- ‘เพื่อนคนเก่ง’ (My Brilliant Friend) เป็นนิยายที่เขียนโดย เอเลนา แฟร์รานเต นักเขียนชาวอิตาลี เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับมิตรภาพที่ซับซ้อนของเด็กหญิงสองคน ‘เอเลนา’ และ ‘ลิลา’
- หนังสือเล่าผ่านมุมมองของ ‘เอเลนา ’ ซึ่งมองว่าลิลาเป็นทั้งเพื่อนสนิทและคู่แข่ง โดยเล่าถึงชีวิตและการเติบโตของเด็กหญิงทั้งสอง ท่ามกลางสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่กดดันรวมทั้งความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยทั้งความรัก และความอิจฉาริษยา
- นิยายเล่มนี้ ไม่ใช่หนังสือสอนศีลธรรมที่มาพร้อมคำเทศนาว่า จงทำดีแล้วจะได้ดี หรือ จงขยันหมั่นศึกษาเพื่อนำพาชีวิตสู่ความสำเร็จ หากเป็นเหมือนบันทึกชีวิตของคนสองคน ที่เลือกเดินบนเส้นทางที่ต่างกัน เพื่อมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกันที่เรียกว่า ความสำเร็จ
เมื่อพูดถึงมิตรภาพ หรือความสัมพันธ์ฉันเพื่อน หลายคนอาจเข้าใจว่า เป็นความสัมพันธ์ที่ตรงไปตรงมา เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน หากเทียบกับความสัมพันธ์ฉันท์คู่รัก ที่มีความยุ่งยากในทางอารมณ์มากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว บางครั้งความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนก็อาจมีความสลับซับซ้อนและยากต่อการทำความเข้าใจได้เช่นกัน
สำหรับใครบางคน อาจเคยมีเพื่อนสนิทที่รู้ใจกัน มีรสนิยม หรือกระทั่งทัศนคติหลายอย่างเหมือนๆกัน รักกันมาก แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีความรู้สึกอิจฉาอยู่ในใจ หรือจนกระทั่งไม่อยากให้เพื่อนได้ดิบได้ดีเกินหน้าเกินตาตัวเอง
ถ้าเพื่อนต้องลงแข่งขันประชันกับคนอื่น เราจะเชียร์เพื่อนสุดใจขาดดิ้น ไม่อยากให้เพื่อนแพ้ใคร แต่หากเพื่อนต้องลงแข่งกับเรา ก็ขอให้ผลออกมาเสมอเป็นดีที่สุด
มิตรภาพที่มีทั้งความรักและความอิจฉาผสมปนเปกันนี้ คือ หนึ่งในธีมหลักของนิยายที่มีชื่อว่า ‘เพื่อนคนเก่ง’ หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า My Brilliant Friend ซึ่งถอดความหมายตรงๆ เหมือนชื่อในภาษาอิตาลี ที่เป็นต้นฉบับว่า L’amica gemiale
ผมเพิ่งเคยได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้ เมื่อ The New York Times เปิดเผยรายชื่อ 100 อันดับ หนังสือที่ดีที่สุดในศตวรรษที้ 21 โดยใช้คณะกรรมการที่ประกอบด้วยนักเขียน นักวิจารณ์ นักวิชาการในสาขาวรรณกรรม และตัวแทนจากสายอาชีพอื่น รวมกว่า 500 คน ร่วมกันคัดเลือก ซึ่งหนังสือที่ได้รับการโหวตให้อยู่ที่อันดับ 1 ก็คือ หนังสือเรื่อง ‘เพื่อนคนเก่ง’ ผลงานของ เอเลนา แฟร์รานเต (Elena Ferrante) นักเขียนร่วมสมัยชาวอิตาลี
นอกจากการโหวตโดยคณะกรรมการแล้ว หนังสือเล่มนี้ ยังติดอันดับ 100 หนังสือยอดเยี่ยมแห่งศตวรรษ จากอีกหลายสถาบัน รวมถึงการจัดอ้นดับที่ได้จากการโหวตโดยนักอ่านล้วนๆ
แน่นอน ความดีงามของหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง หาได้ขึ้นอยู่กับการจัดอันดับ ไม่ว่าจะโดยสถาบันใดก็ตาม หากแต่ขึ้นอยู่กับคนที่หยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาอ่าน และพบว่าหนังสือได้สื่อสารกับเขาหรือเธอโดยตรง ได้พูดคุย ได้ตั้งคำถาม ทำให้เกิดการขบคิด หรือกระทั่งค้นพบความหมายบางสิ่งบางอย่าง
และหนังสือเรื่อง ‘เพื่อนคนเก่ง’ ทำให้ผม (เชื่อว่าทุกคนที่ได้อ่านก็น่าจะ) ได้ฉุกคิดถึงอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของผู้หญิง ในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ความแตกต่างของภาษา (ภาษากลางและภาษาท้องถิ่น) ที่สะท้อนถึงความแตกต่างทางชนชั้น ปัญหาเศรษฐกิจ ที่กลายเป็นตัวกำหนดเส้นทางชีวิตของคนในชุมชน และมิตรภาพอันแสนซับซ้อน ที่มีทั้งความรัก ความห่วงใย ความหวัง และความอิจฉาริษยา ผสมปนเปกัน
เซ็ตติ้งของเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ เกิดขึ้นในย่านชานเมืองเนเปิลส์ (หรือที่ในภาษาอิตาลีเรียกว่า นาโปลี) ในยุคทศวรรษ 1950 เต็มไปด้วยตัวละครมากมายจนคนอ่านต้องเปิดดูหน้าดัชนีรายชื่อตัวละคร เพื่อจะได้รู้ว่าใครมาจากครอบครัวไหน มีบทบาทและความสัมพันธ์กันอย่างไร
แต่ตัวละครที่สำคัญที่สุดของเรื่อง มีอยู่ 2 คน คือ เอเลนา เกรโค หรือที่เพื่อนๆ เรียกว่า เลนุชชา หรือไม่ก็ เลนู ซึ่งในบทความนี้ ผมขอเรียกว่า ‘เอเลนา’ และ รัฟฟาแอลลา เชรุลโล ซึ่งเพื่อนๆ เรียกว่า ลีนา ยกเว้นแต่เอเลนา ที่เรียกเธอว่า ลิลา ซึ่งผมก็จะเรียกเธอว่า ‘ลิลา’ ตามคำเรียกของเอเลนา
เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ เป็นการบรรยายผ่านปากของเอเลนา ทำให้เราได้รับรู้และเข้าใจความคิด ความรู้สึก และมองโลกด้วยสายตาของเธอเป็นหลัก ขณะที่ลิลา กลายเป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยความลับ ความคลุมเครือ จนบางครั้งก็ยากจะเข้าใจได้ว่า เธอกำลังคิดอะไรอยู่
เอเลนาและลิลา รู้จักกันตั้งแต่ชั้นประถม เอเลนา เป็นเด็กเรียนเก่ง และเป็นคนโปรดของครูโอลิเวียโร ขณะที่ลิลา ได้ชื่อว่า เด็กที่ร้ายที่สุดในห้อง ร้ายโดยไม่ต้องทำลับหลังครูเหมือนเด็กคนอื่น เธอเอากระดาษซับหมึกจนชุ่มแล้วขว้างใส่เพื่อนทุกคน เธอเป็นเด็กผู้หญิงคนเดียวที่หยิบก้อนหินขว้างใส่เด็กผู้ชาย เพื่อเอาคืนที่ถูกพวกนั้นขว้างก้อนหินใส่ก่อน ขณะที่เด็กผู้หญิงคนอื่นได้แต่ร้องกรี๊ดและวิ่งหนีไป
หลังจากนั้น ทุกคนก็ได้รู้ว่า นอกจากจะเป็นเด็กผู้หญิงที่ร้ายกาจแล้ว ลิลายังเป็นเด็กฉลาดอีกด้วย เธอเรียนเก่งไม่แพ้เอเลนา อาจจะเก่งกว่าด้วยซ้ำ เพราะหลายๆ อย่างที่เธอรู้ มาจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ลิลาสามารถอ่านหนังสือออกตั้งแต่อายุเพียงสามขวบ ยังไม่ทันเข้าโรงเรียน ซึ่งต่อมาในช่วงกลางๆ เรื่อง เธอยังแสดงความเก่งของเธอออกมาให้เห็น ด้วยการเรียนรู้ภาษาละตินและกรีกด้วยตัวเอง จากการยืมหนังสือในห้องสมุดมาอ่านเอง
ความเก่งกาจและความร้ายกาจ ยิ่งทำให้ทุกคนเกลียดลิลา ในความรู้สึกของเด็กทุกคน ลิลาเก่งเกินไป จนไม่มีใครก้าวตามทัน หากจะมีใครสักคนที่อาจเข้าใกล้เธอได้ ก็คือ เอเลนา
เอเลนาและลิลา เป็นเหมือนขั้วที่ตรงข้ามกัน คนหนึ่งคือเด็กดีเป็นที่รักของทุกคน อีกคนหนึ่งคือเด็กร้ายกาจที่ไม่มีใครอยากคบด้วย ทว่าความแตกต่างอย่างสุดขั้ว ค่อยๆ ดึงดูดทั้งคู่เข้าหากัน โดยเฉพาะเอเลนา เธอค่อยๆ เลียนแบบหลายสิ่งหลายอย่างจากลิลาโดยไม่รู้ตัว ทั้งวิธีการเล่น วิธีการพูดจา หรืออาจจะรวมไปถึงความคิดอ่านหลายๆ อย่าง
ในเวลาไม่นาน เอเลนาและลิลาก็กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน ทั้งคู่รักกันมากที่สุดเท่าที่เพื่อนจะรักกันได้ โดยเฉพาะเอเลนา ซึ่งเหมือนกับจะยึดเอาลิลาเป็นต้นแบบ โดยเฉพาะในเรื่องความกล้าหาญและความมั่นใจในตัวเอง แต่ขณะเดียวกัน ในใจเอเลนาก็มีความรู้สึกอิจฉาลิลามาโดยตลอด ทำให้ลิลาเป็นทั้งต้นแบบและคู่แข่งสำหรับเธอ แต่เป็นคู่แข่งที่เอเลนาได้แต่ทำใจยอมรับว่า คงไม่มีวันเอาชนะได้
แม้ว่าเอเลนาจะเป็นเด็กเรียนดี แต่เธอต้องใช้ความพยายามทุ่มเทอย่างเต็มที่กว่าจะไปถึงตรงนั้น ตรงข้ามกับลิลา ซึ่งไม่เคยสนใจเรียน ไม่เคยตั้งอกตั้งใจฟังครู แต่เธอกลับทำคะแนนได้สูงกว่าทุกคน ราวกับว่าเธอเกิดมาเพื่อเป็นคนเก่งอยู่แล้ว
“ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงทุ่มเทพลังเด็กทั้งหมดของตัวเอง ไม่ใช่เพื่อให้ได้เป็นที่หนึ่งในชั้น ซึ่งฉันเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เพื่อไม่ให้ร่วงไปอยู่ที่สาม ที่สี่ หรือที่โหล่ ฉันมุ่งมั่นตั้งใจเรียน และทำเรื่องยากๆ อีกหลายเรื่องที่ฉันไม่ได้สนใจเลย เพียงเพื่อจะตามเด็กผู้หญิงที่ร้ายกาจและเจิดจรัสคนนั้นให้ทัน”
มิตรภาพที่มีทั้งความรักและความอิจฉา ปรากฎให้เห็นอยู่ในหลายๆ ตอนของหนังสือเล่มนี้ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่นของเอเลนาและลิลา ซึ่งความสัมพันธ์แบบนี้ เป็นสิ่งที่พบได้ในชีวิตจริง และที่สำคัญ ความอิจฉาที่เกิดขึ้น มักเป็นสาเหตุที่ทำให้มิตรภาพนั้นต้องจืดจาง หรืออาจถึงขั้นจบลงได้
ในทางวิชาการ สาเหตุที่ทำให้ใครคนหนึ่งเกิดความรู้สึกอิจฉาริษยาเพื่อนรักของตัวเอง มาจาก 3 ปัจจัยหลักๆ คือ
หนึ่ง การแข่งขัน ทั้งทางด้านการเรียน ความสำเร็จ และความรัก แน่นอน การแข่งขันย่อมนำไปสู่การเปรียบเทียบว่า ฝ่ายหนึ่งดีกว่า เก่งกว่า น่าชื่นชมมากกว่า
เอเลนาและลิลา ถูกจับมาประชันขันแข่งหลายต่อหลายครั้ง ทั้งโดยตั้งใจ (การจัดแข่งวัดผลระหว่างเด็กต่างชั้น) และไม่ได้ตั้งใจ (การได้รับคำชมจากครูโอลิเวียโร) และนั่นอาจเป็นเหตุผลทำให้เอเลนา เกิดความรู้สึกว่า ลิลา คือคู่แข่งของเธอ ทั้งในเรื่องการเรียนและเรื่องส่วนตัว
สอง การเปลี่ยนแปลงของสถานะ ไม่ว่าจะเป็นการมีแฟน ซึ่งแสดงถึงการเปลี่ยนสถานะจากเด็กไปสู่วัยรุ่น หรือการได้งาน ที่แสดงถึงสถานะของผู้ใหญ่ ที่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้เกิดการเปรียบเทียบและนำไปสู่ความรู้สึกอิจฉาได้เช่นกัน
ในช่วงกลางๆ ของเรื่อง เอเลนา ที่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายตามหลังลิลามาโดยตลอด เริ่มรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสถานะที่เหนือกว่า เมื่อตอนที่เธอเริ่มมีประจำเดือน มีหน้าอก เริ่มเข้าสู่วัยสาว ขณะที่ลิลายังเป็นเด็กผอมแห้ง และไม่เคยมีเด็กผู้ชายคนไหนเอ่ยปากขอเป็นแฟนด้วยเลย
สาม ความไม่มั่นใจในตัวเอง หรือการเห็นคุณค่าของตัวเองในระดับต่ำ (low self-esteem) ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกอิจฉามากขึ้น เมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับเพื่อนที่เก่งกว่า ไม่ว่าจะเป็นการถูกนำไปเปรียบเทียบโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ
เอเลนา เป็นเด็กที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง เพราะเธอรู้สึกว่าครอบครัวของเธอเอง โดยเฉพาะแม่มีรูปลักษณ์ที่ไม่สวยงาม (แม่ของเธอเป็นคนพิการขาเสียข้างหนึ่ง) อีกทั้งยังเป็นคนที่มักจะทำอะไรเปิ่นๆ เชยๆ ทำให้เธอเกิดความอับอาย เมื่อถึงวันที่ผู้ปกครองต้องไปพบเจอครูที่โรงเรียน
แม้ว่าเอเลนาจะได้ความรักจากพ่อและน้องๆ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกภูมิใจตัวเอง เหมือนเวลาที่ได้รับคำชมจากครู และเพื่อนๆ ที่โรงเรียน
“ฉันรู้สึกว่าโรงเรียนสวยงามกว่าบ้านหลายเท่า เป็นสถานที่ซึ่งฉันรู้สึกปลอดภัยมากกว่าที่ไหนๆ ในชุมชน… ฉันชอบที่ครูชอบฉัน ชอบที่ทุกคนชอบฉัน… ที่บ้าน ฉันเป็นส่วนเกินในชีวิตแม่ ฉันไม่น่ารักสำหรับแม่ แม่เองก็ไม่น่ารักสำหรับฉัน”
สถานะคนโปรดของครูโอลิเวียโร ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของเอเลนา เริ่มสั่นคลอน เมื่อครูพบว่า จริงๆ แล้ว ลิลาเป็นเด็กฉลาดกว่าทุกคนในห้อง แต่พอจบชั้นประถม สถานการณ์กลับเปลี่ยนไป เอเลนากลับมาเป็นคนโปรดของครูอีกครั้ง เพราะครอบครัวของเธอตัดสินใจส่งเธอเรียนต่อชั้นมัธยม ภายใต้การผลักดันและโน้มน้าวโดยครูโอลิเวียโร ขณะที่ทางบ้านของลิลา ไม่ยอมให้เธอได้เรียนต่อ เพราะต้องการให้เธอทำงานช่วยครอบครัว ซึ่งนั่นทำให้ลิลาตกจากสถานะคนโปรดของครูในทันที
ครูโอลิเวียโร เคยถามเอเลนาว่า รู้มั้ยว่าไพร่คืออะไร ก่อนจะพูดต่อว่า ไพร่คือสิ่งที่น่ารังเกียจมาก
“ถ้าใครอยากเป็นไพร่อยู่ต่อไป เขา ลูกๆ ของเขา และลูกของลูกเขา ก็ไม่มีค่าอะไรเลย” ครูโอลิเวียโร ตั้งใจพูดกระทบลิลา เพราะในความคิดของครู การศึกษาเท่านั้น ที่จะช่วยให้เด็กๆ ในครอบครัวคนยากจน หลุดพ้นจากวังวนชีวิตของชนชั้นล่างได้
คำพูดของครูโอลิเวียโร อาจจะรุนแรงและหยาบคาย แต่สารที่อยู่ในคำพูดนั้น คื ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ การศึกษาคือหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เด็กคนหนึ่ง ถีบตัวขึ้นจากฐานะที่ยากจนข้นแค้นได้
ถึงอย่างนั้น การศึกษาก็ไม่ใช่หนทางเดียวที่พาให้คนๆ หนึ่งประสบความสำเร็จในการยกระดับสถานะของตัวเอง ความฉลาดของลิลาทำให้เธอรู้ว่า ในการจะหลุดพ้นจากความยากจน (ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความฝันของเด็กๆทุกคนในเรื่อง) ไม่จำเป็นต้องอาศัยการเรียนต่อเสมอไป แต่ยังมีหนทางอื่นอีกหลายเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ ทั้งโดยสุจริตและทุจริต หรือแม้กระทั่งการแต่งงานกับคนรวยๆ สักคน
เรื่องราวของเอเลนาและลิลาในช่วงวัยรุ่น เป็นเหมือนเส้นทางสองเส้นที่ขนานกัน แต่ก็มุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกัน เอเลนาค่อยๆ ค้นพบตัวเองว่า เธอสามารถประสบความสำเร็จ เป็นเด็กที่เรียนเก่งที่สุดได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีลิลาเป็นต้นแบบหรือเป็นคู่แข่ง ขณะที่ลิลาเองก็ค้นพบตัวเองว่า ถึงเธอจะยังเป็นคนใจร้ายเหมือนตอนวัยเด็ก แต่ด้วยความสวย และเสน่ห์ในตัว ทำให้เธอเป็นคนใจร้ายๆ ที่มีคนหมายปองได้เช่นกัน
แน่นอนว่า นิยายเล่มนี้ ไม่ใช่หนังสือสอนศีลธรรมที่มาพร้อมคำเทศนาว่า จงทำดีแล้วจะได้ดี หรือ จงขยันหมั่นศึกษาเพื่อนำพาชีวิตสู่ความสำเร็จ หากเป็นเหมือนบันทึกชีวิตของคนสองคน ที่เลือกเดินบนเส้นทางที่ต่างกัน เพื่อมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกันที่เรียกว่า ‘ความสำเร็จ’ และถึงแม้จะเป็นเส้นทางที่ต่างกัน แต่ก็มีสิ่งที่ดึงให้เส้นทางทั้งสองกลับมาบรรจบกันเป็นระยะๆ
สิ่งนั้นก็คือ มิตรภาพของเอเลนาและลิลา มิตรภาพที่อาจจะไม่ได้รักกันหวานชื่นตลอดเวลา หากแต่มีทั้งความรักและความอิจฉาปะปนกัน แต่ถึงกระนั้น ก็เป็นมิตรภาพที่แสนมั่นคงและยืนยาว