- ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กเกิดขึ้นเพราะการลดลงของเด็กในชุมชน ซึ่งโจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กได้
- ในเวที ‘ยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กของชุมชน ความเสมอภาคทางการศึกษาที่เป็นจริงได้’ เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย ผู้ประสานงานโครงการ ACCESS School ได้เสนอนโยบาย ‘โรงเรียนนวัตกรรมชุมชน’ เข้ามาแก้ปัญหา
- การคืนครูให้กับเด็ก คืนผู้บริหารให้กับโรงเรียน มีส่วนสำคัญมากต่อการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงบริบทโรงเรียนจัดเป็นสนามพลังบวกทั้งหมด ตั้งแต่ก้าวแรกเข้าไปในโรงเรียน
“เรียนดี มีความสุข เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา นี่แหละคือแก่นของโรงเรียนขนาดเล็ก”
เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย ผู้ประสานงานโครงการ ACCESS School หรือโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยการสนับสนุนของสหภาพยุโรป กล่าวในเวทีขับเคลื่อนนโยบายลดความเหลื่อมล้ำโรงเรียนขนาดเล็ก พื้นที่ห่างไกล อย่างมีส่วนร่วม ครั้งที่ 1 ‘ยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กของชุมชน ความเสมอภาคทางการศึกษาที่เป็นจริงได้’
ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กได้? และทำอย่างไรจึงจะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน? คือโจทย์ตั้งต้นที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรครู ผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก และภาคประชาสังคมด้านการศึกษา ได้ร่วมกันหาคำตอบ และนำมาสู่ข้อค้นพบและข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อพัฒนาคุณภาพและการบริหารจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก’ ซึ่ง The Potential หยิบยกบางช่วงบางตอนมานำเสนอ
โรงเรียนเล็ก ปัญหาใหญ่ โจทย์ท้าทายความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
“โรงเรียนขนาดเล็กทุกโรงเรียนนั้นเผชิญกับปัญหาเช่นเดียวกับปัญหาระดับชาติเลย คือการลดลงของเด็กในชุมชน ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนเด็กลดลงเป็นเรื่องปกติในชุมชน เพราะเด็กลดลงอยู่แล้ว ปัญหาคือเราจะพัฒนาคุณภาพได้อย่างไร เป็นโจทย์ใหญ่ของโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นโจทย์ใหญ่ของครู และเป็นโจทย์ใหญ่ของชุมชน เป็นวาระของชุมชนที่ต้องช่วยกัน พัฒนาร่วมกัน”
“เราเข้าไปสนับสนุนโดยเลือกโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในภาวะกลุ่ม stand alone ซึ่งมีอยู่สองประเภท หนึ่งคือมีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ สองกลุ่มที่อยู่ในชุมชนที่ลำบากยากไร้ ผู้ปกครองรับจ้างทำงาน ไม่สามารถดูแลลูกหลานได้เต็มที่ เพราะฉะนั้นโรงเรียนเลยเป็นศูนย์รวมของชุมชนไปด้วย ชุมชนกับโรงเรียนเลยใกล้ชิดกัน โรงเรียนในลักษณะนี้จึงไม่ประสงค์ไปควบรวมตามนโยบายของต้นสังกัด อยากให้ลูกหลานอยู่ใกล้ชุมชน โรงเรียนพวกนี้มักจะมีครูที่ดูแลเด็กได้ดี”
เนื่องจากโจทย์ความท้าทายในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก คือ ‘คุณภาพการศึกษา’ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ จึงต้องหาหนทางที่จะไปพัฒนาคุณภาพ โดยเน้นไปที่การจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ นำนวัตกรรมการจัดการศึกษามาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละโรงเรียน และเปิดพื้นที่การเรียนรู้ของโรงเรียนเป็นพื้นที่ของทุกคนในชุมชน และที่สำคัญคือการได้รับการหนุนเสริมจากทุกภาคส่วน
“อีกเรื่องหนึ่งคือ งบประมาณ ที่ผ่านมาที่โรงเรียนขนาดเล็กของเราประสบเป็นยาขมมากก็คือ งบประมาณรายหัว เด็ก 30 คน งบประมาณรายหัวเท่ากัน ลำบากมากจะบริหารจัดการอย่างไร เราเลยเสนอว่า เปลี่ยนจากรูปแบบการบริหารจัดการงบประมาณแบบรายหัวมาเป็นงบประมาณแบบเชิงพื้นที่ได้ไหม ซึ่งเอาตัวปริมาณมาว่ากันว่าจะบริหารจัดการอย่างไร”
ข้อค้นพบและข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก
ข้อค้นพบ 7 ประการที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งจะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กเข้มแข็งและยังอยู่ได้ มีดังนี้
1. ‘ผู้บริหาร ผู้อำนวยการโรงเรียน’ ต้องมีความเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลง มีความกล้าหาญ
2. ‘ครู’ ต้องเป็นคนกล้าสอน กล้าเปลี่ยนแปลง กล้าใช้นวัตกรรมพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน หรือที่เรียกว่า ‘ครูโค้ช ครูนวัตกร’
3. ‘โรงเรียน’ มีการบริหารจัดการห้องเรียนที่ดี ประยุกต์ใช้กับนวัตกรรมการศึกษาอื่นๆ เข้ากับของกระทรวงศึกษาได้
4. ‘ชุมชน’ ต้องเข้มแข็ง ชุมชนเป็นแบ็กอัพให้กับโรงเรียนและคุณครู
5. ‘คณะกรรมการสถานศึกษา’ โรงเรียนขนาดเล็กที่เข้มแข็ง มีคณะกรรมการศึกษาที่สุดยอด ซึ่งคณะกรรมการศึกษาไม่จำเป็นต้องมีแค่ 9 คนตามระเบียบ อาจมากกว่านั้นก็ได้
“อย่างโรงเรียนหนองบัวคูมี 30-40 คน และผอ.มีความกล้าหาญที่จะจัดสรรบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการศึกษาอย่างชัดเจน กรรมการสถานศึกษาลงมากวาดใบไม้ มาปลูกผักหลังห้องเรียน ผู้มีเชี่ยวชาญเพราะเป็นเกษตรกรแล้วมาช่วยดูแลเกษตรให้ ดูแลแปลงผักให้ ดูแลอาหารให้เด็ก เป็นกรรมการสถานศึกษาหมดเลย นี่ก็คือหัวใจของกรรมการสถานศึกษา”
6. มีองค์กรจากภายนอกเข้ามาหนุนเสริม เรียกว่า ‘ภาคประชาสังคม’ เช่น ท้องถิ่น
7. มี ‘หลักธรรมมาภิบาล’ เป็นพิมพ์เขียวของโรงเรียน
“โรงเรียนขนาดเล็กเขาจะมีหลักธรรมาภิบาล 6 ประการ เพราะเขากลัวว่า โรงเรียนมักจะมีการย้ายผอ. ย้ายครู แต่ว่าชุมชนยังอยู่ เขาอยากจะทำหลักธรรมาภิบาลเป็นพิมพ์เขียวของโรงเรียนขึ้นมาว่า โรงเรียนพัฒนาอย่างไร แล้วเขาจะมอบให้กับผอ.คนใหม่ที่เข้ามา”
จากข้อค้นพบดังกล่าว เทวินฏฐ์ จึงเสนอเป็นนโยบายคือ การส่งเสริมให้โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ เป็น ‘โรงเรียนนวัตกรรมชุมชน’ โดยสามารถบรรจุให้เป็นสถานศึกษาพิเศษ ประเภทวิจัยศึกษาและพัฒนา นี่คือแนวทางหนึ่ง
“ต่อมาคือเรื่องการพัฒนาครู ซึ่งครูเป็นหัวใจของการศึกษา แต่ปัญหาคือมหาวิทยาลัยที่สอนครุศาสตร์ ไม่มีวิชาเรื่องบูรณาการ โรงเรียนขนาดเล็กที่ครูสอนได้ดีต้องสอนคละชั้น สอนควบวิชา ใช้พลังครู ใช้นวัตกรรมร่วมกัน จึงต้องปลดล็อกคุรุสภา เรื่องการจำกัดสิทธิให้กับนักศึกษาฝึกสอนที่ว่า โรงเรียนที่รับนักศึกษาฝึกสอนจะต้องมีวิชาเอกตรงกับนักศึกษาที่มาฝึกสอน เช่น นักศึกษาเอกคณิตศาสตร์ จะไปฝึกสอนที่โรงเรียนขนาดเล็กแห่งหนึ่ง แต่ไม่มีครูพี่เลี้ยงที่เป็นครูคณิตศาสตร์ ก็ไม่สามารถรับได้
เพราะฉะนั้นถ้ามหาวิทยาลัยครุศาสตร์ต่างๆ มีวิชาบูรณาการ นวัตกรรมการจัดการศึกษา นักศึกษาที่ลงเรียนในวิชานี้เขาก็มีสิทธิที่จะไปฝึกสอนที่โรงเรียนขนาดเล็กที่มีการเรียนการสอนแบบนวัตกรรม หรือบูรณาการ โรงเรียนขนาดเล็กก็จะไม่ขาดโอกาสในการรับนักศึกษามาฝึกสอน เราทดลองกับม.กาฬสินธุ์ แล้วใช้ได้ดีทีเดียว”
“สุดท้ายแล้ว โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งเขาอยากจะทำการถ่ายโอนไปให้ท้องถิ่น เช่น อบต. โรงเรียนขนาดเล็กบนภูเขาบนที่สูงห่างไกล ที่เขาอยากจะพัฒนาตนเอง แต่เขายากลำบากที่จะเข้าร่วมกับโครงการนวัตกรรมได้ เพราะฉะนั้นเขาอยากจะทำการถ่ายโอนไปให้ท้องถิ่น ประสานไปยังท้องถิ่นว่าจะมีปรับ และกระบวนการอย่างไร”
‘ผอ.เปลี่ยน – ครูเปลี่ยน – นักเรียนเปลี่ยน’ สู่โรงเรียนขนาดเล็กที่มีคุณภาพ
การเปลี่ยนแปลงท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของโรงเรียนขนาดเล็กแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็เป็นไปได้ หากโรงเรียนมีผู้นำที่กล้าหาญ ซึ่งจะพาคุณครูพัฒนาตัวเองและจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้กับนักเรียน
ตัวอย่างผู้อำนวยการโรงเรียนกล้าเปลี่ยน ได้แก่ ผอ. บุญเรือง ปินะสา โรงเรียนบ้านหนองบัวคู อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ที่นำนวัตกรรมจิตศึกษาและกลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนเข้ามาสร้างสนามพลังบวกในการก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ
“ในการบริหารจัดการโรงเรียน อาจจะมีผู้บริหารจัดการโรงเรียนหลายท่าน ผมเป็นผู้อำนวยการ แต่ว่าจะมีผู้บริหารจัดการโรงเรียนคือ ผู้ใหญ่บ้าน หลวงพ่อที่วัด แล้วก็ภาคประชาสังคมด้วย หลวงพ่อนี่แหละคือบุคคลสำคัญเป็นตัวเชื่อม บวร คือ บ้าน วัด โรงเรียน
ฉะนั้นแล้วหนองบัวคูก็บริหารจัดการโรงเรียนแบบนี้ ภายใต้การบริหารจัดการในรูปแบบของคณะกรรมการทั้งหมด หนองบัวคูมีคณะกรรมการสถานศึกษา 9 คนในโครงสร้าง แต่ว่าจะมีคณะกรรมการที่ปรึกษาอีกหนึ่งคณะ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานหนึ่งคณะ คณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนอีกหนึ่งคณะ คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองอีกหนึ่งคณะ และคณะอนุกรรมการพัฒนาโรงเรียน รวม 5 คณะด้วยกัน”
จุดแข็งของโรงเรียนหนองบัวคู คือพลังของชุมชนที่เข้มแข็ง ชุมชนมีบทบาทหน้าที่ในรูปแบบของคณะกรรมการสถานศึกษา พร้อมที่จะซัพพอร์ตโรงเรียนอย่างเต็มที่ จน ผอ.บุญเรือง กล้าที่จะเปลี่ยนสนามฟุตบอลเป็นนาข้าวอินทรีย์ เนื่องจากโรงเรียนประสบปัญหาน้ำท่วมสนามฟุตบอลอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน และต่อมาชุมชนร่วมกันจัดการที่ดินข้างๆ โรงเรียน เป็นสนามฟุตบอลแทน โรงเรียนก็ยังมีสนามกีฬาเหมือนเดิม โดยการดูแลของภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ามาหนุนเสริม จะเห็นว่าผู้นำนั้นมีความสำคัญมากทีเดียว
“สาเหตุหนึ่งที่มันเกิดขึ้นได้ เปลี่ยนสนามฟุตบอลเป็นนาข้าวอินทรีย์ ก็จากความเข้มแข็งของชุมชน เพราะเราหวังเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ถ้าปล่อยไว้ก็เป็นปัญหาและจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกมากมาย พอมาทำเป็นนาข้าวอินทรีย์ก็เข้าโครงการอาหารกลางวัน เด็กก็กินข้าวฟรี ในปีแรกก็ประสบความสำเร็จไปด้วยข้าว 92 กระสอบ เหลือก็ขายเป็นทุนให้โรงเรียนเก็บไว้เป็นอาหารกลางวันให้เด็ก
และเวลานี้ก็ทำสนามฟุตบอลเป็นโคกหนองนาโมเดลไปแล้ว แล้วก็มีฐานการเรียนรู้ต่างๆ อยู่ในโรงเรียน ชาวบ้านมาช่วยกันทำ เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ปลูกผัก เพาะเห็ดฟาง ทุกอย่างอยู่ในโรงเรียน ที่สำคัญที่สุดคือเราได้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา มันถึงเกิดความเข้มแข็ง คิดว่าถ้าสามารถทำกระบวนการนี้ได้ โรงเรียนขนาดเล็กจะยั่งยืน”
“ในส่วนของภาคประชาสังคม ก็มีบทบาทมาก เข้ามาเกื้อหนุนไม่ว่าจะเป็นเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ ศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น ประมงจังหวัด พัฒนาชุมชน กศน. สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กของเราเดินมาได้ขนาดนี้”
นอกจากผู้นำที่กล้าเปลี่ยนแล้ว จะให้เห็นว่า กลไกการมีส่วนร่วมนั้นก็สำคัญมากในการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก
ทั้งนี้ ผอ.บุญเรือง กล่าวว่า การจะให้โรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมดคงอยู่กับชุมชนต่อไป กระบวนการพัฒนาที่หลากหลายจำเป็นมาก ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมที่หลากหลาย เช่น จิตศึกษา, PBL, PLC เป็นต้น ซึ่งเป็นวัตกรรมที่จะสามารถไปขัดเกลาให้นักเรียนมีทักษะการคิด วิเคราะห์ รู้จักตัวตนของตัวเองมากขึ้น
“อันดับแรกจึงต้องเปลี่ยนที่หัว คือผู้บริหารต้องเข้าใจเรื่องจิตศึกษาให้มากที่สุด หลังจากนั้นส่งไปที่ครู พอครูได้แล้ว ครูเป็นแบบอย่าง เด็กก็ได้ด้วย กระบวนการตัวนี้เขาเรียกว่า การเป็นสนามพลังบวกซึ่งกันและกัน
ทุกอย่างในบริบทโรงเรียนจัดเป็นสนามพลังบวกทั้งหมด ตั้งแต่ก้าวแรกเข้าไปในโรงเรียน ซึ่งจะโยงไปถึงเรื่องความปลอดภัยด้วย ครูเห็นผอ.ก็รู้สึกอบอุ่นปลอดภัย นักเรียนเห็นครูก็รู้สึกอบอุ่นปลอดภัย อยู่ในโรงเรียนด้วยกันแบบมีความสุข นวัตกรรมตัวนี้อาจจะต้องใช้เวลาหน่อยแต่มันเป็นเหมือนกับสมุนไพร ที่รักษาเข้าไปเรื่อยๆ สุดท้ายผมเชื่อว่าภายในหนึ่งสองปีเขาจะเปลี่ยนไปหมดเลย”
อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ โรงเรียนบ้านหนองขาม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โดย ผอ. ปิยนันท์ ทั่งปราณี
“สำหรับโรงเรียนเราได้ไปเรียนรู้นวัตกรรม คือผอ.ได้ไปเห็นของโรงเรียนวัดโคกทอง เราเห็นเด็กที่นิ่งสงบ อยู่กับตัวเอง รู้หน้าที่รู้เวลา เราอยากให้นักเรียนของเราเป็นอย่างนั้นบ้าง เราก็กลับไปที่โรงเรียน ไปขอร้องแกมบังคับคุณครูว่า ขอ 1 ปีนะคะ เดี๋ยวเราจะใช้นวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC หนึ่งปีผ่านไปเราถามคุณครูว่าโอเคไหมกับนวัตกรรมที่เราใช้อยู่ เราจะไปต่อหรือพอแค่นี้ คุณครูก็บอกว่าไปต่อค่ะ พอไปต่อเราก็ดำเนินการเลย
สิ่งที่เราพบก็คือ การเปลี่ยนแปลงคุณครูมันเปลี่ยนยากค่ะ เพราะว่าปกติคุณครูจะมีสองอย่างคือ power over กับ power sharing ซึ่งคุณครูจะใช้ power over ซะส่วนใหญ่ เมื่อเราเปลี่ยนให้คุณครูมาใช้ power sharing ให้เด็กๆ ช่วยกัน มีสิทธิในการตอบคำถาม ไม่ชี้ถูกชี้ผิด พอคุณครูเปลี่ยนเราก็สร้างให้เด็กเปลี่ยน เด็กที่เราเห็นก็คือเด็กจะรู้จักเวลา กำกับตัวเองเป็น รู้จักการรอคอย รู้ว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ มีสติ มีสมาธิอยู่กับสิ่งที่ทำ”
ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้คุณครูเปลี่ยนความคิดในการจัดการเรียนการสอนโดยหันมาใช้นวัตกรรม ผอ.ปิยนันท์ มองว่า มาจากการที่คุณครูเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของนักเรียน
“ถ้าคุณครูยังใช้อำนาจเหนือเด็กอยู่ เด็กก็จะไม่พัฒนา เด็กจะไม่กล้าคิด เด็กจะเสียความเป็นตัวเอง”
“สำหรับตัวผอ.เองแล้ว เราสนับสนุนคุณครูเต็มที่ คุณครูต้องการอะไร ต้องการจะไปอบรมหาความรู้เพิ่มเติม หรือว่าต้องการสื่อ หรือว่าจะใช้งบประมาณในการจัดการเรียนการสอนอันนี้ซึ่งบางกิจกรรมเราไม่อยากไปรบกวนเงินผู้ปกครอง โรงเรียนก็หาเงินสนับสนุนเพื่อที่จะให้คุณครูจัดหาสื่อ อุปกรณ์ เพื่อจัดกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้
อีกอย่างที่เราสนับสนุนก็คือ ภาระงานของครู การสอนนี่งานหลัก มันมีเยอะอยู่แล้ว เราไม่นำภาระอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการเรียนการสอนไปให้คุณครูทำ ที่โรงเรียนจะไม่มีการส่งแข่งขัน หรือส่งประกวดอะไร เราสนับสนุนให้ครูพัฒนาเด็กมากกว่า สนับสนุนสื่อ สนับสนุนการพัฒนาตนเองเพื่อไปพัฒนาเด็กของเรา”
“อยากจะฝากคุณครูว่า ถ้าเราเปลี่ยนตัวเองได้แล้ว เปลี่ยนให้เด็กๆ ได้มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น ให้เด็กได้มีตัวตน ไม่ตัดสินชี้ถูกชี้ผิด ให้เด็กรู้สึกปลอดภัยที่อยู่โรงเรียน ให้เขามีความสุข เราก็สามารถสร้างการเรียนดี มีความสุข อย่างแท้จริงได้” ผอ.ปิยนันท์ โรงเรียนบ้านหนองคาม กล่าว
ผู้อำนวยการกล้าเปลี่ยนอีกหนึ่งคน ผอ.ปรียานุช วงษ์แก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำมวบ อ.เวียงสา จ.น่าน พูดถึงความเข้มแข็งของโรงเรียนว่า
“เราเข้มแข็งจากภายใน จังหวัดน่านของเรามีการรวมตัวกันระหว่างโรงเรียนเล็ก และก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน รวมตัวกันเป็นสมาคมผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก แล้วเราก็คิดว่าปัจจัยอะไรละที่ทำให้เราเป็นลูกเมียน้อย เพราะว่าคุณภาพการศึกษาของเราตกต่ำ ทั้งที่ก็เป็นผลสัมฤทธิ์นะคะ เราก็เลยคิดว่าเอ๊ะ…เราจะทำยังไง เราจะเปลี่ยนนักเรียน เปลี่ยนครูยังไง ให้มาเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพได้
ประการแรกที่เราคิดก็คือ การมีนวัตกรรม เด็กเก่งมาจากครูที่เก่ง เพราะฉะนั้นปัจจัยสำคัญเราจะต้องพัฒนาครู เราก็เลยมาคิดค้นว่าอะไรมันจะดีที่สุดสำหรับโรงเรียนเล็กของเรา และก็อยู่ใกล้บ้านเราที่สุดด้วย เราก็ได้ยินมาว่าโรงเรียนอบจ. เชียงราย เป็นโรงเรียนที่ใช้เครื่องมือสอนคิด แล้วเขาก็เอาไปใช้ได้ผล มีการเผยแพร่เครือข่ายจนเป็นต้นแบบมีผู้คนมาศึกษาดูงานมากมาย เราก็เลยไปกันโดยความสมัครใจ โรงเรียนลงทุนเอง มีผู้บริหารแล้วก็ครูทั้งโรงเรียนไปทั้งหมด แล้วเราก็นำกลับมาใช้”
สิ่งแรกที่ผอ.ปรียานุช เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวเด็ก คือ จากเด็กไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่กล้าพูด กลายเป็นเด็กที่สนุกกับการเรียน กล้าตั้งคำถาม และหาคำตอบ
“พอเราเอาเครื่องมือสอนคิดทั้ง 10 เครื่องมือที่ครูเรียนรู้มาด้วยกระบวนการ Thinking Whiteboard 4 ขั้นตอน เด็กสนุก เด็กมีความสุข เขารู้ว่าคำตอบที่เขาตอบไปไม่มีผิดเลย ครูเปิดใจยอมรับฟังทุกคำตอบของเขา ไม่ได้สนใจว่าคำตอบมันจะถูกหรือผิด สนใจที่กระบวนการได้มาซึ่งคำตอบ เพราะฉะนั้นเขามีความสุขมาก อีกทั้งมีชิ้นงาน ผู้ปกครองดีใจที่เราเปลี่ยนลูกเขาได้”
สุดท้ายนี้ ผอ.ปรียานุช ย้ำว่าเด็กที่เก่งมาจากครูที่เก่ง เพราะฉะนั้นในการพัฒนาครู ซึ่งเดิมงบประมาณของโครงการพัฒนาครูตามแผนปฏิบัติการตาม ถูกผูกโยงกับเงินรายหัวของนักเรียน อยากให้แยกออกมาตามบริบทโรงเรียน
“โรงเรียนไหนบริบทเขาเป็นแบบไหน ความต้องการของครูตามบริบทโรงเรียน เราจะไม่ใช้เสื้อตัวนึงเพื่อมาทาบใส่กับครูทั่วประเทศ เพราะความต้องการเราไม่เหมือนกัน บริบทโรงเรียนเราก็ไม่เหมือนกัน บางคนอยู่ในสังคมเมือง แต่น่านส่วนใหญ่โรงเรียนขนาดเล็กจะอยู่ชายขอบอยู่ดอย การคมนาคมสัญจรลำบากมาก อินเทอร์เน็ตก็แย่ ไฟฟ้าจะดับก็ไม่เคยแจ้งเราให้ทราบ เพราะฉะนั้นมรสุมเข้ามาหลายอย่างมาก การพัฒนาครูจึงควรแยกโครงการออกต่างหากจากแผนปฏิบัติการที่มาจากเงินรายหัวของนักเรียน”
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อคืนครูให้กับเด็ก คืนผู้บริหารให้กับโรงเรียน ซึ่งมีส่วนสำคัญมากต่อการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สานฝันสร้างโอกาสให้เด็กไทยทุกคน