- ‘ความผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุด’ ในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยก็คือ การให้ความสำคัญกับตัวเนื้อหาความรู้มากกว่าการเรียนรู้กระบวนการวิทยาศาสตร์
- เราควรเปลี่ยนการเรียนรู้แบบท่องจำเป็นการฝึกสังเกตและตั้งคำถาม เพื่อให้เด็กมีนิสัยแสวงหาความรู้หรือความจริงด้วย ‘กระบวนการวิทยาศาสตร์’
- การฝึก ‘จริต’ การเรียนรู้ของนักเรียนทั้งประเทศใหม่ จะช่วยให้เราสามารถ ‘ลด’ เนื้อหาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ได้อย่างมากมายมหาศาล
เราอาจมีวิธีการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่ผิดพลาดมาหลายสิบปีไม่เปลี่ยนแปลง และนี่อาจเป็นผลทำให้ผลสอบ PISA ของไทยตกต่ำลงเรื่อยมาในหลายปีหลังก็เป็นได้นะครับ
ความผิดพลาดที่ว่าคืออะไร?
เราอาจแบ่งเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ได้แบบหยาบๆ เป็น ‘กระบวนการวิทยาศาสตร์’ (scientific method) กับ ‘ความรู้ที่ได้จากกระบวนการวิทยาศาสตร์’ (scientific knowledge) สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน แต่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด เพราะอาศัยกระบวนการวิทยาศาสตร์นี่เอง จึงทำให้เราได้ความรู้วิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้โลกพัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบันนั่นเอง
ผมตั้ง ‘สมมุติฐาน’ ว่าเป็นไปได้ว่าความผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดในเรื่องการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยก็คือ การให้ความสำคัญกับตัวเนื้อหาความรู้ ‘มากจนเกินไป’ แต่ในทางตรงกันข้าม กลับให้ความสำคัญกับการเรียนรู้กระบวนการวิทยาศาสตร์ ‘น้อยจนเกินไป’ ทั้งสองอย่างสำคัญนะครับ แต่การให้ความสำคัญผิดจุด ทำให้เราได้นักจดจำเต็มไปหมด แต่แทบไม่ได้นักคิดเลย
เรื่องนี้อาจส่งผลลัพธ์ร้ายแรงดังที่เราเห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ก็คือ อย่างแรกสุด นักเรียนไม่รู้สึกสนุกหรือ ‘อิน’ กับการเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะจำเป็นต้องท่องจำมากจนเกินไป เมื่อสอบเสร็จไปแล้วก็กลับจดจำได้น้อยมาก เพราะสิ่งที่ท่องจำกันอยู่นั้น เป็นจุดเล็กจุดน้อยที่ไม่ใช่ ‘แก่น’ หรือใจความสำคัญ อีกทั้งเป็นส่วนที่ลืมง่ายมาก เพราะจุกจิกยุบยิบยากจดจำ
ผลเสียที่อาจจะแย่กว่าที่กล่าวไปแล้วคือ การเรียนผิดวิธีอาจทำให้พาลรู้สึกว่าอะไรทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ดูยากไปหมด จนนึกเกลียดอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต พอจับแก่นของเรื่องไม่ได้ ก็เชื่อมโยงเรื่องที่เรียนกับเรื่องต่างๆ รอบตัวไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาตามมาในที่สุดว่า กลายเป็นเรากำลังผลิตกำลังคนที่ไม่มีความสามารถในการเฉลียวใจ (เอ๊ะ) กับเรื่องต่างๆ เพราะขาดพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีพอ จึงเชื่ออะไรง่ายและโดนหลอกง่าย
ข้อมูลผิดๆ ที่แชร์กันในกลุ่มไลน์ยืนยันเรื่องนี้ได้ เพราะแม้แต่ในกลุ่มไลน์คนที่เรียนจบวิทยาศาสตร์ ก็ยังมีสัดส่วนคนที่แชร์เรื่องที่ไม่มีมูลและไม่น่าเชื่อถือทางด้านวิทยาศาสตร์มากพอกับกลุ่มไลน์ทั่วไปนั่นเอง
จะแก้ไขเรื่องพวกนี้กันอย่างไร?
เราอาจต้อง ‘เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนในห้องเรียนวิทยาศาสตร์แบบกลับหัวกลับหางกับที่ทำกันอยู่ตอนนี้’ นั่นก็คือแทนที่เริ่มการสอนว่านักวิทยาศาสตร์ค้นพบอะไร เราต้องทำให้การเรียนมีลักษณะเป็นไป ‘ตามธรรมชาติ’ มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการทดลองมากขึ้น ซึ่งจะเห็นผลได้ชัดเจน หากทำในนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
ต้นชั่วโมงหากเป็นไปได้ ควรเริ่มด้วยการทดลองก่อน เพื่อฝึกการสังเกต ตามด้วยการเปิดโอกาสนักเรียนให้ตั้งคำถามอย่างกว้างขวางและอภิปรายกันอย่างหลากหลาย ให้คิดถึงความเป็นไปได้ทั้งหมดเท่าที่จะนึกออก หากทำซ้ำกระบวนการแบบนี้ทุกครั้ง นักเรียนก็จะคุ้นเคยกับการสังเกตและตั้งคำถามจนเกิดเป็นนิสัย และยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ให้อยู่ติดตัวไปใช้ในอนาคตโดยต่อไปด้วย
เมื่อทดลองแล้ว ให้คิดถึงความเป็นไปได้เพื่อหาคำตอบแล้ว อาจมีการทดลองเพิ่มอีกเพื่อตอบข้อสงสัยตามแต่ความเหมาะสมของเวลา สุดท้ายจึงให้นักเรียนช่วยกันสรุปสิ่งที่เรียนมาทั้งหมด เพื่อตกผลึกความรู้ ความเข้าใจ ซึ่งอาจมีประโยชน์สำหรับใช้ต่อยอดความคิดในเรื่องอื่นต่อไปในอนาคต
ถ้าทำแบบนี้ได้ เด็กๆ ก็จะนิสัยการแสวงหาความรู้หรือความจริงด้วย ‘กระบวนการวิทยาศาสตร์’ เข้าใจกระบวนการหาคำตอบอย่างเป็นขั้นตอน และกลายเป็นคนอยากรู้อยากเห็นและวิธีหาคำตอบในที่สุด แม้ในอนาคตจะไม่ได้ทำงานในสาขาวิชาที่ใช้วิทยาศาสตร์เยอะๆ ก็ยังจะมีประโยชน์กับตัวเองอยู่ดี
การเรียนรู้จากการลงมือทำ (learning by doing) แบบนี้มีประโยชน์มากนะครับ ในวงการศึกษารู้กันดีว่าหากนักเรียนเรียนรู้ผ่านการฟัง อ่าน หรือดูเฉยๆ จะสามารถจดจำได้แค่ราว 5-20% เท่านั้น แต่หากมีการแสดงให้ดูและมีการตั้งกลุ่มอภิปรายกัน นักเรียนจะจดจำได้มากขึ้นมาเป็น 30-50% แต่หากนักเรียนได้ลงมือทำหรือฝึกฝนเอง ตัวเลขจะกระโดดขึ้นมาเป็น 75% เลยทีเดียว
วิธีนี้จะเป็นรองแค่การให้นักเรียนกลับไปทบทวน ทำความเข้าใจ และเตรียมตัวมาเพื่อสอนเพื่อนนักเรียนคนอื่นในเรื่องนั้นๆ วิธีสุดท้ายนี้ช่วยให้จดจำได้มากถึง 90% ทีเดียว [1]
แม้แต่การทดลองในประเทศกำลังพัฒนาอย่างโซมาเลียในทวีปแอฟริกาในปี 2018 ก็ยืนยันความจริงเรื่องนี้เป็นอย่างดีว่า วิธีการเรียนแบบได้ลงมือทำนี้ได้ผลจริง โดยนักเรียนมากกว่าครึ่งหนึ่งระบุว่า ตัวเองมองเห็นว่าวิธีการเรียนแบบนี้มีประโยชน์มาก ทำให้รู้สึกกระตือรือร้นอยากเรียนมากขึ้น มีอยู่ 56% (จากทั้งหมด 52 คน) ยังระบุด้วยว่า อยากนำสิ่งที่ได้เรียนรู้และทักษะไปใช้ประโยชน์อื่นต่อไปอีกด้วย [2]
น่าเสียดายว่าแม้ในปัจจุบันโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนที่เน้นการทดลอง ‘ก่อน’ การสรุปผลต่างๆ มากขึ้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังอาจจะไม่แพร่หลายมากเท่าที่ควร และยังมีโรงเรียนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังทำ ‘แล็บแห้ง’ กันเป็นกิจวัตร คือบอกผลการทดลองเลย โดยไม่ต้องทดลอง ทำให้เด็กๆ เสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้และเกิดนิสัย ‘คิดแบบวิทยาศาสตร์’ ติดตัวไปชั่วชีวิต
การเรียนการสอนยังเน้นไปที่แข่งกันท่องจำเรื่องต่างๆ มากมายที่ไม่ใช่ ‘แก่น’ ของเรื่อง ยิ่งจำได้มากก็ยิ่งได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็น ‘เด็กเก่ง’ ขณะที่เด็กที่ ‘สงสัยเก่ง’ กลับดูเป็นตัวประหลาดหรือน่ารำคาญ!
การเรียนรู้แบบท่องจำเป็นหลักมีลักษณะไม่ต่างอะไรกับการเรียนแบบไสยศาสตร์หรือการท่องจำเนื้อหาในพระคัมภีร์ศาสนาต่างๆ ซึ่งถือเป็นคำสอนศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีทางผิดพลาด และแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ขัดแย้งกับ ‘หัวใจ’ ที่เป็นหลักการสำคัญทางวิทยาศาสตร์คือ การพยายามเข้าใจธรรมชาติรอบตัวและจักรวาล ผ่านการสังเกต ทดลอง สรุปผลการทดลอง และเมื่อสงสัยอะไรใหม่ ก็ทำวงจรนี้ซ้ำอีก เพื่อตรวจสอบยืนยัน ค่อยๆ สะสมความรู้
ความรู้ใหม่ในทางวิทยาศาสตร์จึงสอดคล้องกับความรู้เก่าที่รู้อยู่แล้วเสมอ หากไม่สอดคล้องกัน ก็ต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่งผิดอย่างแน่นอนและต้องแก้ไขให้ถูกต้อง วิทยาศาสตร์จึงแก้ไขตัวเอง (self-correcting) อยู่ตลอดเวลา จุดแข็งแบบนี้ไม่พบในระบบหรือระบอบใด ไม่ว่าจะเป็นปรัชญา ลัทธิ ศาสนา หรือการเมือง ฯลฯ
การฝึก ‘จริต’ การเรียนรู้ของนักเรียนทั้งประเทศใหม่ จะช่วยให้เราสามารถ ‘ลด’ เนื้อหาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ได้อย่างมากมายมหาศาล (ตอนนี้มีแต่เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา) ให้เหลือเท่าที่จำเป็น เพราะมีแต่คนที่จะทำงานในสายงานด้านวิทยาศาสตร์โดยตรงเท่านั้น (นักวิทยาศาสตร์, วิศวกร, เภสัชกร, แพทย์ ฯลฯ) ที่จำเป็นต้องเรียนอย่างละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งการไปเรียนแบบนั้นในระดับมหาวิทยาลัยก็ยังไม่ถือว่าสายเกินไป หากมี ‘ความรู้พื้นฐาน’ ในระดับมัธยมศึกษาที่แน่นมากพอ
การเรียนแบบท่องจำเนื้อหามากเกินความจำเป็น มีแต่จะสร้างความทุกข์กาย ทุกข์ใจ หนักๆ เข้าก็ทำให้เด็กๆ เกลียดการเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะมองว่ายากและมีเรื่องจดจำมาก จึงท่องจำแค่พอไปสอบให้ผ่าน เพื่อที่จะลืมหมดในทันทีที่สอบเสร็จ หาก ‘ปฏิวัติการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์’ ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาใหม่ ให้เหลือแต่เนื้อหาที่เป็นแก่น นักเรียนสนุกและมีความสุขกับการทดลองและจดจำเนื้อหาได้ดี แม้ผ่านเวลาไปนานแล้ว อันที่จริงบางคนอาจจดจำบางเรื่องได้จนถึงวันตายด้วยซ้ำไป
แน่นอนว่าแนวคิดแบบนี้คงไม่ได้ใหม่เอี่ยม ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน แต่การจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ขึ้นได้ น่าจะไม่ง่ายเลย จำเป็นต้องฝึกครูอาจารย์ในรูปแบบใหม่ มีตำราเรียนที่สนับสนุนแนวทางนี้ มีเงินที่อนุมัติมาใช้ทำกิจกรรมแล็บ (อาจตัดจากกิจกรรมที่ไม่จำเป็นที่ลดลงได้ เช่น … ตรงนี้ให้คุณครูช่วยกันเติมคำในช่องว่างนะครับ …)
นอกจากนี้แล้ว ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ควรต้องเป็นแบบใหม่ที่เน้นวิธีคิดและประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อตอบ ไม่แน่ว่าอาจจำเป็นต้องมีโรงเรียนพิเศษสำหรับ ‘เด็กเก่ง’ ที่ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนที่ต่างออกไป เน้นทั้งกระบวนการคิดและจดจำ เพื่อป้อนคนเก่งพิเศษเข้าวงการวิทยาศาสตร์ในอนาคตต่อไป แต่สำหรับเด็กส่วนใหญ่แล้ว เราควรทำแบบการสอนกีฬาในโรงเรียนคือ ‘สอนแค่เพื่อให้ได้เรียนรู้’ ไม่ใช่สอนแบบตั้งความหวังว่า เด็กทุกคนจะกลายไปเป็นนักกีฬาโอลิมปิกส์กันหมด!
แต่ที่ยากที่สุดอาจจะได้แก่ การเปลี่ยนกรอบความคิด (mindset) ของคนในวงการศึกษาและวงการเมืองให้เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน โดยอาจจะเห็นผลหลังสิบปี ไปแล้ว จนยอมสนับสนุนให้เกิดขึ้น เพราะความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ จะไม่ได้เกิดผลในยุคของตัวเองและนำไปหาเสียงต่อไม่ได้ เพราะไม่ใช่การเปลี่ยนแบบปุบปับสำเร็จรูปที่มักเห็นกันทั่วไปอย่างการอนุมัติโครงการก่อสร้างใหญ่ๆ ใช้เงินเยอะๆ ดังที่เห็นกันทั่วไป
แต่นี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลง ‘อุปนิสัย’ ของคนทั้งประเทศและเปลี่ยนทิศทางของประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว อันอาจก่อให้เกิดความสุขของพลเมืองและไม่แน่ว่า อาจจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงมากจากความคิดสร้างสรรค์ในตัวพลเมืองจนยากประเมินค่าได้ทีเดียว
เอกสารอ้างอิง
[1] Zhang, X.S. and Xie, H. (2012) Physics Procedia 24, 2231–2236
[2] Fikru Debebe Mekonnen (2020) African Educational Research Journal, Vol. 8(1), pp. 13-19, January 2020