- บทความนี้อ้างอิงเนื้อหาจากสารคดีชุด Losers ตอน The Miscast Champion ที่เผยแพร่ทาง Netflix ในปี 2019 เป็นเรื่องราวของอดีตแชมป์มวยรุ่นเฮฟวี่เวท WBO ไมเคิล เบนท์ ที่ถูกพ่อบังคับให้เป็นนักมวยตั้งแต่เด็ก
- แม้จะไม่ชอบชกมวย แต่ไมเคิลกลับทำมันได้อย่างยอดเยี่ยม กระทั่งวันหนึ่งเขาตัดสินใจท้าทายตัวเองด้วยการขึ้นชกมวยสากลอาชีพ และแย่งเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทมาครองได้สำเร็จ
- ทว่าในไฟท์ถัดมา ไมเคิลช็อกโลกอีกครั้งด้วยการเป็นฝ่ายถูกหมัดน็อกจนสมองบวมจนไม่สามารถลงแข่งได้อีก แต่นั่นกลับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาค้นพบสิ่งที่ตามหามาตลอดชีวิต
ถ้าพูดถึงชื่อนักมวยอาชีพระดับแชมเปี้ยน แน่นอนว่าหลายคนต้องนึกถึงซูการ์ เรย์ โรบินสัน, มูฮาหมัด อาลี, ร็อกกี้ มาร์เซียโน, ไมค์ ไทสัน รวมถึงยอดมวยสายเลือดเอเชียอย่าง แมนนี ปาเกียว
แต่วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องแชมเปี้ยนที่หลายคนอาจไม่รู้จัก เพราะเขามีช่วงเวลาที่สั้นมากในอาชีพนักมวย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สมองของเขาได้รับการกระทบกระเทือนอย่างหนักจนคณะแพทย์สั่งห้ามขึ้นสังเวียนกำปั้นตลอดชีวิตแชมเปี้ยนรุ่นเฮฟวี่เวท 1 สมัย ไมเคิล เบนท์ คือคนๆ นั้น ซึ่งความน่าสนใจของเขาคือชีวิตนอกสังเวียนตั้งแต่วัยเด็กที่ถูกพ่อบงการชีวิต รวมถึงการค้นพบความชอบที่แท้จริงหลังรีไทร์จากอาชีพนักมวย มาดูกันว่าไมเคิลจะเอาชนะชีวิตนอกสังเวียนและคว้าแชมป์ในโลกแห่งความจริงได้อีกครั้งหรือไม่
เด็กชายผู้ถูกยัดเยียดความฝัน
“พ่อของผมเป็นแฟนตัวยงของมูฮาหมัด อาลี และความทรงจำแรกของผมในวัยเด็ก คือการดูคนสองคนชกมวยกันในทีวี และมันน่ากลัวมาก คือพ่อผมเป็นพวกหัวโบราณน่ะครับ ทั้งโหดและเงียบ พ่อสั่งให้ผมศึกษานักมวยพวกนี้ไว้เยอะๆ เพราะพ่ออยากให้ผมเป็น มูฮาหมัด อาลี คนต่อไป”
ตั้งแต่จำความได้ ไมเคิล เบนท์ เด็กชายชาวอเมริกันที่มีต้นตระกูลมาจากประเทศจาเมกา ถูกพ่อของเขาป้อนโปรแกรมใส่สมองว่าโตขึ้นต้องเป็นนักมวย ลูกต้องเป็นมูฮาหมัด อาลีให้ได้
พออายุได้ประมาณ 10 ขวบ ไมเคิลก็ถูกพ่อพาไปฝึกต่อยมวยครั้งแรกที่โรงยิมแห่งหนึ่งเป็นเวลาต่อเนื่องนานกว่า 9 เดือน โดยไมเคิลเปิดใจว่าเขาไม่ชอบที่ถูกโค้ชหรือเพื่อนๆ ชกเข้าบริเวณศีรษะ แต่พ่อกลับไม่ฟังเขาสักนิด แถมยังบังคับให้เขาฝึกต่อไปเรื่อยๆ ราวกับหุ่นยนต์
“มันเหมือนพ่ออยากให้ผมเป็นนักมวย เพียงเพราะท่านอยากจะสัมผัสประสบการณ์นี้ผ่านตัวผม”
แน่นอนว่าหลายคนอาจเริ่มรู้สึกสงสารไมเคิล แต่ผมเชื่อบางส่วนก็อาจจะเห็นว่าพ่อทำถูกแล้ว เพราะเด็กๆ หรือนักกีฬาระดับโลกหลายคนก็ต้องถูกเคี่ยวกรำมาอย่างหนักทั้งนั้น
เพียงแต่ความเครียดของไมเคิลสะสมมากจนถึงขั้นโดดเรียนและหาทางผ่อนคลายตัวเองจากความจริงที่ต้องซ้อมมวย ชกคนอื่น และถูกซัดเข้าที่หัว คืนหนึ่งไมเคิลเลยตัดสินใจนั่งรอพ่อกลับบ้าน ก่อนตัดสินใจเปิดอกกับพ่อเรื่องอนาคตของตัวเอง
“…ผมกังวลที่ต้องบอกพ่อ คืนนั้นพ่อนั่งบนโซฟาหลังกลับจากที่ทำงาน ผมบอกพ่อว่า ‘พ่อครับ ผมไม่อยากชกมวยอีกแล้ว’ พ่อผุดลุกขึ้น เดินไปที่เสาอากาศทีวี หักมันออกมา และฟาดผมอย่างรุนแรงไม่ปรานี เรียกได้ว่าเป็นการลงโทษที่ทารุณผมมากๆ”
เมื่อวัยเด็กเป็นวัยที่ชีวิตไม่มีทางให้เลือกมากนัก เพราะต้องพึ่งพ่อแม่ ไมเคิลจึงจำใจก้มหน้าก้มตาฝึกชกมวย โดยไม่ปริปากกับพ่ออีกเลย
“พ่อไม่เคยสอนผม พ่อแค่ควบคุมผม มันต่างกันนะ มวยไม่ใช่แค่กีฬา แต่เป็นการเอาชีวิตรอดที่ดิบและเถื่อน”
นักมวยผู้เปลี่ยนความพ่ายแพ้เป็นบทพิสูจน์
“สมัยที่ผมเป็นนักมวยและต้องขึ้นชกในไฟท์สำคัญ ไม่ว่าจะในฐานะมวยสมัครเล่นหรือมวยอาชีพ ผมมักจะขอให้เมืองทั้งเมืองไฟดับหรือไม่ก็ถูกทอร์นาโดถล่มให้รู้แล้วรู้รอด เพราะผมไม่อยากขึ้นชก”
ไมเคิลเติบโตขึ้นและทิ้งชีวิตวัยรุ่นไปกับการฝึกซ้อม – แข่งขัน –ฝึกซ้อม – แข่งขันไปเรื่อยๆ จนมารู้ตัวอีกที เขาก็กลายเป็นสตาร์ในวงการมวยของสหรัฐฯ เพราะนอกจากจะคว้ารางวัลถุงมือทองคำได้ถึง 4 สมัย (NEW YORK GOLDEN GLOVES CHAMPIONS) ด้วยสถิติชนะ 148 ครั้ง แพ้ 8 ครั้ง ตั้งแต่อายุ 19 เขายังได้รับการขนานนามจากสื่อมวลชนว่าเป็นหนึ่งในนักมวยสมัครเล่นที่เก่งกาจที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ
เมื่อมนุษย์เริ่มประสบความสำเร็จ แน่นอนว่าการค้นหาความสำเร็จขั้นที่สูงกว่าย่อมเป็นเรื่องที่ท้าทายและชวนให้ลิ้มลอง แต่สำหรับไมเคิลในวัยแสนคึกคัก เขากลับตัดสินใจผลักดันตัวเองสู่การชกมวยอาชีพเพียงเพราะอยากหลบลี้หนีหน้าจากผู้ชายที่เขาเรียกว่าพ่อ
“ผมไม่เคยอยากชกอาชีพเลย เหตุผลที่ผมต้องไปก็เพื่อย้ายออกจากบ้านของพ่อ อีกอย่างผมคิดว่าผมเป็นดาวดังแล้ว…”
แต่ไมเคิลก็ยังอ่อนประสบการณ์เกินไปสำหรับมวยอาชีพ เพราะเขาถูกน็อกลงไปนอนกับพื้นตั้งแต่ครั้งแรกที่เปิดตัวในฐานะนักมวยอาชีพ หลังบุ่มบ่ามดันคู่ต่อสู่เข้ามุมเพื่อรัวหมัดถลุง ก่อนถูกสวนกลับจนหมดท่าต่อหน้าประชาชี
“สิ่งที่น่าอับอายที่สุดสำหรับนักมวยคือการโดนน็อกต่อหน้าผู้คน พ่อผมโผล่มาตอนนั้น พ่อโกรธมากและพูดขึ้นว่า ‘ลูกฉันแพ้ได้ยังไง’ ผมนี่แบบ…พ่อครับ พ่อไม่ได้เป็นคนโดนน็อกสักหน่อยจะโมโหอะไรขนาดนี้”
การพ่ายแพ้ในการเปิดตัวไม่ได้ส่งผลอะไรกับร่างกายเขามากนัก แต่กลับสร้างบาดแผลในจิตใจ ทั้งจากพ่อ รวมไปถึงผู้คนรอบข้างที่พากันซุบซิบเรื่องที่อดีตแชมป์ระดับประเทศหลายสมัยถูกน็อกตั้งแต่ยกแรก
พอจิตใจบอบช้ำไม่เป็นท่าจากลมปากของผู้คน แทนที่จะซุ่มซ้อมให้หนักขึ้น ไมเคิลกลับเยียวยาตัวเองแบบผิดๆ ด้วยการผลาญเงินไปกับสุรานารี ทำให้เขากลายเป็นไอ้ขี้แพ้โดยสมบูรณ์
“วันหนึ่งผมอยู่คนเดียวในอพาร์ทเม้นท์ของน้องชาย ผมพบว่าในห้องนั้นมีปืน ผมเลยหยิบมันออกมา อ้าปากและจ่อปืนเข้าไป แต่สุดท้ายแล้วผมกลับทำไม่ได้”
ตอนนั้นเอง ไมเคิลเริ่มทบทวนอดีตที่ผิดพลาดและหันหลังให้กับการกระทำที่ซ้ำเติมตัวเอง จนในที่สุดแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทอย่าง อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์ (ผู้เคยดวลกำปั้นกับไมเคิลสมัยชกมวยสมัครเล่น) ได้ติดต่อขอให้ไมเคิลมาเป็นคู่ซ้อมของเขา ซึ่งไมเคิลก็คว้าโอกาสนั้นและตั้งใจเป็นคู่ซ้อมให้เพื่อนเก่าอย่างดีที่สุด
“วันหนึ่งขณะฝึกซ้อมกับอีแวนเดอร์ โค้ชฝึกสอนได้เดินมาหาผมและบอกว่า ‘ที่รักผมดูไม่ออกเลยว่าใครกันแน่ที่เป็นแชมเปี้ยน’ ดังนั้นผมก็รู้แล้วว่าผมมีบางอย่างที่ต้องออกไปพิสูจน์”
แชมป์โลกผู้ไม่เคยมีความสุขกับชัยชนะ
ไมเคิลรีบติดต่อหาผู้จัดการมวยคนหนึ่งถึงความทุกข์ใจและการอยากหวนคืนสังเวียนของเขา โชคดีที่ผู้จัดการมวยได้ตอบรับการช่วยเหลือนี้ พร้อมหาไฟท์ให้เขาได้พิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง
ชัยชนะต่อเนื่อง 10 ไฟท์ติด คือคำขอบคุณไร้เสียงที่ไมเคิลตอบแทนผู้จัดการมวยของเขา และชื่อเสียงของ ไมเคิล เบนท์ ก็ดังจนไปเข้าหูของแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทในเวลานั้นอย่าง ‘ทอมมี่ มอร์ริสัน’ (ผู้ได้ฉายาว่าเป็นไมค์ ไทสัน เวอร์ชั่นผิวขาว) จนนำไปสู่การแมทช์ที่โลกตะลึง
เดิมที ทอมมี่คิดว่าการชกกับไมเคิลน่าจะผ่านไปอย่างสบายๆ เหมือนกับการอุ่นเครื่อง เพราะเขาตกลงขึ้นชกกับ เลนนอกซ์ ลูอิส ซึ่งเป็นอีกหนึ่งยอดมวยในยุคนั้นไปแล้ว
ทอมมี่เปิดเกมด้วยการไล่ชกไมเคิล แต่กลับถูกไมเคิลปล่อยหมัดผสมสวนกลับจนล้มไปถึงสองครั้ง ก่อนที่ไมเคิลจะเผด็จศึกได้ในการส่งทอมมี่ร่วงกับพื้นในครั้งที่สาม น็อกเอาต์แชมป์โลกจอมโหดและนำตัวเองเถลิงบังลังก์แชมป์รุ่นเฮฟวี่เวทคนใหม่
“ถ้ามีโอกาสเลิกชกมวยหลังเจอทอมมี่ มอร์ริสัน ผมจะทำ เพราะผมก็ไม่ได้อยากเป็นนักมวยอาชีพมาตั้งแต่แรก”
แต่คำว่า ‘แชมป์โลก’ ก็มีเงื่อนไขที่ซับซ้อนกว่าที่ไมเคิลจะคาดคิด เพราะมันมาพร้อมกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ และเมื่อเป็นเช่นนั้น แชมป์โลกก็ต้องออกชกเพื่อผู้จัด เพื่อรายการ และเพื่อปกป้องเข็มขัด ซึ่งนั่นทำให้เขามีคิวป้องกันแชมป์ครั้งแรกกับนักมวยที่ชื่อ ‘เฮอร์บี ไฮด์’
“ผมไม่รู้สึกมีไฟเหมือนตอนชกกับทอมมี่ มอร์ริสัน ผมรู้อยู่แก่ใจว่าผมไม่เหมาะกับแชมป์รุ่นเฮฟวี่เวท”
ไฟท์นั้น ไมเคิลไม่เพียงออกหมัดเหมือนคนไร้เรี่ยวแรง ในช่วงยกที่ 7 เขายังถูกเฮอร์บีปล่อยหมัดทรงพลังใส่จนน็อกกลางอากาศ โดยไม่รู้ว่าผลกระทบจากหมัดของผู้ท้าชิงได้ส่งผลกระทบไปยังสมองของเขา
“พลังหมัดของเฮอร์บี ไฮด์ เทียบเท่ากับการที่คุณถือมีดและเสียบมันเข้าไปในปลั๊กไฟโดยไม่ปล่อยมือ …ผมเซ หน้าคว่ำ และตู้ม ผมล้มลงกระเด้งขึ้น โดยไม่รู้ว่ามีอันตรายแฝงอยู่ในครั้งนี้”
ไมเคิลถูกหามตัวส่งโรงพยาบาลหลังพ่ายแพ้ เขาสลบไสลไปกว่า 4 วันจากอาการสมองบวม โดยภายหลังคณะแพทย์บอกเขาและผู้จัดการว่าหากศีรษะของเขาได้รับการกระทบกระเทือนอีกครั้ง เขาจะต้องนอนนิ่งเป็นผักไปตลอดชีวิต
“หลังจากที่พ่อดูผมขึ้นชกป้องกันแชมป์และทราบข่าวว่าผมมีอาการโคม่า พ่อกลับพูดว่า ‘ดี ให้ลิ่มเลือดอุดตันมันตายไปเลย’ ”
“…แต่ปฏิกิริยาแรกของผม (หลังรู้ตัวว่าไม่อาจขึ้นชกได้อีก) กลับรู้สึกโล่งอก คือผมมักจะมีความคิดขัดแย้งในหัวตลอดว่าทำไมผมถึงชกมวยตั้งแต่แรก”
คงไม่ผิดที่ใครหลายคนในตอนนั้นมองว่าอนาคตของไมเคิล เบนท์ อดีตแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทได้จบสิ้นลงแล้ว เพราะในสังคมอเมริกัน ผู้ที่ก้าวมาเป็นนักมวยส่วนมากล้วนมีพื้นเพหรือฐานะที่ไม่สู้ดีนัก ทำให้นักมวยหลายคนไม่มีความรู้ที่จะวางแผนรองรับความเสี่ยงในอนาคต หลายคนพอเลิกชกมวยก็ปล่อยให้ชีวิตตกต่ำและกลายเป็นไอ้ขี้เมาหรือไม่ก็จบลงที่คุกที่ตาราง
แต่ใครจะไปรู้ว่าความพ่ายแพ้ที่ใครหลายคนมอง กลับเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่จะทำให้ไมเคิลลุกขึ้นใหม่อย่างเต็มภาคภูมิอีกครั้ง เพราะครั้งนี้เขาจะเลือกเส้นทางชีวิตด้วยตัวเอง
#แขวนนวมสู่เส้นทางชีวิตที่เลือกเอง
ไมเคิลใช้เวลากว่า 2 ปีค้นหาตัวเอง ก่อนพบว่าตัวเองชอบการเขียน จึงไปสมัครเรียนเพื่อพัฒนาทักษะด้านนี้ ต่อมาเขาบังเอิญได้พบกับเบิร์ต ชูการ์ นักข่าวมวยระดับตำนานของช่อง HBO ซึ่งชวนให้เขาลองเขียนบทความเกี่ยวกับผลกระทบทางอารมณ์ของการโดนน็อกและการน็อกคนอื่น
โดยในบทความดังกล่าว ไมเคิลได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ในการชก โดยเฉพาะการถูกเฮอร์บี ไฮด์น็อกลงในยกที่ 7 ว่าหลังจากนั้นความทรงจำบางส่วนของไฟท์ดังกล่าวได้เลือนหายไปจากสมอง ซึ่งนักประสาทวิทยาและนักจิตวิทยาหลายคนบอกตรงกันว่า จิตใต้สำนึกของไมเคิลมีแนวโน้มที่จะระงับภาพเหตุการณ์ความรุนแรงและสะเทือนขวัญนี้ ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนชก รวมถึงวินาทีที่เขาล้มลงอย่างแน่นิ่งบนเวที
และบทความนี้เองก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนในวงการบันเทิงหลายคนเริ่มสนใจในตัวไมเคิล เบนท์ โดยเฉพาะทีมคัดตัวนักแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Ali (อาลี กำปั้นท้าชนโลก : นำโดยวิลล์ สมิธ) ที่ได้มาทาบทามให้ไมเคิลมาช่วยรับบทเป็นซอนนี ลิสตัน นักมวยแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทในตำนาน
“การไปแอลเอเปลี่ยนชีวิตผมไปโดยสิ้นเชิง ผมรู้สึกสบายใจกว่าที่ได้อยู่ในบริษัทของเหล่าคนสร้างสรรค์ ผมเริ่มฝึกสอนนักแสดงให้ชกมวย
ผมบอกได้เลยว่านักมวยเป็นคนที่โกหกเก่งที่สุดในโลก เพราะพวกเขาปฏิเสธความเจ็บปวด แต่หน้าที่ของนักแสดงนั้นคือการเค้นความเจ็บปวดนั้นออกมา”
นอกจากการร่วมงานกับวิลล์ สมิธ แล้ว ไมเคิลยังได้ร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ มากมาย ต่อยอดไปถึงการเป็นผู้กำกับละครบรอดเวย์เรื่อง KID SHAMROCK
“การถูกเฮอร์บี ไฮด์ น็อกเอาต์คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิตผม มันเจ็บปวด แต่ถ้าผมไม่ถูกน็อกในวันนั้น ผมก็คงยังรับบทไอ้หนุ่มนักมวยและสวมหน้ากากนั้นอยู่ ผมชอบที่ไมลส์ เดวิส (นักดนตรีแจ๊สชื่อดัง) บอกว่า ‘บางครั้งก็ต้องใช้เวลานานในการเรียนรู้ที่จะเล่นเป็นตัวเอง’ ดังนั้นผมถึงมักตั้งคำถามว่าตัวผมเองเป็นใคร ซึ่งมันก็โอเคนะครับ”
จากเด็กชายที่ถูกพ่อบังคับให้ชกมวยสู่แชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทผู้ที่ไม่เคยมีความสุขกับชีวิต แต่แล้วการพ่ายแพ้ในวันหนึ่งกลับสร้างความรู้สึกโล่งอกที่รู้ว่าตัวเองจะได้หลุดพ้นจากวงโคจรแห่งกำปั้น เพื่อออกตามหาสิ่งที่ตัวเองหลงใหลและประสบความสำเร็จกับเส้นทางที่ตัวเองเลือก
เรื่องราวของไมเคิล เบนท์ จึงถือเป็นบทเรียนและตัวอย่างชีวิตที่น่ายกย่องในการรับมือกับความพ่ายแพ้ และใช้มันเป็นจุดเปลี่ยนในการทวงคืนชีวิตและความฝันของตัวเอง
…………………….
(ภาพประกอบเนื้อหาในบทความจาก http://michaelbentt.com/new-documentary/)