Skip to content
ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์
Movie
6 September 2024

Pachinko (2022): อ่านผู้หญิงเกาหลีในนาม ‘ซุนจา’

เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • ‘Pachinko’ เป็นซีรีส์ที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตที่ยากลำบากของผู้อพยพชาวเกาหลีในญี่ปุ่น โดยเฉพาะในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาหลี โดย ‘ซุนจา’ ตัวละครหลักต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
  • ซีรีส์แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมเกาหลีและญี่ปุ่นในยุคนั้น ผู้หญิงถูกจำกัดโอกาสและต้องเผชิญกับความคาดหวังทางสังคมที่สูง เช่น การแต่งงาน การมีลูก และการดูแลครอบครัว นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างชาวเกาหลีและชาวญี่ปุ่น ซึ่งชาวเกาหลีถูกกดขี่และถูกมองว่าเป็นชนชั้นสอง
  • แม้จะต้องเผชิญกับความยากลำบากมากมาย แต่ซุนจาและครอบครัวก็ยังคงมีความหวังและพยายามต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งพวกเธอก็ถือเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา และพยายามสร้างชีวิตใหม่ในต่างแดน

***มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน***

ซีรีส์ Pachinko เป็นเรื่องราวของตระกูลหนึ่งซึ่งชาติกำเนิดเป็นชาวเกาหลี พวกเขาต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายทศวรรษและต้องระหกระเหินบ้านเกิดมาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีตัวเอกคือ ‘ซุนจา’ เด็กสาวที่เกิดในตระกูลคนธรรมดา พ่อของซุนจาเป็นผู้ทุพพลภาพที่ถูกคนในหมู่บ้านเมาท์ว่าไม่สามารถมีลูกได้แต่สุดท้ายครอบครัวก็ได้ให้กำเนิดซุนจา ฉากหลังในช่วงเวลาที่ซุนจาเติบโตนั้นอิงจากประวัติศาสตร์ในยุค 1930s ของประเทศเกาหลีซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ถูกจักรวรรดิญี่ปุ่นยึดครอง

ซีรีส์เล่าเรื่องโดยการตัดสลับไปมาระหว่างเรื่องราวในอดีตตอนที่ซุนจาเป็นเด็กช่วงปี 1930s จนถึงปัจจุบันปี 1989 ตอนที่ซุนจาเป็นคุณยาย มีลูกหลานเติบโตในประเทศญี่ปุ่นและไม่เคยได้กลับไปเยี่ยมประเทศบ้านเกิดเลยตั้งแต่ออกมา

ช่วงที่เราอยากหยิบมาเล่าคือช่วงที่ซุนจายังอยู่ในประเทศเกาหลี ซุนจาเสียพ่อไปตอนที่เธออายุประมาณ 10 ขวบ พ่อของเธอพยายามอยากให้เธอได้มีการศึกษาดีๆ แต่แม่มองว่าการเป็นผู้หญิงเรียนไปก็อาจไม่มีประโยชน์อะไรมาก เมื่อพ่อเสียไปก่อนซุนจาเลยไม่ได้รับการศึกษาที่เหมาะสม แต่ที่ผ่านมาเธอก็เติบโตมาในครอบครัวที่รักและดูแลเธออย่างดี พ่อเคยสอนอะไรหลายๆ อย่างให้เธอ ซุนจาจึงเติบโตมาเป็นเด็กผู้หญิงที่ฉลาด กล้าคิดกล้าพูด มีความมั่นใจในตัวเอง และกล้าปกป้องคนในครอบครัวตั้งแต่เด็ก 

ช่วงที่ซุนจาเป็นวัยรุ่นเธอปิ๊งกับชายหนุ่มเกาหลีแต่งตัวดี หน้าตาดีซึ่งทำงานให้กับจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ซุนจาเองก็ไม่แน่ใจว่าเขาเป็นคนดีหรือไม่ดี เพราะชาวบ้านเมาท์กันไปคนละอย่าง แต่สุดท้ายทั้งสองก็ตกหลุมรักกันและซุนจาเกิดตั้งท้องขึ้นมา ผู้ชายบอกว่า เขาแต่งงานมีลูกอยู่ที่ญี่ปุ่นแล้วและไม่สามารถแต่งงานกับเธอได้ แต่เขาเสนอว่าจะเลี้ยงดูเธอกับลูกให้อยู่ดีกินดีได้ 

ซึ่งในยุคสมัยนั้นการท้องโดยไม่แต่งงานถือเป็นเรื่องผิดบาปมาก สิ่งที่ชายหนุ่มบอกกับซุนจาจึงเท่ากับการให้เธอเลือกเสียศักดิ์ศรี ทำให้ครอบครัวกลายเป็นขี้ปากชาวบ้านแลกกับการอยู่ดีกินดีด้วยเงินที่ไม่แน่ใจว่าได้มาอย่างใสสะอาดหรือเปล่า สาวแกร่งและรักครอบครัวอย่างซุนจาเลยเลือกที่จะเชิดหน้าหนี 

ในคืนที่ซุนจาตัดสินใจบอกแม่ว่าตัวเองท้องไม่มีพ่อนั้น ด้วยความที่บ้านของเธอเป็นบ้านที่เปิดให้คนมาเช่าพัก ทำให้มีคนมากมายแวะมาอาศัยอยู่เรื่อยๆ ตอนนั้นมีบาทหลวงหนุ่มคนหนึ่งซึ่งกำลังนอนพักฟื้นอยู่ห้องข้างๆ บังเอิญได้ยินเรื่องทั้งหมด เมื่อเขาดีขึ้นจึงได้คุยกับซุนจาและเสนอทางแก้ปัญหาให้เธอโดยการแต่งงานแล้วย้ายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ญี่ปุ่นกับเขา

สุดท้ายซุนจากับแม่ตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้แม้จะต้องถูกบาทหลวงชาวคริสต์ผู้ทำพิธีแต่งงานให้ดุด่าว่าสิ่งที่ซุนจาทำนั้นเป็นบาปมาก สังคมจะตราหน้าหญิงโสดท้องโดยไม่ได้แต่งงาน รอยด่างดำนี้จะทำให้ว่าที่สามีของเธอซึ่งเป็นบาทหลวงและครอบครัวของเธอจะต้องเสื่อมเสียแปดเปื้อนไปด้วย และเขาได้บอกให้ซุนจาเฝ้าภาวนาไถ่บาปเพื่อพระเจ้าจะได้ให้อภัยเธอ

เหตุผลที่บาทหลวงหนุ่มช่วยเหลือซุนจาและแม่เพราะพวกเธอช่วยดูแลเขาในวันที่เกือบตายจากวัณโรค เขาน่าจะรู้สึกว่าทั้งสองเป็นคนดีเลยอยากตอบแทนบุญคุณ แล้วเขาก็บอกว่าได้คิดภาวนาอย่างดีว่าเป็นเรื่องที่สมควรทำ ซึ่งต่อมาบาทหลวงหนุ่มสามีของซุนจาก็เป็นอีกคนที่พยายามต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมของจักรวรรดิที่ปฏิบัติกับคนเกาหลีเหมือนเป็นทาสรับใช้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบาทหลวงหนุ่มคนนี้มีจิตใจที่อยากเปลี่ยนแปลงหรือช่วยเหลือผู้คนจริงๆ

ในคืนวันแต่งงานนั้น แม่ของซุนจาซื้อข้าวขาวที่หากินยากมากมาให้ซุนจา ในช่วงเวลานั้นข้าวขาวของเกาหลีจะถูกขายให้เฉพาะคนญี่ปุ่น ส่วนคนเกาหลีเองจะต้องกินข้าวบาเลย์หรือข้าวธัญพืชอื่นๆ ซึ่งมีรสชาติและสัมผัสไม่อร่อยเท่าข้าวขาว แม่ของซุนจาบอกพ่อค้าที่ตอนแรกไม่ยอมขายข้าวขาวให้เธอว่า ลูกของเธอกำลังจะแต่งงานและย้ายออกไปอยู่ประเทศอื่น เธอไม่มีของขวัญอื่นให้ลูกเลยจึงอยากให้ลูกได้กินข้าวขาวที่ปลูกในประเทศของตัวเอง เพื่อลูกจะได้มีประสบการณ์นั้นก่อนต้องเดินทางจากประเทศบ้านเกิดของตัวเองไป

ฉากนี้เป็นฉากที่เล็กน้อยเรียบง่ายมากแต่แสดงให้เห็นถึงหลายอย่าง ทั้งความรักของคนเป็นแม่ที่อยากให้ลูกกินสิ่งที่ดี ความเป็นชาตินิยมที่ถือว่าข้าวขาวในประเทศตัวเองนั้นดีที่สุดและการถูกกดขี่จากอีกฝ่ายนึงที่พ่อค้าต้องแอบขายข้าวขาวให้คนเกาหลีด้วยกันเหมือนขายยาเสพติด

ต่อมาเมื่อแม่มาส่งซุนจาที่ท่าเรือก่อนจะต้องย้ายไปอยู่ญี่ปุ่น แม่สั่งเสียเธอว่า

“แกไปที่นั่นห้ามทำพลาดทั้งในฐานะเมียและแม่ แกต้องไร้ที่ติที่สุดเข้าใจมั้ย 

แล้วก็ต้องทำดีกับครอบครัวสามีด้วย พวกนั้นอาจไม่ใจดีหรือโหดร้ายก็ต้องอดทนและสำนึกบุญคุณเขา การหาเลี้ยงปากท้องเพิ่มอีกคนไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงจะอุ้มท้องและอาจรู้สึกไม่ดีนักแต่แกต้องใส่ใจความต้องการทางร่างกายของสามีด้วย ต่อให้เป็นบาทหลวงก็ยังเป็นผู้ชายและต่อให้เป็นคนดีแค่ไหนก็เคยมีมาแล้วที่เมียท้องแล้วต้องไปหาไออุ่นจากผู้หญิงอื่น”

จากนั้นแม่ก็ยื่นแหวนที่เป็นของมีค่าที่สุดของครอบครัวให้ซุนจา เป็นแหวนที่คุณย่าของซุนจามอบให้ แม่ใส่ห่อแหวนไว้ในมือของซุนจาแล้วบอกว่าให้เธอเก็บไว้ให้ดี ไม่ต้องบอกสามีด้วย “ผู้หญิงอย่างเราจำเป็นต้องมีเงินซุกไว้หน่อย อาจเกิดเรื่องฉุกเฉิน เราไม่ได้มีทางเลือกเหมือนพวกผู้ชาย” ตอนแรกซุนก็อยากให้แม่เก็บไว้เอง แม่เลยบอกว่า 

“พ่อคงอยากให้ลูกรับไว้นะ เขาอยากให้ลูกมีชีวิตที่ดีมาก แม่น่ะอยากให้ลูกลงหลักปักฐานมั่นคงอยู่ที่นี่ แต่พ่อเขาอยากให้แกบินให้สูง วันข้างหน้าจะต้องยากลำบาก จะได้เจอกันอีกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ อาจจะนานมาก” 

เมื่อได้ยินแบบนั้นซุนจาก็ร้องไห้งอแงไม่อยากไป ความจริงแล้วเธอก็ยังเป็นเพียงเด็กน้อยคนนึงของแม่ที่จู่ๆ ก็ต้องกลายมาเป็นแม่คน แม่ของเธอเลยโอ๋ด้วยการกอดแล้วบอกว่า “ร้องไห้ออกมาให้หมด ถึงที่นั่นแล้วอย่าหลั่งน้ำตาให้ใครเห็นอีก” ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นซุนจาก็เป็นอย่างที่แม่ต้องการ เธอพยายามเข้มแข็งสุดๆ  และใช้ชีวิตต่อไป

พอดูซีรีส์นี้แล้วก็ทำให้เห็นใจคนในยุคสมัย Baby Boomer เหมือนได้เห็นภาพที่ชัดขึ้นว่าชีวิตของพวกเขามันก็ไม่ง่าย สิ่งที่ถูกปลูกฝังมาในยุคของเขานั้นมันต้องทรหดอดทนกัดฟันสู้อย่างเดียว แถมหลายคนยังต้องพลัดพรากจากครอบครัวตัวเอง จากบ้านเกิด เริ่มต้นใหม่โดยแทบไม่มีอะไร ต่างบ้านต่างภาษา บ้านเมืองก็ไม่ปลอดภัยบางครั้งแค่แสดงความคิดเห็นถึงจักรวรรดิญี่ปุ่นก็อาจถูกจับขังคุกและจบชีวิตง่ายๆ เหมือนชีวิตไม่มีค่า

โดยเฉพาะการเกิดมาเป็นผู้หญิงมันไม่เคยเป็นเรื่องง่ายเลย ทุกคำที่แม่บอกซุนจาคือการบอกให้เธออดทน ให้เธอทำดีที่สุด ถึงจะท้องก็ต้องทำให้สามีพอใจ ต้องดูแลบ้านสามีแม้พวกเขาจะใจร้ายใส่

มันทำให้เราเห็นถึงก้อนความกดดันอันมหึมาที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะต้องแบกเอาไว้บนหลังทั้งยังถูกตราหน้าว่าเป็นผู้หญิงบาปที่ท้องก่อนแต่งงาน ทั้งที่ตอนมีสัมพันธ์กันมันก็เกิดจากการยินยอมของทั้งสองฝ่ายแต่มีแค่ฝ่ายหญิงที่แปดเปื้อนและถูกเย็บคำว่าไม่ดีติดตัวเอาไว้ 

ไหนจะเรื่องที่ไม่อยากให้ผู้หญิงมีการศึกษา ซึ่งทำให้ผู้หญิงไม่มีทางเลือกเท่าผู้ชาย จะทำอะไรก็ต้องยอมเพราะผู้ชายเป็นฝ่ายหาเงินมาเลี้ยงดู และดูเหมือนว่าแม้จะผ่านมาเกือบจะ 100 ปีแล้วความเชื่อเหล่านี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่

เราชอบซีรีส์เรื่องนี้เพราะนอกจากจะได้เห็นเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวของซุนจาแล้ว มันยังพาไปดูบรรยากาศการเมืองที่เข้มข้นในช่วงที่เธออาศัยอยู่ว่ามันส่งผลต่อชีวิตครอบครัวทั้งตระกูลของเธอยังไง ทั้งความไม่เท่าเทียมในสังคม ได้เห็นการต่อสู้ดิ้นรนของผู้คนเพื่อจะมีชีวิตรอด การถูกเอาเปรียบจากชาติที่มายึดครอง การมีความเชื่อที่แตกต่างกันทำให้มีคนสะใจที่อีกฝ่ายถูกจบชีวิต  ได้เห็นว่าการมีอคติต่อกันทำให้ผู้คนถูกเผาทั้งเป็นไปมากมายแค่ไหน สามีบาทหลวงของซุนจาเองสุดท้ายก็ถูกขังคุกเพราะมีความคิดกบฎกับจักรวรรดิญี่ปุ่นทำให้ซุนจาต้องหาเงินเลี้ยงลูกเองในประเทศที่ไม่คุ้นเคย

พอดูซีรีส์เรื่องนี้แล้วทำให้อยากกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ให้มากขึ้นเพื่อที่จะเข้าใจเรื่องราวต่างๆ และทำให้เห็นว่าปัจจุบันเรื่องราวความขัดแย้งหลายอย่างก็ยังคงดำเนินต่อไป

ยังมีคนที่ต้องอดทนกัดฟันสู้เพียงเพราะเกิดมาเป็นเพศหญิง หรือการปิดปากผู้คนในเมืองไม่ให้แสดงความคิดเห็นที่เป็นปรปักษ์กับผู้มีอำนาจเพื่อพวกเขาจะได้มีอำนาจปกครองคนเชื่องๆ ต่อไป

Tags:

ซุนใจความไม่เท่าเทียมทางเพศPachinkoครอบครัวสังคมผู้หญิง

Author:

illustrator

พิมพ์พาพ์

เป็นลูกคนเดียวจากแม่เลี้ยงเดี่ยว เรียกตัวเองว่านักวาดภาพประกอบที่ชอบวาดคนหน้าแมว เผลอเสียน้ำตาให้กับหนังครอบครัวอยู่บ่อยๆ

Related Posts

  • Relationship
    Asexual ชีวิตที่อยู่นอกกรอบเรื่องรักใคร่

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Everyone can be an Educator
    มากกว่ารักษ์ คือการเรียนรู้ที่เห็นคุณค่าตัวเองและมรดกภูมิปัญญา: โนรา Gen Z ‘ชาดา สังวรณ์’ 

    เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ

  • Movie
    Julia: เป็นกุลสตรีในแบบของหนู ถึงพ่อไม่ชอบก็ไม่เป็นอะไร

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Myth/Life/Crisis
    ทำไมไม่อยู่บ้านกับพ่อแม่? กับ 5 คำถามสำรวจโลกภายใน

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • MovieLife classroom
    Losers EP.1 ไมเคิล เบนท์: น็อกเอาต์ไม่เท่ากับแพ้ ล้มเพื่อลุกขึ้นมามีความสุขกับชีวิตที่เลือกเอง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel