- ‘การศึกษาเพื่อการมีงานทำ’ วาทกรรมที่ด้านหนึ่งสื่อถึงการประกันอนาคตของคนรุ่นใหม่ หากพวกเขาเดินตามเส้นทางที่ตลาดต้องการ อีกด้านหนึ่งมันกลับกลายเป็นโซ่ที่ล่ามพวกเขาไว้ ไม่ให้สามารถทำตามความฝันได้
- Michael Apple นักการศึกษาสายวิพากษ์ ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับอุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ พบว่า เสรีนิยมใหม่ได้เป็นพลังทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการปฏิรูปการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา แนวคิดนี้มองนักเรียนเป็นแรงงานของตลาด พร้อมกับชูแนวคิดการศึกษาเพื่อการมีงานทำหรือการจ้างงาน โดยมองว่าความต้องการของตลาดจะเป็นหลักประกันอนาคตให้กับคนทุกคน
- “คำถามสำคัญที่เราอาจจำเป็นต้องถาม คือ การศึกษาควรเป็นไปเพื่ออะไร? หากเรามองว่า การศึกษาควรเป็นพื้นที่ให้คนได้ซักซ้อม เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และกล้าทดลองที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ตามความฝันที่เขาอยากเป็น ความฝันก็จะเปลี่ยนแปลงได้ ลองได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะล้มเหลว เช่นนั้นการศึกษาก็ควรเป็นเส้นทางปลายเปิด ไม่ใช่ลู่ปลายปิดที่ถูกกำหนดด้วยเป้าหมายของตลาด”
“โตขึ้น ฝันอยากเป็นอะไร”
ประโยคปลายเปิดที่ชวนให้เด็กหลายคนได้ลองจินตนาการถึงความฝันของตัวเองในอนาคต วลีนี้คอยย้ำซ้ำๆ กับเด็กๆ อยู่เสมอว่าคนทุกคนมีฝันของตนเอง เราเพียงแต่ต้องหามันให้เจอและทำมันให้ได้ แต่ทว่าสิ่งนี้ก็อาจกลายเป็นเพียงเรื่องโกหกสำหรับเด็กหลายคน
ย้อนกลับไป ในช่วงที่ผมเป็นครูฝึกสอนในโรงเรียนขยายโอกาส ผมได้พบกับเด็กชายคนหนึ่งนามสมมุติว่า ‘จี’ จีเป็นเด็ก ม.ต้น ที่ต้องแบกรับต้นทุนในการเลี้ยงดูน้องสาวคนเล็ก และย่าที่ป่วยติดเตียง อีกไม่กี่เดือน (ในช่วงเวลานั้น) ตัวเขาเองก็จะจบชั้น ม.3 จีมีทางเลือกอยู่เพียงไม่กี่ทาง ทางแรก เรียนให้จบม.3 แล้วหางานทำเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายดูแลคนในครอบครัว ส่วนทางเลือกที่สอง คือ สมัครเข้าเรียนต่อในโรงเรียนของบริษัทแห่งหนึ่ง เพื่อที่ระหว่างเรียนเขาจะได้รับทุนการศึกษา และได้ทำงานให้กับบริษัทเพื่อหารายได้ระหว่างเรียนไปด้วย ภายใต้แนวคิด ‘การศึกษาเพื่อการมีงานทำ’
ผมไม่แน่ใจว่าคำตอบของจีคือทางเลือกไหน และเขามีความฝันแบบไหนกันแน่ แต่จุดนี้เองที่ทำให้ผมเริ่มต้นตั้งคำถามกับแนวคิด ‘การศึกษาเพื่อการมีงานทำ’ ว่ามันคืออะไรกันแน่ และมันเข้ามามีอิทธิพลอย่างไรต่อชีวิตของนักเรียน ดังนั้น ในบทความนี้ผมจึงอยากนำเสนอข้อสังเกตบางประการต่อแนวคิดการศึกษาเพื่อการมีงานทำผ่านเรื่องราวของจี
เสรีนิยมใหม่กับการศึกษาเพื่อการมีงานทำ
Michael Apple นักการศึกษาสายวิพากษ์ ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับอุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ พบว่า เสรีนิยมใหม่ได้เป็นพลังทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการปฏิรูปการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา แนวคิดดังกล่าวพุ่งเป้าไปที่การทำให้รัฐอ่อนแอลง ให้ความสำคัญกับระบบเอกชน และต้องการทลายระบบสวัสดิการและบริการสาธารณะ เกิดการผลักดันให้การศึกษาแปรรูปสู่การเป็นสินค้าในระบบตลาดที่เน้นทำกำไรมากขึ้น
แนวคิดนี้มองนักเรียนเป็นแรงงานของตลาด พร้อมกับชูแนวคิดการศึกษาเพื่อการมีงานทำหรือการจ้างงาน โดยมองว่าความต้องการของตลาดจะเป็นหลักประกันอนาคตให้กับคนทุกคน (แทนที่ระบบสวัสดิการ) พูดง่ายๆ ก็คือ หากนักเรียนเดินไปตามเส้นทางที่ตลาดต้องการ สิ่งนี้จะช่วยการันตีอนาคตที่ดีได้
มากไปกว่านั้น เสรีนิยมใหม่สร้างความเชื่อที่ว่า โรงเรียนคือพื้นที่ที่จะมอบโอกาสให้คนทุกคนได้แข่งขันกันอย่างเท่าเทียม เพียงแค่ทุกคนมีความพยายาม พร้อมกับบอกว่า เราทุกคนมีเสรีภาพในการเลือก ดังนั้น เราจึงสามารถเลือกโรงเรียนที่ดีที่สุดให้กับตัวเองได้ หมายความว่า ทุกคนรู้ว่าความฝันของตัวเองเป็นอย่างไร ที่เหลือก็แค่ต้องเลือกโรงเรียนที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง และมันจะเป็นตัวการันตีนงานที่ดีให้กับคุณในอนาคต
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ในความเชื่อแบบเสรีนิยมใหม่นั้น เมื่อนักเรียนคนใดก็ตามเข้าสู่ตลาดของการศึกษา พวกเขาจะมีตัวเลือกมากมาย ผู้ปกครองในกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่างกันก็จะมีสิทธิในการเลือกโรงเรียนเพื่อแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับบุตรหลาน เป็นการให้โอกาสทุกคนตัดสินใจอย่างเท่าเทียม ดังนั้น หากอยากมีชีวิตที่ดี ก็จงเลือกโรงเรียนที่ดี เลือกโรงเรียนที่สามารถมอบความฝันในแบบที่ตลาดกำหนดไว้ให้ได้
ความฝันที่ถูกดัดแปลงให้ตอบโจทย์ตลาด
เราอาจเห็นภาพคุ้นตาในสังคมไทยที่การศึกษากลายเป็นเหมือนตลาดแข่งขันเสรี มีทั้งโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนทางเลือก โรงเรียนสาธิต โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนนานาชาติ ทางเลือกมากมายมาพร้อมกับการเสนอขายโปรแกรมการเรียนสุดพิเศษเพื่อดึงดูดลูกค้าอย่างนักเรียน โรงเรียนหลายแห่งเปิดโปรแกรมห้องเรียนพิเศษ เตรียมสอบหมอ เตรียมสอบนิติศาสตร์ขึ้นมา ขณะเดียวกันบริษัททุนขนาดใหญ่ก็ได้เข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดการศึกษา พวกเขาเปิดโรงเรียน และเข้าไปทำหลักสูตรร่วมกับโรงเรียนด้วย
ฟังแล้วก็ดูดี นักเรียนเรียนแล้วใช้ได้จริง เรียนจบแล้วมีงานทำด้วย? แต่หากเราลองย้อนกลับไปยังเรื่องราวของจี ไม่ว่าจะอย่างไร ท้ายที่สุดชีวิตของเขาก็กำลังถูกบีบให้ดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองและครอบครัวมีชีวิตรอดต่อไปได้ (เช่นเดียวกับนักเรียนหลายคนที่ต่างก็มองหาหลักประกันเพื่อความมั่นคงในชีวิต) พร้อมๆ กับที่บริษัทแห่งนั้นได้ก้าวย่างเข้าไปสู่พื้นที่ของความเปราะบาง ความไม่มั่นคง และยื่นข้อเสนอที่มั่นคงกว่าให้แก่เขา ข้อเสนอที่พอจะประกันให้เขามีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวพร้อมกับได้เรียนไปด้วย
ซึ่งนั่นก็อาจทำให้จี (และเด็กอีกหลายคน) ต้องยอมดัดแปลงตัวตนให้กลายเป็นสมบัติของบริษัท เสรีภาพในการการเลือกเรียน เลือกฝันจึงอาจไม่มีอยู่จริงสำหรับจี เพราะมันถูกล่ามไว้ด้วยโซ่ตรวนทางเศรษฐกิจ
สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเสมือนว่า หากคุณถูกล่ามไว้ไม่ให้ฝันด้วยโซ่ตรวนทางเศรษฐกิจ หากคุณอยากจะมีชีวิตที่ดี มีอนาคตที่ดี ไม่อดตายแล้วล่ะก็ พวกเรามีโปรแกรมการศึกษาเพื่อการมีงานทำให้คุณ ภายใต้เงื่อนไขเพียงแค่คุณต้องเข้ามาเรียนและทำงานให้กับเราไปด้วย เรารับรองได้เลยว่าคุณจะมีงานทำและมีรายได้ไปเลี้ยงครอบครัว
อาจพูดได้ว่า การศึกษาเพื่อการมีงานทำนั้นเป็นการขายประกันทางเดินให้นักเรียนได้มีโอกาสทางรอดทางเศรษฐกิจ (ในสังคมที่ไม่มีสวัสดิการเป็นหลักพิง) เสมือนว่าพวกเขาไม่มีความฝัน ไม่มีมีสิ่งที่อยากจะลองทำ ไม่มีสิ่งที่อยากลองเป็น
การศึกษาควรเป็นไปเพื่ออะไร
คำถามสำคัญที่เราอาจจำเป็นต้องถาม คือ การศึกษาควรเป็นไปเพื่ออะไร? หากเรามองว่า การศึกษาควรเป็นพื้นที่ให้คนได้ซักซ้อม เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และกล้าทดลองที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ตามความฝันที่เขาอยากเป็น ความฝันก็จะเปลี่ยนแปลงได้ ลองได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะล้มเหลว เช่นนั้นการศึกษาก็ควรเป็นเส้นทางปลายเปิด ไม่ใช่ลู่ปลายปิดที่ถูกกำหนดด้วยเป้าหมายของตลาด หรือถูกบีบให้ดัดแปลง ให้เรียนเพื่อความอยู่รอด
ดังนั้น การศึกษาเพื่อการมีงานทำจึงอาจเป็นวาทกรรมที่กลายเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำที่ผูกขาดทรัพยากร เพื่อใช้ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคม ตอกย้ำความคิดที่ว่าการศึกษาเป็นตั๋วเบิกทาง เป็นหลักประกันความมั่นคงบางอย่างให้กับชีวิต การศึกษาเป็นเงื่อนไขของการแข่งขันที่คุณต้องลงแข่งเพื่อได้รับสิทธิพิเศษหรือการการันตีว่าคุณจะมีอนาคตที่ดี พร้อมกับปฏิเสธจินตนาการใหม่หรือไอเดียที่ว่า เราสามารถมีสังคมที่คนทุกคนมีเสรีภาพที่จะเลือกเรียนรู้ กล้าจะผิดพลาด ทดลอง และค้นหาความฝัน พร้อมกับการที่พวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงฝันได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องคอยกังวลว่าจะอดตายไหม จะหิวไหม จะได้รับการดูแล หรือจะมีงานทำไหม และไม่ต้องจบลงด้วยการทิ้งความฝันของตัวเอง
อ้างอิง
ความเรียง “ระบบการศึกษาที่ใครบางคนต้องตัดแปลงตัวตน” ในหนังสือ “ห้องเรียนล้ำเส้น” เขียนโดย ครูอรรถพล ประภาสโนบล
บทสัมภาษณ์ the potential “การศึกษาที่ทำให้ความฝันของเด็กคนหนึ่งต้องถูกดัดแปลง” อรรถพล ประภาสโนบล ประเด็นรัฐสวัสดิการกับการศึกษา
บทความ เปลือยการศึกษาไทย ทำไม “เรียนฟรี” ไม่ได้ เขียนโดย Sanook
บทความ “Between Neoliberalism and Neoconservatism: Education and Conservatism in a Global Context” เขียนโดย Michael Apple
บทความ “will standard save public education” เขียนโดย Michael Apple