- ‘NEET’ (นีท) เป็นคำที่ย่อมาจาก Not in Education, Employment, or Training ใช้เรียกกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ฝึกงาน หรือทำงาน ถูกบัญญัตินำมาใช้ครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษช่วงปี 1990 ก่อนจะแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ
- คุยกับ ผศ.ดร.รัตติยา ภูละออ รองคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงปรากฎการณ์ NEET ในไทย
ภาพ Photo by The Creative Exchange on Unsplash
ช่วงที่เรียนจบใหม่ๆ คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง?
โล่งใจที่หลุดพ้นจากโลกที่ต้องใช้เวลาอยู่กับมันเกือบ 20 ปี หรือกังวลว่าเส้นทางต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร การใช้ชีวิตกว่า 20 ปีที่เคยชินกับการถูกตั้งโปรแกรมให้เดินไปตามทางที่วางไว้ พอหลุดพ้นมาก็ทำให้กังวลว่าแล้วเราต้องเดินไปทางไหนต่อ
บางคนที่รู้ความต้องการตัวเองก็อาจพร้อมเดินต่อ หรือถ้ายังไม่รู้ก็สามารถที่จะหยุดพักทบทวนว่าจะเขียนเส้นทางใหม่อย่างไรดี ถ้ามีทุนทรัพย์มากพอก็อาจเป็นช่วงเวลาที่ออกไปค้นหาประสบการณ์ หรือที่เรียกว่า gap year แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้และไม่มีเวลาที่จะมานั่งหาว่าอนาคตตัวเองควรเป็นอย่างไร เช่นว่า ความกดดันที่อาจมาจากการเป็นลูกคนโตมีหน้าที่ต้องดูแลสมาชิกในครอบครัว หรือไม่มีแรงซับพอร์ตมากพอที่จะหยุดเฉยๆ ได้ ทำให้พวกเขาต่างต้องผลักเฆี่ยนตีให้ตัวเองรอดมีงานทำ
‘NEET’ (นีท) เป็นคำที่ย่อมาจาก Not in Education, Employment, or Training ใช้เรียกกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ฝึกงาน หรือทำงาน ถูกบัญญัตินำมาใช้ครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษช่วงปี 1990 ก่อนจะแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน แคนาดา เป็นต้น กลุ่มคนที่มักถูกพูดถึงมักเป็นกลุ่มเยาวชน (Youth) และอายุที่มักถูกพูดถึงอยู่ที่ 16 – 24 ปี แต่อาจครอบคลุมถึงระหว่างอายุ 15 – 29 ปี แล้วแต่คำจำกัดความคำว่าเยาวชนของแต่ละพื้นที่
ในประเทศไทย กลุ่ม NEET ยังไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงมากนัก จากการสำรวจข้อมูลโดย TDRI เมื่อปี 2562 จำนวน NEET ในไทยอยู่ที่ 1.3 ล้านคน คิดเป็น 14% ของเยาวชนทั้งหมด เฉลี่ยอัตราเพิ่มขึ้นปีละ 1% สวนทางกับจำนวนเยาวชนที่ลดลงเฉลี่ย 1.2%
คิดว่าคนกลุ่มนี้เป็นอย่างไร? – ล้มเหลวที่เรียนมาตั้งนานกลับไม่รู้จักหาอะไรทำ หรือเหยื่อคนหนึ่งในระบบการศึกษาไทยที่ไม่สามารถทำให้เขาค้นหาตัวเองเจอ และสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่บีบบังคับให้เขาต้องรีบเร่ง แทนที่จะได้ใช้เวลาทบทวนค้นหาตัวเอง
เพื่อให้เข้าใจปรากฎการณ์ดังกล่าว ชวนคุยกับ ผศ.ดร.รัตติยา ภูละออ รองคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ประสานงานหลักศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงาน ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้ศึกษา NEET ในไทย
เหตุผลที่ทำให้อาจารย์สนใจศึกษาเรื่อง NEET ในไทย
NEET เป็นประเด็นที่ต่างประเทศพูดถึงมานานละ แต่ในไทยยังไม่ค่อยพูดถึงหรือมีหลักฐานทางวิชาการที่เห็นชัดเจนว่าสถานการณ์ NEET ในไทยเป็นอย่างไร ที่เกี่ยวข้องก็จะเป็นข้อมูลสถิติจากการสำรวจแรงงานซึ่งใช้ตัวแทนในการประมาณการณ์ทำให้สนใจอยากศึกษา ทั้งสาเหตุที่ทำให้เกิด NEET แล้วการเกิด NEET เป็นไปตามที่ประมาณการณ์หรือไม่
เหตุผลที่สำคัญอีกอย่าง คือ ตอนนี้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงนี้ เราอยากรู้ว่าแล้วเยาวชนมีความคิดเห็นยังไง มีแนวโน้มหรือแนวทางที่เชื่อมโยงกับด้านอาชีพอย่างไรบ้าง
ผลสำรวจความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ที่มีต่ออาชีพเป็นอย่างไร
ช่วงที่อาจารย์ทำวิจัยเป็นช่วงที่โควิด – 19 ยังไม่เกิด เป็นช่วงกลางปี 2019 อาจารย์จะใช้วิธีเชิงสำรวจทุกภูมิภาคและสัมภาษณ์เชิงลึก ลงพื้นที่เคาะตามบ้าน ซึ่งความคิดเห็นที่ได้ คือ เขาจะมี flexibility (ความยืดหยุ่น) กับการใช้ชีวิตมากขึ้น อาจารย์ขอใช้คำว่า คำจำกัดความของการทำงานและความมั่นคงต่างจากรุ่นเก่า
แตกต่างอย่างไร ปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้เกิดทัศนคติแบบนี้
ด้วยปัจจัยสภาพแวดล้อมหลายอย่าง จริงๆ ถ้าเราลองเอาหมวกความคิดของคนรุ่นใหม่มาใส่ก็พอเข้าใจได้ คนรุ่นเก่าจะมีมายเซ็ตแบบค่อยๆ เจริญเติบโต ต้องทำงานไปทีละสเต็ป ขณะที่คนรุ่นใหม่โตมาในยุคเทคโนโลยี เขาสามารถเริ่มทำงานได้ตั้งแต่เด็ก ช่องทางในการได้มาซึ่งเงินในความคิดเขาไม่จำเป็นต้องใช้ชั่วโมงเข้าแลก แบบทำงาน 1 ชั่วโมงได้เงิน 50 บาท เพราะเขามีช่องทางเลือกในชีวิตที่มี flexibility มากขึ้น
เวลาที่เราฟังพวกผู้ใหญ่บอกว่า ‘เฮ้ย เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยอดทน’ อาจเป็นเพราะว่า define (นิยาม) คำว่าอดทนไม่เหมือนกัน คนเราใส่แว่นคนละเลนส์ก็อาจมองคนละอย่าง และมีความเคยชินในการทำงานกันคนละรูปแบบ
สถานการณ์ NEET ในประเทศไทยปัจจุบันเป็นอย่างไร
ผลการประมาณการณ์ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ปี 2020 ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มอายุ 15 ถึง 24 ปี มีสัดส่วนเป็น NEET ถึง 11.8% ในกลุ่มผู้ชายและ 18.5% ในกลุ่มผู้หญิง เทียบกับเมื่อปี 2015 ซึ่งมี NEET เป็น 9.3% ในกลุ่มผู้ชายและ 18.0% ในกลุ่มผู้หญิง มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจัยอะไรที่ส่งผลทำให้การเกิด NEET เพิ่มขึ้น
มันเป็นภาพรวมของทั้งโลกด้วยแหละที่ปริมาณการเกิด NEET เพิ่มขึ้น ทำให้แนวทางในการพัฒนาโดยเฉพาะโซนยุโรปและประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะค่อนข้างให้ความสำคัญกับเยาวชนมาก ขอหมายเหตุนิดหนึ่งประเทศไทยเราก็มีการส่งเสริมการทำงานและการเรียน การอบรม ทั้งส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุและของเยาวชน ในส่วนของเยาวชนเอง…อาจารย์ขอใช้คำว่าหลายภาคส่วนก็มีความพยายามหลายๆ อย่างแหละ แต่อาจจะยังไม่ค่อยเห็นผลชัดเจนมากนัก ดูได้จากตัวเลข Youth NEET ที่เพิ่มขึ้น
แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลยังไงบ้าง
เอาภาพรวมเนอะ ถ้าการเกิด NEET เพิ่มขึ้น มีแนวโน้มแสดงว่าคนคนนั้นไม่ได้มีกิจกรรมที่ทำแล้วสั่งสมทักษะหรือความสามารถ ซึ่งในระยะสั้นๆ อาจจะยังเห็นผลไม่ชัดเจน แต่ถ้าเป็นระยะยาวๆ เขาอาจจะตามไม่ทันเพื่อน อาจจะทำให้เกิดทักษะล้าหลัง (skill obsolete) ไม่สามารถที่จะพัฒนาทักษะได้ตามตลาดที่ต้องการ แล้วก็อาจส่งผลด้านจิตใจด้วยความที่ไม่ได้ทำอะไรนานๆ เขาก็อาจรู้สึกสูญเสียกำลังใจ ไม่เห็นเป้าหมายในชีวิต คือส่งผลหลายอย่างนอกจากเรื่องของรายได้จากการทำงาน เป็นเรื่องของชีวิต
ถ้าเป็นแนวโน้มทั่วโลกว่าปริมาณ NEET เพิ่มขึ้น แล้วฝั่งต่างประเทศเขารับมือกับเรื่องนี้อย่างไร อาจารย์พอจะยกตัวอย่างได้ไหมคะ
มันมีหลาย initiative (แผนการริเริ่ม) แล้วแต่ละประเทศก็มีวิธีการไม่เหมือนกัน โดยภาพรวมจะเน้นในเรื่องโครงสร้างคือ ให้โอกาสเยาวชนสามารถเข้าไปมีบทบาทในด้านการทำงาน ผ่านการฝึกงาน หรือเข้าไปในสถานประกอบการมากขึ้น อีกส่วนคือไปปรับการให้คำแนะนำทางด้านอาชีพว่ามันมีช่องทางอาชีพอะไรบ้าง ส่งเสริมบริการการเข้าถึงงาน employment services ใหม่ๆ หรือทำให้เข้าถึงง่ายขึ้น
นอกจากนั้น ก็มีไปกระตุ้นเยาวชน ไปสร้างแรงจูงใจในหลายๆ รูปแบบ เช่น วิธีจะพัฒนาตัวเองอย่างไร เป็น life long learning การสร้าง growth mindset (ความคิดแบบเติบโตและยืดหยุ่น)
การรับมือในไทย อาจารย์พอจะบอกได้ไหมคะ ว่าเรามีการรับมือเรื่องนี้อย่างไร
เรามีหลายองค์กรที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเข้าถึงการทำงานของเยาวชน ที่เป็นภาคีภาครัฐหลักๆ ก็จะมีกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงแรงงาน ซึ่งทั้งคู่ก็ทำงานได้ดี แต่ตอนนี้มีความท้าทายเพิ่มขึ้นเพราะงานในอนาคตมันมีความหลากหลายมาก ถ้าเป็นเมื่อก่อนอยากเป็นอะไร…ก็ตำรวจ ทหาร พยาบาล แต่เดี๋ยวนี้มีอาชีพใหม่ๆ ที่โอ้โห…เราเองก็คิดไม่ถึง มันเข้ามาหลากหลายรูปแบบ แล้วบางอาชีพในมุมผู้ใหญ่อาจมองว่า มันใช่เหรอ? เพราะโลกของคนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การเป็นยูทูบเบอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์สำหรับเขามันเข้าถึงได้ง่ายกว่า
พอสองส่วนนี้ไม่ค่อยแมตช์กัน เกิดเป็นช่องว่าง บรรดาคนที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงต่างๆ ก็พยายามนะ เขาก็มีประเด็นที่ต้องวิ่งให้ทันโลกในอนาคตเหมือนกันว่า มีความท้าทายไหนที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอีกไหม
อีกประเด็นหนึ่งที่อาจารย์ขอเพิ่มเติม เรื่อง gender gap (ช่องว่างระหว่างเพศ) ที่ต่างประเทศก็มีเช่นกัน ในไทยอัตราเกิดค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีปัจจัยทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม ก็เป็นคาแรกเตอร์ของทางพื้นที่ด้วยแหละ ทำให้โอกาสในการเข้าถึงการทำงานของผู้หญิงในบางพื้นที่ก็ยังเป็นความท้าทายอยู่
แนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดการเกิด NEET อาจารย์เคยเสนอว่าให้เชื่อมโลกการศึกษาเข้ากับการทำงาน ซึ่งวาทกรรมที่เรามักได้ยินบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ ‘เรียนไปเด็กไม่ได้ใช้งานจริง’ ‘เรียนแต่ทฤษฎีไม่ได้ปฏิบัติจริง’ ในมุมอาจารย์คิดเห็นอย่างไรในประเด็นนี้
อาจารย์ขอแบ่งเป็น 2 ก้อนก่อน ในตลาดการทำงานจะมีงานเกิดขึ้นอยู่ 2 แบบ แบบแรก – เรียนจบก็เข้าไปเป็นลูกจ้างทำงานตามที่ต่างๆ กับอีกแบบหนึ่งเป็น Job Creator สร้างงานขึ้นมาเอง ถ้าเราแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วน เราจะเข้าใจวาทกรรมที่ว่านี้มากขึ้นว่า จริงๆ แล้วระบบศึกษาไม่ตอบโจทย์การทำงานหรือไม่
งานในนิยามแรกก่อน ถ้าฟีดแบ็กจากนายจ้างหลายๆ คนที่อาจารย์ได้ยินก็เป็นแบบนั้นจริงๆ สิ่งที่คนมียังไม่ตรงกับสิ่งที่นายจ้างต้องการ เพราะงั้นเลยเกิดประเด็นว่าระบบการศึกษาอ่อนแอลงหรือเปล่า หรือว่าเป็นที่ตัวเด็ก หรือเพราะความแตกต่างระหว่างวัย เกิดคำถามหลายๆ อย่าง ต้องยอมรับว่ามีความท้าทายในระบบการศึกษาด้วยเหมือนกันที่พยายามจะเข้าถึงครอบคลุม แต่ความครอบคลุมกับเรื่องประสิทธิภาพอาจจะแปรผกผันกัน ทำให้บางจุดก็มีปัญหาจริงๆ แต่ไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมด ในระบบก็จะมีเด็กที่แบบ…โห เก่ง สามารถทำได้ดีมากๆ เลย กับกลุ่มเด็กที่ยังต้องการได้รับการเติมเต็ม
สิ่งที่ควรทำในประเด็นนี้ คือ เชื่อมภาคการศึกษากับภาคการทำงานให้มากขึ้น แต่ก็ต้องมีจุดที่เหมาะสม (optimum) ด้วยนะ การพูดคุยระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ เช่นว่าเด็กควรจะเข้ามากี่เดือน แล้วการเข้ามาคงไม่ใช่ถ่ายเอกสารจบแล้วออกไป ต้องพิจารณาว่าจุดไหนเป็นจุดที่เหมาะในแต่ละอุตสาหกรรม
เป็นปัญหาหนึ่งในการฝึกงาน คือ บางคนรู้สึกว่าไม่ได้อะไร ไม่ได้เรียนรู้สิ่งที่ต้องการ
ส่วนใหญ่ก็จะคิดแบบนั้นแหละ คงต้องหาจุดที่มันบาลานซ์ บางที่อาจจะบอกว่าต้องใช้เวลามากขึ้น หรือบางที่ก็บอกให้เข้ามาทำงานเลยสิ ซึ่งต้องมีระบบที่ seamless ไร้รอยต่อขึ้น จะได้เข้ามาไม่ได้แค่ทฤษฏี แต่ปฏิบัติจริงได้ด้วย
แนวทางการทำงาน ณ ปัจจุบันค่อนข้างชัดเจนว่า เราไม่ได้ต้องการความสามารถด้านเทคโนโลยีแบบเอ็กซ์ตรีมทุกด้าน แต่เราต้องการบางด้านในตัวคนคนนั้นที่ตอบโจทย์นายจ้าง เพราะงั้นต้องมีจุดให้เด็กเลือกว่าตรงไหนละที่เป็นตัวเขา ฉะนั้น การกำหนด core standard มาตรฐานหลักมาหนึ่งอันแล้วต้องเรียน 80 ตัวถึงจะจบออกมาได้ก็อาจไม่ได้แล้ว คงต้องปรับให้ยืดหยุ่นมีความเป็นชอปปิงมากขึ้น เขาสามารถเลือกได้เอง แต่จะเลือกได้เขาก็ต้องเห็นด้วยว่าแล้วเขาจะไปถึงจุดไหน ไม่ใช่เลือกผิดเลือกถูก เสียเวลาเด็ก เสียเวลาคนสอน เสียเวลาสถานประกอบการ
แล้วงานในอีกความหมายหนึ่ง
Job creator เรียนจบปุ๊บ มั่นใจละว่าฉันจะไปเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ไปทำสตาร์ทอัพ งานในมุมนี้จะไม่มีนายจ้างมาตัดสินละ แต่สิ่งที่จะเป็นตัวดูเด็กคนนี้ก็คือตลาดและความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) รวมถึงความอดทน อดทนกับความล้มเหลวที่จะเข้ามา เพราะส่วนใหญ่คงไม่มีใครบนโลกใบนี้ที่ทำธุรกิจครั้งแรกแล้วประสบความสำเร็จทันที ลงลึกดีเทลมันก็ต้องมีจุดเฟลบ้างแหละ (หัวเราะ)
ฉะนั้น งานในนิยามนี้คงไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าเรียนแล้วไม่ได้ใช้จริง ไม่มีใครประเมินได้นอกจากตัวเด็กเองที่ต้องเป็นคนประเมิน ก็ต้องถามเด็กว่าการจะไปถึงจุดนั้นเขาต้องการเพิ่มความสามารถหรือทักษะอะไรบ้าง ที่ต้องมีแน่ๆ คือ core skills ทักษะพื้นฐานของการเป็นผู้ประกอบการ
เห็นบางสถานศึกษามีโปรแกรมสอนเรื่องนี้โดยเฉพาะ อาจจะเป็นเทรนด์หรือเปล่า
ใช่ เหมือนจะเป็นเทรนด์ อาจารย์ว่า ณ จุดนี้ ความคิดริเริ่มต้องมาจากตัวเด็กด้วยแหละ human center learning รวมถึงอาจจะต้องมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เขาสามารถเข้าสู่ความเป็นสตาร์ทอัพได้จริงๆ ecosystem (ระบบนิเวศ) อะไรที่จะเข้าไปเสริมได้
ซึ่งการสร้างสภาพแวดล้อมที่ซับพอร์ตเด็กที่เดินบนเส้นทางสตาร์ทอัพส่วนหนึ่งมาจากภาครัฐ
ใช่ ต้องมาจากทั้งภาครัฐและภาคเยาวชนด้วย จริงๆ มันก็เป็นเทรนด์ที่กำลังมา แต่บ้านเรายังคงมีกลุ่มเด็กที่เป็นกลุ่มชนบทหรือกลุ่มอื่นๆ ที่อาจจะเข้าถึงยากหน่อย มีอยู่จำนวนเยอะมาก
ถ้าเรามองภาพรวมทั้งประเทศก็จะมีเด็กที่อยู่ใน ecosystem ที่เขารู้สึกว่า ‘เฮ้ย I can do ฉันทำได้’ เพราะมันมีปัจจัยที่เสริมเขาได้ แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยทุกวันนี้ยังมีกลุ่มที่เด็กรู้สึกว่า ตัวเขาไปไม่ถึง รู้สึกว่าขาดกำลังใจที่จะไปถึงตรงจุดนั้นได้
ตัว ecosystem ที่สำคัญที่เด็กจะเข้าถึงได้ง่ายที่สุดก็คือโรงเรียน แต่ระบบโรงเรียนของเราก็ยังมีความท้าทายอยู่พอสมควร หนึ่งในนั้น คือ ความไม่เท่าเทียมที่ในอนาคตมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เด็กเข้าถึงได้ยากขึ้น
การที่เกิดช่องว่างสูงแบบนี้ จะยิ่งส่งผลต่อการพัฒนาระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นหรือไม่
อาจารย์คิดว่าทุกประเทศเจอความท้าทายแบบนี้คล้ายๆ กัน อยู่ในดีกรีที่มากหรือน้อย อย่างที่สิงค์โปร์ ecosystem เขาง่ายตรงที่ขนาดประเทศไม่ใหญ่ มี ecosystem ที่ค่อนข้างพร้อม รองรับคนง่ายหน่อย แต่ในประเทศที่ไซส์กลางๆ อย่างของเราก็มีความหลากหลาย
เท่าที่พูดคุยมา ให้ความรู้สึกว่าปลายทางของระบบการศึกษาก็คือมีการงานทำ และวัดคุณค่าตัวเราจากสิ่งนี้
ขั้นแรกเราคงต้องมา define คำว่า ‘การทำงาน’ ให้ชัดเจนก่อน การทำงานถ้าในความหมายคลาสสิกเลย คือ ทำงานแล้วต้องได้เงิน แต่ว่าในแนวทางรุ่นใหม่เขาก็พยายามดึงเอากลุ่มที่ทำงานแต่ไม่ได้เงินขึ้นมาด้วย เรียกว่าเป็นกลุ่มงานที่สร้างคุณค่า เช่น การเป็นแม่บ้านที่อยู่ดูแลบ้าน เขาอาจจะไม่ได้เงินแต่เขาสามารถสร้างคุณค่าขึ้นมาได้จากสิ่งๆ นี้ มันอาจจะต้องมาวิเคราะห์คำว่า ‘ทำงาน’ ใหม่
ซึ่งการทำงานมันกินเวลาในชีวิตประมาณ 40 ปีนะ สมมติถ้าเราใช้เวลาเรียน 20 ปี ทำงาน 40 ปี อาจจะมีเข้าๆออกๆ การทำงาน การเรียนบ้าง ที่เหลืออาจจะเป็นช่วงเวลาตอนปลาย ฉะนั้นช่วงเวลาการทำงานเป็นช่วงเวลาที่คนเชื่อมโยงกับการสร้างคุณค่า
ถ้าการทำงานสามารถสร้างคุณค่าไม่ว่าจะเป็นตัวเงิน หรือว่าคุณค่าในชีวิตตัวเองหรือผู้อื่น ในความคิดเห็นของอาจารย์น่าจะเป็นการนิยามคำว่าทำงานชัดเจน งานที่มีความสุข การทำงานอย่างไงให้รู้สึกว่า นี่แหละคือตัวตนของเรา
ยังไงชีวิตเราก็ต้องทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง แต่พอการศึกษาถูกผูกกับการทำงาน ทำให้พื้นที่นี้มันแคบลง จริงๆ ระบบการศึกษาควรเป็นพื้นที่เปิดกว้างให้เราได้ค้นหาตัวตนหรือเปล่า
จริง แต่ก็จะมีคำถามนิดหนึ่งคือ การเรียนในมหาวิทยาลัยภาครัฐเป็นกลุ่มที่ลงทุนจำนวนมาก เขามีการคำนวณว่าเด็กคนหนึ่งต้องใช้เงินเรียนในมหาวิทยาลัยเท่าไร อาจารย์จำตัวเลขเป๊ะๆ ไม่ได้ จะเปรียบเทียบแทนว่า สมมติเด็กคนหนึ่งต้องใช้เงิน 1 ล้านในการเรียนจนจบ ตัวเลขที่เด็กจ่ายจริงอาจจะแสนหนึ่ง ที่เหลือรัฐเป็นคนออก ถ้ามองในมุมการลงทุนของรัฐ เขาก็อาจจะคำนวณแล้วว่าต้องลงทุนในคณะไหนถึงจะคุ้มค่า
มีการลงทุนจริงๆ ใช่ไหม
มีค่ะ งบประมาณในการจัดจ้างของกระทรวงศึกษาธิการส่วนใหญ่อยู่ที่การจ้างคน จ้างครู ต้นทุนพวกนี้แหละที่เป็นต้นทุนใหญ่เหมือนกัน แต่ก็มีคำวิพากษ์วิจารณ์เยอะนะว่าจ้างครูจำนวนมาก แล้วได้ประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน จ้างเท่าไหนถึงจะเหมาะสม
แล้วรัฐมีการลงทุนในด้านอื่นๆ อีกไหมในการพัฒนาคน
ถ้าในมุมการพัฒนาคน การลงทุนทางตรงจะเป็นด้านการศึกษา นอกจากนั้นก็มีมุมพัฒนาทักษะ ซึ่งจะมีกระทรวงแรงงานที่เป็นคนดูแลหลัก ในมุมภาครัฐก็มีความพยายามที่จะลงทุนในการฝึกเทรนคน จัดการอบรมต่างๆ เช่น ให้มหาวิทยาลัยทำคลิปย่อยๆ ออกมา หรือสร้างสถาบันอบรมอาชีพต่างๆ รวมถึงสร้างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพพัฒนาในเชิงทักษะ
ในภาพ ecosystem เขาพยายามที่จะผลักดันเรื่องของการพัฒนาคนนั่นแหละ แน่นอนว่าการแมชต์กับตลาดก็ยังคงเป็นเรื่องท้าทาย
อาจารย์คิดเห็นอย่างไรกับการพัฒนาคนของรัฐ
ในมุมภาพรวมอาจารย์ขอใช้คำว่ามีความท้าทายเยอะละกัน เรื่องของการเชื่อมโยงกับการทำงานยังมีหลายประเด็นที่ภาครัฐยังต้องตามให้ทัน ต้องแบ่งเป็น 2 ก้อน กลุ่มที่มีศักยภาพเข้าถึงความหลากหลายทางอาชีพได้อยู่แล้ว เช่น กลุ่มที่เป็นชนชั้นกลางขึ้นไป ภาครัฐอาจจะช่วยเปิดทางเลือกชีวิต หรือมีการบูรณาการระหว่างละส่วน เพื่อให้เขาเห็นทางเลือกมากขึ้น
ส่วนอีกกลุ่มที่เป็นครัวเรือนรายได้ไม่สูงมากและอยู่ในพื้นที่เฉพาะ เป็นความท้าทายของภาครัฐที่ต้องเข้าไปทำงานด้วยมากๆ สร้างการเข้าถึงและสร้างโอกาส
การเชื่อมโลกการศึกษากับการทำงาน อาจารย์พอจะมีคำแนะนำไหมว่า ทำอย่างไรไม่ให้เป็นการผูกขาดป้อนแรงงานเข้าระบบแทน ให้การศึกษาอย่างน้อยยังคงเป็นพื้นที่ค้นหาตัวตนของเด็ก
อาจารย์ว่ามันขึ้นอยู่กับวิธีการด้วยเนอะ ถ้าเกิดว่าเขาสามารถใช้พื้นที่ตรงนี้ทำให้เป็นออปชันหนึ่งในชีวิต เป็นเหมือนประสบการณ์ชีวิตว่าเข้าไปอบรม หน้าตาเป็นแบบนี้ แล้วฉันชอบหรือฉันไม่ชอบ ค่อยเลือกหลังจากนั้นก็ได้ ถ้าบังคับให้ทำโดยไม่ดูพื้นเพความสนใจของเด็กก็คงไม่เหมาะเท่าไร เพราะคนเราถ้าไม่มีทางให้เลือกคงกลายเป็นตุ๊กตาทำตามคำสั่งเนอะ
อาจารย์มองว่าการศึกษามันต้องสร้างทางเลือกในชีวิตมากกว่า ให้เขาตัดสินเลือกว่าเขาอยากเป็นแบบไหน หรือถ้าเขาเลือกช่องทางนี้แล้วไม่เวิร์ก เขาจะมีทางเลือกอื่นไหม เขาจะสามารถสร้างทางของตัวเองได้หรือเปล่า มันต้องสร้างออปชันนะ
ในฐานะที่เป็นคนศึกษาเรื่องนี้ ข้อดี – ข้อเสียของการเป็น NEET ในมุมอาจารย์
อาจารย์ว่าไม่ผิดที่ ณ จุดหนึ่งเราจะเป็น NEET นะ แต่ว่าถ้าเป็นนานๆ ก็คงไม่ดี ไอ้คำว่ายาวก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ไม่มีทาง define ชัดเจน การที่เราหยุดบ้างเพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้าก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่ถ้าหยุดเพื่อที่จะอยู่ตรงนั้นแล้วกลายเป็นสถานะว่างเปล่า หรือความรู้สึกไร้คุณค่าในตัวเอง ก็คงเป็นเรื่องที่ไม่ดีเท่าไร
อาจารย์เจอบางคนที่เขาเป็น NEET ไม่ได้ทำงาน แต่จริงๆ เขาสามารถเล่น E – Sport เล่นเกมจนเกิดรายได้เป็นช่วงๆ และจริงจังถึงขั้นทำเป็นอาชีพได้เลย เพียงแต่ตัวเขาหรือพ่อแม่ไม่ได้มองว่าสิ่งนี้เป็นการทำงาน แสดงว่ามองในมุมกลับมันก็จะมีกิจกรรมที่สามารถสร้างรายได้ เกิดจากความชอบตัวเองได้ แต่คำจำกัดความคำว่างานอาจจะยังไม่ชัดเจนมากในมุมเขา
คำว่างานคนอาจจะมองไม่เหมือนกัน แต่การสร้างคุณค่าคนเราจะให้คุณค่าคล้ายๆ กัน เพราะงั้นการให้คำจำกัดความของคำว่า NEET ก็อยากให้กลับมาดูคำว่า คุณค่าของการทำงาน คือ การให้คุณค่าคนๆ นั้นมากกว่า หรือจะลบการทำงานออกไปเลยก็ได้ ให้มันเป็นภาวะการสร้างคุณค่าของเรา
ในฝั่งสังคม การเกิด NEET มีข้อดีหรือข้อเสียอะไรไหม
ข้อดีไม่ค่อยมีคนพูดถึง (หัวเราะ) แต่ข้อเสีย สำหรับภาครัฐก่อน หมายความว่าเขาลงทุนในคนแล้วคนไม่มีแอคทีฟ ไม่ได้ทำงานทำอะไร ในระยะสั้นๆ คือเสียการลงทุนในคน ระยะยาวอาจจะก่อให้เกิดภาระทางการคลังในอนาคต นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องที่ส่งผลทางสภาพสังคมต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น มีคนหนึ่งเป็น NEET ตั้งแต่อายุ 20 จบมาเป็น NEET เลย ที่รัฐลงทุนไปว่างเปล่า พ่อแม่เองก็ไม่ได้รีเทิร์นอะไรกลับมา ยิ่งถ้าเป็น NEET จนกระทั่งแก่ใครจะเป็นคนดูแลเขา รวมถึงอาจเชื่อมในเรื่องคุณภาพชีวิต การเกิดอาชญากรรมอื่นๆ
ลึงลงมาในระดับครอบครัว การเป็น NEET จะสัมพันธ์เรื่องการพึ่งพิงของลูก NEET ไม่จำเป็นต้องเป็นเยาวชนเพราะมันเป็นแค่สเตตัส NEET อาจได้ตั้งแต่เยาวชนจนถึงขั้นแก่ชรา เพราะงั้นถ้าเกิดครอบครัวมี NEET เขาต้องการการพึ่งพิงในครอบครัวระดับสูง ถ้าคนที่เป็นเสาหลักในครอบครัวเสียชีวิต คนที่เป็น NEET มีแนวโน้มดูแลตัวเองได้ยาก เพราะไม่เคยทำงาน รวมถึงคุณค่าในตัวเอง มีโอกาสที่คนในครอบครัวจะมองว่าคนคนนี้มีปัญหาเรื่องคุณค่า เกิดปัญหาทางความสัมพันธ์ครอบครัว
ในระดับตัวตน ถ้าช่วงระยะสั้นๆ ไม่มีอะไรหรอก เหมือนช่วงเบรก แต่ว่าถ้าเป็นระยะยาวๆ จะเริ่มมีเรื่องคุณค่าในตัวเองลดลง เริ่มตามไม่ทันเพื่อน เพื่อนทำงานไป 1 ปี เป็นพนักงานประจำมีเงินเดือนสูง เขาจะเกิดการเปรียบเทียบ ยิ่งเป็น NEET ระยะยาวโอกาสกลับเข้าตลาดแรงงานก็ยาก เวลาไปสมัครงานเขาอาจจะถามว่าเว้นว่างมา 3 ปีทำอะไรครับ แล้วคุณจะสามารถตามทันได้ไหม โดยเฉพาะตอนนี้เทคโนโลยีไปเร็วมาก สมมติคนเป็น NEET นอนหลับไป 2 ปี ตื่นขึ้นมาเขาจะพบว่าคนใช้เครื่องมือใช้ดิจิทัลทำงานเยอะขึ้น ใช้ Zoom ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ
สุดท้ายแล้วอาจารย์มีอะไรอยากทิ้งท้ายไหมคะ
การที่จะลดโอกาสคนเป็น NEET ระยะยาวๆ ecosystem สำคัญมาก ทั้งสังคมรอบข้าง โรงเรียน แล้วก็พ่อแม่ที่เป็นปัจจัยสำคัญมากๆ ที่เราพบตอนไปคุยกับเด็ก
บางทีเด็กอยากจะก้าวไปไกลแต่พ่อแม่บอกว่าอย่าเลย มันไม่ใช่อาชีพ ไม่ใช่งาน คงเป็นเรื่องที่พ่อแม่รุ่นใหม่ต้องเปิดรับโอกาสของตัวเด็กมากขึ้น มันไม่ใช่ยุคเก่าของเราที่บอกว่าคุณต้องจบไปเป็นตำรวจ ไปเป็นทหาร มันมีออปชันอื่นๆ ในชีวิตของเด็กเยอะมากขึ้น ต้องเปิดใจและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่วิ่งขึ้นเร็วหลายเท่าในปัจจุบัน
อีกเรื่องที่สำคัญ คือ core skills ทักษะพื้นฐานที่คนต้องมี ที่จำเป็นเลย คือ เรื่องของการเปิดรับความรู้ใหม่ ประเภทที่ว่า ‘ฉันทำไม่ได้’ ไม่ได้ละ ต้องทำได้ทุกอย่าง แค่อาจจะเร็วหรือช้าเท่านั้นเองหรือความคิดแบบ growth mindset ทักษะภาษา ความสามารถการทำงานเป็นทีม ทักษะ data visualization (ถ่ายทอดข้อมูลในลักษณะของภาพ) และก็ทักษะ Data Validation (การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล) อันนี้สำคัญมากเพราะอนาคตจะข้อมูลเข้ามาอีกเยอะ ถ้าเด็กรุ่นใหม่ไม่สามารถกรอกข้อมูลได้ก็จะเป็นปัญหา
อาจารย์เคยเจอเด็กบางคนที่มีภาพในหัวว่า การเป็นยูทูบเบอร์หรือเล่น E – sport มันง่าย แต่จริงๆ ทุกอาชีพไม่ได้ง่าย ต้องใช้ความอดทนและตั้งใจจริง ต้องใช้เวลาถึงจะไปถึงจุดนั้น การเข้าใจชีวิตมนุษย์จะเป็นตัวเปิดให้เด็กรุ่นใหม่เห็นช่องทางใหม่ๆ ในชีวิตมากขึ้น ซึ่งต้องมีความเข้าใจในอาชีพใหม่ๆ และโอกาสใหม่ๆ ทั้งระบบ ตัวเด็กเอง พ่อแม่ โรงเรียน ชุมชน ภาครัฐ และภาคเอกชน
ไม่เช่นนั้น สังคมที่บอกให้เราต้องสร้างคุณค่าด้วยการทำงาน แต่จริงๆ แล้วระบบไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลง สุดท้ายก็อาจทำให้เด็กหลุดจากวงโคจรโดยระบบที่ไม่มีทางเลือกก็เป็นได้