- คิริโกะกับคาเฟ่เยียวยาใจ เขียนโดย โมริซาวะ อากิโอะ นักเขียนชื่อดังที่ผลงานหลายเรื่องถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ แปลเป็นภาษาไทยโดย พิมพ์รัก สุขสวัสดิ์ สำนักพิมพ์พิคโคโล
- นวนิยายเรื่องนี้ บอกเล่าเรื่องราวของคิริโกะ อดีตนักจิตวิทยาการปรึกษาชื่อดังที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของร้านคาเฟ่เล็กๆ แม้เธอจะชงเครื่องดื่มไม่เก่งสักอย่าง แต่คาเฟ่ของเธอกลับมีชื่อเสียงด้านการเยียวยาจิตใจให้กับลูกค้าที่กำลังตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์
เมื่อสิบกว่าปีก่อน ผมมีโอกาสเข้าร่วมคอร์สอบรมนักเขียนกับอาจารย์ประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์
เรื่องหนึ่งที่ยังติดอยู่ในใจคือช่วงที่ทุกคนสลับกันแนะนำตัว มีคุณป้าคนหนึ่งจู่ๆ ก็ร้องไห้ เธอกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือว่าตัดสินใจมาเข้าคอร์สเพราะต้องการจุดไฟฝันอีกครั้ง หลังจากที่สมัยสาวๆ เคยคว้ารางวัลนักเขียนดีเด่นจากเวทีประกวดแห่งหนึ่ง แต่สุดท้ายกลับละทิ้งฝันนั้นเพื่อไปประกอบอาชีพอื่นที่ให้ความมั่นคงกว่า
“ตั้งแต่นั้นมา ดิฉันก็ไม่ได้เขียนอะไรจริงๆ จังๆ อีกเลย มันเลยคาใจมาตลอดชีวิต”
เหตุการณ์นั้นย้อนกลับมาในความคิดของผมอีกครั้ง เมื่ออ่านนวนิยายญี่ปุ่นเรื่อง ‘คิริโกะกับคาเฟ่เยียวยาใจ’ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของคิริโกะ อดีตนักจิตวิทยาการปรึกษาชื่อดังที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของคาเฟ่เล็กๆ ที่ชื่อ ‘โชโดวะ’ แม้เธอจะไม่เชี่ยวชาญในการชงเครื่องดื่ม แต่คาเฟ่ของเธอกลับมีชื่อเสียงด้านการเยียวยาจิตใจให้กับลูกค้าที่กำลังตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์
หนึ่งในบทที่สะกิดใจผมเป็นพิเศษคือเรื่องของ ‘โคเฮ’ คุณลุงวัย 53 ปีที่เพิ่งตกงานจากการถูกเลิกจ้างกะทันหัน เขาจึงอยู่ในช่วงตัดสินใจว่าจะหางานใหม่ หรือถือโอกาสนี้กลับไปไล่ล่าความฝันวัยหนุ่มอย่างการเป็นนักดนตรีร็อคแอนด์โรล
ขณะเล่าความรู้สึกที่คาเฟ่โชโดวะ ทุกคนที่ร้าน (ยกเว้นคุณคิริโกะที่ไม่อยู่) ต่างเห็นพ้องว่าโคเฮควรกลับไปหางานใหม่ที่มั่นคงเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว เพราะการจะเริ่มต้นเป็นนักดนตรีร็อคแอนด์โรลในวัย 53 ดูจะสายเกินไป
แน่นอนว่าคำตอบที่เขาได้รับไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย แต่สำหรับผม โคเฮเหมือนกับกระจกที่สะท้อนความรู้สึกของใครหลายคน หนึ่งคือการมีความฝันที่ยังคาใจ (เพราะยังไม่ได้ลงมือทำ) สองคือการแสวงหาคำตอบของใครสักคนที่ช่วยยืนยันสิ่งที่เราแอบคิด
ผมเชื่อว่าทุกคนคงเดาได้ไม่ยากว่าหลังจากวันนั้น โคเฮได้แต่ก้มหน้ายอมรับชะตากรรมและกลับไปหางานประจำ เพราะชีวิตจริงไม่ได้เปิดโอกาสให้เราสามารถไล่ตามความฝันโดยไร้ข้อจำกัด โดยเฉพาะเมื่อโคเฮต้องเป็นเสาหลักของครอบครัว การเลือกเส้นทางเดิมที่แม้อาจจะไม่ถูกใจนักแต่การันตีความมั่นคงทางด้านรายได้ย่อมเป็นทางเลือกที่น่าจะถูกต้องกว่าโดยไม่จำเป็นต้องถามใครด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม โคเฮเริ่มทบทวนชีวิตที่ผ่านมาซึ่งไม่ต่างอะไรกับค่านิยมของคนส่วนใหญ่ มีงานประจำ รายได้มั่นคง เสี่ยงน้อย ไม่ทำให้คนรักและครอบครัวเป็นห่วงหรือเดือดร้อน หากแต่ลึกลงไปในความรู้สึก เขายังคงคาใจมาตลอดว่า ถ้าตอนนั้นเขาเลือกเดินบนเส้นทางดนตรี…ตอนนี้เขาจะมีชีวิตอย่างไรกันแน่?
“แต่การเลือกเส้นทางปกตินั้นถูกต้องจริงไหมนะ…ผมเริ่มคิดหลังจากถูกเลิกจ้างน่ะครับ เพราะที่ผ่านมาผมใช้ชีวิตแบบปกติธรรมดามากๆ เลยมีส่วนที่นึกเสียใจภายหลังหลายอย่าง”
แม้จะเลือกสมัครงานไปไม่น้อยกว่า 7 แห่ง รวมถึงไปสอบสัมภาษณ์มาบ้างแล้ว แต่ผ่านไปเป็นเดือนก็ยังไม่มีที่ใดตอบรับ โคเฮจึงกลับมานั่งคอตกที่คาเฟ่โชโดวะอีกครั้ง โชคดีที่ครั้งนี้อดีตนักจิตวิทยาการปรึกษาอย่างคิริโกะอยู่ด้วย เธอจึงอาสาติวการสอบสัมภาษณ์ให้โคเฮเป็นกรณีพิเศษ
ระหว่างติวสัมภาษณ์ คิริโกะวางเงื่อนไขสำคัญคือโคเฮห้ามโกหกและต้องบอกความรู้สึกที่แท้จริงอย่างตรงไปตรงมา และเมื่อถามไปเรื่อยๆ จนบรรยากาศเริ่มผ่อนคลาย คิริโกะกับผู้ช่วยก็ค่อยๆ ไล่ถามสาเหตุที่ทำให้เขาเลิกเล่นดนตรี
“ที่ผมต้องเลิกเล่นดนตรี…เพราะผมคิดว่าในฐานะเสาหลักของครอบครัว ควรให้ความสำคัญกับความสุขของครอบครัวมากกว่าไล่ตามความฝันของตัวเอง”
หลังจากวันนั้น คิริโกะทราบจากคนในคาเฟ่ว่าโคเฮมีลูกชายชื่อ ‘ฮารุกิ’ หนุ่มมัธยมที่มักไปยืนเปิดหมวกเล่นดนตรีบริเวณสถานีรถไฟฟ้า เธอจึงไปเดินชมความสามารถ ก่อนชักชวนเขามาที่คาเฟ่โชโดวะ และคุยกันถูกคอจนฮารุกิเล่าให้ฟังว่าความฝันของเขาคือการเป็นนักร้องนักแต่งเพลง ระหว่างนั้นคิริโกะจึงชวนฮารุกิคุยเรื่องพรสวรรค์
“เธอรู้หรือเปล่าว่าพรสวรรค์คือะไร”
เหมือนกับผม ฮารุกิคิดว่าพรสวรรค์คือ เซนส์ หรือความสามารถพิเศษที่พระเจ้ามอบให้ แต่ในมุมของอดีตนักจิตวิทยาการปรึกษาอย่างคิริโกะ คำตอบนั้นอาจไม่ได้ถูกต้องทีเดียว เพราะหากมีพรสวรรค์แต่ไม่เข้าใจแก่นแท้ก็ยากจะประคับประคองตัวเองไปตลอดรอดฝั่ง โดยเฉพาะในโลกของมืออาชีพ
“เธอจำไว้นะ พรสวรรค์น่ะคือความสามารถในการโน้มน้าวตัวเองไปเรื่อยๆ ว่าจะไม่ลดละความพยายามเป็นอันขาดจนกว่าจะประสบความสำเร็จ
สรุปคือ ตั้งหน้าตั้งตาทำให้ดีที่สุดไปเรื่อยๆ โดยไม่ย่อท้อจนกว่าความฝันจะเป็นจริง เราเรียกคนที่ทำสิ่งนั้นได้ว่าเป็นคนที่มีพรสวรรค์ในการทำความฝันให้เป็นจริง”
ผมคิดว่าประโยคนี้คือหัวใจสำคัญของเรื่อง การที่เราทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เรารักได้ดีพิเศษเป็นเพียงก้าวแรกของพรสวรรค์เท่านั้น แต่เราจะไม่สามารถเปลี่ยนพรสวรรค์นั้นให้เป็นประโยชน์ได้เลย หากขาดคุณสมบัติอย่างที่คิริโกะกล่าวไว้
มากไปกว่านั้น ผมยังคิดถึงทักษะที่ชื่อว่า Resilience หรือความสามารถในการฟื้นตัวและกลับมายืนหยัดใหม่อีกครั้งหลังจากเผชิญความล้มเหลว ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยโน้มน้าวให้เราไม่ยอมแพ้ไปเสียก่อน
หลังจากพูดประโยคสำคัญ คิริโกะได้ชวนฮารุกิดูวิดีโอตัวอย่างบทสัมภาษณ์ของนักดนตรีที่ขาดพรสวรรค์ นั่นทำให้ฮารุกิถึงกับอึ้งกับคำตอบของพ่อ (โคเฮ) ก่อนที่เธอจะมอบวิดีโอให้เขาเป็นที่ระลึก
แม้ว่าผู้เขียนไม่ได้สรุปชี้ชัดว่าสุดท้ายแล้วโคเฮจะสามารถทำความฝันให้เป็นจริงได้ไหม แต่วิดีโอนั้นก็เพียงพอที่จะทำให้ครอบครัวของโคเฮสนับสนุนให้เขาทำในสิ่งที่รัก ผ่านการที่โคเฮเลือกทำงานที่เงินเดือนน้อยลง แต่แลกกับเวลาที่เขาสามารถแบ่งปันให้ครอบครัวและกลับมาเล่นดนตรีที่เขารัก ส่วนฮารุกิเองก็สนับสนุนพ่อโดยยกพื้นที่เปิดหมวก แถมยังคอยเป็นคู่ซ้อมให้กับพ่ออีกด้วย
“ได้ยินว่าที่มหาวิทยาลับในอเมริกาน่ะนะ ทำแบบสำรวจความเห็นผู้สูงอายุในวัยเก้าสิบเกี่ยวกับชีวิต แล้วมีคำถามที่ผู้สูงอายุเกือบทุกคนตอบ ‘Yes’ น่าจะผจญภัยให้มากกว่านี้ กับคำถามที่ว่า ‘คุณคิดไหมว่าน่าจะผจญภัยในชีวิตที่มีแค่ครั้งเดียวให้มากกว่านี้’
ถ้าเจ้าตัวและครอบครัวต้องการ จะเริ่มไล่ตามความฝันตอนนี้ก็ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นจะทำหลังเกษียณก็ได้ไม่ใช่เหรอ มนุษย์เราน่ะนะ อยู่ร่วมกับความฝันที่ลองทำแล้วแต่ล้มเหลวได้ง่ายเกินคาดเลยละ แต่ความฝันค้างคาที่ยังไม่ได้ลองทำน่ะ เรากลับอยากโยนทิ้งเพราะมันเน่าอยู่ในใจจนส่งกลิ่นเหม็น ทว่ามีแต่ความฝันแบบนั้นนั่นละ ที่ไม่ยอมลบเลือนไป
…แทนที่จะปล่อยมือจากความฝัน ฉันอยากให้เขาทำให้เป็นจริงต่างหากล่ะ” คิริโกะกล่าว
ถึงบรรทัดนี้ สิ่งที่ชัดเจนขึ้นในความรู้สึกของผมก็คือ ความฝันที่ล้มเหลวไม่เจ็บปวดเท่าความฝันที่ไม่เคยได้ลงมือทำ เพราะต่อให้ทำแล้วล้มเหลวก็ยังดีกว่าชีวิตที่ไม่เคยได้ลองทำในสิ่งที่ใจปรารถนา