- ค้นหาความหมายและความรักที่ซุกซ่อนอยู่ในวรรณกรรมเยาวชนที่มีคนรักมากที่สุดเล่มหนึ่ง หนึ่งในหนังสือที่ขายดีที่สุดในโลก ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากที่สุด
- ‘เจ้าชายน้อย’ ผลงานของ อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี แก่นหลักของหนังสือเล่มนี้คือ ความเป็นเด็กของเจ้าชายน้อย ผู้มองโลกอย่างบริสุทธิ์ ใสซื่อ ตรงไปตรงมา และเปี่ยมด้วยจินตนาการ
- แม้สไตล์การเล่าเรื่องจะดูเรียบง่ายแต่โทนของหนังสือกลับดูหม่นเศร้า แฝงไว้ด้วยเรื่องราวความรักความสัมพันธ์ในชีวิตจริงของแซงเตก-ซูเปรี โดยเฉพาะเรื่องราวของดอกกุหลาบและสุนัขจิ้งจอก
หากมีคนถามว่า หนังสือเล่มไหน คือนิยายรักโรแมนติกที่สุดในความรู้สึกของคุณ คุณจะตอบว่าอะไร
สำหรับผมแล้ว คำตอบคือ ‘เจ้าชายน้อย’ ครับ
หลายคนอาจจะงง “เอ๊ะ เจ้าชายน้อย นี่มันวรรณกรรมเยาวชนที่ขายดีที่สุดในโลกไม่ใช่เหรอ” ใช่ครับ เจ้าชายน้อยเล่มนั้นแหละครับ
เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince ในภาษาฝรั่งเศส หรือ The Little Prince ในภาษาอังกฤษ) เป็นผลงานของ อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งในวรรณกรรมเยาวชนที่มีคนรักมากที่สุด และเป็นหนึ่งในหนังสือที่ขายดีที่สุดในโลก (ยอดขายกว่า 140 ล้านเล่ม) และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากที่สุด (มากกว่า 300 ภาษา) รวมถึงภาษาไทยที่มีการแปลออกมาหลายฉบับ แต่ฉบับที่ผมหยิบมาใช้อ้างอิงในบทความนี้ คือ ฉบับแปลโดย อำพรรณ โอตระกูล
หนังสือเล่มนี้ บอกเล่าเรื่องราวของนักบินคนหนึ่ง ที่เครื่องบินตกกลางทะเลทราย ระหว่างที่นักบิน ซึ่งก็คือ แซงเตก-ซูเปรี พยายามซ่อมเครื่องบินและรอความช่วยเหลือ เขาได้พบกับเด็กชายผมทองคนหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้รู้จักในชื่อ เจ้าชายน้อย ผู้เดินทางมาจากดาวเคราะห์น้อยที่มีชื่อว่า B612
เจ้าชายน้อยได้เล่าเรื่องราวของตัวเองให้แซงเตก-ซูเปรีฟัง ตั้งแต่ชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงกระจิ๋ว ที่มีเพียงเจ้าชายน้อย ดอกกุหลาบแสนสวย และภูเขาไฟ 3 ลูก ไปจนถึงการออกเดินทางจากดาวบ้านเกิด ท่องไปยังดาวเคราะห์ดวงต่างๆ ได้พบปะผู้คนที่หลากหลาย ตั้งแต่พระราชา ผู้มองว่า ทุกคนล้วนคือข้าราชบริพารที่ต้องเชื่อฟังคำสั่งของพระองค์, คนหลงตนเอง ผู้มีความสุขก็ต่อเมื่อมีคนนิยมชมชอบ, นักดื่ม ผู้ดื่มเพื่อให้ลืมความอับอายในเรื่องที่ตนเป็นนักดื่ม, นักธุรกิจ ผู้หมกมุ่นกับตัวเลขและความมั่งคั่ง, คนจุดโคมไฟ ผู้ทุ่มเททุกอย่างที่มีให้กับงานที่รับผิดชอบ จนไม่มีเวลาเหลือให้กับชีวิต และนักภูมิศาสตร์ ผู้ให้ความสำคัญแต่กับสิ่งที่อยู่ยงคงทน เช่น ภูเขาหรือแม่น้ำ แต่มองข้ามสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน เช่น ดอกไม้
และสุดท้าย การเดินทางมาถึงดาวเคราะห์สีฟ้าที่มีชื่อว่า โลก ซึ่งทำให้เจ้าชายน้อยได้พบกับแซงเตก-ซูเปรี
แก่นหลักของหนังสือเล่มนี้ คือ ความเป็นเด็กของเจ้าชายน้อย ผู้มองโลกอย่างบริสุทธิ์ ใสซื่อ ตรงไปตรงมา และเปี่ยมด้วยจินตนาการ
ขณะที่ความเป็นผู้ใหญ่ ถูกแทนความหมายในทางลบ ด้วยภาพของผู้คนหลากหลายอาชีพบนดวงดาวต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ยึดติดในอัตตาที่มาในรูปแบบต่างๆ และที่สำคัญ ความเป็นผู้ใหญ่ในเรื่องราวของเจ้าชายน้อย คือ ความแห้งแล้งไร้ซึ่งจินตนาการ
แม้ว่าสไตล์การเล่าเรื่องจะเรียบง่ายคล้ายนิทานสำหรับเด็ก แต่โทนของหนังสือที่หม่นเศร้าและมีท่วงทำนองราวบทกวี ทำให้นักวิจารณ์จำนวนมาก เลี่ยงที่จะระบุว่า เจ้าชายน้อยเป็นวรรณกรรมสำหรับเด็ก โดยพูดอ้อมๆ แค่ว่า เป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยจินตนาการเหนือจริงแบบเด็กๆ แต่มีความซับซ้อนหลายระดับ
โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า เจ้าชายน้อย ไม่ใช่วรรณกรรมสำหรับเด็ก ในแบบเดียวกับวรรณกรรมสำหรับเด็กเล่มอื่นๆ อาทิ แมงมุมเพื่อนรัก บ้านเล็กในป่าใหญ่ หรือแม้กระทั่งหนังสือชุดแฮร์รี พ็อตเตอร์ หากแต่เป็นหนังสือที่เขียนเพื่อให้นักอ่านที่เป็นผู้ใหญ่ ได้หวนระลึกถึงตัวตนความเป็นเด็ก ที่อาจถูกหลงลืมไปตามกาลเวลา
แซงเตก-ซูเปรีเอง ก็อาจคิดเช่นนั้น เขามอบคำอุทิศของหนังสือเล่มนี้ให้กับเพื่อนรักของเขาที่มีชื่อว่า เลออง แวร์ท โดยเขียนไว้ว่า
“ผู้ใหญ่ทุกคนเคยเป็นเด็กมาก่อนแล้วทั้งนั้น แต่น้อยคนนักที่จะหวนระลึกได้…แด่ เลออง แวร์ท สมัยเมื่อเขายังเป็นเด็กน้อย”
แม้ว่าในคำอุทิศจะเขียนไว้เช่นนั้น แต่ผมเชื่อว่า บุคคลที่ แซงเตก-ซูเปรี ตั้งใจอุทิศหนังสือเล่มนี้ให้จริงๆ ก็คือตัวเอง หรือตัวเองสมัยเมื่อเขายังเป็นเด็กน้อย เพราะหลากหลายตัวละครในเรื่องเจ้าชายน้อย ล้วนมาจากเรื่องราวและความรักในชีวิตจริงของเขา
เจ้าชายน้อยกับดอกกุหลาบแสนสวย
อาจกล่าวได้ว่า หากไม่มีดอกกุหลาบ ก็ไม่มีเรื่องราวของเจ้าชายน้อย เพราะดอกกุหลาบ คือ สาเหตุที่ทำให้เจ้าชายน้อยต้องทิ้งดาว B612 ออกเดินทางไปยังดวงดาวต่างๆ ก่อนจะมาถึงดาวเคราะห์โลก และดอกกุหลาบ ก็คือเหตุผลที่ทำให้เจ้าชายน้อย ตัดสินใจละทิ้งร่างอันหนักอึ้งของตัวเอง เพื่อออกเดินทางกลับไปพบดอกกุหลาบแสนรักของเขาอีกครั้ง
ดอกกุหลาบ คือ สิ่งมีชีวิตที่งดงามที่สุดบนดาวบ้านเกิดของเจ้าชายน้อย แต่ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่บอบบางที่สุดด้วยเช่นกัน ด้วยความบอบบางนั้น ทำให้เธอเรียกร้องต้องการความใส่ใจดูแลอย่างยิ่งยวดจากเจ้าชายน้อย
“ในตอนเย็นเธอจะต้องหาอะไรมาคลุมฉันนะ บนโลกของเธออากาศหนาวจังเลย มันตั้งไม่เหมาะทำเลสู้ที่ที่ฉันมาไม่ได้…”
การเรียกร้องเอาแต่ใจของดอกกุหลาบ ทำให้เจ้าชายน้อยเป็นทุกข์ และตัดสินใจออกเดินทางจากดาวบ้านเกิด เพื่อหนีหน้าไปจากดอกกุหลาบที่แสนเข้าใจยาก
ช่างอ่อนหัดเสียเหลือเกิน! อ่อนหัดเกินกว่าจะรู้ว่า สิ่งที่ดอกกุหลาบเรียกร้อง ไม่ใช่ม่านกั้นลม หรือที่ครอบแก้ว หากแต่เป็น ‘ความรัก’
กว่าที่เจ้าชายน้อยจะรู้เรื่องนี้ ก็เป็นเวลาที่เขาจากเธอมาไกลแสนไกลแล้ว
“ฉันไม่ควรหนีจากเธอมาเลย! ฉันควรจะเห็นความอ่อนหวานที่ซ่อนอยู่ภายใต้มารยาเธอ ดอกไม้ก็มีอารมณ์หวั่นไหวง่ายเช่นนี้เสมอแหละ! แต่ฉันก็อ่อนหัดเกินกว่าจะรู้จักรัก”
ความสัมพันธ์อันซับซ้อน ระหว่างเจ้าชายน้อยกับดอกกุหลาบ แท้ที่จริงแล้ว คือ ภาพสะท้อนชีวิตรักในความเป็นจริง ระหว่างแซงเตก-ซูเปรี กับคอนซูเอโล เดอ แซงเตก-ซูเปรี ภรรยาแสนสวยและบอบบางของเขา
คอนซูเอโล เกิดในครอบครัวเศรษฐีมีอันจะกิน ในประเทศเอลซัลวาดอร์ เธอถูกส่งตัวไปอยู่อเมริกาตั้งแต่ยังเด็ก เพราะที่บ้านเกิด สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพอันแสนเปราะบางจากโรคหอบหืดของเธอ หลังจากนั้น คอนซูเอโล ได้ย้ายไปศึกษาต่อที่เม็กซิโก และฝรั่งเศส
หญิงสาวแสนสวยแต่แสนบอบบางผู้นี้ ผ่านชีวิตสมรสที่ล้มเหลวมาแล้ว 2 ครั้ง ก่อนที่เธอจะย้ายไปอยู่ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา และที่นี่เอง ที่คอนซูเอโล ได้พบหน้าและพบรักกับแซงเตก-ซูเปรี นักเขียน-นักบินชาวฝรั่งเศส
ชีวิตรักของแซงเตก-ซูเปรี ผู้แสนอ่อนไหวและใสซื่อ กับคอนซูเอโล ผู้แสนบอบบางและเอาแต่ใจ ก็ไม่ต่างจากความสัมพันธ์ของเจ้าชายน้อยกับดอกกุหลาบ
ทั้งคู่ รัก-เลิก-ร้าง-ลา หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งในหนังสือชีวประวัติของแซงเตก-ซูเปรี ถึงกับเขียนไว้ว่า คอนซูเอโล เป็นทั้งแรงบันดาลใจและความโกรธเกรี้ยวของเขา
“ฉันไม่ควรไปฟังเธอเลย… เราควรสนใจแต่เพียงเชยชมมันและดมมันเท่านั้น… ฉันไม่เข้าใจอะไรเสียเลย!”
หรือจริงๆ แล้ว ถ้อยคำที่เจ้าชายน้อย รำพึงรำพันถึงดอกกุหลาบในวันที่ร้างลา ก็คือ ถ้อยคำที่แซงเตก-ซูเปรี รำพึงรำพันถึงคอนซูเอโลในวันที่ร้างไกล
…ช่างอ่อนหัดเสียเหลือเกิน! อ่อนหัดเกินกว่าจะรู้จักรัก…
นอกเหนือจากความสัมพันธ์ของทั้งคู่แล้ว แม้กระทั่งทิวทัศน์บนดาว B612 ที่มีภูเขาไฟ 3 ลูก ลูกหนึ่งดับสนิท แต่อีก 2 ลูก ยังคุกรุ่น ก็ยังได้แรงบันดาลใจมาจากเมืองบ้านเกิดของคอนซูเอโล ซึ่งเมื่อมองออกไปนอกหน้าต่างบ้าน เธอจะมองเห็นภูเขาไฟ 3 ลูก
หลังการหายสาบสูญของแซงเตก-ซูเปรี ในเดือนก.ค. 1944 คอนซูเอโล ได้เขียนบันทึกรำลึกถึงสามีผู้จากไป โดยใช้ชื่อว่า “The Tale of the Rose” หรือ ตำนานแห่งดอกกุหลาบ ซึ่งบันทึกเล่มนี้ถูกเก็บไว้ในหีบที่บ้านของเธอ จนหลังจากที่คอนซูเอโลเสียชีวิตไปแล้ว บันทึกเล่มนี้ จึงถูกค้นพบ และได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี วันคล้ายวันเกิดของแซงเตก-ซูเปรี เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ปี 2000
อีก 13 ปีต่อมา ข้ามฟากไปที่มหานครนิวยอร์ก พิพิธภัณฑ์และหอสมุดมอร์แกน ได้จัดงานนิทรรศการรำลึกครบรอบ 70 ปี การจัดพิมพ์หนังสือ “เจ้าชายน้อย” ซึ่งในงานนิทรรศการนี้เอง ได้มีการเปิดเผยเรื่องราวความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง ระหว่างแซงเตก-ซูเปรี กับหญิงสาวคนหนึ่ง ที่เชื่อกันว่า เธอคือ ‘สุนัขจิ้งจอก’ ในหนังสือเจ้าชายน้อย
เจ้าชายน้อยกับสุนัขจิ้งจอก
ซิลเวีย ฮามิลตัน ไรน์ฮาร์ท หญิงสาวผมสีทองชาวอเมริกัน พบหน้าแซงเตก-ซูเปรี ครั้งแรกในงานเลี้ยงงานหนึ่งที่นิวยอร์ก เธอพูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ จึงบอกกับเพื่อนที่พูดฝรั่งเศสได้ว่า “เดินไปบอกกับเขาที ฉันชอบเขานะ”
“มาเล่นกับฉันสิ” เจ้าชายน้อยชวน “ฉันกำลังใจเศร้าใจมาก…”
“ฉันเล่นกับเธอไม่ได้หรอก ฉันยังไม่ถูกทำให้เชื่อง” สุนัขจิ้งจอกตอบ
“ทำให้เชื่อง แปลว่าอะไร”
“เป็นสิ่งซึ่งมักถูกลืม” สุนัขจิ้งจอกกล่าว “มันคือการสร้างความสัมพันธ์… ถ้าเธอทำให้ฉันเชื่อง ชีวิตของฉันก็จะสดใสขึ้น ฉันจะเรียนรู้ฝีเท้าของเธอซึ่งผิดจากเสียงอื่นทั้งหมด… เธอมีผมสีทอง ข้าวสาลีสีเหลืออร่ามจะทำให้ฉันหวนระลึกถึงเธอ… ได้โปรดเถิด จงทำให้ฉันเชื่อง”
แม้จะมีกำแพงของภาษา แต่ทั้งคู่ก็พัฒนาความสัมพันธ์กันอย่างรวดเร็ว แซงเตก-ซูเปรี มักไปหาซิลเวียที่บ้าน พร้อมกับอวดต้นฉบับหนังสือและภาพวาดที่เขาเขียนขึ้น ขณะที่ซิลเวียเอง ก็รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเคาะประตูยามค่ำ
“เธอควรจะมาในเวลาเดียวกันเสมอ” สุนัขจิ้งจอกกล่าว “เป็นต้นว่า ถ้าเธอเคยมาตอนบ่ายสี่โมง ประมาณสักบ่ายสามโมงฉันก็เริ่มเป็นสุขแล้ว”
เชื่อกันว่า ซิลเวีย ผู้มีผมสีทองเช่นเดียวกับเจ้าชายน้อย เป็นคนให้คำแนะนำเรื่องความรักแก่แซงเตก-ซูเปรี
“จงกลับไปดูดอกกุหลาบเหล่านั้น เธอจะเข้าใจในที่สุดว่า ดอกกุหลาบของเธอ มีอยู่ดอกเดียวในโลก…เวลาที่เธอเสียไปให้ดอกกุหลาบของเธอ ทำให้ดอกกุหลาบนั้นมีค่ามากขึ้น”
และเชื่อกันว่า ซิลเวีย ผู้นี้เอง ที่เป็นเจ้าของประโยคอมตะในหนังสือเรื่องเจ้าชายน้อย
“เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญนั้น ไม่อาจเห็นได้ด้วยตา”
ไม่นานหลังจากนั้น แซงเตก-ซูเปรี กลับไปคืนดีกับคอนซูเอโล และวันหนึ่ง เขากลับมาเยี่ยมซิลเวีย พร้อมกับกล่าวว่า “ผมอยากให้ของขวัญชิ้นใหญ่กับคุณ แต่เท่าที่ผมมีก็คือสิ่งนี้”
และสิ่งนั้นคือ ต้นฉบับของหนังสือเรื่องเจ้าชายน้อย
หลังจากนั้นไม่นาน แซงเตก-ซูเปรี ขับเครื่องบินขึ้นเพื่อปฏิบัติภารกิจลาดตระเวณในฝรั่งเศส เครื่องบินของเขาไม่เคยกลับมานับจากนั้น และแซงเตก-ซูเปรี ไม่มีโอกาสได้รับรู้ว่า นิยายรักจากดาว B612 ของเขา ได้กลายเป็นหนังสือในดวงใจของคนทั้งโลก
………….
(หมายเหตุ – ประโยคตัวเอนในอัญประกาศ คัดลอกมาจากหนังสือ ‘เจ้าชายน้อย’ แปลโดย อำพรรณ โอตระกูล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์จินด์)