- ภาพยนตร์ The Unbreakable Boy ดัดแปลงจากหนังสือขายดีชื่อเดียวกัน ถ่ายทอดชีวิตจริงของ ‘สก็อต เลอแรตต์’ คุณพ่อยังหนุ่มที่ต้องเลี้ยงดูลูกชายที่เกิดมาพร้อมโรคกระดูกเปราะและมีภาวะออทิสติก
- แม้ภาพยนตร์จะสร้างความประทับใจผ่านเรื่องราวของ ‘ออสติน’ เด็กชายผู้ไม่เคยยอมแพ้ต่อข้อจำกัดของตนเอง ทว่าบทความนี้อยากชวนทุกคนเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมๆ ‘สก็อต’ คุณพ่อมือใหม่ที่ต้องเจอโจทย์ยากตั้งแต่วันแรก
- “ชีวิตของมนุษย์เต็มไปด้วยบาดแผลและความพังทลาย แต่ถ้าเราเรียนรู้ที่จะยอมรับข้อผิดพลาดและพยายามซ่อมแซมมันอย่างตั้งใจ เราก็จะค่อยๆ กลายเป็นคนที่ดีกว่าเดิม”
ลองจินตนาการว่าคุณมีลูกสักคนที่เกิดมาพร้อมกับโรคกระดูกเปราะ (Osteogenesis Imperfecta: OI) และมีภาวะออทิสติก ขณะเดียวกันคุณยังต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต คำถามคือคุณจะบริหารจัดการตัวเองในฐานะหัวหน้าครอบครัวอย่างไร
นั่นคือชีวิตจริงของ ‘สก็อต เลอเรตต์’ ที่ถูกนำมาบอกเล่าผ่านภาพยนตร์เรื่อง The Unbreakable Boy ที่สร้างจากหนังสือขายดีชื่อเดียวกันในปี 2014
[*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์]
เรื่องทั้งหมดเริ่มจากการที่สก็อตตกหลุมรัก ‘เทเรซา’ พนักงานขายเสื้อคนหนึ่งเข้าอย่างจัง แต่หลังจากเดทกับเธอได้เพียง 3 ครั้ง เขากลับพลาดทำเธอท้อง
ผลจากการเป็นพ่อที่ไม่พร้อม ทำให้สก็อตมีความกังวลหลายเรื่อง โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าเทเรซาเป็นโรคกระดูกเปราะ ซึ่งหมายความว่า เด็กที่เกิดมามีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นโรคเดียวกัน ซึ่งความกังวลนั้นไม่เพียงเป็นจริงนับตั้งแต่ที่ ‘ออสติน’ ลูกชายของเขาลืมตาดูโลก แต่ยังเพิ่มเติมด้วยภาวะออทิสติกที่พวกเขาสังเกตได้ในภายหลัง
-1-
ออกตัวก่อนว่าแม้ภาพยนตร์ดูจะมุ่งเน้นเรื่องแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของออสติน แต่ผมกลับสนใจพัฒนาการของตัวละครอย่างสก็อตมากกว่า เพราะนอกจากการเป็นคุณพ่อยังหนุ่มโดยไม่ตั้งใจ หรือการพยายามช่วยให้ออสตินสามารถใช้ชีวิตแบบเด็กทั่วไปแล้ว เขายังต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายที่ยากจะก้าวข้าม
สก็อตตระหนักดีว่าตัวเองเป็นเสาหลักของครอบครัว ทุกเช้าเขาจะออกไปทำงานนอกบ้าน และกลับมาบ้านตอนเย็นเพื่อเผชิญกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ซึ่งหลายครั้งเมื่อภรรยาไม่อยู่และฝากออสตินไว้ก็มักเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง จากการที่เขาละสายตาจากลูก
“ผมรู้สึกว่าพ่อใกล้ชิดและห่างไกลในเวลาเดียวกัน ราวกับว่าแม้ว่าผมจะอยู่ที่นั่น แต่พ่อก็ไม่เคยเห็นผมจริงๆ” ออสติน ถ่ายทอดความรู้สึกของเขาที่มีต่อพ่อ
ซึ่งผมเชื่อว่าลึกๆ แล้ว สก็อตเต็มไปด้วยความเครียดและความวิตกกังวล หลายครั้งเขาหันไปพึ่งแอลกอฮอล์เพื่อหลีกหนีความจริงจากการเป็นพ่อ ‘ชั่วขณะ’ แต่ชั่วขณะก็ไม่มีอยู่จริง สก็อตเริ่มดื่มแอลกอฮอล์หนักขึ้นจนเสพติดและหยุดตัวเองไม่ได้ ทำให้ท้ายที่สุดเขาถูกบริษัทไล่ออกด้วยเหตุผลดังกล่าว ซึ่งการตกงานของเขาส่งผลต่อสถานะทางการเงินของครอบครัวถึงขั้นต้องขายบ้านหลังใหญ่ของตัวเอง ไม่เพียงเท่านั้นมันยังซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ จนถึงจุดแตกหัก และเขาต้องกลับไปอาศัยอยู่กับพ่อแม่
“ผมไม่รู้จริงๆ ว่าจะไปที่ไหนหรือทำอะไร ผมขอโทษนะแม่”
หัวใจของสก็อตแหลกสลาย เขาระบายความกดดันต่างๆ ให้พ่อแม่ฟัง ทั้งเรื่องการตกงานและการสอบตกในฐานะหัวหน้าครอบครัว เขารู้สึกเหมือนชีวิตตัวเองพังทลาย ไร้ค่า และหมดหนทางที่จะกลับมาได้อีก แต่ในขณะที่เขาจมดิ่งอยู่กับความสิ้นหวัง แม่กลับยื่นแก้วใบหนึ่งให้เขาพร้อมกับบอกให้เขาทำลายมันทันที
หลังจากสก็อตทำแก้วแตกออกเป็นเสี่ยงๆ แม่จึงเปรียบเปรยว่า ชีวิตของมนุษย์ก็เหมือนแก้วใบนี้ เต็มไปด้วยบาดแผลและความพังทลาย แต่ถ้าเราเรียนรู้ที่จะยอมรับข้อผิดพลาดและพยายามซ่อมแซมมันอย่างตั้งใจ เราก็จะค่อยๆ กลายเป็นคนที่ดีกว่าเดิม
“ตอนนี้สถานการณ์ของลูกเป็นอย่างนี้ใช่ไหม พวกเราทุกคนต่างก็เป็น แต่ลูกรัก ความผิดพลาดของลูกไม่ได้กำหนดตัวตนของลูก พวกเขาจะกำหนดลูกจากวิธีที่ลูกใช้แก้ไขตัวเอง”
เมื่อได้รับข้อคิดดีๆ จากแม่ สก็อตตัดสินใจเข้ารับการบำบัดจนสภาพจิตใจและอาการติดแอลกอฮอล์ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งผมชอบวิธีคิดของผู้กำกับที่ใส่ฉากที่สก๊อตนำเศษแก้วใบที่ทำแตกมาประกอบเข้าด้วยกันโดยใช้กาวผสมทอง ทำให้ผมนึกถึงศิลปะของญี่ปุ่นอย่าง Kintsugi ที่เน้นการตกแต่งร่องรอยที่แตกร้าวบนวัตถุแทนที่จะพยายามปกปิดมัน (สื่อถึงการยอมรับและเห็นคุณค่าของความไม่สมบูรณ์แบบ)
ฉากนี้จึงไม่เพียงแค่แสดงให้เห็นถึงการเยียวยาและการเริ่มต้นใหม่ของสก็อต แต่ยังเปรียบเหมือนการที่เขาเรียนรู้ที่จะยอมรับความล้มเหลวและรอยร้าวในชีวิตที่เคยทำให้เขารู้สึกไร้ค่า
นอกจากคำพูดของแม่ อีกประโยคที่ผมประทับใจคือคำพูดของเทเรซา เมื่อเธอให้อภัยสก็อต หลังจากเห็นถึงความพยายามและการเปลี่ยนแปลงของเขา
“คุณรู้ไหมว่าฉันชื่นชมอะไรในตัวคุณ คุณแหลกสลาย คุณหลงทาง หวาดกลัว และเข้าใจสิ่งต่างๆ ผิด แต่คุณก็ยังคงพยายามต่อไป”
-2-
ในบรรดาเรื่องราวหรือผู้คนที่ทำให้สก็อตเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่เวอร์ชั่นที่ดีขึ้น ผมอยากชวนย้อนมองความสัมพันธ์ระหว่างสก็อตกับออสตินสักเล็กน้อย เพราะแม้เขาจะรักลูกมากแค่ไหน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกระทำของเขาในหลายๆ ครั้งมันสะท้อนว่าเขามองออสตินเป็นภาระหรือปัญหาหนักในชีวิต ซึ่งเด็กชายก็รับรู้ความรู้สึกนั้นได้
แต่หลังจากที่เขาค่อยๆ เปิดใจและทำความเข้าใจออสติน สก็อตก็เริ่มตระหนักว่าเด็กชายที่อาจจะเข้าใจยากสักหน่อยคนนี้ ไม่ใช่ตัวการความล้มเหลวในชีวิต แต่เป็นแสงที่ส่องสว่างแม้ในยามมืดมิด
เช่น ในตอนที่ ‘โลแกน’ น้องชายของออสตินมีเรื่องชกต่อยกับไทเลอร์ (คนที่ออสตินมองว่าเป็นเพื่อนของเขา) เพราะไทเลอร์ชอบแกล้งสองพี่น้องอยู่บ่อยๆ ออสตินกลับบอกว่า “ไทเลอร์ไม่ได้เป็นคนไม่ดี”
“เพราะว่าเขาเศร้าไง เขาเศร้า พ่อของเขาติดคุกมานานมาก แถมแม่ของเขาก็ป่วยเป็นมะเร็งอาการหนักมาก และฉันได้ยินมาว่าเขาไม่มีโอกาสฉลองคริสต์มาสด้วยซ้ำ ฉันคิดว่าเขาเศร้าและมันก็ทำให้ฉันเศร้าด้วยเช่นกัน”
คำพูดของออสตินทำให้พ่อ แม่ และโลแกน รวมถึงผม ได้รู้ว่าเขารับรู้ทุกอย่างแม้จะไม่สามารถสื่อสารได้ง่ายๆ เหมือนเด็กคนอื่น และมากกว่านั้นเขายังมีความเห็นอกเห็นใจที่เด็กปกติบางคนอาจจะไม่มีด้วยซ้ำ และนั่นทำให้โลแกนให้อภัยและกลับไปทำดีกับไทเลอร์ จนทั้งสามกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันในที่สุด
สก็อตเองก็ได้เรียนรู้มากมายจากมองโลกอย่างจริงใจของออสติน ครั้งหนึ่งในการบำบัดเขากล่าวว่า เขาอยากเป็นเหมือนลูกชายมากขึ้น เพราะออสตินได้สอนบทเรียนต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการมีความสุขกับปัจจุบันขณะ เหมือนกับที่ออสตินพูดถึงมิลค์เชค ซึ่งเป็นเครื่องดื่มสุดโปรดว่า
“มิลค์เชคทุกแก้วสามารถเป็นมิลค์เชคที่ดีที่สุดได้” ดังนั้น ทุกวันก็สามารถเป็นวันที่ดีที่สุดได้ และทุกช่วงเวลาก็สามารถเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด เพียงแค่เราต้องมองเห็นคุณค่าของช่วงเวลาตรงหน้าเท่านั้น
“พ่อได้โปรดมองผมหน่อย ผมมีเรื่องสำคัญจะบอก นี่คือมิลค์เชคสตรอเบอร์รี่ที่ดีที่สุดที่ผมเคยดื่ม …มิลค์เชคนี้มันสมบูรณ์แบบมาก พ่อเข้าใจไหม มิลค์เชคนี้ดีมากมันทำให้ทุกอย่างดีขึ้นไปหมด นี่คือวันที่ดีที่สุดในชีวิตของผม”
-3-
ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ แซคารี ลีวาย ฮีโร่หุ่นล่ำจาก Shazam! ผู้รับบทเป็น ‘สก็อต’ เขาบอกความในใจสั้นๆ ว่าการรับบทนี้ทำให้เขาตระหนักว่าเด็กๆ ก็สามารถเป็นครูที่ดีให้กับพ่อแม่และมีส่วนช่วยให้พ่อแม่ที่บกพร่องกลายเป็นพ่อแม่ที่ดีกว่าเดิม
“เขา (สก็อต) กำลังพยายามทำสิ่งต่างๆ อย่างเต็มที่ ภายนอกเขาดูเป็นคนมองโลกในแง่ดี แต่เห็นได้ชัดว่าเขากำลังดิ้นรนอย่างหนักภายในจิตใจ ผมคิดว่าเขายอมรับว่าเขาไม่ได้รักและโอบรับชีวิตที่เขาได้รับมาอย่างเต็มที่ และเขายังไม่ได้เรียนรู้จากตัวอย่างของลูกชายเขาเอง…
แต่แล้วทั้งเขาและผมก็เริ่มตระหนักว่าเด็กๆ สามารถเป็นครูของเราได้ พวกเขามีสิ่งที่มากกว่าชีวิตในอุดมคติที่เราคิดว่าเราควรจะมี และการยอมรับชีวิตที่พระเจ้ามอบให้เราอย่างสุดหัวใจ และในสิ่งนั้น เราก็จะได้รับทั้งความงามและของขวัญ นั่นคือสิ่งที่ผมหวังว่าผู้ชมจะได้เรียนรู้และนำกลับไปคิดต่อ”
ผมเองก็ได้เรียนรู้เช่นกันว่า Nobody’s Perfect ชีวิตของทุกคนต่างก็มีร่องรอยในแบบของตัวเอง สำคัญที่สุดคือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความไม่สมบูรณ์แบบ และยอมรับว่าบาดแผลหรือรอยร้าวก็เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต