- โรงเรียนบางแห่งอยู่ในสภาพย่ำแย่ก็ถูกกล่าวโทษว่าเพราะมีครูที่ไม่เก่งหรือไม่ขยันพอ ทำให้นักเรียนย้ายหนีไปโรงเรียนอื่น ในทางกลับกันก็พร้อมยกย่องครูที่ทำงานเสียสละอย่างหนักเพื่อโรงเรียน
- มุมมองการแก้ปัญหาจึงวนเวียนอยู่ที่ครูเป็นหลัก มากกว่าจะตั้งคำถามว่า รากปัญหาที่แท้จริงคืออะไร การศึกษาควรเป็นอย่างไร และระบบที่เป็นอยู่กำลังจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรมหรือไม่
- มองปัญหาการศึกษาที่ตกอยู่เพียงแค่ “อะไรอะไรก็โทษครูไว้ก่อน” ผ่านหนังสือ Bad Teacher! How Blaming Teachers Distorts the Bigger Picture หรือ ครูไร้คุณภาพ! การกล่าวโทษครูนำไปสู่การบิดเบือนปัญหาที่ใหญ่กว่าได้อย่างไร โดย Kevin K. Kumashiro
ปัญหาการศึกษาถือได้ว่าเป็นหนึ่งในวาระหลักของสังคมไทย ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น คำพูดที่เรามักจะได้ยินเป็นปกติก็คือ สังคมไทยต้องมีการปฏิรูปการศึกษา กว่าสองทศวรรษที่สังคมถกเถียงถึงรายละเอียดของปัญหาการศึกษาไทย ไม่ว่าจะเป็น ความเหลื่อมล้ำทางภาระงานครู หลักสูตรที่ล้าหลัง ไปจนถึงคุณภาพครู สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นความคาดหวังที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลในทุกครั้งที่มีตัวแทนใหม่เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ แต่จนแล้วจนรอด การศึกษาไทยก็ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นแต่อย่างใด
ในครั้งนี้จึงอยากเขียนเล่าถึงหนังสืออย่าง Bad Teacher! How Blaming Teachers Distorts the Bigger Picture หรือแปลเป็นไทยตรงๆ เลยก็คือ ครูไร้คุณภาพ! การกล่าวโทษครูนำไปสู่การบิดเบือนปัญหาที่ใหญ่กว่าได้อย่างไร เขียนโดยอาจารย์ Kevin K. Kumashiro ซึ่งเป็นอดีตคณบดี School of Education at the University of San Francisco และทำงานขับเคลื่อนด้านพหุวัฒนธรรมศึกษา (Multicultural Education) แม้หนังสือจะมีอายุเกิน 10 ปีแล้ว (เขียนในปี 2555) และถูกเขียนขึ้นในบริบทสังคมอเมริกัน แต่บางส่วนของหนังสือนั้นน่าสนใจพอให้หยิบมาเทียบเคียงและเป็นประเด็นนำไปสู่การถกเถียงได้ไม่มากก็น้อย ในขณะเดียวกันยังเป็นอีกทางเลือกที่คอยย้ำเตือนเราให้ทำความเข้าใจปัญหาที่ไม่อาจมองแยกเป็นส่วนๆ ได้ หรือมองทุกปัญหาตกอยู่เพียงแค่ “อะไรอะไรก็โทษครูไว้ก่อน” แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมองให้เห็นไปทั้งระบบว่าวิธีคิดการศึกษาแบบแข่งขัน หลักสูตรอิงผลลัพธ์ การประเมินครู ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน และแนวนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ มันทำงานสอดประสานกันอย่างไร
ประเด็นหนึ่งที่ Kumashiro ต้องการจะชี้ให้เรามองเห็น คือปัญหาของวิธีคิดที่กล่าวโทษครูว่าเป็นต้นตอแห่งความย่ำแย่ของการศึกษา (ในอเมริกา) และมีการเสนอทางออกง่ายๆ ด้วยการลงโทษหรือกำจัดครูที่ไม่ดีออกจากระบบไป พร้อมกับให้รางวัลกับครูที่ดีให้ดำเนินงานต่างๆ ต่อไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งอาจทำให้เราหลงลืมว่าระบบโครงสร้างที่เป็นอยู่นั้น แท้จริงได้กระทำต่อครูและนักเรียนอย่างไร
สำหรับระบบการศึกษาอเมริกันที่เป็นอยู่นั้นคือระบบแบบแข่งขัน แพ้คัดออก ที่สร้างผู้แพ้และผู้ชนะในเวลาเดียวกัน ระบบที่ให้มุ่งเน้นคะแนน การสอบ และผลสัมฤทธิ์เป็นหลัก ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสการปฏิรูปการศึกษาของอเมริกานับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา โดยมีการกล่าวอ้างว่าการถดถอยทางเศรษฐกิจนั้นมาจากความล้มเหลวทางด้านการศึกษา จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้มีมาตรฐานและตรวจสอบคุณภาพได้ให้แข่งขันทางเศรษฐกิจได้
แนวนโยบายดังกล่าว ยังได้ดำเนินการบนฐานคิดแบบเสรีนิยมใหม่บนความเชื่อที่ว่า ความสำเร็จและความมั่นคงในชีวิตนั้นมาจากความขยันขันแข็งและการพึ่งพาตนเอง ในระดับมหภาคจึงเกิดการดำเนินนโยบายที่เคร่งครัดทางการคลัง ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ปฏิเสธสวัสดิการที่จะเป็นตาข่ายรองรับให้กับผู้คน สวนทางกับงบประมาณด้านความมั่นคงที่มากขึ้น ด้วยการอ้างว่าเพื่อใช้ในการต่อต้านการก่อการร้าย
การศึกษาจึงถูกทำให้เป็นหนึ่งในสนามแข่งขันของความพยายามที่ถูกทำให้เชื่อว่าได้เปิดโอกาสให้แต่ละคนแข่งขันกันอย่างเท่าเทียม เพื่อเป็นผู้ชนะในที่สุด หากอยากมีชีวิตที่มั่นคง อยากมีชีวิตที่ดี ก็ต้องแข่งขันบนกติกานี้ให้ชนะเพื่อไปสู่จุดสูงสุด หลักสูตรที่อิงมาตรฐานผลลัพธ์จึงถูกนำมาใช้เป็นทั้งเป้าหมาย มาตรวัด และระบบคัดกรองคุณภาพ เสมือนเป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิต หากนักเรียนคนใดเรียนได้บรรลุเป้าหมายตามมาตรฐานที่วางไว้ เขาหรือเธอก็จะมีโอกาสประสบผลสำเร็จได้มากกว่า การแข่งขันได้ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างความแตกต่างของผลสัมฤทธิ์ที่มากขึ้น
ดังนั้น บทบาทของครูจึงต้องทำหน้าที่สร้างผู้ชนะเหล่านี้อย่างแข็งขัน เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเป็นที่น่าพอใจ และลดช่องว่างของคะแนนระหว่างผู้ชนะและผู้แพ้ให้ได้มากที่สุด
ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งการหาค้นหาวิธีประเมินความสำเร็จหรือการทำงานต่างๆ นานาของครู และบีบรัดการทำงานของครูให้ได้ผลลัพธ์มากที่สุด เช่น ต้องการวัดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนของนักเรียน ผลทำให้ครูมักไปโฟกัสอยู่ที่การเตรียมเอกสารใบงานประกอบการเรียนต่างๆ ให้นักเรียนได้ทำ เพื่อให้ผู้ประเมินได้เห็น หรือจับเอาคะแนนสอบของนักเรียนเทียบเข้ากับกระบวนการเตรียมครู พูดง่ายๆ โปรแกรมการผลิตครูที่ไหนผลิตครูให้ไปสร้างนักเรียนที่ได้คะแนนสอบเยอะ ก็จะได้รับเงินอุดหนุนที่มากกว่าที่อื่น
นี่คือแนวคิดเสรีนิยมใหม่ที่เชื่อว่าการแข่งขันจะนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพให้สูงขึ้นเรื่อยๆ นักเรียนแข่งขันกันเรียน ผ่านแนวคิดอย่าง Race to the top ครูแข่งขันกันสอนเพื่อรับการประเมิน โปรแกรมผลิตครูแข่งกันผลิตนักศึกษาครูให้เก่งด้านการสร้างผลสัมฤทธิ์ เป็นนักเทคนิคมากกว่าจะเรียนรู้ทำความเข้าใจนักเรียน อีกทั้งเกิดการแข่งขันของธุรกิจต่างๆ ในการออกคู่มือและแบบฝึกหัดที่เป็นตัวช่วยให้ครูและผู้ปกครอง ได้การันตีการเพิ่มขึ้นของผลสัมฤทธิ์
มากไปกว่านั้น ระบบการศึกษาเสรีนิยมใหม่ยังเปิดให้โรงเรียนได้แข่งขันระหว่างกันเอง และมีความเชื่อว่าการแข่งขันจะทำให้ทุกคนได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด อีกทั้งยังมองว่าการแข่งขันเป็นเสรีภาพในการเลือกที่ผู้ปกครองจะตัดสินใจเองได้ว่าโรงเรียนใดเหมาะสมที่สุดในการส่งลูกหลานตัวเองไปเรียน ในอีกทางหนึ่ง โรงเรียนที่มีนักเรียนในฐานะ ‘ลูกค้า’ สมัครเข้าเรียนมากขึ้น นั่นหมายถึงงบประมาณในฐานะรางวัลที่มากขึ้นที่ตามมาด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารและครูจะต้องพยายามให้โรงเรียนแข่งขันกับโรงเรียนอื่นๆ ได้
ท้ายที่สุด ทั้งหมดนี้ล้วนผลักให้ ‘ครู’ เป็นตัวแสดงสำคัญที่ชี้ขาดว่าจะทำให้โรงเรียนนั้นประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลว โรงเรียนบางแห่งอยู่ในสภาพย่ำแย่ก็ถูกกล่าวโทษว่าเพราะมีครูที่ไม่เก่งหรือไม่ขยันพอ ทำให้นักเรียนต่างย้ายหนีไปอยู่ที่โรงเรียนอื่นๆ ในทางกลับกันก็พร้อมยกย่องครูที่ทำงานเสียสละอย่างหนักเพื่อโรงเรียน มุมมองการแก้ปัญหาจึงวนเวียนอยู่ที่ครูเป็นหลัก มากกว่าจะตั้งคำถามว่า รากปัญหาที่แท้จริงคืออะไร การศึกษาควรเป็นอย่างไร และระบบที่เป็นอยู่กำลังจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรมหรือไม่ ทำให้ผลสุดท้ายจบลงด้วยการอุดรอยรั่วเฉพาะหน้า ด้วยการส่งเสริมหลักสูตรครูแบบเร่งรัด อย่างเช่น Teach for America เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาโรงเรียนที่ประสบปัญหา ทั้งที่จริงคือความเหลื่อมล้ำ ดังที่ Kumashiro ตั้งข้อสังเกต ครูจากหลักสูตรหลักมักจะมีโนวโน้มเข้าไปสอนในเขตชานเมืองและชนชั้นสูง ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้เพียบพร้อมไปด้วยสื่อการสอนที่ทันสมัย สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ชั้นเรียนขนาดเล็ก และได้รับค่าตอบแทนที่ดี (ประธานธิบดีในเวลานั้น บารัค โอบามา ก็ส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนชั้นนำเหล่านี้) ในทางตรงกันข้ามครูจากหลักสูตรเร่งรัดก็จะสอนในโรงเรียนที่กำลังประสบปัญหาที่นักเรียนส่วนใหญ่เป็นคนในระดับล่างของสังคม
แล้วระบบการศึกษาของไทย กำลังเป็นเช่นนี้อยู่หรือไม่?