- ขอหมอนใบนั้นเมื่อเธอฝันยามหนุน เขียนโดย ประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ปี 2554 นวนิยายเล่มนี้ได้รับรางวัลชมเชย จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี 2535 และได้รับเลือกเป็น 1 ใน 500 เล่ม หนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน โดยได้รับการชื่นชมในฐานะนวนิยายที่เป็นแรงใจให้ทุกคนที่ไม่ยอมแพ้
- หนังสือถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครเอก ‘ล่องจุ๊น’ ลูกคนกลางผู้เติบโตมาท่ามกลางอคติและการเลือกที่รักมักที่ชังของผู้เป็นพ่อ แต่เขากลับไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตาและความอยุติธรรมทั้งหลายในชีวิต และใช้มันเป็นแรงผลักดันไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น
เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2557 อ.ประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ได้ส่งหนังสือเรื่อง ‘ขอหมอนใบนั้น…ที่เธอฝันยามหนุน’ มาให้ผมทางไปรษณีย์
แม้จะไม่เคยอ่านมาก่อน แต่ด้วยชื่อเสียงเรียงนามที่ไม่ธรรมดา ก็พาให้ผมทราบคร่าวๆ ว่านี่คือนวนิยายน้ำดีที่บอกเล่าเรื่องราวของ ‘ลูกคนกลาง’ ผู้ไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตาและความอยุติธรรมทั้งหลายในชีวิต
ลูกคนกลางและลางร้าย
“พ่อมีพี่ถมเมื่อเริ่มงานรับจ้างถมที่ มีผมเมื่อพ่อพลาดถลำไปกับงานชิ้นนั้นจนหมดเนื้อหมดตัว และมีนายกี้เมื่อโชคดีกลับมาตั้งตัวใหม่ได้อีกครั้ง”
‘ล่องจุ๊น’ เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า ‘หมดเนื้อหมดตัว’ พ่อตั้งชื่อนี้ให้กับลูกคนกลางอย่างเขา เพราะเขาดันเกิดมาในช่วงที่พ่อหมดตัวไปกับงานถมที่และนับแต่นั้นเวลาพ่อประสบปัญหาต่างๆ ในชีวิต แทนที่จะยอมรับและแก้ไขมัน พ่อกลับโยนความผิดว่าเป็นเพราะล่องจุ๊น จนล่องจุ๊นเข้าใจว่าตัวเองเป็นตัวนำโชค(ร้าย)ให้กับคนรอบข้าง
นับแต่นั้น พระเอกของเราก็มีชีวิตค่อนข้างอาภัพ และกลายเป็นลูกนอกคอกที่พ่อไม่รัก ไล่ตั้งแต่การเป็นเด็กที่พ่อไม่เคยอุ้ม เวลามีของกินอร่อยๆ หรือของเล่นดีๆ พ่อก็จะมอบมันแก่พี่ชายและน้องชายของเขา โดยปล่อยให้เขามองอยู่ห่างๆ ด้วยความน้อยใจ
เมื่อลูกคนกลางถูกเลี้ยงด้วยความรู้สึกเลือกที่รักมักที่ชัง ทำให้ล่องจุ๊นไปจับกลุ่มอยู่กับแก๊งนักเรียนเกเร ที่เป็นแหล่งรวมเด็กมีปัญหาเข้าไว้ด้วยกัน
แต่ท่ามกลางความมืดมิดในชีวิต ที่พึ่งทางใจหนึ่งเดียวซึ่งเหนี่ยวรั้งให้เขายังคงอยู่ในลู่ในทางก็คือแม่…แม่ที่เห็นเขาเป็นลูกคนหนึ่งจริงๆ
ล่องจุ๊นบอกว่าตอนที่พ่อด่าว่าหรือลงโทษเขา แม่จะเป็นคนเดียวที่มาปลอบใจ หรือเวลาพ่อซื้อของให้ ‘ถม’ กับ ‘กี้’ แม่จะแอบย่องมายัดเงินใส่มือของเขาด้วยความรัก
แต่แล้ววันหนึ่ง พ่อของเขากลับทรยศแม่ด้วยการมีเมียน้อย และจะพาหล่อนเข้ามาอยู่ในบ้านด้วยกัน ทำให้แม่ตัดสินใจหอบข้าวหอบผ่อนพร้อมชวนเขาย้ายออกจากนรกขุมนี้ด้วยกัน
สองแม่ลูกจึงต้องระหกระเหินจากเมืองกรุงไปยังนครปฐม และเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยกันอีกครั้ง
บ้านที่แท้จริง
‘น้าจุรี’ หรือที่ล่องจุ๊นเรียกว่า ‘อาอี้’ เป็นคนแรกและคนเดียวที่แม่นึกถึง เธอทำอาชีพขายหมูอยู่ในตลาดนัดกับสามีชาวจีน ทั้งยังมีเล้าหมูเล็กๆ ในซอยเยื้องๆ กับห้องแถวที่พัก
“คนจีนเขาว่าถ้าญาติพี่น้องไม่ช่วยกัน แล้วจะให้หมาที่ไหนมาช่วย” สามีของอาอี้กล่าวพร้อมต้อนรับพวกเขาอย่างดี
ถึงสภาพของบ้านหลังใหม่จะทรุดโทรม ทั้งยังมีกลิ่นเหม็นหืนของเนื้อหมูและขี้หมูอยู่ในทุกอณูของอากาศ หากในใจของล่องจุ๊นกลับรู้สึก ‘อบอุ่น – ปลอดภัย’ กว่าบ้านหลังใหญ่ในกรุงเทพเป็นไหนๆ
ที่นครปฐม นอกจากความรักจากแม่ ล่องจุ๊นยังได้รับความรักความเมตตาจากครอบครัวของอาอี้เสมอ ทั้งการฝากเข้าโรงเรียน การเข้ามานั่งคุยเล่นให้กำลังใจ รวมถึงการปลอบใจเขา แม้ในยามที่อาอี้เองก็อ่อนแอเช่นกัน
วันนั้นเป็นวันที่ล่องจุ๊นตื่นแต่เช้าเพื่อให้อาหารหมูในคอกตามปกติ ปรากฏว่าหมูทุกตัวกลับนอนนิ่งเป็นผัก เขาจึงรีบวิ่งไปบอกสามีของอาอี้ด้วยความตกใจ
สองสามีภรรยาแทบจะล้มทั้งยืน เมื่อรู้ว่าหมูทุกตัวที่กำลังอ้วนพีได้ที่ถูกตะขาบกัดจนตาย ส่วนล่องจุ๊นก็ยืนร้องไห้จนตัวสั่น พลางนึกโทษตัวเองว่าเป็นตัวนำหายนะอย่างที่พ่อของเขาเคยกล่าวไว้
ดึกดื่นคืนนั้น อาอี้เดินมาคุยกับเขา พร้อมปลอบใจเด็กชายที่เอาแต่โทษตัวเอง เธอบอกว่า “พระจะสึก ลูกจะออก ขี้จะแตก คนจะตาย มันห้ามกันไม่ได้ ถ้าหมูตายมันก็ต้องตาย ไม่ใช่ความผิดของจุ๊นหรือของใคร”
“แต่ผมเป็นคนทำให้อาเตี๋ยกับอาอี้เดือดร้อน เพราะผมชื่อไอ้ล่องจุ๊น”
ถึงบรรทัดนี้ ผมในฐานะลูกคนกลางเห็นใจล่องจุ๊นมาก เพราะผมเชื่อว่าคำพูดของพ่อแม่ โดยเฉพาะคำพูดร้ายๆ ที่กล่าวกับเราในวัยเด็กมักฝังแน่นอยู่ในความคิดของเราเสมอ
แทนที่จะปล่อยผ่าน อาอี้กลับดึงล่องจุ๊นมากอดไว้ พร้อมกล่าวกับเขาด้วยความรักว่าชื่อนั้นเป็นเพียงสิ่งสมมติ ต่อให้ชื่อไอ้หมาแต่ถ้าเป็นคนดีมีมานะ ขยัน และไม่คดโกงใคร คนเขาก็จะนับถือยิ่งกว่าคนที่ชื่อเทวดาแต่ทำตัวระยะตำบอน
ล่องจุ๊นก้มลงกราบอาอี้ของเขาด้วยความกตัญญู เพราะถึงพ่อจะจงเกลียดจงชังเขา แต่เขายังมีแม่ที่รักและเมตตาเขาถึงสองคน
การเปลี่ยนแปลง
หลังผ่านเหตุการณ์หมูทั้งคอกตายไป แม่ก็เริ่มมีรายได้จากการขายข้าวแกงจนย้ายออกมาอยู่กับเขาสองคน แต่แม่ยังคงสอนให้ล่องจุ๊นปลีกเวลาหลังเลิกเรียนไปช่วยงานอาอี้เท่าที่พอจะช่วยได้
กระทั่งวันที่ครอบครัวของอาอี้ตายยกบ้านจากการถูกปล้น แม่ของเขาจึงเหมือนคนเสียศูนย์เสียหลักไปพักใหญ่ ประกอบกับช่วงนั้นล่องจุ๊นเริ่มเป็นวัยรุ่นที่ติดเพื่อนติดสาว ทำให้เขาไม่ได้อยู่กับแม่บ่อยๆ มารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่แม่ของเขาบอกว่าจะพาสามีใหม่มาอยู่ด้วย (แม้ล่องจุ๊นจะทัดทานแค่ไหนก็ตาม)
แต่พ่อเลี้ยงกลับเป็นคนเสเพล ไม่ทำการทำงาน ทั้งยังผลาญเงินของแม่ไปกับการพนันขันต่อ
พอพนันแล้วเสียบ่อยเข้า สามีใหม่ก็ขอเงินแม่มากขึ้นทุกวัน พอไม่ให้ก็ลงมือทำร้ายร่างกายแม่ โดยเฉพาะวันที่ล่องจุ๊นเห็นภาพนั้นกับตาตัวเอง
วันนั้นสามีใหม่มาขอเงินที่แม่กันไว้สำหรับจ่ายค่าเล่าเรียนของล่องจุ๊น แต่แม่ยืนยันว่ายังไงก็ไม่ให้ แม้ตัวเองจะถูกทุบตีจนใบหน้าฟกช้ำก็ตาม
เมื่อล่องจุ๊นเห็นแม่ถูกทุบตี เขาจึงเลือดขึ้นหน้าและหยิบมีดไปจ้วงเข้าที่ท้องของพ่อเลี้ยง ก่อนหนีขึ้นรถขนผักที่มุ่งหน้าสู่กรุงเทพด้วยความหวาดกลัว
เผชิญหน้ากับพ่อ
จากนั้นล่องจุ๊นต้องเผชิญความโหดร้ายมากมายด้วยตัวคนเดียว โดยเฉพาะการถูกกล่าวหาใส่ร้ายว่าพรากผู้เยาว์ (ที่เพื่อนของเขาเป็นผู้ก่อ) จนนำไปสู่การติดคุก ที่สุดแล้วเขาจึงต้องกลับมาพึ่งพาอาศัยพ่ออีกครั้งด้วยความจำใจ
แม้จะให้ลูกคนกลางกลับมาอาศัยอยู่ด้วย แต่ผู้เป็นพ่อก็อดไม่ได้ที่จะกล่าวเหน็บแนมต่อว่าเขาอยู่ตลอดเวลา
“หลายครั้งหลายหนที่ผมถามตัวเองว่าทำไมพ่อถึงทำเหมือนผมเป็นไอ้ตัวอะไรสักตัวที่ไม่ใช่ลูกแท้ๆ ของพ่อ ทำไมพ่อถึงเหยียบย่ำผมให้จมดินอยู่ตลอดเวลา และทำไมพ่อถึงไม่เคยคิดว่าพ่อเป็นคนที่ทำร้ายจิตใจและทำลายความเชื่อมั่น ทำลายอนาคตของผมมาตั้งแต่ผมเกิด โดยไม่เคยหยิบยื่นเศษเสี้ยวของความเมตตาให้แม้แต่น้อยนิด”
หลังย้ายมาอยู่บ้านของพ่อได้พักใหญ่ พ่อก็ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ เมื่อฟื้นคืนสติ พ่อก็สั่งให้ล่องจุ๊น ‘ลาออกจากโรงเรียน’ เพื่อมาช่วยงานที่บริษัท ด้วยเหตุผลว่าพี่ชายกับน้องชายของเขาเรียนหนังสือเก่งและดูดีมีอนาคตกว่า
ล่องจุ๊นจึงจำใจมาเฝ้างานก่อสร้างที่พระประแดงแทนพ่อ ระหว่างนั้นเองเขาได้พบกับ ‘แตงกวา’ นางเอกของเรื่องที่เป็นเสมือนที่พึ่งพิงและคอยให้กำลังใจเขาเสมอ
“ไม่มีใครได้ทุกอย่างดังใจหวัง และไม่มีใครจะพลาดหวังทุกครั้งไป”
“ลูกท้อกินได้ แต่ความท้อใจกินไม่ดี”
สองประโยคนี้ คือคำพูดที่แตงกวามักให้กำลังใจล่องจุ๊นเสมอ เพราะล่องจุ๊นยังติดภาพจำว่าเขาคือตัวซวย ดังนั้นการที่พ่อรถคว่ำและเขาต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยบริหารงานก็เป็นเรื่องสมควรแล้ว
กว่าพ่อจะยอมรับในตัวล่องจุ๊นก็ตอนที่เขาบริหารงานของพ่อให้ดำเนินต่อไปด้วยดี แถมยังช่วยน้องชายของเขาจากเหตุการณ์ถูกจิ๋กโก๋รุมทำร้าย รวมไปถึงการเป็นคนกลางในการนำพาให้ทุกคนเดินทางไปเยี่ยมแม่ที่นครปฐมอยู่บ่อยครั้ง
……….
ถึงแม้พ่อจะสร้างบาดแผลในใจของล่องจุ๊นด้วยคำพูดและการกระทำอยู่บ่อยครั้ง แต่ล่องจุ๊นกลับไม่ยอมปล่อยให้ชีวิตตกต่ำไปตามคำดูถูกเหล่านั้น กลับกันเขาได้นำสิ่งนี้มาเป็นแรงผลักดันสู่ชีวิตที่ดีขึ้น และผมขอเป็นกำลังใจให้ลูกคนกลางทุกคนว่า “ไม่มีใครได้ทุกอย่างดังใจหวัง และไม่มีใครจะพลาดหวังทุกครั้งไป”