- ‘ความสุขไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่เป็นต้นทางของความสำเร็จ’
- หนังสือ THE HAPPINESS ADVANTAGE เป็นดังกุญแจไขไปสู่เป้าหมายที่มุ่งหวังให้สำเร็จ ผ่านหลักการ 7 ข้อสำคัญ อันเป็นวิธีปรับความคิดและการกระทำ เริ่มต้นด้วยรู้จักจิตวิทยาเชิงบวกด้วยกลยุทธ์ ‘สุขไว้ก่อน’ เป็นอันดับแรก
- ความสุขจะกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมน ที่ช่วยให้ได้เปรียบในการแข่งขัน ทำให้รู้สึกดีและช่วยจัดระบบข้อมูลการเรียนรู้ ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ วิเคราะห์แก้ไขปัญหายากๆ ทำให้คนคิดบวกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นฝ่ายได้เปรียบ
สิ่งเดียวที่พี่ชายวัย 7 ขวบจะคิดได้ ก่อนที่เอมีจะปล่อยโฮ เพราะอุบัติเหตุตกจากเตียงชั้น 2 ลงมาในท่าคลานสี่เท้า ใช้เข่ายันพื้น คือบอกเธอว่า ไม่มีมนุษย์คนไหนตกลงไปในท่าคลานสี่เท้าแน่นอน เธอเป็นยูนิคอร์น! แน่นอนว่าพี่ชายโกหก แต่มันได้ผล เธอสับสน เสียงสะอื้นติดอยู่ในคอ และนาทีนั้นมันระงับเสียงร้องไห้ของน้องสาววัย 5 ขวบได้ เพราะสิ่งที่เอมีต้องการมากที่สุด ก็คือการยอมรับว่าเธอคือยูนิคอร์นแสนวิเศษ เหตุการณ์เกิดขึ้นภายใต้แววตาขัดแย้ง จากการที่สมองพยายามจะตัดสินความเจ็บปวดหรือตัวตนใหม่ในฐานะยูนิคอร์น ปรากฏว่าอย่างหลังชนะ เอมียิ้มกว้างและปีนกลับขึ้นไปบนเตียงด้วยความภูมิใจที่ได้เป็นยูนิคอร์นตัวน้อย
เรื่องเล่านี้เป็นเรื่องจริงในวัยเด็กจากผู้เขียนหนังสือ THE HAPPINESS ADVANTAGE ที่กำลังบอกเราว่า หน่วยประมวลผลในสมองของมนุษย์เปลี่ยนความจริงไปตามวิธีคิดได้ ดังที่เคยได้ยินกันมาบ้างว่า หลายๆ ครั้ง ยาหลอกก็ให้ผลลัพธ์ในการรักษาไม่ต่างจากยาจริง นั่นเพราะมนุษย์มีพลังความคิดและความเชื่อที่บันดาลเรื่องราวได้อย่างน่าเหลือเชื่อ
คำถามชวนคิดว่า ความสุขกับความสำเร็จอะไรเกิดก่อนกัน เปิดประเด็นไว้ตั้งแต่บนปกหนังสือแบบยิงตรงมาที่คนมุ่งความสำเร็จและใฝ่หาความสุข แต่ไม่เคยหาคำตอบมาก่อนหรือก่อนหน้านั้นอาจเข้าใจกันมาตลอดว่า ความสำเร็จเท่านั้นจะนำความสุขมาให้ แต่เมื่ออ่านหนังสือ จะพบว่า ‘ความสุขไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่เป็นต้นทางของความสำเร็จ’ ทำให้เราเองได้แง่มุมดีๆ จากการอ่าน จนเปรียบความสุขเป็นดังกุญแจไขไปสู่เป้าหมายที่มุ่งหวังให้สำเร็จ ผ่านหลักการ 7 ข้อสำคัญ อันเป็นวิธีปรับความคิดและการกระทำ เริ่มต้นด้วยรู้จักจิตวิทยาเชิงบวกด้วยกลยุทธ์ ‘สุขไว้ก่อน’ เป็นอันดับแรก
แม้หลักการจาก THE HAPPINESS ADVANTAGE จากสำนักพิมพ์ WE LEARN จะไม่ใช่ฮาวทูโดยตรง แต่สอนให้เข้าใจและใช้จิตวิทยาเชิงบวก ที่ SHAWN ACHOR ผู้เชี่ยวชาญด้านศักยภาพของมนุษย์และอดีตอาจารย์พี่เลี้ยงในฮาร์วาร์ดที่มีประสบการณ์ 12 ปี ได้ศึกษางานของนักวิจัยคนสำคัญๆ และวิชาเปิดสอนกับนักศึกษาฮาร์วาร์ด มานำเสนอเป็นเนื้อหา 3 ส่วนในเล่ม เป็นแนวคิดส่งผลต่อคนรอบข้าง เป็นการเชื่อมโยงความสุขกับประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่างๆ เพื่อยกระดับความสำเร็จระดับบุคคลและองค์กร เพราะแม้แต่นักศึกษาฮาร์วาร์ดที่ทั้งฉลาดและเก่ง กลับเป็นผู้ไม่มีความสุขแบบเรื้อรัง อีกทั้งเกือบครึ่งหนึ่งซึมเศร้าจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่ง ‘ภาวะไร้ความสุข’ แบบนี้ ยังเกิดขึ้นกับคนทำงานกว่าร้อยละ 45 จากการสำรวจเมื่อปี 2010 ของสถาบันวิจัยคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด
หากเทียบกับความสุขของคนไทยสำรวจเมื่อปี 2563 พบว่าปัจจัยความสุขขึ้นอยู่กับ สุขภาพ การงานมั่นคง ไม่มีหนี้สินนอกระบบ และครอบครัวมีเวลาให้กันเพียงพอ โดยองค์ประกอบด้านสุขภาพจิตที่อ่อนแอที่สุดคือ สมรรถภาพของจิตใจ อยู่ที่ร้อยละ 64.3 ทำให้เห็นความจำเป็นของการใช้จิตวิทยาเชิงบวก มาเพิ่มความสามารถในการฟื้นฟูจิตใจตัวเอง เพิ่มความสำเร็จและประสิทธิภาพให้ขึ้นไปอยู่เหนือค่าเฉลี่ยมาตรฐานสุขภาพจิต และต่อไปนี้เราจะท่องไปกับบางส่วนของ 7 หลักการ จากหนังสือ ได้แก่
1.กลยุทธ์สุขไว้ก่อน
2.คานและจุดหมุน
3.ปรากฏการณ์เตตริส
4.การล้มเพื่อก้าวหน้า
5.วงกลมโซโร
6.กฎ 20 วินาที
7.การลงทุนทางสังคม
คิดบวกตามนิยามของวิทยาศาสตร์ความสุข
วิทยาศาสตร์ด้านความสุข อธิบายถึงความสุขว่าเป็นความรู้สึกเชิงบวกจากความพึงพอใจ การรู้สึกว่าตัวเองมีความหมายและเป้าหมาย บางคนเลือกใช้คำว่า ‘การคิดบวก’ โดยบาร์บาร่า เฟรดริกสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงบวกอันดับต้นๆ ของโลก จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ระบุว่า ความยินดี ความขอบคุณ ความสงบ ความหวัง ความภูมิใจ แรงบันดาลใจ และความรัก เป็นความรู้สึกเชิงบวกที่พบบ่อยที่สุด และความรู้สึกดีๆ เหล่านี้เป็นส่วนผสมของความสำเร็จ โชคดีที่การตั้งคำถามต่อด้วยวิทยาศาสตร์ เป็นแว่นขยายผลการทำงานของสมองและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตรงกับที่นักจิตวิทยาเคยระบุว่า
ความรู้สึกเชิงลบจะจำกัดความคิดและตัวเลือกการแสดงออก เช่น เหลือแค่ ‘สู้’ หรือ ‘หนี’ แต่ความรู้สึกเชิงบวกจะขยายขอบเขตและสร้างเสริมตามทฤษฎี ซึ่งเป็นกลไกทางชีววิทยา
ความสุขจะกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมน ที่ช่วยให้ได้เปรียบในการแข่งขัน หรือกระตุ้นโดพามีนและเซโรโทนินออกมา ฮอร์โมนทั้งสองเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกดี และช่วยจัดระบบข้อมูลการเรียนรู้ จดจำและดึงข้อมูลออกมาใช้ได้เร็ว และช่วยให้เซลล์ประสาทในสมองเชื่อมโยงกัน ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ วิเคราะห์แก้ไขปัญหายากๆ ทำให้คนคิดบวกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นฝ่ายได้เปรียบ โดยแนะนำวิธีการยกระดับความสุขหรือคิดบวก จากการทำสมาธิอย่างน้อยวันละ 5 นาทีอย่างสม่ำเสมอ การค้นหาสิ่งที่ตั้งตารอ เช่น ชมภาพยนตร์ที่อยากดู กำหนดวันพักร้อนลงในปฏิทิน ทำความดีด้วยความตั้งใจ ลดการติดตามข่าวสารเชิงลบ การเดินเล่นในที่อากาศสดใสสัก 20 นาที ออกกำลังกาย จ่ายเพื่อคนอื่นบ้าง และใช้คุณลักษณะเด่นของตนเอง เช่น ความรักในการเรียนรู้ พาเราออกไปหาสิ่งใหม่มาเติมพลังบวกในชีวิต
จุดหมุนของอาร์คิมิดีสกับเกมเตตริสเกี่ยวข้องกับ ‘การตีความของสมอง’
อาร์คิมิดีส นักวิทยาศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ชาวกรีกผู้มีชีวิตสมัยก่อนคริสตกาล คิดสูตรคานและจุดหมุนไว้ว่า คานที่ยาวพอและตำแหน่งยืนที่ดี สามารถขยับโลกทั้งใบได้ เป็นอีกมุมมองที่ ‘ชอว์น’ ผู้เขียนยกตัวอย่างเทียบให้เห็นผลของการเปลี่ยนจุดหมุนว่าทำให้คานมีพลังมากขึ้นและพร้อมยกทุกอย่าง เทียบกับการเปลี่ยนวิธีคิดก็เป็นเช่นเดียวกับการเปลี่ยนจุดหมุน
การทดลองเปลี่ยนจุดหมุนคานอย่างหนึ่ง ท้าทายแนวคิดทางฟิสิกส์ที่ว่า ‘เวลาเดินไปในทิศทางเดียว’ แต่เอลเลน แลงเกอร์ พิสูจน์ว่าอาจไม่เป็นเช่นนั้น จากการนำชายวัย 75 ปี กลุ่มหนึ่งเข้าสู่การทดลองเมื่อปี 1979 โดยให้ย้ายเข้าสถานพักฟื้น 1 สัปดาห์ แล้วออกแบบสิ่งแวดล้อมในที่พักให้เหมือนชีวิตในปี 1959 เพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าทดลองมองโลกย้อนหลังไป 20 ปี ผลการทดลองนี้ เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับเราไปด้วย เพราะชายวัย 75 ในการทดลอง สามารถเคลื่อนไหวร่างกายและมีแรงบีบมือดีขึ้น สายตาดีขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็น อีกทั้งความจำดีขึ้น ค้านกับสิ่งที่เราเชื่อกันมาตลอดว่า ระดับสติปัญญาจะคงที่และไม่เปลี่ยนเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และพิสูจน์ว่าการตีความของสมอง มีอิทธิพลต่อกระบวนการแก่ลงของร่างกาย
ต่อมาคือ ปรากฏการณ์เตตริส เป็นผลจากความสามารถแบ่งแยกเรื่องแย่ๆ กับเรื่องดีๆ ผ่านความเข้าใจการทำงานของสมองเมื่อเล่นเกมเตตริส หรือเกมจัดเรียงตัวต่อลักษณะต่างๆ ที่ตกลงมาจากด้านบนจอ ให้ผู้เล่นหมุนขยับตำแหน่งโดยมีเป้าหมายเดียวคือ จัดเรียงให้ตัวต่อเป็นเส้นตรง เป็นเกมที่ผู้เล่นเห็นภาพติดตาหรือติดอยู่ในกับดักวิธีคิดเดิมๆ ไม่ต่างจากการเล่นเตตริส ช่วยอธิบายการทำงานของสมองว่ามันเป็นเครื่องกรองข้อมูล หรือ เลือกรับรู้สิ่งที่ตัวเองมองหา หรือมักจะเห็นสิ่งที่ตัวเองมองหาในทุกที่ ตรงกับการทดลองของนักจิตวิทยา เรียกว่า ‘ตาบอดเพราะความไม่ใส่ใจ’
ครั้งนั้นผู้เข้าทดลอง 46 เปอร์เซ็น มองไม่เห็นคนใส่ชุดกอริลลาที่เดินผ่านกล้องนานถึง 5 วินาที เพราะมัวแต่เฝ้านับจำนวนการรับส่งลูกของนักบาสเกตบอลตามโจทย์ที่ได้รับ แสดงถึงปรากฏการณ์เตตริสเชิงลบ แต่พลังของปรากฏการณ์เตตริสเชิงบวกเกิดขึ้นได้เช่นกัน จากการตั้งค่าสมองให้มองหาและสนใจในเรื่องดี ซึ่งมี 3 องค์ประกอบคือ ความสุข ความรู้สึกขอบคุณ และการมองโลกแง่ดี
หนังสือแนะนำให้ทำแบบฝึกหัดสิ่งดีๆ 3 อย่าง ด้วยการเขียนบันทึกสั้นๆ เกี่ยวกับประสบการณ์ดีๆ โดยพบว่าผู้ที่เขียนบันทึกเพียง 1 สัปดาห์ ก็สามารถวัดความสุขได้มากขึ้นและซึมเศร้าน้อยลง หรือแสดงว่าบันทึกจากการที่สมองกรองหาสิ่งดีๆ มีประสิทธิภาพและลดอาการป่วยได้
การพัฒนาจาก ‘ล้มเพื่อก้าว’ และขีดความสามารถนอก ‘วงกลมโซโร’
มีคนจำนวนไม่น้อยใช้เรื่องที่เคยเลวร้ายมาก่อน ขยายขีดความสามารถของตัวเอง แล้วเรียกสิ่งนั้นว่า ‘ล้มเหลวเพื่อก้าวหน้า’ หนังสืออธิบายให้เห็นว่า สมองมนุษย์เป็นนักเขียนแผนที่ เพื่อค้นหาเส้นทางความสำเร็จ โดยแขวนการตัดสินใจไว้กับ ‘จุดที่ตัวเองอยู่’ และผู้คนมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น หากมองความล้มเหลวเป็นโอกาส
ในทางตรงข้าม หากมองความล้มเหลวเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดในโลก ความล้มเหลวจะกลายเป็นสิ่งจองจำบุคคลนั้นไว้
ในความเป็นจริงก็มีคนจำนวนมาก เคยสัมผัสช่วงเวลาผิดพลาด ใช้ ‘ผิดเป็นครู’ เป็นบทเรียนหรือแก้ไขสถานการณ์ได้ดีขึ้นเมื่อผ่านปัญหานั้นมาแล้ว มันยังเชื่อมไปถึงการจัดการเป้าหมายเล็กๆ ไปสู่เป้าหมายใหญ่ขึ้น เปรียบตัวเองเป็นวงกลมวงแรก หรือ ‘วงกลมโซโร’ เทียบกับตำนานฮีโร่สวมหน้ากากโซโร ของดินแดนตะวันตกเฉียงใต้ในอเมริกา แต่อีกด้านหนึ่งกล่าวถึงโซโรว่า ก่อนจะกลายเป็นบุรุษผู้มีทักษะชั้นยอด เขาเป็นเพียงคนหุนหันพลันแล่นและไร้ความอดทน แม้ปรารถนาจะผดุงความยุติธรรมปราบคนเลว แต่ความอยากสำเร็จทันที ยิ่งทำให้ชายหนุ่มยิ่งไร้ความสามารถและอ่อนแอ ติดเหล้าและสิ้นหวัง จนกระทั่ง ‘ดอน ดิเอโก’ มองเห็นศักยภาพและรับเป็นศิษย์ ด้วยเงื่อนไขให้ชายหนุ่มฝึกอยู่ภายในวงกลมเล็กๆ เท่านั้น วันคืนผ่านไป เขาต่อสู้อยู่ภายในวงกลมได้อย่างคล่องแคล่ว จนรู้ระดับทักษะและเชื่อในความสามารถของตัวเอง เป็นการเอาชนะวงกลมวงแรกสู่การสร้างตำนานโซโรในที่สุด
การเชื่อมความเข้าใจด้วยเรื่องเล่าแบบนี้ เราว่าเป็นพลังให้กับคนที่เชื่อว่าตัวเองเป็นผู้ควบคุมกำหนดอนาคตตัวเอง พยายามกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนมันผลิดอกออกผล มั่นใจจนสามารถขยายวงกลมนั้นออกไปเรื่อยๆ สิ่งสำคัญของกระบวนการคิดเชิงบวกนี้ คือการเป็นยอดนักดาบของโซโรไม่ได้ได้มาเพียงข้ามคืน ความสำเร็จก็ต้องอาศัยการก่อร่างจากความทุ่มเทพยายาม ที่มีความคิดบวกเป็นเครื่องหนุน
กฎ 20 วินาทีและการลงทุนทางสังคม
ประสบการณ์การศึกษาของผู้เขียน แสดงว่ามนุษย์เป็นแหล่งรวมความเคยชินกับการทำสิ่งต่างๆ โดยอัตโนมัติ จนมันหลอมรวมเป็นพฤติกรรม ในหัวข้อการลงมือทำวันละนิดหรือพัฒนาวันละนิด จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสมองและวิถีของประสาท หรือนิยามว่า ‘กฎ 20 วินาที’ ที่ผู้เขียนสังเกตว่า ตนฝึกกีต้าร์ได้สำเร็จเมื่อขยับกีต้าร์มาไว้ใกล้ตัว แทนที่จะต้องเสียเวลาเดินไปหยิบ 20 วินาที ช่วงเวลาที่ดูน้อยนิดสามารถอธิบายใช้พลังใจเล็กๆ น้อยๆ แต่มีผลกับความสำเร็จของมนุษย์ ขณะเดียวกันพลังใจที่ถูกทดสอบตลอดเวลา มีแนวโน้มหมดไปก่อนที่จะทำสำเร็จ นั่นทำให้เกิดข้อสรุปว่าการเพาะบ่มนิสัยหรือความสามารถใหม่ ต้องขจัดขั้นตอนที่ยุ่งยากหรือกินเวลาออกไป เพราะสมองจะหาทางทำสิ่งที่คิดว่าง่ายที่สุด
ปิดท้ายที่ ‘การลงทุนทางสังคม’ ให้ความสำคัญกับแรงสนับสนุนจากคนรอบข้างว่าเป็นสิ่งมีคุณค่า ซึ่งหลักการนี้ เหมาะกับการทำงานยุคใหม่ ที่มีความท้าทายและความเครียด กล่าวคือจะรอดหรือจะรุ่ง ก็ขึ้นอยู่กับการคนในสังคมรอบข้างที่ตัวเองมีด้วย
วงคลื่นผิวน้ำแผ่ออกไปอยู่เสมอ
ส่วนที่ 3 ของหนังสือเปรียบเปรยถึงวงคลื่นผิวน้ำให้เห็นภาพชัด กล่าวถึงเรื่องการรับประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงของเราสู่ผู้คนรอบข้าง เพราะการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับคนรอบข้าง ทำให้เกิดการสนับสนุนทางจิตใจ ปฏิสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้ออกซิโทซินหลั่งออกมา ลดความวิตกกังวลและสร้างสมาธิ แต่คนที่ขาดปฏิสัมพันธ์อาจทำให้ความดันโลหิตสูงถึง 30 มิลลิเมตรปรอท ส่วนผู้ที่มีความสัมพันธ์เพียงผิวเผิน มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า 2-3 เท่า มันทำให้เรามองเห็นไปด้วยว่า เรารับส่งพฤติกรรมกันไปมาในทุกทิศทาง
ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องกับเรา เช่น เพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิท และครอบครัว จะรับทัศนคติและพฤติกรรม แม้แต่อารมณ์เชิงบวกที่ส่งต่อยังไปคนข้างๆ
ตลอดเวลาการอ่านหนังสือ THE HAPPINESS ADVANTAGE เราเห็นเรื่องราวส่วนดีๆ ที่มาจากความคิดเชิงบวกและเห็นผลกระทบจากความคิดเชิงลบที่มีอำนาจทั้ง 2 ขั้ว ขั้วลบเป็นดังโดมิโนตัวแทนชีวิตจิตใจล้มครืนลงทั้งกระดานในเวลาไม่กี่นาที ขั้วบวกเป็นเหมือนตัวต่อเลโก้ นวัตกรรมของเล่นแห่งยุคสมัยสร้างสรรค์จินตนาการได้ไม่รู้จบ เป็นอำนาจความคิดคล้ายกับ AS A Man Thinketh ของ JAMES ALLEN นักเขียนด้านปรัชญาชื่อก้องที่เสนอมาตั้งแต่ 100 กว่าปีที่แล้วว่า ความคิดกำหนดชีวิต จะสำเร็จหรือล้มเหลว ล้วนเป็นผลจากความคิดที่มีพลังกว่าที่เราจะคิดถึงหรือตีกรอบได้ เช่นเดียวกับที่เราไม่สามารถประเมินศักยภาพแท้จริงของตัวเองว่ามันสิ้นสุดที่ใด แต่หากทำให้ความสุขเป็นศูนย์กลาง โอกาสที่ความสำเร็จจะหมุนรอบตัวเราก็มีสูงมากขึ้นเท่านั้น