- การเติบโตไปในทิศทางที่ดีหรือดีกว่าเดิมนั้น ต้องอาศัยปัญญาและความคิดของผู้คนที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน โรงเรียนจึงเป็นสถานที่สำคัญที่จะฟูมฟักผู้คนให้มีวิถีชีวิตเช่นนี้ขึ้นมาได้
- บทความนี้เล่าถึงแง่มุมหนึ่งในการมองเรื่องประชาธิปไตยในโรงเรียน จากหนังสือ “Democracy as a Way of Life” เขียนโดย Boyd Henry Bode นักปรัชญาการศึกษาชาวอเมริกัน สายปฏิบัตินิยม (pragmatism)
- การศึกษาที่ควรจะเป็นในความคิดของ Bode คือการทำให้วิถีประชาธิปไตยอยู่ในวิถีชีวิต ความรู้หรืออะไรก็ตามที่ได้เรียนรู้ ต้องเป็นสิ่งที่ตั้งคำถามได้ โรงเรียนจึงต้องสร้างชุมชนทางประชาธิปไตยที่อยู่บนหลักการเสรีภาพและความเท่าเทียมเสียก่อน
“…แต่สำหรับประชาธิปไตยแล้ว ไม่มีทางเลือกอื่นใด มันจะยืนหยัดหรือร่วงหล่นก็ด้วยศรัทธาของสามัญชน ศรัทธาซึ่งเป็นเพียงฐานที่มั่นเดียวในการลงมือก่อรูปแบบแผนแสนเศร้าของสิ่งต่างๆ ขึ้นใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าเราได้เข้าใกล้โลกที่ใจปรารถนาไปอีกก้าวหนึ่ง”
Boyd Henry Bode
เมื่อพูดถึงประชาธิปไตยในโรงเรียน หลายคนอาจนึกถึงภาพครูสังคมศึกษากำลังสอนเรื่องรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย นักเรียนกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการใช้สิทธิใช้เสียงของตนเมื่ออายุถึงเกณฑ์เลือกตั้งได้ ขยับออกไปนอกห้องเรียนก็อาจเป็นการเลือกตั้งสภานักเรียน ประธานนักเรียน ที่นักเรียนได้ทดลองปฏิบัติจริงผ่านการตัดสินใจเลือกผู้แทนของตน ร่วมกับการจัดอบรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเป็นครั้งคราว เพื่อให้นักเรียนเข้าใจความหมายของคำว่าประชาธิปไตย
เราสามารถพูดได้ไหมว่า นี่แหละคือประชาธิปไตยในโรงเรียน?
ผมไม่มีคำตอบให้สำหรับคำถามนี้โดยตรง แต่อยากเล่าถึงแง่มุมหนึ่งในการมองเรื่องประชาธิปไตยในโรงเรียน จากหนังสือ “Democracy as a Way of Life” หรือที่ผมแปลเป็นไทยว่า “ประชาธิปไตยในฐานะวิถีชีวิต” หนังสือที่มีอายุเกือบ 100 ปี เขียนโดย Boyd Henry Bode นักปรัชญาการศึกษาชาวอเมริกัน สายปฏิบัตินิยม (pragmatism) ซึ่งจัดได้ว่าเขาเป็นนักการศึกษาร่วมสมัยกับที่หลายคนคุ้นเคยอย่าง John Dewey และ George Count (ผู้เขียนหนังสือ Dare the school build a new social order อ่านได้ที่ กล้าพอไหม? ที่จะสร้างระเบียบโลกใหม่จากในโรงเรียน)
Boyd Henry Bode เริ่มต้นสอนในสาขาวิชาปรัชญา ก่อนจะเริ่มหันมาให้ความสนใจและทำงานด้านการศึกษาอย่างจริงจังราวทศวรรษ 1920 เป็นต้นมา หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ขณะที่ผู้คนกำลังเผชิญกับความย่ำแย่ของสังคมและเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ถูกใช้เป็นอาวุธในสงคราม และการเกิดขึ้นของคอมมินวินิสต์และฟาสซิสต์ ด้วยบริบทเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่จะทำให้เขาเกิดคำถามถึงทิศทางที่สังคมกำลังเดินไปว่ากำลังนำไปสู่สังคมที่ดีหรือชีวิตที่ก้าวหน้าหรือไม่
ถ้าคำตอบคือ ไม่ใช่! แล้วสังคมที่ดีหรือชีวิตที่ควรจะเป็นนั้น มันต้องมีหน้าตาอย่างไร
เพื่อจะตอบคำถามนี้ Bode เห็นว่า เราไม่สามารถตอบได้เพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องมีคนอื่นร่วมคิดกับเราด้วย เพราะเราแต่ละคนต่างมีผลประโยชน์ ความต้องการ ความมุ่งหวัง หรือความปรารถนาอะไรก็ตามที่แตกต่างกันไป
การจะบอกว่าชีวิตที่ดี สังคมที่ดีควรเป็นแบบไหน จึงต้องอาศัยการพูดคุย รับฟัง แลกเปลี่ยน เรียนรู้ระหว่างกัน ด้วยความอดทนต่อความคิดและคุณค่าที่ต่างออกไป
ดังนั้น Bode เลยเห็นว่า ประชาธิปไตยนี่แหละ ที่จะสร้างวิถีที่ผู้คนอย่างเราๆ จะบอกเล่าความคิดความรู้สึกระหว่างกันออกมาได้ สุดท้าย ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม วิถีเช่นนี้จะนำพาผู้คนให้เรียนรู้ที่จะกำหนดชีวิตหรือคุณค่าที่จะเป็นร่วมกันทั้งปัจจุบันและอนาคต
จริงอยู่ที่รูปแบบการปกครองย่อมสร้างวิถีชีวิตแบบใดแบบหนึ่งขึ้นมาพร้อมกับตัวมันเองด้วยเสมอ เช่นที่การปกครองของนาซีได้สร้างวิถีที่ผู้คนให้ความสำคัญกับการจัดลำดับจากเชื้อชาติและพันธุกรรม แต่ประชาธิปไตยได้สร้างวิถีที่แตกต่างออกไป คือวิถีชุมชนที่ยืดหยุ่น เปิดกว้างต่อความคิดที่แตกต่างหลากหลาย ประชาธิปไตยจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่รูปแบบการปกครองหนึ่งที่อาศัยหลักการกติกา เช่น เสียงข้างมาก การเลือกตั้ง หรือผู้แทนเท่านั้น แต่มันคือ วิถีประชาธิปไตย ที่ตัวเราและคนอื่นๆ สามารถจะมีตัวตน มีสิทธิ มีเสียง เพื่อแสดงออกถึงสังคมที่เราอยากเห็นและชีวิตที่เราปรารถนาได้ ซึ่งต่างจากวิถีชีวิตในการปกครองรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะคอมมิวนิสนิสต์และฟาสซิสต์ที่ผู้คนถูกมอบคำตอบของชีวิตให้แล้วว่าเขาควรคิดหรือให้คุณค่ากับสิ่งใดอย่างไร ประชาธิปไตยจึงสำคัญกับผู้คนอย่างเราในลักษณะแบบนี้เป็นพิเศษ
แล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อสร้างและหล่อเลี้ยงวิถีประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น
Bode เห็นว่า การศึกษาเป็นหัวใจสำคัญ เขาวิพากษ์การศึกษาที่เป็นอยู่ในเวลานั้นว่ามีปัญหาเพราะเป็นการศึกษาแบบตายตัวที่สร้างให้คนเดินตามแบบแผนแม่พิมพ์หรือมาตรฐานในอดีตที่สังคมคาดหวังมากเกินไป และมักจะเป็นการถ่ายโอนความรู้จากครูไปสู่นักเรียนซึ่งไม่ได้สร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้คนได้เรียนรู้เติบโตโดยใช้ความคิดและปัญญาแก้ปัญหาผ่านสถานการณ์ร่วมกัน
การศึกษาที่ควรจะเป็นในความคิดของ Bode คือการทำให้วิถีประชาธิปไตยอยู่ในวิถีชีวิต ความรู้หรืออะไรก็ตามที่ได้เรียนรู้ ต้องเป็นสิ่งที่ตั้งคำถามได้ ความรู้ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัวแบบสารัตถะ ดังนั้น โรงเรียนจึงต้องสร้างชุมชนทางประชาธิปไตยที่อยู่บนหลักการเสรีภาพ (liberty) และความเท่าเทียม (equality) เสียก่อน นั่นหมายถึง โรงเรียนต้องเปิดพื้นที่ให้กับคุณค่าที่หลากหลายอย่างเท่าเทียม อย่างที่สอง โรงเรียนต้องไม่ผลิตสร้างนักเรียนให้เป็นผู้จงรักภักดีต่อสิ่งต่างๆ โดยปราศจากการใช้ความคิดและตั้งคำถาม และไม่จำเป็นต้องมีบทสรุปที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอ ถัดมา โรงเรียนต้องสร้างพื้นที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้และเติบโต โดยการเรียนรู้ผ่านสถานการณ์ร่วมกับผู้อื่น และเชื่อมโยงไปสู่ชีวิตจริงของพวกเขา
Bode มองว่าทั้งหมดนี้คือวิถีการเรียนรู้แบบประชาธิปไตย ที่จะพานักเรียนเดินทางสำรวจความเชื่อที่แตกต่างจากเขา เรียนรู้ที่จะรับฟัง แลกเปลี่ยนอย่างอดทนอดกลั้น ขยายความคิด และความเห็นอกเห็นใจให้กว้างขึ้น ซึ่งมันจะค่อยๆ สร้าง และฟูมฟักให้นักเรียนเป็นคนที่ ‘รู้จักคิดอย่างอิสระ’ (independent judgment) หรือเขาเรียกมันว่า ‘การปลดปล่อยทางปัญญา’ (liberation of intelligence) แน่นอนว่าไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถทำได้ง่ายๆ แล้วจบด้วยการวัดประเมินผลเป็นตัวเลขออกมา แต่มันคือกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลาและกระทำการอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น สังคมที่จะก้าวหน้าจึงต้องอาศัยผู้คนในการกำหนดชะตาร่วมกัน วิถีชีวิตประชาธิปไตยเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้ทำแบบนั้น และแน่นอนว่า การเติบโตไปในทิศทางที่ดีหรือดีกว่าเดิมนั้น ต้องอาศัยปัญญาและความคิดของผู้คนที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน โรงเรียนจึงเป็นสถานที่สำคัญที่จะฟูมฟักผู้คนให้มีวิถีชีวิตเช่นนี้ขึ้นมาได้ ทั้งหมดนี้คือใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ “Democracy as a Way of Life”
[*ข้อเขียนนี้แปลและปรับมาจากบางส่วนของงานที่ผู้เขียนรีวิวหนังสือ “Democracy as a Way of Life” ในรายวิชา Critical Study of Selected Readings in English Educational Classics]