- หลังจากประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ‘โฮมสคูล’ เริ่มได้รับความสนใจจากพ่อแม่ผู้ปกครองมากขึ้น เนื่องจากทุกคนต้องใช้ชีวิตอยู่รวมกันที่บ้าน แต่โครงสร้างและระบบที่เอื้อต่อการหาข้อมูลเพื่อจัดการศึกษาในรูปแบบนี้ยังมีไม่มากเท่าที่ควร พ่อแม่ผู้ปกครองต่างต้องหาข้อมูลความรู้กันเอง เนื่องจากไม่มีเทมเพลตหรือโครงสร้างใดๆ ที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลโดยตรง
- รวมไปถึงการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ให้เด็กลงไปตั้งโจทย์ด้วยตัวเอง ลองหาความรู้ผ่านการลงมือทำจริงๆ และได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
- ในระยะยาวที่ไม่มีสถานการณ์โควิด-19 แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น ศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรในพื้นที่ชนบทจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ตอบโจทย์กับคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นต่อไปที่สนใจทำงานที่อิสระ เพราะตอนนี้ห้องเรียนสี่เหลี่ยม อาจจะไม่ใช่คำตอบของเด็กในยุคปัจจุบันแล้ว
เพราะการเรียนรู้ไม่ได้หยุดแค่ ‘ห้องเรียน’ หรือ ‘โรงเรียน’ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเรียนรู้ด้วยตัวเอง การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการศึกษานอกระบบด้วย
ยิ่งในปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็วและเปิดกว้างมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมส่งผลต่อมุมมองความคิดด้านการศึกษา ทำให้กำแพงแห่งการเรียนรู้ถูกทลายลง เกิดแหล่งเรียนรู้ใหม่ๆ มากมายสอดรับกับความต้องการในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนที่หลากหลาย
ในงานประชุมวิชาการ TEP Forum 2022 ‘ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยแห่งอนาคต’ ภายใต้โจทย์ ‘Beyond Schooling! การเรียนรู้แบบใหม่ที่ไปไกลกว่าโรงเรียน’ ได้มีการเชิญผู้ที่อยู่ในแวดวง ‘การศึกษานอกระบบ’ ทั้งในฐานะผู้เรียนและผู้ออกแบบการเรียนรู้ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นนี้ ซึ่ง The Potential ได้เลือกตัวอย่างการจัดการศึกษานอกระบบที่น่าสนใจใน 3 รูปแบบมานำเสนอ
‘โฮมสคูล’ เปลี่ยนทางเลือกให้เป็นทางที่ใช่ โจทย์ใหญ่บนความแตกต่างหลากหลาย
การจัดการศึกษาแบบโฮมสคูล (Homeschool) หรือ ‘บ้านเรียน’ นั้น แม้จะเป็นรูปแบบที่คนไทยรู้จักกันมาพอสมควร แต่ที่ผ่านมาพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังมองว่าการศึกษานอกระบบโรงเรียนนี้เป็นทางเลือกที่ต้องมีความพร้อมทั้งเวลา ความรู้และทุนทรัพย์ ซึ่งในมุมของ รวิชญ์ ศรีพันธวานุสรณ์ หรือ ‘คุณไนซ์’ ผู้ที่เติบโตขึ้นมากับการเรียนโฮมสคูล เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า
“ผมเป็นเด็กโฮมสคูลตั้งแต่ก่อนมัธยม ซึ่งประสบการณ์ที่ได้พบเจอคือ ผู้ปกครองของเด็กโฮมสคูลยุคก่อนก็จะเน้นผลักดันความพิเศษของลูกหลาน เช่น ด้านภาษา ด้านดนตรี เพราะเด็กโฮมสคูลส่วนมากที่เจอเขาจะมีความ Specialist พอสมควร และมุ่งไปด้านใดด้านหนึ่งอย่างชัดเจน”
แต่หลังจากประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ‘โฮมสคูล’ เริ่มได้รับความสนใจจากพ่อแม่ผู้ปกครองมากขึ้น เนื่องจากทุกคนต้องใช้ชีวิตอยู่รวมกันที่บ้าน
“เมื่อผู้ปกครองอยู่บ้านมากขึ้นเลยสามารถจัดการเรียนรู้แบบโฮมสคูลให้ลูกหลานได้ เพราะถ้าในสถานการณ์ปกติแล้ว จะต้องมีผู้ปกครองไม่คนใดก็คนหนึ่งมาดูแล แต่พอมีเงื่อนไขเรื่องโควิดเข้ามา ก็ทำให้คนค้นหาด้วยตัวเองมากขึ้นว่านอกจากการศึกษาในระบบแล้ว มันมีการศึกษาทางเลือกอื่นหรือไม่”
อย่างไรก็ดี แม้โฮมสคูลจะเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น แต่โครงสร้างและระบบที่เอื้อต่อการหาข้อมูลเพื่อจัดการศึกษาในรูปแบบนี้ยังมีไม่มากเท่าที่ควร พ่อแม่ผู้ปกครองต่างต้องหาข้อมูลความรู้กันเอง เนื่องจากไม่มีเทมเพลตหรือโครงสร้างใดๆ ที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลโดยตรง
“ถ้าเราลองไปค้นหาในอินเทอร์เน็ตว่าโฮมสคูลต้องทำยังไง ข้อมูลก็ค่อนข้างจะยังสะเปะสะปะ ไม่ได้มีองค์กรหรือหน่วยงานชัดเจน เพื่อที่จะมาสนับสนุนหรือรองรับการจัดการศึกษาด้วยตัวเองขนาดนั้น แต่ก็ยังมีช่องทางอื่นบ้าง เช่น ในเฟซบุ๊กมีกลุ่ม ‘Home School Network’ ซึ่งเขามีประสบการณ์จัดโฮมสคูลให้ลูกหลานมาก่อน อย่างไรก็ตามผมก็คิดว่ามันยังเฉพาะกลุ่มมากๆ อยู่ดี”
ไนซ์มองว่าถ้าต้องการยกระดับโฮมสคูลให้ได้มาตรฐาน สามารถเป็นทางเลือกที่ดีให้กับครอบครัวที่มีความพร้อม ควรมีหน่วยงานหรือสถาบันให้การสนับสนุนทั้งในการกระบวนการขั้นตอนและการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ
“ทำอย่างไรให้คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทราบว่าเขาควรต้องเริ่มยังไง เพื่อที่ทำให้เกิดโฮมสคูลขึ้นโดยง่าย เพราะผมคิดว่าคนที่ไม่เคยอยู่ในแวดวงการศึกษาเลย ก็คงไปต่อไม่ถูกกับเรื่องการจัดการศึกษาแบบนี้ และต้องใช้เวลาประมาณนึงเลย ในการรวบรวมข้อมูลว่าอะไรทำได้และไม่ได้บ้าง”
นอกจากนี้ ในฐานะอดีตนักเรียนโฮมสคูล ไนซ์ฝากมุมมองเกี่ยวกับการประเมินผลการศึกษาของเด็กนอกระบบไว้ว่า
“มีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งที่ผมเจอมาตั้งแต่ตอนที่เรียนอยู่คือ คุณเอาระบบปกติมาประเมินการจบการศึกษาของเด็กนอกระบบ ซึ่งมันไม่ได้ เพราะเด็กนอกระบบก็ควรจะมีวิธีการประเมินหลักสูตร ม.3 และ ม.6 เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถอันยูนีคของเขา
แต่สิ่งที่ผมเจอตั้งแต่เรียนมัธยมจนจบ ม.6 มันก็ยังคงมี 8 สาระวิชา ซึ่งมันไม่สมเหตุสมผลมากๆ สำหรับเด็กโฮมสคูล เพราะเขาเรียนโฮมสคูล เพื่อที่เขาจะยูนีคและหลุดกรอบ แต่คุณกลับเอากรอบทั่วไปของการศึกษาไทยมาประเมินเขา กลายเป็นว่าเด็กก็ยูนีคไปได้ไม่สุดเพราะต้องมาติดอยู่กับวิชาที่อาจจะไม่จำเป็นกับเขาเลยด้วยซ้ำ”
สำหรับไนซ์ ปัจจุบันทำงานเป็นฟรีแลนซ์ Colorist และทำงานเบื้องหลังภาพยนตร์โฆษณาต่างๆ แม้ในสายงานของเขาจะไม่มีการถามหาเรื่องวุฒิการศึกษา ซึ่งตัวเองก็ไม่ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี แต่โดยทั่วไปสังคมก็ยังให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษาอยู่ดี
“สายงานของเด็กโฮมสคูลแต่ละคนก็มีเป้าหมายต่างกัน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ไม่ใช้วุฒิ เพราะเด็กโฮมสคูลบางคนก็ไปต่อสายแพทย์ พยาบาล ที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้สิ่งที่ยังคงเกี่ยวข้องกับในระบบอยู่ แต่เขาไม่สามารถนำความสามารถพิเศษนอกเหนือจาก 8 สาระวิชามาเสริมในสิ่งที่เขามีได้” ไนซ์กล่าว ก่อนจะทิ้งท้ายว่า
“เด็กแต่ละคนนั้นมีความยูนีคที่แตกต่างกัน อยากให้มีวิธีการประเมินความยูนีคเหล่านั้นออกมาเป็นคะแนน หรือหน่วยชี้วัดว่าเขามีคุณภาพเพียงพอที่จะจบการศึกษาแต่ละชั้นปีอย่างถูกต้องตามแบบของการเรียนรู้นอกระบบควรจะเป็นครับ”
‘สถาบันเสริมสร้างทักษะศตวรรษที่ 21’ เรียนรู้ผ่านกิจกรรม เส้นทางสู่ความสำเร็จ
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความรู้เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอให้เด็กๆ เติบโตขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 คือสิ่งที่เชื่อกันว่าจะช่วยให้คนรุ่นใหม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในอนาคต
อลิสา ตริยถาวรวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Kid Hero Thailand (บริษัท คิด ฮีโร่ (ไทยแลนด์) จำกัด) สถาบันเสริมสร้างทักษะศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กช่วงกลุ่มอายุ 5-12 ปี ที่เน้นกิจกรรมและกระบวนการสอนรูปแบบใหม่ มองว่าการที่ให้เด็กลงไปตั้งโจทย์ด้วยตัวเอง ลองหาความรู้ผ่านการลงมือทำจริงๆ และได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
อลิสาบอกว่าปัจจุบันนอกจากทักษะศตวรรษที่ 21 แล้ว มีการพุ่งเป้าไปที่เรื่อง Mindset และ Soft skill ที่การศึกษาในระบบอาจจะยังทำไม่เต็มที่ จึงมาเสริมเพิ่มข้างนอก ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามผสมผสานเข้ากับดิจิทัลด้วย
“เราเห็นความสำคัญของการที่จะปลูกฝังให้คนคนหนึ่งมีมายเซ็ตที่ดี ในเชิงบวก เพราะมันสามารถทำให้คนประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขาตั้งใจและทำ ได้ ซึ่งเราก็จะเห็นแล้วว่านอกจากความรู้พื้นฐานในส่วนที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาให้เด็กเหล่านี้ ก็จะมีเรื่องของมายเซ็ตเข้ามาร่วมด้วยมากขึ้น”
“ในเรื่องการเปิดใช้งานโลกดิจิทัลต่างๆ สิ่งนี้เห็นได้ชัดมากเลยว่า ทางกระทรวงหรือที่อื่นก็ได้มีการนำกิจกรรม หรือกระบวนการเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็ก สามารถใช้เครื่องมือสื่อสาร หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้ดีขึ้น และสามารถนำไปผสมผสานกับการเรียนรู้ หรือการใช้ชีวิตประจำวันได้อีกด้วย”
อลิสาเล่าถึงปัญหาหนึ่งที่เคยพบตอนเรียนคือ เรียนไปแล้วเกิดคำถามว่า ‘เราเรียนสิ่งนี้ไปทำไม’ ซึ่งบางคนก็อาจจะเพิ่งมาพบคำตอบตอนโตแล้ว หรือบางคนก็อาจจะไม่ได้รับคำตอบนั้นอีกเลยเพราะไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการเรียนตั้งแต่แรก ซึ่งพอลองนำประเด็นนี้ไปคุยกับเพื่อนๆ ก็พบว่าเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ และหลายคนก็เคยประสบปัญหานี้เหมือนกัน เวลาออกแบบการเรียนรู้ให้แก่เด็กจึงให้ความสนใจกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ
“คนรุ่นใหม่ที่พยายามรวมตัวกันหรือคนที่ทำเรื่องนี้ก็จะกังวลในเรื่องนี้ เป็นหนึ่งในหัวใจที่เมื่อเราออกแบบหรือทำกิจกรรมอะไรให้เด็ก เราต้องคิดถึงว่าสิ่งที่เขาได้เรียนมันเกี่ยวข้องหรือมีประโยชน์ต่อตัวเขายังไง คอร์สสามารถนำไปปรับใช้ทันทีได้ยังไง เลยอยากให้ทางรัฐเข้ามาลองดูตรงนี้
น้องๆ ที่เรียนอยู่ตอนนี้จะได้สามารถตอบโจทย์ชีวิตของเขาได้ สามารถนำความรู้ไปเชื่อมโยง เกี่ยวโยงกับชีวิตประจำวันได้ทันที รวมถึงสามารถสร้างแรงบันดาลใจ ที่ถ้าเขาเห็นทางไปในอนาคตแล้ว เขาจะมองเห็นว่าความรู้ตรงนี้สำคัญกับเขาอย่างไร”
อีกปัญหาที่พบจากการจัดการศึกษานอกระบบคือการถูกเพ่งเล็งจากรัฐในเรื่องของคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่งจริงๆ แล้วในปัจจุบันคนที่เข้ามาทำการศึกษานอกระบบนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ
และคนเหล่านั้นก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจว่า ในอดีตตัวเราเคยมีบาดแผลจากการศึกษาอย่างไร จึงอยากให้มีการเปิดโอกาสให้คนที่มีความสนใจ สามารถเข้ามาทำการศึกษานอกระบบได้โดยมีข้อจำกัดน้อยลง
“เราทำได้ในส่วนที่เป็นนอกระบบ เพราะตัวเองก็ไม่ได้จบครุศาสตร์มาโดยตรง แต่อยากมาทำด้านนี้จึงตัดสินใจเข้ามาทำภายหลัง แล้วพอเราไปชวนเพื่อนๆ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่สนใจในเรื่องเดียวกัน เราก็พบว่าเขาเป็นคนรุ่นใหม่หมดเลย เราก็อยากทำให้การศึกษาไทยดีขึ้น แต่ติดอยู่ตรงที่เราทำได้แค่การศึกษาทางเลือก เพราะโปรไฟล์ของเราไม่ได้ตรงตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้”
ด้วยเหตุนี้ อลิสาจึงเสนอให้ภาครัฐเปิดกว้างมากขึ้น “เราก็มีการทำกระบวนการ Learning Design ต่างๆ ที่เหมาะกับน้องๆ ในปัจจุบันมากขึ้น อยากให้ลองเปิดใจและนำพวกเราเข้าไปสู่ในระบบ อาจจะทำเป็นกิจกรรมหรือสื่อนำเข้าไปใช้”
คนที่มีบาดแผลจากการศึกษาจำนวนมากกำลังรวมตัวกันทำเรื่องการศึกษา และเราก็ได้เห็นเทรนด์ต่างๆ แล้ว เพียงแต่ว่าอยากให้รัฐสนับสนุนมากขึ้น ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเชื่อมโยงการศึกษาในระบบกับการศึกษาทางเลือกเข้าด้วยกันได้
‘สวนการเรียนรู้’ คำตอบของโลกยุคใหม่ที่หมุนไปไวกว่าห้องเรียน
ศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรในพื้นที่ชนบท ถือเป็นอีกรูปแบบของการจัดการเรียนรู้นอกระบบที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน ซึ่ง ถนอม มธิปิไขย ตัวแทนของคนที่อยู่ทั้งในระบบการศึกษา ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้จัดการเรียนรู้นอกระบบการศึกษา ในฐานะผู้จัดการ ‘สวนเรียนรู้บ้านไร่วนเกษตร’ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียงและทักษะการใช้ชีวิต โดยน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ ก็ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ไปไกลกว่าโรงเรียน
“ครั้งหนึ่งผมเคยได้ยินเด็กคุยกันว่า ชีวิตของเขาเหมือนถูกขังรวม ในฐานะที่ผมเป็นผู้บริหารได้ยินคำนี้ก็ไม่สบายใจ เพราะรู้สึกว่า ‘มันเกิดอะไรขึ้น’ แล้วพอผมได้มีโอกาสทำงานกับเครือข่ายผ่านชาวบ้าน ก็ได้เห็นรูปแบบของการจัดการศึกษานอกระบบหรือโฮมสคูล ที่เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจมานานแล้ว พอมีโอกาสจึงได้สร้างศูนย์เรียนรู้ทักษะชีวิตขึ้นมา”
อาจารย์ถนอมเล่าว่า ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา เป็นช่วงที่มีการจัดการศึกษาทั้งในและนอกระบบไปพร้อมๆ กัน โดยได้เปิดสวนเรียนรู้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในเรื่องศาสตร์พระราชานั้นมีความสำคัญมากในการพัฒนาและดำรงชีวิต
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็ทำให้อาจารย์ถนอมได้รู้ว่านักศึกษาคิดอย่างไรบ้างหลังจากได้เรียนรู้ไป ซึ่งผลตอบรับกลับมาคือรอยยิ้ม ความสุข และความใส่ใจในเนื้อหาในที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น โดยสิ่งที่สำคัญคือ การได้ลงมือทำจริง และทักษะชีวิตที่ได้จากการปฏิบัติ
“ด้วยความที่บทบาทหนึ่งผมทำงานกับการศึกษาในระบบ เพราะฉะนั้นก็จะมีความห่วงใยของผู้ปกครอง หรือบุคคลทั่วไป ในเรื่องคุณภาพของการจัดการศึกษา แต่ในขณะเดียวกัน การศึกษาในระบบก็มีหลายเรื่องที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข แต่มันก็ช้าเนื่องจากเป็นองค์กรใหญ่”
“ในยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาและเร็วมาก ในระบบเลยขับเคลื่อนไม่ทัน แต่ตรงนี้ที่เราทำมันสามารถขับเคลื่อนได้เร็ว จึงกลายเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตมากขึ้น”
อาจารย์ถนอมมองว่าในระยะยาว ที่ไม่มีสถานการณ์โควิด-19 แนวทางนี้จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ตอบโจทย์กับคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นต่อไปที่สนใจทำงานที่อิสระ เพราะตอนนี้ห้องเรียนสี่เหลี่ยม อาจจะไม่ใช่คำตอบของเด็กในยุคปัจจุบันแล้ว
“สิ่งที่จะมีการเปลี่ยนแปลงคือ เด็กสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ในทุกแหล่ง แม้อาจจะไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ผมคิดว่าผลตอบรับที่กลับมาก็ตอบโจทย์เด็กและคนที่สนใจ เพราะจะเกิดความสุขและอิสระมากขึ้น”
ห้องเรียนก็คงยังทำงานอยู่ แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เร็วมาก การยืดหยุ่นของห้องห้องเรียนในระบบเปลี่ยนได้ยาก การเรียนรู้นอกระบบหรือ Beyond Schooling จึงเป็นจุดที่เปลี่ยนแปลงง่ายกว่า ทำงานเสริมจุดที่ห้องเรียนยังเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และเติมเต็มความสนใจให้กับเด็กและผู้ที่สนใจมากขึ้น
อาจารย์ถนอมได้เสนอเพิ่มเติมในเรื่องการจัดการศึกษาว่า ในเชิงนโยบายอยากให้ปล่อยให้ศูนย์การเรียนเป็นคนจัดการเอง และให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีส่วนร่วมในการดำเนินการ ว่าเรากำลังทำอะไรกันบ้าง ถ้าหากเป็นเช่นนี้ก็จะเดินไปได้เร็วขึ้น
“ในสวนเรียนรู้ของผม ผมไม่ปฏิเสธใครเลยที่เข้ามาแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ เราพร้อมที่จะรับในการจัดการศึกษา เพราะฉะนั้นหากหน่วยงานของรัฐเข้ามา แล้วให้เราช่วยอย่างไร มีอะไรเข้าปรับ เข้ามาทำงานร่วมกัน นี่คือส่วนที่ผมทำอยู่ และเดินมาได้เกือบๆ 10 ปี”
“แหล่งการเรียนรู้แบบผมก็มีอยู่เยอะ แต่ก็ไม่ใช่ทุกที่ที่จะสามารถรองรับการแลกเปลี่ยนกับนักศึกษา บุคคลทั่วไปได้ ซึ่งถ้าผู้บริหารระดับต่างๆ ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อที่จะขับเคลื่อนให้สังคมอยู่รวมกันอย่างมีความสุข และหน่วยงานรัฐเปิดโอกาสให้ทำและสามารถสนับสนุนด้านทรัพยากรบ้างได้ ผมว่าการทำกิจกรรมนี้จะทำให้สังคมเติบโตได้ดีขึ้น”
อาจารย์ถนอมทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้ศูนย์การเรียนรู้ การศึกษานอกระบบและรัฐมีการสนับสนุนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพราะเรากำลังทำในสิ่งเดียวกันคือผลักดันเด็กให้เติบโตไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง