- ผู้พิการทุกคนก็เหมือนคนทั่วไป เขาก็มีความฝัน มีสิ่งที่อยากทำ แต่ด้วยข้อจำกัด เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตข้างนอกและการเดินทาง ทำให้ตัวเลือกในการเรียนและอาชีพมีน้อยกว่าคนทั่วไป
- มะปราง – จิดาภา นิติวีระกุล หนึ่งในเยาวชนโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ แม้เธอจะมีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย แต่เมื่อได้รับโอกาสก็พยายามฝึกฝนและพัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อที่เตรียมพร้อมสู่การใช้ชีวิตด้วยตัวเองในสังคมภายนอกต่อไป
- สำหรับโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาอาชีพของเด็กและเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษในบ้านเรานั้น มะปรางมองว่า อาชีพที่รองรับผู้พิการยังมีไม่หลากหลายนัก ในสถานศึกษายังมีข้อจำกัดในการให้ผู้พิการเข้าถึงในหลายๆ สาขาการเรียน ด้วยเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ยังไม่เอื้อ ตัวเลือกในการเรียนจึงมีจำกัด
เมื่อพูดถึงเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำและการปฏิรูปการศึกษา กลุ่มคนที่เราอาจหลงลืมไปนั่นก็คือ ‘ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ’ หรือ ‘ผู้พิการ’
ซึ่งผู้พิการทุกคนก็เหมือนคนทั่วไป เขาก็มีความฝัน มีสิ่งที่อยากทำ แต่ด้วยข้อจำกัด เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตข้างนอกและการเดินทาง ทำให้ตัวเลือกในการเรียนและอาชีพมีน้อยกว่าคนทั่วไป
โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงมุ่งพัฒนาแนวทางการจัดการศึกษาสายอาชีพเพื่อการมีงานทำของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ความบกพร่องทางด้านร่างกาย ความบกพร่องทางด้านสติปัญญา ความบกพร่องทางการเรียนรู้และมีภาวะออทิซึม ความบกพร่องทางการมองเห็น ความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ความบกพร่องทางพฤติกรรม
ด้วยแนวคิดและเป้าหมายคือ เปลี่ยน ‘ความพิเศษ’ เป็น ‘พลัง’ ส่งเสริมและให้โอกาสเด็กและเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษที่ขาดทุนทรัพย์รับทุนการศึกษาเข้าเรียนในหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. 2 ปี จบการศึกษาแล้วมีอาชีพ มีงานทำ พึ่งพาตนเองและดำรงชีวิตอย่างอิสระ เป็นสมาชิกของสังคมอย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยการพัฒนาตัวแบบระบบการศึกษาเพื่อการมีงานทำที่ตอบโจทย์ชีวิตของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ โดยครอบคลุมองค์ประกอบสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ 1.ระบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษที่มีความแตกต่างกัน 2.ระบบการเตรียมความพร้อมของนักศึกษา 3.ระบบการดูแลช่วยเหลือนักศึกษาทุกมิติ 4.ระบบการบริหารจัดการของสถานศึกษา 5.บทบาทและการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการ
โอกาสที่จำกัด
“หากสถานประกอบการทุกที่หรือส่วนมากนะคะ สามารถที่จะทำงานออนไลน์หรือ Work from home ได้ และเปิดโอกาสให้กับผู้พิการ ทุกท่านคิดว่าจะเป็นอย่างไรคะ” มะปราง – จิดาภา นิติวีระกุล นักศึกษาระดับชั้นปวส. สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา จ.ชลบุรี หนึ่งในเยาวชนโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ตั้งคำถามในเวที Youth Talk ‘กสศ. กับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ’
เส้นทางชีวิตของมะปราง เธอเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่เด็ก ซึ่งโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงของมะปรางนั้นเธอบอกว่าไม่สามารถที่จะรักษาได้ ทำให้ต้องนั่งวีลแชร์จนถึงปัจจุบัน
“โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงของหนูยิ่งเวลาที่เราโตขึ้นมันก็จะยิ่งอ่อนแรงลงเรื่อยๆๆ ค่ะ จากที่แต่ก่อนที่พอจะสามารถเดินได้ ดูแลตัวเองได้ แต่พอเราโตขึ้นก็อ่อนแรงลงเรื่อยๆ จนตอนนี้ก็ต้องนั่งวีลแชร์ไฟฟ้า และไม่สามารถที่จะเดินได้ และในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ เช่น การเข้าห้องน้ำ การอาบน้ำ การแต่งตัว ก็ต้องมีคนคอยช่วยเหลือหรือช่วยทำให้ค่ะ แต่ตั้งแต่ที่ได้เข้ามาศึกษาที่วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ก็ได้ฝึกทำอะไรด้วยตนเองหลายๆ อย่าง เพราะว่าทางวิทยาลัยได้ฝึกฝนให้นักเรียนพยายามทำอะไรด้วยตัวเอง และช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด เพื่อที่เราจะได้มีความพร้อมเวลาที่เราออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเองในสังคมภายนอกต่อไปค่ะ”
มะปรางเล่าต่อว่า แม้บางอย่างจะสามารถทำได้ด้วยตัวเองและก็มีบางอย่างที่ยังไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพราะข้อจำกัดทางด้านร่างกาย แต่ว่าเธอก็ได้พยายามอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว
“การมาเรียนที่นี่ก็ได้รับอะไรหลายๆ อย่าง ได้รับทั้งการศึกษา ได้รับทั้งความรู้จากอาจารย์ทุกท่าน ได้เจอกับเพื่อนๆ ทุกคน อยู่ที่นี่ก็มีกีฬาให้เล่น มีกิจกรรมให้ทำต่างๆ มากมายค่ะ เปิดโอกาสให้หนูได้แสดงความสามารถ ได้ฝึกฝนและพัฒนาตนเองอยู่ตลอด จนในปี 2562 หนูได้เป็นตัวแทนเยาวชนผู้พิการไทย ไปแข่งขันความท้าทายทางเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสากลหรือ GICT 2019 ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลี ก็ได้รับรางวัล 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และถัดมาในปี 2563 หนูก็ได้รับรางวัลนักเรียนพระราชทาน และในปี 2564 ก็ได้รับรางวัลยุวสตรีพิการดีเด่น ในวันสตรีสากล ซึ่งรางวัลเหล่านี้ก็เป็นความภาคภูมิใจมากๆ ค่ะ”
เบื้องหลังของรางวัลต่างๆ ที่มะปรางได้รับ เต็มไปด้วยความพยายาม และการฝึกฝนซ้ำๆ จนได้ผลลัพธ์ที่ตัวเธอเองภาคภูมิใจ แสดงให้เห็นถึงความสามารถและศักยภาพของเธอ ซึ่งแน่นอนว่าสามารถพัฒนาไปได้อีกไกล ถ้าได้รับโอกาสที่ดีจากสังคม
เตรียมความพร้อมสู่การมีงานทำ
โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง นอกจากจะเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้พิการ ให้ทุนจนจบการเรียนในระดับชั้นปวส. ยังจัดกิจกรรมการอบรมให้ความรู้ ทั้งเรื่องการออมเงิน การลงทุน และการทำงานในสายอาชีพต่างๆ เพื่อให้เยาวชนผู้พิการสามารถค้นหาตัวเองได้ว่าอยากทำอะไร และก่อนจบการศึกษายังมีกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การมีงานทำด้วย
โดยในเทอมสุดท้ายของการเรียน วิชาสำคัญที่ถือเป็นประสบการณ์ชั้นดีก่อนออกไปเผชิญกับโลกการทำงานของจริงในฐานะมนุษย์เงินเดือนอย่างเต็มตัว นั่นก็คือ ‘การฝึกงาน’ ซึ่งมะปรางเล่าว่าเธอได้เป็นหนึ่งในเด็กฝึกงานของบริษัทใหญ่อย่างไมโครซอฟต์ (ประเทศไทย) จำกัด
“ในตอนนั้นทางบริษัทไมโครซอฟต์ได้ทำโครงการร่วมกับวิทยาลัยพระมหาไถ่ พัทยา เพื่อรับนักศึกษาไปฝึกงาน หนูก็ไปสมัครกับเพื่อนๆ ทั้ง 10 คนค่ะ แล้วก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสองคนในการไปฝึกงาน ซึ่งในการทำงานจะเป็นการทำงานออนไลน์หรือ Work from home ทำงานอยู่ที่บ้าน หรือจะทำงานอยู่ที่ไหนก็ได้เลยค่ะ เพราะว่าทางบริษัทไมโครซอฟต์เห็นถึงความลำบาก แล้วก็ปัญหาในการเดินทางของผู้พิการที่นั่งรถวีลแชร์ แล้วตัวบริษัทเองก็อยู่ที่กรุงเทพฯ เวลาที่เรามาทำงานก็อาจจะมีปัญหาและอุปสรรคทั้งในเรื่องของที่พักอาศัย ในเรื่องของการเดินทางต่างๆ แต่ก็ยังเห็นถึงความสำคัญและเปิดโอกาสให้กับผู้พิการได้ทำงานออนไลน์ได้ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ดีมากๆ ค่ะ
เพราะอย่างตัวหนูเองที่มีความพิการค่อนข้างสูง มีความลำบากในเรื่องของการเดินทาง เวลาที่จะไปไหนก็ต้องมีคนที่คอยพาไป หรือการเข้าห้องน้ำก็ต้องมีคนคอยช่วยเหลือ พอสามารถที่จะทำงานที่บ้านได้ก็เป็นสิ่งที่ดีค่ะ”
“ตลอดที่ฝึกงานกับไมโครซอฟต์ ก็ได้เรียนรู้ในเรื่องของ Power Platform (เป็นชุดเครื่องมือที่ใช้โค้ดน้อยสำหรับการสร้างแอป) ทั้งโปรแกรม Power BI และ Power Apps ได้มีโอกาสคุยกับพาทเนอร์ ได้แบ่งปันและแชร์ความรู้ในเรื่องของ Power BI ในงาน Power Platform Community Training Day และนอกจากการทำงานแล้ว ยังมีกิจกรรมทางออนไลน์ให้พวกเราได้คุยแลกเปลี่ยนกัน และในงานวันครบ 30 ปี พี่ๆ ได้ให้หนูไปเข้าร่วม ได้มีโอกาสไปชมการทำงานและชมบรรยากาศออฟฟิศ หนูได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้รับประสบการณ์ที่ดี และได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างที่จะเป็นประโยชน์และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในอนาคตได้ค่ะ”
ประสบการณ์การฝึกงานของมะปรางครั้งนั้น นอกจากได้ up-skills ด้านคอมพิวเตอร์ของตัวเองแล้ว เธอบอกว่ายังได้เรียนรู้และฝึกฝนการทำงานเป็นทีม การอยู่ร่วมกันในสังคม และช่วยสร้างวินัยในการทำงานได้
“มันเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับหนูค่ะ เพราะว่าเป็นการทำงานออนไลน์ คือปกติเราก็จะทำงานเข้าออฟฟิศเจอหน้าทุกคนใช่ไหมคะ ซึ่งเราก็จะต้องเรียนรู้การทำงานออนไลน์ เรียนรู้เรื่องโปรแกรม มันก็จะมีปัญหาบ้าง แล้วการทำงานออนไลน์เราไม่ได้เจอหน้าคนที่ทำงานด้วยกันค่ะ ปฏิสัมพันธ์ก็อาจจะยากกว่าการที่เราเจอหน้ากันที่ออฟฟิศ แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหามากค่ะ แล้วพอมาทำงานจริงๆ เราได้เรียนรู้ถึงความรับผิดชอบเพราะว่าการทำงานออนไลน์ต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะว่าเขาไม่ได้มีเวลาเป๊ะว่าเราจะต้องเข้างานเวลานี้ออกงานเวลานี้
เราก็ต้องมีความรับผิดชอบในการทำงานของตัวเอง เพราะว่าบางทีคนทำงานออนไลน์อยู่บ้านก็อาจจะมีขี้เกียจบ้างค่ะ ด้วยสภาพแวดล้อม มันจะไม่ดูกระตือรือร้นหรือดูจริงจังเท่ากับเราไปทำในออฟฟิศ เราก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง รู้จักหน้าที่ค่ะ เป็นการฝึกวินัยในตัวเอง”
จะเห็นว่า โอกาสทางการศึกษาที่มะปรางได้รับไม่ว่าจะเป็นด้านทุนทรัพย์หรือประสบการณ์ด้านอาชีพ เป็นต้นทุนที่ดีที่จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ในอนาคต
หนึ่งเสียงสะท้อนจากผู้พิการในโอกาสการศึกษาและการพัฒนาอาชีพ
สำหรับโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาอาชีพของเด็กและเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษในบ้านเรานั้น มะปรางมองว่า อาชีพที่รองรับผู้พิการยังมีไม่หลากหลายนัก ในสถานศึกษายังมีข้อจำกัดในการให้ผู้พิการเข้าถึงในหลายๆ สาขาการเรียน ด้วยเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ยังไม่เอื้อ ตัวเลือกในการเรียนจึงมีจำกัด
“เรื่องโอกาสทางการศึกษาและอาชีพของผู้พิการแม้จะมีมากกว่าแต่ก่อน แต่หนูอยากให้มันมีมากขึ้นกว่านี้ ให้มันมีตัวเลือกที่หลากหลาย ในแต่ละสถานศึกษาอยากให้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้พิการได้ไปเรียน มีทางเลือก มีสายอาชีพที่เลือกได้ว่าเราอยากจะทำงานอะไร เป็นอะไร มีการพัฒนาอาชีพต่อๆ ไป
เพราะว่าคนพิการทุกคนก็เหมือนคนทั่วไป เขาก็มีความฝัน มีสิ่งที่อยากทำ เหมือนอย่างหนูเองก็มีสิ่งที่อยากทำ แต่ว่าอย่างบางทีเขาก็จำกัดแค่ว่าเรียนได้แค่ในสาขานี้ แต่บางคนเขาก็อาจจะมีตัวเลือกที่เหมือนกับเพื่อนๆ คนอื่น แล้วก็ทุกๆ คนเขาก็มีความสามารถที่จะทำได้ แต่แค่โอกาสมันยังไม่มากพอ ก็อยากให้สังคมช่วยกันพัฒนา เปิดโอกาสต่อไปเรื่อยๆ ให้คนพิการเปรียบเสมือนคนปกติทั่วไปที่เราก็ไม่ได้ต่างอะไรกัน อาจจะแค่เรามีความต้องการที่พิเศษมากกว่าคนอื่น”
ความต้องการที่พิเศษที่ว่าเธอหมายถึง การมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการอย่างทั่วถึง เพราะนั่นคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้พิการสามารถออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้ด้วยตัวเอง
“ก็อยากให้เพิ่มอาชีพที่มันหลากหลายขึ้นที่รองรับผู้พิการ อย่างสถานศึกษาก็ให้ผู้พิการเข้าถึงได้ในหลายๆ สาขาการเรียน ไม่ต้องจำกัดว่าเรียนได้แค่สาขาไหน แล้วก็เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกค่ะ อย่างบางที่ บางมหาลัยเขาก็จะบอกว่าเราเรียนได้ในสาขานี้นะ เพราะว่าตึกนี้มีลิฟท์ อีกตึกนึงไม่มีลิฟท์ เราก็เลยเหมือนมีตัวเลือกว่าเรียนได้แค่นี้ มีข้อจำกัด”
“หลังจากที่หนูเรียนจบระดับชั้นปวส. ในสาขาเทคโนโลยีธุกิจดิจิทัลแล้ว หนูก็วางแผนไว้ว่า เป้าหมายต่อไปก็คืออยากทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยค่ะ หนูก็อยากจะจบปริญญาตรี ที่ฝันไว้ก็คืออยากจะรับปริญญาให้พ่อกับแม่ภูมิใจด้วย แล้วหนูก็อยากจะทำงานไปด้วย อยากจะเลี้ยงดูตัวเองได้ ส่งตัวเองเรียน แล้วก็พึ่งพาตัวเองได้ ก็เลยอยากจะทำงานแล้วก็หาเงินไปด้วย ตั้งใจว่าอยากจะหางานออนไลน์ทำ แล้วก็เรียนออนไลน์ควบคู่กันไปค่ะ ก็อยากทำงานด้านเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นี่แหละค่ะ เพราะว่าหนูรู้สึกว่ามันเหมาะกับหนูที่สุดแล้ว แล้วก็เป็นการต่อยอดสิ่งที่เราเรียนมาด้วย เพราะเรานั่งวีลแชร์เดินทางไปไหนก็ลำบาก
แต่การทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เราทำแค่อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ไม่ต้องเดินทาง ทำออนไลน์อยู่ที่ไหนก็ได้ค่ะ แล้วอีกอย่างงานที่เกี่ยวกับด้านไอทีมันก็ค่อนข้างเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานค่ะ”
“ทุกท่านลองคิดดูนะคะว่าถ้าหากสถานประกอบการในทุกๆ ที่ หรือส่วนมากสามารถที่จะทำงานออนไลน์ได้ หรือทำงานที่บ้านได้ ทุกท่านคิดว่ามันจะช่วยลดปัญหาและลดอุปสรรคของการเดินทางหรือเรื่องห้องน้ำสำหรับผู้พิการนั่งวีลแชร์ได้มากแค่ไหนคะ
ซึ่งพวกเราก็ย่อมทราบกันดีใช่ไหมค่ะ ว่าผู้พิการทุกคนมีความสามารถ มีทักษะ มีความถนัดของตัวเองอยู่แล้วค่ะ ซึ่งพวกเราทุกคนพร้อมแล้ว แล้วสถานประกอบการละคะ พวกคุณพร้อมหรือยังคะ” มะปราง – จิดาภา นิติวีระกุล หนึ่งในเยาวชนโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ทิ้งท้าย
โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาโครงการวิจัยเชิงระบบด้านการจัดการศึกษาสายอาชีพเพื่อการมีงานทำร่วมกับสถานศึกษาสายอาชีพทั้งหมด 11 แห่ง โดยทำมาแล้ว 4 ปี ปัจจุบันมีนักศึกษา 4 รุ่น รวม 439 คน และสำเร็จการศึกษาแล้ว 185 คน โดยมีพิธีมอบเกียรติบัตรแก่นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา ในปีการศึกษา 2566 จำนวน 123 คน จากสถานศึกษา 10 แห่ง จาก 7 จังหวัด ได้แก่ 1) วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล จ.นครปฐม สาขาคอมพิวเตอร์กราฟฟิก สาขาไฟฟ้ากำลัง 2) วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก กรุงเทพมหานคร สาขางานการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ 3) วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา จ.ชลบุรี สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล 4) วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล 5) วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ จ.สุรินทร์ สาขาช่างเทคนิคการผลิต สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัลสาขาอาหารและโภชนาการ 6) วิทยาลัยเทคนิคบางแสน จ.ชลบุรี สาขาการจัดการสำนักงาน 7) วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ หนองคาย จ.หนองคาย สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล 8) วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร สาขาธุรกิจค้าปลีก สาขาวิจิตรศิลป์ 9) วิทยาลัยสารพัดช่างอุดรธานี จ.อุดรธานี สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล สาขาดิจิทัลกราฟิก 10) วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ สาขาดิจิทัลกราฟิก สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล สาขาอาหารและโภชนาการ |