- เด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือ ‘เด็กพิเศษ’ หมายถึง เด็กที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษเนื่องจากความบกพร่องหรือข้อจำกัดทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ประสาทสัมผัส อารมณ์ และสังคม
- ปัจจุบันแม้ว่าสังคมส่วนหนึ่งจะตระหนักถึงศักยภาพของเด็กพิเศษ และพยายามส่งเสริมด้านการศึกษาให้พวกเขา แต่ยังพบว่าจำนวนไม่น้อยเมื่อเรียนจบไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการทำงานหรือสร้างอาชีพเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับตนเองได้
- The Potential คุยกับ ‘อาจารย์พิงค์’ ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม รองคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงอุปสรรคปัญหา ข้อจำกัด ความท้าทายและโอกาสในการพัฒนาศักยภาพเด็กพิเศษให้สามารถอยู่รอดและอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีคุณค่ามีศักดิ์ศรี
เมื่อพูดถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายและสติปัญญา หลายคนอาจรู้สึกสงสาร บางคนติดภาพจำของบุคคลที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นคนจำนวนไม่น้อยยังตีตราเด็กกลุ่มนี้ว่าเป็นภาระ เพราะการขาดทักษะความสามารถในหลายๆ ด้าน
“ความใจดีของเรามันแปรไปเป็นความสงสาร ยังมีคนจำนวนเยอะอยู่ที่มองว่าคนพิการคือคนที่ต้องให้ความสงสาร อยากจะบอกว่าตอนนี้ทุกอย่างกำลังจะต้องเปลี่ยนไป…”
“การศึกษาห้ามเป็นสังคมสงเคราะห์เด็ดขาด การศึกษาต้องมองเขาคือมนุษย์ ต้องยกระดับความเป็นมนุษย์”
‘อาจารย์พิงค์’ ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม รองคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการหนุนเสริมนักศึกษารับทุนและติดตามการประเมินผลการทำงานของสถานศึกษาอาชีวศึกษา ภายใต้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ (กสศ.) กล่าวถึงแนวคิดในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ พร้อมชวนสังคมทำความเข้าใจร่วมกันว่าเด็กเหล่านี้มีศักยภาพที่ไม่ต่างจากเด็กทั่วไป เพียงแต่พวกเขายังคงขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและสวัสดิการต่างๆ อย่างเท่าเทียม

ก่อนอื่นอยากให้อาจารย์เล่าถึงแนวคิดของทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษและบทบาทของทีมหนุนเสริม?
ทุนนี้เป็นทุนที่ กสศ. ตั้งใจให้เป็นทุนสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนได้เรียนอาชีวะ แต่พอถึงจุดหนึ่งทุนอาจไม่ได้เจาะจงไปยังกลุ่มบุคคลที่มีความพิการ หรือที่เราเรียกว่ามีความต้องการจำเป็นพิเศษ ทีนี้ในปี 2563 ทาง กสศ. มาคุยว่าอยากจะขยายเรื่องการศึกษาอาชีวะไปในกลุ่มของผู้พิการโดยเฉพาะ ประกอบกับทีมคณะคุรุศาสตร์เราเคยทำงานวิจัยพบว่าการเรียนสายอาชีพกับกลุ่มนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษนั้นแมตช์กัน โดยเฉพาะกลุ่มที่ปัญหาเรื่องความบกพร่องทางด้านการเรียนรู้และสติปัญญา ครั้งนั้นเราบอกว่าอาชีวะตอบโจทย์และเป็นทางเลือกที่เหมาะสม พอแมตช์กันก็ทำให้พวกเขามีโอกาสเข้าสู่กระบวนในการทำงานมากขึ้น พอ กสศ. มาคุยก็เลยทำหน้าที่เป็นผู้หนุนเสริมสถานศึกษาอาชีวศึกษา ที่เราเรียกกันว่าวิทยาลัย เริ่มรับสมัครตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องมาปีนี้ก็ปีที่ 5 แล้ว
บทบาทของอาจารย์คือส่วนไหน ดูแลอะไรบ้าง
บทบาทของทีมงานเราคือ เป็นอาจารย์ เป็นนักวิจัย ทำหน้าที่ประสานกับสถานศึกษาอาชีวะ เพื่อที่จะส่งเสริมว่าการที่มีคนพิการ ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ เข้ามาในระบบนั้นจะต้องดูแลอะไรบ้าง แบ่งเป็นสามธีมหลักๆ หนึ่งคือเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ การปรับตัว สองคือเรื่องของการศึกษา การเรียนรู้การปรับเนื้อหาวิชา และ สามคือโอกาสการมีงานทำ ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่เราเน้นมากแล้วก็วัดเป็นผลลัพธ์เป้าหมาย
หลังจากดำเนินโครงการมาแล้ว พบปัญหาหรือข้อจำกัดอะไรบ้าง
บทเรียนมันสะท้อนต่างกันไปทุกปี อย่างปีแรกๆ ต้องบอกว่า เราเลือกวิทยาลัยมาเลยว่า ที่นี่เคยมีประวัติรับคนพิการเข้ามา แล้วก็มาศึกษาจากเขาว่า การที่เขาเปิดหลักสูตรนี้มานานแล้วและมีคนพิการเข้าเรียนเจออะไรบ้าง ซึ่งตอนนั้นมีแค่ 5 วิทยาลัยและมีเด็กเข้ามาร่วมโครงการไม่ถึง 100 คน
พอเข้ามาปีที่ 1 เราเจอว่าการหาคนพิการที่ยากจนและเก่งมาเรียน ปวส. เป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายมาก เพราะว่าในเด็กพิเศษ-คนพิการในประเทศไทย เขาจะเรียนอยู่โรงเรียนเฉพาะคนพิการเยอะมาก โดยเฉพาะกลุ่มหูหนวก ก็คือพวกโรงเรียนโสตศึกษาทั่วประเทศ พออยู่อย่างนั้นแล้วโรงเรียนก็ทำหน้าที่ของโรงเรียน ให้ความรู้ ดูแลกันไปตามสภาพข้อจำกัดเขาค่ะ เช่น สอนด้วยภาษามือ หรือว่าฝึกทำอะไรที่พอจะเป็นอาชีพได้ แต่คำว่า ‘พอจะเป็นอาชีพ’ ถึงเวลาเรียนจบแล้วมันก็ยังไม่พอสำหรับจะดำเนินชีวิตแบบที่บริษัทห้างร้านจะรับไปทำงาน ยังมีข้อจำกัดในเรื่องความพิการ
ดังนั้นตลอด 5 ปีที่ผ่านมานี้ สิ่งหลักๆ ที่เราเจอว่าเป็นปัญหา คือการยอมรับของสังคมต่อคนพิการ หรือในทักษะการเรียนการทำงานยังทำไม่ได้เท่าที่ควร อาจจะพูดยากว่าเท่าที่ควรคือเท่าไหร่ แต่ถ้าชวนสังคมคิด คือมองไปรอบๆ ตอนที่เราเข้าห้างร้านเพื่อซื้อของ จะมีกี่ครั้งที่เราเจอคนขายหรือผู้ให้บริการเป็นคนพิการ พอไม่มี คำถามคือเมื่อคนพิการเรียนจบแล้ว ต่อให้เรียนสายอาชีพ แล้วไปไหน นี่คือโจทย์หลักๆ เลย พอเราตั้งเป้าว่า ไม่ได้สิคุณจะเรียนโรงเรียนอะไรก็ตาม มันต้องเป็นการศึกษาที่ผลักคุณสู่การมีเงินเดือน ตอนนี้อาชีพมันอาจจะเบลอไปแล้ว เช่น มันไม่ได้มีอาชีพที่ต้องเป็นหมอเป็นครู แต่เป็นอาชีพที่บางคนก็ได้เงิน เช่น ยูทูบเบอร์
ดังนั้นเราควรตั้งโจทย์ว่า ทำยังไงคนพิการที่เรียนจบสูงขนาด ปวช. ปวส. หรือว่าปริญญาตรีด้วยซ้ำ สามารถเข้าสู่กระบวนการทำงานหรือสร้างอาชีพ แล้วเขาก็จะกลายเป็นผู้หนึ่งที่เสียภาษี เป็นพลเมืองที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมจริงๆ
ก็เลยเป็นสโลแกนที่มาว่า เราจะเปลี่ยนความพิเศษเป็นพลัง เมื่อก่อนมันจะมีคำว่า เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง แสดงว่าสังคมต้องมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นภาระใช่ไหม เราก็เลยบอกว่า อย่าเอาคำว่า ‘ภาระ’ ไปใส่ภาพให้ในสังคมอีก สื่อมวลชนก็ควรยกเลิกคำว่า ‘ภาระเป็นพลัง’ ก็เลยเปลี่ยนเป็น ‘ความพิเศษ’
ดังนั้นเวลาเราโปรโมทความพิเศษก็คือชูจุดขายที่เขามี ยกตัวอย่างเช่น เด็กออทิสติกเขาจะมีโฟกัส เป็นกลุ่มที่จัดเรียงข้อมูลเก่งมาก สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ แต่เขาอาจมีปัญหาเรื่องสังคม สัมพันธภาพอะไรต่างๆ หรือเด็กหูหนวกนั้นสมาธิดีมาก ถ้าให้ทำอะไรบางอย่างที่เขาจดจ่อ แล้วเขาไม่ต้องไปยุ่งกับใคร ไม่ต้องสื่อสาร ก็จะทำได้ดี
คนร่างกายพิการก็อยู่ในโครงการเรา Cognitive (ความสามารถทางสติปัญญา) ความฉลาดมี 100% แต่ว่าข้อจำกัดคือเขานั่งวีลแชร์ บริษัทอาจจะเกิดความกลัวไปก่อนว่ายังไม่มีทางลาดสำหรับวีลแชร์ จะรับเขาได้ไหม ทีนี้ถ้ามาโฟกัสที่ความพิเศษ ไม่ได้สนใจว่าเขานั่งวีลแชร์หรือไม่ แต่เป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่งมาก ทำไมคุณจะไม่จ้างเขา แล้วคุณไปคิดอย่างอื่นได้ไหม เช่นถ้าไม่มีทางลาดก็หาทางแก้ปัญหาไปก่อน เหล่านี้คือสิ่งที่เราจะโปรโมทให้เกิดขึ้นในโครงการเล็กๆ ที่เริ่มไม่เล็กแล้ว มันก็ขยายต่อมา

อัตราการมีงานทำของเด็กที่ได้รับทุนฯ เป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้มีเด็กเรียนจบแล้วประมาณ 400-500 คน อัตราการมีงานทำมันก็เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เราบอกได้อย่างนี้ แต่การมีงานทำของเรานั้นมันก็มีปัจจัย เช่น ยั่งยืนหรือเปล่า เพราะวันที่เราสำรวจ เขามีงานทำ แต่เดือนต่อไปเขาอาจถูกให้ออก อะไรอย่างนี้ เราก็เลยยังเจอสถิติที่ไม่มั่นคงนักในเรื่องการมีงานทำ แต่ถามว่าเขาสตรองขึ้นไหม เขามีศักดิ์มีศรีขึ้นไหม ตอบได้ว่า ใช่
พอเขาผ่านระบบการศึกษา อย่างน้อยที่สุดเขาไม่ได้ออกจากบ้าน หรือว่าอยู่เฉยๆ ไม่เคยทำอะไรเลยแล้วก็ออกไปสู่สังคม แต่การเข้ามาในระบบการศึกษาแล้วสถานศึกษาอาชีวะนั้นให้โจทย์บางอย่างกับเขา เช่น ลองผลิตนี่สิ ลองทำอันนั้นสิ ลองขายของสิ มันก็แน่นอน มันดีกว่าที่จะให้คนที่มีข้อจำกัดบางอย่างออกจากบ้านแล้วไปสู่ที่ทำงานเลย แบบนั้นไม่มีใครรับแน่นอน เพราะฉะนั้นตอนนี้มันก็คือโอกาสที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก
ถ้าอย่างนั้น อาจารย์มองว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กกลุ่มนี้
มันมีหลายอย่างมากเลยนะ พูดง่ายๆ ถ้าเราคิดว่าโรงเรียนผลิตให้คนเก่งคนดี มันก็มีความทับซ้อนว่าในโรงเรียนคุณมีครูดีหรือเปล่า คุณมีครูที่เข้าใจเขาหรือเปล่า คุณสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้จริงหรือเปล่า
ดังนั้นตัดภาพมาที่คนพิการ ปัจจัยของการเรียนรู้มันก็สูงมาก เพราะต้องผ่านครูอีก ครูผู้สอนก็มีทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจ มีทั้ง มายด์เซ็ตที่เขาเรียกว่า Open หรือ Growth Mindset กับ Fixed Mindset ตัวอย่างเช่นครูที่ Fixed Mindset ก็จะคิดว่าเธอเป็นคนพิการ อยู่ๆ ไปเหอะ ไม่ต้องทำอะไรหรอก หรือเด็กพิเศษประถมเข้ามาในโรงเรียน แล้วครูไม่มีความเข้าใจหรือมี Fixed Mindset ก็จะคิดว่าซวยแล้วมีเด็กพิเศษมาอยู่ในห้องฉัน อีก 30 คนฉันก็ต้องดู เพราะฉะนั้นถ้าครูเป็นแบบนั้นมันก็จะกระจายมายด์เซ็ตนี้ไปสู่ห้องเรียน เพื่อนที่เป็นเด็กทั่วไป เป็นเด็กปกติก็มองไปตามที่ครูบอกว่าภาระ
มันทำให้ทุกคนมองเด็กพิเศษว่าเกเรบ้าง ซนบ้าง เป็นภาระที่ทำให้ห้องเรียนเสียบรรยากาศบ้าง แล้วครูก็ทำหน้าเอือมใส่ ทีนี้ทุกคนก็คิดตามหมดเลย อย่างนั้นการเรียนรู้ของเด็กที่มีความแตกต่างมันก็เป็นไปไม่ได้
อันนี้ฉายภาพให้เห็นว่า บริบทแวดล้อมอาจจะเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งกว่าข้อจำกัดในตัวเขาอีก นี่คือสิ่งที่เราในฐานะคนฝึกหัดครูนั้นพยายามใส่ครูตลอด ไม่ใช่จัดหนักครูหรือว่าครูนะ แต่พยายามให้ครูเข้าใจว่า ตัวคุณน่ะ สิ่งที่คุณพูด สิ่งที่คุณทำ มีผลกับการเรียนรู้ของเด็กหมดเลย ทั้งเด็กพิเศษและเด็กปกติ

แนวทางการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กพิเศษ ควรตั้งต้นจากการมองว่าเขาเหมือนเด็กปกติทั่วไป หรือมองแบบยอมรับว่าเขาพิการ?
เป็นคำถามที่ดีมากเลย ถ้าเรามองว่าคนเราสามารถแตกต่างกันได้ สูงต่ำดำขาว ผมสั้นผมยาว เราก็จะมองว่าความพิเศษก็อาจจะเป็นความแตกต่างอย่างหนึ่งของมนุษย์ก็ได้ เพราะวันนี้ LGBTQ+ เราก็โอเคแล้ว โอเคแต่เลเบิล (Label) แต่กลายเป็นว่าพอเป็นเด็กพิเศษ อุ๊ย! พิเศษอะไรหรอ ออทิสติกหรือเปล่า สติปัญญาบกพร่องหรือเปล่า เพราะคำว่าเด็กพิเศษพอมาจับกับนักเรียน ครูก็อยากรู้ให้ชัดว่ามันคืออะไรกันแน่ มันก็เลยเกิดคำถามว่า พอรู้แล้วเป็นยังไง จะยอมรับหรือว่าไม่ยอมรับแต่ถามว่า รู้แล้วจะเปลี่ยนวิธีสอนไหม ก็ไม่เกี่ยว
แล้วทีนี้รู้ไปทำไม รู้แล้วจะป่าวประกาศว่า มาดูสิเด็กออทิสติกอยู่ห้องฉัน ซึ่งวันนี้ถ้าเราทำอย่างนั้นกับ LGBTQ+ มาดูเร็วคนนี้เป็น LGBTQ+ ตายเลย มันคงเป็นเรื่องเป็นราวใช่ไหม แต่กลับกลายเป็นว่าพอมีออทิสติก ครูยอมรับแหละว่าเป็นเด็กออทิสติก แล้วก็บอกทุกคนว่านี่ออทิสติก แล้วทุกคนก็ยอมรับว่าออทิสติก แต่ก็ทรีตเขาแบบออทิสติก ทรีตเขาไม่เหมือนเรา มันก็เลยเกิดคำถามว่า ตกลงให้ทรีตแบบไหนกันแน่
กลับมาที่คำตอบ ถ้าในใจเราเอง เราก็คิดว่าถ้ารู้แล้วมันไม่ได้เปลี่ยนอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องไปขอเลเบิล ไปขอให้รู้ว่าเป็นอะไร ซึ่งผู้ปกครองร้อยทั้งร้อย ใจเขาใจเรา เรามีลูกที่แตกต่างจากเด็กคนอื่น เราอยากจะบอกคนอื่นไหมว่าลูกฉันแตกต่างมากเลยนะ ลูกฉันอาจจะกรี๊ดแตก ลูกฉันอาจจะตีเธอได้ เขาก็ไม่อยากบอก อย่างจะไปจดทะเบียน ไปวินิจฉัยโรงพยาบาลนั้น เขาไม่ไปแน่นอน เขาก็จะปกปิดไว้ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แล้วก็เนียนๆ ไป ครูก็เลยโทษผู้ปกครอง ครูส่วนหนึ่งก็จะบอกว่า นี่ไงเพราะไม่บอก แต่ก็ต้องถามกลับว่า แล้วถ้าเขาบอก คุณจะทำอะไรที่แตกต่าง คุณจะช่วยเขาหรือเปล่า ก็เออ…ไม่รู้สินะ
มันก็เลยไม่ใช่คำถามว่าเป็นหรือไม่เป็น รู้หรือไม่รู้ แต่คำถามในการศึกษาคือ ความเป็นครูของคุณมันครอบคลุมทุกคนหรือยัง สิ่งที่อยากบอกครูทุกคนคือ คุณมองเด็กทุกคนครบไหม คุณมีลูก 20-30 คนนะ แล้วคุณเลือกปฏิบัติกับลูกไหม เหมือนเรามีลูกแค่ 3 คน มันก็แค่ 3 ใช่ไหม แต่นี่ 30 ในห้องอ่ะ แต่ฉันชอบคนนี้ ฉันไม่ชอบคนนี้ เพราะเธอมีพฤติกรรมน่ารังเกียจ
ดังนั้นถ้าความเป็นครูไม่ครอบคลุมทุกคน แล้วก็ไปเล็งอีกว่า คนไหนเป็นเด็กพิเศษ คนไหนไม่พิเศษ เราว่าจิตวิญญาณความเป็นครูต้องทบทวน

ถ้าปรับโฟกัสมาที่เด็กพิการและมีปัญหาความยากจนด้วย สถานการณ์หนักหนากว่าไหม
มันเหมือน Double Standard เข้าไปอีก แต่ก็ต้องบอกว่าในความยากจนแล้วก็เป็นคนพิการ รัฐจะมีงบช่วยเหลืออยู่ซึ่งอาจจะเอื้อเขาพอสมควร แต่ถามว่าจะเดือดร้อนกว่าเด็กพิเศษที่ไม่ยากจน ก็แน่นอน เพราะว่าเด็กพิเศษ-คนพิการที่ไม่ยากจนก็จะเข้าถึงสวัสดิการอื่นๆ และมีทางเลือกมากกว่า ก็เหมือนเป็นโรค เป็นโรครุนแรงแล้วมีเงินกับเป็นโรครุนแรงแล้วไม่มีเงิน ดังนั้นโรงเรียนก็คล้ายๆ กับการเข้าถึงโรงพยาบาลและเกรดของการรักษา
อีกประเด็นที่คิดว่าสำคัญก็คือ การที่ครอบครัวมีฐานะนั้น ส่วนหนึ่งก็คือพ่อแม่ผู้ปกครองมีความรู้ด้วย พอผู้ปกครองมีความรู้ เขาจะเข้าถึงสิ่งที่ทางการศึกษาพิเศษเรียกว่า Early Intervention ก็คือการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม ความพิการเอย เด็กพิเศษเอย ถ้าช่วยได้เร็วไม่ใช่ว่าจะต้องหายนะ แต่เขาจะใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติ เช่น หากเด็กพิเศษเกิดมาในประเทศที่เซอร์วิสเข้าถึง ผู้ปกครองแทบไม่ต้องทำอะไรเลย นักฝึกพูด หมอ จะมาเกี่ยวพันไปหมด เขาจะประเมินทุกอย่าง ผลออกมาสมมุติว่า เด็กคนนี้ต้องฝึกพูด 3 วันต่อสัปดาห์ หรือว่ามีนัดมากายภาพบำบัดทุก 3 ครั้งต่อวัน อะไรอย่างนี้
ในกรณีของเด็กพิเศษ คนที่รับการช่วยเหลือตั้งแต่แรกเริ่ม โอกาสที่จะเหมือนเด็กปกติตอนเข้าป.1 สูงมาก ตัดภาพมาบ้านเรา ส่วนใหญ่ผู้ปกครองก็จนด้วย แค่เดินทางไปโรงพยาบาลก็เป็นเรื่องแล้ว ต้องลางาน หยุดขายของ ต้องเอาลูกไปฝึก ต้องนั่งรอ สรุปก็คือหมดวัน หรือบางที่ภาครัฐบอกว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องฝึกด้วย คือต้องเอาเวลา 3 เดือนเพื่อที่จะไปฝึกพฤติกรรมลูก 3 เดือนนั้นจะเอาเงินที่ไหนซื้อข้าวกินก่อน แล้วพอโรงเรียนบอกรับไปแต่โรงเรียนไม่ได้ดูได้ตลอดนะ คุณแม่ก็ต้องมาด้วย แล้วคนหาเช้ากินค่ำจะไปได้ยังไง
โครงการที่อาจารย์ทำอยู่สามารถซัพพอร์ตเด็กกลุ่มนี้ได้มากน้อยแค่ไหน
โครงการ กสศ. รีวิวตลอดว่าจุดที่เขาเอาเงินเข้าไปสนับสนุนนั้นเป็นการทดลองเชิงวิจัยด้วยนะ ซึ่งช่วยได้พอสมควรเลย แต่สิ่งที่สำคัญมากก็คือสื่อ การสื่อสารออกไปว่าผลนี้จะเป็นลักษณะของต้นแบบ เช่น รู้ไหมว่าวิทยาลัยนี้อาชีวะนี้เขาเริ่มรับคนพิการนะ หลังจากนั้นอาชีวะอื่นก็แค่ปรับตัว ถ้าวิทยาลัยนี้ทำได้ เราไปทำโมเดลวิทยาลัยนี้ที่จังหวัดอื่นด้วย เห็นภาพไหมคะ
เช่นกันในบริบทภาพรวมประเทศ มันก็เริ่มผุดเป็นดอกเห็ดได้ว่า อ๋อ..อย่างนี้ๆ แล้วมันจะกลายเป็นภาพจำของประเทศว่า วันนี้มีการเอื้อคนพิการหลายภาคส่วนแล้ว ยกตัวอย่างเช่นในงานปัจฉิมนิเทศนักศึกษาทุนนี้ สถานประกอบการที่มาก็ไม่ใช่เล็กๆ เบทาโกร มิชลิน อเมซอน ปตท. เซ็นทรัล เขาก็มายกมือบอกว่าเราเป็นสถานประกอบการที่รับคนพิการแล้วนะ เขาบอกว่าเขาไม่ได้มองแค่การทำ CSR หรือภาพลักษณ์องค์กร แต่เขาคือต้นแบบของประเทศ
เวลาทำงานเรื่องคนพิการ คำว่า CSR ล้าสมัยไปแล้ว ไม่ใช่แล้ว เขาใช้ว่า CSV คือ Shared Value ก็คือเริ่มสร้างด้วยกัน เรามาคิดโปรเจ็กต์ด้วยกัน จะเอาเงินที่บริษัทจ่ายนั้นไปทำยังไงให้คนพิการเข้ามาในกระบวนการมีงานทำ โดยกลไกภาครัฐของกระทรวงแรงงานเขาก็มี กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เขาก็ทำ มาตรา 33, 34, 35 ซึ่งอันนั้นก็อีกยาวเลย
ในมุมของคนที่ทำงานด้านนี้มาพอสมควร อาจารย์อยากฝากอะไรไปถึงสังคม โดยเฉพาะในมุมที่เกี่ยวกับโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ-คนพิการ
เรารู้ว่าคนไทยเป็นคนจิตใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตา แต่จุดหนึ่งคือความใจดีของเรามันแปรไปเป็นความสงสาร ซึ่งจะบอกว่ายังไม่หายไปหมด ยังมีคนจำนวนเยอะอยู่ที่มองว่าคนพิการคือคนที่ต้องให้ความสงสาร เหมือนมีขอทานแล้วเราเอาเงินไปให้ อยากจะบอกว่าตอนนี้ทุกอย่างกำลังจะต้องเปลี่ยนไป เพราะว่าถ้าเราใช้โมเดลของความสงสารแล้วก็ให้เงินมันจะจบเลย มันจะกลายเป็นภาพจำที่ว่าเรามีคนที่เป็นภาระ มารอขออีกเยอะๆ
ที่สำคัญคือในเชิงของการเรียนรู้นั้น เรากำลังสร้างให้คนพิการโดยเฉพาะเด็ก เรียนรู้ว่าฉันเป็นผู้รับอย่างเดียว เขาจะให้ไม่เป็น เขาก็จะคิดว่าเขามีหน้าที่ขอ
ยิ่งถ้าภาพกลายเป็นว่าสมาคมนี้ขอเก่งกว่าสมาคมนี้ เราจะเอาที่ไหนไปให้ ถึงจุดนึงมันก็จะเป็นความช่วยเหลือเฟ้อ และทุกคนก็จะรังเกียจ เหมือนที่เราพูดว่า ‘มือคนให้สูงกว่ามือคนรับ’ ส่วนคนรอรับก็จะโดนดูถูก คนให้ยังคิดว่าให้เงินไปแล้วยังขอทานอยู่อีกเหรอ คือต้องลบภาพเหล่านี้ให้ได้ แล้วการศึกษาคือการลบภาพเหล่านี้
แต่อย่าทำให้การศึกษาการเป็น Another สงเคราะห์ ต้องแยกให้ออกเลย ทุกวันนี้กรมสังคมสงเคราะห์ยังเปลี่ยนชื่อเลย ใช่ไหม ดังนั้นการศึกษาห้ามเป็นสังคมสงเคราะห์เด็ดขาด การศึกษาต้องมองเขาคือมนุษย์ มันถึงเป็นความมั่นคงของมนุษย์ และการศึกษาก็คือการยกระดับมนุษย์ ไม่ใช่การให้เด็กมานั่งจมปุ๊กอยู่แล้วก็บอกว่าสงสารเธอจัง มานั่งกับเพื่อ แล้วเพื่อนก็ไม่เอาด้วย อย่างนี้
การที่เราเริ่มกับอาชีวะมันมีภาพเหมือนกันนะ เพราะอาชีวะก็เป็นภาพจำของสังคมที่รู้สึกว่า รุนแรง ตีกัน แต่วันนี้อาชีวะเขาเปลี่ยนภาพแล้ว เป็นภาพที่มาดูแลคนพิการ ทีนี้เขาจะกลายเป็นต้นแบบของที่อื่นเหมือนกันว่า อาชีวะกับคนพิการเขาจับมือกันแล้ว เขามีสถานประกอบการมีเครือข่ายอีก เขาไม่ใช่ขำๆ แล้วนะ ไม่ได้มาตีกันไปวันๆ ภาพของอาชีวะก็เปลี่ยน คิดว่าสิ่งนี้เป็นแรงกระเพื่อมสำคัญของสังคม แล้วสื่อจะช่วยได้มากที่สุดก็คือ ทำให้ภาพของความจำเดิมที่ว่า คนพิการคือขอ อาชีวะคือตีกัน เปลี่ยนใหม่เป็นสังคมร่วมกัน

คุณค่าของโครงการนี้มากกว่าการงานมีรายได้ น่าจะหมายถึงการทำให้เขามีชีวิตอย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี มีความภูมิใจในตัวเองด้วย?
ถูกต้องเลย ถูกต้องที่สุด เพราะสังคมเรามันจะรันไม่ได้นะถ้าเราแบ่งชนชั้น หรือเราเกลียดกันไปกันมา ถ้าเราไม่แก้ตั้งแต่เด็กๆ ก็จะโตไปเป็นเด็กที่มีกลุ่มไฮโซ กลุ่มยากจน แล้วเขาก็ไม่เป็นเพื่อนกันนะ สุดท้ายมันก็จะมาเจอกันตรงที่ว่า ‘สังคมเหลื่อมล้ำ’ นั่นก็เป็นที่มาของกองทุนเพื่อความเสมอภาค ‘เสมอภาค’ เกิดมาเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แล้ววันนี้เราก็พูดกันไปกันมาว่าเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ก็สิ่งนี้แหละ คนพิการเด็กพิเศษ ความยากจน ก็คือสมการในความเหลื่อมล้ำเต็มๆ โครงการนี้ก็จะมาตอบโจทย์
หลายครอบครัวที่ไม่มีเด็กพิเศษคนพิการอาจไม่ตระหนักว่าตนเองไม่จำเป็นต้องเข้าใจหรือมีส่วนร่วมในการดูแลปัญหานี้ อาจารย์มีความเห็นอย่างไร
ยกตัวอย่างความรุนแรง อันนี้จะชัดแล้วคนจะสะดุ้ง ก็คือเราบอกว่าไม่เกี่ยว อย่าเอาเด็กพิเศษมาอยู่ในโรงเรียนลูกฉัน เด็กพิเศษก็ออกไป ไปไหน ไปซ่องสุมกำลัง ไปตีกันไปเป็นแก๊ง ถึงเวลาเข้าไปทำความรุนแรง หัวร้อน เพราะอะไร เพราะเขาถูกขับออกจากระบบ แล้วเขาไปอยู่รวมกันเป็นแก๊ง ทีนี้เดือดร้อนหรือยัง ฉันนั่งรถอยู่ดีๆ ไอ้หัวร้อนมาชนฉัน เดินห้างอยู่ดีๆ มีเด็กกราดยิง คือเรื่องนี้มันเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก ซึ่งถ้าคุณไม่แก้ปัญหาตรงนี้คุณต้องรับผลที่ตามมาร่วมกันในสังคม รับได้ไหม วันที่ต้องกังวลว่าลูกหลานฉันปลอดภัยหรือเปล่าที่ไปเดินห้าง อันนี้เราไม่ได้บอกนะว่าอาชีวะ มีกลุ่มหนึ่งที่โดนขับออกจากโรงเรียน โดนขับออกจากระบบ ไม่มีใครสอนเขาว่าควบคุมอารมณ์ยังไง ทำยังไงไม่ตีกัน แล้วคุณบอกว่า ไม่เป็นไรหรอกตอนนี้มันห่างไกลตัวฉัน แล้วมันใกล้ตัวตอนที่คุณต้องเดินผ่านสถานที่เกิดเหตุ อันนี้คุณก็ต้องรับผิดชอบร่วมกันแล้ว เพราะว่าคุณบอกว่าไม่เกี่ยวกับฉัน แน่ใจหรือว่าไม่เกี่ยว ถามแค่นี้เลยค่ะ
ตามเป้าหมายของโครงการที่ตั้งไว้แต่แรก ตอนนี้อยู่ในจุดที่น่าพอใจหรือเรียกว่าประสบความสำเร็จได้หรือยัง
เราคิดว่าเราก้าวหน้ามาเยอะมาก แต่ถามว่าสำเร็จไหม ก็ยังนะคะ คงต้องมีความต่อเนื่อง สมมุติเด็กจบ 120 คน ครึ่งนึงน่าจะได้งานทำ แต่อีกครึ่งนึงอาจต้องใช้โมเดลอื่นที่ไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี แต่เป็นภาคของการสร้างงานกับครอบครัวเขา สร้างให้ชุมชนเขามีรายได้ จะเป็น OTOP เป็นอะไรที่เขาขายอยู่ ก็ต้องเอาพ่อแม่เขามาทำด้วย เพราะว่าวันนี้ตัวเขายังไม่สามารถแยกตัวจากพ่อแม่ได้ เด็กยังตอบว่ามีอะไรต้องไปถามแม่ก่อน มันเป็นอย่างนั้นอีกพอสมควรเลยนะ ซึ่งอันนี้ก็ไม่ได้เป็นแค่เด็กพิเศษ หลายโมเดลก็ต้องกลับไปจับที่ชุมชนและครอบครัว เพราะฉะนั้นการให้ทุนการศึกษาต่อตัวเขา ให้เรียนสูงที่สุด อาจจะเหมาะกับบางกลุ่ม และยังมีบางกลุ่มที่ต้องคิดนวัตกรรมอื่น กสศ. เองอาจจะมีการผันตัวจากผลงานวิจัยที่เปลี่ยนแปลงโมเดลหลายๆ อย่างในการจ้างงานของคนพิการ
สุดท้ายในมุมของนักการศึกษา อาจารย์มีทัศนะอย่างไรต่อการศึกษาไทยในปัจจุบัน
การศึกษาไทยนั้นยังมีหวังใช่ไหม ทุกคนรับทราบร่วมกันว่าเราอยู่อันดับที่ 107 อยากให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องการศึกษายอมรับความจริง อะไรที่มันเป็น Pain Point อย่าซุกใต้พรม ต้องเอามันขึ้นมาวางถึงจะแก้ปัญหาได้ อเมริกา ยุโรป หรือประเทศต่างๆ จริงๆ เขาต้องผ่านจุดที่ยอมรับตัวเองก่อน อย่างอเมริกาเองเคยประกาศ A Nation at Risk เมื่อพบว่าเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เขาเรียกผู้เชี่ยวชาญทั้งประเทศเป็นพันคนมารวมกัน เพื่อหาว่าเขาจะสอนอ่านเขียนยังไง แต่เราบอก….อ่านออกกันหมดแล้ว จริงเหรอ ถามใจเธอดูว่ายังมีคนอีกเยอะไหมที่อ่านหนังสือไม่ออก แล้วเป็นเด็กพิเศษหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่อย่าบอกว่าโอ้ย…ผลมันไม่ชัวร์ อะไรอย่างนี้ อย่าซุกใต้พรม เอาออกมาวาง แล้วก็หาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันขบคิด เพื่อลูกหลานของเราค่ะ