- วิลลี่ วองก้า คือเจ้าของโรงงานช็อกโกแลตที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากภาพยนตร์แฟนตาซี Charlie and the Chocolate Factory ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมเยาวชนชื่อเดียวกันของโรอัลด์ ดาห์ล
- วิลลี่ วองก้า เป็นตัวแทนของผู้ใหญ่ที่มีบาดแผลจากการเลี้ยงดูของพ่อ ทำให้เขารู้สึกประหม่าและอึดอัดใจทุกครั้งที่ต้องพูดถึงชีวิตวัยเด็กที่มีพ่อคอยบงการชีวิต
- จุดเปลี่ยนของวิลลี่ วองก้าคือการแตกหักกับพ่อ และออกมาทำร้านขนมในฝัน ก่อนพัฒนาต่อยอดกลายเป็นโรงงานช็อกโกแลตอันโด่งดัง ซึ่งเขาได้ซ่อนตั๋วทองคำห้าใบไว้ในช็อกโกแลต เพื่อให้ลูกค้าผู้โชคดีได้มาทัวร์โรงงานที่ขึ้นชื่อว่าลึกลับที่สุดในโลก และนั่นทำให้เขาพบกับจุดเปลี่ยนในชีวิตอีกครั้ง
[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน]
ตอนเด็กๆ สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือการที่พ่อแม่ไม่รัก ดังนั้นไม่ว่าพ่อแม่สอนหรือบอกให้ทำอะไร ผมมักทำอย่างไม่มีข้อแม้…แม้บางครั้งอาจทำเพราะกลัวถูกลงโทษ
จนเมื่อเวลาผ่านไปสิบปี ในวันที่ผมทำบัตรประชาชนครั้งแรก ผมกลับพบว่าสิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือ การที่พ่อกับแม่ไม่ยอมรับความฝันของผม
ความฝันของผม ณ เวลานั้น มีทั้งแบบตามกระแสคือการเป็นนักแสดงตลกแบบ ‘โรวัน แอตคินสัน’ (ผู้รับบทมิสเตอร์บีน) และตามใจปรารถนาคือการเป็นครูในโรงเรียนชนบทอันห่างไกลแบบ ‘ครูสอง’ ในภาพยนตร์เรื่องคิดถึงวิทยา
แต่ไม่ว่าจะเป็นดาราตลกหรือครูบ้านนอก ดูเหมือนว่าความฝันของผมกับพ่อแม่คือเส้นขนานที่เข้ากันไม่ได้ เพราะพ่อแม่อยากให้ผมเดินบนเส้นทางสายธุรกิจเหมือนกับท่าน ในการถกเถียงครั้งสุดท้าย ผมจำได้ว่าตัวเองถึงกับ ‘หุบปาก’ โดยอัตโนมัติ เมื่อได้ยินพ่อแม่พูดว่า “ถ้าคิดว่าสิ่งที่คิดมันดีมันถูกต้องก็ออกไปอยู่ข้างนอกแล้วไม่ต้องมายุ่งกับเงินกู”
แน่นอนว่าเมื่อมนุษย์ผิดหวังกับสิ่งที่ใจปรารถนา เราก็มักจะหาวิธีเยียวยาจิตใจในแบบที่ต่างกัน ซึ่งวิธีของผมคือการฟังเพลงประเภทพ่อแม่ไม่เข้าใจ หรือไม่ก็หาภาพยนตร์ที่ลูกหนีออกจากบ้านเพื่อทำตามความฝันของตัวเองจนประสบความสำเร็จ ซึ่ง Charlie and the Chocolate Factory ในปี 2005 ก็ถือเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ผมรักและช่วยฮีลใจผมเสมอในวันที่รู้สึกไม่เข้าใจพ่อแม่
Charlie and the Chocolate Factory ว่าด้วยเรื่องราวของเจ้าหนูชาร์ลีที่บังเอิญโชคดีเป็นหนึ่งในเด็กห้าคนที่ได้รับตั๋วทองสำหรับการเข้าชมโรงงานช็อกโกแลตที่ใหญ่ที่สุดในโลก และด้วยความเป็นเด็กดีมีมารยาททำให้เขาได้เป็นผู้สืบทอดโรงงานต่อจาก ‘วิลลี่ วองก้า’ ผู้ลึกลับ
จุดที่ผมสนใจในภาพยนตร์แฟนตาซีเรื่องนี้ไม่ใช่ความอลังการของโรงงานช็อกโกแลต แต่กลับเป็นภูมิหลังอันแสนเจ็บปวดระหว่างวิลลี่ วองก้า กับพ่อผู้เข้มงวด และนั่นทำให้วิลลี่ วองก้า ผู้ลึกลับกลายเป็นตัวละครที่ผมอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง
-1-
วิลลี่ วองก้า เป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ ‘ดร.วิลเบอร์ วองก้า’ ทันตแพทย์ชื่อดังประจำเมือง และด้วยความเป็นทันตแพทย์นี้เองทำให้พ่อเอาใจใส่เรื่องสุขภาพในช่องปากของวิลลี่ตั้งแต่เล็ก เขาทั้งออกกฎห้ามไม่ให้วิลลี่กินขนมหวานทุกชนิด แถมยังบังคับให้ลูกสวมเหล็กดัดฟันและหมวกจัดฟันขนาดใหญ่บนหัวตลอดเวลา
หนึ่งในความทรงจำวัยเด็กที่ชัดเจนที่สุดของวิลลี่ วองก้า คือเหตุการณ์ช่วงเทศกาลวันฮาโลวีนที่วิลลี่กับเพื่อนๆ พากันไปทำกิจกรรมให้ขนมหรือให้หลอก (Trick or Treat) ซึ่งวิลลี่ของเราได้ขนมมาไม่น้อยกว่ายี่สิบชิ้น ทั้งคาราเมล อมยิ้ม ช็อกโกแลต ฯลฯ แต่พอกลับมาบ้านพ่อของเขากลับนำขนมทั้งหมดไปเผาในเตาผิง
“มาดูกันสิว่าปีนี้มีของอันตรายประเภทไหนบ้าง คาราเมล มันคงจะไปติดที่ลวดดัดฟันจริงไหม อมยิ้ม น่าจะเรียกว่าโรคฟันผุบนปลายไม้ แล้วเราก็มีพวกนี้ที่เรียกว่าช็อกโกแลต รู้ไหมอาทิตย์ก่อนพ่ออ่านเจอในวารสารการแพทย์ว่ามีเด็กบางคนแพ้ช็อกโกแลตทำให้จมูกคันยุกยิก…แต่ลูกจะเสี่ยงทำไมล่ะ”
ในฉากทำร้ายจิตใจฉากนี้ ผมรู้สึกสงสารวิลลี่จับใจที่ทำได้แค่หุบปากและมองพ่อของเขาเผาขนมแสนรัก แต่อีกใจผมก็ตระหนักถึงความหวังดีของดร.วิลเบอร์ที่ต้องการป้องกันวิลลี่จากโรคฟันผุ
จริงอยู่ที่พ่อแม่หลายคนรักและหวังดีกับลูก ดังนั้นเมื่อเห็นว่าอะไรที่เป็นผลเสียกับลูก คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็จะพยายามป้องกันเหตุการณ์นั้นตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างไรก็ตาม ดร.วิลเบอร์อาจลืมไปว่าเด็กกับขนมหวานเป็นของคู่กัน ดังนั้นการใช้ไม้แข็งด้วยการเผาขนมของวิลลี่ทิ้งก็ไม่ต่างอะไรกับการเผาความสุขของลูกไปด้วย
เมื่อดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว รวมถึงแนวโน้มปัญหาสุขภาพจิตของเด็กรุ่นใหม่ พบว่าหลายครอบครัวที่พ่อแม่บังคับลูกให้ทำตามสิ่งที่ตัวเองคิด มักทำให้ลูกเครียด ขาด Self-esteem หรือไม่ก็เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งพ่อแม่หลายคนมักไม่ยอมรับว่าตนเป็นต้นเหตุของปัญหา
สำหรับประเด็นนี้ ในฐานะของคนที่ถูกความหวังดีของพ่อแม่ทำร้ายตอนเด็กๆ ผมมองว่าความหวังดีของพ่อแม่เป็นพื้นฐานที่ดีที่พ่อแม่ทุกคนพึงมอบให้กับลูก
แต่ข้อควรระวังคือพ่อแม่บางคนมักอินกับความหวังดีของตัวเองมากจนเกินไป ทั้งยังคิดว่า “ฉันนี่แหละที่รักและรู้จักลูกดีที่สุด” และมักแสดงความรักความหวังดีออกมาอย่างผิดวิธี
โดยเฉพาะการเข้าไปบังคับขู่เข็ญสารพัด ทำให้ลูกหลายคนเหมือนถูกย่ำยีความรู้สึกครั้งแล้วครั้งเล่าจนกลายเป็นบาดแผลในใจที่ไม่มีวันหาย แทนที่จะพูดจากันดีๆ คอยอธิบายด้วยเหตุผล หรือต่อให้อธิบายแล้วเด็กไม่ฟัง พ่อแม่ก็ควรใจเย็นๆ และใช้ปัญญาหาวิธีการที่เหมาะสมกับลูกในฐานะที่ “ฉันนี่แหละที่รักและรู้จักลูกดีที่สุด”
นอกจากนี้ หากความคิดหรือการตัดสินใจของลูกไม่ได้เป็นอันตรายกับใคร พ่อแม่ก็ควรให้คำแนะนำและปล่อยให้ลูกได้ลองถูกลองผิดด้วยตัวเอง เพราะผมเชื่อว่าหากพลาดพลั้งขึ้นมา เขาก็จะได้รับบทเรียนที่จำไม่ลืม ทั้งยังช่วยให้เขาตระหนักถึงความรักความหวังดีของพ่อแม่ได้ดีกว่าการที่ถูกบังคับ
-2-
สำหรับวิลลี่ วองก้า หลังจากที่เขาหนีออกจากบ้านเพื่อทำตามความฝันของตัวเอง กระทั่งได้เป็นเจ้าของโรงงานช็อกโกแลตที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเปิดโอกาสให้เด็กห้าคนที่เจอตั๋วทองคำในช็อกโกแลตวองก้า สามารถมาเยี่ยมชมโรงงานแบบไพรเวทพร้อมกับเลือกผู้ปกครองมาได้หนึ่งคน โดยไม่มีใครรู้ว่าวิลลี่ วองก้า วางแผนมอบบทเรียนแก่เด็กๆ เหล่านี้
ผมสังเกตว่าเด็กทั้งห้าคนถูกแบ่งขั้วเป็น ‘เด็กดี’ และ ‘เด็กไม่ดี’ อย่างชัดเจน เช่น ชาร์ลี จะเป็นตัวแทนของเด็กดีที่กตัญญู เชื่อฟังผู้ใหญ่ คิดถึงจิตใจคนอื่น ต่างกับเด็กที่เหลือ ไล่ตั้งแต่ ‘ออกัสตัส’ เด็กตุ้ยนุ้ยจอมตะกละที่กระโดดลงไปกินช็อกโกแลตในน้ำตกต้องห้าม ทำให้วิลลี่จัดการมอบบทเรียนแก่เขาด้วยการดูดเข้าไปในท่อผลิตขนม
ส่วน ‘ไวโอเล็ต’ สาวน้อยแชมป์เคี้ยวหมากฝรั่งเป็นตัวแทนของความเย่อหยิ่ง เพียงเพราะอยากเป็นเด็กคนแรกที่ได้ลิ้มลองหมากฝรั่งสูตรใหม่ของวองก้า เธอจึงตัดสินใจกินหมากฝรั่งที่อยู่ระหว่างการทดสอบความปลอดภัย และบทเรียนที่เธอได้รับคือร่างกายที่เปลี่ยนเป็นสีฟ้าอมม่วง
ด้าน ‘ไมค์’ หนุ่มน้อยจอมอวดดีที่ถือวิสาสะนำตัวเองเข้าไปในเครื่องย่อส่วนซึ่งอยู่ระหว่างการทดลอง ทำให้ร่างกายของเขามีขนาดเท่ากับตุ๊กตุ่นแบบ1/12 ก่อนถูกพาไปยึดตัวให้กลับมาเป็นปกติแต่ก็แลกมากับรูปร่างสองมิติที่คล้ายกับกระดาษแผ่นบางๆ
สำหรับเด็กอีกคนที่ผมไม่พูดถึงไม่ได้คือเด็กหญิงชาวอังกฤษที่ถูกพ่อแม่ตามใจจนเสียนิสัยอย่าง ‘เวรูก้า ซ้อลท์’
ในจำนวนเด็กทั้งห้าที่ได้รับตั๋วทองคำ ครอบครัวซ้อลท์ดูจะมีฐานะร่ำรวยที่สุดจากการเป็นเจ้าของโรงงานถั่ว พ่อแม่ของเวรูก้าดูจะเป็นพ่อแม่ในฝันของใครหลายคน เพราะหากเวรูก้าต้องการอะไร พ่อแม่ของเธอจะรีบหามาให้แทบจะในทันที รวมถึงตั๋วทองคำจากช็อกโกแลตวองก้าที่พ่อถึงกับกว้านซื้อช็อกโกแลตเท่าที่หาได้พร้อมสั่งให้พนักงานทุกคนหยุดงานเพื่อช่วยกันแกะห่อช็อกโกแลตจนกว่าจะพบตั๋วทองคำ
เมื่อมาถึงห้องคัดแยกถั่ว ดูเหมือนสองพ่อลูกตระกูลซ้อลท์จะตื่นเต้นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะพ่อที่พยายามพรีเซนต์โรงงานผลิตถั่วของตัวเองกับวิลลี่ วองก้า
ส่วนเวรูก้านั้น เธอเกิดตาลุกวาวอยากได้ ‘กระรอก’ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้คัดถั่วในโรงงานช็อกโกแลตแห่งนี้ เธอพยายามขอร้องแกมบังคับพ่อให้ซื้อกระรอกให้ ทว่าวิลลี่ วองก้ากลับไม่ยอมขายให้ เธอจึงถือวิสาสะวิ่งลงไปยังพื้นที่ทำงานของกระรอก ก่อนถูกกระรอกโยนลงไปในท่อขยะขนาดยักษ์
แน่นอนว่าพ่อของเธอย่อมตกใจและพยายามจะวิ่งไปช่วยลูก แต่จังหวะนั้นเองก็มีแก๊งคนแคระอย่างพวก ‘อูมปา-ลูมป้าส์’ ที่ทำงานในโรงงานช็อกโกแลตมาขวางทางพร้อมกับร้องเพลงล้อเลียนสองพ่อลูกอย่างเจ็บแสบ
“ใครกันที่ทำให้เธอไม่ดี ที่ตามใจเธอไปเสียทุกอย่าง เปลี่ยนเธอให้กลายเป็นเด็กไม่ดี ใครคือผู้ทำผิด ใครนะใคร กลับกลายมาเป็นเรื่องน่าเสียใจ คนที่ทำคือแม่และพ่อ”
จากบทเพลงจะเห็นว่าวิลลี่ วองก้าได้แต่งเพลงไว้รอเชือดสองพ่อลูกอยู่แล้ว ผมคิดว่าเขาต้องการแสดงให้เห็นว่านิสัยไม่ดีของเด็กส่วนใหญ่เกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ เช่นนี้กระรอกจึงถีบส่งพ่อลงไปในท่อขยะอีกคน
ถึงฉากนี้จะดูโหดร้ายไปนิด แต่ผมมองว่านอกเหนือจากประเด็นยัดเยียดความหวังดีให้ลูก นี่คือตัวอย่างของคำว่า ‘รักเกินรักมักทำลาย’ ในอีกแง่มุมหนึ่ง ถึงอย่างนั้น ผมก็ยังรู้สึกว่าวิลลี่ วองก้า ไม่ควรตัดสินเด็กจากพฤติกรรมแค่บางอย่าง และไม่เห็นด้วยกับการถือวิสาสะลงโทษเด็กๆ เพราะในชีวิตจริงเราไม่สามารถแก้นิสัยเสียๆ ของเด็กคนหนึ่งได้โดยการใช้ความรุนแรง
-3-
ตลอดทั้งเรื่อง วิลลี่ วองก้าดูมีบุคลิกที่ผิดแผกจากคนทั่วไป อาจเป็นเพราะจิตใจของเขามีความบิดเบี้ยวและเต็มไปด้วยความเจ็บปวด โดยเฉพาะเวลาที่มีใครเอ่ยถึงพ่อ เขาจะแสดงสีหน้าที่ดูไม่มั่นใจคล้ายยังจมอยู่กับความหลังในวัยเด็ก
ครั้งหนึ่งเมื่อถูกชาร์ลีถามถึงขนมหวานชิ้นแรกที่กิน เขาก็นึกขึ้นได้ว่าหลังจากใจสลายกับการถูกพ่อนำขนมช่วงฮาโลวันไปเผาทิ้ง แต่ยังโชคดีที่มีขนมช็อกโกแลตชิ้นหนึ่งหลุดรอดจากการเผาไหม้ ทำให้วิลลี่มีโอกาสลิ้มลองรสชาติช็อกโกแลตเป็นครั้งแรก และนั่นทำให้เขาค้นพบแพสชันของตัวเอง จนในที่สุดเขาตัดสินใจหนีออกจากบ้านเพื่อทำตามความฝัน ส่วนพ่อก็ยืนกรานว่าบ้านหลังนี้จะไม่ต้อนรับวิลลี่อีก
ด้วยแพสชันอันแรงกล้า วิลลี่ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวจากร้านขนมเล็กๆ ไม่กี่ห้องแถวสู่โรงงานช็อกโกแลตที่โด่งดังและใหญ่ที่สุดในโลก ทว่าเขากลับไม่เคยมีความสุขอย่างแท้จริง
หลังการพาคณะเด็กๆ ชมโรงงานช็อกโกแลต วิลลี่ วองก้าเริ่มรู้สึกหมดแพสชันในการผลิตขนม เขาจึงออกตามหาตัวของชาร์ลี เด็กคนเดียวที่รอดจากกับดักในโรงงาน
สำหรับวิลลี่ วองก้า…ชาร์ลีเป็นเด็กที่รักครอบครัวมาก…มากถึงขั้นกล้าปฏิเสธโรงงานช็อกโกแลตที่วิลลี่ วองก้ามอบให้ เพราะข้อเสนอนี้ต้องแลกมากับการละทิ้งครอบครัวเพื่อย้ายมาบริหารโรงงานในฐานะทายาทคนใหม่
เมื่อเจอชาร์ลี… วิลลี่ วองก้าถึงกับโพล่งออกมาว่าเขารู้สึกแย่และขอคำชี้แนะจากหนูน้อยว่าจะมีวิธีไหนบ้างที่ทำให้เขารู้สึกดีขึ้น แต่ก่อนจะตอบคำถามนี้ชาร์ลีก็ถามวิลลี่ วองก้าว่าทำไมถึงต้องให้เขาทิ้งครอบครัวเพื่อแลกกับโรงงานช็อกโกแลต
“ไม่ใช่แค่ครอบครัว มันเป็นเรื่องของการเป็นผู้ปกครอง พวกเขามักคอยบอกให้ทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนี้ และมันก็ไม่ช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ด้วย”
จากประโยคนี้จะเห็นว่าวิลลี่ วองก้ายังคงติดอยู่กับภาพการใช้อำนาจของพ่อและก้าวข้ามอดีตไม่พ้น อีกทั้งตอนพาเด็กๆ ทัวร์โรงงาน ผมจำได้ว่าจู่ๆ วิลลี่ วองก้าโพล่งขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยว่า “นี่พวกคุณรู้หรือเปล่าว่าในช็อกโกแลตมีองค์ประกอบที่กระตุ้นการหลั่งสารเอ็นโดรฟินทำให้คนเรารู้สึกเหมือนกำลังมีความรัก”
นั่นอาจแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่วิลลี่ วองก้ารู้สึกขาดหายที่สุดคือ ‘ความรัก’…โดยเฉพาะความรักจากพ่อ
ชาร์ลีจึงบอกวิลลี่ วองก้าว่าที่พ่อแม่ทำแบบนั้นอาจเป็นเพราะความรักและต้องการปกป้องลูก พร้อมเสนอตัวไปหาพ่อของเขาด้วยกัน
ที่บ้านกึ่งคลินิกทันตกรรมของดร.วิลเบอร์ วองก้า ชาร์ลีสังเกตว่าบริเวณผนังร้านถูกแขวนไปด้วยกรอบรูปมากมายที่เต็มไปด้วยข่าวของวิลลี่ วองก้าตามหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ แสดงให้เห็นว่าดร.วิลเบอร์ยังคงคิดถึงลูกชายเสมอ
เขาเชิญให้แขกแปลกหน้านอนลงบนเตียงเพื่อตรวจสุขภาพฟัน และทันใดนั้นเขาก็พบว่าลูกค้าคนนี้คือลูกชายที่หายไป ก่อนจะเอื้อมมือไปกอดวิลลี่ วองก้าอย่างที่เขาไม่เคยทำมาก่อน
หลังชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบ ผมรู้สึกซาบซึ้งและยินดีกับวิลลี่ วองก้า เพราะปมในใจที่ใหญ่ที่สุดของเด็กคือเรื่องพ่อแม่ และมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะคลายปมนี้แม้ว่าวันหนึ่งเด็กคนนั้นจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากวิลลี่ วองก้าไม่ประสบความสำเร็จ ผมสงสัยว่าพ่อของเขาจะปฏิบัติต่อเขายังไง แล้วตัวของวิลลี่ วองก้าเองจะมีความสุขกับพ่อของเขาหรือไม่ หรือเขาจะต้องจมอยู่กับความรู้สึกของการเป็นลูกที่ไม่ได้ดั่งใจพ่อแม่ตลอดไป ดังนั้นต่อให้รักและหวังดี แต่หากพ่อแม่ใช้มันอย่างผิดวิธี ความรักความหวังดีนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการทำลายความสดใสของลูกอย่างบริสุทธิ์ใจ
Charlie and the Chocolate Factory (2005) เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมเยาวชนสุดคลาสสิกชื่อเดียวกันของโรอัลด์ ดาห์ล ยอดนักเขียนชาวเวลส์ผู้ล่วงลับ โดยได้ทิม เบอร์ตัน นั่งแท่นผู้กำกับ พร้อมดึงนักแสดงชื่อดังอย่างจอห์นนี เดปป์ มารับบทวิลลี่ วองก้า เจ้าของโรงงานช็อกโกแลตที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยทิม เบอร์ตันได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องราวของวิลล่า วองก้า สั้นๆ ผ่านเว็บไซต์ ianwinterton.co.uk ว่าเดิมทีหนังสือไม่ได้อธิบายถึงที่มาของนิสัยประหลาดๆ ของตัวละครนี้ เขาจึงสร้างเรื่องราวเบื้องหลังเพิ่มเติมให้กับวิลลี่ วองก้า กับพ่อผู้เป็นทันตแพทย์ที่ปกป้องลูกมากเกินไปจากการห้ามกินขนมทุกชนิด |