- ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก เกิดขึ้นในยุคที่อัตราการเกิดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะจำนวนเด็กน้อยลงจนต้องปรับขนาดโรงเรียน กลายเป็นวงจรปัญหาต่อเนื่องเพราะโรงเรียนถูกตัดทรัพยากรทำให้คุณภาพของโรงเรียนลดน้อยตาม
- ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ ‘โรงเรียนเล็ก โรงเรียนใหญ่ แก้ปัญหาแบบไหนที่ตรงจุด ?’ โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมแสดงทัศนะและหาทางออกร่วมกันทั้งฝั่งวิจัย นโยบาย และผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็ก
- หลายโรงเรียนต้องสรรหานวัตกรรมมาต่อลมหายใจของตัวเอง เพื่อคุณภาพการศึกษา แต่ที่ผ่านมายังอยู่ระหว่างการหาโมเดลที่มีประสิทธิภาพ และต้องการการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากหน่วยงานภาครัฐ
อัตราการเกิดลด – นักเรียนเข้าเรียนในโรงเรียนน้อยลง – โรงเรียนปรับลดขนาด – โรงเรียนขนาดเล็กถูกยุบ – เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา
นี่คือวงจรปัญหาของการศึกษาไทยในยุคที่อัตราการเกิดน้อยลงเรื่อยๆ บวกกับค่านิยมของพ่อแม่ผู้ปกครองที่นิยมส่งลูกหลานไปเรียนในเมือง หรือโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงและความพร้อม ทำให้โรงเรียนหลายแห่งถูกลดระดับกลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งผลพวงที่ตามมาคือการปิดโรงเรียนหรือไม่ก็ถูกตัดทอนทรัพยากรด้านงบประมาณและอัตราการจ้างครู ส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กที่ต้องการจัดการเรียนการสอนต่อไป ต้องสรรหานวัตกรรมมาต่อลมหายใจของตัวเอง และหาหนทางที่จะทำให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการเหล่านี้ยังอยู่ระหว่างการหาโมเดลที่มีประสิทธิภาพ และต้องการการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากหน่วยงานภาครัฐ
ในวงเสวนา TEP Forum 2023 เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2566 ได้มีการหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ ‘โรงเรียนเล็ก โรงเรียนใหญ่ แก้ปัญหาแบบไหนที่ตรงจุด ?’ โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมแสดงทัศนะและหาทางออกร่วมกัน
เริ่มจากด้านการวิจัยและนโยบาย ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยด้านนโยบายการปฏิรูปการศึกษา TDRI. ชูข้อเท็จจริงจากผลวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรงเรียนที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร และ เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) ผู้ประสานงานโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (ACCESS School) นำเสนอโครงการนำร่องที่น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กได้
ร่วมด้วยตัวแทนผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ผอ.ชนิตา พิลาไชย ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโคกทอง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ประธานกลุ่มเครือข่ายนอกกะลาภาคกลาง และ ผอ.พิชญ์สินี ชื่นชูวงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยรางเกตุ คณะกรรมการจากเครือข่ายโรงเรียนนอกกะลาภาคกลาง ที่มาสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริง
โรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่หายไป ปัญหาใหญ่ที่น่ากังวล
หนึ่งในปัญหาหลักที่โรงเรียนขนาดเล็กพบคือ การที่พ่อแม่ผู้ปกครองส่งลูกหลานไปเรียนยังโรงเรียนประจำจังหวัดหรือโรงเรียนเอกชน เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพและทรัพยากรของโรงเรียนมากกว่า ซึ่งปัจจัยนี้ก็ยิ่งทำให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กลดลงเรื่อยๆ จนอาจโดนยุบในที่สุด
และเมื่อโรงเรียนถูกยุบ ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่ครอบครัวไม่มีกำลังมากพอจะส่งไปเรียนโรงเรียนอื่นก็จะหลุดออกจากระบบการศึกษา นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสและอาชีพต่อไปในอนาคต
นี่คือความท้าทายของภาครัฐในการออกแบบนโยบายให้รองรับคนทุกกลุ่ม แก้ไขปัญหาการจัดสรรงบประมาณ บุคลากรครูที่ขาดแคลน รวมถึงหาแนวทางที่จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถอยู่ได้ เพราะสำหรับชุมชนแล้ว โรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้เป็นเพียงสถานศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นรากฐานและทุกอย่างของชุมชนอีกด้วย
ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยจาก TDRI. อ้างอิงถึงผลงานวิจัยเกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็ก หรือโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ว่าปรากฏการณ์การเกิดโรงเรียนขนาดเล็กที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทยเป็นประเด็นใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสนใจ
“โรงเรียนขนาดเล็กก็เป็น 1 ใน 5 ปัญหาที่เรายกขึ้นมาว่า ต้องมีการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการที่เราจะสร้างเด็กขึ้นมาได้นั้นต้องมีทรัพยากรและโรงเรียนที่พร้อม มีครูที่เพียงพอ
แต่ที่สนใจโรงเรียนขนาดเล็กเป็นพิเศษ ก็เพราะจากปรากฏการณ์อัตราการเกิดลดน้อยลง ทำให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ. ลดน้อยตามไปด้วย จากเดิม 10 ปีก่อนมี 7.2 ล้านคน ปีนี้เหลือแค่ 6.5 ล้านคน นับว่าหายไปถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนี่ก็ทำให้จำนวนโรงเรียนลดลงไปจาก 3 หมื่นกว่าโรงเรียน เหลือประมาณ 28,000 กว่าโรงเรียน ซึ่งจำนวนนี้ก็มีทั้งโรงเรียนที่เด็กไปกองเพิ่มขึ้นและลดลง
แต่เราจะเจาะที่โรงเรียนที่เด็กลดลงเป็นหลัก บางโรงเรียนถ้าแค่จำนวนเด็กลดอย่างเดียวก็อาจไม่ได้เป็นปัญหาขนาดนั้น แต่บางโรงเรียนลดแล้วทำให้เปลี่ยนขนาดโรงเรียนไปด้วย เช่น จากขนาดกลางไปเป็นขนาดเล็ก พอขนาดโรงเรียนเปลี่ยนก็จะส่งผลต่อหลักสูตรด้วย รวมถึงยังมีโรงเรียนที่ยุบไปเลย 200 กว่าโรงเรียน”
ในบรรดาผลกระทบที่กระจายเป็นวงกว้าง สิ่งที่น่ากังวลคือโรงเรียนขนาดเล็กมักจะพบปัญหาการขาดแคลนครู ซึ่งงานวิจัยล่าสุดพบว่า โรงเรียนขนาดเล็กขาดแคลนครูกว่า 80% ส่วนโรงเรียนขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ จะขาดแคลนครูประมาณ 28% โดยโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนครูนั้น เป็นโรงเรียนประถมถึง 99% กลุ่มนี้จึงน่าห่วงเป็นพิเศษ
“คำว่าขาดแคลนคือขาดแคลนตามอัตรากำลังว่าเด็กควรมีครูเท่าไหร่ ซึ่งเราพบว่าหลายโรงเรียนขาดแคลนถึงขนาดไม่มีครูมากพอจะสอนในแต่ละห้องด้วยซ้ำ กลุ่มนี้เฉลี่ยแล้วมีห้องเรียนประมาณ 8 ห้อง แต่มีครู 4 คน ซึ่งมันไม่ใช่แค่ว่ามีจำนวนครูเพียงพออย่างเดียว แต่ครูจะต้องสอนในแต่ละวิชาได้ด้วย นี่จึงเหตุผลว่าทำไมเราต้องสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ
ในเรื่องการขาดแคลนครู เราพบว่ามีโรงเรียนที่ครูเกินและโรงเรียนที่ครูขาด โรงเรียนที่ครูเกินก็มักจะอยู่ในโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่ ถ้าเราคำนึงการบริการจัดการบุคลากรที่เกิน เราก็ควรจะมีการเกลี่ยครูโดยการโยกย้ายครูจากโรงเรียนครูเกินไปโรงเรียนที่ขาด แต่ปัญหาคือ ถึงแม้เราจะสามารถเกลี่ยครูได้ทั้งประเทศ เดิมจากที่ขาดแคลนครูประมาณ 35,000 คน ก็จะยังขาดแคลนอีก 20,000 กว่าคน สุดท้ายแล้วครูในระบบก็ยังไม่พออยู่ดี”
เสียงจากโรงเรียนขนาดเล็ก กับการลดทอนทรัพยากรตามโครงสร้าง
ผอ.พิชญ์สินี ชื่นชูวงษ์ จากโรงเรียนบ้านห้วยรางเกตุ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในฐานะของผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ว่าอัตราการเกิดที่ลดลงส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งถูกลดทอนทรัพยากรและงบประมาณทำให้มีความพร้อมน้อยลง และเมื่อโรงเรียนมีความพร้อมน้อยลง เด็กนักเรียนก็ย้ายออกไปยังโรงเรียนที่มีความพร้อมกว่ามากขึ้น
“จังหวัดนครปฐม เขต 1 ของเรา มีโรงเรียนอยู่ประมาณ 120 โรงเรียน โดยกลุ่มโรงเรียนที่บ้านห้วยรางเกตุอยู่จะมีทั้งหมด 12 โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดกลางเพียง 3 โรงเรียน ส่วนอีก 8 โรงเรียนเป็นขนาดเล็กทั้งหมด โดยโรงเรียนที่มีจำนวนเด็กน้อยที่สุดคือมี 20 กว่าคน
แต่ในเรื่องของความพร้อม เราขาดแคลนเพราะด้วยโครงสร้างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ และการจัดสรรอัตรากำลังครู เพราะตอนนี้เราใช้วิธีการยึดกับเกณฑ์เดียวกันที่นับตามจำนวนเด็ก
ซึ่งเราก็มีพูดคุยกับโรงเรียนขนาดเล็กโรงเรียนอื่นๆ ก็พบปัญหาคล้ายกันคือเรื่องจำนวนเด็กเกิดน้อย และปัญหาที่เกิดขึ้นอีกอย่างคือ ผู้ปกครองอยากให้ลูกไปเรียนในโรงเรียนที่มีความพร้อมกว่า ซึ่งอาจจะอยู่ข้ามจังหวัด เพราะเขาอาจมีความพร้อมกว่าในด้านบุคคล ห้องเรียน สื่อและอุปกรณ์ หรือโรงเรียนเอกชน เพราะผู้ปกครองก็จะมีความเชื่อมั่นมากกว่า”
เช่นเดียวกับ ผอ. ชนิตา พิลาไชย จากโรงเรียนวัดโคกทอง ที่กล่าวเสริมว่า ในฐานะที่เคยเป็นโรงเรียนขนาดกลางมาก่อนและโดนลดมาเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งแต่ปี 2562 สิ่งหนึ่งที่พบเจอคือปัญหาครูย้ายออก เพราะว่าเมื่อลดขนาด โรงเรียนก็ถูกตัดจำนวนครูทันทีตามเกณฑ์ จึงทำให้ต้องพยายามหานวัตกรรมและหนทางมาทดแทนทรัพยากรที่ขาดแคลน
“ตอนนี้โรงเรียนวัดโคกทองมีจำนวนเด็กนักเรียนทั้งหมด 105 คน เพราะว่าเขตบริการของเรามีเพียง 1 หมู่ ซึ่งตรงนั้นมีประชากรแค่ประมาณ 200 กว่าหลังคาเรือน ประชากร 1,000 กว่าคน แต่ผู้ปกครองที่มีความพร้อมก็จะพาลูกหลานไปเรียนในตัวเมืองโพธาราม ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ หรือโรงเรียนเอกชน
และเราก็เจอปัญหาของการที่มีครูไม่ครบชั้น แต่เนื่องจากปี 2564 -2565 เรารับโครงการจาก ปตท. ที่จ้างครูให้ 4 คนเป็นเวลา 2 ปี ทำให้เรามีครูเกือบครบชั้น แต่หลังจากนั้นเราก็เหลือครูแค่ 6 คน ซึ่งเรามีวิธีแก้ปัญหาด้วยการใช้นวัตกรรมเข้ามาทดแทนการจัดการเรียนการสอนของครู เพราะเรามี 9 ชั้นเรียน อนุบาลเรารวมเหลือ 2 ชั้น คืออนุบาล 1-2 รวมกัน และอนุบาล 3 จำนวน 1 ห้องเรียน ส่วนระดับประถม เราก็มีการรวมชั้นหลังจากที่ครูออกไป ป.1-2 รวมชั้นกัน เป็นบูรณาการช่วงชั้น ส่วนหลักสูตรก็ใช้หลักสูตรบูรณาการ Problem Base Learning ซึ่งตัวนี้ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง”
ไขปัญหาด้วยนวัตกรรมโรงเรียนแม่แบบ
เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) เล่าถึงการแก้ไขปัญหาด้วยโครงการ ACCESS School (โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา) โดยใช้นวัตกรรมโรงเรียนแม่แบบให้โรงเรียนขนาดเล็กๆ ได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้
“เราได้รับการท้าทายจากกระทรวงศึกษาธิการ ว่าคุณต้องพัฒนาตัวเอง โดยการแสวงหานวัตกรรม ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนใหม่ เพราะเรามีครูน้อยอยู่แล้ว และมีข้อจำกัดมากมายในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เพราะฉะนั้นเราต้องหานวัตกรรมการเรียนการสอน และระดมการมีส่วนร่วม ซึ่งหัวใจคือการมีส่วนร่วมจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชนและกรรมการสถานศึกษาจากทุกภาคส่วนเข้ามาดูแล
เพราะคำว่าโรงเรียนไม่ใช่แค่สถานศึกษาหรือที่เรียนอย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชุมชน เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของคนในท้องถิ่น เพราะฉะนั้นเขาถึงบอกว่า โรงเรียนเป็นทุกอย่างของชุมชนและรากฐานของสังคม
ผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กเขาก็ไม่อยากยุบโรงเรียนไปตามระบบ แต่เขาอยากจะท้าทายและอยากพัฒนามากกว่า เขาจึงไปเรียนรู้นวัตกรรมต่างๆ นวัตกรรมที่ ACCESS School ส่งเสริมอยู่ มีอยู่ 2 โรงเรียนที่เป็นแม่แบบใหญ่ คือโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ที่ใช้นวัตกรรมเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ซึ่งมีอยู่ 3 นวัตกรรม คือ จิตศึกษา PBL และ PLC ซึ่งรหัสลับสำคัญคือ กฎหมายทุกตัวทั้งมาตรา 6 และ 8 ของ พรบ.การศึกษาแห่งชาติบอกว่า ต้องการพัฒนามนุษย์ให้สมบูรณ์
คำว่ามนุษย์สมบูรณ์เขาแยกเป็น 2 ส่วน คือ ปัญญาภายในและปัญญาภายนอก เพราะฉะนั้นนวัตกรรมนี้จึงเข้าไปคลิกข้างใน ทำให้เด็กมีระเบิดจากภายใน มีความสุขในการเรียน เด็กจะรู้ว่าเขาต้องไปทางไหน ชีวิตต้องไปต่ออย่างไรในโลกใบนี้ นั่นคือการเติบโตจากภายใน พอหลังจากนั้นการเติบโตจากภายนอกก็จะไม่ยากแล้ว เด็กก็จะมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ที่สำคัญคือโรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้โรงเรียนมีการเติบโต
อีกหนึ่งคือ นวัตกรรมสอนคิด (Thinking School) ของโรงเรียน อบจ.เชียงราย ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากนิวซีแลนด์มาพัฒนา นั่นก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เด็กรู้จักคิด ซึ่งโรงเรียน อบจ.เชียงราย เป็นโรงเรียนที่ไม่มีหนังสือ เรียนแบบสมัยใหม่นวัตกรรมพวกนี้จึงเป็นคีย์สำคัญมาปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน สร้างวัฒนธรรมการเรียนใหม่ เรียกว่า ‘นิเวศการเรียนรู้ใหม่’
โจทย์สำคัญคือเราต้องทำยังไงให้โรงเรียนพร้อมแม้จะอยู่ท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆ มากมาย รวมถึงเรื่องหลักสูตรบูรณาการที่ต้องเอาไปสอนครู”
ACCESS School เพิ่มศักยภาพโรงเรียนขนาดเล็กสู่ความยั่งยืน
“โครงการ ACCESS School เป็นเหมือนโครงการนำร่อง เฟส 1 ของสหภาพยุโรป เราก็นำไปทำกับ 8 จังหวัด ซึ่งถือว่ายังน้อยมาก พัฒนาจากจิตศึกษามาเป็นเรื่องการเรียนรู้บนฐานชุมชน พัฒนาเชื่อมต่อกับฐานการงานอาชีพได้ดี โดยใช้นวัตกรรมเรื่องอาชีพในชุมชนเข้ามาเรียนรู้ และครูของเขาจะเปลี่ยนใหม่ โดยการเพิ่มเติมครูภูมิปัญญาเข้ามาสอน และสถานประกอบการ ฟาร์มทุกฟาร์มในพื้นที่เปิดเป็นห้องเรียนของเด็ก นี่คือนวัตกรรมที่สำคัญ
เราอยากเห็นนโยบายจากรัฐบาล เพราะว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่แค่เรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ ครู หรือผู้อำนวยการ แต่เป็นเรื่องของทุกคนในท้องถิ่นนั้น รวมถึงของทั้งประเทศ”
เทวินฏฐ์ อธิบายเกี่ยวกับโครงการ ACCESS School ว่าเป็นโครงการที่มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคม และส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เอื้อให้เด็กในพื้นที่ 8 จังหวัด คือ ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี น่าน ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม เพื่อพัฒนาความสามารถทางด้านเทคนิคและการจัดการ ให้กับองค์กรภาคประชาสังคมให้สามารถดำเนินขับเคลื่อนรูปแบบการพัฒนา ‘โมเดลโรงเรียนขนาดเล็ก’
รวมถึงส่งเสริมการบริหารจัดการโรงเรียนทีมีประสิทธิภาพผ่านการมีส่วนร่วมหลายภาคส่วน และเพิ่มขีดความสามารถให้เครือข่ายภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนข้อเสนอด้านนโยบายทางการศึกษา ผ่านทางเวทีวิชาการ การเจรจา และสื่อช่องทางต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลสนับสนุนการยกระดับคุณภาพและส่งเสริมความยั่งยืนของโรงเรียนขนาดเล็กสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals)
“ตอนนี้เราวางไว้ 400 โรงเรียน เดิมเริ่มจาก 12 โรงเรียนต้นแบบ เราเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพที่ชัดเจน โรงเรียนพวกนี้ก็จะดึงเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาเข้ามาด้วย เพราะพอโรงเรียนเกิดขึ้นใหม่ ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน เด็กมาโรงเรียนแล้วมีความสุขเขาก็จะกลับมาเรียน
ดังนั้น การที่เด็กหลุดจากระบบการศึกษาไม่ใช่เพราะเหตุผลเรื่องประชากรลดลงเท่านั้น แต่มีปัจจัยหลายอย่างทั้งเศรษฐกิจ หลักสูตร และการวัดผล สิ่งนี้ทำให้เด็กรู้สึกด้อยค่าและหลุดจากระบบไปในที่สุด
ซึ่งภายใต้โครงการนี้เรายังทำวิจัย โดยให้มหาวิทยาลัยราชภัฏจอมบึงเป็นผู้วิจัย เพื่อชี้ให้เห็นว่า การที่โรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้นและเด็กจำนวนน้อยลงนั้นมีหลายปัจจัย และอีกอย่างคือมันอยู่ได้ด้วยภาคประชาสังคม” เทวินฏฐ์ กล่าว
ปลดล็อกปัญหาด้วยนโยบายจากภาครัฐ
ปัญหาความขาดแคลนบุคลากรครูนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเร่งด่วน เพราะแม้จะเกลี่ยครูได้ แต่ก็ยังคงขาดแคลนนับหมื่นคน อีกทั้งโรงเรียนกลุ่ม Stand Alone เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องปกป้องเอาไว้และเติมทรัพยากรเข้าไปสนับสนุนเพื่อให้โรงเรียนยังคงอยู่ได้
ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยด้านนโยบายการปฏิรูปการศึกษา TDRI ได้เสนอให้มีนโยบายควบรวมโรงเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาครูขาดแคลน เช่น หาก 2 โรงเรียนมีจำนวนเด็กน้อยทั้งคู่ อาจจะเปิดให้โรงเรียนหนึ่งสอนป.1-3 ส่วนอีกโรงเรียนสอน ป.4-6 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ก็ต้องสอบถามความสมัครใจของคนในชุมชนด้วย
ด้าน ผอ.พิชญ์สินี จากโรงเรียนบ้านห้วยรางเกตุ ก็เสนอว่าควรมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับงบประมาณและหน้าที่ของครู
“คิดว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายหลายๆ อย่าง เพราะบางอย่างเราไม่สามารถใช้เกณฑ์เดียวกันทั้งหมดได้ แต่ต้องตัดสินตามรายโรงเรียน เช่น ค่าสาธารณูปโภค เพราะสมมติ 2 โรงเรียนมี 9 ห้องเหมือนกัน แต่โรงเรียนหนึ่งมีเด็ก 200 คน อีกโรงเรียนหนึ่งมี 60 คน แต่ละห้องเรียนมีไฟห้องละ 4 ดวงเหมือนกัน แม้จะมีเด็กแค่ 5 คนต่อห้อง หรือ 20 คนต่อห้อง ก็ต้องเปิดไฟ 4 ดวงเท่ากัน
ภาครัฐต้องมีวิธีในการบริหารจัดการ ไม่ใช่ให้เงินก้อนมาเพื่อค่าจัดการเรียนการสอน แต่เราต้องนำเงินส่วนนี้ไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟด้วย รวมถึงภาระหน้าที่ของครูก็มากเหมือนโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ บางคนต้องไปเป็นรักษาการณ์ ต้องทิ้งเด็กไปทำในสิ่งที่นอกเหนือจากหน้าที่ครู จึงต้องเข้ามาแก้ปัญหาจุดนี้ให้ได้”
ผอ.พิชญ์สินี เน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นนโยบายแบบใดก็ตาม เป้าหมายสำคัญคือต้องพัฒนาเด็กให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยพัฒนาแบบองค์รวมให้เด็กมีปัญญาทั้งภายนอกและภายใน
“โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา แล้วเราจะทำอย่างไรให้เด็กมีคุณภาพ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง นั่นคือโรงเรียนต้องจำลองสถานศึกษาให้เป็นเวทีที่ให้เด็กได้ใช้ชีวิตประจำวันจริงๆ
โรงเรียนบ้านห้วยรางเกตุตอนแรกเราไม่มีที่พึ่งพา แต่โชคดีที่รู้จักโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เรามองว่าจิตศึกษาของเขาตอบโจทย์ทุกอย่าง แต่การที่เราจะขับเคลื่อนได้ก็ต้องอาศัยผู้บริหารและครูที่กล้าเปลี่ยนแปลง รวมถึงคนในชุมชนและนโยบายที่สนับสนุน เพราะสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กนั้น เราไม่ได้ต้องการงบมาสร้างอาคารสถานที่ให้โอ่อ่าหรูหรา ขอแค่ให้โรงเรียนมีสนามพลังบวก คือ สะอาดและปลอดภัย”
ขณะที่ ผอ.ชนิตา จากโรงเรียนวัดโคกทอง กล่าวว่า เรื่องวิสัยทัศน์ในการบริหารโรงเรียนก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน การมีนโยบายมาสนับสนุนให้กลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กมีความเข้มแข็งมากขึ้นจึงน่าจะเป็นแนวทางที่ช่วยแก้ไขปัญหาได้
“วิสัยทัศน์ของผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องมีความอดทนและมองหานวัตกรรม รวมทั้งภาคีเครือข่ายมาสนับสนุน เราต้องช่วยเด็กและคนในชุมชน เพราะผู้ปกครองบางท่านไม่ได้มีกำลังมากพอ
อย่างบางทีถ้านักเรียนป่วย ครูก็ต้องช่วยจ่ายค่ารักษา เพราะไม่มีสวัสดิการรองรับ หรือแม้แต่การเยี่ยมบ้านเด็ก เพราะฉะนั้นเราทำเหมือนโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่ทุกอย่าง แต่วันนี้โรงเรียนขนาดเล็กเราจับมือและช่วยเหลือกัน
นวัตกรรมลำปลายมาศที่เราไปเรียนรู้มา ก็เอามาขับเคลื่อน ปรับและพัฒนานวัตกรรมให้เหมาะกับเรา เรามีเพื่อนและภาคีทำให้โรงเรียนมีเครื่องมือในการต่อสู้ปัญหา และทำให้โรงเรียนขนาดเล็กไม่หายไปจากชุมชน”
ด้าน เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) ปิดท้ายด้วยการเสนอนโยบายให้รัฐสนับสนุนเป็น 1 โรงเรียน 1 นวัตกรรม เนื่องจากโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมและทำให้แต่ละโรงเรียนมีที่ยืนของตัวเองอย่างชัดเจน
“เราได้ไปเห็นประกาศของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดตั้ง ยุบ รวมและเลิกสถานศึกษา ปี 2550 มันมีคำว่า ‘สถานศึกษาพิเศษ(2)’ ซึ่งคือสถานศึกษาเพื่อทดลองและวิจัย เพราะโรงเรียนทั้งหมดกำลังพัฒนานวัตกรรมเพื่อปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ผมคิดว่าหากกระทรวงศึกษาธิการนำโรงเรียน Stand Alone กลุ่มที่ไม่สามารถยุบรวมกับใครได้มาเข้ากับโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลได้น่าจะดี เพราะจะสามารถนำร่องให้ได้ เพราะเมื่อนำร่องแล้วขาก็จะมีโอกาสพัฒนา มีสิทธิ์ฝึกอบรม และดูงานนวัตกรรมต่างๆ มีสิทธิประโยชน์ทางการศึกษาที่ควรได้รับตามหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร งบประมาณและอื่นๆ เพราะนี่คือหัวใจหลักที่โรงเรียนควรได้รับการสนับสนุน
อีกอย่างที่อยากฝากถึงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คือเรื่องครู เพราะสิ่งหนึ่งที่สถาบันฝึกหัดครูในไทยไม่ได้ทำคือ การสอนวิชาบูรณาการ เพราะสิ่งสำคัญของโรงเรียนขนาดเล็กคือการบูรณาการ จึงอยากให้สถาบันฝึกหัดครูเปิดชั้นเรียนการบูรณาการให้มากขึ้น ต้องให้นักศึกษาครูได้ลองทำมากขึ้น อีกอย่างหนึ่งคือการสร้างประสบการณ์ฝึกหัดครู เพราะเขาจะไม่สามารถไปฝึกที่โรงเรียนขนาดเล็กได้ เพราะว่าไม่มีครูพี่เลี้ยงและความพร้อมมากพอ
ผมจึงคิดว่าเราจะทำยังไงให้นักศึกษาฝึกหัดครูซึมซับถึงปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ต้องให้เขาได้ลองไปทำ ไปเจอและแก้ปัญหา รวมถึงฝึกการบูรณาการ เพราะจริงๆ การบูรณาการนั้นเป็นทักษะสำคัญไปจนถึงอนาคต”