- การประชุมเด็ก (Kid Konference) เป็นสารคดีที่พาไปดูชีวิตของเด็กๆ ในโรงเรียนอนุบาลเป็นระยะเวลา 1 ปีการศึกษา ที่ต้องการฝึกให้เด็กๆ ได้หัดคิดด้วยตัวเอง
- ครูไม่ได้มีหน้าที่สอนตรงๆ หรือสั่งให้เด็กทำนู่นทำนี่ตาม แล้วก็ไม่ใช่ว่าครูไม่ทำอะไรเลย แต่จะเป็นคนเปิดพื้นที่ปลอดภัยและคอยสนับสนุนให้เด็กๆ คิดเอง
- กิจกรรมทั้งหมดที่โรงเรียนแห่งนี้ทำอาจจะใช้เวลาซักหน่อยกว่าที่เด็กๆ จะเข้าใจและลงมือทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ แต่การช่วยสร้างตัวตนที่มีคุณค่าให้กับพวกเขาโดยให้พวกเขาเป็นคนค้นพบมันเอง น่าจะเติบโตงอกงามอยู่ในตัวของพวกเขาได้อย่างแข็งแกร่ง
เดือนที่ผ่านมาเรามีโอกาสได้ดูสารคดีของญี่ปุ่นไป 3 เรื่อง (อีก 2 เรื่องได้เขียนถึงไปแล้วก่อนหน้านี้) เรื่องนี้คือเรื่องที่รักที่สุด เป็นสารคดีที่พาไปดูชีวิตของเด็กๆ ในโรงเรียนอนุบาลเป็นระยะเวลาเวลา 1 ปีการศึกษา แล้วมันเป็นสารคดีที่ไม่มีช่วงจังหวะน่าเบื่อเลย เพราะได้รวบรวมความน่ารัก สดใสไร้เดียงสาของการเป็นเด็กไว้ได้อย่างดีงาม ตลอดเวลาที่ได้ดูคือทั้งขำ ทั้งรู้สึกทึ่งกับความสามารถของเด็กๆ ไปจนเจอซีนประทับใจหลายครั้งจนต้องแอบปาดน้ำตา
โรงเรียนอนุบาลแห่งนี้ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น พวกเขามีกิจกรรมที่เรียกว่า “การประชุมเด็ก (Kid Konference)” เพื่อต้องการฝึกให้เด็กๆ ได้หัดคิดด้วยตัวเอง การประชุมจะประกอบด้วยเด็กน้อยรุ่นโตสุดอายุ 6 ขวบมานั่งล้อมกันเป็นวงกลม พร้อมครูหนึ่งคนที่คอยช่วยดูแลและชวนเด็กๆ คุยด้วยบรรยากาศที่สบายๆ การประชุมอย่างนี้เกิดขึ้นทุกอาทิตย์ต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี
ในการประชุมจะเปิดโอกาสให้เด็กคิด ถามและตอบกันเอง ครูมีหน้าที่ดึงเด็กๆ ในกลุ่มให้อยู่ในวงสนทนา เรื่องที่คุยมีทั้งเรื่องง่ายๆ อย่างปิดเทอมหน้าร้อนทำอะไร ฝนตกได้ยังไง ไปจนถึงเรื่องยากๆ อย่างเรื่องการเกิดมาบนโลกใบนี้ การตาย การแต่งงานมีลูก มีทั้งเด็กๆ ที่กล้าถาม กล้าตอบครูทันที และมีทั้งคนที่เลือกคำพูดไม่ถูกจนไม่อยากพูด ซึ่งก็จะไม่มีการบังคับให้ใครต้องพูดถ้าเขาไม่อยาก
ช่วงแรกก็จะมีเด็กบางคนที่ลงไปนอนกลิ้งเอกเขนกกับพื้นเลยเพราะไม่สนใจบทสนทนา เป็นภาพที่ชวนให้ผู้ใหญ่อย่างเราหลุดขำอยู่เรื่อยๆ แต่เมื่อถึงเวลาที่เขามีความพร้อม หรือสนใจเรื่องนั้นเขาก็จะพูดออกมาจนทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราสุดจะว้าว
เราประทับใจฉากนึงตอนคุณครูถามเด็กๆ ประมาณว่า พวกเธออยากทำอะไรถ้าเหลือชีวิตเพียงไม่กี่วันบ้าง บางคนบอกอยากกินราเมง บางคนบอกอยากทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ บางคนบอกว่าไม่มีอะไรเป็นพิเศษ แล้วครูก็ตอบว่า “แบบนั้นก็ดีเหมือนกัน”
เราสังเกตเห็นว่า ครูจะไม่ตัดสิน ไม่บอกว่าความคิดไหนถูกหรือผิด เขาจะแค่รับฟังแล้วชวนคุยต่อไปเรื่อยๆ เพื่ออยากให้เด็กฝึกคิด ฝึกแสดงความคิดเห็น ฝึกเป็นผู้ฟังและฝึกให้เกียรติความคิดของคนอื่น
ครูไม่ได้มีหน้าที่สอนตรงๆ หรือสั่งให้เด็กทำนู่นทำนี่ตาม แล้วก็ไม่ใช่ว่าครูไม่ทำอะไรเลย แต่จะเป็นคนเปิดพื้นที่ปลอดภัยและคอยสนับสนุนให้เด็กๆ คิดเอง
คุณครูให้สัมภาษณ์ว่า เด็กๆ ไม่ต้องคิดเหมือนกันก็ได้ เพราะทุกๆ คนต่างมีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเอง เด็กคนนึงอาจเชื่อว่าฝนตกเพราะมีเด็กทารกเทน้ำลงมาจากท้องฟ้า เด็กอีกคนอาจบอกว่าเพราะมีเมฆมากฝนถึงตกแบบอิงหลักวิทยาศาสตร์จ๋ามาเลยก็ได้
คุณครูใหญ่กล่าวว่า เด็กๆ จะได้เรียนรู้ถึงความหลากหลาย พวกเขาจะซึมซับได้เองว่าถึงพวกเขาจะแตกต่างกันแต่ก็อยู่ด้วยกันได้
ที่เท่มากๆ อีกอย่างก็คือ โรงเรียนอนุบาลแห่งนี้มีสิ่งที่เรียกว่า ‘โต๊ะสงบศึก’ ที่มีการใช้งานตรงตามชื่อเลย คือ เมื่อมีเด็กทะเลาะกันแล้วเอามาฟ้องครู ครูก็จะให้เด็กๆ ไปที่โต๊ะนั้นเพื่อนั่งลงและเคลียร์กันเอง ครูจะเข้ามาแทรกแซงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้เด็กๆ ปรับความเข้าใจกันเอง หน้าที่ของครูคือชี้ให้เห็นว่ามันมีทางออกเสมอโดยไม่ต้องทะเลาะกัน หรือใช้ความรุนแรงต่อกัน และครูจะไม่บังคับให้เด็กขอโทษกันโดยไม่เคลียร์ใจกันก่อน หรือทำเป็นเหมือนเรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเด็ดขาด สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กๆ ได้คุยเปิดใจต่อกัน ทำให้พวกเขากล้าแสดงความรู้สึกออกมาอย่างจริงใจ และฝึกคิดหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
มีคุณครูบอกว่า
“บางครั้งผู้ใหญ่ต้องถอยออกมานิดนึงเพื่อให้พื้นที่เด็กได้ลองคิดเอง จริงๆ พวกเขาจัดการมันได้ ถ้าผู้ใหญ่เชื่อใจเขามากพอ”
ซึ่งก็มีตัวอย่างสถานการณ์ให้เห็นอีกหลายครั้งว่าเด็กๆ สามารถตัดสินใจอะไรเองได้ อย่างตอนนึงที่เด็กๆ ต้องแบ่งจักรยานกันเล่น มีเด็กผู้หญิงคนนึงมาฟ้องครูว่า เพื่อนไม่แบ่งจักรยานให้ขี่เลย เมื่อครูได้ยินก็ไม่ได้ใช้อำนาจในการสั่งเด็กว่า “เธอต้องแบ่งจักรยานให้เพื่อนเดี๋ยวนี้” แต่เป็นการพูดขึ้นลอยๆ ว่า “มีใครอยากแบ่งจักรยานให้เพื่อนมั้ยน้า” แล้วนั่งรอเป็นเพื่อนเด็กผู้หญิงคนนั้น เพื่อให้เด็กๆ ที่ขี่จักยานอยู่ตัดสินใจแบ่งปันด้วยตัวของเขาเอง
หรืออย่างตอนนึงที่โรงเรียนจะมีช่วงที่ให้พี่ 6 ขวบมาช่วยดูแลน้องเล็กเบบี๋ ครูก็อธิบายว่า การให้เด็กๆ ได้มาช่วย มันสอนให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเองในการได้ทำอะไรซักอย่างเพื่อคนอื่น
เรารู้สึกว่าสิ่งที่โรงเรียนอนุบาลนี้กำลังทำ นอกเหนือจากจะช่วยเสริมสร้างตัวตนของตัวเด็กเองแล้ว ยังช่วยทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราได้เห็นอีกด้วยว่า จริงๆ เด็กๆ สามารถทำและคิดหลาย อย่างได้ด้วยตัวของเขาเอง
อีกอย่างคือเขารับรู้ทุกเรื่องไม่ว่าจะดีหรือร้าย พ่อแม่ทะเลาะกันเด็กก็สัมผัสได้ พ่อแม่ดูแลเขา เขาก็รับรู้ การมีพื้นที่ให้เด็กๆ ได้พูดคุยแชร์ความคิดของตัวเองมันดีมากเลยสำหรับเรา
และในฐานะที่เคยเป็นเด็ก รู้สึกอิจฉาอย่างมากที่เจ้าเด็กแก๊งนี้ได้เติบโตมาในสังคมที่ให้เกียรติความคิดของพวกเขา
เราเองมีประสบการณ์อยู่กับแม่ที่ค่อนข้างใจร้อน ไม่ค่อยรอ หรือไม่ค่อยตั้งใจฟังสิ่งที่เราพูด เมื่อเรามีความคิดเห็นที่ต่างไปจากแม่จะถูกบอกว่า “อย่าเถียง” หรือ “ทำไมต้องคิดต่าง แค่เออออไปกับทุกเรื่องที่แม่พูดไม่ได้เหรอ” อยู่เสมอ
แล้วเรายังเติบโตมากับระบบการศึกษาที่ครูเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง เราเรียนรู้แต่วิธีการฟัง การท่องจำและสอบ ถูกหล่อหลอมด้วยระบบความคิดที่มีกรอบ สอนให้เคารพผู้ใหญ่โดยการไม่คิดต่าง
สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราทั้งอึดอัด ไม่กล้าเป็นอิสระ และรู้สึกเจอทางตันได้ง่ายมากเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่มีใครมาคอยสั่ง หรือบอกว่าเราต้องทำอะไร ต้องจำอะไร
กิจกรรมทั้งหมดที่โรงเรียนแห่งนี้ทำมันอาจจะใช้เวลาซักหน่อยกว่าที่เด็กๆ จะเข้าใจและลงมือทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ แต่เราก็คิดว่าการช่วยสร้างตัวตนที่มีคุณค่าให้กับพวกเขาโดยให้พวกเขาเป็นคนค้นพบมันเอง สิ่งนี้มันน่าจะเติบโตงอกงามอยู่ในตัวของพวกเขาได้อย่างแข็งแกร่งนะ ดังนั้นเราคิดว่าหน้าที่ของผู้ใหญ่ก็ควรที่จะฝึกวางใจและรอให้เด็กๆ ได้แสดงโพเทนเชียลที่เขามีกันดีกว่านะ