Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Social Issues
19 January 2021

เพราะเด็กเป็นเจ้าของร่างกายตัวเอง คุยเรื่องเส้นแบ่งความเอ็นดูกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก กับเพจ ‘นักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง’

เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ธีระพงษ์ สีทาโส

  • ความเอ็นดู ความรักที่มีต่อเด็ก ทำให้ผู้ใหญ่บางคนอาจแสดงออกมาในรูปแบบการสัมผัสร่างกาย เข้าถึงเนื้อตัวเด็ก โดยลืมที่จะขอความยินยอมจากปากพวกเขา ซึ่งการกระทำนี้อาจเข้าข่ายการล่วงละเมิดทางเพศเด็กได้
  • ชวนทำความเข้าใจเรื่องสิทธิเหนือร่างกายเด็ก เพื่อไม่ให้ผู้ใหญ่แบบพวกเราเผลอไปแตะนิดสัมผัสหน่อยจนอาจเข้าข่ายล่วงละเมิดทางเพศเด็กกับ กอล์ฟ – พงศธร จันทร์แก้ว นักสังคมสงเคราะห์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจนักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง
  • “จำเป็นที่เราต้องสอนให้เด็กรู้จักประเมินสถานการณ์ความเสี่ยง ความใกล้ชิดแบบไหนที่จะนำเขาไปสู่สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ หรือเมื่อไหร่ที่เขาเริ่มรู้สึกไม่สบายใจ สิ่งที่เด็กควรทำ คือ การปฏิเสธ แล้วเขาต้องปฏิเสธอย่างไร แบบไหนถึงจะปลอดภัย เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่ยังขาดในระบบการศึกษาของบ้านเรา”

‘ทำเป็นเล่นตัวไปได้ ผู้ใหญ่เขาจับนิดจับหน่อยเอง’

‘ที่เขาทำไปก็เพราะความเอ็นดู ไม่ได้มีอะไร’

เสียงส่วนหนึ่งจากชาวโซเชียลต่อเหตุการณ์ที่ดาราคนหนึ่งหอมแก้มเด็กขณะถ่ายรายการ ปฎิกริยาของเด็กที่เกิดขึ้นแสดงออกว่าไม่ได้มีการขออนุญาตหรือพูดคุยว่าจะมีการกระทำนี้เกิดขึ้น ทำให้ท่าทางของเด็กที่เกิดขึ้น คือ ความกลัว เสียงจากชาวเน็ตก็แตกเป็นหลายฝ่ายมีทั้งคนที่มองว่าการกระทำนี้ผิด ผู้ใหญ่ควรขออนุญาตเด็กทุกครั้งที่จะเข้าถึงเนื้อตัวเขา แม้ว่าจะทำไปโดยไม่ได้มีเจตนาร้าย แต่ควรได้รับคำยินยอมจากปากของเจ้าตัวก่อน กับอีกฝ่ายที่มองว่า ‘เป็นเรื่องธรรมดา’ ‘เด็กคิดมากไป’

เราเชื่อว่านี่ไม่ใช่เหตุการณ์เดียวที่เกิดขึ้น ยังคงมีเคสแบบนี้เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน ขณะที่พวกเรากำลังอ่านบทความนี้ก็อาจจะมีเด็กคนหนึ่งที่กำลังถูกทำแบบนี้ ถูกเข้าถึงร่างกายเขาโดยไม่ได้รับความยินยอม เราอยากชวนทุกคนมาตั้งหลักมองเรื่องนี้ใหม่ เป็นสาเหตุที่เราชวน กอล์ฟ – พงศธร จันทร์แก้ว นักสังคมสงเคราะห์กลับมาคุยกันอีกครั้ง (อ่าน “เด็กไทยวันนี้เข้าใจ ‘สิทธิ’ ดีที่สุดและสอนผู้ใหญ่ด้วยว่าสิทธิคืออะไร” คุยเรื่องการลงโทษและละเมิดสิทธิเด็กกับเพจ ‘นักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง) ถึงประเด็นสิทธิเหนือร่างกายของเด็ก การกระทำของผู้ใหญ่ที่ควรระวังเพราะอาจเป็นการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก และกระบวนการทางกฎหมายหากเกิดเคสแบบนี้ขึ้น

วัฒนธรรมสังคมที่ร่างกายเด็กเป็นของทุกคน ยกเว้นเจ้าตัว

“มันคือการแสดงออกว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วสามารถทำอะไรก็ได้ เขาไม่ได้มองว่าเด็กเป็นเจ้าของเนื้อตัวร่างกายตัวเอง”

ก่อนจะเริ่มคุยเรื่องนี้กอล์ฟบอกเราว่า ต้องเริ่มตั้งต้นก่อนว่าสังคมไทยใช้แว่นแบบไหนมองเด็ก แน่นอนว่าส่วนใหญ่ใช้แว่นแห่งอำนาจเหนือ ผู้ใหญ่มีสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายเด็ก สามารถทำอะไรกับพวกเขาก็ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เราพยักหน้าเห็นด้วยทันที ลองจินตนาการดูว่าถ้าเราเจอคนหน้าตาดีเราจะเข้าไปจับเขาเหมือนที่เราจะเข้าไปจับเด็กหน้าตาน่ารักไหม? 

กอล์ฟเล่าต่ออีกว่า ปัจจัยทางเพศก็ส่งผลต่อการกระทำของผู้ใหญ่ เช่น ถ้าเป็นผู้ชายอาจจะกล้ากอด กล้าหอมเด็กผู้ชาย ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวเพราะความเป็นเพศเดียวกันมันทำให้คนเลือกที่จะมองข้าม ไม่มีการเอ๊ะ ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้ไม่ควรมองว่าถ้าเป็นเพศเดียวกันแล้วเราสามารถทำอะไรกับเด็กก็ได้ เพราะการเป็นเพศเดียวกันไม่ใช่ใบอนุญาต

Feeling Yes, Feeling No

ในฐานะคนที่ทำงานกับเด็ก กอล์ฟแนะนำหลักสูตรที่เขาใช้สอนเด็กเพื่อติดตั้งทักษะป้องกันตัว ชื่อว่า Feeling Yes, Feeling No (ตัวฉันเป็นของฉัน) เป็นการสอนให้เด็กประเมินว่า เหตุการณ์แบบไหนที่จะพาเขาไปสู่ความเสี่ยงจากภัยทางเพศ

โดยหลักสูตรจะสอนเด็กว่า เมื่อไรก็ตามที่มีคนเข้ามาหาเขา การเข้ามาจะมี 2 ระดับ คือ หนึ่ง – การเข้าถึงเนื้อตัวร่างกายที่เป็นของเขา ถ้าใครเข้ามาทำอะไรกับร่างกายที่ทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจ นี่คือการละเมิดสิทธิเขา 

สอง – มนุษย์ทุกคนมี safety zone (พื้นที่ปลอดภัย) ของตัวเอง เช่น ความใกล้ระดับไหนที่เราอนุญาตให้คนเข้ามาใกล้ ระยะแบบนี้ (กอล์ฟชี้ระยะห่างระหว่างเรากับกอล์ฟ) กำลังโอเค แต่ถ้ากอล์ฟขยับเข้ามาใกล้ เราอาจจะเริ่มรู้สึกไม่ได้ละ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องสอนให้เด็กรู้จักประเมินสถานการณ์ความเสี่ยง ความใกล้ชิดแบบไหนที่จะนำเขาไปสู่การละเมิดทางเพศ ถ้าเขาเริ่มรู้สึกไม่สบายใจ หน้าที่เขา คือ การปฏิเสธ ตัวหลักสูตรก็จะสอนเด็กให้รู้จักปฏิเสธ เขาต้องปฏิเสธอย่างไร แบบไหนถึงจะปลอดภัย ในมุมกอล์ฟเขาคิดว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ขาดในระบบการศึกษาของประเทศเรา

นอกจากนี้ตัวหลักสูตรจะสอนให้เด็กไม่ต้องสนใจคำอธิบายของคนกระทำ เช่น ที่ทำไปแค่เพียงจะหยอกเล่นเฉยๆ ไม่มีอะไร กอล์ฟบอกว่าจุดที่ควรโฟกัสไม่ใช่คำอธิบายของผู้กระทำ เพราะนี่เป็นเรื่องของคนที่ถูกกระทำที่จะรู้สึกว่า ‘เขากำลังถูกทำอะไร’ ‘เขารู้สึกอะไรจากการกระทำนี้’

ตัวหลักสูตรนี้ได้ต้นแบบมาจากประเทศแคนาดา คนที่เอามาใช้ในไทยเป็นที่แรก คือ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เพื่อเป็นเครื่องมือให้เด็กไว้ใช้ตรวจสอบ เพราะเรื่องนี้สำหรับกอล์ฟมันเป็นทักษะ เด็กทุกคนเกิดมาแล้วไม่สามารถพูด ‘เซย์โน’ ได้เลย ต้องเกิดจากการฝึกฝน

“เราว่าเรื่องนี้ต้องให้เครดิตมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เพราะเขาลงไปทำงานกับโรงเรียน มีโรงเรียนคุ้มครองเด็ก มีชุมชนคุ้มครองเด็ก แต่เขาก็เป็นเอ็นจีโอองค์กรหนึ่งเนาะ ไม่สามารถทำงานทั่วประเทศได้ ดังนั้น เรื่องนี้ควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงที่ต้องเพิ่มในหลักสูตรสอนเด็ก มันควรฝึกกันจริงจัง สมมติถ้าเกิดเคสแบบนี้ในนอร์เวย์คนแรกที่จะปกป้องเด็กได้ คือ ตัวเด็กเอง

“เด็กจะรู้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นกับเขาแบบนี้ สิ่งที่เขาต้องทำ คือ โทรหานักสังคมสงเคราะห์ทันที ไม่เชิงว่าเจอปุ๊บแล้วต้องเป็นการแจ้งความอย่างเดียว เพราะที่ต่างประเทศนักสังคมสงเคราะห์จะมีอำนาจจัดการโดยตรง ถ้าของบ้านเราต้องแจ้งตำรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ถึงจะดำเนินการทางกฎหมายได้ เบอร์ก็มีเยอะอยู่ แต่ให้จำง่ายที่สุด คือ โทรแจ้ง 1300 โทรไปเดี๋ยวเขาจะไปแจกจ่ายเคสแต่ละพื้นที่เอง”

กระบวนการทางกฎหมาย

แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์ที่เด็กถูกละเมิดทางเพศละต้องทำอย่างไร? เราถามกอล์ฟ 

เขาเริ่มต้นอธิบายว่าผู้ปกครองสามารถพาเด็กไปแจ้งความกับตำรวจได้โดยตรง แต่ปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้ คือ การตีความคำว่า ‘ละเมิดทางเพศ’ โดยเฉพาะการตีความในรูปแบบกฎหมาย ต่อให้ตัวเด็กหรือนักสังคมสงเคราะห์บอกว่า การกระทำแบบนี้ คือ การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก แต่การตีความในกฎหมายอาจจะไม่ใช่

“พูดกันตามตรง เช่น เคสของการหอมแก้มถ้าขึ้นศาลในข้อหาการกระทำอนาจารเด็ก เราไม่แน่ใจศาลจะมองเรื่องนี้เป็นการกระทำอนาจารหรือไม่ ก็ต้องไปต่อสู้กันทางคดี ในกระบวนการก็มีหลักการตีความของศาลท่านอยู่ แต่ประเด็นคือ ต่อให้ศาลบอกว่านี่มันไม่ใช่การกระทำอนาจาร แต่เราก็ยังยืนยันว่า นี่คือการ ละเมิดสิทธิเนื้อตัวร่างกายของเด็กนะ แม้กฎหมายไม่มีบทลงโทษ หรือไม่ได้บอกว่าผิดด้วยข้อหานี้ แต่เราก็ยังต้องยืนยันว่าสิ่งนี้ผิด เราต้องสร้างการรับรู้ทางสังคมใหม่ ไม่ใช่แค่การมองว่าถูกหรือผิดกฎหมายเท่านั้นแล้วจบ แต่นี่คือการสร้างความตระหนักรู้ทางสังคมร่วมกัน

“ยิ่งถ้าเรื่องนี้ถูกผูกติดกับเรื่องวัฒนธรรมด้วยแล้ว มันยิ่งยากขึ้น แต่ถ้าถามว่าแล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง คือ แจ้งความเลย หรือโทรหาพนักงานเจ้าหน้าที่เล่าให้เขาฟังว่ามันเกิดเรื่องแบบนี้ เราไม่โอเค รู้สึกไม่ปลอดภัย เราคิดว่ามันเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

“แต่พอพูดเรื่องกฎหมาย คนจะนึกทันทีว่าเคสนี้ต้องจบลงที่จับติดคุก แต่อย่างที่บอกว่าเวลาเราพูดถึงกฎหมาย มันยังเป็นเรื่องที่โต้เถียงได้ อย่างเคสดาราหอมแก้มเด็ก ต่อให้ตัวเรารู้สึกว่านี่มันชัดเลยเป็นการเข้าถึงเนื้อตัวร่างกายของเด็กแล้ว เป็นความผิด แต่พอไปอยู่ในกระบวนการกฎหมายมันยังไงต่อ? จะตีความยังไง เพราะตัวเราไม่ได้อยู่ใน position ที่จะตีความ”

ซึ่งสิ่งที่ตามมา คือ เจ้าหน้าที่คนนั้นจะรับทำเคสนี้หรือไม่? กอล์ฟเล่าว่าก็เคยมีบางเคสที่แจ้งความไปแล้วเขาไม่รับทำ “จริงๆ มีเคสก่อนหน้านี้ที่โด่งดังในทวิตเตอร์ ลูกโดนพ่อทำร้ายร่างกาย แจ้งเจ้าหน้าที่พม. (กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) นักสังคมสงเคราะห์ไป สุดท้ายเด็กถูกบอกว่าให้พยายามเข้าใจพ่อและทนไปก่อน คือมันยังมีปัญหาในภาคปฏิบัติสูง เพราะมีเรื่องคุณค่าความเป็นครอบครัวและวัฒนธรรมของคำว่าการละเมิดอยู่ ซึ่งมันก็จะกลับไปที่เงื่อนไขเดิมทุกที กฎหมายอาจเป็นปัญหาหนึ่ง แต่บางทีกฎหมายมันมีช่องแต่ไม่ถูกปฏิบัติด้วยเงื่อนไขความเข้าใจของคนปฏิบัติงาน

“จริงๆ หลายตำแหน่งของงานนี้ (งานคุ้มครองเด็กและงานคุ้มครองผู้ถูกกระทำความุรนแรงในครอบครัว) จะรับคนเป็นวุฒิเปิด หนึ่ง – คุณไม่จำเป็นต้องจบสายสังคมสงเคราะห์มาก็สามารถทำตำแหน่งนี้ได้ และสอง – เราต้องทำความเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่จบสายสังคมสงเคราะห์มาแล้วจะสามารถทำงานคุ้มครองเด็กในทาง Domestic Violence (ความรุนแรงในครอบครัว) ได้เลย เพราะงานเหล่านี้ต้องใช้แว่นเฉพาะของมันเองอีก ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ ต้องถูกเทรนระดับหนึ่ง มีกระบวนการ supervision ที่ดีมาก

“พอวิธีรับคนเป็นแบบนี้ เราเลยไม่อยากตำหนิคนทำงานเพราะเขาเองก็อาจไม่รู้ว่าต้องทำอะไรเหมือนกัน เพราะงานนี้โคตรยากเลย (เน้นเสียง) งานที่ต้องประเมินความเสี่ยง หรือต้องดีลกับความคาดหวังของคนหลายส่วน คุณต้องดีลกับสิ่งที่ตำรวจคิดอีกแบบหนึ่ง หรือต้องดีลกับหมอที่คิดอีกแบบหนึ่ง หรือการดีลกับพ่อแม่ที่วิชาชีพบังคับให้เราต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ แต่ในทางเดียวกันเราก็ต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก พอเราสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ เด็กก็จะรู้สึกว่าเธอเข้าข้างพ่อแม่ แล้วเราควรอยู่ไหนดีอะ? มันยากมาก คุณต้องถูกเทรนจริงๆ ต้องมีองค์กรที่ซัพพอร์ตการทำงานของคุณจริงๆ”

คนหน้างานที่ต้องเป็นหลักสำคัญให้กับระบบและการคุ้มครองเด็ก 

ขนาดคนนอกแบบเราฟังแล้วก็รู้สึกเหนื่อย ไม่รู้จะต้องจับต้นชนปลายอย่างไรดีกับปัญหานี้ กอล์ฟตอบว่า เนื่องจากมันเป็นปัญหาเชิงระบบ สิ่งที่เริ่มง่ายสุด คือ ระดับปัจเจกฯ หนึ่ง – ในฐานะผู้เสียหาย คุณสามารถชี้บอกนักสังคมสงเคราะห์ พนักงานเจ้าหน้าที่ ตำรวจว่า พวกคุณต้องทำหน้าที่ตัวเอง แต่จะวนกลับมาที่ปัญหาเดิม คือ คนส่วนใหญ่เองไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง ฉะนั้น การที่ให้คนๆ หนึ่งไปตามจิกให้คนที่เกี่ยวข้องมาทำงานได้ คุณต้องมีชุดความรู้ตรงนี้ก่อน ซึ่งในความเป็นจริงไม่ควรมีใครต้องมารับภาระหน้าที่จากการถูกปกป้องคุ้มครองทางกฎหมายขนาดนี้ แต่ด้วยเงื่อนไขสังคมแบบนี้ กลายเป็นตัวบีบบังคับให้ประชาชนต้องทำ

และสอง – คนที่เกี่ยวข้องทำงานช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือนักสังคมสงเคราะห์เอง ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง คือ ยืนยันหลักการวิชาชีพและช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ 

“โดยเฉพาะพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐ ตัวแทนกฎหมาย หรือตัวแทนคุณค่าความเชื่อที่รัฐมีต่อมนุษย์ที่เป็นเจ้าของประเทศว่า คุณคิด-เชื่อยังไง สิ่งที่เราอยากเรียกร้อง คือ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก คุณต้องเทคแอคชั่นเวลาเกิดเคสแบบนี้ คุณต้องออกมายืนยันหลักการว่ามันเป็นเรื่องผิด ใช้กลไกทางกฎหมายที่คุณมีเข้าไปแทรกแซงเคสเหล่านี้

“แต่ก็จะวนกลับไปอีกว่าตัวคุณมองเรื่องนี้ยังไง ใช้แว่นอะไรมอง แต่อย่างน้อยขอให้เขายืนอยู่ตรงนี้ให้ได้ก่อน เพราะคุณเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ไง คุณมีอำนาจ ไม่ใช่ชาวบ้านทั่วไป แถมคุณผ่านการอบรมมาแล้ว รู้หลักการทำงานดี แล้วตัวคุณเป็นตัวแทนรัฐด้วย คุณต้องยืนยันหลักการนี้ให้ได้ก่อน ศาลเอย ตำรวจเอยเรายังเข้าใจเขาได้เรื่องการตีความกฎหมาย เพราะทุกคนมีความคิดความเชื่อผ่านการสร้างทางสังคม แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ถูกผลิตขึ้นมาให้ทำงานกับเด็กในเคสแบบนี้ คุณต้องเป็นหลักสำคัญให้กับระบบและการคุ้มครองเด็ก ถ้าคุณไม่แข็ง จะเหลืออะไรให้เด็กพึ่งได้” กอล์ฟทิ้งท้าย

Tags:

คุกคามทางเพศ (sexual harassment)สิทธิเด็กนักสังคมสงเคราะห์พงศธร จันทร์แก้ว

Author:

illustrator

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยจากคณะแห่งการเขียนและสื่อมวลชน แม้ทำงานแรกในฐานะกองบรรณาธิการ The Potential หากขอบเขตความสนใจขยายไปเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม และผู้ลี้ภัย แต่ที่เป็นแหล่งความรู้วัยเด็กจริงๆ คือซีรีส์แวมไพร์, ฟิฟตี้เชดส์ ออฟ จุดจุดจุด และ ยังมุฟอรจาก Queer as folk ไม่ได้

Photographer:

illustrator

ธีระพงษ์ สีทาโส

คนถ่ายภาพ คนทำละครเร่ กระบวนกร คนทำงานสื่อสารที่เลือกข้างแล้ว ชอบมองหาการเมืองในชีวิตประจำวัน เสพติดนิโคตินและแอกอฮอล์ ไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ยกเว้นจำเป็นเพื่อความอยู่รอด ความฝันคือได้เป็นคนเท่ๆ ตอนอายุ 50 ที่นั่งจิบเบียร์เย็นๆ รสชาติหลากหลายในราคาเอื้อมถึงได้ทุกวันบนประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดี ตอนนี้กำลังมีส่วนร่วมดันกลุ่มช่างภาพ REALFRAME ที่ตัวเองเข้าไปเป็นสมาชิกให้แมส

Related Posts

  • Dear ParentsMovie
    Yoshino’s Barber Shop : เสียงตะโกนของแก๊งเด็ก ‘ไม่เอาผมทรงเห็ดแล้ว’

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    Moxie (2021) หนังที่บอกเราว่าไม่ควรเมินเฉยต่อการถูกแกล้ง ลวนลาม แต่จงลุกขึ้นมาส่งเสียงของตัวเอง

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Social Issues
    “เด็กไทยวันนี้เข้าใจ ‘สิทธิ’ ดีที่สุดและสอนผู้ใหญ่ด้วยว่าสิทธิคืออะไร” คุยเรื่องการลงโทษและละเมิดสิทธิเด็กกับเพจ ‘นักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษาณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ ธีระพงษ์ สีทาโส

  • Social IssuesMovie
    Jeffrey Epstein Filthy Rich: ทำไมเด็กที่ถูกคุกคามทางเพศจึงใช้เวลาหลายปีค่อยออกมาเล่าความจริง

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

  • Education trend
    ล่วงละเมิดทางเพศแบบนี้ หนูไม่โอเค

    เรื่อง The Potential ภาพ BONALISA SMILE

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel