- ระลอกคลื่นยามค่ำคืน เขียนโดย คิซาระ อิซึมิ (นามปากการ่วมของนักเขียน 2 คน) แปลเป็นภาษาไทยโดย ฤทัยวรรษ เกษสกุล เล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครที่ต้องเผชิญความเศร้า ความว่างเปล่า และการเรียนรู้ที่จะอยู่ต่อไปแม้ส่วนหนึ่งของชีวิตถูกพรากไป
- คนที่สูญเสียคนที่รักไป อาจจะเป็นคนที่ต้องเผชิญหน้ากับความเศร้าที่รุนแรงที่สุด เพราะการที่เรารักใครสักคนหนึ่ง นั่นหมายถึงว่า ใครคนนั้น คือส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิต ดังนั้น การที่ใครคนนั้นตายจากไปอย่างไม่มีวันหวนคืน ก็เท่ากับว่า ส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา ถูกกระชากฉีกขาดออกไปตลอดกาลด้วย
- ถึงอย่างไร คนที่ยังอยู่ก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไป แม้ว่าบางครั้งอาจเจ็บปวดเหมือนถูกรองเท้ากัด แต่มันก็คือชีวิตที่เราจะต้องใช้มันต่อไป
ความเศร้า คืออารมณ์พื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์ ที่มักเกิดขึ้นจากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ความผิดหวังจากสิ่งที่คาดหวัง (เช่น การเรียนล้มเหลว ความรักพังทลาย) ความเหงาโดดเดี่ยว ขาดคนเคียงข้างที่เข้าใจ ความเสียใจจากสิ่งผิดพลาดที่ทำลงไป หรือเสียใจจากบางสิ่งที่ไม่ได้ทำลงไป
แต่ความเศร้าที่น่าจะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งและรุนแรงอย่างยิ่ง คือความเศร้าจากการพลัดพรากจากคนที่เรารัก หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง และสิ่งของที่เรารัก
ขณะที่ในทางพุทธศาสนา ให้นิยามของความเศร้า หรือ ‘โศกะ’ ว่า คือ อารมณ์โศก เสียใจ เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่สมหวัง หรือกระทั่งสูญเสียสิ่งที่รักไป
นอกจากนี้ ความเศร้า ยังเป็นผลมาจากตัณหา หรืออุปาทาน (ความยึดติด) และถือเป็นความทุกข์อย่างหนึ่งซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องพบเจอ
แน่นอนว่า ความเศร้า เป็นธรรมชาติของอารมณ์ที่คนทุกคนต้องพบเจอ และก็เช่นกัน การพลัดพรากหรือสูญเสียคนที่เรารัก ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้ ตราบเท่าที่คนทุกคนเกิดมาต้องพบกับจุดจบของชีวิต ที่เรียกกันว่า ความตาย
นั่นหมายความว่า ในช่วงชีวิตของคนๆ หนึ่ง (ที่อายุไขยืนยาวตามธรรมชาติ) มีโอกาสจะพบเจอความเศร้าจากการสูญเสียคนที่เรารักอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อยก็หนึ่งครั้ง
บางครั้ง ผมอดคิดไม่ได้ว่า คนที่สูญเสียคนที่เขารักไป อาจจะเป็นคนที่ต้องเผชิญหน้ากับความเศร้าที่รุนแรงที่สุด เพราะการที่เรารักใครสักคนหนึ่ง นั่นหมายถึงว่า ใครคนนั้น คือส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิต ดังนั้น การที่ใครคนนั้นตายจากไปอย่างไม่มีวันหวนคืน ก็เท่ากับว่า ส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา ถูกกระชากฉีกขาดออกไปตลอดกาลด้วย
แล้วคนที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไป หลังจากสูญเสียคนที่รักที่สุด เขาหรือเธอ จัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองอย่างไร
หนังสือเล่มหนึ่งที่ผมเพิ่งอ่านจบ ชื่อเรื่องงดงามราวกับบทกวีว่า ‘ระลอกคลื่นยามค่ำคืน’ เขียนโดยนักเขียนชาวญี่ปุ่นสองคน ใช้นามปากการ่วมกันว่า คิซาระ อิซึมิ แปลเป็นภาษาไทยโดย ฤทัยวรรษ เกษสกุล บอกเล่าเรื่องราวของคนหลายคน ที่ต้องจัดการกับอารมณ์ความรู้สึก และที่สำคัญ ต้องใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ต่อไป หลังจากพวกเขาสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
โองุนิ นาสึมิ หญิงสาวสุดเท่ ผู้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตอนที่เธออายุเพียง 43 ปี เธอบอกกับทุกคนก่อนจะจากไปว่า เธอใช้ชีวิตมาครบถ้วนอย่างที่ควรจะใช้แล้ว ถึงขนาดว่า เคยพูดเล่นกับทาคาโกะ ผู้เป็นพี่สาวว่า “ฉันน่ะใช้ชีวิตคุ้มค่ากว่าคนอื่นตั้งห้าเท่า”
นาสึมิ เติบโตมาในครอบครัวที่มีพี่น้องสามคน ทาคาโกะ เป็นพี่สาวคนโต นาสึมิ เป็นคนที่สอง และสึคิมิ น้องสาวคนเล็ก ในบรรดาพี่น้องทั้งสามคน นาสึมิ คือ เด็กที่ดื้อที่สุด เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด และมักจะพูดจาเสียงแข็งกับพ่อแม่บ่อยๆ แต่ถึงกระนั้น เธอคือลูกสาวที่แม่เป็นห่วงมากที่สุด ถึงขนาดว่า ตอนที่แม่ล้มป่วยหนัก ได้แอบเอาแหวนเพชรวงหนึ่งฝากให้กับป้าเอมิโกะ แอบส่งต่อให้นาสึมิ เพื่อเป็นเงินทุนเลี้ยงตัวในวันที่แม่ตายจากไป
“ไม่เอาหรอกค่ะ หนูจะรับมาคนเดียวได้ยังไง” นาสึมิ บอกกับป้าเอมิโกะ ก่อนจะขว้างแหวนวงนั้นเข้าไปในสวนนอกบ้าน ท่ามกลางความมืดมิดของค่ำคืน
สุดท้าย ป้ากับหลานก็ต้องช่วยกันหาแหวนเพชรวงนั้นจนเจอ ก่อนที่นาสึมิจะยอมเก็บแหวนวงนั้นไว้
ถึงวันที่นาสึมิล้มป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล เธอกลัวว่า หากเธอต้องตายจากไป แล้วพี่สาวหรือน้องสาวมาพบเจอเพชรที่แม่ให้กับเธอ ทั้งคู่อาจรู้สึกน้อยใจว่า ทำไมแม่ถึงลำเอียงให้ของมีค่าแบบนี้กับนาสึมิเพียงคนเดียว เธอจึงขอให้ป้าเอมิโกะ วาดรูปดวงตาบนเสาไม้ที่อยู่กลางบ้าน แล้วเอาเพชรเม็ดนั้นไปฝังลงไปใจกลางดวงตา โดยนาสึมิบอกกับป้าว่า เพชรในรูปดวงตานั้น จะเป็นเหมือนหน้าต่างเชื่อมโลกนี้กับโลกวิญญาณ
“เมื่อหนูตายไปแล้วจะได้มองมาจากตรงนั้นได้ไงคะ ว่าใครทำอะไรอยู่ในครัว”
ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกครับ ผมคิด นั่นคือความรู้สึกของคนทุกคนที่ใกล้จะจากโลกนี้ แต่ก็ยังอดห่วงไม่ได้ว่า แล้วคนที่ยังอยู่จะใช้ชีวิตอย่างไร ในวันที่ส่วนหนึ่งของชีวิต ถูกกระชากขาดไปโดยไม่มีวันหวนคืน
ฮิเดโอะ คือ สามีของนาสึมิ เขามีนิสัยคล้ายนาสึมิ ตรงที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ใช้ชีวิตแบบหัวหกก้นขวิดมาโดยตลอด จนกระทั่งมาพบกับนาสึมิ ความรู้สึกอยากใช้ชีวิตโลดโผนจึงหายไป สำหรับฮิเดโอะ นาสึมิ คือ รังที่เขาอยากจะกลับไปนอนพัก หรือแม้กระทั่งนอนตายที่นั่น
วันที่นาสึมิ ป่วยหนัก เธอตัดสินใจย้ายจากโตเกียวกลับไปใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่บ้านเกิด ฮิเดโอะ ตามมาด้วย เขาปรับตัวเข้ากับเมืองที่ไม่รู้จักได้อย่างง่ายดาย จนนาสึมิแซวเล่นว่า เขาเหมือนกับต้นไม้ที่สามารถขึ้นได้ทุกที่ ขณะที่เจ้าตัวพูดยิ้มๆ ว่า อาจเพราะเขาเป็นคนไม่ค่อยคิดอะไรมาก
วันที่ลมหายสุดท้ายของนาสึมิหมดลงที่โรงพยาบาล ฮิเดโอะรู้สึกเหมือนคนหลงทางโดยไม่ทันตั้งตัว ไม่มีน้ำตาสักหยด มีเพียงความสับสนและว่างเปล่า
จนกระทั่งตอนที่ทาคาโกะบอกให้เขาช่วยหารูปนาสึมิ เพื่อใช้ในงานศพ เขาเปิดค้นหาในโทรศัพท์มือถือ เจอคลิปวีดิโอที่ถ่ายไว้ในช่วงวันแรกๆ ที่นาสึมิเข้าโรงพยาบาล ในคลิปนั้น นาสึมิยิ้มร่าเริง พูดกับฮิเดโอะซึ่งเป็นคนถ่ายว่า
“คุณน่ะเป็นต้นไม้ ถ้าเบื่อเมื่อไรก็ถอนตัวออกไปได้เลยนะ แล้วไปลงหลักปักฐานอยู่ในที่ที่คุณสบายใจ จงใช้ชีวิตอยู่ต่อไปนะ”
พลันเมื่อภาพในวีดิโอหยุดลง น้ำตาจึงไหลรินจากตาของฮิเดโอะ
อ่านถึงตรงนี้ ทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ในช่วงวัยเด็กประถม วันที่ย่าของผมจากไปกะทันหันโดยที่ไม่มีใครคาดคิด วันนั้นผมคงรู้สึกคล้ายๆ กับฮิเดโอะ เหมือนคนหลงทางโดยไม่ทันตั้งตัว ไม่มีน้ำตาสักหยด มีเพียงความสับสนและว่างเปล่า
จนหลายวันผ่านไป เมื่อนอนคนเดียวโดยไม่มีย่านอนอยู่ใกล้ ผมจึงนึกได้ว่า ย่าได้จากไปแล้วจริงๆ และตอนนั้นเอง น้ำตาจึงไหลรินออกมา
‘โอม วัชระ ธรรมะ ฮรี’ เป็นบทสวดบูชาเจ้าแม่กวนอิม ความหมายของบทสวดนี้คือ ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งหมดทั้งปวงมีความสุข และบทสวดนี้ คือ สิ่งแรกที่สึคิมิ น้องสาวคนเล็กของบ้าน นึกถึงในวันที่นาสึมิ พี่สาวคนรอง จากโลกนี้ไป
“สวดมนต์บทนี้แล้ว แม้แต่คนที่ฉันเกลียดก็พลอยมีความสุขไปด้วยเหรอเนี่ย โหย ขาดทุนตายชัก” สึคิมิ จำได้ว่า นาสึมิ เคยพูดกับเธอแบบนี้ ซึ่งเธอก็เห็นด้วย แถมคิดต่ออีกว่า ไม่ใช่แค่คนที่ตัวเองเกลียดเท่านั้นนะ คนที่เกลียดตัวเรา ก็ยังพลอยมีความสุขไปด้วย แบบนี้รับไม่ได้เลย
แต่เมื่อทั้งคู่กลายเป็นผู้ใหญ่ ความรู้สึกก็เริ่มเปลี่ยน และนาสึมิเป็นคนที่แนะให้น้องสาวสวดมนต์บทนี้ เวลาที่มีปัญหากับแม่สามี โดยพูดง่ายๆ แค่ว่า สวดไปเถอะ เดี๋ยวก็จะรู้เองว่า ชีวิตมันก็เป็นแบบนี้แหละ
วันที่นาสึมิ อาการทรุดหนักด้วยโรคมะเร็ง นาสึมินึกถึงบทสวดนี้ เธอสวดมนต์บทนี้ทุกครั้งที่มีโอกาส ด้วยหวังจะให้พี่สาวอาการดีขึ้น เธอไม่สนใจหรอกว่า คนที่เธอเกลียด หรือคนที่เกลียดเธอ จะพลอยมีความสุขไปด้วย
แต่สุดท้าย เมื่อหมอบอกให้ทุกคนทำใจ สึคิมินึกขึ้นได้ว่า สวดไปก็ไร้ค่า ถึงอย่างไรพี่สาวก็ต้องตาย และตัวเธอเองก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยปัญหา ทั้งกับสามีและแม่สามีต่อไป
เช้ามืด หลังคืนที่นาสึมิหมดลมหายใจ สึคิมิเดินออกจากบ้านมุ่งหน้าไปยังโรงพยาบาล ท่ามกลางความเงียบงันและมืดมิด เธอเห็นภาพตัวเองกับพี่สาวนั่งจิบชาด้วยกัน แล้วนาสึมิก็พูดกับเธอว่า
“สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งหมดทั้งปวงน่ะ หมายรวมถึงตัวเองด้วยจ้ะ”
ในตอนนั้นเอง สึคิมิ จึงนึกได้ว่า พี่สาวก็คงต้องการให้เธอใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข ใช้ชีวิตต่อไปอย่างดีงาม ส่งต่อความรู้สึกดีๆให้แก่คนอื่นๆและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งก็มีตัวเราอยู่ในนั้นด้วย
เซย์จิ คือรักแรกในวัยมัธยมของนาสึมิ ทั้งคู่เคยนัดแนะจะหนีออกจากบ้านไปด้วยกัน แต่สุดท้าย นาสึมิก็เบี้ยวนัดหน้าตาเฉย โดยอ้างว่าติดงานที่บ้านปลีกตัวออกมาไม่ได้เลย
หลังจากนั้น เส้นทางชีวิตของทั้งคู่ก็แยกไปคนละทาง นาสึมิไปใช้ชีวิตในโตเกียว ขณะที่เซย์จิรับช่วงกิจการร้านตัดผมของที่บ้าน แต่งงานมีครอบครัวที่อบอุ่น เซย์จิแทบจะลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับนาสึมิไปจนหมด
ทว่า เมื่อได้รู้ข่าวว่านาสึมิจากไปแล้ว ความทรงจำในอดีตค่อยๆ ผุดขึ้น พร้อมกับความคิดที่ว่า คนที่อยู่ในความทรงจำนั้น ไม่ได้มีตัวตนอยู่ในโลกนี้อีกแล้ว ตอนนั้นเองที่เซย์จิ ถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่จนเจ้าตัวเองก็ยังตกใจ
เซย์จินึกถึงตอนที่นาสึมิเล่าให้ฟังว่า เธอไม่ได้เสียน้ำตาเลยสักหยดในวันที่แม่เธอเสียชีวิต อีกทั้งยังบอกว่า คงเพราะตัวเองเป็นคนเย็นชาล่ะมั้ง
“ไม่ใช่อย่างนั้น เวลาที่เราสูญเสียคนสำคัญไปจริงๆ มันร้องไห้ไม่ออกต่างหากล่ะ” เซย์จิ แก้ต่างให้
“งั้นจะร้องไห้ตอนไหนล่ะ”
“ก็คงร้องหลังจากเวลาผ่านไปแล้ว เพิ่งมารู้ทีหลังว่าเป็นคนสำคัญละมั้ง”
เซย์จิเองก็เช่นกัน เขาเพิ่งมารู้ว่านาสึมิเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในชีวิต ก็เมื่อวันที่เธอจากโลกนี้ไปแล้ว
ค่ำวันนั้น หลังจากงานศพ เซย์จิเดินกลับบ้านพร้อมอาการรองเท้ากัด เพราะต้องใส่รองเท้าหนังแบบสุภาพคู่ที่ไม่ค่อยได้ใส่ ยิ่งเดินก็ยิ่งเจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะถอดใจ
ในตอนนั้นเอง เซย์จิเหมือนได้ยินเสียงของนาสึมิพูดขึ้นมา ซ้อนกับเสียงรำพึงของตัวเองในวันที่นาสึมิไม่มาตามนัด
“ยังไงซะก็ต้องไปต่อสินะ ชีวิตคนเราเนี่ย”
แม้ว่า ‘ระลอกคลื่นยามค่ำคืน’ จะไม่ใช่วรรณกรรมเชิงปรัชญาที่ว่าด้วยความตายของมนุษย์ แต่หลังจากปิดหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ลง สิ่งที่ค้างคาอยู่ในหัวของผม กลับมีแต่คำถามเรื่องความตาย และการใช้ชีวิตอยู่ต่อไปของคนที่ถูกความตายพรากคนรักจากไป รวมไปถึงคำถามแปลกๆ ข้อหนึ่งที่ว่า
ความเศร้าจากการที่คนรักตายจากไป กับความเศร้าจากการที่คนรักเดินจากไป และไม่มีวันหวนกลับมา มันเท่ากันหรือต่างกันอย่างไร
และยังมีคำถามแปลกๆ อีกข้อว่า การที่คนสำคัญในชีวิตของเราตายจากไป กับการที่คนๆ นั้นยังมีชีวิตอยู่ แต่ไปอยู่ในที่ไกลแสนไกลและไม่มีวันได้พบเจอกันอีก มันเหมือนกันหรือต่างกันแค่ไหน
คำถามเหล่านี้ ไม่มีคำตอบหรอกครับ และอาจไม่มีวันหาคำตอบพบด้วย เช่นเดียวกัน คำถามที่ผมเปิดไว้ในชื่อบทความว่า อยู่อย่างไรในวันที่ส่วนหนึ่งของชีวิตล้มตายจาก ก็อาจจะไม่มีหาคำตอบ เพราะเป็นเรื่องของแต่ละปัจเจกบุคคลที่จะต้องหาวิธีจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นาสึมิ พยายามตอกย้ำกับเราหลายๆ ครั้ง ในการพบเจอกับตัวละครหลายๆ ตัว ก็คือ ประโยคที่ว่า ถึงอย่างไร คนที่ยังอยู่ก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไป แม้ว่าบางครั้งอาจเจ็บปวดเหมือนถูกรองเท้ากัด แต่มันก็คือชีวิตที่เราจะต้องใช้มันต่อไป
และที่สำคัญ “ทำชีวิตให้ดีๆ นะ” ซึ่งเป็นประโยคที่นาสึมิพูดกับเพื่อนคนหนึ่ง และอย่าลืม “ใช้ชีวิตให้มีความสุข” เหมือนเช่นความหมายในบทสวดที่ว่า ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งหมดทั้งปวงมีความสุข เพราะเราเองก็คือหนึ่งในสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นด้วย