- ศูนย์การเรียนรู้ ‘วิทยาลัยส้มจุก’ เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ไม่มีเกรด ไม่มีตำรา แต่เปลี่ยนคนได้จริง โดยมีการออกแบบกระบวนการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในการสร้างอาชีพ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้หลายคนกลับมายืนบนลำแข้งของตัวเอง ยังวางรากฐานของความยั่งยืนให้กับชุมชนในระยะยาวด้วย
- แรกเริ่มเป้าหมายคือเพื่อรักษา ‘ส้มจุก’ สิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งใกล้สูญพันธุ์ให้คงอยู่ต่อไป กลายเป็นการจัดการเรียนรู้ของคนในชุมชน ทั้งเด็กนอกระบบ เยาวชน และผู้สูงอายุ
- สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะทำอะไรได้ กลับกลายเป็นคนที่ดูแลต้นไม้เองได้ มีอาชีพ มีรายได้ แม้จะเล็กน้อยในตอนแรก แต่เขาเริ่มเห็นคุณค่าของตัวเอง และมองเห็นศักยภาพในสิ่งเล็กๆ ที่ทำ
“วันนี้ส้มจุกจะนะไม่ใช่ระบบธุรกิจ แต่มันคือโรงเรียน มันกลายเป็นสถาบันการศึกษาไปแล้ว”
อะหมัด หลีขาหรี แกนนำชุมชนบ้านแคเหนือ และครูโรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวอย่างภาคภูมิใจ
หากย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ใครจะคาดคิดว่า ‘ส้มจุก’ ผลไม้พื้นถิ่นรสหวานอมเปรี้ยว จะกลายมาเป็นแกนกลางของการเปลี่ยนแปลงในชุมชนไม่ใช่แค่การฟื้นคืนพืชเศรษฐกิจ แต่คือการรื้อฟื้นศักยภาพของคนในพื้นที่ เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนความคิด และยกระดับการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม
ในวันนั้นส้มจุกแทบจะหายไปจากพื้นที่ อะหมัด หลีขาหรี จึงพยายามรวมกลุ่มชาวบ้านก่อตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนส้มจุกจะนะ โดยเขารับหน้าที่เป็นเลขานุการ ด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะอนุรักษ์และขยายพันธุ์ ‘ส้มจุก’ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของ ‘จะนะ’
ประจวบเหมาะกับในปี 2562 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน พวกเขาจึงขอรับทุน ‘โครงการพัฒนาทักษะอาชีพการขยายพันธุ์และดูแลสวนส้มจุก ชุมชนบ้านแคเหนือ ต.แค อ.จะนะ จ.สงขลา’
หลังจากนั้น ในปี 2564 โครงการพัฒนาทักษะอาชีพฯ ได้ยกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้ ‘วิทยาลัยส้มจุก’ ภายใต้ชื่อ ‘โครงการพัฒนาทักษะอาชีพการขยายพันธุ์และดูแลสวนส้มจุกจะนะ’ ซึ่งมีการออกแบบกระบวนการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในการสร้างอาชีพ และให้ความสำคัญต่อการทำงานกับเด็กและเยาวชนมากขึ้น โดยมี ‘โค้ช’ ในชุมชนทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ และเป็นพี่เลี้ยงที่คอยรับฟัง ชี้แนะ และเป็นกำลังใจให้ผู้ร่วมเรียนรู้ได้ค่อยๆ ค้นพบเส้นทางที่เหมาะสมกับตนเอง พัฒนาเป็นอาชีพและผู้ประกอบการ
ที่แห่งนี้จึงไม่ใช่แค่พื้นที่ปลูกส้มจุก แต่คือพื้นที่ส่งเสริมอาชีพ ที่ปลูกความหวัง และปลูกความสัมพันธ์ใหม่ในชุมชน ฟื้นฟูทั้งเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กัน
ผลไม้ลูกเล็กๆ ที่เกือบจะกลายเป็นแค่ความทรงจำของคนจะนะ จึงกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ ที่คนทุกวัยสามารถเข้ามาเติมเต็มศักยภาพของตัวเองได้ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้หลายคนกลับมายืนบนลำแข้งของตัวเอง และต่อยอดเป็นอาชีพได้ ยังวางรากฐานของความยั่งยืนให้กับชุมชนในระยะยาวด้วย

‘ส้มจุก’ จากพันธุ์ไม้ที่กำลังหายไป สู่การค้นพบความหมายของชีวิต
“จุดประสงค์หลักเริ่มแรกคือตั้งใจจะสร้างขึ้นมาเพื่อขยายพันธุ์ ‘ส้มจุก’ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของอำเภอจะนะ เป็นพืชที่มีความโดดเด่น เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนั้นคือ ส้มจุกหายไปและใกล้จะสูญพันธุ์ เลยเริ่มรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา ซึ่งก็ได้เกษตรอำเภอช่วยในการตั้งกลุ่มขึ้นมา โดยการดำเนินการช่วงแรกคือ เริ่มจากการสรรหาสมาชิกว่าบ้านไหนยังมีส้มจุกอยู่บ้าง เราก็รวมตัวกัน เพื่อที่จะขยายพันธุ์”
อะหมัด เล่าว่า เป้าหมายแรกคือเพื่อรักษาสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของจะนะให้คงอยู่ต่อไป เพราะส้มจุกจะนะในอดีตเคยมีวางขายที่สถานีรถไฟจะนะ และเป็นที่จดจำในฐานะของฝากประจำถิ่น
ซึ่งการแจกจ่ายต้นพันธุ์ในช่วงแรก ไม่ได้เป็นเพียงการปลูกต้นไม้ แต่เป็นการปลูกความหวังว่า ชุมชนจะสามารถกลับมายืนหยัดได้จากรากฐานที่เคยมีอยู่ เพราะสำหรับเขา การขยายพันธุ์ส้มจุก ไม่ใช่แค่เรื่องพืชผล แต่คือการฟื้นกลับของจิตวิญญาณชุมชน
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชุมชนประสบปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องราคายางพาราตกต่ำ ทำให้ชาวบ้านหลายคนไม่มีรายได้แน่นอน บางคนต้องเดินทางไปทำงานต่างถิ่น บางคนตกงานเพราะพิษเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมาเจอสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้เด็กหลายคนหลุดออกจากระบบการศึกษา ครอบครัวหลายครัวต้องกลับมาอยู่บ้านโดยไม่มีทางเลือกมากนัก
ท่ามกลางความเปราะบางเหล่านี้ ‘ส้มจุก’ จึงกลายมาเป็นความหวังเล็กๆ ที่สามารถหยั่งรากลึกลงในใจของคนในชุมชนอีกครั้ง ทำให้จากแค่การฟื้นฟูพันธุ์ กลายเป็นการพัฒนาทักษะอาชีพในการขยายพันธุ์และอาชีพเสริมทั่วไป และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นการสร้างศูนย์เรียนรู้ ‘วิทยาลัยส้มจุก’ ให้กับคนในชุมชน
“พอเราทำไปทำมา กลายเป็นการจัดการเรียนรู้ขึ้นมาด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องอาชีพเพียงอย่างเดียว เป็นการเรียนรู้ของคนในชุมชน ทั้งเด็กนอกระบบ เยาวชน และผู้สูงอายุ ก็เข้ามาเรียนรู้เยอะมาก”
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อจำกัดในด้านกำลังคน แต่อะหมัดและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของเขาไม่เคยหยุด พวกเขาใช้ส้มจุกเป็นเครื่องมือเล็กๆ ในการเชื่อมโยงครอบครัวให้กลับมาเรียนรู้และดูแลชีวิตตัวเอง
“เรามีปรัชญาเบื้องหลังจากตรงนี้ว่า ถ้าเขาสามารถดูแลพันธุ์ไม้ที่ให้ไปได้ เขาก็จะดูแลชีวิตตัวเองได้ เพราะถ้าเขาดูแลให้มันออกดอกออกผล มันก็เป็นหลักฐานว่าเขาดูแลตัวเองได้”
พื้นที่เรียนรู้ที่ไม่มีเกรด ไม่มีตำรา แต่เปลี่ยนคนได้จริง
หลังจากได้เข้าร่วมโครงการทุนพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ของกสศ. ในปี 2562 อะหมัดและทีมงานเริ่มออกแบบกระบวนการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะเยาวชนนอกระบบและกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีรายได้น้อย ไม่มีวุฒิการศึกษาสูง และไม่มีต้นทุนในการเริ่มอาชีพ โดยใช้อาชีพส้มจุกเป็นตัวตั้ง
“โจทย์ของ กสศ. คือกลุ่มที่จบ ม.6 รายได้ไม่เกิน 6,500 บาทต่อเดือน ไม่มีต้นทุน ซึ่งเราก็เห็นว่ามันตรงกับคนในพื้นที่ของเราหลายคนมากๆ” อะหมัดเล่า
กระบวนการเริ่มจากการลงพื้นที่สแกนชุมชนจริง โดยโค้ชที่ผ่านการอบรมจะพูดคุยและคัดกรองผู้ที่สนใจร่วมโครงการ เน้นกลุ่มที่หลุดจากระบบ ไม่มีชื่อในระบบการศึกษา ไม่มีรายได้ประจำ และพร้อมเรียนรู้ โดยโค้ชจะช่วยแนะนำให้แต่ละคนได้รู้จักตัวเองมากขึ้นว่าเหมาะกับอาชีพแบบใด
“เราจะสกรีนว่าคนที่มาสมัครตรงนี้เขาเป็นคนที่ไม่มีชื่อในระบบ ไม่มีชื่อในกศน. เป็นกลุ่มที่หลุดออกจากระบบการศึกษาจริงๆ รวมถึงกลุ่มที่เป็นแรงงานนอกระบบ เราก็ให้ผู้ใหญ่บ้านและ อบต. ช่วยกรองอีกที”
ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหา ‘เด็กหลุดจากระบบการศึกษา’ กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ และในตำบลแคก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน อะหมัดบอกว่าปัญหาสำคัญคือเมื่อเด็กเหล่านี้หลุดออกมาแล้ว การพาเขากลับเข้าสู่ระบบอีกครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย
“โชคดีที่ตำบลแคของเรามีจำนวนเด็กหลุดออกนอกระบบไม่เยอะมาก เพราะว่าในพื้นที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาพอสมควร รวมทั้งในพื้นที่ของเราก็มีทางเลือกทางการศึกษาค่อนข้างหลากหลาย ทั้งเรียนในระบบสามัญ เรียนเอกชน โรงเรียนศาสนาอิสลาม กศน. (การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) หรือ ปอเนาะ (ศูนย์การเรียนศาสนาแบบดั้งเดิมของมุสลิมในภาคใต้) แต่เท่าที่เราดึงกลับให้มาอยู่ในโครงการส้มจุกก็ประมาณ 14-15 คน”
แม้จะมีความพร้อมในเชิงโครงสร้าง สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ คือบริบทของครอบครัว อะหมัดอธิบายว่า เด็กบางคนไม่สามารถเข้าถึงโอกาสได้ เพราะครอบครัวย้ายถิ่นฐาน หรือเด็กบางคนไปอยู่ต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย จึงยากต่อการตามหาและดึงกลับมาเข้าสู่ระบบอีกครั้ง
“กสศ. เขาให้งบสำหรับอุปกรณ์คนละ 2,500 บาท ว่าอยากทำอาชีพอะไร ต้องการอุปกรณ์อะไร เราก็จัดหาให้ แต่ก่อนจะถึงตรงนั้นได้ โค้ชต้องคุยกับเขาก่อน ว่าเขาชอบอะไร สนใจอะไร ฐานเดิมของเขาคืออะไร แล้วเราก็พยายามให้เขาทำของเดิมให้ดีขึ้น บางคนไม่มีแม้แต่ความมั่นใจในตัวเอง ไม่เคยมีอาชีพเป็นของตัวเองแต่พอได้มีคนเข้ามานั่งคุย ฟังความต้องการจริงๆ ก็เริ่มเกิดแรงบันดาลใจเล็กๆ ว่า เราก็ทำได้” อะหมัดอธิบาย
โครงการไม่ได้หยุดแค่การมอบอุปกรณ์ แต่ตามด้วยการติดตามอย่างใกล้ชิดผ่านโค้ช และมีเกณฑ์ประเมินความก้าวหน้า เช่น ความสม่ำเสมอ ความใส่ใจ การใช้อุปกรณ์อย่างเหมาะสม และการมีส่วนร่วมในชุมชน หากใครมีความรับผิดชอบมากขึ้น จะได้รับการพัฒนาเพิ่มเติม เช่น เข้าฝึกอบรม สอนคนอื่น หรือนำสินค้ามาขายที่ ‘หลาดส้มจุก’ ตลาดที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้คนในชุมชนนำผลผลิตที่ได้จากการเรียนรู้มาสร้างรายได้ทุกวันอาทิตย์ ให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน
“เราไม่ได้ให้เขานั่งเรียนอย่างเดียว แต่เราดูว่าเขาอยากทำอะไร แล้วเราหาโค้ชให้เขา มีเครื่องมือให้เขา แล้วให้เขาลงมือเลย” อะหมัดสรุปหัวใจสำคัญของการจัดการเรียนรู้ในโครงการนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะทำอะไรได้ กลับกลายเป็นคนที่ดูแลต้นไม้เองได้ มีอาชีพ มีรายได้ แม้จะเล็กน้อยในตอนแรก แต่เขาเริ่มเห็นคุณค่าของตัวเอง และมองเห็นศักยภาพในสิ่งเล็กๆ ที่ทำ นอกจากนี้โครงการนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมเรียนรู้ได้เป็นโค้ชต่อ สอนคนอื่น ถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองเคยได้รับ จนกลายเป็นระบบเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง แต่พัฒนาตัวเองได้เรื่อยๆ
“ปีแรกเรามีผู้ร่วมเรียนรู้ 50 คน ปีที่สอง 50 คน รวมเป็น 100 คน แล้วปีที่สามมี 80 คน ปีล่าสุด 100 คน และปีนี้ 150 คน ซึ่งปีล่าสุดเป็นโครงการขยายผลครอบคลุม 3 พื้นที่ ตำบลคู ตำบลแค และตำบลท่าหมอไทร” อะหมัดเล่าถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเครือข่ายผู้ร่วมเรียนรู้
“สองปีแรกเรามี 100 คน เป็นคนใหม่หมดเลย แต่ปีที่ 3 จะมีผู้ร่วมเรียนรู้เดิมเข้าร่วมด้วย เพราะเราก็ให้ผู้ร่วมเรียนรู้ที่ดูมีหน่วยก้านดีมาเป็นโค้ชต่อ แต่ว่าสัดส่วนของผู้ร่วมเรียนรู้ใหม่จะสูงกว่าผู้ร่วมเรียนรู้เดิมประมาณ 80 ต่อ 20 เพราะเราอยากเปิดโอกาสให้คนใหม่ๆ ด้วย”
โดยบทบาทของโค้ชจะไม่ใช่แค่สอนงาน แต่รวมถึงการเป็นเพื่อนร่วมคิด พี่เลี้ยง และคอยให้กำลังใจระหว่างทาง
“เขาไม่ได้อยู่ในฐานะครู แต่เป็นเพื่อนร่วมทาง เป็นคนที่ถามว่า เธออยากทำอะไร แล้วช่วยคิด ช่วยจัดหาให้ และอยู่ด้วยกันในกระบวนการทั้งหมด เพราะกระบวนการที่สอนคนอื่น ถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองเคยได้รับ จะกลายเป็นระบบเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง แต่พัฒนาตัวเองได้เรื่อยๆ”

เมื่อผลลัพธ์ไม่ได้วัดที่รายได้ แต่คือการลุกขึ้นยืนด้วยตัวเองอีกครั้ง
สิ่งที่เกิดขึ้นในจะนะ ไม่ใช่แค่การมีตลาดให้ขายของ แต่คือการมีพื้นที่ให้คนธรรมดาได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าทำได้ และที่สำคัญคือมีใครสักคนคอยเชื่อว่า ‘เขาจะทำได้’
โดยช่วงปี 2564 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อ กสศ. เปลี่ยนบทบาทจากการมุ่งส่งเสริมอาชีพ เป็นการสนับสนุน ‘โอกาสในการเรียนรู้’ โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน อาชีพจึงไม่ได้เป็นเป้าหมายปลายทางอีกต่อไป แต่กลายเป็นเครื่องมือกลางทางในการพัฒนาคน กระบวนการทั้งหมดจึงเปิดกว้างขึ้น และหลากหลายมากขึ้นตามไปด้วย
อะหมัดเล่าว่า เมื่อโจทย์เปลี่ยนจาก ‘อาชีพ’ เป็น ‘การเรียนรู้’ ก็เริ่มออกแบบ ‘สายพานอาชีพ’ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องของส้มจุกอีกต่อไป แต่รวมถึงกิจกรรมทุกอย่างที่คนในชุมชนสามารถเรียนรู้และต่อยอดเป็นอาชีพได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงไส้เดือน ทำปุ๋ยหมัก ดูแลสวน ปลูกผัก หรือ เพาะเห็ด
“คนที่เข้าร่วมโครงการกับเรามีอาชีพ 100% ตอนนี้เรามี 15 อาชีพ ซึ่งก็มีหลากหลายมาก แต่พอตอนหลัง กสศ. ให้โจทย์ว่าจะต้องดูแลเยาวชนนอกระบบด้วย ปัญหาคือวัยรุ่นหลายๆ คนไม่ชอบทำการเกษตร เพราะมันไม่ใช่จริตของเยาวชนยุคนี้ เราเลยจะให้เขาเลือกสิ่งที่เขาทำแล้วมีความสุข เขาก็สามารถอยู่กับครอบครัวไปพร้อมกับการทำงานได้ด้วย เราพยายามส่งเสริมในรูปแบบนี้”
อะหมัดเล่าถึงที่มาของการปรับกระบวนการให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยในปี 2566 ภายใต้ ‘โครงการพัฒนากลไกการสร้างครอบครัวตื่นรู้ตำบลแคโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน’ ก็ได้มีการปรับอาชีพตามความถนัดและความสนใจของผู้ร่วมเรียนรู้ เช่น การขายของออนไลน์ การลับมีดกรีดยาง ซึ่งทั้งหมดนี้ยังอยู่ในหลักคิดเดิม คือ ‘ให้อาชีพที่ทำแล้วมีความสุข’ และยังคงสอดคล้องกับบริบทของชุมชน
บทเรียนจากส้มจุก คือการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด
“วันนี้ส้มจุกจะนะไม่ใช่ระบบธุรกิจ แต่มันคือโรงเรียน มันกลายเป็นสถาบันการศึกษาไปแล้ว”
บทเรียนจากส้มจุกไม่ใช่เพียงการเกษตร ไม่ใช่แค่การมีตลาด ไม่ใช่แค่การมีโค้ช หากแต่คือการสร้างพื้นที่ที่คนสามารถเริ่มต้นใหม่ในแบบของตัวเองได้ โดยมีความเชื่อมั่นเล็กๆ ว่า ต้นไม้ต้นหนึ่ง อาจเปลี่ยนทั้งชีวิตของใครบางคนได้
อะหมัดเองก็ได้รับบทเรียนใหม่จากเส้นทางนี้เช่นกัน ในฐานะครูที่เติบโตมากับระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม เขาได้เรียนรู้ว่าการศึกษาไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน ไม่จำเป็นต้องมีเกรด ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ตำราเสมอไป
“ผมเป็นครูในระบบสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งคลุกคลีกับระบบการศึกษาในระบบ พอมาเจอกสศ. มันเป็นศึกษาในรูปแบบใหม่ ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง เราเองก็นำไปใช้กับในระบบด้วย ซึ่งผมก็ชวนผู้บริหารให้เข้าเป็นโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมของจังหวัด เป็นโรงเรียนนำร่อง คือเราเห็นทางเลือกของกสศ. ที่นำเสนอการศึกษารูปแบบใหม่ๆ”
ถึงวันนี้ อะหมัดบอกว่าความฝันของเขาคือ การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
“เราเห็นว่าจริงๆ แล้วความรู้มันก็ง่ายๆ ไม่ได้ซับซ้อน ไม่จำเป็นต้องไปอิงกับตำราตลอดเวลา ทุกครั้งที่จัดกระบวนการให้ผู้ร่วมเรียนรู้ มันเห็นได้ชัดเลยว่าความรู้นั้นอยู่ในตัวเรา และเราก็นำสิ่งที่มีในตัวเองมาแลกเปลี่ยนกัน”