- “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” เป็นโปรเจกต์วิทยานิพนธ์ (Thesis) ของ ต้า-พิมพิศา เกือบรัมย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมัณฑนศิลป์ สาขานิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เกมทางเลือกที่จำลองเหตุการณ์ระหว่างทางกลับบ้านกลางดึกเพียงลําพัง แม้เส้นทางจะคุ้นเคยแต่กลับดูไม่น่าไว้วางใจ และทุกตัวเลือกมีผลต่อตอนจบของเกมที่ต่างกัน
- เป้าหมายที่ต้าตั้งใจไว้คือ อยากสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงภัยคุกคามที่ผู้หญิงเจอระหว่างการเดินทาง ซึ่งต้องย้ำว่า ‘ผู้หญิง’ คือเหยื่อของอาชญากรรมทางเพศมากที่สุด แต่ก็ยังมีผู้ชายและ LGBTQ+ ที่ถูกคุกคามเช่นกัน
- “…ถึงแม้ว่าเราจะระวังตัว จะไม่ประมาทแค่ไหน แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ปัจจัยมันไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ตัวเราอย่างเดียว มันขึ้นอยู่กับทั้งสภาพแวดล้อม ทั้งตัวคนร้ายด้วย ก็อยากให้มันเกิดอิมแพคอะไรบางอย่างขึ้นกับสังคม”
‘การกลับบ้านดึก’ เหมือนเป็นการก้าวขาข้างหนึ่งเข้าไปในความเสี่ยงที่เรารู้อยู่แล้วว่าอาจนำไปสู่อันตรายได้ และหากมีเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ เกิดขึ้นระหว่างทางกลับบ้าน คำถามที่สังคมมักสาดเสียเทเสียจะพุ่งเป้าไปที่ตัวเหยื่อก่อนเสมอ เช่น แต่งตัวโป๊หรือเปล่า? ทำไมถึงกลับบ้านดึกๆ ดื่นๆ ล่ะ? ทำไมไม่ให้คนในครอบครัวมารับล่ะ?
แต่คำถามสำคัญคือ เหตุผลเหล่านั้นเป็นปัจจัยให้ถูกคุกคามทางเพศอย่างนั้นหรือ? เรากำลังโทษเหยื่อและหาความชอบธรรมให้กับผู้ร้ายอยู่หรือเปล่า?
“ตั้งแต่เด็กเราโตมาในสังคมที่เวลาจะเดินทางกลับบ้าน หรือจะเดินทางไปไหนเราจะต้องได้ยินพ่อแม่คอยเตือนเสมอว่า “ระวังตัวด้วยนะ” หรืออย่างที่บ้านของหนูคือพ่อแม่จะคอยทักตลอดว่า วันนี้กระโปรงสั้นไปไหม ไปใส่กางเกงขายาวดีไหม หาเสื้อคลุมใส่หน่อย ซึ่งเราเข้าใจแหละว่าเขาเป็นห่วง แต่เราก็รู้สึกว่า แล้วทำไมเราถึงแต่งตัวแบบนี้ไม่ได้ ทั้งที่เราอยากจะใส่ แสดงว่าสังคมมันต้องอันตรายมากขนาดไหน แค่เรื่องการแต่งตัวเรายังทำไม่ได้ เราถึงยังต้อง concern (กังวล)
แล้วเวลาเราดูข่าวตามโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือตามข่าวในทีวีก็แล้วแต่ เราจะเห็นข่าวเกี่ยวกับการที่ถูกคุกคามทั้งผู้ชายและผู้หญิง หรือว่าข่าวปล้นด้วย ถูกล่อลวงไปทำสิ่งไม่ดีด้วย ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่เขารณรงค์กันมานานมาก ตั้งแต่เราเด็กจนเราโต รวมไปถึงครอบครัวก็สอนให้เราป้องกันตัว แต่ว่าทำไมปัญหาตรงนี้มันยังไม่เคยหายไปเลย แล้วมันก็ยังมีมาแบบเรื่อยๆ”
ต้า-พิมพิศา เกือบรัมย์ นักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ สาขานิเทศศิลป์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยศิลปากร พูดถึงประเด็นผู้หญิงกับความรู้สึกไม่ปลอดภัย ในสังคมที่แทบจะไม่มีพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งเธอถ่ายทอดเรื่องราวผ่านโปรเจกต์วิทยานิพนธ์ (Thesis) ของตัวเองที่ชื่อว่า “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” เกมทางเลือก หรือ Interactive Game Website จำลองเหตุการณ์ระหว่างทางกลับบ้านดึกคนเดียว จะตัดสินใจเลือกทางไหนบ้าง ทุกตัวเลือกมีผลต่อตอนจบของเกมที่ต่างกัน
พื้นที่ (ไม่) ปลอดภัย
จากการวิจัยความชุกของปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ เมื่อปี 2560 โดย ‘เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง’ ซึ่งประกอบด้วยองค์กรแอ็คชั่น เอด ประเทศไทย, แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ, มูลนิธิชายหญิงก้าวไกล และเครือข่ายสลัม 4 ภาค พบว่า ‘ผู้หญิง’ คือเหยื่อของอาชญากรรมทางเพศมากที่สุด ส่วนเพศทางเลือกและผู้ชายคือกลุ่มที่ถูกกระทำรองลงมาตามลำดับ
ซึ่งลักษณะพฤติกรรมการคุกคามทางเพศที่พบบนระบบขนส่งสาธารณะ เช่น พูดจาแทะโลม พูดลามก ชวนคุยเรื่องเพศ ยักคิ้วหลิ่วตาและเลียริมฝีปาก วิจารณ์หน้าตา-ทรวงทรงที่ส่อไปทางเพศ เดินตาม ตามตื้อ สะกดรอยตาม ใช้อวัยวะเพศถูไถร่างกาย สำเร็จความใคร่ให้เห็น ไปจนถึงขอมีเซ็กซ์ และพยายามข่มขืน
จะเห็นว่าแม้แต่พื้นที่สาธารณะก็ไม่ปลอดภัย ซึ่งพื้นที่ปลอดภัยของผู้หญิงในปัจุบันในมุมมองของต้านั้น “คิดว่าอย่างน้อยก็ให้เราสามารถใช้ชีวิตได้โดยที่ไม่ต้องระแวง ไม่ต้องระมัดระวังตัวมากขนาดนี้ แน่นอนว่าการระมัดระวังตัว การไม่ประมาทมันเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่ว่าบางทีเราก็คิดว่า เอ๊ะ….เราต้องระวังตัวกันมากไปหรือเปล่าจนกลายเป็นแพนิก เหมือนบางครั้งแค่เราเดินในที่สาธารณะแล้วมีผู้ชายเดินตาม เขาอาจจะแค่เดินของเขาเฉยๆ ก็ได้ แต่ว่าในใจของเราก็จะแพนิกไปแล้วว่า เขาจะทำอะไรเราหรือเปล่า เพราะมันก็เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในสังคม มันก็เลยทำให้เรากังวล แค่อยากใช้ชีวิตที่ไม่ต้องรู้สึกว่าต้องคอยกังวลว่าจะเกิดเหตุร้ายในชีวิต”
นอกจากนี้การแสดงความคิดเห็นหรือการตั้งคำถามที่เป็นการโทษเหยื่อก็เป็นอีกปัจจัยที่อาจนำไปสู่อาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น
“อย่างที่พูดกันบ่อยๆ ก็คือ เรื่องของการเบลมเหยื่อ โทษเหยื่อ
เรารู้สึกว่าการโทษเหยื่อ มันเหมือนผลักความผิดไปให้กับคนที่โดนกระทำ ทั้งๆ ที่สาเหตุจริงๆ ของการที่เขาโดนกระทำ มันอยู่ที่ตัวผู้ร้ายเลยเพียงคนเดียว ไม่ว่าเขา (เหยื่อ) จะแต่งตัวอย่างไร ก็ไม่มีใครมีสิทธิไปคุกคามเขา
แล้วยิ่งในสังคมนี้พอเราไปโทษเหยื่อ มันก็เหมือนเป็นการให้ท้ายผู้ร้ายไปด้วยว่าการที่คุณไปทำอะไรเขา เพราะว่าเขาแต่งตัวล่อแหลม เพราะเขาทำตัวแบบนี้เอง ก็ถูกของคุณแล้วที่จะโดนกระทำ สมควรโดนแล้ว ซึ่งบางคนอาจจะมองว่ามันเป็นปัญหาที่เล็กน้อยมากๆ แต่เราคิดว่าส่วนนี้มันเป็นจุดที่ทำให้เกิดอาชญากรรมในปัจจุบันนี้เช่นกัน การทำอย่างนี้มันเหมือนเป็นการหา excuse (ข้ออ้าง) ทั้งๆ ที่มันก็ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า”
“ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” ประโยคที่สะท้อนถึงความไม่ปลอยภัยจากการเดินทาง
“ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” ฟังดูเป็นประโยคที่แสดงถึงความห่วงใยของผู้พูด และเป็นประโยคทิ้งท้ายก่อนแยกย้ายกลับบ้านที่เรามักใช้บอกเพื่อน หรือคนใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องกลับบ้านเพียงลำพัง ซึ่งประโยคนี้มันสะท้อนถึงความไม่ปลอดภัยจากการเดินทางอย่างเห็นได้ชัด ทุกเส้นทางล้วนมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ทุกเมื่อ
แล้วผู้หญิงในสังคมนี้จะต้องระวังตัวขนาดไหนกัน ถึงจะปลอดภัยจากการถูกคุกคามทางเพศ?
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ของต้า ในการหยิบเรื่องความปลอดภัยของผู้หญิงมาเล่าผ่านเกม
“เรารู้สึกว่าประโยคที่บอกว่า “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” เป็นประโยคที่เราสามารถพบเจอได้ทุกวัน จากทั้งเพื่อน ทั้งแฟน ทั้งครอบครัว มันเป็นประโยคที่สามารถรับรู้ได้ถึงความรู้สึกที่เป็นห่วงของผู้พูด แต่มันก็แสดงให้เห็นถึงอันตรายในสังคมที่มันมีเยอะมากจนคนอื่นเขาต้องมาคอยยืนยันว่าเราถึงบ้านแล้วนะ ไม่เจออะไรที่มันอันตรายระหว่างทางนะ
อีกอย่างมันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ สำหรับประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการใช้ชีวิต อย่างเช่นแค่การเดินทางกลับบ้าน ซึ่งเรายังรู้สึกว่าเรื่องนี้มันยังไม่ถูกพูดถึงมากเท่าที่ควร มันมีการพูดคุยเรื่องพวกนี้แหละ มีการรณรงค์ด้วย แล้วมีการระมัดระวังกันมานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้อิมแพคอะไรมากขนาดนั้น เราก็เลยหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูด”
“แล้วก็อีกอย่างคือ เวลาเราเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์ก จะต้องมีคอมเมนต์ที่มาเบลมเหยื่อตลอดเลยว่า ก็คุณประมาทเอง คุณก็ต้องยอมรับนะว่าคุณจะเจออย่างนี้ หรือว่าพยายามโทษเหยื่อโดยหาจุดที่เหยื่อผิด เช่น การแต่งตัว แต่งตัวโป๊หรือเปล่า กลับบ้านทำไมดึกๆ ล่ะ แล้วทำไมไม่ให้คนในครอบครัวมารับ ซึ่งจริงๆ เรื่องแบบนี้คือต่อให้เหยื่อเขาจะประมาท ผู้ร้ายก็ไม่มีสิทธิจะไปคุกคามเขา”
เมื่อต้าได้ประเด็นที่อยากจะสื่อสารออกไปแล้ว และผ่านด่านการเสนออาจารย์ที่ปรึกษามาแล้ว ก็ถึงเวลาของการรีเสิร์ช เก็บข้อมูล เพื่อนำไปออกแบบเกม Interactive Game Website เป็นเกมทางเลือกแนวเอาตัวรอดที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ปลอดภัยของผู้หญิงที่ต้องกลับบ้านคนเดียว
“เราก็คิดว่ายุคนี้การที่เรานำมาทำเป็นเกมอยู่บนเว็บ มันจะสามารถเข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น แล้วก็เป็นเกมที่เป็นทางเลือก มีการจำลองสถานการณ์ทีอาจนำไปสู่อันตรายระหว่างทางกลับบ้าน คนเล่นเขาจะมีความรู้สึกอินไปกับตัวเนื้อเรื่องด้วย เพราะว่าตัวเขาได้เป็นคนกำหนดเส้นทางเองว่าจะให้ตัดสินใจแบบไหน เราคิดว่าถ้าเป็นในรูปแบบประมาณนี้ มันน่าจะช่วยทำให้ Raise awareness (สร้างความตระหนัก) ให้กับสังคมได้ แล้วก็ตัวคนเล่นก็จะรู้สึกอิมแพคอะไรบางอย่าง”
ซึ่งในการรีเสิร์ชข้อมูลทำให้ต้าได้รับประสบการณ์ระหว่างทางกลับบ้านของผู้หญิงในสังคมมากมาย และยังได้เรียนรู้วิธีเอาตัวรอดที่หลากหลาย นั่นยิ่งตอกย้ำว่าปัญหานี้ยังคงมีอยู่ในสังคมไม่น้อยเลยทีเดียว
“เราไปเสิร์ชหาข่าวทั้งอินเทอร์เน็ต แล้วก็มีการทำ google form ที่เป็นแบบฟอร์มเก็บข้อมูลของคนที่เคยประสบเหตุแบบนี้ ก็มีเหตุการณ์มากมายหลายอย่างเกิดขึ้น เหมือนทั้งที่เราเคยเห็นกันทั่วไป ก็คือโดนคุกคามบนแท็กซี่ รถโดยสารประจำทางก็มี สตอล์กเกอร์ (Stalker-คนที่มีพฤติกรรมสะกดรอยตามคนอื่น) เดินตามกลับบ้านก็มี แล้วเราก็สังเกตว่าแต่ละคนมีวิธีการเอาตัวรอดแตกต่างกันออกไป ทั้งวิธีที่เห็นได้จากอินเทอร์เน็ต อย่างเช่น วิธีป้องกันตัว ท่าป้องกันตัว วิธีแกล้งคุยโทรศัพท์ หรือวิธีแปลกๆ ที่เราคาดไม่ถึง อย่างเช่นแกล้งรำไปเลย ซึ่งเรารู้สึกว่าวิธีพวกนี้น่าสนใจ
อย่างวิธีแกล้งรำมันดูเป็นเรื่องที่เหมือนเป็น joke (ตลก)ใช่มั้ยคะ แต่ว่าพอเรามองดีๆ มันคือ bad joke (ตลกร้าย) นี่เราต้องทำกันถึงขนาดนี้เลย แกล้งเป็นบ้าขนาดนี้เพื่อให้ชีวิตปลอดภัยจากการแค่เราจะเดินกลับบ้าน
ที่แปลกๆ อีกก็มีอย่างเช่นบางคนเขาล้วงคอเพื่อให้อ้วกออกมา ให้ผู้ร้ายเขากลัวหรือว่าตกใจ บางคนก็แกล้งคุยโทรศัพท์อ้างว่ามีแฟนเป็นตำรวจนะ”
นอกจากผู้หญิงที่มักถูกคุกคามทางเพศแล้ว จากการรีเสิร์ชข้อมูลของต้าก็ยังมีเพศอื่นอีกที่ถูกคุมคามเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย หรือ LGBTQ+ ก็ตาม แต่เหตุการณ์อาจจะแตกต่างกันไป
“อย่างกรณีของ LGBTQ+ ก็มีเพื่อนคนนึงที่ตอนแรกเขาแต่งตัวเป็นผู้ชายปกติ แต่ช่วงหลังเขาเริ่มไว้ผมยาวคล้ายๆ ผู้หญิง แล้วดันโดนคนคุกคาม คนมาตามขอเบอร์ หรือแบบแซว ซึ่งเขาก็แค่เปลี่ยนการแต่งตัว การไว้ทรงผมแค่นิดเดียว แต่กลายเป็นว่าโดนคุกคามเฉยเลย หรืออย่างในกรณีผู้ชายก็จะมีบางคนที่โดนดักรีดไถเงิน โดนปล้น หรือหนักสุดเลยก็คือโดนยัดยาจากเจ้าหน้าที่”
หลังจากรีเสิร์ชข้อมูลแล้ว ก็กางเหตุการณ์ทั้งหมดและแยกย่อยว่าเหตุการณ์แบบไหนที่มันเกิดขึ้นเยอะที่สุด และจำลองว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ จะมีวิธีไหนที่สามารถแก้ไขสถานการณ์ตรงนั้นได้บ้าง จากนั้นก็เริ่มเขียนออกมาเป็นโครงเรื่อง เขียน Story Board เพื่อให้เห็นกรอบที่จะแสดงเรื่องราวที่ต้องการสื่อสารออกไป และเพื่อทำให้เห็นภาพชัดว่าจะวาดภาพประกอบ และใส่กราฟฟิกอะไรบ้างลงไปในเกมเพื่อเพิ่มอรรถรสในการเล่น ซึ่งในการเขียนไดอะล็อกหรือบทสนทนาในเกมนั้น ต้าบอกว่าได้ แพรวพิชชา ตีรวัฒน์ เพื่อนจากคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มาช่วยเติมเต็มและร้อยเรียงเรื่องราวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
โดยบทสนทนาระหว่างผู้คุกคามกับคนที่ถูกคุกคาม เป็นบทสนทนาที่เกิดขึ้นจริงจากประสบการณ์จริงของคนในสังคมที่เคยเจอ และจากประสบการณ์ตรงของต้าและเพื่อนด้วย
“หลายๆ อย่างที่ใส่ไปก็เป็นเรื่องที่เราเคยผ่านประสบการณ์นั้นมาด้วย อย่างเช่นในเรื่องที่เป็นเหตุการณ์บนรถแท็กซี่ เรานั่งแท็กซี่กลับบ้าน แล้วคนขับก็พูดคุกคาม ซึ่งเจอตอนกลางวัน เขาเริ่มพูดคุยปกติ แล้วอยู่ๆ ก็ถามอายุ ตอนนั้นก็ประมาณ 19-20 ปี พอเราตอบอายุไปปุ๊บ เขาพูดกลับเรามาว่า อ๋อ…อายุ 20 หรอ พี่อายุ 30 กว่าๆ อายุห่างกันหน่อย น้องโอเคไหม บทสนทนามันเริ่มแปลกๆ ละ เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ละ เราก็ยิ้มแห้งๆ เขาก็ชวนคุยไปเรื่อยๆ บอกว่า พี่ดูแลผู้หญิงดีนะ น้องมีแฟนรึยัง จนสุดท้ายใกล้จะถึงบ้านแล้วเราก็ขอลงก่อนเลย เพราะเราก็กลัวเขาจะรู้บ้านเราเหมือนกันว่าอยู่ตรงไหน
แล้วจังหวะที่เรากำลังเปิดประตูลงจากรถ เขาก็พูดขึ้นมาว่า อุ๊ย…เสียดายจังอยากนั่งรถกับคนสวยนานๆ หน่อย ตอนนั้นคือเราขนลุกเลย นี่ขนาดตอนกลางวันนะคะ มีคนพลุกพล่านข้างนอกด้วย เรายังรู้สึกกลัวขนาดนี้ แล้วถ้าเกิดมันเป็นเหตุการณ์ตอนกลางคืนละ เราจะทำยังไงก็นึกไม่ออกเหมือนกัน พล็อตเรื่องในเกมส่วนใหญ่มันรีเลทกับเราและคนที่เข้ามาเล่นเองด้วย”
เกม “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” สร้างการตระหนักรู้ถึงอันตรายระหว่างการเดินทาง
เป้าหมายปลายทางของเกม “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” ของต้าคืออยากสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ถึงอันตรายจากการเดินทางคนเดียว โดยยกเคสผู้หญิงมาเป็นตัวละครหลักในการดำเนินเรื่อง และหวังลึกๆ ว่า คนที่ยังไม่เข้าใจว่าอันตรายที่ว่านั้นเป็นอย่างไร ระหว่างการเดินทางสามารถเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นได้บ้าง และสร้างบาดแผลให้ผู้ถูกกระทำมากน้อยแค่ไหน จะได้เห็นมุมมองนี้บ้าง
“อยากให้เห็นว่าเหตุการณ์นี้ ถึงแม้ว่าเราจะระวังตัว จะไม่ประมาทแค่ไหน แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ปัจจัยมันไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ตัวเราอย่างเดียว มันขึ้นอยู่กับทั้งสภาพแวดล้อม ทั้งตัวคนร้ายด้วย ก็อยากให้มันเกิดอิมแพคอะไรบางอย่างขึ้นกับสังคม”
“ซึ่งฟีดแบ็กจากหลายๆ คนที่เข้ามาเล่นเขาก็เริ่มตระหนักรู้มากขึ้น เขาเห็นจุดเล็กๆ ที่เราสอดแทรกเข้าไปด้วย เช่น การระมัดระวังตัวเวลาเดินคนเดียว สังเกตสิ่งรอบตัวมากขึ้น แต่ว่ามันก็มีบางคนที่เขามองอีกมุมว่า ทำไมคุณเผยแพร่สิ่งนี้ออกมา มันเป็นการโจมตีผู้ชายเกินไปหรือเปล่า ซึ่งเราก็อยากบอกว่า เราไม่ได้ตั้งใจจะโจมตีผู้ชายเลย เราเข้าใจว่าทุกเพศมันสามารถเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ แต่ว่าในกรณีนี้เราอยากจะนำเสนอในมุมมองของผู้หญิง ซึ่งตัวเราเองเราเป็นผู้หญิงด้วย แล้วก็เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ที่เราเห็นตามข่าวที่มันเป็นที่พูดถึง ผู้หญิงจะตกเป็นเหยื่อเสียมากกว่า”
“เราก็ไม่อยากให้มองว่ามันคือเกมของผู้หญิง เราอยากให้มองว่ามันคือเกมที่ทุกคนควรตระหนักว่าเหตุการณ์อันตรายนี้มันสามารถเกิดขึ้นได้นะ อาจจะไม่ได้เกิดกับคุณ แต่อาจจะเกิดกับเพื่อน เกิดกับคนรัก เกิดกับคนในครอบครัวคุณก็ได้ แต่ก็มีบางคนที่เป็นผู้ชายเขาลองเล่นเกมของเราแล้วเขาก็มีฟีดแบ็กว่า ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเหตุการณ์มันจะน่ากลัวขนาดนี้ เหตุการณ์มันจะกดดันขนาดนี้ ด้วยความที่เขาอาจจะไม่เคยโดยถูกแซวทำนองคุกคาม เราก็ดีใจที่เขาเปิดใจ”
ในอนาคตถ้ามีโอกาสต้าบอกว่าอยากจะพัฒนาเกมนี้ให้มีหลายมุมมอง หลายตัวละครมากขึ้น
“เราอยากจะทำในหลายๆ มุมมอง ไม่ใช่แค่มุมมองของผู้หญิงอย่างเดียว เราอยากจะทำในมุมมองของผู้ชาย มุมมองของ LGBTQ+ หรือว่าในกรณีที่พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนรถแท็กซี่ อีกมุมหนึ่งตัวคนขับเองเขาก็มีความกลัวเช่นกัน เช่น กลัวผู้โดยสารจะมาจี้ มาปล้น เราก็อยากจะนำเสนอมุมเหล่านี้เช่นกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องของในอนาคต เพราะเราก็รู้สึกว่ามันมีเหตุการณ์อันตรายๆ อีกหลายอย่างที่ยังไม่ถูกพูดถึงเท่าที่ควร นอกจากในมุมของผู้หญิง เช่น การอยู่บ้านคนเดียว บ้านที่มีคนแก่ และเด็ก หรืออันตรายของการขึ้นรถโดยสารประจำทาง ที่คนอาจจะคาดไม่ถึง”
หากเป็นเช่นนี้แล้วเราควรจะทำอย่างไรดี ถึงจะใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปลอดภัยทั้งกายและใจ ในมุมมองของต้า เธอบอกว่าจะให้ดีที่สุดต้องบอกว่าควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยงเหล่านั้น ซึ่งเข้าใจว่าเป็นไปได้ยากที่จะหลีกเลี่ยงไปตลอด แต่อย่างน้อยก็ต้องมีสติเสมอ เรียนรู้วิธีป้องกันตัว หรือว่าพกพาอาวุธเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้ผิดกฎหมาย
“เรื่องการพกอาวุธป้องกันตัว อย่างที่เรารู้กันว่า สเปรย์พริกไทยที่สามารถใช้ป้องกันตัวได้มันก็ยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่ ซึ่งโทษในการพกพาก็ไม่น้อย เพราะว่าในทางกฎหมายถือว่าเป็นอาวุธ แต่ว่ามันก็มีทางเลือกอื่นอีกเช่นสเปรย์แอลกอฮอล์ที่เราสามารถพกได้ทั่วไป สามารถใช้ในกรณีที่เราถูกคุกคาม ใช้ฉีดใส่หน้าคนร้าย ใช้แทนกันได้ หรือจะเป็นกุญแจที่สามารถใช้ป้องกันตัวเองได้เช่นกัน”
“ถ้ามองในมุมของกฎหมาย ก็ต้องบอกว่ากฎหมายบ้านเราไม่ได้เอื้อให้กับเหยื่อ กลายเป็นว่าเราต้องมาหาวิธีอื่นเพื่อที่จะป้องกันตัวเองแทน เรารู้สึกว่ากฎหมายต้องมีการปรับปรุง ต้องมีการร่างกฎหมายใหม่
อย่างในกรณีการพกสเปรย์พริกไทย คือเราเข้าใจว่ามันเป็นอาวุธที่อันตรายเพราะมันก็ไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่จะพก แต่ว่ามันอาจจะมีเงื่อนไขอะไรบางอย่างที่ยกเว้นให้กรณีที่ผู้หญิงใช้สำหรับป้องกันตัว เรารู้สึกว่าน่าจะต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น เท่าทันเหตุการณ์อันตรายในสังคมมากกว่านี้”
“นอกจากเรื่องพกพาอาวุธแล้ว ก็เป็นเรื่องของบทลงโทษกับผู้ร้ายด้วยที่เรารู้สึกว่าบางทีโทษมันเบาไป หรือว่าเขาไม่ได้บังคับใช้กันอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ร้ายยังกล้าที่จะทำ ซึ่งคนที่โดนหรือเหยื่อก็มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ใช้ชีวิตด้วยความแพนิก ยิ่งคนร้ายถูกปล่อยตัวออกมาแล้ว ยิ่งสร้างความกังวลให้กับเหยื่อ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าเขากลับตัวแล้วจริงๆ หรือเขาจะก่อเหตุอีกวันไหน”
ทั้งหมดที่เล่ามานี้ล้วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งต้าเองก็มองว่าคนในสังคมสามารถช่วยกันแก้ไขได้ “มันน่าจะทำให้ดีขึ้นได้นะคะ มันอยู่ที่ค่านิยมของสังคมด้วย ในการเคารพสิทธิคนอื่น มองว่ามันไม่มีเพศไหนที่ด้อยไปกว่ากัน ให้ความเท่าเทียม มันอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงภายใน 10-20 ปีนี้แน่นอน แต่ว่าถ้าเกิดว่าเราเริ่มตระหนักเรื่องนี้กันมากขึ้น เห็นใจกันมากขึ้น คิดว่าในอนาคตมีสิทธิเป็นไปได้ที่มันจะเบาลง”
หากถามว่าเกมนี้ทำให้ตระหนักถึงอันตรายในสังคมแล้วอย่างไรต่อ? ปัญหาก็ใช่ว่าจะหายไป? แต่แค่การเริ่มตระหนักก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว
“เราไม่ได้มองว่าปล่อยงานนี้ออกมาปุ๊บแล้วแบบว่าโจรหายไปเลย มันเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าอย่างน้อยให้งานเราได้ทำให้คนได้ฉุกคิด ได้เกิดอิมแพคอะไรบางอย่างที่สังคมนำเรื่องนี้กลับมาเป็นที่พูดถึง แค่นี้เราก็รู้สึกว่ามันประสบความสำเร็จแล้วค่ะ
เพราะบางทีที่เรากลับบ้าน เราก็คิดว่ามันเป็นเส้นทางที่เราคุ้นชิน และมันก็เป็นระยะทางที่ไม่ไกล จนอาจลืมตระหนักเรื่องความปลอดภัยไปชั่วขณะ มันจะมีคำที่เราชอบคิดในหัวว่า “มันไม่น่าเป็นไรมั้ง ทางแค่นี้เอง” ซึ่งมันก็เหมือนเราก้าวขาข้างนึงไปที่ความอันตรายแล้วนะ”
ติดตามข้อมูลของโปรเจกต์เพิ่มเติมได้ทาง https://twitter.com/newfilestudio