ายนี้ แต่ทุกครั้งที่เขานำเรื่องดังกล่าวไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง นอกจากพ่อแม่จะไม่รับฟังยังตำหนิที่เขาไม่รู้จักสู้กลับ หนำซ้ำยังบอกว่าเรื่องแค่นี้โรงเรียนไหนก็มี มันเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่เขาต้องเผชิญในอนาคต
เมื่อพ่อแม่ไม่ช่วย ซูโม่จึงหันไปพึ่งครู ครูก็แค่เรียกแก๊งเด็กอันธพาลมาสอบถามเพียงผิวเผิน ต่อด้วยการดุด่าว่ากล่าว พร้อมกับเขียนรายงานเหตุการณ์ลงในสมุดจดการบ้านเพื่อให้ผู้ปกครองรับทราบ ซึ่งหารู้ไม่ว่าการกระทำนี้กลับยิ่งทำให้ซูโม่ถูกรังแกหนักขึ้นกว่าเดิม โทษฐานทำตัวเป็นพวก ‘ขี้ฟ้อง’
แน่นอนว่า หากซูโม่ถูกกลั่นแกล้งและกลับมาบอกครูอีก เหตุการณ์ทุกอย่างก็จะวนกลับมาเป็นวงจรอุบาทว์ ท้ายสุดเขาจึงเลือกเก็บปัญหาไว้เองคนเดียวจนการเรียนของเขาแย่ลง เขาเริ่มวิตกกังวล เครียด และเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า
พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นโรงพยาบาลมนารมย์ มีโอกาสได้พูดคุยกับเด็กหลายคนที่ถูกบูลลี่ อธิบายถึงพฤติกรรมที่เข้าข่ายการบูลลี่ (Bullying) หรือการกลั่นรังแกกันว่ามีหลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่การทำร้ายร่างกาย แต่ยังรวมถึงการพูดล้อเลียน ดูหมิ่น หรือการแบนออกจากกลุ่ม โดยรูปแบบที่เจอได้บ่อยๆ ในยุคนี้ คือการกลั่นแกล้งรังแกในโลกออนไลน์ (Cyberbullying)
สำหรับเส้นแบ่งระหว่างการหยอกล้อกับการบูลลี่ พญ.เบญจพร จิตแพทย์เจ้าของเพจ ‘เข็นเด็กขึ้นภูเขา’ บอกว่าไม่ได้อยู่ที่เจตนาของผู้กระทำอย่างเดียว แต่ให้ยึดความรู้สึกของผู้ถูกกระทำเป็นเกณฑ์ และบางครั้งก็เป็นการกระทำของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กๆ ด้วย ซึ่งไม่ควรมองว่าเป็นแค่เรื่องธรรมดา
“อย่างกรณีครูที่ชอบทักเด็กจะด้วยความเอ็นดูหรืออะไรก็ตามโดยอ้างว่าไม่มีเจตนาร้าย ด้วยการนำรูปลักษณ์ของเด็กมาล้อเล่น เช่น ยายไฝ นายแว่น ยายดำ นายอ้วน ฯลฯ โดยคิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ สนุกๆ แต่หารู้ไม่ว่าเป็นการปลูกฝังค่านิยมการเหยียดหรือบูลลี่ในใจเด็ก แล้วเด็กก็ไปบูลลี่เพื่อนต่อไปเรื่อยๆ”
และแม้เรื่องราวเหล่านี้จะได้รับการฉายภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประเด็นการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ดูเหมือนจะได้รับความสำคัญมากขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่หลายคำถามยังคงถูกทิ้งไว้ในสังคม
…ทำไมสถิติการกลั่นแกล้งรังแก (Bully) ของไทยจึงยังติดอันดับต้นๆ ของโลก?
…จริงหรือที่การกลั่นแกล้งรังแกเกิดขึ้นจากพฤติกรรมส่วนตัวของเด็กบางคน?
….ปัจจัยอะไรที่สนับสนุนให้การกลั่นแกล้งรังแกนับวันจะยิ่งรุนแรงและเรื้อรัง?
โรงเรียน…โรงบ่มความรุนแรง?
- นักเรียนชั้น ม.3 ตกตึกชั้น 4 แม่ติดใจเชื่อลูกถูกแกล้ง โดนเพื่อนบูลลี่เป็นประจำ
- วิจารณ์ยับ! คลิปครูโรงเรียนดังเชียงใหม่กล้อนผมเด็กนักเรียนหน้าเสาธง-ซัดทำเกินกว่าเหตุละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
- แฉซ้ำ! ครูวิทย์โหดทำโทษ ป.6 นิ้วห้อเลือด เคยตบหน้านักเรียนสมาธิสั้นจนถูกทัณฑ์บนแต่มาก่อเหตุซ้ำซาก
- สุดสลด ลูก 7 ขวบถูกครูทำโทษ วิ่งรอบสนามดับ เหตุเครื่องแบบลูกเสือไม่ครบ พ่อเผยลูกป่วยเป็นหอบหืด
เหตุการณ์ที่ปรากฎในข่าวแทบทุกวัน คือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เผยให้เห็นว่านอกจากการบูลลี่โดยเด็กๆ ด้วยกันเอง ความรุนแรงในโรงเรียนจำนวนไม่น้อยยังเกิดจาก ‘ครู’ ผู้ถูกคาดหวังว่าจะปกป้องเด็กจากความรุนแรง
ที่ผ่านมาแม้จะดูเหมือนมีความพยายามแก้ปัญหา แต่ก็เป็นไปในลักษณะลูบหน้าปะจมูก หรือซุกปัญหาไว้ใต้พรมมากกว่า เรื่องนี้นักสังคมศาสตร์มองว่า แท้จริงแล้วการกลั่นแกล้งรังแกเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นจาก ‘วัฒนธรรมการใช้อำนาจ’ ในสังคมไทย
“บูลลี่ แน่นอนว่าปัจจัยเชิงบุคคลมันก็มีส่วน แต่สิ่งที่เรามักจะลืมคือการที่บุคคลเลือกทำอะไรหรือไม่ทำอะไร มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเขาคนเดียว แต่มันหมายถึงว่า สังคม สภาพแวดล้อม หรือพื้นที่ที่เขาอยู่ มันอนุญาตให้เขาเลือกที่จะทำสิ่งเหล่านั้น
…ก็ต้องตั้งคำถามว่าสังคมแบบไหนที่ทำให้คนๆ นึงรู้สึกว่าตัวเองได้รับการอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงหรือทำร้ายคนอื่นได้”
ผศ.กานน คุมพ์ประพันธ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาตรี คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขยายภาพการบูลลี่จากพฤติกรรมส่วนบุคคล ไปสู่ปัจจัยที่หล่อเลี้ยงและส่งต่อความรุนแรงในโรงเรียนจากรุ่นสู่รุ่น
“ถ้ามองในเชิงสังคมศาสตร์ โรงเรียนเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ทั้งการกลั่นแกล้งรังแกกันระหว่างนักเรียน รวมถึงความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่แฝงมาในรูปแบบของกฎระเบียบที่ปิดโอกาสในการคิดนอกกรอบและมองเห็นสิทธิในร่างกายตัวเอง”
มองในมุมนี้ การกลั่นแกล้งรังแกกันในกลุ่มนักเรียนจึงถูกซ้ำเติมด้วยทัศนคติและความเคยชินของผู้ใหญ่ที่มองไม่เห็นปัญหาและไม่ตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง รวมถึงยังอาจเป็นคนก่อความรุนแรงอีกด้วย
“ถ้าเรามาดูในโรงเรียนไทย มันก็มีในระดับตั้งแต่เด็กกับเด็ก แล้วก็ครูกับเด็ก นี่ก็ชัดมากเลยนะ แต่ว่ามันอาจจะต่างกับการรังแกกันนิดนึงตรงที่ การที่ครูใช้ความรุนแรงกับเด็กมันถูกสนับสนุนด้วยโครงสร้างและวัฒนธรรมบางอย่างที่มันทำให้รู้สึกว่ามันเป็นความชอบธรรมด้วย
ผมมองว่ามันมีโครงสร้าง มันมีความคิดความเชื่อบางอย่างที่สนับสนุน ไม่ใช่แค่การอนุญาต แต่คือการสนับสนุนและเห็นดีเห็นงามให้ใช้ความรุนแรง”
ทั้งนี้ ผศ.กานน อธิบายถึงปัจจัยที่ส่งผลให้การใช้อำนาจและความรุนแรงแฝงเร้นอยู่ในค่านิยมของสังคมไทยว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการไม่ยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย
“เราล้อเลียนคนอื่นจนเป็นเรื่องปกติ เราปฏิบัติกับคนที่แตกต่างไม่เหมือนกับคนทั่วไป บ่อยครั้งจะเห็นว่าคนที่เป็น LGBTQ+ ถูกกลั่นแกล้งด้วยความที่เขาไม่เหมือนคนอื่น หรือแม้แต่คนที่มีความคิด หน้าตา รูปร่างแตกต่างจากเรา เราทำจนเป็นเรื่องสนุก เรื่องตลก สุดท้ายแล้ว สิ่งเหล่านี้มันเป็นการธำรงความรุนแรงไว้
ซึ่งความรุนแรงนั้นไม่ได้จำกัดแค่การทำร้ายร่างกายนะครับ แม้แต่การทำร้ายด้วยวาจา รวมถึงการยึดติดกับกฎมากเกินไปจนไม่เห็นความเป็นคน อันนี้ก็เป็นความรุนแรงนะครับ
ถามว่าความรุนแรงพวกนี้มันสร้างความชอบธรรมให้ใคร มันคือการสร้างความชอบธรรมให้กับระบบสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน มันเป็นการสร้างความชอบธรรมที่ว่า คนที่มีอำนาจหรือสิทธิบางอย่างสามารถใช้ความรุนแรงได้โดยไม่มีลิมิต ไม่มีการถูกท้วงติง”
โรงเรียนซึ่งควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน จึงกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะและส่งต่อค่านิยมที่ทำให้เด็กๆ บางส่วนเห็นความรุนแรงเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหา ขณะที่เด็กผู้ถูกกระทำก็เติบโตไปพร้อมกับบาดแผลทางใจซึ่งหากไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม เขาก็อาจกลายไปเป็นผู้ใหญ่อีกคนที่ทวงคืนสังคมด้วยความรุนแรงในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
‘เรา’ ต่างเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรง
จากเรื่องราวของซูโม่ เด็กชายผู้เผชิญกับการกลั่นแกล้งในโรงเรียน เขาเล่าว่าสิ่งที่เจ็บปวดไม่แพ้การถูกทำร้าย คือการที่พ่อแม่ไม่ใส่ใจและกล่าวโทษเขา คุณครูก็ไม่ได้ให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ขณะที่เพื่อนสนิทและเพื่อนที่เห็นเหตุการณ์ นอกจากจะไม่เคยยื่นมือเข้ามา ยังไม่เคยให้กำลังใจเขาเลยสักครั้ง
หากความรุนแรงในโรงเรียนคือฉากใหญ่ฉากหนึ่ง ตัวละครจึงไม่ได้มีแค่เด็กผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ยังมีเพื่อน ครู รวมไปถึงครูใหญ่ หรือผู้อำนวยการโรงเรียนที่ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
แต่ถ้าถามว่าต้นทางหรือตัวละครที่สำคัญที่สุดคือใคร ผศ.นพ.คมสันต์ บอกว่า ครอบครัวและการเลี้ยงดู ถือเป็นต้นทางสำคัญที่หล่อหลอมความคิดและพฤติกรรมในการกลั่นแกล้งรังแกของเด็กคนหนึ่ง ไม่ว่าเขาจะเป็น ‘ผู้กระทำ’ หรือ ‘เหยื่อ’ เพราะความรุนแรงทั้งที่แสดงออกผ่านคำพูด การลงไม้ลงมือ การบังคับข่มขู่ ข่มเหงจิตใจ รวมไปถึง การเพิกเฉย ปล่อยปละละเลย ด้านหนึ่งอาจส่งผลให้เด็กไม่มั่นใจ ไม่กล้าแสดงความรู้สึก หรือปกป้องตัวเองไม่ได้เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการกลั่นแกล้งรังแก
“เด็กที่เป็นเป้าหมายหรือถูกรังแกบ่อยๆ มักจะมีบุคลิกบางอย่าง เช่น เป็นคนเก็บตัวเงียบๆ หรือไม่ค่อยพูดคุยเล่าสิ่งต่างๆ กับใคร ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ บางคนมีผลจากครอบครัวที่เขาอาจรู้สึกว่าครอบครัวไม่ได้รับฟังเขา หรือการพูดไปก็ทำให้เขาถูกว่าถูกตำหนิ เขาเลยเลือกไม่พูดหรือขอความช่วยเหลือจากใคร
ส่วนผู้ที่ไปรังแกผู้อื่นก็เหมือนกัน บางคนอาจเป็นผลจากครอบครัวที่ไม่พร้อมไม่สมบูรณ์ อาจมีการใช้ความรุนแรงกันภายในครอบครัว หรือบางทีอาจเป็นการเล่นกันในครอบครัวที่บางทีคุณพ่อคุณแม่อาจแหย่แกล้งให้เด็กโกรธหรือหงุดหงิด และทำให้เด็กรู้สึกว่านี่คือการเล่นกันเฉยๆ ซึ่งทำให้เด็กอาจนำการเล่นในลักษณะนี้ไปใช้กับเพื่อนๆ ด้วยเหมือนกัน”
ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่สังคมต้องยอมรับคือ เราทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ หลายคนเพิกเฉย หลายคนชาชินและมองความผิดปกติเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพย์สิน ความอาวุโส หรือตำแหน่งหน้าที่ มักถือไพ่อันได้เปรียบนี้ในการข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่า โดยได้รับการรับรองจากค่านิยม ความเชื่อ ธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ซึ่งในที่สุดแม้คนที่เคยถูกรังแกเอง ในวันหนึ่งที่เขามีอำนาจมีโอกาสก็อาจแสดงออกไม่ต่างกัน ด้วยเหตุนี้ ผศ.กานน จึงเสนอว่าหากจะแก้ปัญหาให้ตรงจุด ควรตั้งเป้าหมายให้ไปไกลกว่า ‘โรงเรียน’
“เป้าหมายคือ จะเปลี่ยนสังคมที่ใช้ความรุนแรงอย่างไร อย่างในโรงเรียนก็มีครูหลายคนที่ไม่ชอบวิธีการแบบเดิมๆ เพียงแต่เขาไม่รู้ว่ามันมีทางไหนบ้าง ก้าวแรกที่ผมว่าเป็นกุญแจสำคัญที่สุดคือ Mindset ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการศึกษาว่า การศึกษาไม่ได้มีไว้เพื่อทำให้เด็กเป็นแค่ 1-2-3-4 แล้วเรามีหน้าที่ควบคุมให้เกิด 1-2-3-4 แต่การศึกษามันคือทำยังไงให้มันเกิดการเติบโต เรียนรู้และเข้าใจ
ผู้ใหญ่ต้องถามตัวเองว่าอยากอยู่ในสังคมแบบไหน อยากอยู่ในสังคมที่บ้าอำนาจที่มีความได้เปรียบบางอย่างในการใช้ความรุนแรง หรืออยากอยู่ในสังคมที่เราแก้ปัญหาด้วยความเข้าใจกัน
เด็กหลายคนกระทำความรุนแรงเพราะมีความต้องการบางอย่างที่เขาไม่รู้ตัว เช่น อยากได้รับการยอมรับ มันดูเท่ ดูคูล แต่จริงๆ แล้ว มันมีวิธีไปถึงจุดนั้นอย่างหลากหลายโดยไม่ต้องไปทำร้ายคนอื่น
ดังนั้น ถ้าเราสามารถเปลี่ยนโรงเรียนได้ ก็เปลี่ยนสังคมไทยได้ ถ้าเปลี่ยนสังคมไทยได้ก็เปลี่ยนโรงเรียนได้”
หยุดวงจรความรุนแรง เริ่มต้นที่ผู้ใหญ่ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก
จากปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียนซึ่งถูกมองเป็นเรื่องเด็กๆ โดยมีปัจจัยด้านครอบครัวเป็นแรงผลักสำคัญ นักวิชาการหลายท่านได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่ผิดเพี้ยนของโรงเรียน จาก ‘พื้นที่ปลอดภัย’ กลายเป็นพื้นที่หล่อเลี้ยงความรุนแรง ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม บ้านและโรงเรียนต้องร่วมมือกันปกป้องสิทธิของเด็กอย่างเต็มที่ โดยไม่โยนภาระให้ใครคนใดคนหนึ่ง
เริ่มจาก ‘บ้าน’ พญ.เบญจพร บอกว่าเมื่อเด็กคนหนึ่งถูกกลั่นแกล้งรังแก สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำคือการเป็นผู้ฟังที่ดี แม้บางเรื่องจะไปสะกิด ‘ต่อมอยากสอน’ มากแค่ไหนก็ตาม
“สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำคือทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและมั่นคง เริ่มด้วยการฟัง ถามลูกว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะการที่ลูกได้เล่าถือเป็นการระบายความรู้สึก พ่อแม่ควรฟังไปเรื่อยๆ สนใจ และตั้งใจ พยักหน้าเป็นระยะ สบตาลูก ไม่ใช่ว่าลูกเล่าไป พ่อแม่ก็ก้มหน้ากดมือถือ รวมถึงมีคำพูดที่สะท้อนความรู้สึกให้เหมาะสม เช่น หนูคงรู้สึกแย่มากทีเดียวที่เจอเรื่องแบบนี้…
หมอเชื่อว่าถ้าพ่อแม่และครูเปิดโอกาสให้เด็กได้เข้ามาพูดคุยเรื่องนี้ได้อย่างปกติ โดยไม่มองว่าเป็นเรื่องของเด็กๆ ที่เล่นกัน เพราะการรับฟังช่วยได้มาก
ถึงแม้ว่าเพื่อนก็ยังแกล้งเขาอยู่ แต่เด็กจะรู้สึกดีขึ้น ถ้ารู้สึกว่ามีใครสักคนที่รับฟังและเข้าใจความทุกข์ของเขา ที่สำคัญคือเด็กจะรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงเพียงพอว่าผู้ใหญ่เป็นที่พึ่งทางใจให้เขาได้”
เมื่อครอบครัวโอบอุ้มเด็กด้วยความรักความเข้าใจ ด่านต่อมาก็คือ ‘โรงเรียน’ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรมและกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเวชศาสตร์วัยรุ่นกล่าวว่าการแก้ปัญหานี้ควรเป็นหน้าที่ของผู้บริหารโรงเรียนที่จะต้องเป็น ‘ผู้นำ’ ในการรวมพลังจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน คุณครู และผู้ปกครอง เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและออกแบบวิธีการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
“สิ่งสำคัญที่สุดคือเสียงของเด็กเป็นเสียงสวรรค์ ดังนั้นเราถามเด็กได้ไหมว่าพฤติกรรมและคำพูดอะไร เอาแค่ 3 ประเด็นก่อนก็ได้ที่ไม่อยากให้มีในโรงเรียนนี้ แล้วสำรวจความเห็นทั้งโรงเรียน จนได้ประเด็นร่วมมาทำบูลลี่โปรแกรมในรั้วโรงเรียน
ทีนี้ใครจะมาเป็นกองกำลังในการช่วยกันบ้าง ก็อาจออกแบบโดยเลือกเพื่อนในดวงใจ ครูในดวงใจ หรือผู้ปกครองจิตอาสามาร่วมเป็นกองกำลังร่วม เพื่อคิดค้นระบบเฝ้าระวังต่างๆ เช่น มีระบบเพื่อนช่วยเพื่อน รุ่นพี่ช่วยรุ่นน้อง รวมถึงการมีนักจิตวิทยาในรั้วโรงเรียนให้คำปรึกษา แต่ถ้ายังไม่มีโรงเรียนก็อาจเซ็ตกองกำลังให้ครูจิตวิทยาและมีครูในดวงใจเด็กๆ มาร่วมด้วยช่วยกัน รวมถึงอาจนำกรณีศึกษาการบูลลี่ที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนมาให้นักเรียนถกกันโดยล้างชื่อเพื่อนออก ให้ทุกคนได้ลองวิเคราะห์ร่วมกันว่าจะแก้ปัญหายังไง
หมอเคยทดลองทำสิ่งเหล่านี้มาหมดแล้ว และอยากให้คุณทำซะวันนี้ มันก็จะกลายเป็น Anti-Bully Program เพราะมันมีเด็กจำนวนหนึ่งที่เราต้องเข้าใจว่าพอเขาเป็นผู้แพ้ซ้ำซาก โดนเพื่อนบูลลี่ซ้ำซาก ความภาคภูมิใจในตัวเองมันก็พัง แล้วบวกกับทุนชีวิต บ้านไม่เป็นบ้าน โรงเรียนก็ไม่เป็นโรงเรียน เขาพร้อมจะก่อการได้ทุกอย่างเลยนะ
อย่าลืมว่าความก้าวร้าวรุนแรงกับเรื่องซึมเศร้าคือเรื่องเดียวกัน เพราะถึงชื่อมันบอกว่าซึมเศร้า แต่แสดงได้ 2 แบบ คือซึมเศร้าตามชื่อและตรงข้ามกับซึมเศร้าคือใช้ความรุนแรง แต่ก็เป็นการใช้ความรุนแรงที่ซ่อนนัยด้วยความเศร้า ทั้งการใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นและการฆ่าตัวตาย ซึ่งทุกวันนี้วัยรุ่นของเราฆ่าตัวตาย 2 รายต่อวัน เพราะความภาคภูมิใจในตัวเองมันพังไปหมดแล้ว”
นอกเหนือจากผู้บริหารโรงเรียนและครูที่จะต้องแสดงออกอย่างเหมาะสมตามบทบาทของตนเอง เพื่อนๆ หรือผู้เห็นเหตุการณ์ (Bystander) ก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในการช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกกลั่นแกล้งรังแกอย่างน้อยก็ช่วยให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือถูกทอดทิ้งให้เผชิญปัญหาตามลำพัง
ผศ.นพ.คมสันต์ ให้คำแนะนำเพื่อนนักเรียนหรือคนรอบข้างที่พบเห็นเหตุการณ์ว่า หากสามารถเข้าไปช่วยได้โดยไม่เกิดอันตรายต่อตนเองก็ควรให้การช่วยเหลือ แต่ถ้ามีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขึ้น อาจใช้วิธีขอความช่วยเหลือจากครูหรือผู้ใหญ่
“บางทีก็อาจเป็นแค่การไปพูดคุยกับเหยื่อที่ถูกรังแกว่าเขาเป็นยังไงบ้าง รู้สึกอย่างไร มีอะไรให้เราช่วยได้ไหม หรือช่วยพาไปหาคนที่สามารถให้ความช่วยเหลือต่อไปได้ เช่นครูหรือพ่อแม่ของเขา ซึ่งจะช่วยให้เหยื่อที่ถูกรังแกรู้ว่าอย่างน้อยตัวเขาก็ไม่ได้โดดเดี่ยว ยังมีคนที่เห็นอกเห็นใจ และพร้อมช่วยเหลือเขา”
นอกจากนี้ สังคมเองก็มีบทบาทสำคัญในการตัดวงจรการกลั่นแกล้งรังแก ด้วยการไม่เพิกเฉย และพร้อมต่อต้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบทั้งในชีวิตจริงและบนโลกออนไลน์ เพราะถึงที่สุดแล้ว ปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกที่เริ่มต้นในรั้วโรงเรียน อาจเป็นบทเรียนที่เด็กๆ ทั้งผู้กระทำและเหยื่อได้ซึมซับจนกลายเป็นความเคยชิน และปัญหาที่หลายคนมองว่าเป็นเพียงเรื่องหยอกล้อของเด็กๆ ก็อาจพัฒนาไปสู่ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ อย่างไม่รู้จบ
เช่นนั้น หากถามว่าเราควรเริ่มต้นแก้ปมปัญหานี้จากจุดไหนก่อน อยากชวนให้ทุกคนร่วมกันส่งเสียงว่า “ไม่ว่าใครก็ไม่ควรถูกกลั่นแกล้งรังแก” และ “ไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่น” …ไม่ว่าจะอ้างเหตุหรือเจตนาใดๆ ก็ตาม