- Green Book เป็นภาพยนตร์โรดทริปอเมริกันที่คว้าสามรางวัลออสการ์ในปี 2018 บอกเล่าเรื่องราวของ ดร.ดอน เชอร์ลีย์ นักเปียโนผิวสีฝีมือระดับอัจฉริยะ กับโทนี่ ลิป คนขับรถผิวขาวที่มีนิสัยหยาบกระด้าง ที่ต้องเดินทางไปทัวร์คอนเสิร์ตร่วมกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์
- สิ่งสำคัญที่ทำให้ Green Book เข้าไปอยู่ในใจของใครหลายคนคือการที่ภาพยนตร์แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีอคติในตัวเอง แต่สิ่งสำคัญคืออย่าให้อคตินั้นกลายเป็นเครื่องตัดสินผู้อื่นเพียงเพราะเขาแตกต่างจากเรา
ช่วงหยุดยาวที่ผ่านมา ผมกลับไปดูภาพยนตร์ฟีลกู๊ดเรื่องโปรดที่ไม่เคยนำมารีวิวเลยสักครั้ง
ภาพยนตร์เรื่องนั้นคือ Green Book ที่คว้าสามรางวัลสำคัญจากเวทีออสการ์ครั้งที่ 91 ในปี 2018 (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม—มาเฮอร์ชาลา อาลี)
Green Book เป็นภาพยนตร์แนวโรดทริปสัญชาติอเมริกันที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวมิตรภาพระหว่าง ‘ดร.ดอน เชอร์ลีย์’ นักเปียโนผิวสีระดับอัจฉริยะ และ ‘โทนี่ ลิป’ คนขับรถสัญชาติอิตาลีผู้มีนิสัยหยาบกระด้าง ที่ต้องเดินทางไปทัวร์คอนเสิร์ตร่วมกันเป็นเวลาแปดสัปดาห์ตามเมืองต่างๆ ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ โดยมีฉากหลังคือปี 1962 ซึ่งเป็นยุคที่กฎหมาย Jim Crow ยังคงแบ่งแยกชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างคนขาวกับคนผิวสี (ที่ถูกปฏิบัติไม่ต่างอะไรกับทาส) อย่างชัดเจน
ก่อนจะเล่าถึงรายละเอียดต่างๆ ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้ถึงมีชื่อว่า Green Book จึงลองหาข้อมูลและพบว่าชื่อนี้มีที่มาจากคู่มือที่เรียกว่า “The Negro Motorist Green Book” หรือคู่มือปกเขียวของผู้ขับขี่นิโกร เพื่อช่วยให้คนผิวสีสามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัยและรู้ว่าพวกเขาได้รับอนุญาตหรือถูกห้ามให้ไปยังสถานที่ไหนได้บ้าง เนื่องจากสมัยนั้นทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ยังจำกัดเสรีภาพของคนผิวสี
กลับมาที่ดร.เชอร์ลีย์ เขาไม่ได้เป็นเพียงยอดนักเปียโนผิวสี แต่ยังจบปริญญาเอกด้านจิตวิทยา ดนตรี และศิลปะในพิธีกรรมอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีบ้านพักสุดอลังการที่ตั้งอยู่เหนือโรงละครชื่อดังในนิวยอร์ก เรียกได้ว่าหากไม่นับสีผิวที่เป็นอุปสรรคสำคัญ เขาก็คือหนุ่มสังคมชั้นสูงคนหนึ่งนั่นเอง
ด้วยพรสวรรค์และทักษะการเล่นเปียโนระดับอัจฉริยะ ทำให้ดร.เชอร์ลีย์มีชื่อเสียงตั้งแต่เล็ก และโด่งดังถึงขั้นถูกเชิญให้ไปแสดงที่ทำเนียบขาวมาแล้ว แต่ใครเลยจะรู้ว่าสิ่งที่ดร.เชอร์ลีย์ต้องการที่สุดดูจะไม่ใช่ชื่อเสียงในฐานะนักเปียโน แต่เป็นการที่เขาได้รับการยอมรับและการปฏิบัติอย่างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นั่นจึงเป็นที่มาของการทัวร์คอนเสิร์ตทางภาคใต้ ดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องการแบ่งแยกสีผิวอย่างสุดโต่ง เขาจึงตามหาใครสักคนที่สามารถเป็นทั้งคนขับรถและคนอำนวยความสะดวกเพื่อการันตีว่าทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี ซึ่งชื่อของโทนี่ ลิป บอดี้การ์ดในสถานบันเทิงชื่อดังถูกแนะนำมาไม่ต่ำกว่าสองครั้ง
ครั้งแรกที่ทั้งสองพบกัน ดร.เชอร์ลีย์นั่งบนบัลลังก์อันหรูหรา ขณะที่โทนี่นั่งบนเก้าอี้รับแขกธรรมดา ภาพนั้นสะท้อนถึงความแตกต่างในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ฐานะ และบุคลิก แม้ว่าวันนั้นทั้งคู่จะยังหาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้ แต่ด้วยข้อเสนอที่ลงตัวในเวลาต่อมา โทนี่จึงตกลงร่วมทางไปกับดร.เชอร์ลีย์
แม้หนังจะฉายให้เห็นถึงความแตกต่างกันแบบสุดขั้ว แต่ผมมองว่าตัวละครทั้งสองต่างตกเป็นเหยื่อของการเหมารวม (Sterotyping) ซึ่งเป็นการตัดสินกันจากอคติและเปลือกนอกที่สะท้อนเพียงเศษเสี้ยวของตัวตนที่แท้จริง
ในฝั่งของ ดร.เชอร์ลีย์ โทนี่เป็นเพียงพวกแรงงานที่หยาบกระด้าง ไร้วัฒนธรรม และขาดความละเอียดอ่อน ซึ่งค่อนข้างขัดต่อ ‘ภาพลักษณ์ความเป็นผู้ดี’ ของเขา และมันคงน่าอับอายไม่น้อยหากโทนี่เผลอไปทำกิริยาไร้วัฒนธรรมต่อหน้าแขกผู้ทรงเกียรติที่มาดูเขาแสดงคอนเสิร์ต
เช่นเดียวกับโทนี่ที่คิดว่าดร.เชอร์ลีย์เป็นเพียงคนบันเทิงผิวสีที่ทำตัวเป็นพวกหัวสูง มาดเยอะ จะทำอะไรก็ดูเป็นพิธีรีตองไปหมด เรียกได้ว่าต่างคนต่างไม่ชอบในเปลือกของกันและกันเท่าไหร่ ซึ่งผมมองว่าตัวละครทั้งสองไม่ได้แปลกอะไร เพราะในชีวิตจริงคนส่วนใหญ่ก็มักตัดสินคนจากเปลือกมากกว่าจะใช้เวลาเพื่อค้นหาเนื้อแท้ที่อยู่ข้างในคนๆ นั้น
ด้วยความเป็นหนังอบอุ่นฟีลกู๊ด ผู้กำกับจึงค่อยๆ เทส่วนผสมของความเห็นอกเห็นใจกันเข้ามาทีละฉากอย่างไม่ยัดเยียดจนเกินไป (ประมาณว่าพอคนแปลกหน้าสองคนอยู่ด้วยกันนานเข้า ยังไงก็ต้องมีความผูกพันกันบ้าง) เช่น ตอนที่ดร.เชอร์ลีย์รู้ว่าโทนี่ต้องเขียนจดหมายหาภรรยาบ่อยๆ ตามที่ให้สัญญาไว้ เขาจึงอาสาแต่งข้อความสุดโรแมนติกให้กับโทนี่ที่เขียนหนังสือไม่แตกด้วยความเต็มใจ ส่วนโทนี่เองก็ดูจะห่วงใยดร.เชอร์ลีย์มากขึ้น เพราะดร.เชอร์ลีย์มักชอบแอบหนีเที่ยวคนเดียวกลางดึกโดยไม่สนใจข้อห้ามในคู่มือ Green Book จนโทนี่ต้องตามไปช่วยจากเงื้อมมือของแก๊งคนขาวหรือแม้แต่พวกตำรวจเลว ทั้งที่จริงโทนี่จะทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนก็ได้
“จากนี้ห้ามไปไหนโดยไม่มีผมเด็ดขาด เข้าใจไหม”
ฉากที่ผมมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยให้ดร.เชอร์ลีย์ปรับมุมมองที่มีต่อโทนี่ และรู้สึกถึงมิตรภาพที่ก่อตัวขึ้นในจิตใจ คือตอนที่โทนี่ถูกเพื่อนเก่าที่เจอโดยบังเอิญชวนให้ย้ายมาทำงานด้วยเงินจำนวนมากกว่า ดร.เชอร์ลีย์ที่ได้ยินจึงหาโอกาสคุยกับโทนี่พร้อมเสนอเพิ่มตำแหน่งและเงินเดือนให้เพราะกลัวจะเสียเขาไป
“ไม่เอาๆ ขอบใจ เราตกลงกันที่สัปดาห์ละ 125 เหรียญ บวกค่าใช้จ่าย นั่นคือข้อตกลงของเราใช่ไหม ผมไม่ไปไหนหรอกน่าด็อกเตอร์ ผมจะเดินไปบอกพวกเขา”
เมื่อได้ฟังคำยืนยันอันหนักแน่นของโทนี่ แววตาที่เศร้าสร้อยของนักเปียโนผิวสีก็กลับมามีประกายอีกครั้ง ผมเชื่อว่าดร.เชอร์ลีย์คงตระหนักได้ว่าที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่เขาที่ถูกคนอื่นมองด้วยกำแพงแห่งอคติ แต่ตัวเขาเองก็มองคนหาเช้ากินค่ำอย่างโทนี่ด้วยอคติเช่นกัน เพราะเมื่อได้ใช้เวลาและมีปฏิสัมพันธ์กับโทนี่ไปเรื่อยๆ เขาก็พบว่าเบื้องหลังบุคลิกอันหยาบกระด้างนั้นกลับซ่อนไว้ด้วยความซื่อสัตย์และจริงใจของเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง
ส่วนโทนี่เองก็ได้เรียนรู้ว่าตัวเองก็มองดร.เชอร์ลีย์ผิดมาตลอด เพราะหลังจากที่เขาพลั้งมือไปชกหน้าตำรวจโทษฐานที่พูดจาเหยียดหยามดร.เชอร์ลีย์ ส่งผลให้ทั้งคู่ถูกจับเข้าคุก แม้ว่าไม่นานจะมีเหตุให้ถูกปล่อยตัว แต่ทั้งคู่ก็ไม่วายกลับมาขว้างปาอารมณ์ใส่กันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อดร.เชอร์ลีย์บอกว่าโทนี่เป็นพวกความอดทนต่ำ ขณะที่เหยื่อทางคำพูดอย่างเขากลับสามารถอดทนกับคำดูถูกเหยียดหยามมาได้ตลอด แถมตัวโทนี่เองก็ไม่ได้ผิวดำเหมือนเขาเลยสักนิด
“ทำไม ผมโมโหสิ่งที่เขาพูดไม่ได้ เพราะผมไม่ใช่คนดำเหรอ ผมดำกว่าคุณอีก คุณไม่รู้อะไรเรื่องคนดำเลย พวกเขากินอะไร พูดยังไง อยู่ยังไง คุณไม่รู้จักลิตเติ้ลริชาร์ดด้วยซ้ำ…ผมรู้ตัวดีว่าผมเป็นใคร ผมคือคนที่อยู่ย่านเดิมในบร็องซ์มาตลอดชีวิต (ย่านที่มีอัตราอาชญากรรมสูงและมีชุมชนที่มรายได้ต่ำในยุคนั้น) กับแม่ พ่อ พี่ชาย และตอนนี้ก็เมียกับลูกๆ แค่นั้น นั่นแหละผม
ผมคือไอ้งั่งที่ต้องวิ่งวุ่นทุกๆ วันเพื่อให้ครอบครัวมีกิน ส่วนคุณพ่อคนดัง อยู่บนยอดประสาท เที่ยวรอบโลก เล่นคอนเสิร์ตให้คนรวยฟัง ผมอยู่ข้างถนน คุณนั่งบังลังก์ เออใช่ โลกของผมมันดำกว่าคุณเยอะ” โทนี่กล่าว
ฝั่งดร.เชอร์ลีย์ที่ได้ยินก็โมโหถึงขั้นเดินลงจากรถ ก่อนจะหันมาตะโกนใส่โทนี่ที่วิ่งตามมาติดๆ ว่าตัวเขาเองก็มีความทุกข์ที่ต้องแบกไว้เช่นกัน
“ใช่ ผมอยู่ในปราสาท โทนี่ ตัวคนเดียว คนขาวรวยๆ จ้างผมเล่นเปียโนให้ฟัง เพราะมันทำให้พวกเขารู้สึกมีวัฒนธรรม แต่ทันทีที่ผมก้าวลงจากเวที ผมก็กลับไปเป็นไอ้มืดคนนึงในสายตาพวกเขา เพราะนั่นคือวัฒนธรรมที่แท้จริงของพวกเขา
ผมโดนเหยียดตามลำพัง เพราะคนผิวสีก็ไม่ยอมรับผม เพราะผมก็ไม่เหมือนพวกเขา ถ้าผมดำไม่พอ ขาวไม่พอ เป็นลูกผู้ชายไม่พอ งั้นบอกผมสิโทนี่ ว่าผมเป็นตัวอะไร”
แน่นอนว่าโทนี่ที่ได้ฟังถึงกับนิ่งไป เมื่อสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดที่ดร.เชอร์ลีย์แบกรับมาตลอด ผมเชื่อว่าสิ่งที่ทำงานอยู่ภายในใจของโทนี่ในฉากนี้คือ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ เพราะที่ผ่านมาโทนี่คิดเหมือนคนทั่วไปว่า ‘เงินคือคำตอบของความสุข’ แต่เมื่อลองมองโลกผ่านสายตาของดร.เชอร์ลีย์ เขาก็พบกับความอ้างว้างโดดเดี่ยวและการไม่ได้รับการยอมรับจากทั้งคนขาว (ของเล่นคนรวย) รวมถึงคนผิวสีล้วนแต่สร้างความทุกข์ให้กับดร.เชอร์ลีย์ไม่น้อยไปกว่าความขัดสนทางการเงินที่เขาเผชิญ
หลังจากชมภาพยนตร์จบ ผมอดคิดไม่ได้ว่าความเข้าใจผู้อื่นคือกุญแจสำคัญในการทำลายกำแพงแห่งอคติ เพราะเมื่อเราเปิดใจรับฟัง พยายามเข้าใจความรู้สึก รวมถึงประสบการณ์ของผู้อื่นในมุมมองของเขามากขึ้น เราก็มีแนวโน้มที่จะลดอคติและความคิดเชิงลบต่อผู้ที่มีความแตกต่างลง ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและการอยู่ร่วมกันในสังคมที่เต็มไปด้วยความแตกต่างอย่างเข้าอกเข้าใจ