- ปัญหาสุขภาพจิตคือปัจจัยฉุดรั้งศักยภาพของเด็กและเยาวชนไทยอันดับต้นๆ การเข้าให้ถึง ‘ใจ’ ของเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ
- กสศ. เปิดเวทีเสวนา “Heart & How หนทางกู้ใจวัยเรียน เพิ่มแรง ต่อพลังคนทำงาน” โดยมีองค์ความรู้และประสบการณ์ดีๆ ที่เป็นผลการดำเนินงานของ ‘นักกู้ใจ’ ในบริบทที่หลากหลาย เพื่อปกป้องสุขภาวะใจของเด็กๆ ให้กลับมารับมือกับสภาพปัญหาได้อย่างเข้มแข็ง
- หัวใจสำคัญในการโอบอุ้มหัวใจของเด็ก คือ ‘การสร้างพื้นที่ปลอดภัย’ ให้เกิดขึ้น ซึ่งคุณครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ เมื่อเด็กเจอประสบการณ์ที่เลวร้ายมา หากเจอครูที่เป็นแสงสว่าง สามารถเป็นที่พึ่งทางใจ อาจทำให้เด็กมีสุขภาวะทางใจที่ดีขึ้นได้
ถึงวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธแล้วว่า ปัญหาสุขภาพจิตคือปัจจัยฉุดรั้งศักยภาพของเด็กและเยาวชนไทยอันดับต้นๆ จากการสำรวจข้อมูลกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 360,069 ราย ของกรมสุขภาพจิต ผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ระหว่างวันที่ 12 ก.พ. 65 – 27 ก.พ. 67 พบว่ามีเด็กและวัยรุ่นเสี่ยงซึมเศร้าถึง 39,105 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.86, เสี่ยงฆ่าตัวตาย จำนวน 65,951 ราย คิดเป็นร้อยละ 19.12
ด้วยเหตุนี้ การเข้าให้ถึง ‘ใจ’ ของเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเวทีเสวนา “Heart & How หนทางกู้ใจวัยเรียน เพิ่มแรง ต่อพลังคนทำงาน” ชวนวิทยากรผู้ที่ทำงานในมิติของใจมาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่อาจช่วยให้พ่อแม่ ครู และบุคคลที่อยู่แวดล้อมเด็กได้รับฟังและโอบอุ้มพวกเขาด้วยความเข้าใจ
‘สร้างพื้นที่ปลอดภัย’ โอบอุ้มหัวใจวัยเรียน
หากมองระบบนิเวศในธรรมชาติกับการเรียนรู้ จะเห็นว่าพื้นที่ครอบครัวและโรงเรียนคือนิเวศการเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้นบุคคลแวดล้อมทั้งหมดล้วนมีผลต่อการเติบโต พัฒนาการ และการเรียนรู้ของเขาทั้งสิ้น
อาจารย์อธิษฐาน์ คงทรัพย์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่าจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา เราพบว่าหัวใจสำคัญในการโอบอุ้มหัวใจของเด็ก คือ ‘การสร้างพื้นที่ปลอดภัย’ ให้เกิดขึ้น และต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยในมิติด้านจิตใจด้วย หากมองว่าเด็กคนหนึ่งคือต้นไม้ ต้นไม้ต้นนี้จะดำรงอย่างมีสุขภาวะได้ สิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศที่รายล้อมต้องดี ถ้าระบบนิเวศเอื้อต่อการเติบโต ต้นไม้ก็จะแข็งแรง แต่ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นในระบบ แน่นอนว่าต่อให้ใส่ปุ๋ยมากขนาดไหน ต้นไม้ก็ป่วยได้
“ตอนที่เราทำงานขับเคลื่อนโรงเรียน พบว่า การมีครูที่เก่งและเข้าใจ มีทักษะการฟังที่ดีช่วยเด็กได้ เรามีโอกาสทำงานกับโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเริ่มต้นตั้งแต่บริบทของวัฒนธรรมร่วมในโรงเรียนเลย เราบอกว่าอยากให้ฟังเด็กก่อน ไม่ด่วนตัดสินเมื่อเกิดปัญหา และเป็นครูที่เป็นมิตรกับเด็ก
เพราะการที่เด็กรู้ว่ามีใครสักคนที่เข้าใจ รับฟัง แล้วไม่ด่วนตัดสิน จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเขา ซึ่งจะช่วยให้เด็กรู้สึกว่าเวลาเกิดปัญหาอะไร ก่อนที่เขาจะดิ่งหรือจมลึกไปกว่านี้ มีคนหนึ่งที่เข้ามาหาแล้วปลอบเขาได้ ตรงนี้มีส่วนช่วยมากๆ”
นอกจากครูแล้ว หากเด็กมีทักษะที่รับฟังกันได้ดี อาจเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียนได้ด้วย
อาจารย์อธิษฐาน์เล่าว่ามีโครงการของโรงเรียนหนึ่ง พอไปถามเด็กว่า ถ้ามีเงินทุนให้ทำงานขับเคลื่อนโรงเรียนให้มีความสุข อยากทำเรื่องอะไร เด็กบอกว่าอยากทำพื้นที่ปลอดภัยให้กับเพื่อน อยากให้เพื่อนได้มาระบายความทุกข์ เพราะในการเรียนรู้ระบบปกติ ไม่มีพื้นที่ไหนให้เด็กมาบอกความรู้สึกของตัวเองเลย
“ทุกคนมาด้วยความคาดหวังว่าต้องเรียนให้ดี ต้องเรียนให้เก่ง พ่อแม่ก็กดดัน ครูก็คาดหวัง เวลาเขามีประเด็นบางอย่างในใจ มันไม่มีพื้นที่ให้บอก กลายเป็นว่าเขาได้รับความร่วมมือจากเพื่อนเยอะมาก ฉะนั้นเราต้องมองบริบทแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็ก และช่วยจัดวางให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ ไม่ใช่แค่ลงไปที่ตัวเด็กเท่านั้น แต่ทำให้ครู ครอบครัว และเพื่อน มีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย และเป็นพื้นที่ดูแลกันและกัน ถ้าเราช่วยกันได้ ทำให้บ้านและโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ก็จะช่วยป้องกันปัญหา ไม่ต้องปล่อยให้เด็กไปพบจิตแพทย์ที่ปลายทาง”
ครูเปลี่ยน เด็กเปิด สร้างสะพานเชื่อมใจด้วย ‘จิตศึกษา’
เด็กและเยาวชนที่ได้รับทุนฯของ กสศ. ในหลายพื้นที่เป็นกลุ่มเด็กเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเผชิญปัญหาชีวิตรอบด้าน นวัตกรรมจิตศึกษาจากมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยปรับกรอบความคิดของครูและนำไปสู่การปรับพฤติกรรมเด็กได้
ผศ.ดร.สุภาภรณ์ คำเรืองฤทธิ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ กล่าวว่าเครื่องมือจิตศึกษาส่วนหนึ่งมีเรื่องของการฟังอย่างลึกซึ้ง การเปิดพื้นที่ปลอดภัย และการลดอำนาจเหนือ เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่สามารถนำไปใช้ทำงานกับ อปท. ภายใต้การสนับสนุนจาก กสศ. โดยเริ่มจากการพัฒนาศักยภาพครูก่อน เพราะการที่ครูจะช่วยลูกศิษย์ได้นั้น ครูต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน ครูถึงจะช่วยลูกศิษย์ได้อย่างแท้จริง
“การอบรมจิตศึกษาของคุณครูมีทั้งอบรมในห้องเรียน และพาไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เพื่อให้เห็นรูปแบบของการประยุกต์ใช้ในชั้นเรียน ขณะที่กระบวนการจะเป็นตัวสร้างพลังให้ครูอยากไปปรับเปลี่ยนห้องเรียนของตัวเองให้เป็นห้องเรียนแห่งความสุข”
นอกจากนี้ ผศ.ดร.สุภาภรณ์ ยังเล่าว่ามีการนำจิตศึกษามาใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาด้วย
“เรามีโครงการที่เรียกชื่อสั้นๆ ว่า ‘นครสวรรค์โมเดล’ เข้าไปช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดของเทศบาลนครนครสวรรค์ เราก็ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับเด็ก ผ่านการใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น ตารางสี่ช่อง การฟังให้มีพลังด้วยบทสนทนาที่มีความหมาย
คุณครูทุกคนที่ลงพื้นที่ผ่านการฝึกฝนทักษะการรับฟังอย่างตั้งใจ ฟังด้วยหัวใจ ฟังอย่างไม่ตัดสิน และฟังแบบไม่แทรกถาม แล้วก็จะเก็บประเด็นปัญหาทั้งหมดมาวิเคราะห์ร่วมกัน และเข้าสู่กระบวนการการแก้ไข โดยไม่ว่าเด็กจะมีปัญหาสุขภาพจิต เศรษฐกิจ หรือปัจจัยเรื่องใด เราจะดึงภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันออกแบบแนวทางการช่วยเหลือให้ตรงกับเป้าหมาย รวมถึงตรงกับความต้องการของเด็กและผู้ปกครอง ส่วนเด็กที่มีปัญหาแฝงเรื่องสุขภาพจิต เราก็จะตั้งวงสนทนาแบบสุนทรียสนทนา เราเชื่อว่ากระบวนการจิตศึกษาจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้เด็กๆ ได้ฟื้นฟู self esteem และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง”
ศูนย์เรียนรู้มโนราห์บ้านปากลัด ใช้วัฒนธรรมปรับใจ
การรำมโนราห์ที่หลายคนมองเห็นว่าเป็นแค่การร้องรำหรือการแสดง แต่ใครจะคาดคิดว่าศิลปวัฒนธรรมที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจะเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเชิงลบให้เด็กเยาวชนในชุมชนได้
อาจารย์ชานนท์ ปรีชาชาญ ศูนย์เรียนรู้มโนราห์บ้านปากลัด จังหวัดสุราษฎร์ธานี เล่าว่าศูนย์เรียนรู้มโนราห์บ้านปากลัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนที่เด็กเป็นผู้ก่อตั้ง เป็นการรวมกลุ่มขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและเป็นพื้นที่เรียนรู้แบบครบวงจร เด็กๆ ที่มาในศูนย์ไม่ได้เรียนรู้แค่ในเรื่องของวัฒนธรรม แต่เรียนรู้ทุกอย่างที่เป็นภูมิปัญญาในชุมชน นอกจากนี้ยังมีการดูแลช่วยเหลือกันทั้งในมิติของกายและใจ เวลาเด็กๆ มีปัญหาจะมีรุ่นพี่คอยเป็นที่ปรึกษา ซึ่งเยาวชนที่เข้ามาเรียนรู้ในศูนย์มีทั้งเด็กในและนอกระบบการศึกษา แต่ทุกคนก็รักและโอบอุ้มดูแลกัน
“เด็กในชุมชนบ้านปากลัดต่างรู้จักกับวัฒนธรรมที่อยู่ในชุมชนดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะวัฒนธรรมการกิน การดำรงชีวิต การปลูกผัก เลี้ยงไก่ เขาเรียนรู้มาตั้งแต่เกิด นอกจากนี้ชุมชนเรามีความพิเศษเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น มโนราห์และหนังตะลุงอยู่ด้วย เรามีครูภูมิปัญญา มีปราชญ์ชาวบ้านที่มีองค์ความรู้ ดังนั้นเรานำสิ่งเหล่านี้มาประคบประหงมเด็กๆ ให้เขาเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิต และการอยู่อย่างรู้จักสัมมาอาชีพ นอกจากนี้ยังหนุนเสริมในเรื่องของการเข้าใจสิทธิของเพศสภาพ สอนให้เขารู้จักบทบาทและหน้าที่ของตนเอง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนร่วมกันอย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ ศูนย์เรียนรู้มโนราห์บ้านปากลัดยังมีแนวคิดส่งเสริมให้เด็กๆ ในชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของ และเลือกพัฒนาศักยภาพให้ตรงตามความต้องการ
“เราให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ เช่น หลักสูตรชุมชน เป็นหลักสูตรง่ายๆ เช่น การทำอาหาร ทำขนม การแปรรูปพืชสมุนไพรที่มีในท้องถิ่น เมื่อเขาได้ออกแบบการเรียนรู้เอง เขาจะรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ หวงแหน ทำให้เด็กๆ รักและไม่ทิ้งชุมชน ขณะเดียวกันก็พยายามส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ เพื่อให้เขาสามารถขยับตัวเองไปยังเป้าหมายชีวิตที่วางไว้ พึ่งพาตัวเองได้ และพาตัวเองไปสู่สิ่งที่อยากจะเป็น”
‘คลินิกสุขกายสบายใจ’ ดึงทีมจิตแพทย์ฟื้นฟูใจนักเรียน
เด็กด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ แม้ว่าจะเผชิญภาวะปัญหาที่ต่างกัน บางคนมีปัญหาครอบครัวเป็นหลัก พ่อแม่อยู่ในเรือนจำ ขณะที่บางคนอยู่ในชุมชนที่รอบล้อมไปด้วยปัญหายาเสพติด แต่ส่วนใหญ่ค่อนข้างจะมีปัญหาด้านอารมณ์ ความเครียด และบางคนอาจมีภาวะซึมเศร้าด้วย
ประทิน เลี่ยนจำรูญ วิทยาลัยเทคนิคพังงา กล่าวว่า การช่วยเหลือเด็กๆ กลุ่มนี้ ลำพังแต่ครูคงยากที่จะดูแลได้อย่างครอบคลุมโรงเรียนจึงพยายามมองหาเครือข่ายที่เข้ามาช่วยเหลือได้ ซึ่งโชคดีที่หมอฝน (พญ.ศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนราชนครินทร์) ช่วยประสานงานโรงพยาบาลพังงาส่งทีมแพทย์และนักจิตเวชเข้ามาช่วยเหลือเราตั้งแต่การคัดกรองเด็กเลย
“เรามีระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตเด็ก ซึ่งเริ่มตั้งแต่คัดกรองเด็กที่เข้ามาเรียนกับเราว่ามีความเสี่ยงในระดับใด โดยใช้แบบทดสอบของกระทรวงสาธารณสุข และมีการเสริมสร้างทักษะชีวิต ดูแลสุขภาพจิตของเขาภายในวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีคลินิกสุขกายสบายใจ ที่มีจิตแพทย์และนักจิตเวชเข้ามาพูดคุยกับเด็กเป็นระยะ เพื่อดูแลผู้เรียนที่มีความเครียดสูง และมีภาวะซึมเศร้าในรูปแบบต่างๆ แต่ถ้าเราเจอเด็กที่มีภาวะซึมเศร้าสูงมาก จะส่งต่อโรงพยาบาล ซึ่งคุณหมอจะดูแลเป็นกรณีพิเศษ ขณะที่เราจะต้องดูแลเด็กในเรื่องการกินยา คุณครูจะเป็นผู้จัดยาให้กับเด็ก มีกระเป๋ายาของเด็กแต่ละคน เพราะถ้าเราไม่จัดให้ เขาจะไม่กินยา ซึ่งส่งผลให้เขาอาการแย่ลง นอกจากนั้นเรายังมีหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องปัจจัยการดำรงชีวิต พร้อมทั้งดึงผู้นำชุมชนมาช่วยดูแลเฝ้าระวังเด็กด้วย”
‘Safe Zone Application’ เพื่อนช่วยเพื่อนจัดการความเครียด
วิทยาลัยเทคนิคพังงาไม่เพียงช่วยเหลือติดตามดูแลสุขภาวะจิตใจเด็กที่มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง ยังสนับสนุนนักเรียนจัดทำ ‘Safe Zone Application’ เพื่อเป็นเครื่องมือผ่อนคลายจิตใจในรูปแบบเพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง
นาถวัฒน์ ลิ้มสกุล นักเรียนทุน กสศ. เล่าว่าจุดเริ่มต้นของ Safe Zone Application มาจากการมีโอกาสเข้าร่วมโครงการ สสส. เป็นโครงการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งเลือกทำเรื่องของสุขภาพจิต เนื่องจากเห็นว่าเพื่อนนักเรียนอยู่ในภาวะตึงเครียดมาก ช่วงเริ่มต้นพยายามศึกษาข้อมูลงานวิจัยต่างๆ และได้เข้าไปปรึกษาทีมจิตแพทย์ที่เข้ามาทำงานร่วมกับโรงเรียนว่าอยากทำเว็บแอปฯ เรื่องสุขภาพจิตควรทำอย่างไร ซึ่งพี่ๆ แนะนำว่าแทนที่จะคิดเองน่าจะลองถามจากผู้ใช้งาน ก็เลยลงไปคุยกับกลุ่มตัวอย่างว่าเวลาเขาเครียดแล้วทำอะไรบ้าง จากนั้นนำเครื่องมือที่ได้ทั้งหมดมาตกตะกอนพัฒนาเป็นฟังก์ชันต่างๆ ใน Safe Zone Application ซึ่งเครื่องมือทั้งหมดจะปรึกษาร่วมกับนักจิตวิทยาก่อน เพราะสุขภาพจิตเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราต้องให้ความสำคัญกับทุกส่วนทั้งในเรื่องข้อความ สี และภาพ เราทำเรื่องนี้อยู่ 2 ปี กว่าจะได้เว็บแอปพลิเคชันสำเร็จออกมา
“Safe Zone Application ไม่ใช่เครื่องมือที่รักษา แต่เป็นพื้นที่ผ่อนคลายความเครียด เราอยากให้เพื่อนนักเรียนมีพื้นที่ที่รู้สึกว่าปลอดภัยและอยากกลับมาเมื่อไหร่ก็ได้ ในเว็บแอปฯ จะมีเครื่องมือหลายๆ อย่าง เพราะเครื่องมือหนึ่งอย่างไม่สามารถการันตีได้ว่าเหมาะสมกับทุกคน เครื่องมือที่ใส่ลงไปจะเน้นให้เขาได้ฝึกทักษะการรับมือกับอารมณ์ของตัวเอง การทำให้เขากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ และทำให้เขามี Self-talk
ซึ่งหลังจากเปิดใช้งานเว็บแอปฯ ในโรงเรียน ก็มีเพื่อนๆ ให้ความสนใจเข้าใช้งานอย่างต่อเนื่อง มีน้องนักเรียนบางคนที่มีภาวะซึมเศร้าสูงก็ใช้เว็บแอปฯ ในการผ่อนคลายความเครียดควบคู่ไปกับการรักษา ซึ่งตอนนี้น้องเรียนจบและหายจากภาวะซึมเศร้าแล้ว เราเองก็ภูมิใจที่ Safe Zone Application ได้มีส่วนช่วยให้เพื่อนๆ จัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้น รวมทั้งยังมี empathy รับฟังผู้อื่นได้ดีขึ้นด้วย
‘เสริมสร้างทักษะชีวิต’ พัฒนาจิตใจกลุ่มเด็กด้อยโอกาส
กลุ่มเด็กผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ภายใต้ทุน กสศ. ส่วนใหญ่ต่างมีบาดแผลทางจิตใจ จนกลายเป็นภาวะบกพร่องทางอารมณ์ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่กลายเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ กสศ. และ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนราชนครินทร์ ได้จัดทำ โครงการพัฒนาระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตและการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอาชีวศึกษา เพื่อช่วยให้นักศึกษาทุนได้รับการช่วยเหลือดูแลด้านสุขภาพจิตอย่างเหมาะสม
พญ.ศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่าที่ผ่านมาเราทราบข้อมูลกันดีและมีผลการศึกษาวิจัยออกมานานแล้วว่านักเรียนสายอาชีพมีพฤติกรรมเสี่ยงและปัญหาสุขภาพจิตที่ต้องการการเฝ้าระวังมากกว่านักเรียนในสายสามัญ ซึ่งแม้ว่าจะมีข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่ได้สร้างความตระหนัก หรือมีแนวทางการรองรับปัญหาที่ชัดเจน
“เราทำงานกับนักเรียนกลุ่มยากจน พยายามศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพจิตว่ามาจากเรื่องของเศรษฐานะโดยตรง หรือมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งมีปัจจัยหนึ่งที่กำลังศึกษาและอาจจะเป็นคำตอบ นั่นคือ ‘ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก’ เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ทำร้ายทางเพศ ทางจิตใจ ถูกปล่อยปละละทิ้ง ไม่มีใครดูแล พ่อแม่แยกทางกัน พ่อแม่ทำร้ายร่างกายกัน พ่อแม่ติดยาเสพติด ก่ออาชญกรรม ติดคุก สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลสร้างความเลวร้ายในจิตของเด็กได้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการวิจัยจากต่างประเทศชัดเจนว่า
คนที่มีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กก่อนอายุ 18 ปี มีโอกาสมีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่าคนทั่วไป และจะส่งผลกระทบต่อชีวิตเขาจนถึงผู้ใหญ่เลย แต่จะหนักหนาสาหัสไม่เท่ากันในแต่ละคน”
พญ.ศุทราเล่าว่า บทบาทที่ทำกับ กสศ. คืออยากให้มีการเฝ้าระวังเรื่องสุขภาพจิต ที่ผ่านมาในโครงการฯ ได้ใช้ WHO-5 ซึ่งเป็นแบบประเมินขององค์การอนามัยโลกติดตามสำรวจด้านสุขภาพจิตของนักศึกษาทุนทุกคน โดยข้อมูลรายงานสุขภาวะทางอารมณ์ในนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง (วันที่ 31 ก.ค. 67) พบว่า นักเรียนทุน กสศ. 6,241 คน มีเด็กจำนวน 17.3% คิดเป็นประมาณ 1,077 คน มีผลสุขภาวะไม่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องติดตามว่าเด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มมีภาวะซึมเศร้า หรือมีปัญหาความเครียดรุนแรงอยู่บ้างหรือเปล่า เป็นตัวชี้วัดที่จะช่วยให้เราทำความเข้าใจและรู้จักเด็กคนนั้นมากขึ้น
“กรอบแนวคิดที่ใช้ทำงานมาตลอด 5 ปี คือ MHPSS (Mental Health and Psychosocial Support) มีลักษณะเป็นพีระมิด ซึ่งเริ่มจากชั้นล่างสุดจะบอกว่าเราควรป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่ฐานรากเป็นแบบครอบจักรวาล ซึ่งวิธีการทำได้หลายอย่างอาจจะเป็นการส่งเสริมทักษะชีวิต เพื่อนช่วยเพื่อน คุณครูเข้าไปติดตามดูแลเพิ่มเติม ชั้นถัดมาคือ กลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลแบบเฉพาะเจาะจง เด็กอาจจะเริ่มเครียดมาก หรือมีปัญหาที่รุนแรงขึ้น ครูจะต้องเข้าไปดูแลเป็นรายบุคคล เข้าไปรับฟังเพิ่มขึ้น เข้าไปเยี่ยมบ้าน หรือทำอะไรในเชิงลึกกว่าเด็กกลุ่มแรก และชั้นสุดท้ายที่เป็นชั้นบนสุด คือ การรักษา หากเด็กมีภาวะสุขภาพจิตที่รุนแรงจริงๆ จะต้องส่งต่อมาปรึกษาสุขภาพจิตกับผู้เชี่ยวชาญ”
ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า นักเรียนอาชีวะที่ผ่านกิจกรรมทักษะชีวิตมีสุขภาวะทางอารมณ์ดีขึ้นและมีจุดอ่อนลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ทำกิจกรรม อีกทั้งนักเรียนที่ได้รับคำปรึกษาและเข้ารับการรักษามีความสามารถจัดการความเครียดที่ดีขึ้น เรียนรู้ดีขึ้น และมีโอกาสที่จะยุติทุน หรือหลุดออกจากระบบการศึกษาน้อยลงได้
“งานวิจัยในขั้นต่อไปนอกจากการวัดผลสุขภาวะนักเรียนแล้ว เราอยากจะรู้ว่าเด็กทุนมีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กมากน้อยแค่ไหน ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะหาแนวทางป้องกันได้ เพราะถ้าเราไม่รู้ว่ารุนแรงแค่ไหนก็จะไม่รู้ว่าป้องกันอย่างไร เพื่อให้ท้ายที่สุดแล้วจะสามารถป้องกันปัญหาเรื่องสุขภาพจิตได้จริงๆ ในระยะยาว
สุดท้ายอยากบอกว่าคุณครูเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญมาก เมื่อเด็กเจอประสบการณ์ที่เลวร้ายมาแล้ว หากเจอครูที่เป็นแสงสว่าง สามารถเป็นที่พึ่งทางใจให้เขา เขาก็อาจจะมีสุขภาวะทางใจที่ดีขึ้นได้
แต่ในบางกรณี แม้ครูจะช่วยเหลือมากแค่ไหน แต่เด็กอาจจะไม่ดีขึ้นก็ได้ เพราะต้องเข้าใจว่า บางครั้งเงื่อนไขในการแก้ปัญหาหรือช่วยเหลือไม่ได้มีเพียงแค่ครูอย่างเดียว แต่ต้องมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ประกอบด้วย”
ทั้งหมดนี้นับเป็นองค์ความรู้และประสบการณ์ดีๆ ที่เป็นผลการดำเนินงานของ ‘นักกู้ใจ’ ในบริบทที่หลากหลาย ซึ่งต่างก็มีเป้าหมายในการ ‘ปกป้องสุขภาวะใจ’ ของเด็กๆ ให้กลับมารับมือกับสภาพปัญหาได้อย่างเข้มแข็ง ช่วยประคับประคองพวกเขาให้สามารถเดินไปถึงเป้าหมายปลายทางที่ฝันไว้ได้สำเร็จ