- ครอบครัวที่ลัก (Shoplifters) เป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่นแนวดรามาในปี 2018 ที่คว้ารางวัล ‘ปาล์มทองคำ’ ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 71
- ประเด็นสำคัญที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งคำถามก็คือนิยามของคำว่า ‘ครอบครัว’ แท้จริงแล้วครอบครัวคืออะไร และจะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถเลือกคนในครอบครัวได้ด้วยตัวเอง
- สำหรับแฟนภาพยนตร์ของ Hirokazu Kore-Eda ผู้กำกับชื่อดังชาวญี่ปุ่น (Nobody Knows, Like Father Like Son) นี่คืออีกหนึ่งผลงานมาสเตอร์พีซที่คุณไม่ควรพลาด
ตอนเด็กๆ เวลาทะเลาะกับพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิด ผมมักถูกพ่อแม่นำไปเปรียบเทียบกับลูกของคนอื่น ในทำนองว่า “ทำไมฉันถึงไม่มีลูกดีๆ แบบนั้นบ้าง” “อิจฉาพ่อแม่ของ xxx (ชื่อของลูกคนอื่น) จังที่มีลูกดีขนาดนี้”
แม้จะเป็นคำพูดที่ไม่ได้ตั้งใจและปล่อยให้อารมณ์พาไป แต่ในมุมของผม…นี่คือหนึ่งในคำพูดที่เจ็บปวดที่สุด
ผมเชื่อว่าตัวเองไม่ใช่ผู้โชคร้ายเพียงคนเดียวที่เจอเหตุการณ์ในลักษณะนี้ และหลายคนคงอาจเคยคิดเล่นๆ เหมือนผมว่า “ถ้าเลือกพ่อแม่ได้บ้าง…ก็คงดี”
ผมหวนคิดถึงเรื่องเหล่านี้อีกครั้ง หลังได้ชมภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 71 เรื่องครอบครัวที่ลัก (Shoplifters) ของผู้กำกับชื่อดังอย่าง Hirokazu Kore-Eda ที่ฝากผลงานมาสเตอร์พีซมาแล้วมากทาย ทั้ง Nobody Knows, Still Walking และ Like Father Like Son ฯลฯ
1
ครอบครัวที่ลักได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในญี่ปุ่น นำเสนอเรื่องราวของ ‘ครอบครัวชิบาตะ’ ที่พา ‘ยูริ’ เด็กหญิงตัวน้อยที่ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวในห้องเช่าแคบๆ ที่ทั้งหนาวเหน็บและไม่มีอาหาร มากินข้าวเย็นที่บ้าน
คนที่ตกใจและไม่พอใจที่สุดหลังเห็น ‘โอซามุ ชิบาตะ’ นำยูริมาที่บ้านก็คือ ‘โนบุยะ ชิบาตะ’ ผู้เป็นภรรยาของเขา แม้เธอจะรับได้ที่สามีชอบลักขโมยสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตมาขาย แต่การนำลูกคนอื่นที่ไม่รู้จักมาที่บ้านโดยพ่อแม่ของอีกฝ่ายไม่รับรู้ ต่อให้จะอ้างเรื่อง ‘ความหวังดี’ ทว่าในทางกฎหมายเรียกสิ่งนี้ว่าการลักพาตัว
อย่างไรก็ตาม คำทัดทานของโนบุยะกลับไม่เป็นผล เพราะสมาชิกคนอื่นในบ้าน โดยเฉพาะ ‘คุณย่า’ กลับเห็นด้วยที่จะเลี้ยงข้าวเย็นยูริ แล้วค่อยพาเธอกลับไปส่งที่บ้าน
ระหว่างที่รับประทานอาหาร คุณย่าพบว่าที่ตัวของเด็กน้อยเต็มไปด้วยร่องรอยของบาดแผลและการทำร้ายร่างกาย ทำให้ครอบครัวชิบาตะรู้สึกสงสารหนูน้อยคนนี้ยิ่งขึ้น
หลังมื้อค่ำ ก็ถึงเวลาส่งยูริกลับบ้าน ทว่าเรื่องราวกลับไม่ง่ายอย่างนั้น เมื่อสองสามีภรรยาพบว่าพ่อกับแม่ของเด็กกำลังทะเลาะกันอย่างหนักถึงขั้นลงไม้ลงมือ ทำให้ทั้งคู่จนใจพายูริกลับมาเลี้ยงดูที่บ้านอีกครั้ง ก่อนกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ทั้งงดงามและแหลกสลาย
2
เมื่อพายูริมาเลี้ยงดูในลักษณะสถานการณ์พาไปเช่นนี้ โนบุยะจึงต้องกลายเป็นแม่จำเป็นให้กับยูริ ซึ่งคืนแรก ยูริก็ทดสอบ ‘แม่มือใหม่’ ด้วยการปัสสาวะรดที่นอนตามประสาเด็กอนุบาล ซึ่งพอโนบุยะรู้ เธอก็รีบนำที่นอนออกไปซักให้ทันที โดยไม่ใช้กำลังหรือดุด่ายูริสักคำ หนำซ้ำคุณย่ายังออกโรงช่วยแก้ปัญหานี้ด้วยการเอา ‘เกลือ’ มาให้หนูน้อยเลีย (วิธีแก้อาการปัสสาวะรดที่นอนของคนสมัยโบราณ)
ท่ามกลางความดำมืดของการลักพาตัว ผมพบว่าภาพยนตร์ได้ทยอยผสมสีขาวลงไปอย่างแนบเนียน จนโทนหนังออกเป็นสีเทาๆ เพราะถึงครอบครัวของโนบุยะจะชอบขโมยของหรือขัดสนเงินทองยังไง แต่พวกเขากลับดูแลและเติมความรักความอบอุ่นให้แก่ยูริตลอดเวลา ทั้งการพูดคุยหยอกล้อ การทำอาหารอร่อยๆ ที่ยูริชอบ พาเธอไปลองเสื้อผ้าสวยๆ (ก่อนขโมยไปอย่างแนบเนียน) รวมถึงทริปเที่ยวทะเลอันแสนสนุก ทำให้ใบหน้าของยูริเต็มไปด้วยรอยยิ้มและชีวิตชีวาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ในมุมของโนบุยะ ผมมองว่ายูริอาจเปรียบได้กับจิ๊กซอว์บางส่วนที่ช่วยเติมเต็มสิ่งที่หายไปในชีวิต อาจจะเป็น ‘ลูก’ เพราะโนบุยะเองก็เป็นหญิงวัยกลางคนที่ยังไม่มีลูกเป็นของตัวเอง หรือบางทีโนบุยะอาจกำลังเห็นภาพของตัวเองในวัยเด็ก
หนึ่งในฉากเล็กๆ ที่ผมประทับใจคือตอนที่โนบุยะพายูริไปอาบน้ำ แล้วทั้งคู่ต่างพบว่าตัวเองต่างมีแผลเป็นที่แขนเหมือนกัน และบังเอิญเหลือเกินว่าแผลนั้นเกิดจาก ‘เตารีด’ ด้วยน้ำมือของผู้ให้กำเนิด ซึ่งยูริแสดงความน่ารักของเธอด้วยการเอามือลูบแขนของโนบุยะราวกับต้องการให้แผลเป็นนั้นทุเลาลง
“โดนพ่อแม่ทำร้ายขนาดนั้นแท้ๆ ถ้ามีแม่ที่คิดว่าลูกไม่น่าจะเกิดมา ลูกก็คงโตมาเป็นผู้ใหญ่อย่างเรา” โนบุยะบอกสามีตอนกลางคืน หลังหวนนึกถึงแผลเป็นของยูริ
3
วันหนึ่งโนบุยะถามคุณย่าว่าเป็นไปได้ไหมที่ยูริเองก็เลือกเราเป็นครอบครัว ซึ่งคุณย่าตอบเพียงว่า “คนเราเลือกพ่อแม่ไม่ได้”
“แต่ถ้าเลือกได้(ครอบครัว) มันก็จะเหนียวแน่นขึ้น ใช่ไหมคะ” โนบุยะกล่าว
หลังจากฟังประโยคนี้ ผมสัมผัสว่านี่คือ ‘หัวใจสำคัญ’ ของภาพยนตร์ เพราะมันทำให้ผมหวนนึกถึงนิยามของครอบครัว พ่อแม่และลูก ว่าแท้จริงแล้วมันหมายความว่าอะไรกันแน่
อย่างกรณีของยูริที่ถูกพ่อแม่เอาเตารีดมาจี้แขนเพื่อระบายอารมณ์ การไม่มีเวลาให้ลูก การคิดว่ายูริเป็นภาระ การปล่อยลูกให้หิวโหยและนั่งอย่างเหน็บหนาวเพียงลำพัง หรือแม้แต่การไม่ยอมไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเรื่องลูกหาย (ต้องรอให้หน่วยงานสวัสดิการเยาวชนเป็นผู้ติดต่อกับทางตำรวจเอง) ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า แท้จริงแล้วการให้กำเนิดใครสักคนนั้น เพียงพอแล้วหรือไม่กับการเป็นพ่อคนแม่คน
ในทางกลับกัน ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมโนบุยะที่ดูเป็นคนหยาบกระด้างกลับ ‘เข้าอกเข้าใจ’ ว่ายูริต้องการอะไร และตอบสนองเธอด้วยสิ่งนั้น ตั้งแต่เรื่องอาหาร การแต่งตัว แม้กระทั่งการโอบกอดที่ยูริไม่เคยได้จากแม่ ทั้งที่โนบุยะเองไม่ได้เป็นแม่แท้ๆ แถมยังรู้จักกับยูริไม่ถึงสามเดือนด้วยซ้ำ
“ที่พวกเขาตบตีเธอ ไม่ใช่เพราะเธอเป็นเด็กไม่ดี ถ้าพวกเขาพูดว่าเขาตีเธอเพราะรัก พวกเขาโกหก ถ้าพวกเขารักเธอจริง ต้องทำแบบนี้” โนบุยะกล่าวพร้อมกับดึงยูริมากอดแนบอก
แม้จะมีอดีตอันเลวร้ายกับพ่อแม่ แต่ผมสัมผัสได้ว่าโนบุยะในวันนี้เติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง และยังจุดประกายความรักความอบอุ่นให้กับยูริได้ในแบบที่ลูกทุกคนพึงได้รับ
นอกจากการเรียนรู้ความเป็นแม่ของโนบุยะแล้ว เธอเองก็เรียนรู้การเป็น ‘ลูก’ ผ่านคุณย่าที่ให้ความรักความอบอุ่นเธอจริงๆ โดยภาพยนตร์พยายามสื่อให้เห็นว่าภูมิหลังของคุณย่านั้นก็มีความสลับซับซ้อนไม่แพ้กันกับเรื่องของยูริ
คุณย่าไม่ใช่แม่ของโอซามุ…ผู้เป็นสามี รวมถึงไม่ได้มีความผูกพันใดๆ ทางสายเลือดกับสองสามีภรรยา คุณย่าเป็นเพียงหญิงชราที่ถูกทิ้งอย่างโดดเดี่ยว ซึ่งโนบุยะพบกับคุณย่าท่านนี้โดยบังเอิญ ก่อนชักชวนให้คุณย่าย้ายมาอยู่ด้วยกัน
เมื่ออยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว คุณย่าก็ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ ให้เป็นภาระ กลับกันคุณย่ากลับเป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว โดยนำเงินสวัสดิการที่ได้ทุกเดือนจากสามีผู้ล่วงลับมาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แถมยังรับหน้าที่หาข้าวปลาอาหารให้กับทุกคนในบ้าน ราวกับเธอเป็นแม่และย่าของทุกคนจริงๆ
ตอนโนบุยะถกกับคุณย่าเรื่องการเลือกพ่อแม่ ผมสัมผัสได้ถึงไออุ่นระหว่างหญิงสาวและหญิงชราคนนี้ เพราะโนบุยะพยายามจะอธิบายให้คุณย่าเห็นว่าต่อให้ไม่มีสายเลือดเดียวกัน แต่เราก็สามารถสร้างสายใยรักระหว่างกันและกันได้ ซึ่งเธอเชื่อว่าสิ่งนี้เหนียวแน่นยิ่งกว่าความสัมพันธ์ที่เกิดจากสายเลือดแท้ๆ แต่ปราศจากความรัก
“สายใยเหรอ ถ้าเป็นแบบนั้น ฉันก็เลือกเธอเหมือนกัน” คุณย่ากล่าว
อีกฉากประทับใจคือตอนที่โนบุยะพาครอบครัว(ปลอมๆ)ไปเที่ยวทะเล ซึ่งระหว่างที่ทุกคนสนุกสนานกับคลื่นลม โนบุยะกลับเลือกนั่งอยู่กับคุณย่า ซึ่งคุณย่าก็ถือโอกาสนี้ย้ำเตือนความจริงให้โนบุยะตระหนักว่าความสุขแบบนี้จะอยู่ได้อีกไม่นาน
“ฉันรู้ค่ะ แต่บางทีมันคงดีกว่าถ้าเราเลือกครอบครัวของเราได้เอง จริงไหมคะ” โนบุยะกล่าว
ผมเองก็เช่นกัน ผมอดคิดไม่ได้ว่าถ้าคนเราเลือกพ่อแม่ได้จริงๆ ชีวิตของพ่อแม่หรือลูกๆ หลายคนน่าจะมีความสุขกว่านี้ หรือต่อให้เลือกครอบครัวแล้วไม่มีอะไรเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น อย่างน้อยมันก็ทำให้เราสามารถยอมรับตลกร้ายที่ชื่อว่า ‘ปัญหาภายในครอบครัว’ ได้ง่ายขึ้น
4
ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา ในที่สุดทุกคนก็ถูกตำรวจบุกจับกุมถึงบ้าน โดยโนบุยะให้การรับผิดแทนสามี (เนื่องจากสามีเคยต้องคดีอาญามาก่อน) แต่สิ่งสำคัญของฉากนี้คือการถกกันเรื่องความเป็นแม่ระหว่างโนบุยะกับเจ้าหน้าที่ที่ทำการสอบสวนถึงแรงจูงใจในการลักพาตัวยูริ
เจ้าหน้าที่ : เด็กทุกคนย่อมต้องการแม่ มันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว
โนบุยะ : นั่นเป็นสิ่งที่คนเป็นแม่มักจะคิด การเป็นผู้ให้กำเนิดมันทำให้คุณกลายเป็นแม่ได้เลยเหรอ
เจ้าหน้าที่ : แต่ถ้าคุณไม่ได้ให้กำเนิด คุณก็เป็นแม่ไม่ได้ ฉันรู้ว่าคุณทำใจไม่ได้ที่คุณไม่สามารถมีลูกได้ เป็นเพราะคุณอิจฉาเหรอถึงได้ไปลักพาตัวแกมา
โนบุยะ : บางทีฉันอาจจะเกลียดเธอก็ได้ แม่ของฉันน่ะ
จากบทสนทนานี้ ผมตีความว่าแม่ของโนบุยะน่าจะเป็นแม่ที่ร้ายกาจพอสมควร โดยเฉพาะการทำร้ายร่างกายโนบุยะด้วยเตารีด (แบบเดียวกับยูริ) ทำให้เธอโตขึ้นและอยากจะพิสูจน์ว่าการเป็นแม่ที่ดีควรจะเป็นยังไง
แต่ตลกร้ายของภาพยนตร์คือ การต้องยอมรับความจริงว่าต่อให้โนบุยะจะดีกับยูริมากแค่ไหน แต่เธอก็ไม่ใช่ ‘แม่’ หรือ ‘ครอบครัว’ ในทางกฎหมายของยูริ ดังนั้นผลสุดท้าย โนบุยะจึงถูก ‘พิพากษา’ จำคุกเป็นเวลา 5 ปี
หลังภาพยนตร์จบลง ผมครุ่นคิดอีกครั้งว่าความเป็นพ่อแม่ แท้จริงแล้วคืออะไร การเป็นผู้ให้กำเนิด แล้วนึกจะบังคับจิตใจหรือทำร้ายร่างกายลูกในนามของ ‘ผู้ให้กำเนิด’ อย่างไรก็ได้ใช่หรือไม่ และมนุษย์แท้จริงแล้วไม่สามารถเลือกครอบครัวได้จริงๆ เหรอ
เพราะอย่างน้อยในฉากสุดท้ายที่ยูริกลับไปอยู่กับแม่ก็ยังทิ้งร่องรอยอยู่ในความรู้สึก …ภาพของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกแม่ขึ้นเสียงใส่เพียงเพราะอยากหาคนเล่นด้วยจนเธอต้องหลบไปยืนซึมอยู่คนเดียวริมระเบียง ซึ่งภาพอันแสนหดหู่นี้ ได้ให้คำตอบบางอย่างกับผมว่า แท้จริงแล้วครอบครัวอาจไม่จำเป็นต้องมีสายเลือดเดียวกันเสมอ