- แผลลึกหัวใจสลาย หรือ Never Let Me Go ผลงานเขียนของ คาสึโอะ อิชิงุโระ (Kazuo Ishiguro) นักประพันธ์ชาวอังกฤษเชื้อสายญี่ปุ่น เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 2017 แปลเป็นภาษาไทยโดย นารีรัตน์ ชุนหชา ซึ่งนิตยสารไทม์ ยกให้หนังสือเล่มนี้ เป็นนิยายที่ดีที่สุดในปี 2005 และจัดให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดในรอบสิบปี
- แม้ว่าจะถูกจัดในหมวดนิยายวิทยาศาสตร์ไซไฟ (sci-fi) และแนวโลกดิสโทเปีย (dystopia) แต่แก่นสำคัญของเรื่องนี้คือ ความทรงจำและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ซึ่งคาสึโอะ อิชิงุโระ ให้ความสำคัญและสอดแทรกในหนังสือทุกเล่มของเขา
- ‘แผลลึก หัวใจสลาย’ บอกกับเราว่า ไม่ว่าชีวิตจะสั้นเพียงแค่พริบตาของดวงดาวหรือยืนยาวจนชั่วนิรันดร์ จงใช้มันให้ดีที่สุด หัวเราะให้ดังที่สุด เปล่งเสียงร้องให้กึกก้องที่สุด และรักให้ท่วมท้นจนล้นหัวใจออกมา
ถ้าให้สรุปเรื่องราวทั้งหมดของหนังสือ แผลลึกหัวใจสลาย ภายในบรรทัดเดียว ก็คงสรุปได้ว่า “นี่คือนิยายรักรวดร้าวในช่วงชีวิตที่แสนสั้นของมนุษย์โคลน”
แต่ถ้าจะให้สาธยายยาวกว่านั้น ขยับเข้ามาเลยครับ ผมจะเล่าให้คุณฟัง
แผลลึกหัวใจสลาย หรือ Never Let Me Go ผลงานเขียนของ คาสึโอะ อิชิงุโระ (Kazuo Ishiguro) นักประพันธ์ชาวอังกฤษเชื้อสายญี่ปุ่น เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี 2017 ขณะที่ฉบับภาษาไทยแปลโดย นารีรัตน์ ชุนหชา โดยสำนักพิมพ์เอิร์นเนสต์ พับลิชชิ่ง
หนังสือเล่มนี้ ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ว่า เป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่สร้างสรรค์ที่สุดในยุคปัจจุบัน ขณะที่นิตยสารไทม์ ยกให้หนังสือเล่มนี้ เป็นนิยายที่ดีที่สุดในปี 2005 ซึ่งหนังสือตีพิมพ์ครั้งแรก รวมทั้งยังจัดให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดในรอบสิบปีเลยทีเดียว
ส่วนตัวผม ขอยกให้หนังสือฉบับภาษาไทย เป็นหนึ่งในหนังสือที่หน้าปกสวยที่สุดอีกตำแหน่งหนึ่งครับ (เครดิตการออกแบบปกโดย เฉลิมพันธ์ ปัญจมาพิรมย์ ผู้ออกแบบปกหนังสือสวยๆ หลายเล่มในไทยครับ)
แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ หรือรางวัลเกียรติยศที่มอบให้ คือ กระแสตอบรับจากนักอ่านจากทั่วโลก ซึ่งหลายๆ คนยกให้เป็นหนึ่งในหนังสือโปรดตลอดกาล บางคนบอกว่า นี่คือนิยายรักที่งดงามที่สุด แต่บางคนก็บอกว่า นี่คือนิยายรักที่สุดแสนรันทดที่สุด ขณะที่บางคนก็บอกว่า นี่คือวรรณกรรมที่สื่อถึงความล่มสลายของชีวิต แต่กลับแฝงด้วยความงดงามของชีวิตในคราวเดียวกัน
แม้ว่าจะถูกจัดในหมวดนิยายวิทยาศาสตร์ไซไฟ (sci-fi) และนิยายแนวโลกดิสโทเปีย (dystopia) หรือนิยายที่มีฉากหลังเป็นโลกที่เสื่อมสลาย แต่แก่นสำคัญของเรื่องนี้ ยังคงเป็นสิ่งที่คาสึโอะ อิชิงุโระ ให้ความสำคัญและสอดแทรกในหนังสือทุกเล่มของเขา นั่นก็คือ ความทรงจำและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน
และในหนังสือเล่มนี้ ก็คือ ความทรงจำและความสัมพันธ์ (ทั้งความรักและมิตรภาพ) ระหว่างแคธี เอช, รูธ และทอมมี
วัยเยาว์อันร้าวราน
เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ แบ่งออกเป็น 3 ภาค ซึ่งทั้งหมดเป็นการบอกเล่าของแคธี โดยเธอแนะนำตัวกับเราว่า
“ฉันชื่อแคธี เอช. อายุสามสิบเอ็ดปี ฉันทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลมากกว่าสิบเอ็ดปีแล้ว”
‘ผู้ดูแล’ คือ อะไร ผมนึกสงสัยในใจตอนอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรก แต่อย่าห่วงเลยครับ หนังสือของอิชิงุโระมักจะเป็นแบบนี้แหละ ไม่สนใจที่จะต้องอธิบายที่มาที่ใด ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องพยายามใช้เหตุผลตีความใดๆ ปล่อยให้ความรู้สึกเป็นเข็มทิศนำทางเราท่องไปในจักรวาลแห่งจินตนาการก็พอ
พออ่านไปอีกสักหน่อย จะเจอศัพท์เฉพาะแบบนี้อีก เช่น คำว่า ‘ผู้บริจาค’ และตามด้วยชื่อเฉพาะสำคัญอย่าง ‘เฮลแชม’
จากนั้น แคธีก็พาเราย้อนความทรงจำไปถึงวัยเด็ก และทำให้เราได้รู้ว่า ‘เฮลแชม’ คือ โรงเรียนพิเศษที่เธอและผองเพื่อนเคยใช้ชีวิตอยู่ ที่นั่น เป็นโรงเรียนประจำที่เด็กๆ ได้รับการ ‘เลี้ยงดู’ และ ‘อบรมสั่งสอน’ ตั้งแต่เด็ก ภายใต้สภาพแวดล้อมที่งดงามตามแบบฉบับชนบทของอังกฤษ ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ห้อมล้อมด้วยคุณครูผู้เข้มงวดแต่โอบอ้อมอารี และแพทย์-พยาบาลผู้ใส่ใจดูแลสุขภาพเด็กๆ อย่างยิ่งยวด
ภาพชีวิตเด็กๆ ในโรงเรียนประจำ ที่สอดแทรกด้วยเรื่องราวมิตรภาพและวัยเยาว์อันแสนไร้เดียงสา ทำให้ผู้อ่านอาจคิดว่า นี่คงเป็นนิยายในหมวดหมู่การก้าวผ่านวัย (coming of age) อีกเรื่องหนึ่ง จนกระทั่งเราได้อ่านถึงตอนที่เด็กสองคนคุยกันถึงเรื่องชีวิตในอนาคต ที่เด็กคนหนึ่งใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดง เพื่อนก็แนะนำว่า ให้ไปอเมริกา ก่อนที่ครูลูซี ซึ่งบังเอิญมาได้ยิน จะพูดโดยสะกดกลั้นอารมณ์บางอย่างไม่อยู่ว่า
“ไม่มีใครจะได้ไปอเมริกา ไม่มีใครจะได้เป็นดาราหนัง.. ชีวิตของพวกเธอถูกกำหนดไว้ให้แล้ว พวกเธอจะโตเป็นผู้ใหญ่ จากนั้น… พวกเธอจะเริ่มต้นบริจาคอวัยวะสำคัญของพวกเธอ นั่นคือสิ่งที่พวกเธอถูกสร้างมาให้เป็น… ทั้งหมดนั้น ถูกลิขิตไว้แล้ว”
จากจุดนั้น ปริศนาดำมืดที่อยู่ในใจผู้อ่านจึงเริ่มคลี่คลาย นี่คือเรื่องราวของ ‘มนุษย์โคลน’ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นแค่อวัยวะสำรอง หรือชิ้นส่วนอะไหล่ให้กับผู้ป่วยโรคร้ายแรง เฮลแชมถือเป็นโรงเรียนบุกเบิกแห่งแรก ที่ใส่ใจในสวัสดิภาพของ ‘อวัยวะสำรอง’ เด็กๆ ทุกคนที่ถูกสร้างมา จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ได้รับการอบรมวิชาความรู้ รวมถึงการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ผ่านงานศิลปะและบทกวี เพื่อให้พวกเขาได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ก่อนจะจบชีวิตอันแสนสั้น ซึ่งในเรื่องนี้ใช้ศัพท์คำว่า ‘สิ้นสุด’
อันที่จริงแล้ว เด็กๆ ทุกคนในเฮลแชม ต่างได้รับการบอกอย่างอ้อมๆ ถึงอนาคตของตัวเอง ทว่าไม่เคยมีใครใส่ใจกับมันอย่างจริงจัง จนกระทั่งครูลูซี ผู้ทนความสงสารในชะตากรรมของเด็กๆ ไม่ไหว จนต้องออกมาตอกย้ำเรื่องนี้อย่างชัดเจน- ตรงไปตรงมา เพื่อกระชากเด็กๆ ให้ตื่นจากความฝันอันคลุมเครือ
อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจสงสัยว่า แล้วทำไมเด็กๆ ถึงต้องยอมรับชะตากรรมของตัวเอง ทำไมไม่คิดหนีไป หรือบางคนอาจคิดว่า ถ้าโลกในนิยายเล่มนี้ มีเทคโนโลยีถึงสร้างมนุษย์โคลนได้ แล้วทำไมไม่สร้างแค่อวัยวะโคลน จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมาเป็นอะไหล่
ใช่ครับ ทุกข้อสงสัยล้วนมีตรรกะเหตุผลที่ควรสงสัย แต่อย่าลืมว่า นิยายของอิชิงุโระ ไม่ได้ต้องการนำเสนอความสมจริงในทางวิทยาศาสตร์ หากแต่ต้องการค้นหาคำตอบสำหรับคำถามที่อาจจะสำคัญที่สุดในชีวิต นั่นคือ ชีวิตเรา มีไว้เพื่ออะไร
อิชิงุโระ เคยให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ถ้าคุณรู้ว่าความตายกำลังจะมาเยือนในไม่ช้า จะมีอะไรให้คุณยึดมั่นถือมั่นอีก หรือจะมีอะไรที่คุณอยากแก้ไขให้มันถูกต้องก่อนจะจากไป อะไรคือสิ่งที่คุณรู้สึกในหัวใจว่า ฉันต้องทำสิ่งนี้ให้ได้ ก่อนจะเดินจากโลกนี้ไป”
รักสามเส้า ของเราสามคน
คำถามของอิชิคุโระ คือ สิ่งที่อยู่ในใจแคธี จนถึงวันที่เธอจบจากเฮลแชม และก้าวเข้าสู่สถานที่ที่เรียกว่า ‘กระท่อม’ ซึ่งเป็นเหมือนบ้านพักชั่วคราวของมนุษย์อะไหล่ ก่อนจะเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการบริจาคอวัยวะ
เรื่องราวใน ‘แผลลึก หัวใจสลาย’ พาเราเข้าสู่ภาคที่ 2 ของเรื่อง โดยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ (ทั้งฉันท์เพื่อนและฉันท์เพศ) ของแคธี, รูธ และทอมมี
หลังจากจบจากโรงเรียนเฮลแชม ทั้งสามคนได้เข้าไปใช้ชีวิตใน ‘กระท่อม’ พร้อมกับมนุษย์โคลนวัยรุ่นอีกหลายคน ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งที่มาคู่กับช่วงชีวิตวัยรุ่น นอกจากการค้นหาตัวตนแล้ว ก็คือ การไขว่คว้าหาความสัมพันธ์
รูธ เป็นเพื่อนสนิทที่สุดของแคธี ตั้งแต่วัยเด็ก แต่มิตรภาพของทั้งสองไม่ได้เรียบง่ายเลย ตรงกันข้าม เป็นความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อน และแฝงด้วยการแข่งขันกันในที อาจเพราะรูธมีนิสัยต้องการเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ลึกๆ แล้ว เธออิจฉาแคธี ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างแคธีกับทอมมี
รูธ มีความฝัน เชื่อมั่นในวันพรุ่งนี้ แต่สุดท้าย เธอจึงยอมรับความจริงว่า มนุษย์โคลนไม่อาจมีความฝัน คนอย่างพวกเธอไม่มีวันพรุ่งนี้หรอก
รูธรักทอมมี รูธรักแคธี แต่เธอก็อิจฉาแคธี
ทอมมี เป็นเพื่อนชายที่สนิทที่สุดของแคธี เป็นคนซื่อๆ ตรงไปตรงมา อารมณ์ร้อน โผงผาง แต่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ เขามักถูกเพื่อนๆ กลั่นแกล้งตั้งแต่วัยเด็ก แต่ไม่เป็นไรหรอก เพราะเขามีแคธีเป็นที่พักพิงใจในยามขับขันเสมอ
ทอมมี ไม่เชื่อในความฝัน เขาให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทำในวันนี้มากกว่า แต่สุดท้าย เขาจึงได้รู้ว่า สิ่งที่ทุ่มเททำลงไป ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของมนุษย์โคลนได้เลย
ทอมมีรักรูธ และแอบรักแคธี ตั้งแต่วัยเด็ก แต่เขาไม่เคยเอ่ยปากบอก
แคธี เป็นคนเงียบขรึมและช่างคิด เธอมักคิดอะไรแตกต่างจากคนอื่นตั้งแต่เด็ก แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็เป็นที่รักและที่พักพิงให้กับเพื่อนเสมอ โดยเฉพาะทอมมี ซึ่งถูกเพื่อนๆ กลั่นแกล้งในช่วงวัยเด็ก
แคธี ไม่เชื่อในความฝัน เธอรู้ว่าวันพรุ่งนี้ไม่มีจริง สิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเธอไว้ คือ ความทรงจำของวันวาน
แคธีรักรูธ บางครั้งเธอก็หมั่นไส้รูธ แต่ที่แน่ๆ เธอรักทอมมี
รักสามเส้า เป็นเรื่องที่รวดร้าวอยู่แล้ว และยิ่งร้าวรานขึ้นอีกหลายเท่าสำหรับมนุษย์โคลน ที่รู้ชะตากรรมตัวเองดีว่า ความรักที่มีนั้น ไม่มีวันที่จะมีอนาคตร่วมกันได้เลย ไม่มีวันที่เขาและเธอ จะได้ทำหน้าที่พ่อบ้านแม่บ้านในวันข้างหน้า ไม่มีวันที่เขาและเธอจะมี ‘ลูก’ ด้วยกัน (เพราะเทคโนโลยีพันธุกรรมที่ทำให้เป็นหมัน) และแน่นอน ไม่มีวันที่เขาและเธอจะได้แก่เฒ่าไปด้วยกัน
ในเรื่องของความรัก ไม่มีใครอยากเป็นอะไหล่สำรองให้ใครหรอก สุดท้าย แคธีเลือกเดินออกมาจากความสัมพันธ์สามเส้า เธอเสียสละทอมมีให้กับรูธ ในช่วงเวลาที่ทอมมีกำลังจะตัดสินใจเลือกคนใดคนหนึ่ง และในเวลาเดียวกัน แคธี ตัดสินใจเลือกเป็น ‘ผู้ดูแล’ ซึ่งทำให้เธอก้าวเดินออกจากกระท่อมได้ก่อนคนอื่น
แคธี เลือกที่จะไม่เป็น ‘คนรัก’ ในช่วงเวลานั้น เพื่อที่เธอจะได้เป็น ‘ที่พักพิงใจ’ ให้กับคนที่เธอรัก ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ซึ่งก็อีกแค่ไม่นานหรอก
อาจไม่มี ‘พรุ่งนี้’ แต่ขอแค่มี ‘เมื่อวาน’
เมื่อก้าวพ้นช่วงวัยรุ่นแล้ว ชะตากรรมของเหล่ามนุษย์โคลนในหนังสือ มีทางเลือกแค่ 2 ทาง คือ 1 เป็นผู้บริจาค ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ผู้บริจาคจะ ‘สิ้นสุด’ หรือถึงแก่ความตาย หลังจากการบริจาคอวัยวะสำคัญไปได้แค่สองครั้ง 2 เป็นผู้ดูแล ซึ่งทำหน้าที่ดูแลผู้บริจาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเยียวยาด้านจิตใจ จนถึงวัน ‘สิ้นสุด’ อายุขัยของผู้บริจาค โดยการทำหน้าที่ดังกล่าว ทำให้ผู้ดูแลสามารถเลื่อนเวลาการ ‘สิ้นสุด’ ของตัวเองออกไปได้อีกหลายปี (ในหน้าแรกๆ แคธีเล่าว่า เธอเป็นผู้ดูแลที่มีผลงานดี จึงสามารถทำหน้าที่นี้ได้ยาวนานจนถึง 12 ปี)
แต่การที่แคธีเลือกเป็นผู้ดูแล ไม่ใช่เพราะเธอต้องการชะลอความตายออกไป ตรงกันข้าม หน้าที่ที่เธอแบกรับนั้น อาจจะทุกข์ทรมานยิ่งกว่าการเผชิญความตายด้วยซ้ำ เพราะผู้ดูแลต้องคอยเยียวยาจิตใจอันบอบช้ำของผู้บริจาค พร้อมๆ กับการเห็นผู้บริจาค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่เธอรู้จัก ค่อยๆ ล้มตายไปต่อหน้า
แคธีเลือกเป็นผู้ดูแล เพราะนอกจากจะได้เป็น ‘ที่พักพิงใจ’ คอยช่วยเหลือเพื่อนๆ ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ตัวเธอเองก็ยังได้ทบทวนความทรงจำที่มีร่วมกับผู้บริจาค โดยในภาคที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงบทสรุปของเรื่อง แคธีได้ทำหน้าที่ผู้ดูแลรูธและทอมมี จนถึงช่วงเวลาสิ้นสุดของพวกเขา
ช่วงเวลาที่เธอและเขา และเธออีกคน ได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแม้เพียงสั้นๆ นอกจากจะช่วยปลุกความทรงจำอันอ่อนหวานที่ทั้งสามคนเคยมีร่วมกัน ยังเป็นการคลี่คลายปมความขัดแย้งในใจ และสร้างความทรงจำที่ดีครั้งสุดท้าย ให้กับทั้งแคธี, รูธ และทอมมี อีกด้วย
“ความทรงจำที่มีค่ามากที่สุดของฉัน ฉันไม่เคยเห็นมันจางหายไปเลย ฉันสูญเสียรูธ จากนั้นก็สูญเสียทอมมี แต่ฉันไม่เคยสูญเสียความทรงจำถึงพวกเขา”
สำหรับคนที่ไม่มีความหวังถึงอนาคต ก็คงมีแต่ความทรงจำเท่านั้น ที่เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตให้คงอยู่ต่อไปได้
สำหรับคนที่ไม่มี ‘วันพรุ่งนี้’ ก็คงมีแต่ ‘เมื่อวาน’ เท่านั้น ที่ช่วยให้ชีวิตยังดำเนินต่อไปได้ใน ‘วันนี้’
‘แผลลึก หัวใจสลาย’ บอกกับเราว่า ไม่ว่าชีวิตจะสั้นเพียงแค่พริบตาของดวงดาว หรือยืนยาวจนชั่วนิรันดร์ จงใช้มันให้ดีที่สุด หัวเราะให้ดังที่สุด เปล่งเสียงร้องให้กึกก้องที่สุด และรักให้ท่วมท้นจนล้นหัวใจออกมา
ต่อให้ชีวิตนี้จะแสนสั้น ก็ขอให้รักนั้นยืนยาว