- ประเทศไทยจะเป็นสังคมแห่ง ‘คำถาม’ ได้ คนไทยต้องถามเป็น โดยเริ่มจากความสงสัยที่อยู่ในใจ กลายเป็นคำถาม นำไปค้นคว้า หรือถามจากคนที่มีประสบการณ์ แล้วสิ่งที่ต้องทำก็คือ ‘เชื่อครึ่ง ไม่เชื่อครึ่ง’ ไม่เชื่อจนกว่าจะพิสูจน์ได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติ
- ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ชวนคนไทยตั้งคำถาม 5 ข้อ เพื่อหาคำตอบที่อาจเป็นแนวทางนำพาประเทศหลุดพ้นจากความเข้าใจผิดทางด้านการศึกษา และก้าวสู่สังคมการเรียนรู้
- “เมื่อประเทศไทยเป็นสังคมเรียนรู้ โรงเรียนและครูจะมีอิสระและความรับผิดชอบที่จะหนุนให้เด็กสร้างสมรรถนะใส่ตัว กระทรวงศึกษาธิการจะ Transform เป็น Empowerment Mechanism สังคมจะเป็นสังคมแห่งคำถาม มีวงจรเรียนรู้จากประสบการณ์การเรียนรู้ในทุกหย่อมหญ้า มีการเรียนรู้เชิงระบบ”
การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ไม่ใช่อยู่เฉพาะแค่โรงเรียน แต่ต้องอยู่ในทุกอณูของสังคมไทย และหากถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างสังคมเรียนรู้ คำตอบคือ ‘คำถาม’
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง กล่าวในเวที TEP Forum 2024 ในหัวข้อ ‘สร้างประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้’ ว่า ประเทศไทยจะเป็นสังคมแห่ง ‘คำถาม’ ได้ คนไทยต้องถามเป็น โดยเริ่มจากความสงสัยที่อยู่ในใจ จากข้อสงสัยกลายเป็นคำถาม นำไปค้นคว้า หรือถามจากคนที่มีประสบการณ์ แล้วสิ่งที่ต้องทำก็คือ ‘เชื่อครึ่ง ไม่เชื่อครึ่ง’ ไม่เชื่อจนกว่าจะพิสูจน์ได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติ
ทั้งนี้ในการทดลองต้องทำเป็นกลุ่ม ไม่ใช่ทำคนเดียว ต้องสังเกตว่าสิ่งที่ทดลองอยู่นั้นเห็นอะไร พบอะไร จากนั้นต้องสะท้อนคิดไปสู่หลักการใหม่ หรือหลักการเดิมที่เข้าใจในบริบทใหม่ แล้ววนกลับไปสู่การเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง วนเป็นวงจรเล็กแบบนี้ แต่ในขณะเดียวกันหลักการใหม่ก็อาจจะนำไปสู่ข้อสงสัยใหม่ และกลายเป็นวงจรใหญ่ขึ้นมาอีก ดังนั้น สังคมเรียนรู้ คือ วงจรทั้ง 2 วงจรของการตั้งคำถามและตอบคำถามจากการปฏิบัติ
ทั้งนี้ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ชวนคนไทยตั้งคำถาม 5 ข้อ เพื่อหาคำตอบที่อาจเป็นแนวทางนำพาประเทศหลุดพ้นจากความเข้าใจผิดทางด้านการศึกษา และก้าวสู่สังคมการเรียนรู้
ปุจฉาข้อที่ 1 การศึกษาหรือการเรียนรู้นั้นคือการรับถ่ายทอดความรู้?
ที่ผ่านมาโรงเรียนส่วนใหญ่ยังสอนแบบบอก หรือถ่ายทอดความรู้ รวมทั้งเน้นการสอบแบบความจำหรือความเข้าใจ สิ่งนี้คือความเข้าใจผิดที่เราต้องเอาชนะให้ได้
เพราะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือการสร้างสมรรถนะและอีกหลายๆ อย่างใส่ตัวเอง ผู้เรียนต้องเป็นผู้สร้างสิ่งเหล่านั้นใส่ตัวเอง ไม่ใช่มีใครสร้างให้ ครูและพ่อแม่มีส่วนช่วยได้เยอะ แต่ลึกๆ แล้ว แต่ละคนต้องเป็นผู้สร้างใส่ตัวเอง
ปุจฉาข้อที่ 2 การศึกษาเน้นสอนความรู้?
นอกจากเปลี่ยนการสอนมาเป็นผู้เรียนสร้างใส่ตัวเองแล้ว ยังต้องเปลี่ยนจากการเน้นความรู้ไปสู่การสร้างสมรรถนะ ฉะนั้นการเรียนในสมัยใหม่ต้องเป็นแบบ Active Learning หรือ เรียนรู้เชิงรุก เพราะว่าผู้เรียนซึ่งไม่ว่าจะเป็นนักเรียนหรือผู้ใหญ่ต้องเป็นคนปฏิบัติตามวงจรการตั้งคำถาม ต้องมีการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ฝึกเป็นนักพัฒนาตนเอง หมายความว่า ในการออกแบบกิจกรรม ผู้เรียนต้องร่วมออกแบบ และฝึกประเมินให้เป็น เพื่อเรียนรู้ในการปรับตัวและฝึกเป็นนักพัฒนาตนเอง เป็นการเรียนรู้สมัยใหม่ ซึ่งผู้เรียนจะค่อยๆ เปลี่ยนตัวเองไปเรื่อยๆ หรือที่เรียกว่า Transformative Learning เป็นการเปลี่ยนตัวเองทั้งเรื่องเล็กๆ เช่น ความไม่รู้หรือความเข้าใจผิดบางเรื่อง ไปจนถึงการเปลี่ยนใจในภาพใหญ่คือความผิดชอบชั่วดี ซึ่งการเรียนรู้สมัยใหม่ทุกคนต้องมีทักษะในการ Transformative Learning ตนเอง รวมถึงช่วยผู้ใกล้ชิด เพื่อนร่วมชั้นเรียน รวมถึงครูที่ต้องช่วยให้ลูกศิษย์ Transform ตัวเองเป็น
ศ.นพ.วิจารณ์ เล่าว่า ความจริงแล้วเป้าหมายของการเรียนรู้ไม่ได้มุ่งเน้นแค่ความรู้มาตั้งแต่ 30 ปีก่อนที่จะเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โดย P21 Partnership for 21st century learning ออกมาชี้ให้เห็นว่าการเรียนไม่มุ่งเน้นแค่เนื้อหา แต่ต้องมีทักษะ Life and Career skill, Learning and innovation skill และ Information media and Technology skill และ 10 กว่าปีให้หลังมานี้ World Academic Forum บอกว่า 21st-Century Learning ต้องมี 3 สาย คือ สายวิชาการ สายสมรรถนะ และสายคุณลักษณะ นอกจากนี้ OECD ก็เสนอเป้าหมายการศึกษาของปี 2030 ว่า ต้องพัฒนาสมรรถนะ ซึ่งมีส่วนประกอบ 4 ด้าน คือ ค่านิยม (Value) เจตคติ (Attitude) ทักษะ (Skill) และความรู้ (Knowledge) ซึ่งต้องเรียนแบบผสมกลมกลืนกัน ขณะที่ประเทศไทยมีการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ เพียงแต่ยังไม่ได้นำมาใช้
“ดังนั้นจะเห็นว่าทั้งหมดคือเรื่องเดียวกัน การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ การศึกษาต้องช่วยให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการเป็นผู้กำกับการเรียนรู้ของตนเอง หรือ self-directed learner และการเรียนรู้นั้นต้องพัฒนาครบด้าน และตระหนักว่าต้องพัฒนาตนเองต่อเนื่องตลอดชีวิต เพราะว่าเรื่องราว สภาพแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ดังเช่นตอนนี้จะเห็นว่าเทคโนโลยีเอไอเป็นสิ่งใหม่ที่กำลังท้าทายมาก”
ปุจฉาข้อที่ 3 การศึกษาเป็นหน้าที่ของโรงเรียน พ่อแม่ไม่เกี่ยว?
การศึกษาเป็นเรื่องของโรงเรียนอย่างเดียวเป็นความเข้าใจผิด สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องเป็นกำลังร่วมกับโรงเรียนในการช่วยหนุนเด็กให้เป็น independent learner เป็น self-directed learner ได้เอง เด็กต้องมีการเรียนรู้จากการปฏิบัติ สามารถสะท้อนคิดเป็น และช่วยเพื่อนได้ สิ่งนี้คือหัวใจของการศึกษา เพราะฉะนั้นนโยบาย PLC ของกระทรวงศึกษาธิการเป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดพลังให้ได้ ต้องสร้าง PLC ทั้งในโรงเรียนและระหว่างโรงเรียน ต้องช่วยกันว่าทำอย่างไรถึงจะสร้าง positive engagement กับผู้ปกครองให้เข้ามาช่วยเป็นพลังหนุนโรงเรียนให้ทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก
ปุจฉาข้อที่ 4 การศึกษาเน้นเรียนเพื่อสอบ สอบความจำและเข้าใจ?
ศ.นพ.วิจารณ์ ตั้งคำถามว่า การเรียนเพื่อสอบ และสอบในเรื่องความจำและความเข้าใจเท่านั้น คือสภาพปัจจุบันของการศึกษาไทยใช่หรือไม่
“สิ่งที่ผมมองหรือตั้งคำถามอาจจะไม่ถูก แต่อยากนำเสนอ เพราะเป็นความท้ายต่อสภาพปัจจุบัน ผมอยากให้ข้อสอบมีการวัดผลที่ครอบคลุมตาม Bloom’s Taxonomy of Learning ซึ่งมีทั้งในเรื่องของความจำ ความเข้าใจ การประยุกต์ใช้ การวิเคราะห์ การประเมินผล และการสร้างสรรค์”
“อยากย้ำเรื่องทักษะการตั้งคำถาม เพราะไม่ใช่ทักษะแค่ตัวครูหรือนักเรียนเท่านั้น ต้องรวมถึงหน่วยออกข้อสอบตรงกลางด้วยว่าท่านถามอะไร ผมอยากให้ข้อสอบกระจายให้ทั่วตาม Bloom’s Taxonomy of Learning ผมสงสัยว่าข้อสอบที่ใช้อยู่ทุกวันนี้มีแค่ในเรื่องความจำและความเข้าใจหรือเปล่า อยากให้มีการวิจัยว่าการสอบวัดผลทุกวันนี้มันกระจายการถามรวมคลอบคลุม Bloom’s Taxonomy หรือไม่”
ปุจฉาข้อที่ 5 ครูทำงานคนเดียวในฐานะ ‘ผู้รู้’?
แต่ก่อนคนส่วนใหญ่อาจมองว่าครูเป็นคนที่มีความรู้และมีคำตอบให้นักเรียนได้หมด ถามอะไรมาตอบได้หมด แต่ในยุคนี้ไม่ใช่ ยุคนี้ครูต้องทำงานเป็นทีม และไม่ใช่แค่ทีมในโรงเรียน แต่ต้องออกไปนอกโรงเรียนด้วย หมายความว่า ครูต้องเป็นนักออกแบบการเรียนรู้ และทดลองว่าสิ่งที่ออกแบบนั้นได้ผลดีหรือไม่ ครูต้องเปลี่ยนจากผู้รู้มาเป็นผู้เรียนรู้ และเรียนรู้ผ่านการสะท้อนคิด ทุกวันนี้ครูต้องเป็น ‘Reflective Professional หรือนักวิชาการด้านการสะท้อนคิด’
ศ.นพ.วิจารณ์ เล่าว่า หัวใจสำคัญของ Lesson Study คือ ครูต้องร่วมกันออกแบบการทดลองว่าจะแก้ปัญหาอะไร โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้ ต้องดูว่าประเทศต้องการอะไร เขตพื้นที่ต้องการอะไร ชุมชนเราอยู่ในพื้นที่แบบไหน แล้วนักเรียนของเราหย่อนตรงไหน นำปัญหามา Lesson Study มาร่วมกันออกแบบและทดลองสอน ตอนออกแบบทำร่วมกัน ทดลองสอนคนเดียว ที่เหลือสังเกตการณ์ อาจจะไปชวนอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือว่าครูโรงเรียนอื่นมาช่วยสังเกตการณ์ก็ได้ แล้วนำผลมาสะท้อนคิดร่วมกันเพื่อหาทางขยับปรับเปลี่ยน ที่สำคัญครูและโรงเรียนต้องเรียนรู้ตลอดเวลา นี่คือหัวใจของการศึกษาสมัยใหม่
ร่วมสร้างประเทศไทยเป็นสังคมเรียนรู้
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวสรุปในภาพรวมว่า ประเทศไทยจะเป็นสังคมเรียนรู้ได้ต้องวางรากฐานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์และในวัยเด็กเล็ก โรงเรียนต้องทำงานเป็นทีม ขณะที่เป้าหมายการเรียนรู้ต้องพัฒนาครบทุกมิติ ทั้งมิติภายนอกและภายในโรงเรียน สำหรับวิธีการเรียนรู้ต้องมุ่งเน้นการเรียนรู้เชิงรุกและเรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง ครูในโรงเรียนมีการเรียนรู้จากประสบการณ์ต่อเนื่อง รวมทั้งมีความร่วมมือกับกับโรงเรียนอื่นทั้งภาคีภายนอกและในพื้นที่ และที่สำคัญคือต้นสังกัดต้องหนุนนำไม่ใช่สั่งการ
“สุดท้ายเมื่อประเทศไทยเป็นสังคมเรียนรู้ โรงเรียนและครูจะมีอิสระและความรับผิดชอบที่จะหนุนให้เด็กสร้างสมรรถนะใส่ตัว กระทรวงศึกษาธิการจะ Transform เป็น Empowerment Mechanism สังคมจะเป็นสังคมแห่งคำถาม มีวงจรเรียนรู้จากประสบการณ์การเรียนรู้ในทุกหย่อมหญ้า มีการเรียนรู้เชิงระบบ และสุดท้ายคือต้องรู้จักปรับตัว การศึกษาไทยต้องใช้ AI เป็น ฉลาดใช้ในการหนุนเสริม ไม่ใช่ถูกบ่อนทำลาย”