- การระบาดของโคโรน่าไวรัสทั่วโลก กำลังเปลี่ยนวิธีการเรียนของเด็กนับล้านคนทั่วโลก
- การต้องแก้ปัญหาในช่วงเร่งด่วน ยิ่งทำให้ ‘นวัตกรรมการเรียนรู้’ ใหม่ๆ ถูกคิดและทำ เราอาจได้เห็นการร่วมมือระหว่างเอกชน รัฐบาล และ… สถาบันอะไรก็ตามที่เราไม่เคยคาดคิดว่าเขาจะร่วมมือกันคิดนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา
- นวัตกรรมที่กำลังจะมาถึง มาจริงและถูกติดตั้งจริง แต่ไม่แน่ใจว่าการพัฒนาเทคโนโลยีที่ว่าจะทำให้ความเหลื่อมล้ำ ดีขึ้น หรือ แย่ลง?
แค่ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่โคโรน่าไวรัส (โควิด-19) ระบาดหลายในประเทศ หลายทวีป ได้เปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของเด็กนับล้านคนทั่วโลกอย่างไม่เคยมีปรากฏการณ์ไหนทำได้มาก่อน การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้นักการศึกษาต้องกลับมาคิด (กันอย่างเร่งด่วน) ว่า การเปลี่ยนแปลงที่ว่าจะทำให้วิธีการเรียนของเด็กในระบบการศึกษา ‘ดีขึ้น’ หรือ ‘แย่ลง’ และนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ควรนำมาใช้เพื่อปรับตัวกับสถานการณ์ตอนนี้ (ที่ดูเหมือนจะยืดเยื้อออกไป) ควรเป็นอย่างไร
การระบาดอย่างรวดเร็วไล่ตั้งแต่เอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกา ทำให้ผู้กำหนดนโยบายทุกภาคส่วนต้องเร่งคิดและออกมาตรการยับยั้ง ยืดระยะ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้การแพร่ระบาดช้าลงอีกหน่อย แน่นอนว่ามาตรการนี้มีผลในระบบการศึกษาด้วย
13 มีนาคม 63 รายงานจาก UNESCO สรุปตัวเลขว่า มี 39 ประเทศที่รัฐบาลสั่งปิดโรงเรียนทั้งประเทศอย่างเป็นทางการ และอีก 22 ประเทศประกาศปิดบางส่วน โดยให้อำนาจท้องถิ่นเป็นผู้ตัดสินใจเอง อย่างไรก็ตาม UNESCO ประเมินว่ามีนักเรียนทั่วโลก 421 ล้านคนได้รับผลกระทบจากประกาศหยุดเรียน (อ่านประกาศ UNESCO ที่นี่)
จากทุกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้นักเรียนทั่วโลกต้องปรับไปเรียนที่บ้าน ทำให้ดีกรีของการจัดการเรียนรู้โดยครอบครัว (home-schooling) เข้มข้นขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง เช่น จีน เกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน เป็นต้น รวมถึงมีมาตรการรองรับ และ ‘นวัตกรรมการเรียนรู้’ ที่หลากหลายและน่าสนใจหลายตัว
แม้เร็วไปที่จะตัดสินว่า ผลกระทบของโรคระบาดครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนของผู้คนอย่างถึงรากขนาดนั้นหรือไม่ แต่มันก็มีสัญญาณจริงๆ และเป็นสัญญาณที่ไม่ฟังไม่ได้ว่า เหตุการณ์นี้จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ต่อวงการการศึกษาจริง
และนี่คือ การคาดการณ์ 3 เรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเกี่ยวกับการศึกษา
หมายเหตุ: เรียบเรียงจากบทความเรื่อง 3 ways the coronavirus pandemic could reshape education*
1. ระบบการศึกษา: ถูกกระตุ้น-ถอง-ผลัก ให้เกิดนวัตกรรมการเรียนรู้แบบใหม่ที่ไม่เคยคาดคิด
การเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาใหญ่ที่เคยก้าวเดินในอัตราเร่งระดับ ‘ช้า จนถูกวิจารณ์ว่าล้าหลังมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเรียนแบบเลคเชอร์ มุ่งหน้าแข่งขันเข้าสถาบันที่มีชื่อเสียง รูปแบบการสอนที่ล้าหลัง และอื่นๆ แต่ตอนนี้ โควิด-19 กลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาไปเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาทั่วโลกให้ปรับตัวและคิดนวัตกรรม และต้องทำได้ภายในเวลารวดเร็ว
- ฮ่องกง: ประกาศให้เด็กหยุดเรียนและใช้การเรียนรู้ออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน
- จีน: นักเรียนกว่า 120 ล้านคน เรียนหนังสือผ่านถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์
- โรงเรียนหนึ่งในประเทศไนจีเรีย: ที่ปกติก็ใช้ทั้งการเรียนออนไลน์แบบ Synchronous Learning อยู่แล้ว วิธีนี้เป็นวิธีที่ผู้เรียนกับผู้สอนไม่ต้องนัดแนะพบกันตามตารางเวลา แต่ติดต่อกันได้ตลอดผ่านเครื่องมือสื่อสาร และจะเรียนที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้ (Anywhere Anytime) ทั้งนี้ก็ได้เพิ่มการเรียนรู้แบบ Synchronous ที่ทำให้เด็กๆ ได้เรียนกันแบบตัวต่อตัวออนไลน์ ในช่วงการปิดโรงเรียนแบบนี้ด้วย
- โรงเรียนหนึ่งในเลบานอน: เริ่มการเรียนออนไลน์ในวิชาทั่วไป และขยายไปยังวิชาที่ไม่ใช่การแลคเชอร์ เช่น วิชาพละศึกษา และจะมีการบ้านให้เด็กๆ ทำ คือ ให้เด็กๆ อัดคลิปวิดิโอขณะทำกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา การเทรนด์นิ่ง ส่งกลับมาด้วย ข้อดีของการเรียนออนไลน์นี้ เด็กๆ ได้ลงมือทดลองใช้เทคโนโลยีไม่ว่าจะอัด ตัดต่อ แก้ปัญหาเทคนิคระหว่างทำ
ยังมีประเทศอื่นๆ ที่ออกมาตรการรับมือการปิดโรงเรียน อ่านที่นี่
ต้องพูดด้วยว่าการเรียนออนไลน์ผ่านเทคโนโลยีที่เป็นจริงได้ในวันนี้ ก็เพราะเทคโนโลยีที่ถึงพร้อมโดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยี 5G อย่างทั่วถึงหลายประเทศเช่น จีน ญี่ปุ่น อเมริกา ยิ่งทำให้การเรียนออนไลน์แบบนี้เป็นจริง ง่าย และราคาถูกลง
ช่วงเวลานี้ที่หลายประเทศได้ทดลองการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีและเป็นได้จริง
คาดการณ์ว่าการเรียนรู้ในห้องหลังจากนี้จะผสานการเรียนออนไลน์ผ่านเทคโนโลยี อาจดึง influencer ทางการศึกษาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ‘การเรียนรู้’ จะง่ายขึ้นและกลายเป็น ‘habit’ หรือเป็นสิ่งที่เราทำในเวลาว่างมากขึ้น คือมองมันในแง่สิ่งบันเทิงที่เข้าถึงได้ ผสานไปกับการเรียนรู้จริงจังในชีวิตประจำวัน
2. ภาคีพันธมิตรทางการศึกษาทั้ง รัฐ-เอกชน จับมือร่วมพัฒนาช่องทางการเรียนรู้แบบใหม่ อย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน
แค่ไม่กี่สัปดาห์ เราเห็นการร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาล สำนักพิมพ์ องค์กรทางการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญการศึกษา นักกำหนดนโยบาย ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี เครือข่ายการสื่อสาร และอื่นๆ ร่วมมือกันพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้ น่าสนใจว่าในประเทศที่รัฐบาลเป็นผู้เล่นหลักในการจัดการศึกษา จะปรับเปลี่ยนโอบรับให้ทุกหน่วยงานเข้าช่วยเหลือและพัฒนาระบบการศึกษา เช่นในเวลาแบบนี้อย่างไร
ประเทศจีน: กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้ง รวบรวมหน่วยงานหลายองค์กรมาร่วมกันทำแพลตฟอร์มการเรียนทั้งแบบออนไลน์และถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ รวมทั้งพัฒนาระบบพื้นฐานที่เอื้อกับการเรียนรู้อื่นๆ เสริมเข้าไปด้วย
ฮ่องกง: เว็บไซต์ที่ชื่อ readtogether.hk/ คือองค์กรที่รวมหน่วยงานทางการศึกษากว่า 60 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ สื่อมวลชน และ ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมบันเทิง ได้มอบสื่อการเรียนรู้กว่า 900 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ หนังสือ และเครื่องมืออีกมากมายเพื่อให้บริการฟรีแก่ประชาชน ซึ่งประกาศแล้วว่าจะสานต่อวิธีการเรียนรู้แบบนี้ต่อไปแม้วิกฤตโควิด-19 จะจบลงแล้ว
ผู้เขียนแสดงความเห็นว่า การร่วมมือกันระหว่างรัฐ เอกชน และคนที่ดูเหมือนอยู่นอกวงการศึกษา ได้สร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้เห็นว่า นี่คือการทำงานที่ก้าวไกลกว่าการลงทุนจากรัฐ หรือจากองค์กรไม่แสวงกำไรต่างๆ
หรืออย่างช่วงเวลาราวสิบปีก่อน เราได้เห็นการลงทุนสำคัญที่มาจากภาคเอกชนในสนามการศึกษา เช่น ไมโครซอร์ฟ กูเกิล ซัมซุง Tencent Ping An และแม้แต่ อะลีบาบา เองก็ตาม แต่หากคิดในภาพรวม การเข้ามาขององค์กรเอกชนเหล่านี้ถือเป็นสัดส่วนที่น้อย (และประชาชนเองก็อาจไม่ได้มองว่าองค์กรเหล่านี้เข้ามาเล่นในสนามการศึกษา – กองบรรณาธิการ) แต่ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสเช่นนี้ การเข้ามาร่วมมือของเอกชนอาจขับเน้นให้เห็นความสำคัญของตัวละครเหล่านี้ และเห็นความร่วมมือข้ามสายพรมแดนงานของตัวเองมากขึ้น
3. ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากโอกาสในการเข้าถึงสารสนเทศที่ไม่เท่าเทียม อาจกว้างขึ้น
การเรียนออนไลน์เป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาอย่างเร็วและทำได้จริงมากที่สุด แต่การทำเช่นนี้ได้ ประเทศนั้นต้องมีโครงการการสื่อสารและอินเทอร์เน็ตที่ดีและราคาถูก ทุกคนเข้าถึงได้ ทำให้หลายๆ ประเทศได้เดินหน้าใช้เทคโนโลยีกับการศึกษาเรียบร้อยแล้ว เช่น ประเทศฮ่องกง ให้เด็กๆ ยากจนเข้าถึงการศึกษาและทำงานผ่านโปรแกรม WhatsApp หรือ อีเมล
แม้ตัวเลขจะยืนยันว่าประชากรโลกว่า 60 เปอร์เซ็นต์เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและมีตัวตนบนโลกออนไลน์ แต่ต้องยอมรับว่าในประเทศที่ยังไม่พัฒนา และประเทศกำลังพัฒนา ที่ยังไม่ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโอบรับเทคโนโลยีเหล่านี้ การเข้ามาของการเรียนออนไลน์ ยิ่งทำให้เด็กยากจนและผู้ที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ถูกละทิ้งและมองข้ามไป
การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดไม่ใช่การกลับไปพัฒนาเฉพาะที่สถาบันโรงเรียนอีกแล้ว แต่ทั่วโลกต้องทำให้เทคโนโลยีที่ถูกลงและคุณภาพดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำและช่องว่างเหล่านี้จึงจะถูกบีบให้แคบลง แต่ถ้าไม่ การเข้ามาของเทคโนโลยีในสนามการศึกษาอาจยิ่งทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนให้ความเห็นว่า การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสกำลังพิสูจน์ให้เห็นว่า ทักษะจำเป็นของคนรุ่นใหม่คือ ‘การยืดหยุ่นปรับตัว’ ไม่ใช่แค่โรคระบาด แต่รวมถึงประเด็นใหญ่อย่างเหตุการณ์ความรุนแรงทั่วโลก ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และ ใช่… รวมถึงประเด็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีด้วย ในความโหดร้ายของโควิด-19 คือโอกาสดีที่จะกลับมาทบทวนว่า ทักษะของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการในโลกข้างหน้าซึ่งควบคุมไม่ได้เลยนั้น เราต้องการทักษะอะไรบ้าง เช่น ทักษะการตัดสินใจ ทักษะการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และการปรับตัว เป็นต้น
แต่ในทักษะทั้งหมดที่กล่าวมา ผู้เขียนมองว่า ‘การปรับตัว’ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องถูกทำให้เป็นวาระในสนามการศึกษาต่อไป