- ในช่วงเวลาปกติ การจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมและกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของเด็กแต่ละช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นด้านความคิดและอารมณ์ การเรียนปนเล่น เปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ฯลฯ เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงและเป้าหมายสำคัญในแวดวงการศึกษายุคใหม่ แต่โควิด-19 ทำให้รูปแบบการเรียนต้องเปลี่ยนไป เกิดการตั้งคำถามประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง
- ผลกระทบที่ร้ายแรงจากโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนทั่วโลกไม่ใช่แค่การติดเชื้อหรือป่วยด้วยโรค แต่เป็นความไม่เท่าเทียมและการเสียโอกาสทางการศึกษา เพราะเด็กหลายคนไม่มีโอกาสเข้าถึงระบบพื้นฐานที่สนับสนุนการเรียนวิถีใหม่ โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์
- นอกจากนี้ภาวะความเครียดในเด็กและผู้ปกครองเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากสถานการณ์โรคระบาด และความกดดันจากการเรียนออนไลน์ เด็กๆ ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและห้องเรียนออนไลน์บอกว่า พวกเขาไม่สามารถจัดการตัวเอง และไม่สามารถทำการบ้านจำนวนมากจากทุกสาระวิชาส่งได้ทันเวลา โดยเฉพาะเมื่อไม่มีครูให้ถามหากมีข้อสงสัย และไม่มีผู้ปกครองอยู่ใกล้คอยให้คำแนะนำ
วิกฤติโควิด-19 เป็นช่วงเวลายากลำบากที่ผู้คนทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกัน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ไม่สามารถเดินทางไปโรงเรียน หรือสถานศึกษาตามปกติได้ องค์การยูนิเซฟระบุว่า การปิดโรงเรียนส่งผลกระทบต่อนักเรียนร้อยละ 90 ทั่วโลก และแม้การเรียนออนไลน์จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหา แต่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ เสียงสะท้อนจากหลายๆ บ้านกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ด้านหนึ่งมันกำลังสร้างภาระอันหนักอึ้งให้กับคนในครอบครัว ขณะที่อีกด้านกลับตอกลิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมการศึกษามากขึ้นไปอีก
ทว่า อีกประเด็นหนึ่งที่นักการศึกษากำลังให้ความสนใจ และอาจมีผลกระทบต่อเนื่องในอนาคตก็คือ การเรียนออนไลน์กับการพัฒนาสมองของเด็ก ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่าด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดของเทคโนโลยีและสถานการณ์ที่ทุกคนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของเด็กลดลง
การเรียนออนไลน์กับการพัฒนาสมองของเด็ก
ในช่วงเวลาปกติการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมและช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของเด็กแต่ละช่วงวัย ทั้งด้านความคิดและอารมณ์ การเรียนปนเล่น การเปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ การสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็ก เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงและเป้าหมายสำคัญในแวดวงการศึกษายุคใหม่ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ในยุค new normal เมื่อเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย บอกว่า
“ประสิทธิภาพในการเรียนของเด็กลดลงอย่างมาก!”
องค์การยูนิเซฟ กล่าวถึง การศึกษาในช่วงโควิด-19 ว่า ทุกฝ่ายต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้โรงเรียนสามารถเปิดได้อย่างต่อเนื่อง หรือจัดให้เป็นสถานที่ที่เปิดได้ในลำดับต้นๆ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ จากการสำรวจพบว่าการปิดโรงเรียนส่งผลกระทบต่อนักเรียนร้อยละ 90 ทั่วโลก โดยนักเรียนกว่า 1 ใน 3 ไม่สามารถเรียนทางไกลได้ คาดการณ์ว่า เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาอาจเพิ่มขึ้นเป็นพันล้านคน
ผลกระทบที่ร้ายแรงจากโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนทั่วโลกจึงไม่ใช่แค่การติดเชื้อหรือป่วยด้วยโรค แต่เป็นความไม่เท่าเทียมและการเสียโอกาสทางการศึกษา เพราะเด็กหลายคนไม่มีโอกาสเข้าถึงระบบพื้นฐานที่สนับสนุนการเรียนวิถีใหม่ โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์
แม้มีความพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการห้องเรียนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธปัญหาที่พบจากการเรียนออนไลน์ได้ ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ไม่พร้อม บางบ้านมีลูกหลานเรียนอยู่หลายคน แต่มีอุปกรณ์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว หรือไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต มีสัญญาณแต่ไม่เสถียร เรียนไม่รู้เรื่อง บางบ้านจำเป็นต้องติดตั้งสัญญาณ จนกลายเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้กับครอบครัว
ความเครียดของเด็กและสุขภาพจิตของพ่อแม่
เด็กและผู้ปกครองหลายบ้านกำลังตกอยู่ใน ภาวะเครียดระดับสูง สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) ทำการสำรวจผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ ช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2020 เกี่ยวกับความเครียดที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ระดับความเครียดโดยเฉลี่ยที่รายงานออกมา ไม่เพียงสูงกว่าปี 2019 อย่างมีนัยสำคัญเท่านั้น แต่เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นเกิดมาตรฐานอย่างมากนับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจในปี 2007
อย่างไรก็ตาม การสำรวจระดับความวิตกกังวลของกลุ่มเด็กวัยรุ่นในสหราชอาณาจักร พบผลลัพธ์แตกต่างออกไป เด็กทั่วไปมีความเครียดน้อยลง แต่ กลุ่มเด็กวัยรุ่นที่มีภาวะวิตกกังวลหรือเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้วได้รับผลกระทบอย่างมาก ข้อมูลจากโรงพยาบาลเด็กแท็กซัส สหรัฐฯ รายงานว่า ผู้ป่วยเด็กมีปัญหาเรื่องการนอนหลับและมีอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการแยกตัวทางสังคม
เมื่อเด็กๆ เรียนอยู่ที่บ้าน ผู้ปกครองต้องรับหน้าที่หลักดูแลลูก มีลูกหลานแต่ละวัย อุปสรรคที่พบก็แตกต่างกันไป บางคนลูกเล็กจำเป็นต้องอยู่กับลูกที่บ้านและเรียนไปพร้อมลูก แต่พ่อแม่บางคนต้องทำงานไม่สามารถจัดสรรเวลาส่วนนี้ได้ คนที่มีลูกโตขึ้นมาหน่อยก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา พ่อแม่บางคนเล่าว่าไม่สามารถควบคุมเวลาบนหน้าจอของลูกได้ ไม่รู้ว่าลูกเรียนอยู่จริงๆ หรือทำอย่างอื่น หลายครั้งลูกบ่นว่าการบ้านเยอะ หรือเด็กโตในวัยมหาวิทยาลัยก็โหยหาการได้รวมกลุ่มกับเพื่อนฝูง
อีกด้านหนึ่ง เด็กๆ ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและห้องเรียนออนไลน์บอกว่า พวกเขาไม่สามารถจัดการตัวเอง และไม่สามารถทำการบ้านจำนวนมากจากทุกสาระวิชาส่งได้ทันเวลา โดยเฉพาะเมื่อไม่มีครูให้ถามหากมีข้อสงสัย และไม่มีผู้ปกครองอยู่ใกล้คอยให้คำแนะนำ
เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก สารคดีสั้นเรื่อง ข้อจำกัดการเรียนรู้ – เด็กในวิกฤติ (The limits of learning – kids in crisis) โดย Deutsche Welle (DW) สถานีโทรทัศน์ประเทศเยอรมันนี ได้นำเสนอกรณีศึกษาจากห้องเรียนเสมือนจริงในภาวะวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้
เลอันโดร บูร์กดอร์ฟ (Leandro Burgdorff) วัย 14 ปี เรียนอยู่เกรด 8 (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2) บอกว่า การเรียนออนไลน์ที่บ้านทำให้เขารู้สึกกดดัน ในหัวเต็มไปด้วยเดดไลน์กำหนดส่งงาน ซึ่งเขารู้ดีว่าไม่มีทางทำได้ทันเวลา เขาต้องตัดสินใจ (บนภาวะความเครียด) ว่า ควรเลือกทำการบ้านวิชาไหนก่อน เขาส่งงานชิ้นหนึ่งได้ตรงเวลา ส่วนอีกชิ้นก็ต้องเลทไปอย่างไม่มีทางเลือก ผลที่ออกมาทำให้เขารู้สึกแย่กับตัวเอง
ขณะที่อีกครอบครัว แคทรีนา เดอ กราห์ล (Catharina de Grahl) วัย 13 ปี กำลังศึกษาอยู่เกรด 8 เช่นเดียวกัน บอกว่า เธอรู้สึกกดดันที่ต้องอยู่บ้านกับน้องชายวัย 10 ขวบ เกรด 5 (ประถมศึกษาปีที่ 5) ตามลำพัง ขณะที่แม่เป็นหมอต้องออกไปทำงานทุกวัน เธอต้องรับผิดชอบการเรียนของตัวเอง และช่วยแนะนำการบ้านให้น้องชาย บางครั้งเธอคิดถึงแม่มาก เพราะคิดว่าแม่คงช่วยแนะนำหลายๆ อย่างให้เธอและน้องชายได้
แม่ของแคทรีนา กล่าวว่า เธอรู้สึกผิดกับการทิ้งลูกๆ ไว้ที่บ้านตลอดทั้งวัน พวกเขาใช้ชีวิตอยู่กับอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ และต้องเรียนด้วยตัวเอง แต่ก็ต้องยอมรับว่าการจัดสรรเวลาในบทบาทงานที่ทำ บทบาทแม่และต้องมารับบทบาทเป็นครูด้วย ไม่ใช่เรื่องง่าย
ความเครียดขัดขวางการพัฒนาทักษะการคิด และ EF
งานวิจัยด้านประสาทวิทยา (neuroscience) ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ความเครียดและบาดแผลทางใจ (trauma) (อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง) ส่งผลต่อสมองและการพัฒนาด้านสติปัญญา ทั้งสองอย่างนี้กำลังเกิดขึ้นแล้วกับ เด็กท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ทั้งจากการใช้ชีวิตที่ต้องแยกตัวจากสังคม บางคนต้องเจอกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ขณะที่บางคนเกิดความกลัวหรือต้องยอมรับความจริง เมื่อคนในครอบครัว คนที่รักป่วย หรือเสียชีวิตจากโควิด-19 หากผู้เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษาไม่เริ่มบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวลที่เด็กๆ กำลังเผชิญอยู่ สุขภาพกายและจิตใจของเด็ก รวมถึงผู้ปกครองกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง
นอกจากนี้ ความเครียดยังขัดขวางการพัฒนาทักษะการคิด (cognitive skills) และการพัฒนา EF (executive function) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมองส่วนหน้า เช่น ความสามารถของสมองด้านบริหารจัดการ การคิดเชิงบริหาร การตัดสินใจ การควบคุมอารมณ์ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ความคิดยืดหยุ่นและความจำ
คุณลักษณะเหล่านี้มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตที่เชื่อมโยงไปสู่ความสำเร็จในการเรียน อาชีพ และสุขภาพทั้งกายและใจ หากพัฒนาการทางสมองส่วนหน้าของเด็กหยุดชะงัก ผลที่เกิดขึ้นตามมา คือ
- มีความเสี่ยงต่อการใช้ยาเสพติด
- มีความเสี่ยงต่อการพาตัวเองไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม
- มีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง จากการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
- มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต
- อาจต้องต่อสู้กับภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย
จากเอกสารงานวิจัยนำเสนอผลกระทบทางประสาทวิทยาต่อเด็กกับการเรียนรู้ออนไลน์ – “The neuropsychological impact of E-learning on children” ระบุว่า ผลการศึกษาหลายชิ้นเจอข้อค้นพบไปในทิศทางเดียวกันว่า การใช้เวลาบนหน้าจออุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารส่งผลกระทบต่อสมอง ยกตัวอย่างเช่น ทำให้สมองส่วน ‘คอร์เทกซ์ (cortex)’ ซึ่งทำหน้าที่คิด สูญเสียศักยภาพในการทำงาน ทั้งเรื่องการโฟกัสอย่างต่อเนื่อง การประมวลผล ความสามารถในการรับรู้ทางสังคม และความฉลาดทางวาจาของแต่ละบุคคล นอกจากนี้การค้นหาข้อมูล การอ่าน และการใช้เครื่องมือออนไลน์ ยังลดการทำงานเชื่อมต่อของสมองที่รับผิดชอบหน่วยความจำระยะยาว และการเชื่อมโยงการเรียนรู้จากประสบการณ์เดิม และส่งผลเสียต่อระบบการมองเห็น
งานวิจัยเรื่อง สมองออนไลน์ : อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนการรู้คิดของเราได้อย่างไร (The ‘online brain’: how the internet may be changing our cognition) โดย เฟิร์ท เจ. (Firth J.) และทีมงาน กล่าวว่า แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ทำให้สมองทำงานหลายโหมดและต้องสลับการทำงานไปมาอย่างรวดเร็ว เช่น การเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของสิ่งเร้าทางสายตา ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่ง วิดีโอ ภาพกราฟิก บนโลกออนไลน์ ที่หลายครั้งเกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน ทำให้ร่างกายทำงานหนัก ระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกายต้องทำงานอย่างเต็มที่ และดึงเวลาไปจากกิจวัตรประจำวันในแต่ละวัน ในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดความจำเสื่อม เนื่องจากหน่วยความจำในสมองทำงานเกินขีดจำกัด ขัดขวางศักยภาพและความสามารถในการจดจำ การประมวลผลข้อมูลอย่างถูกต้อง รวมถึงความเข้าใจต่อเรื่องราวต่างๆ รอบตัว หลายคนไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตได้
ยิ่งเมื่อเด็กไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและสังคมรอบข้าง เด็กจะขาดทักษะทางสังคม เช่น ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การทำงานเป็นทีม และความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อนฝูง
วิธีการเร่งด่วนที่พอช่วยได้ในทันที คือ การจำกัดชั่วโมงการใช้งานบนโลกออนไลน์ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ปกครองอยู่ดี
งานวิจัยฉบับนี้เขียนไว้อย่างน่าสนใจว่า วิกฤตโรคซาร์ (SARS) ราวปี 2007 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ช (e-commerce) ก้าวหน้า แต่เราคงไม่สามารถนำอนาคตของเด็กมาเทียบกับวิธีการจัดการกับสินค้าในยุคนั้นได้ การศึกษาจึงไม่ควรนำไปเชื่อมโยงกับการตลาด
ไม่ต้องห่วงเรื่องวิชาการ ให้สมองได้พัฒนาจากการใช้ประสบการณ์ชีวิต
แน่นอนว่าการเรียนออนไลน์ไม่ได้มีเฉพาะข้อเสีย เพราะเด็กๆ หลายคนสามารถพัฒนาการเรียนรู้ของตัวเองท่ามกลางวิกฤตนี้ได้อย่างดีเยี่ยม แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีอีกหลายคนกำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เวลานี้วิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตในตำราเรียน คงไม่สู้การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง
ซารา เลอวีน เอลเลน (Sarah Levin Allen) นักประสาทวิทยาเด็กและผู้อำนวยการบริหารเบรน บีเฮฟวิเออร์ บริดจ์ (Brain Behaviour Bridge) กล่าวไว้ในบทความ การเรียนรู้ไม่ใช่แค่เรื่องวิชาการ (Learning isn’t just academic.) ว่า เราไม่ได้มีสมองส่วนการอ่านหรือคณิตศาสตร์ เรามีทักษะและความสามารถที่นำไปประยุกต์เข้ากับวิชาการอ่านและคณิตศาสตร์
ท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้พ่อแม่ไม่ต้องห่วงเรื่องวิชาการ แต่ให้หันมาโฟกัสที่การช่วยให้เด็กๆ ได้พัฒนาคุณลักษณะและทักษะชีวิตของตัวเอง
เอลเลนได้เสนอแนะวิธีการปรับความคิด และสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับผู้ปกครองไว้ ดังนี้
การเผชิญกับปัญหาและการปรับตัวเป็นเรื่องที่ต้องสอน
เด็กๆ จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีจัดการกับ ‘สิ่งเลวร้าย’ หรือ ‘เรื่องยากๆ’ ในชีวิตที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ พวกเขาต้องเรียนรู้วิธีการปรับกรอบความคิดและการสร้างแรงผลักดันให้ตัวเอง ในส่วนนี้มีเรื่องของการจัดการอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
พ่อแม่สามารถสื่อสารถึงอารมณ์ของตัวเองกับลูก (อย่างมีสติ) เหมือนเป็นการเล่าสู่กันฟัง แล้วให้ลูกสะท้อนความรู้สึกของตัวเอง วิธีการนี้ช่วยให้เด็กพัฒนาความเข้าใจทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น
สอน ‘วิธีการ’ ให้ลูก รวมถึง ‘วิธีการคิดและการวางความรู้สึก’ ต่อเรื่องที่พบเห็น ผ่านการกลั่นกรองและตั้งคำถาม
เด็กๆ ควรเข้าใจสิ่งที่พวกเขากำลังอ่าน ค้นคว้า หรือศึกษา เรียนรู้วิธีคิด วิเคราะห์ เปรียบเทียบมุมมองความคิด และตัดสินใจว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับเรื่องนั้น ยกตัวอย่าง การเปรียบเทียบข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมีเดีย ซึ่งปัจจุบันเต็มไปด้วยข่าวปลอมและข่าวลือ
เด็กๆ ต้องสามารถระบุแหล่งที่มาของข่าว เปรียบเทียบข้อมูลที่อ่านหรือได้ยิน ผู้ปกครองสามารถนำสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาชวนคิดวิเคราะห์ ส่วนหนึ่งทำให้ลูกเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ช่วยลดความเครียด ความกลัว และความวิตกกังวล อีกส่วนหนึ่งเพื่อชวนคิดต่อถึงวิธีการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ลูกได้ฝึกทักษะการคิดของตัวเอง
วิธีการที่ว่ามานี้ นอกจากช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของเด็ก ไม่ให้ถูกกลืนเข้าไปในโลกดิจิทัลแล้ว ยังเป็นการให้เวลาผู้ปกครองทบทวนตัวเอง ผู้ปกครองที่จำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ไม่สามารถให้เวลากับลูกได้อย่างเต็มที่ สามารถใช้เวลานี้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกได้อีกด้วย
The Potential ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ปกครอง และส่งกำลังใจให้กับเด็กๆ ทุกคน