- การขยายการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนในการกำหนดนโยบายการศึกษานั้นเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู ผู้ปกครอง หรือชุมชน เพื่อให้เกิดนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนและผู้ปฏิบัติจริงๆ โดยไม่ใช่แค่การสร้างภาพลักษณ์ของการมีส่วนร่วม
- การจัดการศึกษาที่ตอบสนองความหลากหลายของผู้เรียน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ด้อยโอกาส เช่น เด็กต่างชาติพันธุ์ เด็กยากจน หรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เป็นธรรมและเอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของทุกคนก็สำคัญไม่แพ้กัน
- เราควรปรับเปลี่ยนวิธีคิดและปฏิบัติในการจัดการศึกษา โดยเน้นที่การสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เรียน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และการพัฒนาครูให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ
“เรารู้อะไรเกี่ยวกับการศึกษาบ้าง มีอะไรที่ยังไม่รู้ รวมถึงมีประเด็นคำถามใดที่จะช่วยขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทยให้ก้าวไปข้างหน้า”
คือคำถามตั้งต้นจากหน่วยบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Agenda Team : SAT) ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่ได้ชวนเหล่านักวิชาการ นักปฏิบัติ นักจัดกระบวนการเรียนรู้จากหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับภาคการศึกษามาร่วมกันตีโจทย์เขียนบทความและเปิดประเด็นมุมมองใหม่ๆ ต่อระบบการศึกษา เพื่อหาคำตอบและกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาไทยแบบไร้รอยต่อ
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการจัดเสวนาเกี่ยวกับบทความวิชาการจากโครงการฯ เชิญนักวิชาการผู้เขียนบทความมาแลกเปลี่ยนชุดความรู้ และจุดประกายมุมมองใหม่ต่อการศึกษาไทย ในงานสัมมนาวิชาการ Thailand Education Forum ครั้งที่ 2 ‘10 โจทย์ใหญ่ ก้าวต่อไปการศึกษาไทยไร้รอยต่อ’ ซึ่งนอกจากจะเผยให้เห็นกับดักทางความคิดและวิธีปฏิบัติที่เปรียบเสมือนมุมมืดของระบบการศึกษาไทยแล้ว ยังชวนให้เรามองหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ไปพร้อมๆ กัน
ขยายการมีส่วนร่วมที่มีความหมาย เปิดความเป็นไปได้ใหม่ในการปฏิรูปการศึกษา
วรดร เลิศรัตน์ 101 Public Policy Think Tank กล่าวว่า ในโครงการ SAT ได้ร่วมเขียนบทความเรื่องการขยายการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วยเสียในกระบวนการนโยบายด้านการศึกษา เนื่องจากที่ผ่านมามีโอกาสทำงานวิจัยเกี่ยวกับนโยบายด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ได้พูดคุยกับเยาวชน ซึ่งเวลาคุยจะพยายามเก็บข้อมูลถึงความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาด้วยวิธีการที่หลากหลาย
“เราสำรวจเยาวชนกว่า 20,000 คนทั่วประเทศ มีการเปิดให้เยาวชนเขียนเรื่องเล่า ชีวิต ความคิดและความฝันของเขามาให้เราอ่าน ซึ่งมีเด็กเขียนเข้ามา 500-600 คน พบว่าหนึ่งในความฝันที่สำคัญที่สุดของเด็กและเยาวชนไทย คือ ความฝันที่จะถูกรับฟัง โดยไม่ถูกปิดกั้น ไม่ถูกตั้งแง่ ไม่อคติ”
เมื่อมีการนำข้อมูลผลสำรวจด้านคุณค่าและทัศนคติของเยาวชนมาวิเคราะห์ พบว่า เด็กและเยาวชนในประเทศไทยมีคุณค่าและทัศนคติที่หลากหลายมาก ทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม แต่ในความหลากหลายนั้น พวกเขามี ‘จุดร่วม’ บางอย่าง
“ไม่ว่าจะเป็นเด็กกลุ่มไหนก็ตาม พวกเขาเชื่อตรงกันว่าสังคมควรมีพื้นที่ให้เขาแสดงออกซึ่งความคิดความเห็นได้อย่างอิสระและปลอดภัย การแสดงความเห็นของเขาควรได้รับการคุ้มครองว่าจะไม่ถูกกดทับ ไม่ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่พึงรังเกียจ หรือน่าหวาดกลัว”
ที่สำคัญหากถามถึงเรื่องรอบตัวที่เด็กอยากเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คำตอบคือ ‘ระบบการศึกษา’
“เราพบว่าเด็กและเยาวชนสนใจประเด็นเกี่ยวกับการศึกษามาก เพราะเขาต้องใช้ชีวิตหลายชั่วโมงต่อวันในรั้วโรงเรียน แต่แม้จะเป็นอย่างนั้น เด็กและเยาวชนกลับยังถูกรับฟังผ่านระบบการศึกษาน้อยมาก ซึ่งหากพิจารณาต่อไปจะพบว่าตัวกระบวนการและนโยบายทางการศึกษายังไม่ได้เปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วม เพราะแม้แต่ครู ผู้ปกครอง ท้องถิ่น ชุมชนต่างๆ หรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ก็ยังมีอิทธิพลต่อนโยบายการศึกษาในความเป็นจริงได้จำกัดมาก”
การกำหนดนโยบายการศึกษาที่ผ่านมา วรดรมองว่า กระบวนการก่อตัวขึ้นมาของนโยบายนั้นมีความคลุมเครือไม่ต่างจากเมฆหมอก หรือเหมือนอยู่ในกล่องดำ (Black box)
“นโยบายในระดับชาติหรือมหภาค เราพูดกันว่ามีการก่อตัวมาจากระบบราชการระดับสูง หรือบางทีก็ไม่แน่ใจว่ามาจากไหนกันแน่ อาจจะก่อตัวมาจากข้าราชการในระดับเขตพื้นที่ หรือครูที่มีตำแหน่งบริหาร แต่ว่าสุดท้ายแล้วก็ยังขาดการเปิดให้คนในวงกว้างที่ได้รับผลกระทบ หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบายเหล่านี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมเท่าที่ควร”
หลายครั้งจะเห็นว่านโยบายส่วนใหญ่ถูกกำหนดจากเบื้องบนลงสู่ล่าง โดยไม่ได้สอบถามหรือรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ปฏิบัติหน้างาน
“สิ่งหนึ่งที่ขาดมาก คือ ทำอย่างไรให้เด็ก นักเรียน ครู หรือคนที่อยู่ในชุมชนมีส่วนร่วมและมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายได้มากขึ้น
เราไม่สามารถสร้างเมืองที่เป็นธรรม หรือการศึกษาในเมืองที่เป็นธรรมได้ ถ้าไม่นับรวมเสียงของคนทุกกลุ่มเข้ามากำหนดวิสัยทัศน์ว่าจะพัฒนาเมืองใปในทิศทางไหน
เราจะไม่สามารถกำหนดโจทย์ที่มีคำตอบที่ถูกต้องในเชิงนโยบายได้ ถ้าไม่ฟังว่าปัญหาหน้างานเป็นอย่างไร และการแก้ไขมีข้อจำกัดแค่ไหน ดังนั้นการเปิดโอกาสให้ครูสะท้อนถึงปัญหาเกี่ยวกับนโยบายที่ถูกถ่ายทอดลงไป หรือบอกได้ว่าต้องการอะไร จะทำให้เขามีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของนโยบาย สร้างความไว้วางใจ สร้างสปิริตของการร่วมมือกันและทำให้นโยบายการศึกษาหนึ่งๆ ขับเคลื่อนไปได้”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเด็นเรื่อง ‘การมีส่วนร่วม’ เป็นนโยบายที่ถูกพูดถึงมาตลอด แต่กลับไม่สามารถเกิดได้จริง วรดรบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือลักษณะของผักชีโรยหน้า เสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ได้มีคนรับฟังอย่างมีความหมายที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้
“จากการเขียนบทความทำให้ได้ตกผลึก จัดระเบียบความคิด และพบว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างเจอปัญหาที่หลากหลายร่วมกันอยู่ เรื่องแรกคือ ‘อำนาจ’ โดยโครงสร้างของสถาบันในกระบวนการนโยบายการศึกษาถูกออกแบบมาเพื่อปรับพฤติกรรมบางอย่างของคนที่อยู่ในกระบวนการทั้งหมด ซึ่งทำให้เขาไม่กล้าที่จะส่งเสียงและมีส่วนร่วมในกระบวนการ รวมถึงยังทำให้อำนาจของราชการส่วนกลางหรือในระดับโรงเรียนมีอำนาจเหนือครู นักเรียน หรือว่าชุมชนอย่างไม่สมดุล”
โครงสร้างเหล่านี้ผลิตซ้ำเหมือนวัฒนธรรมแบบทวยราษฎร์ คือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีปากมีเสียงหรือมีสิทธิอะไร เป็นเพียงแค่คนที่คอยปฏิบัติตามเท่านั้น
“มันทำลาย ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ในการที่นักเรียน ครู หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ จะกล้าแสดงออกถึงความต้องการของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ยังมีวัฒนธรรมอื่นๆ ที่แฝงฝังอยู่ บ้านเรามีระบบราชการที่ราชการเป็นใหญ่ มีความไม่ไว้ใจประชาชนสูงมาก นโยบายหลายอย่างถูกสั่งลงมาเป็นลำดับขั้น ครูรู้สึกว่าตัวเองเป็นเพียงกลไกเล็กๆ รวมทั้งยังมีเรื่องของระบบอุปถัมภ์ ครูต้องพึ่งพาผลประเมิน ครูเข้าใหม่ที่เด็กๆ รู้สึกว่าเข้าถึงได้มากที่สุดด้วยช่องว่างของอายุ แต่กลายเป็นว่าครูกลุ่มนี้อาจเป็นครูที่เปราะบางมากที่สุด เพราะถูกกดทับการมีส่วนร่วมหรือคุกคามการมีส่วนร่วม”
จากการทำงานเรื่องเด็ก เยาวชนและครอบครัว ภายใต้ทุนสนับสนุนของ สสส. ยังทำให้วรดรพบว่า สาเหตุที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นในทุกวันนี้อาจไม่ใช่เพียงเพราะ ‘ความยากจน’
“จากการลงภาคสนาม เราพบว่า จริงๆ แล้วหากเด็กและครอบครัวพยายามปากกัดตีนถีบสักหน่อย เขาพอจะเรียนได้ แต่สิ่งที่ทำให้เขาเลือกไม่ไปเรียนคือ เขารู้สึกว่าสิ่งที่สอนอยู่ในโรงเรียนไม่ตอบโจทย์”
อีกเรื่องสำคัญที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นต่อการมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายการศึกษา คือ ‘ความเหลื่อมล้ำ’
“ความเหลื่อมล้ำทำให้คนบางคนมีทุนในการมีส่วนร่วมได้ไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเรื่องการประชุมผู้ปกครอง ที่เราอาจมองว่าเป็นพื้นที่ให้ข้อมูลบางอย่างกับกระบวนการกำหนดนโยบายการศึกษาระดับย่อยๆ ได้ ซึ่งผู้ปกครองที่ต้องหาเช้ากินค่ำ เขาอาจจะไม่สามารถมาร่วมได้ หรือเด็กบางคนก็ไม่สามารถส่งเสียงได้อย่างมีคุณภาพและมีคนรับฟัง เราต้องเข้าใจว่าเวลาที่เราพูดอะไรแล้วคนเชื่อถือ บางครั้งต้องมีทุนทางสังคมบางอย่าง หลายครั้งเขาพยายามบอกว่าเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมได้ แต่ไม่ได้มีการเติมทุนเพื่อลดเหลื่อมล้ำ หรือเติมทรัพยากรบางอย่าง เพื่อให้ทุกๆ คนมีส่วนร่วมได้”
นอกจากนี้ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับนโยบายการศึกษาในหลายเรื่อง และมีความสำคัญมาก
“ยกตัวอย่างเรื่องครู เราจะเห็นว่าภายใต้การปฏิรูปการศึกษาช่วงที่ผ่านมา ค่อนข้างผลักภาระไปอยู่ที่คนแต่ละคน หน่วยแต่ละหน่วยในระบบการศึกษามากขึ้น ซึ่งรวมถึงตัวครูที่ต้องหาทางจัดการกับปัญหาในห้องเรียน รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวเขาเองว่าจะส่งเสียงดังในระบบการศึกษาได้มากน้อยแค่ไหน โดยที่ไม่ได้มีความพยายามสร้างช่องทางบางอย่างที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค”
โรงเรียนที่จัดการเรียนรู้เพื่อสร้างต้นทุนทางวัฒนธรรม
อีกหนึ่งผู้ร่วมเสวนา ผศ.ดร.พิสิษฎ์ นาสี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าถึงบทบาทการทำงานของตนเองว่าได้ร่วมกับ SAT ตั้งแต่ปีแรกทำเรื่องเด็กชายขอบ พอปีที่ 2 ตั้งเป้ามาสู่บริบทเมืองมากขึ้น เพราะช่วงหลังทำงานกับเด็กในเมือง และพบว่าความเป็นชายขอบไม่ได้อยู่เฉพาะพื้นที่ชายขอบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเมืองด้วย นอกจากนี้ในเมืองยังมีเด็กข้ามชาติ เด็กชาติพันธุ์ รวมทั้งส่วนตัวสนใจในเรื่องการศึกษาพหุวัฒนธรรม จึงอยากเปิดพื้นที่ให้เห็นว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้เรียนในบริบทเมืองอยู่ตรงไหน เป็นอย่างไร และมีโจทย์อยู่ตรงไหน
“ปกติเมื่อพูดเรื่องเมืองจะเป็นคู่ตรงข้ามกับบ้านนอก ชนบท บนดอยหรือพื้นที่ชายขอบของรัฐชาติ เหมือนกับว่าในเมืองพรั่งพร้อมหลายอย่างทั้งทรัพยากร คุณภาพทางการศึกษา แต่ในความเป็นจริงแล้วภายในเมืองมีความเหลื่อมล้ำเยอะมาก ยังมีเด็กชายขอบกลุ่มใหญ่ๆ มีโรงเรียนระดับกลาง ระดับเล็ก ที่โอบรับเด็กหลากหลายวัฒนธรรม ซึ่งส่วนใหญ่คือ ‘คนจนเมือง’ มีตั้งแต่กลุ่มลูกหลานแรงงานข้ามชาติ แรงงานราคาถูก เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และมีความเหลื่อมล้ำทับซ้อนในเรื่องสภาพเศรษฐกิจ”
ทุกวันนี้ ‘เมือง’ นอกเหนือจากการเป็นศูนย์กลางความเจริญ ยังเป็นศูนย์กลางของความเหลื่อมล้ำด้วย อีกทั้งในภาคเหนือยังพบว่ามีปัญหาเรื่อง ‘สิทธิพลเมือง’
“จากการสำรวจเมื่อปี 62 พบว่า โรงเรียนในเทศบาลนครเชียงใหม่ 11 โรงเรียน มีเด็กต่างวัฒนธรรม ถึง 15 ชาติพันธุ์ ถ้าศึกษาลึกเข้าไปจะพบว่ามีความเหลื่อมล้ำต่ำ-สูงในสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิทธิพลเมืองอยู่ด้วย ซึ่งทั้งหมดมีผลต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียนเล็กหรือขนาดกลาง เราจะทำอย่างไรให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ที่ไม่ใช่หมายถึงแค่สิทธิการเข้าถึงการศึกษาเพียงอย่างเดียว”
ที่ผ่านมามีนักคิดกล่าวถึงแนวคิดเรื่อง ‘เมืองยุติธรรม หรือ Just City’ ซึ่ง ผศ.ดร.พิสิษฎ์ บอกว่า Just City ต้องมาคู่กับ ‘Just Education หรือ การศึกษาที่เป็นธรรม’ ด้วย
“การศึกษาที่เป็นธรรมไม่ใช่แค่ความเท่าเทียม ทุกครั้งที่พูดถึงการศึกษาในเมือง โจทย์ส่วนใหญ่ คือ ‘การเข้าถึง’ เป็นการพูดเรื่องสิทธิว่า นี่ไงเราให้สิทธิทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กสลัม ชาติพันธุ์ ชายขอบ คนจนที่ไหนก็มีสิทธิเข้าสู่การศึกษาทั้งหมด แต่ยังไม่ได้พูดเรื่องคุณภาพการศึกษา”
การพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองยุติธรรมต้องควบคู่กับการพัฒนาการศึกษา ซึ่งต้องมีความเฉพาะเจาะจงกับแต่ละพื้นที่ด้วย เพราะแต่ละพื้นที่มีโจทย์ไม่เหมือนกัน
“ยกตัวอย่างโจทย์ของจังหวัดเชียงใหม่ที่พบว่ามีความหลากหลายของชาติพันธุ์สูงมาก แล้วก็มีความทับซ้อนกับสถานะทางสังคม และสถานะสิทธิพลเมือง เพราะเป็นเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติเต็มไปหมด โรงเรียนที่โอบรับ เช่น โรงเรียนเทศบาล 11 โรงเรียน รวมถึงโรงเรียนของ สพฐ.จำนวนมาก มีเด็กกลุ่มนี้ถึง 70-80 % ปรากฏว่าเมื่อรับเข้ามาแล้ว เราจะทำอย่างไรให้การศึกษามีคุณภาพ ซึ่งคนละเรื่องกับสิทธิการรับเข้ามา”
อีกทั้งปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ‘วิธีคิดยังซ้ำรอยเดิม’ เมื่อโรงเรียนส่วนใหญ่ยังมองเพียงว่าทำอย่างไรให้การศึกษามีลักษณะที่เท่าเทียมกับโรงเรียนอื่นๆ
ผศ.ดร.พิสิษฎ์ กล่าวว่า โรงเรียนในเมืองมีการแข่งขันสูงมาก เพราะมีโรงเรียนระดับท็อปอยู่ในนั้น ปรากฏว่าเมื่อโรงเรียนระดับท็อปพยายามขยับคุณภาพการศึกษาในกระแสหลัก ยิ่งกลายเป็นว่าโรงเรียนชายขอบมีคุณภาพตกต่ำมากขึ้นไปอีก ผู้ปกครองมีความคาดหวังต่ำ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าโรงเรียนเหล่านี้ ผู้ปกครองคนชนชั้นกลางปฏิเสธที่จะนำลูกเข้าโรงเรียน
“สิ่งที่เราพบเจอ คือ โรงเรียนเหล่านี้ก็ยิ่งพยายามบอกว่าจะสร้างความเท่าเทียม No Child left Be hide โดยพยายามเสริมสิ่งที่เด็กไม่มี เพื่อจะทำให้เด็กและโรงเรียนมีผลงานที่ดีขึ้น ด้วยการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาติว จ้างคนติวเพื่อให้คะแนนเยอะ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วทำไม่ได้ สิ่งนี้คือระบบวิธีคิดที่มีปัญหา เพราะไปซ้ำรอยเพื่อที่จะแข่งขันกับโรงเรียนอื่น ในขณะที่ทุนของเด็กซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย ตรงกับความจำเป็น รวมถึงวัฒนธรรมทุนของแรงงานข้ามชาติ-คนจนเมือง กลับถูกละเลยในการเอามาใช้เป็นต้นทุนในการพัฒนาการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็กมากขึ้น”
อย่างไรก็ดี ในต่างประเทศมีการเคลื่อนไหวในเรื่อง Urban Education มา 30 กว่าปีแล้ว ผศ.ดร.พิสิษฎ์ มองว่า การหยิบยกแนวคิดนี้ขึ้นมาอาจเป็นเครื่องมือให้คุณครู ผู้บริหาร รวมถึงผู้ออกแบบนโยบายการศึกษา และผู้ออกแบบนโยบายการพัฒนาเมืองต่างๆ นำไปปรับใช้ในการขยับให้โรงเรียนที่โอบรับเด็กๆ ได้เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ในการจัดการศึกษาและผสมผสานกับทุนที่เด็กมี
“เมื่อพูดถึงพหุวัฒนธรรม แต่เดิมครูชอบไปติดอยู่กับการสำรวจเด็กด้านวัฒนธรรม ภาษา ศาสนาความเชื่อ การแต่งกาย อาหาร เป็นกับดักในการที่จะสร้างภาพแทนทางวัฒนธรรม มันแน่นิ่ง ซึ่งชุมชนเมืองไม่ว่าจะเป็นเด็กข้ามชาติ หรือเด็กชาติพันธุ์ล้วนมีพลวัต เพราะเขาอยู่ในเมือง บางคนเกิดในเมืองหรืออยู่ในเมืองมา 30-40 ปี เขาก่อสร้างชุมชน สร้างทุนรูปแบบอื่นๆ เต็มไปหมด มันมีพลวัตของมันอยู่ แต่ถูกละเลยที่จะขยับเข้ามาสู่พื้นที่ของการเรียนรู้ จึงเป็นโจทย์ที่อยากนำเสนอ”
‘สอนอย่างไทย’ เหรียญสองด้านของการสอนนักเรียนเป็น ‘คนเก่ง ดี มีคุณธรรม’
จากประสบการณ์การทำงานเรื่องการสอนคนเก่ง ดี มีคุณธรรม ซึ่งเปรียบเสมือนคำคลาสสิกในระบบการศึกษาไทย กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ Lift Education Thailand เขียนบทวิเคราะห์ถึงอีกด้านของเหรียญ เขาบอกว่าถ้าเราเดินเข้าไปในทุกโรงเรียนจะมีป้ายใหญ่ๆ ที่แสดงวิสัยทัศน์ของแต่ละโรงเรียนตั้งอยู่ แต่ป้ายเหล่านั้นกลับไม่เคยถูกนำมาในเชิงการสร้างประสบการณ์ให้เด็กๆ สัมผัสได้ว่ามีคุณค่า เรามักมองว่าการสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ได้มีกระบวนการถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นอย่างมีคุณภาพไปที่ตัวเด็ก
“ยกตัวอย่างเรื่องที่เป็นจุดตั้งต้นให้ผมมีไฟกับการทำงานเรื่องนี้มาตลอด 6 ปี ผมมีโอกาสทำวิจัยครั้งแรกกับบ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งป้ามล-ทิชา ณ นคร เป็นผู้อำนวยการอยู่ ผมสัมภาษณ์เด็กคนหนึ่งถึงเหตุผลที่ทำให้เขาหลุดออกจากระบบการศึกษาในขณะที่เขาอยู่เพียง ม. 2 เด็กคนนี้เล่าว่า เขาเป็นเด็กหลังห้อง มีพฤติกรรมเกเร ครูไม่ค่อยชอบหน้า วันหนึ่งได้รับการบ้านจากครู แต่บังเอิญว่าวันนั้นขี่มอเตอร์ไซค์แล้วล้ม แขนหัก ต้องใส่เฝือก แต่ก็อยากทำการบ้านชิ้นนี้ส่งครู ด้วยความแขนหัก ใส่เฝือก ลายมือที่เขียนการบ้านก็แย่ไปด้วยเป็นธรรมดา
วันรุ่งขึ้นเขาไปส่งการบ้าน ครูที่รับการบ้านอ่านงานแล้วบอกว่า “นี่ลายมือหรือลายตีนที่เขียนส่งมา” ทั้งที่ครูเห็นว่าเขาใส่เฝือกอยู่ เขาบอกว่า วันนั้นเป็นวันที่เขารู้สึกว่าห้องเรียนไม่ใช่ที่ของเขา ห้องเรียนแคบเกินไปที่จะเอาคุณค่า คุณธรรม หรืออะไรหลายๆ อย่างที่เขาเอื้อมไม่ถึงมาทำให้รู้สึกว่าอึดอัด แล้วหลังจากนั้นอีก 3 เดือน เขาไปฆ่าคนตายข้างนอก เราจะเห็นวงจรของความเสียหายว่ามหาศาลขนาดไหน ไม่ใช่แค่ตัวเด็ก ครอบครัวของเด็ก แต่ยังมีครอบครัวของเหยื่อ บาดแผลทางสังคม และการเยียวยาของรัฐที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือทั้งที่ป้องกันได้”
จากเรื่องราวดังกล่าวเป็นหัวเชื้อที่ผลักดันให้อรุณฉัตรหันกลับมาศึกษาว่า ยังมีวิธีการใดอีกบ้างที่จะช่วยสื่อสารเรื่องการมีคุณธรรม การมีวินัย และความดี นอกจากการทำให้เด็กแข่งขันกันในเรื่องที่บางคนเอื้อมไม่ถึง รวมถึงการเปลี่ยนการสื่อสารเรื่อง Social Identity มาสู่ Individual Identity หรือการพูดแค่อัตลักษณ์ของเด็กแต่ละคน
อรุณฉัตรกล่าวว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีโอกาสทำงานกับครูมากกว่า 2,000 คน หลายๆ ครั้งเราตั้งคำถามว่ามีวิธีอย่างไร เพื่อให้เด็กคนหนึ่งมีแรงจูงใจเชิงบวกต่อการเติบโต ไม่ใช่แค่เรื่องของคุณธรรม เชื่อไหมว่าโดยส่วนใหญ่ครูยังตอบแค่ว่า เขารู้จักแค่ทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เรียกว่า ‘การสั่นกระดิ่งแล้วหมาน้ำลายไหล’ ผมถามว่ารู้ไหมว่าก่อนสั่นกระดิ่งแล้วหมาน้ำลายไหล เขาทำอะไรกับหมาตัวนั้นก่อน ครูบอกว่าจำไม่ได้ ฉะนั้นแม้กระทั่งการออกแบบตัวล่อในทางทฤษฎีของอิวาน พาฟลอฟ ก็ถูกลืมไปแล้ว เขาจำได้แค่ว่าให้รางวัลแล้วลงโทษเป็นเครื่องมือที่มีอยู่ในมือและทำได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นเลยว่า โดยทั่วไปการบริหารห้องเรียนถูกดำเนินการด้วยทฤษฎีนี้เป็นหลัก
“วันนี้เรากำลังพูดถึงการศึกษาที่ต้องการสร้าง Autonomuast Learner คือ ผู้เรียนเป็นเจ้าของความรู้ ผู้เรียนสามารถสืบเสาะข้อมูลเอง สร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เราพูดถึงการสร้างทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 พูดถึงเรื่องการทำให้ผู้เรียนมีสุขภาพจิตที่ดี มีความสุข ไม่มีภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล ความเครียด ที่กำลังเป็นปัญหารุนแรงในสุขภาพจิตวัยรุ่น ณ ปัจจุบัน ซึ่งเรื่องที่พูดถึงทั้งหมดมีรากเดียวกัน คือ ‘รูปแบบของปฏิสัมพันธ์ที่ถูกกล่อมเกลาอยู่ในห้องเรียน’”
แน่นอนว่า เด็กที่ไม่ถูกมองเห็นในชั้นเรียนย่อมมีความเครียดและวิตกกังวลเป็นธรรมดา แต่แล้วจะทำอย่างไรให้ครูมองเห็นพวกเขาเหล่านั้น ในเมื่อครูมีไม้บรรทัดแบบเดียวกันว่าคนที่ครูมองเห็นหรือชื่นชมต้องมีคุณธรรมตามแบบที่กำหนดไว้เท่านั้น
อรุณฉัตรกล่าวว่า ครูจะยกตัวอย่างและชื่นชมเด็กเหล่านี้ให้กับเด็กคนอื่นๆ เห็นว่า ถ้าอยากถูกมองเห็นต้องทำแบบนี้ ในจิตวิทยาเชิงบวกมี Caracter strengths ถึง 24 ตัว ซึ่ง 1 ใน 24 ตัวมีเรื่องของ Humor คือ การมีอารมณ์ขัน ดังนั้นเด็กที่สร้างเสียงหัวเราะในห้องเรียน ถ้าครูไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะมีประโยชน์ สิ่งที่ครูทำคือ “เธอพูดอะไรเลอะเทอะ” แล้วเด็กคนนี้ก็จะไม่สามารถสัมผัสถึงคุณค่าที่เขามีตรงนั้นได้เลย ทั้งที่ถ้าครูสามารถใช้ประโยชน์จากเขา เช่น ก่อนคาบเรียนให้เด็กมาเล่าเรื่องตลกสัก 5 นาที เพื่อจูงใจให้เพื่อนอยากเรียนวิชานี้ แล้วเรามาสร้างการเรียนรู้กัน จากนั้นอีก 45 นาทีที่เหลือก็ตั้งใจเรียนเลยนะ ถ้าทำแบบนี้ได้ เป็นกระบวนการที่ Practical มาก แล้วไม่ใช่ไม่มีตัวอย่าง มีเครื่องมือเหล่านี้เยอะแยะไปหมด แต่ครูไม่เรียนรู้ ครูไม่ถูกสร้างการเรียนรู้เรื่องนี้
“ผมกำลังพูดถึงว่าการสอนอย่างไทยไม่ใช่แค่เราพูดถึงเชิงระบบ การสอน จริงๆ แล้วคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน การสอนคือกระบวนการที่คนหนึ่งคนกำลังนำพาประสบการณ์ให้เกิดขึ้นในห้องเรียน และทำให้ผู้เรียนสามารถเติบโตและงอกงามได้ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ถูกเรียนรู้น้อยไป ในแง่ของ Practical เรากำลังพูดถึงการสร้างครูด้วยวิชาการแข็งๆ การสร้างครูด้วยเครื่องมือที่ปฏิบัติไม่ได้จริง”
นอกจากนี้ อรุณฉัตรยังได้ทำงานกับครูใน ‘โครงการ FamSkool (FamSkool Positive Family Engagement Project)’ ซึ่งได้รับทุนจาก สสส. โดยการชวนครูไปทำงานร่วมกับครอบครัวของนักเรียนแบบเชิงบวก
อรุณฉัตรกล่าวว่า ประเทศไทยนำวิธี ‘การเยี่ยมบ้าน’ มาใช้ด้วยเหตุผลเพื่อลดเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาได้จริง แต่การเยี่ยมบ้านของต่างประเทศเป็น ‘การสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวก’ การเข้าไปออกแบบวิธีการพูดคุย เพื่อให้เกิดการเลี้ยงดูที่ดีขึ้น ขณะที่การเยี่ยมบ้านของเรา ครูรู้แค่ว่ามีนโยบายการเยี่ยมบ้าน และมีเช็กลิสต์มาให้ถามเด็ก เช่น เด็กจนไหม เด็กแว้นไหม ซึ่งแบบนั้นไม่ใช่การเยี่ยมบ้านที่เป็น Practical Point ที่ต่างประเทศทำแล้วได้ผล เราไม่มี Practical ให้ครูเลย ไม่มี Guideline และครูก็ไม่รู้ หลายคนที่เข้ามาในระบบการเทรนนิ่งของเราพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือสิ่งที่ครูเพิ่งรู้ และถ้ารู้ตั้งแต่วันแรกๆ ในวันที่ครูได้เข้ามาเป็นครูนั้น ครูคงไม่เสียใจขนาดนี้ เด็กหลายคนมีบาดแผล ผมเชื่อว่าโดยเจตนาครูไม่ได้ตั้งใจสร้างบาดแผลให้เด็ก แต่ว่าบาดแผลเหล่านั้นถูกสร้างจริงๆ
“สิ่งเหล่านี้ฆ่าวิธีการ Autonomuast Learner แบบชัดเจนมาก ถ้าเด็กไม่รู้สึกดีกับการเรียนจริงๆ ทำไมเขาต้องขยันเรียน ถ้าเด็กไม่รู้สึกดีกับการมีเป้าหมายหรือความงอกงามของตัวเอง ถ้าเข้าไม่รู้สึกว่าพรุ่งนี้เขาดีกว่าวันนี้ได้ ทำไมเขาต้องตั้งใจเรียน เราบอกว่าอยากให้เด็กตั้งใจเรียน อยากให้เป็นพหูสูตรมากเลย อยากให้เรียนหลายสิ่งอย่าง แต่สุดท้ายกลับมาตายรัง เราสร้างแรงจูงใจให้เขาไม่ได้”
ต้องยอมรับว่าโลกในทุกวันนี้ไม่มีขั้นบันได และไม่มีเส้นทางที่การันตีได้ว่าเด็กจบการศึกษาทุกคนจะมีงานทำ การกล่อมเกลาด้วยวลีเดิมๆ ที่ว่า “เรียนจบแล้วจะมีงานทำ” ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นให้เด็กได้ต่อไป
อรุณฉัตรบอกอีกว่า แรงจูงใจสร้างไม่ได้ เพราะหลักฐานไม่มี โดยเฉพาะวัยรุ่น การที่เขาจะเกิดคุณธรรมขึ้นมาในตัวเอง ไม่ได้เกิดจากการสอน หรือว่าการให้รางวัล แต่เกิดจากการแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องของหลักการว่าทำไมเขาถึงทำเรื่องนี้แล้วดี เพราะฉะนั้นข้อเสนอหนึ่งในบทความที่เขียน คือ เราบอกอยากให้เด็กมีคุณธรรม มีความสุข แต่เราไม่มีเวลาในการสร้างเรื่องนี้เลย เรามี Home room วันละ 15 นาที แต่ 15 นาทีทำอะไรได้ แค่เด็กขึ้นมาในห้องก็หมดเวลาแล้ว
Home room ไม่เป็น Home room แต่เป็นเวลาในการสร้างการบ้าน ทำงานที่ค้าง เพราะครูไม่รู้จะ Home room อย่างไร การเยี่ยมบ้านไม่ใช่เยี่ยมบ้าน การประชุมผู้ปกครองเป็นการอธิบายนโยบายให้พ่อแม่ฟัง
“คำพูดหนึ่งที่ผมได้มาจากป้ามล คือ บ้านเราชอบมีเป้าหมาย แต่ไม่มี How to และ How to มัน Practice ไม่ได้เลย ดังนั้นเราจึงพยายามนำเสนอว่า ขอเปลี่ยน How to และให้ความสำคัญกับ How to มากขึ้นหน่อย How to ที่เป็นเรื่องที่จับต้องได้จริงๆ และเกี่ยวกับชีวิตของเด็ก เกี่ยวกับแรงจูงใจที่จะทำให้เขาอยากเป็นคนที่ดีกว่าเดิม เป็นเรื่องที่สำคัญมาก”
กระบวนการนโยบายศึกษาของไทยยังต้องรอการพัฒนา
ในฐานะนักรัฐศาสตร์ที่มีพื้นฐานความรู้เรื่องรัฐและการใช้อำนาจรัฐ ผศ.ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หยิบจับประเด็นอำนาจรัฐที่ทำงานอยู่ในพื้นที่การศึกษามานำเสนอ โดยใช้มุมมองแบบนักรัฐศาสตร์ในการเปิดพื้นที่คำถามเพื่อทำความเข้าใจนโยบายการศึกษา
“นโยบายการศึกษาในที่นี้คือเครื่องมือของอำนาจรัฐ โดยมองว่ามีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มที่หนึ่ง คือ ผู้บริหารการศึกษาภาครัฐ กลุ่มที่ 2 คือ ผู้ปฏิบัติ ซึ่งเรานิยามว่าผู้ปฏิบัติเป็นคนทำงานในโรงเรียน ครู ผู้อำนวยการ และบุคลากรต่างๆ ทั้งนี้เราตั้งต้นว่าคนทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีความเข้าใจต่อกระบวนการนโยบายเหมือนหรือต่างกันอย่างไร รวมไปถึงว่ากระบวนการนโยบายมีช่องว่างทางความรู้อะไรที่น่าจะหยิบมาเป็นโจทย์วิจัย เพื่อที่สุดท้ายจะนำไปสู่คำถามใหญ่ว่า ทำอย่างไรนโยบายการศึกษาของเราจะมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาได้มากกว่านี้”
ทั้งนี้ วงจรนโยบายหนึ่งๆ ในทางรัฐประศาสนศาสตร์นั้น เริ่มจาก ‘การนิยามปัญหา’
ผศ.ดร.วงอร กล่าวว่า รัฐจะเข้ามาก็ต่อเมื่อสังคมมีปัญหาบางอย่างที่อยากแก้ไข ซึ่งในบริบทปัจจุบันเราบอกว่า เราต้องการสร้างคนให้มีชีวิตที่อยู่ในโลกที่กำลังพลิกผัน เป็นตัวอย่างโจทย์ใหม่ๆ ที่นำมาสู่การนิยามว่า สังคมยังต้องการอะไร ถ้าปล่อยให้สังคมดำเนินไปอย่างนี้จะไม่สามารถแก้ปัญหาจุดนั้นได้ จึงเป็นที่มาว่าต้องมีนโยบายการศึกษาเข้ามา ซึ่งบทบาทของรัฐเข้ามาเพราะต้องการทำให้สังคมดีขึ้นกว่าที่จะดำเนินไปเฉยๆ อันนี้เข้าสู่จุดเรียนรู้แรก
“สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากการตกผลึก คือ นโยบายที่ผลิตออกมาต้องทำให้สังคมดีขึ้น ต้องมีความรับผิดรับชอบต่อผู้เรียนหรือสังคม ไม่ใช่มีแล้วถือว่าแค่มี รัฐที่ไม่มีประโยชน์กับประชาชน ต้องกลับมาตั้งคำถามกับประชาชนว่ามีไปเพื่ออะไร
ในประเด็นถัดมาจะเข้าสู่ตัวบทความ เราแบ่งวงจรนโยบายว่า การนิยามปัญหา เมื่อสังคมมีปัญหา คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือคนที่มีอำนาจรัฐในมือจะนิยามปัญหาอะไรออกมา จากนั้นก็เป็นการก่อตัวของการเลือกเครื่องมือที่จะเอามาแก้ปัญหานั้น ถัดจากนั้นเป็นเรื่องของการตัดสินใจนโยบาย อาจจะอยู่ในเวทีของรัฐสภา หรือในพื้นที่ของกระทรวงศึกษาธิการ จากนั้นก็จะเป็นการนำนโยบายไปปฏิบัติ หรือ Policy Implementation ตามด้วยการประเมินผลนโยบาย Policy evaluation และจบที่การตัดสินใจอีกทีว่าเราจะ Terminate นโยบายนั้นหรือจะให้ยังคงอยู่ต่อไป
ทั้งหมดนี้จะเป็นภาพรวมของตัวบทความที่เราได้เขียนไว้ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับฝั่งของบุคคลที่มีบทบาทกับการบริหารระบบการศึกษา ซึ่งในแต่ละจุดเราคิดว่ายังมีช่องว่างอยู่ และได้ทบทวนว่าเรารู้อะไรแล้วบ้างในแต่ละสถานะ”