- หนังสือ ‘นักบินรบ’ หรือ ‘Flight To Arras’ เขียนโดย อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี เจ้าของวรรณกรรมเจ้าชายน้อย ผู้ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนจากประสบการณ์ชีวิต ‘นักบินรบ’ ของตัวเอง
- ‘นักบินรบ’ ได้เปิดเปลือยถึงแก่นแท้และธาตุแท้ของมนุษย์ ในห้วงยามที่ชีวิตเฉียดกรายเข้าใกล้ความตายมากที่สุด ว่าในห้วงเวลานั้น คนๆ หนึ่งจะมีเวลาฉุกคิดถึงอะไรบ้าง
- เหตุการณ์ทั้งหมดทั้งมวล หลอมรวมเป็นการตระหนักถึง ‘ความงดงามของชีวิต’ ที่ช่วยจุดประกายความหวัง ในโมงยามที่มืดมิดไร้ซึ่งความหวัง
“ตราบเท่าที่คุณไม่สิ้นหวัง ทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นไปได้” คริสโตเฟอร์ รีฟ นักแสดงชาวอเมริกัน ผู้โด่งดังจากบทซูเปอร์แมน เคยกล่าวไว้
สิ่งที่ทำให้คำกล่าวของรีฟ กลายเป็นโควตที่ทรงพลัง ไม่ได้มาจากการรับบทซูเปอร์ฮีโร่จากดาวคริปตัน หากแต่เป็นเพราะเขากล่าวประโยคนี้ หลังจากประสบอุบัติเหตุตกจากหลังม้าจนกลายเป็นอัมพาต ต้องใช้ชีวิตอยู่บนรถเข็น พร้อมเครื่องช่วยหายใจไปจนชั่วชีวิต
รีฟ ทำให้คำกล่าวนั้นกลายเป็นจริง ด้วยการใช้ชีวิตอย่างไม่สิ้นหวัง เขายังคงทำงานทั้งในวงการบันเทิง และงานการกุศลเพื่อคนพิการ และกลายเป็นเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ตราบจนถึงวาระสุดท้ายในชีวิตของเขา
แน่นอนว่า ความหวังเป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตให้เดินไปข้างหน้า แต่ในอีกมุมหนึ่ง การตั้งความหวัง อาจลงเอยด้วยความผิดหวัง ยิ่งตั้งความหวังไว้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกผิดหวังและเจ็บปวดมากเท่านั้น หากทุกอย่างไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้
ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจ ที่มีแสนยานุภาพทางทหารเป็นอันดับต้นๆของโลก ถูกกองทัพนาซีเยอรมัน บุกโจมตีอย่างรวดเร็วราวสายฟ้าฟาด หลังจากใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน ฝรั่งเศสลงนามยอมแพ้ต่อเยอรมนี
สงครามในครั้งนั้น ถือเป็นหนึ่งในความอัปยศของกองทัพฝรั่งเศส พวกเขาถูกชาติอื่นหยามเหยียดว่า ยอมรับความปราชัยง่ายเกินไป
ทว่า นักบินรบชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง แสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่า ในสมรภูมิรบที่เสียเปรียบทุกด้าน กองทัพฝรั่งเศส ยืนหยัดต่อสู้อย่างสุดความสามารถแล้ว นักบินรบทุกนาย ล้วนเต็มใจพาตัวเองลงสู่สมรภูมิรบที่โอกาสรอดชีวิตน้อยยิ่งกว่าน้อย
ในสถานการณ์ที่ทุกอย่างเลวร้ายและมืดมดลงทุกที นักบินรบคนนั้นยังคงพาเครื่องบินขึ้นปฏิบัติภารกิจ ที่ไม่ใช่แค่ภารกิจในการสู้รบ หากแต่เป็นภารกิจค้นหาความหวัง… ท่ามกลางสมรภูมิที่สิ้นหวัง
นักบินรบชาวฝรั่งเศสคนนั้น ชื่อ อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี
“ความพ่ายแพ้แม้จะน่าจะเกลียดน่าชัง แต่อาจเป็นหนทางเดียวที่นำไปสู่การฟื้นคืนชีพ… บทบาทนี้ ทรงคุณค่าเหนือสิ่งใด เพราะเรายอมรับโดยไม่เข้าใจผิดว่า ทหารของเราจะสู้หนึ่งต่อสาม”
ใช่ครับ แซ็งเต็กซูเปรี ที่เขียน ‘เจ้าชายน้อย’ วรรณกรรมเยาวชนอันเป็นที่รักของคนทั้งโลกนั่นแหละครับ
ก่อนหน้าจะค้นพบ ‘เจ้าชายน้อย’ กลางทะเลทรายเวิ้งว้างร้างผู้คน แซ็งเต็กซูเปรี เคยเป็นนักบินรบประจำกองทัพอากาศฝรั่งเศส ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาสมัครใจเข้าร่วมรบในสงคราม แต่เนื่องจากอายุที่มากถึง 39 ปี และร่างกายที่ไม่แข็งแรง เพราะประสบอุบัติเหตุทางการบินหลายครั้ง ทางกองทัพจึงปฏิเสธคำร้องขอของแซ็งเต็กซูเปรี ที่ต้องการทำหน้าที่นักบินประจำเครื่องบินขับไล่ โดยมอบหมายให้เขาปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนถ่ายภาพ เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งของฝ่ายตรงข้าม
แม้จะเป็นแค่ภารกิจลาดตระเวน แต่ก็เป็นภารกิจเสี่ยงตายที่โอกาสรอดกลับมาจากการปฏิบัติภารกิจ น้อยกว่าโอกาสที่จะไม่ได้กลับ โดยในช่วงที่แซ็งเต็กซูเปรีปฏิบัติภารกิจนั้น กองบินลาดตระเวนที่เขาสังกัดอยู่ มีทีมนักบินทั้งหมด 23 ทีม ซึ่ง 17 ทีมในกองบินนี้ ได้พลีชีพในระหว่างปฏิบัติภารกิจ
แซ็งเต็กซูเปรี ขึ้นบินลาดตระเวณทั้งหมด 7 ครั้ง ก่อนที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะลงนามสัญญาสงบศึก ยอมแพ้ต่อรัฐบาลเยอรมนี หลังจากนั้น แซ็งเต็กซูเปรี เดินทางไปยังสหรัฐ เพื่อโน้มน้าวให้รัฐบาลอเมริกา เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ต่อสู้กับกองทัพนาซี ซึ่งในขณะนั้น รัฐบาลอเมริกายังไม่ตัดสินใจในเรื่องนี้ อีกทั้งยังมีท่าทีดูหมิ่นดูแคลนฝรั่งเศสว่า ยอมแพ้ต่อฝ่ายเยอรมนีง่ายเกินไป
ทว่า เมื่อหนังสือ ‘นักบินรบ’ หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Flight To Arras ออกวางจำหน่ายในปี 1942 และกลายเป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านทั่วโลก รวมถึงคนอเมริกัน ประชาคมโลก จึงได้รับรู้ข้อเท็จจริงว่า กองทัพฝรั่งเศส ต่อสู้กับกองทัพนาซีอย่างสุดหัวจิตหัวใจ ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เลวร้าย และภายใต้สถานการณ์ที่สิ้นหวังเพียงใด
“พวกชาวต่างประเทศลงความเห็นว่า พวกเราชาวฝรั่งเศสยังสละชีพไม่เพียงพอ ผมถามตนเองทุกครั้งที่มองดูทีมของพวกเราบินออกไปพลีชีพว่า เราสละตนเองเพื่ออะไร ใครจะมาชดเชยให้เรา”
“ชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตไปแล้วหนึ่งแสนห้าหมื่นคน ทหารราบถูกเข่นฆ่าเป็นกองพะเนินในโรงนาซึ่งป้องกันอะไรไม่ได้ กองบินหลายกองถูกหลอมละลายดังหนึ่งเป็นสีผึ้งที่เขาโยนเข้ากองไฟ เหตุใดพวกเราจึงยอมสละชีพอีก… เพื่อให้โลกยกย่องนับถือกระนั้นหรือ”
“คนที่ยอมรับว่าตนจะถูกเผาขณะขับเครื่องบิน เราควรตัดสินเขาจากแผลไฟไหม้หรือ”
หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลอเมริกา ตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร และนำไปความพ่ายแพ้ของกองทัพเยอรมันและฝ่ายอักษะ ปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 ลงได้ในที่สุด
แน่นอนว่า การตัดสินใจของสหรัฐ มาจากหลากหลายตัวแปรและเงื่อนไข แต่ก็ไม่ใช่เรื่องอวดอ้างเกินเลยความจริง หากจะกล่าวว่า หนังสือ ‘นักบินรบ’ มีบทบาทสำคัญ ในการทำให้ท่าทีของหลายๆ ประเทศที่มีต่อฝรั่งเศส เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
และก็ไม่ใช่เรื่องอวดอ้างเกินเลยความจริง หากจะกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ ช่วยกอบกู้ศักดิ์ศรีให้ชาวฝรั่งเศส จากความปราชัยในสงครามต่อกองทัพนาซีเยอรมัน
และนั่นคือ อีกหนึ่งคุณูปการของหนังสือเล่มนี้
เหนือสิ่งอื่นใด เช่นเดียวกับวรรณกรรมอีกหลายเล่มที่มีฉากหลังเป็นสงคราม ‘นักบินรบ’ ได้เปิดเปลือยถึงแก่นแท้และธาตุแท้ของมนุษย์ ในห้วงยามที่ชีวิตเฉียดกรายเข้าใกล้ความตายมากที่สุด
ในห้วงเวลานั้น คนๆ หนึ่งจะมีเวลาฉุกคิดถึงอะไรบ้าง?
สำหรับแซ็งเต็กซูเปรี เขาหวนนึกถึงการละเล่นในช่วงวัยเด็ก หวนนึกถึงพี่เลี้ยงคนโปรด หวนนึกถึงน้องชายที่จากไปในช่วงวัยรุ่น
แซ็งเต็กซูเปรี หวนนึกถึงวันวานแสนหวานและอ่อนโยน ในช่วงวินาทีที่เครื่องบินลาดตระเวนของเขา กำลังถูกไล่ล่าโดยเครื่องบินขับไล่ของข้าศึก
หลายฉากหลายตอนในชีวิต ประเดประดังเข้ามาในห้วงความคิดของเขา ระหว่างปฏิบัติภารกิจลาดตระเวณถ่ายภาพเหนือเมืองอาร์ราส เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม และทั้งหมดทั้งมวล หลอมรวมเป็นการตระหนักถึงความงดงามของชีวิต ที่ช่วยจุดประกายความหวัง ในโมงยามที่มืดมิดไร้ซึ่งความหวัง
ในสถานการณ์การสู้รบที่มองไม่เห็นชัยชนะ แค่การบินหลบพ้นกระสุนปืนที่ข้าศึกยิงจากเบื้องล่าง แค่การได้กลับคืนฐานที่มั่นโดยยังมีลมหายใจ ก็ถือเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่แล้ว
“ผมเป็นดังหนึ่งผู้ชนะ เพื่อนนักบินคนไหนที่รอดชีวิตจากภารกิจ ทำไมจะไม่รู้สึกว่าตนชนะเล่า”
การตระหนักถึงความงดงามของชีวิต ทำให้ภารกิจของเขา ไม่ได้เป็นแค่การทำหน้าที่ทหารในสงคราม หากแต่กลายเป็นการค้นหาความหมาย หรือแก่นสำคัญของชีวิต ซึ่งสำหรับแซ็งเต็กซูเปรี สิ่งนั้นคือ ความสัมพันธ์ของผู้คน
ความสัมพันธ์ของผู้คน ซึ่งเปลี่ยนจากมนุษย์ในฐานะปัจเจก ให้กลายเป็นเพื่อนพ้องร่วมกองบิน ประชาชาติชาวฝรั่งเศส และเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยจุดประกายความหวังให้แก่นักบินรบในหนังสือเล่มนี้
“ถ้ามีใครมาเรียกร้องให้ผมยอมตายเพื่อผลประโยชน์บางประการ ผมก็จะปฏิเสธ… คนเรายอมตายเพื่อบ้านได้ แต่มิใช่ข้าวของในบ้าน คนเรายอมตายเพื่อโบสถ์ได้ แต่มิใช่เพื่อก้อนหิน คนเรายอมตายเพื่อเพื่อนร่วมชาติทั้งชาติได้ แต่มิใช่เพื่อฝูงชน คนเรายอมตายเพราะรักมนุษย์ หากมนุษย์ผู้นั้นเป็นหลักยอดโค้งของหมู่คณะ”
แม้ว่าสงครามจะเป็นสิ่งโหดร้าย ไร้สาระ และน่าขบขัน (ตามคำกล่าวของแซ็งเต็กซูเปรี) แต่ท้ายที่สุด ภารกิจลาดตระเวณเหนือเมืองอาร์ราสในวันนั้น ก็ทำให้นักบินรบชื่อ อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี ค้นพบสิ่งสำคัญ ที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาว่า
“เมื่อร่างกายแยกสลาย สาระสำคัญก็โผล่ขึ้น มนุษย์เป็นเพียงขมวดปมแห่งความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์เท่านั้นที่มีความหมายสำหรับมนุษย์”