- ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต เป็นหนังสือคอมิกของสำนักพิมพ์ไก่3 เขียนโดย สะอาด นักเขียนการ์ตูนอิสระที่เคยคว้ารางวัลเหรียญเงินจากการประกวดการ์ตูนระดับนานาชาติ (International Manga Awards ครั้งที่ 5) ที่ประเทศญี่ปุ่น
- แม้จะเป็นการ์ตูน แต่เนื้อหาและสไตล์การเล่าเรื่องของสะอาดกับให้ความรู้สึกเหมือนได้นั่งดูหนังสั้นดี ๆ สักเรื่องที่บอกเล่าเรื่องราวการเติบโตของตัวละครผ่านความอ่อนหวานขมปร่าของความรักและความทรงจำภายใต้บริบทของสังคมไทย
ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต เป็นหนังสือเล่มล่าสุดของ สะอาด ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ นักเขียนการ์ตูนชื่อดังวัย 31 ปี เจ้าของเพจ ‘Sa-ard สะอาด’ ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1.7 แสนคน และเคยคว้ารางวัลเหรียญเงินจากการประกวดการ์ตูนระดับนานาชาติ (International Manga Awards ครั้งที่ 5) ที่ประเทศญี่ปุ่น
แม้ปกหลังของหนังสือเล่มนี้จะระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นหนังสือภาคต่อของ ‘บทกวีชั่วชีวิต’ ที่ขายดิบขายดีจนผมหาซื้อไม่ได้แล้ว แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาในการอ่านใดๆ ทั้งสิ้น
สะอาดเปิดเรื่องด้วยเรื่องราวของสองแม่ลูกที่เดินทางมายังร้านขายของมือสองกึ่งคาเฟ่แห่งหนึ่งซึ่งมีคอนเซปต์แปลกประหลาดไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็นการตั้งราคาของมือสองที่แพงหูฉี่ หรือบริการถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของสินค้ามือสองทุกชิ้นแก่ผู้ที่สนใจ
“ของมือสองทุกชิ้นในร้าน มองเผินๆ อาจจะรู้สึกว่าก๊องแก๊งไร้ค่า แต่จริงๆ มันบรรจุเรื่องราวเจ้าของเดิมเอาไว้ ทั้งเรื่องที่สนุกสนานตื่นเต้น ขมปี๋แสนหวาน หรือบันดาลใจ คุณเอาสิ่งใดๆ ในร้านมาหาผม ผมจะเล่าเรื่องราวของมันให้ฟัง นั่นแหละคือสิ่งที่ผมขาย”
เมื่อกวาดสายตามองชั้นวางของภายในร้าน สังเกตว่าสิ่งของที่ดูโดดเด่นเป็นพิเศษ คงหนีไม่พ้นแมวราคา 20 ล้านบาท / จอยสติ๊ก (อุปกรณ์บังคับสำหรับเล่มเกม) / เครื่องบันทึก VDO รวมไปถึง ‘กุญแจรถ’ ที่มองผิวเผินอาจดูธรรมดา แต่ความจริงแล้วกุญแจดอกนี้ได้ไขความลับของตัวละครและไขความรู้สึกบางอย่างในใจของผมเช่นกัน
กุญแจรถเดิมทีเป็นของเถ้าแก่ร้านทองที่หาดใหญ่ เถ้าแก่มีลูกสี่คน ได้แก่ ลูกสาวคนโต ตามด้วยลูกชายอีกสามคน
เมื่อลูกสาวเติบใหญ่ขึ้น เธอจำต้องทำงานอย่างหนักเพื่อส่งน้องๆ เรียน ควบคู่ไปกับการดูแลผู้สูงอายุในบ้าน กระทั่งน้องชายทุกคนเรียนจบ ต่างคนต่างมีครอบครัว
ลูกสาวคนโตก็เช่นกัน เธอได้พบรักกับชายคนหนึ่งซึ่งแม้ภายหลังจะเลิกรากัน แต่เธอก็ได้เป็นแม่ของเด็กสามคน และยังคงใช้ชีวิตอยู่ในร้านทองต่อไป กระทั่งวันที่เธอไม่คาดคิดมาถึง
วันนั้นเป็นวันที่เถ้าแก่ร้านทองเสียชีวิต เธอกลับพบว่าพ่อไม่ได้ให้มรดกเธอเลยสักนิด เพียงเพราะเธอเป็น ‘ลูกสาว’
ในฐานะที่ผมเองก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีนเช่นกัน อยากบอกว่าเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศของชาวจีนยุคก่อนเป็นปัญหาสุดคลาสสิกของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ เพราะคนจีนยุคก่อนเติบโตมากับชุดความคิดที่ว่า “ลูกชายคือคนใน ลูกสาวคือคนนอก” หรือแปลตรงๆ คือลูกสาวคือคนที่ต้องแต่งงานออกนอกตระกูล ดังนั้นวัฒนธรรมจีนจึงให้ความสำคัญกับ ‘ลูกชาย’ ที่เป็นผู้สืบทอดสกุลมากกว่า
หรือแม้แต่ตอนที่ปู่ของผมเสียชีวิต ผมก็เห็นการแบ่งศักดิ์แบ่งลำดับเกิดขึ้นในพิธีกงเต๊ก (การทำบุญงานศพของชาวจีน) โดยลูกสะใภ้จะถูกจัดลำดับให้ยืนอยู่ก่อนลูกสาวแท้ๆ ซึ่งสะท้อนมุมมองของคนจีนที่มีต่อลูกสาวได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นลูกสาวเถ้าแก่ร้านทองจึงเป็นเหยื่อของกับดักทางวัฒนธรรมไปโดยปริยาย และแน่นอนว่าพอเธอถามหาความยุติธรรม หรือขอความช่วยเหลือจากน้องๆ ปรากฏว่าทุกคนกลับมีข้ออ้างสารพัดโดยไม่มีใครคิดจะช่วยเหลือหรือเป็นเดือดเป็นร้อนกับเธอสักคน
วันหนึ่งเธอจึงขโมยรถหรูของพ่อผู้ล่วงลับพร้อมหอบลูกทั้งสามหนีจากหาดใหญ่ไปอยู่นครสวรรค์ และเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นั่น
เมื่อไม่ได้มีเงินกงสีแบบสมัยก่อน เธอจึงเข้มงวดกับลูกๆ ทั้งสาม ที่ประกอบด้วย ไก่ ก็อต และกร ตามลำดับ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีมุมมองและปมในใจที่ต่างกันออกไป โดยเฉพาะลูกชายคนกลางอย่างก็อตที่ถูกแม่ตัดขาดและกลายเป็นลูกชายที่แม่ไม่ยอมรับเพียงเพราะเขาเป็นเกย์
ผมรู้สึกสงสารก็อตมากและอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าในเมื่อแม่ไม่พอใจที่อากงแบ่งสมบัติให้เฉพาะลูกชายตาม ‘ความเชื่อ’ ของอากง แต่พอเธอมีลูกเป็นเกย์บ้าง เธอกลับเอา ‘ความเชื่อ’ เรื่องเพศสภาพของเธอมาตัดสินลูกว่าลูกมีปัญหาทางจิต จนนำมาสู่การทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นตัดแม่ตัดลูก
ผมมองว่าแม้แม่จะเป็นคนที่เคยผ่านเรื่องราวความยากลำบากมามากมาย แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่แม่นำเอาความเชื่อของตัวเองมาตัดสินลูกแบบนั้น เพราะสุดท้ายตัวละครแม่ในเรื่องก็ไม่ต่างอะไรกับอากงที่แบ่งสมบัติให้ลูกๆ ตามความเชื่อของตัวเองเช่นกัน
เวลาดำเนินผ่านไปเรื่อยๆ แม่ตัดขาดลูกทั้งไก่และก็อต มีเพียงกรเท่านั้นที่อยู่เป็นลูกรักตราบจนแม่เสียชีวิต
ในงานศพแม่ ลูกทั้งสามได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ก่อนทำตามคำสั่งเสียครั้งสุดท้ายของแม่ นั่นคือการนำจดหมายสั่งเสียและรถที่แม่ขโมยอากงไปคืนญาติที่หาดใหญ่
ผมชื่นชอบการวางโครงเรื่องของสะอาดที่พี่น้องสามคนต้องมาเดินทางไปหาดใหญ่ ทำให้ทั้งหมดมีโอกาสเคลียร์ปมในใจหลายๆ อย่าง เช่นตอนที่ ‘ก็อต’ เหน็บแนมน้องคนเล็กอย่าง ‘กร’ ว่ากรเป็นลูกรักเลยไม่โดนแม่ต่อว่าหรือเข้มงวด กรจึงสวนกลับไปว่าเป็นเพราะเขาเกิดจากความไม่ตั้งใจของพ่อแม่ต่างหาก (ซึ่งทุกคนในครอบครัวรู้ดี) ดังนั้นกรจึงต้องทำตัวอยู่ในกรอบที่แม่วางไว้ทุกอย่างเพื่ออยากชดเชยให้กับ ‘บาป’ ที่เขาดันเกิดมาเป็นภาระของทุกคน
เมื่อสามพี่น้องเดินทางถึงบ้านหลังโตที่หาดใหญ่ ‘อาแปะ’ (น้าชาย) ได้ต้อนรับพวกเขาตามมารยาท แต่ก็ไม่วายกล่าวเหน็บแนมคนตายอย่างน่ารังเกียจ
“มันก็คงเป็นกรรมแหละเนอะ ที่แม่พวกลื้อต้องมาเจอโรคร้ายไปก่อนไง คงเป็นกรรมที่เค้าอกตัญญู หนีตระกูลไปเมื่อหลายปีก่อนแน่ๆ”
นอกจากจะพูดจาไม่น่ารัก การกระทำของอาแปะตอนนำอั่งเปามาแจกหลานทั้งสามคนก็มีนัยยะสำคัญเช่นกัน เมื่อหลานสาวอย่าง ‘ไก่’ พบว่าตัวเองได้เงินน้อยกว่าน้องชายทั้งสอง
“เดี๋ยวๆ ฮะแปะ ทำไมได้น้อยกว่าก็อตเยอะเลยง่ะ”
“หืม? แล้วทำไมถึงต้องให้เท่ากันด้วยล่ะ?”
หลังอ่านบทสนทนานี้ ผมถอนหายใจเบาๆ ใจหนึ่งก็สงสารไก่ที่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แต่อีกใจหนึ่งก็เข้าใจว่าอาแปะเองก็ถูกวัฒนธรรม ‘ชายเป็นใหญ่’ สปอยล์มาตั้งแต่เด็ก แถมการถูกสปอยล์นั้นก็ทำให้อาแปะได้มรดกและเงินทองมากมาย ดังนั้นเมื่อไม่เสียประโยชน์อะไร การที่อาแปะจะให้ค่าหลานสาวน้อยกว่าหลานชายจึงกลายเป็น ‘ความชอบธรรม’ ในสายตาของอาแปะ
อย่างไรก็ตาม ผมกลับรู้สึกดีใจที่ก็อตและกรแสดงปฏิกิริยาต่อต้านการกระทำของอาแปะทันที ซึ่งแสดงให้เห็นว่าถึงทั้งคู่จะเป็นผู้ชาย แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการ ‘ด้อยค่า’ ผู้หญิงตามความเชื่อของคนจีนรุ่นก่อน
นอกจากนี้ ในฉากสุดท้ายที่พูดถึงจดหมายสั่งเสียของแม่ นอกจากพูดถึงน้องๆ อย่างเจ็บแสบแล้ว แม่ยังฝากข้อความถึงลูกทั้งสามสั้นๆ ว่า
“ถึงไก่ ก็อต และกร แม่ขอโทษ หากชาติหน้ามีจริง อยากไปเดินเล่นริมทะเลกับทุกคนอีกครั้ง รัก”
ผมรู้สึกว่าเป็นการปิดเรื่องได้อย่างงดงาม เพราะไม่เพียงสะท้อนว่าแม่ได้ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง (ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่หลายคนมักมองข้าม) แต่ในความผิดพลาดนั้นเธอยังคงรักลูกทุกคนและหวังว่าวันหนึ่งจะมีโอกาสแก้ตัวในฐานะ ‘แม่ที่มีอยู่จริง’ ของลูกสักครั้ง