- ผลการประเมินของ PISA ปี 2022สัญญาณเตือนที่สำคัญกับประเทศไทย นั่นคือ ความสามารถของเด็กไทยเริ่มห่างไกลความสามารถของเด็กทั้งโลกมากขึ้นทุกที และการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ความสามารถของเด็กไทยลดลง
- สิ่งที่น่ากังวลไม่ได้มีเพียงผลคะแนนที่ลดต่ำลง คะแนน PISA ยังบ่งชี้ว่า ‘เด็กไทยที่มีความรู้ไม่พอใช้งานจริง’ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากหลักสูตรแกนกลางของไทยไม่ทันสมัย และไม่เอื้อต่อการสร้างสมรรถนะ
- จุดอ่อนที่สำคัญ คือ ‘การใช้ทรัพยากร’ รัฐบาลไทยลงทุนด้านการศึกษาสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้เท่าๆ กัน แต่ผลลัพธ์กลับไม่ดีเท่าที่ควร ปัญหาน่าจะมาจากการใช้เงินไม่ตรงจุด หรือ ไม่มีประสิทธิภาพ
ถึงเวลาต้องยอมรับความจริงที่ว่าระบบการศึกษาไทยมีปัญหา และเด็กไทยมีความสามารถที่ลดลง เมื่อโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ออกมาประกาศผลคะแนน ปี 2022 โดยพบว่า นักเรียนไทยอายุ 15 ปี มีผลคะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี ทั้งวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ทั้งนี้ประเทศไทยมีผลคะแนนเป็นรองสิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน และมาเลเซีย
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดแถลงข่าวเรื่อง ‘ผลสอบ PISA สัญญาณเตือน วิกฤตการศึกษา แก้ปัญหาให้ถูกจุด’ นำเสนอผลวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาที่ทำให้ผลการเรียนรู้ของเด็กไทยลดต่ำลง พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขที่ตอบโจทย์และตรงจุด เพื่อให้เด็กไทยมีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดีขึ้น
ผลสอบ PISA ส่ง 4 สัญญาณเตือน สรรถนะเด็กไทยตกต่ำ
พงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโสด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ผลการประเมินของ PISA ปี 2022 ได้ส่งสัญญาณเตือน 4 เรื่อง ที่สำคัญกับประเทศไทย โดย 2 เรื่องแรกเป็น ‘ข้อมูลสำคัญ’ เรื่องที่หนึ่ง คือ ความสามารถของเด็กไทยเริ่มห่างไกลความสามารถของเด็กทั้งโลกมากขึ้นทุกที และเรื่องที่สองคือ การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ความสามารถของเด็กไทยลดลง
จากการวิเคราะห์ข้อมูลคะแนน PISA พบว่า แม้ภาพรวมคะแนนเฉลี่ยของเด็กในกลุ่มประเทศ OECD มีแนวโน้มที่ลดลงเหมือนกัน แต่คะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยลดลงมากกว่ามาก จนทำให้ช่องว่างระหว่างประเทศไทยกับโลกห่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งเฉพาะวิชาการอ่าน ประเทศไทยห่างจากกลุ่มประเทศ OECD ถึงเกือบ 100 คะแนน
“ผลการประเมินของ PISA ส่ง ‘สัญญาณเตือน’ อีก 2 เรื่อง สัญญาณแรก คือ ‘ระบบการศึกษาไทยอ่อนแอ’ เนื่องจากเรามีเป้าหมายการเรียนรู้หรือหลักสูตรที่ไม่ทันสมัย และมีข้อจำกัดในเรื่องของการใช้ทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งก็นำไปสู่สัญญาณที่ 2 ว่า คงถึงเวลาแล้วที่เราจำเป็น ‘ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนและต้องแก้ให้ถูกจุด’
เด็กไทยอ่านจับใจความไม่ได้มากถึง 65% ความเหลื่อมล้ำไม่เคยลดลง
สิ่งที่น่ากังวลไม่ได้มีเพียงผลคะแนนที่ลดต่ำลง คะแนน PISA ยังบ่งชี้ให้เห็นว่า ‘เด็กไทยที่มีความรู้ไม่พอใช้งานจริง’ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คุณพงศ์ทัศ กล่าวว่า ผลคะแนน PISA บ่งชี้ถึงระดับความสามารถของเด็ก โดยมีการแบ่งเด็กออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 คือ เด็กที่ยังไม่สามารถนำความรู้ไปใช้งานได้จริง กลุ่มที่สอง คือ เริ่มนำความรู้มาใช้งานได้ กลุ่มที่ 3 คือ นำความรู้มาใช้งานได้ดี และกลุ่มที่ 4 คือ นำความรู้มาใช้งานได้ดีเยี่ยม
“ผลปรากฏว่าสัดส่วนกราฟที่แสดงถึงจำนวนของเด็กที่ยังไม่สามารถนำความรู้มาใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้จริงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะทักษะด้านการอ่าน พบว่า เด็กไทยอายุ 15 ปี ที่ไม่สามารถอ่านจับใจความบทความสั้นๆ ได้ มีสูงถึง 65% เช่นเดียวกับวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ที่เด็กไม่สามารถนำความรู้มาแก้ปัญหาหรืออธิบายปรากฏการณ์ต่างในชีวิตประจำวันได้”
ขณะเดียวกันข้อมูล PISA ยังสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยมีเด็กแชมป์เปี้ยน หรือเด็กไทยที่นำความรู้มาใช้ได้อย่างดีเยี่ยมมีแค่ 1% เท่านั้น และปัจจุบันระบบการศึกษามีแนวโน้มผลิตเด็กแชมป์เปี้ยนลดลงเรื่อยๆ
สำหรับปัญหาเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย’ คุณพงศ์ทัศ กล่าวว่า หากนำเด็กเก่งกับเด็กที่อ่อนมายืนเรียงกัน เรียงจากคะแนนน้อยสุดไปคะแนนมากสุด พบว่า คะแนนเฉลี่ยของเด็กกลุ่ม 90% สูงกว่าเด็กกลุ่ม 10% เยอะมาก มีช่องว่างที่ห่างกันที่ระดับ 200 คะแนน ซึ่งไม่สามารถปิดช่องว่างให้ชิดกันขึ้นมาได้เลย สะท้อนว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กเก่งและเด็กอ่อนไม่ลดลงตลอด 10 ปี
“สำหรับช่องว่างของกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่บ้านแตกต่างกัน โดยถ้าแบ่งกลุ่มเด็กออกเป็น 4 กลุ่ม ไล่จากเด็กรวยสุดไปถึงเด็กจนสุด แบ่งกลุ่มละ 25% พบว่า เด็กกลุ่มที่รวยสุด 25% แรก มีคะแนนสูงมากกว่าเด็กที่จนสุด 25% สุดท้าย และเช่นเดียวกัน เราไม่สามารถปิดช่องว่างระหว่างเด็กรวยและเด็กจนได้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าคุณภาพของเด็กไทยยังน่าเป็นห่วง และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ”
โควิด-19 ไม่ใช่สาเหตุหลัก ทำสรรถนะเด็กไทยลดลง
ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบให้โรงเรียนต้องหยุดเรียน และปรับมาสู่การเรียนรู้แบบออนไลน์ ซึ่งนำมาสู่ ‘ภาวะการเรียนรู้ถดถอย’ ของเด็กจำนวนมาก ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนรู้ที่ต่ำลงจากผลคะแนน PISA อาจมีสาเหตุจากวิกฤติโควิด-19
คุณพงศ์ทัศ กล่าวว่า ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้คะแนนลดลง โดยประเทศไทยปิดโรงเรียนช่วงการระบาดของโควิด-19 สั้นกว่ากลุ่มประเทศ OECD และเมื่อมาดูในรายละเอียดแล้ว พบว่าเด็กที่รวยกว่าจะเจอโรงเรียนปิดนานกว่าเด็กจน เพราะว่าการแพร่ระบาดโควิดจะอยู่ในเมือง แต่ผลคะแนนกลับพบว่าเด็กรวยที่โรงเรียนปิดยาวนานกว่า มีคะแนนสูงกว่ากลุ่มเด็กจนที่โรงเรียนปิดน้อยกว่า แสดงให้เห็นว่าหากเกิดสถานการณ์เช่นนี้ เด็กรวยเอาตัวรอดได้ ขณะที่เด็กจนจำเป็นต้องพึ่งโรงเรียนอยู่
“ข้อมูลสำคัญคือ การระบาดของโรงโควิด-19 ไม่ได้ทำให้คะแนนเด็กรวยและจนต่างกันมากขึ้น ภาพรวมคะแนนลดลงทั้งคู่ ไม่ได้มีนัยยะสำคัญ ดังนั้นเราปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความสามารถเด็กจากการปิดโรงเรียน แต่ก็ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้คะแนนหรือความสามารถของเด็กไทยลดลง”
ระบบการศึกษาไทยอ่อนแอ หลักสูตรไม่ทันสมัย
การประเมินของ PISA มีนัยยะสำคัญคือเป็นตัวสะท้อนระบบการศึกษาว่าสร้างเด็กมีความสามารถได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งแนวข้อสอบจะมุ่งเน้นวัดผลว่าเด็กนำความรู้มาประยุกต์ใช้งานจริงในชีวิตจริงได้ หรือ มีสมรรถนะมากเพียงใด ฉะนั้นเมื่อย้อนกลับมาที่ระบบการศึกษาไทยจะพบว่าหลักสูตรแกนกลางของไทยไม่ทันสมัย และไม่ได้เอื้อต่อการสร้างเด็กให้มีสมรรถนะ
คุณพงศ์ทัศ กล่าวว่า สมรรถนะ หมายความว่า ต้องมีทั้งความรู้ ทักษะ และเจตคติด้วย ไม่ใช่ความรู้แบบโดดๆ แต่ถ้ากลับมามองหลักสูตรไทย เราจะพบว่าหลักสูตรการศึกษาไทยไม่ทันสมัย เพราะว่าใช้หลักสูตรแกนกลางฉบับนี้มา 15 ปีแล้ว ที่ผ่านมามีการปรับเล็ก คือปรับเป็นวิชา เรื่องของคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แม้เบื้องต้นจะไปในทางที่ดีขึ้น แต่ว่าโครงสร้างโดยรวมก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้อาจจะมีการปรับตัวชี้วัดต้นทาง ปลายทาง แต่ในทางปฏิบัติ เรายังส่งเสริมระดับความคิดที่หมือนเดิมอยู่ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
“ทีมวิจัยได้วิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางของไทยในปัจจุบัน พบว่าไม่น่าจะทำให้เด็กเกิดสมรรถนะ หรือนำความรู้ไปใช้จริงในชีวิตได้ดีนัก เพราะเน้นความรู้เป็นหลัก
ตัวชี้วัดกว่า 88 % เป็นเรื่องความรู้ มีเพียงแค่ 4% เท่านั้น ที่เป็นการส่งเสริมแบบรอบด้าน หรือเป็นสมรรถนะ ที่สำคัญความรู้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการท่องจำ ยังไม่ได้ยกระดับไปถึงเรื่องการประเมิน การวิเคราะห์ หรือว่าการสร้างสรรค์สิ่งใหม่”
จัดการทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ ครูไม่ครบชั้น ภาระงานล้นมือ
อีกจุดอ่อนที่สำคัญ คือ ‘การใช้ทรัพยากร’ รัฐบาลไทยลงทุนด้านการศึกษาสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้เท่าๆ กัน แต่ผลลัพธ์กลับไม่ดีเท่าที่ควร
คุณพงศ์ทัศ กล่าวว่า เมื่อเราลงทุนเยอะแต่ผลลัพธ์ไม่เป็นที่น่าพอใจ แสดงว่าปัญหาไม่ใช่เรื่องเรามีเงินไม่พอ แต่ปัญหาน่าจะมาจากการใช้เงินไม่ตรงจุด หรือ ไม่มีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาเงินถูกแบ่งนำไปใช้ 3 เรื่องคือ คน ครู และเวลา โดยเงินส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นเงินเดือนครู ปัญหาคือประเทศไทยมีปัญหาเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้น เนื่องจากเรามีอัตราการเกิดที่ลดลง ซึ่งโรงเรียนประถมมีความสำคัญในการสร้างรากฐานให้เด็กสามารถเรียนในระดับที่สูงขึ้น ปัจจุบันโรงเรียนประถมมีปัญหาครูไม่ครบชั้น ครูต้องสอนคละชั้น ทำให้ดูแลเด็กไม่ทั่วถึง ถ้าต้องเพิ่มครูให้ครบชั้น เราต้องเติมครูอีกประมาณ 50,000 คน ซึ่งหากคิดเป็นเงินเดือนครูจบใหม่ เริ่มต้น 15,000 บาท ต่อคนต่อเดือน อาจจะต้องใช้งบประมาณ 9,000 ล้านบาทต่อปี แล้วก็ใช้ผูกพันไปเรื่อย ๆ ซึ่งผลของ PISA บอกเหมือนกันว่า โรงเรียนที่ขาดครู เด็กจะมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าโรงเรียนที่มีครูครบชั้น
“งบประมาณที่ใหญ่เป็นอันดับสอง คือ งบดำเนินงาน ที่ใช้ทำโครงการต่างๆ 11% ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ รัฐส่วนกลางจะเป็นผู้ตัดสินใจ โรงเรียนไม่มีอิสระในการนำไปใช้จ่าย และต้องตามมาด้วยการรายงานผล ทำให้ครูมีภาระงานเพิ่ม ไม่มีเวลาสอนเต็มที่ ซึ่งตรงนี้มีผลสำรวจของ TDRI เหมือนกันว่า
ภาระที่ครูรู้สึกว่าเป็นปัญหามากที่สุด คือ การรายงานผลโครงการต่างๆ จะเห็นว่าเรามีปัญหาเรื่องเงิน คน และเวลา การจัดสรรทั้ง 3 เรื่องนี้เกี่ยวข้องกัน และสะท้อนให้เห็นว่า เรามีการจัดสรรที่ไม่มีประสิทธิภาพ”
ถอดโมเดลการศึกษาสิงคโปร์-ฟินแลนด์ พัฒนาเด็กความสามารถสูง
หากเปรียบเทียบการศึกษาของประเทศที่เด็กมีความสามารถสูง คุณพงศ์ทัศ บอกว่า มี 2 ประเทศที่น่าสนใจและมีความแตกต่างกัน คือ สิงคโปร์และฟินแลนด์ โดยสิงคโปร์มีความโดดเด่นด้านการผลิตและพัฒนาครู ส่วนฟินแลนด์โดดเด่นเรื่องของหลักสูตรการสอน
“สิงคโปร์มีกติกาว่าจะต้องมีการปรับหลักสูตรทุกๆ 6 ปี และเน้นสมรรถนะ แต่จะมีความคล้ายไทย คือ เน้นศาสตร์รายวิชา แต่สิงคโปร์จะมีการบูรณาการมากขึ้น ส่วนการผลิตครูต้องมั่นใจว่า ครูสามารถนำหลักสูตรไปใช้ได้อย่างเต็มที่ และมีการผลิตครูเชื่อมโยงกับความต้องการของโรงเรียน ที่สำคัญมีระบบจูงใจให้คนมาเป็นครูเป็นพิเศษ เช่น ให้ทุนการศึกษา หรือค่าครองชีพในขณะที่มาเรียน นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบค่าตอบแทนของครูและอาชีพอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับค่าจ้างครูให้สามารถแข่งขันและดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามาเป็นครูได้ตลอด รวมทั้งยังมีการประเมินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประเมินจะแตกต่างกันตามตำแหน่งและประสบการณ์ของครู”
สำหรับประเทศฟินแลนด์มีการปรับหลักสูตรทุกๆ 10 ปี มีเป้าหมายการสร้างให้เด็กมีสมรรถนะ แต่หลักสูตรไม่เน้นศาสตร์วิชาเหมือนสิงคโปร์และไทย
“หลักสูตรของฟินแลนด์จะเน้นบูรณาการข้ามศาสตร์ ผ่านการสอนที่ใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน มีการเรียนรู้จากการปฏิบัติ พัฒนาทักษะการวิจัย วิศวกรรม และวิทยาศาสตร์ เช่น การนำนาโนเทคโนโลยีมาเป็นแกนในการสอน ส่วนเรื่องการผลิตและพัฒนาครูมีความพยายามให้ครูนำหลักสูตรไปใช้สอนได้อย่างเต็มที่ และที่น่าสนใจคือ ฟินแลนด์มีการจัดสรรเวลาให้ครูพัฒนาวิชาชีพร่วมกัน เช่น การพัฒนาหลักสูตร พัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน 100 ชั่วโมงต่อปี”
อย่างไรก็ดี จุดเด่นที่เห็นได้ชัดในการพัฒนาหลักสูตรของประเทศสิงคโปร์และฟินแลนด์ คุณพงศ์ทัศ บอกว่า มี 3 ส่วนสำคัญ คือ หลักสูตรมีความทันสมัยเน้นสมรรถนะ มีการปรับหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง และมีระบบการผลิตและพัฒนาครูที่มั่นใจได้ว่าสามารถนำหลักสูตรไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากประเทศไทยจะนำมาใช้ก็ต้องมีการศึกษาถึงแนวทางที่เหมาะสม
ถึงเวลายกเครื่องการศึกษาไทยแบบเร่งด่วนและตรงจุด
จากผลสะท้อนของข้อมูล PISA ในภาพรวมทั้งหมด สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้จัดทำข้อเสนอ 3 ระยะ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของระบบการศึกษาไทย
คุณพงศ์ทัศ กล่าวว่า ข้อเสนอระยะสั้น (ภายใน 1 ปี) คือ ‘ลดภาระงานอื่นของครู’ เพื่อให้ครูสอนได้เต็มที่ กระทรวงฯ ควรทบทวนโครงการต่างๆ ที่โรงเรียนต้องรายงานผล และบูรณาการไม่ให้รายงานเยอะเกินไป ปีต่อไปก็ไม่ควรสร้างตัวชี้วัดใหม่ๆ เพื่อให้โรงเรียนต้องรายงาน แต่ควรนำผลลัพธ์จากระบบที่โรงเรียนทำเป็นปกติมาใช้ในการรายงานผล เช่น เรื่องคะแนนสอบ ผลการประกันคุณภาพ
“ข้อเสนอระยะกลาง (ภายใน 3 ปี) คือ ‘ยกเครื่องหลักสูตร’ พร้อมทั้งออกแบบระบบอื่นๆ ให้รองรับหลักสูตรใหม่ที่พร้อมนำไปใช้งาน โดยจำเป็นต้องมีการปรับหลักสูตรแกนกลาง 2551 ใหม่ ให้อิงสมรรถนะมากขึ้น และส่งเสริมการคิดขั้นสูง เช่น การคิดวิเคราะห์ การประเมิน การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ที่สำคัญควรมีการทดลองนำไปใช้ก่อน เพื่อลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ก่อนที่จะขยายผลทั่วประเทศ ในเวลาเดียวกันก็ควรออกแบบระบบอื่นๆ ให้สอดคล้องกับหลักสูตร โดยเฉพาะเรื่องของการผลิตและพัฒนาครู การประกันคุณภาพ หรือการสอบมาตรฐาน
ส่วนข้อเสนอระยะยาว (ดำเนินต่อเนื่อง) คือ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการศึกษาไทย เป็น ‘การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก’ รัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจน อาจจะเริ่มจากข้อเสนอของธนาคารโลก เรื่องการบริหารควบรวมและพัฒนาเป็นเครือข่าย อย่างโรงเรียนที่ห่างกันไม่มากนัก สามารถเคลื่อนย้ายเด็กได้ แต่ในกรณีที่โรงเรียนไม่สามารถควบรวมเป็นเครือข่าย หรือไม่มีเครือข่ายให้พัฒนาร่วมกัน จำเป็นต้องอยู่ที่เดิม รัฐควรสนับสนุนเพิ่มทรัพยากรให้เขามีอย่างเพียงพอ”
ทั้งนี้การจะบริหารจัดการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจัยสำคัญ คือ ‘การยกระดับการมีส่วนร่วมของชุมชน’
คุณพงศ์ทัศ กล่าวว่า เราต้องสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ผ่าน 3 แนวทาง อันดับแรก คือ ‘การสื่อสารสองทาง’ เพื่อให้ชุมชนและภาครัฐเข้าใจซึ่งกันและกันว่าต้องการอะไร อันดับที่ 2 คือ รัฐจำเป็น ‘ต้องให้ชุมชนตัดสินใจเต็มที่’ ในการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินจากกรณีที่มีการยุบหรือควบรวมโรงเรียน และอันดับที่ 3 คือ รัฐต้อง ‘สร้างหลักประกัน’ ชุมชนสามารถนำทรัพย์สินของโรงเรียนที่ยุบไปนั้นไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น ถ้าโรงเรียนต้องการใช้ในด้านสาธารณสุข หรือ อนามัย รัฐต้องมีการจัดการเป็นที่ราชพัสดุ หรือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามาบริหารจัดการที่ดินทรัพย์สินตรงนี้
“ที่สำคัญต้องมีการออกแบบสร้างแรงจูงใจให้ครูไปอยู่โรงเรียนเล็กห่างไกล เพราะว่าอาจจะไม่มีมาตรการที่เหมาะสมกับครูทุกคน ตรงนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยว่า แต่ละพื้นที่ควรมีมาตรการแบบไหน เพื่อให้ตอบโจทย์ครูที่ไปอยู่โรงเรียนชนบทห่างไกลซึ่งไม่สามารถควบรวมได้ และต้องนำงบประมาณที่ประหยัดได้ มาบริหารจัดการในส่วนนี้เพิ่มเติมเพื่อให้โรงเรียนห่างไกลให้มีทรัพยากรที่เพียงพอ”
ชัดเจนว่าการแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทย คงจะไม่สามารถแก้ได้ด้วยวิธี Quick win หรือ One Short สิ่งสำคัญคือ ‘ต้องปรับทั้งตัวระบบ’
“สิ่งที่เราปรับต้องตอบให้ได้ว่า กระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างไร ฉะนั้นสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น การอบรมครูเป็นครั้งๆ ไป แม้ว่าเราจะเอาผู้เชี่ยวชาญมาอบรม แต่ว่าโครงสร้างหรือระบบไม่ได้เปลี่ยน ก็ไม่น่าเกิดผลดีในระยะยาว หรือแม้แต่การเตรียมพร้อมในการสอบ เช่น การติวสอบ ก็ไม่ควรทำ เพราะต่อให้คะแนนเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ว่าความสามารถที่เด็กจะนำมาใช้งานไม่ได้เป็นไปตามนั้น”