- เด็กตื่นมาร้องไห้ กินข้าวไม่ได้ ไม่อยากเจอใคร เบื่อกิจกรรมที่ชอบ เบื่อเรียน ไม่อยากอาบน้ำ ไม่อยากลุกจากเตียง หรืออยู่ดีๆ ก็ใจสั่น กังวล กลัว และควบคุมตัวเองไม่ได้ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ‘ความไม่ปกติ’ เหล่านี้เป็นสัญญาณความกังวลที่แสดงให้เห็นว่าเด็กกำลังต้องการความช่วยเหลือ
- ประสบการณ์ในวัยเด็กส่งผลต่อคนๆ หนึ่งไปตลอดชีวิต หากเด็กไม่ได้รับการเยียวยา บาดแผลในใจอาจกลายเป็นแผลเรื้อรังตอนโตที่สร้างปัญหาต่อการใช้ชีวิตในอนาคต เช่น อาการทางจิตใจอย่าง โรคซึมเศร้า โรคแพนิก (โรควิตกกังวล) ฝันร้าย และเครียดง่าย เป็นต้น
- เพราะสุขภาพจิตที่ดีของเด็กสำคัญต่อการเรียนรู้ ชวนคุยกับ โดม – ธิติภัทร รวมทรัพย์ เจ้าของเพจ ‘he, art, psychotherapy’ ในฐานะนักจิตวิทยา เขาอยากสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้คนในสังคมเกี่ยวกับการเข้ารับคำปรึกษาในเชิงจิตวิทยาว่าเป็นเรื่องธรรมดามากๆ
ในขณะที่ผู้ปกครอง ครู และคนทั่วไปยังไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ดีพอเกี่ยวกับสุขภาพจิต และส่วนหนึ่งยังมีมุมมองต่อเรื่องการเข้ารับการบำบัดในเชิงลบ เช่น มองว่าเป็นเรื่องของเด็กพิเศษ คนไม่ปกติหรือคนบ้า ทั้งที่สุขภาพจิตที่ดีของเด็กสำคัญต่อการเรียนรู้ โดม – ธิติภัทร รวมทรัพย์ ใช้พื้นที่เพจ ‘he, art, psychotherapy’ ของเขาในฐานะนักจิตวิทยา บอกเล่าเรื่องราวเพื่อสร้างการรับรู้อีกมุมหนึ่งให้แก่ผู้คนในสังคม ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพและเข้าถึงบทบาทของนักจิตวิทยามากขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยยกระดับความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้ารับคำปรึกษาในเชิงจิตวิทยาว่าเป็นเรื่องธรรมดามากๆ
ปัจจุบัน โดมปักหมุดศึกษาต่อระดับปริญญาโท ในสาขาศิลปะบำบัด ณ สถาบันโกลด์สมิธส์ มหาวิทยาลัยลอนดอน และกำลังฝึกงานในบทบาท ‘นักศิลปะบำบัด’ ให้กับโรงเรียนระดับประถมศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเคยมีประสบการณ์เป็นนักจิตวิทยาโรงเรียนในประเทศไทย
‘ความเปลี่ยนแปลง’ ‘ความไม่ปกติ’ มองหาสัญญาณเมื่อเด็กขอความช่วยเหลือ
“ผมมีประสบการณ์ทำงานกับเด็ก คิดว่าการทำงานกับเด็กเป็นพื้นฐานที่ดี ทฤษฏีต่างๆ ก็กล่าวไว้ว่าประสบการณ์ในวัยเด็กส่งผลต่อคนๆ หนึ่งไปตลอดชีวิต ดังนั้นการมาทำงานกับเด็กในโรงเรียนทำให้ผมต้องอ่านหนังสือเกี่ยวกับเด็กเยอะขึ้นและสามารถนำความรู้ไปประยุกต์กับวัยอื่นๆ ได้”
“ใครๆ ก็เข้าหานักจิตบำบัดได้ การบำบัดไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือน่ากลัวอย่างที่คิด” โดม กล่าวย้ำ
โดยเฉพาะในวัยเด็กที่หลายคนต้องเผชิญหน้ากับความกดดันจากคนในครอบครัวและสภาพแวดล้อมรอบตัว โดมบอกว่า ปัญหาหรือสัญญาณบางอย่างที่เด็กส่งมาอาจเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็น ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ‘ความไม่ปกติ’ ที่หากไม่สนใจและไม่ใส่ใจให้ดีแม้แต่คนใกล้ตัวเองก็อาจจะมองข้ามหรือไม่เห็น เช่น เด็กตื่นมาร้องไห้ กินข้าวไม่ได้ ไม่อยากเจอใคร เบื่อกิจกรรมที่ชอบ เบื่อเรียน เบื่องาน ไม่อยากอาบน้ำ ไม่อยากลุกจากเตียง ไม่มีแรง รู้สึกสิ้นหวัง ไร้ค่า หรืออยู่ดีๆ ก็ใจสั่น กังวล กลัว และควบคุมตัวเองไม่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณความกังวลที่แสดงให้เห็นว่าเด็กกำลังต้องการความช่วยเหลือ
“สิ่งที่พ่อแม่และครูทำได้อย่างแรกคือ ต้องเริ่มสังเกตก่อนและดูการเปลี่ยนแปลงของเด็ก คำว่าการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างครอบคลุม เช่น ลูกอาบน้ำทุกวันแล้วอยู่ดีๆ ไม่อยากอาบน้ำ แบบนี้เรียกได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลง เด็กที่ร่าเริงมาก จู่ๆ วันหนึ่งกลับเงียบไป เด็กเคยอยู่กับเพื่อนแต่วันหนึ่งแยกตัวออกห่าง จากชอบยกมือตอบคำถามเริ่มไม่ตอบ จากเกรดดีเริ่มเกรดตก”
“ตอนทำงานในประเทศไทยผมทำงานโรงเรียนในเมือง เด็กมีความเครียดเรื่องการเรียน เช่น การบ้านเยอะ ต้องเรียนพิเศษ พ่อแม่กดดันว่าผลการเรียนต้องดีเลิศ ทำให้เด็กเหนื่อยจนเบื่อเรียน หรือบางอย่างที่ไม่ได้อยู่ภายใต้คำว่าการเปลี่ยนแปลง แต่มีสิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปกติทั้งที่เป็นเรื่องผิดปกติ เช่น เด็กมาโรงเรียนด้วยเสื้อผ้าสกปรกแต่ไหนแต่ไร ใส่เสื้อผ้าซ้ำมาสามสี่วัน แสดงให้เห็นว่าพ่อแม่ไม่ได้ดูแลความสะอาดเสื้อผ้าให้ลูก ซึ่งเป็นสัญญาณของการถูกปล่อยปละละเลยและทอดทิ้ง ถ้าเด็กมีสัญญานเหล่านี้แล้วไม่รีบแก้ไข แปลว่าเด็กคนนั้นต้องตกอยู่ในสภาวะนี้ไปอีกนานเท่าไรก็ไม่รู้ รู้แค่ว่าอาจจะแย่ไปเรื่อยๆ”
สร้างการรับรู้ใหม่ ‘การบำบัด’ ไม่ใช่เรื่องของ ‘คนบ้า’ หรือ ‘ผิดปกติ’
จิตบำบัดหรือการรับคำปรึกษาเชิงจิตวิทยา โดมบอกว่าจริงๆ แล้วเป็นการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ สร้างการตระหนักรู้ในความคิดและความรู้สึกของตนเอง เพื่อให้รู้เท่าทันที่มาที่ไปของพฤติกรรมที่เป็นอยู่
เด็กที่ไม่ได้รับการเยียวยาจนเกิดเป็นบาดแผลในใจ อาจกลายเป็นแผลเรื้อรังตอนโตที่สร้างปัญหาต่อการใช้ชีวิตในอนาคต ยกตัวอย่าง อาการทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรคแพนิก (โรควิตกกังวล) ฝันร้าย และเครียดง่าย เป็นต้น ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่ต้องการบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจเข้ามารับบทบาทสำคัญในโรงเรียน ต้องอาศัยการให้ความรู้และทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง รวมทั้งตัวนักเรียนเอง
“โรงเรียนในประเทศไทยที่ผมได้เข้าไปทำงานด้วย เงินเดือนที่โรงเรียนจ่ายให้ได้มาจากสมาคมผู้ปกครอง หมายความว่าครู ผู้ปกครองเห็นด้วย และนักเรียนรับรู้ ทำให้มีตำแหน่งนี้ขึ้นมาในโรงเรียน ดังนั้นนอกจากตัวบุคคลแล้วยังต้องการอำนาจในเชิงระบบหรือนโยบายมาช่วยในการปรับเปลี่ยนไปด้วยกัน”
“เราควรยอมรับว่าเรื่องสุขภาพจิตของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ การมีนักจิตวิทยาโรงเรียนหรือจิตแพทย์ประจำทำงานในโรงเรียนหรือเข้าไปเป็นครั้งคราวช่วยเหลือเด็กได้
นักวิชาชีพที่ทำงานร่วมกับโรงเรียนเหล่านี้สามารถให้ความรู้ ให้ข้อมูล ช่วยสร้างบรรยากาศและสร้างการรับรู้ (set the tone) ต่อเรื่องสุขภาพจิตในเชิงบวก หรือแม้กระทั่งการจัดเวิร์กชอปอบรมให้ผู้ปกครอง ครูและนักเรียนเรื่องการสื่อสาร การจัดการความเครียด การออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการและช่วงวัยของเด็ก เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้ถ้ามีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญอยู่ในโรงเรียน”
จากประสบการณ์ฝึกงานในฐานะนักศิลปะบำบัดในโรงเรียนระดับประถมศึกษา ประเทศอังกฤษ โดมกล่าวว่าการสร้างการรับรู้เชิงบวกเกี่ยวกับการบำบัดเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมองเห็นเป้าหมายและประโยชน์ไปในทิศทางเดียวกันเป็นเรื่องสำคัญมาก
“เวลาไปเรียนที่มหาวิทยาลัยจะมีกลุ่มนักเรียนฝึกงานแต่ละคนมาแชร์ประสบการณ์กัน บางโรงเรียนก็ยังมีปัญหาเรื่องการสร้างการรับรู้อยู่บ้าง เช่น ครูไม่เข้าใจ ไม่อยากให้เด็กขาดเรียนไปเข้ารับการบำบัด หรือพ่อแม่ไม่อยากให้มาบำบัด ต่างจากโรงเรียนที่ผมฝึกงาน ผมทำงานราบรื่นมากเพราะพ่อแม่แฮปปี้และสนับสนุนให้ลูกได้เข้ารับบริการ เคสที่ผมดูแลพอโทรไปคุยทุกเคสพูดทำนองเดียวกันว่า เขาสบายใจที่ลูกจะได้มีพื้นที่พูดคุยถึงความรู้สึกของตัวเอง”
“การบำบัดที่ผมทำไม่เคยถูกขัดจังหวะระหว่างทาง อย่างถ้าตารางชนกันผมก็คุยกับครูประจำชั้นเพื่อหาทางออก ถึงเขาจะไม่อยากให้เด็กขาดวิชานี้เลย แต่ก็เข้าใจว่างานบำบัดสำคัญไม่แพ้กัน ครูบางคนขอตัวไปคิดวางแผนแล้วก็จัดเวลามาให้ เห็นได้ว่าถ้าผู้ปกครองและครูเข้าใจจะส่งผลมาที่ตัวเด็กด้วย เด็กจะไม่รู้สึกประหลาดหรือรู้สึกว่าตัวเองทำผิดอะไร ทำไมถูกส่งมาบำบัด เพื่อนก็จะไม่มองว่าเป็นเรื่องแปลก แล้วเอามาบูลลี่กัน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้ ข้อมูลและสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย ปรับการรับรู้ว่าการบำบัดคืออะไร”
ศิลปะบำบัด เครื่องมือที่ใช้สื่อสารกับเด็กๆ ว่า ‘ยินดีรับฟังและช่วยเหลือ’
ความสนใจด้านจิตวิทยาของโดม เกิดจากความประทับใจหลังได้ลองทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาที่ให้ผู้ทดสอบวาดรูปบ้าน คนหรือต้นไม้แล้วนำรูปวาดนั้นมาวิเคราะห์บุคลิกเฉพาะบุคคล ซึ่งการวิเคราะห์ได้ผลลัพธ์ออกมาตรงอย่างน่าประหลาด ประสบการณ์ครั้งนั้นได้ค่อยๆ สานความสัมพันธ์ให้โดมมีความเชื่อใน ‘ศิลปะ’ ความเชื่อของเขาถูกกระตุ้นอีกครั้งหลังก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรี ในคาบเวิร์กชอปที่อาจารย์เชิญวิทยากรมาให้ความรู้ด้านการบำบัดทางเลือกทุกแขนง ทั้งการเต้นและการเคลื่อนไหวบำบัด ดนตรีบำบัด ละครบำบัด และศิลปะบำบัด การเรียนรู้ครั้งนั้นได้ส่งแรงกระเพื่อมบางอย่างที่ทำให้โดมรู้สึกว่ากระบวนการบำบัดได้ทำงานบางอย่างกับตัวเขา
“พอได้ทำผมรู้สึกว่ามันเวิร์ก”
“ผมสนใจดนตรีบำบัดก่อนเพราะมีพื้นฐานการเล่นกลอง แต่ดนตรีบำบัดใช้ทักษะทางดนตรีสูงมาก ต้องเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชิ้น ต้องรู้ทฤษฎีดนตรีและการอิมโพรไวส์ จากนั้นผมก็ลองจินตนาการภาพตัวเองทางศิลปะบำบัดแล้วยังพอเห็นภาพ ว่าศิลปะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้คนสื่อสารได้ง่ายขึ้น ตอน ป.ตรี ผมได้เรียนจิตบำบัดด้วยการพูด (Talk therapy) เรารู้สึกว่าบางครั้งคุยออกไปแล้วบางอย่างอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ มันมีความยากลำบากในการใช้คำพูด เลยเชื่อว่าศิลปะเป็นการสื่อสารที่จะช่วยได้”
สำหรับโรงเรียนประถมที่โดมกำลังฝึกงานอยู่นั้น เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เปิดสอนระดับชั้น 1-6 ชั้นละแค่ 1 ห้อง ห้องละประมาณ 30 คน บรรยากาศภายในโรงเรียนอบอุ่นและไม่แออัด โดมเล่าว่าการที่เด็กคนหนึ่งจะเข้ามารับการบำบัดได้ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน เริ่มจากการสังเกตนักเรียนโดยครูประจำชั้น การประเมิน (pre-assessment) โดยครูใหญ่และครูที่ดูแลด้านการศึกษาพิเศษ ก่อนส่งข้อมูลให้กับครูฝ่ายนักบำบัด หลังจากนั้นนักบำบัดจะเก็บข้อมูลของผู้เข้ารับการบำบัดจากการ
- เข้าไปสังเกตการในชั้นเรียน เพื่อบันทึกพฤติกรรม
- พูดคุยกับอาจารย์ประจำชั้น
- พูดคุยกับผู้ปกครอง
และเข้าสู่การทำศิลปะบำบัด ทุกสัปดาห์ ครั้งละ 45 นาที ไปจนจบภาคการศึกษา
“การบำบัดเด็กแต่ละคนใช้วิธีการต่างกัน หลักที่ผมใช้ คือ การให้คำปรึกษา/ บำบัดแบบไม่นำทาง (Non-directive) เมื่อมาเจอกันผมแนะนำก่อนว่า ห้องนี้คือห้องศิลปะบำบัดนะ ศิลปะบำบัดคืออะไร ไม่เหมือนในห้องเรียน ไม่มีผิดไม่มีถูกและไม่มีการให้คะแนนด้วย อยากทำอะไรทำได้เลย และนี่คืออุปกรณ์ทั้งหมดลองจับลองเล่นดูได้ ถ้าอยากทำหรืออยากเล่นอะไรทำได้เลย แต่ถ้ารู้สึกเบื่อๆ อยากนั่งเฉยๆ ก็ทำได้ไม่เป็นไร เราจะนั่งอยู่ด้วยกันหรือมีเรื่องอะไรที่อยากคุยก็คุยได้ ตรงนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เรายินดีที่จะรับฟังและช่วยเหลือนะ จากนั้นก็ปล่อยเขาเลย และดูว่าเขาจะทำอะไรต่อไป”
“ความท้าทายแรกคือ การไม่บอกให้เด็กทำงานศิลปะแต่จะทำยังไงให้เขาทำงานศิลปะ ให้เด็กนำและให้เขาทำ เราเพียงแค่ดูว่าในการบำบัดนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดูทุกกระบวนการว่าเมื่อเข้ามาเด็กดูตื่นเต้นไหม สบตาเราไหม เด็กคนนี้อยากทำอะไร บางคนพอเริ่มระบายสีหันมามองเราทุกครั้งเลยเหมือนต้องการการอนุญาตอยู่ตลอด หรือเด็กคนนี้กำแปรงพู่กันแน่นมาก ดูความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเด็กว่ามีปฏิสัมพันธ์อย่างไร และปฏิสัมพันธ์ของเขากับงาน จากนั้นดูตัวผลงานว่า งานที่เด็กทำออกมาเป็นอย่างไรบ้าง มีเนื้อหาอย่างไร เราอาจจะชวนคุยให้เขาเล่าให้ฟัง ถ้าเด็กไม่รู้สึกปลอดภัย เขาจะไม่ให้ความร่วมมือเลย”
สร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่เด็กต้องถูกรับฟัง ถูกมองเห็น และถูกเข้าใจ
การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กเป็นสิ่งที่ถูกเอ่ยถึงอยู่บ่อยครั้ง แต่ในทางปฏิบัติทั้งพ่อแม่และคุณครูยังกุมขมับว่าจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้อย่างไร
โดมให้คำนิยาม ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ว่าคือพื้นที่ที่เด็กต้องถูกรับฟัง ถูกมองเห็นและถูกเข้าใจ
“กลไกการต่อสู้ (fight) และ การหลบหนี (flight) จะทำงานเมื่อคนเรารู้สึกไม่ปลอดภัยหรือถูกคุกคาม ซึ่งการจะปิดกลไกนี้ได้ต้องทำให้คนๆ นั้นรู้สึกปลอดภัย ลองหาเวลามานั่ง Check in (พูดคุยทำความเข้าใจ) กับเด็ก ให้เขาได้พูดออกมาว่าเป็นยังไงบ้าง เกิดอะไรขึ้น
การเป็นผู้ฟังที่ดีจะช่วยได้มาก ฟังแล้วให้เรารู้ว่าเด็กรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์นั้น รับรู้ถึงความรู้สึกของเขาให้ได้ มองให้เห็นถึงความรู้สึกเขา”
“เปรียบเทียบเช่นเด็กมาเล่าว่าโดนเพื่อนแกล้ง เราต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน สำหรับบางคนโดนเพื่อนแกล้งไม่เป็นไร แต่บางคนโดนเพื่อนแกล้งแล้วรู้สึกไม่ปลอดภัย เราจะบอกว่า…โดนเพื่อนแกล้งเป็นเรื่องธรรมดา!!…กับเด็กทุกคนไม่ได้ คำถามที่ควรถามต่อ คือ เพื่อนแกล้งแล้วรู้สึกอย่างไร โกรธเพื่อนไหม รู้สึกกลัวใช่ไหม ถ้าอยากจะสอนหรือเเนะนำอะไรก็สามารถทำได้ แต่ขั้นแรกที่อยากให้ยึดไว้ คือ ต้องฟังและเข้าใจความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตัวเขาให้ได้ก่อน”
อย่างไรก็ตาม โดมย้ำว่า สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ การไม่โยนบาปให้กับเด็ก ปรากฎการณ์ที่เป็นปัญหาบางอย่างอาจเกิดขึ้นจากระบบที่ขาดการจัดการ หลักสูตรที่ไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก หรือครูที่ไม่ได้ปรับตัวให้เท่าทันความเป็นไปของโลก ส่งผลให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์บางอย่างจนโรงเรียนไม่สามารถรับมือกับเด็กได้
“การมองแบบนี้มาจากระบบ ค่านิยมและการประเมินที่ผิด การบำบัดไม่ใช่การลงโทษ ผมเลยอยากสร้างความรู้และให้ข้อมูลเท่าที่พอทำได้ กระบวนการตรงนี้ยังต้องการการจัดการเชิงระบบที่เปิดกว้างและพร้อมปรับตัวเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง” โดม กล่าว