ในปีแสนปั่นป่วน เรามีโอกาสได้รับฟัง พูดคุย และประสบกับเรื่องราวหลากหลายจากเพื่อนๆ รอบตัว และนักอ่านหลายคนที่แวะเวียนมาเจอที่หน้าร้าน (ร้านหนังสือและพื้นที่เรียนรู้ Fathom Bookspace) มาเล่าสู่กันฟัง หลายคนเปลี่ยนงาน บ้างพบความสูญเสีย บางคนเปลี่ยนความสัมพันธ์ รักใคร่ เลิกรา เจอความท้าทายให้ต้องทบทวน พิสูจน์ เผชิญหน้า
ราวกับว่าสถานการณ์วิกฤติจะทำให้สถานการณ์ชีวิตชัดขึ้น สะกิดแรงๆ ให้เราใคร่ครวญ
หนังสือทั้ง 10 เล่มในโพสต์นี้เป็นเหมือนตัวแทนของบทสนทนาเหล่านั้น บางเล่มช่วยให้เรามองเห็นสถานการณ์และตัวเองได้ชัดขึ้น บางเล่มก็พูดกับเราอย่างตรงไปตรงมา บางเล่มไม่ แต่กลับทำให้เราได้ตกตะกอนก้อนขะมุกขมัว บอกเราถึงความรู้สึกที่เราไม่เข้าใจ เชื่อมเราเข้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกภายในได้
เราว่าการมูฟออน ไม่ได้มีหน้าตาเป็นเส้นตรง และการหมุนวนก็มีพลังไม่แพ้การพุ่งไปข้างหน้า
การเปลี่ยนผ่านและฤดูกาลมักทำให้เราประหลาดใจ ลมหนาวแรกของฤดู พายุฝนหลังความร้อนแล้ง อากาศร้อนอบอ้าวหลังผ่านค่ำคืน
รับรู้ ดื่มด่ำ ซึมซับ ร่วมมือ เรียนรู้ ไปกับอีกวันที่มาถึง
อ่านหนังสือกันค่ะ 😊
1
“ในการเยียวยาความเศร้า เราต้องยอมให้ตัวเองรู้สึกถึงความเจ็บปวด”
Grief Works: Stories of Life, Death and Surviving : คู่มือหัวใจสลาย
เขียนโดย: Julia Samuel
แปล: วรรธนา วงษ์ฉัตร
คู่มือหัวใจสลาย หนังสือโดยนักจิตบำบัดที่ทำงานกับผู้ที่ผ่านความสูญเสียมากว่า 25 ปี เรื่องเล่าอ่อนโยน และเล่าตรงเข้าไปที่ใจอย่างไม่อ้อมค้อม แม้หนังสือจะมุ่งไปที่คนที่สูญเสียคนรักจากความตาย แต่ความเศร้าและความสูญเสียมีอาณาบริเวณกว้างขวางกว่านั้น แต่ละประโยคและประสบการณ์ที่ร้อยเรียง พาเราเข้าไปสัมผัสตัวเราเอง อาจเป็นความผิดหวังเสียใจตอนเด็กๆ ความคับข้องในวัยรุ่น เหตุการณ์อยากลืม คนที่เราไม่อาจเข้าใจ ความทุกข์อึมครึมที่ไม่รู้จะอธิบายแบบไหน
เป็นหนังสือแบบที่ทำให้รับรู้ความเศร้าอย่างลึกซึ้งกว่าเดิม สบตา ยอมรับ เผชิญหน้า แล้วยอมให้ตัวเองได้เจ็บปวด
และบอกเราว่าสิ่งที่สะท้อนเคียงข้างในความเศร้า คือความรักทั้งของเราและคนที่เรารัก
2
“ในเมื่อมันเป็น love game งั้นเราก็มาเล่นกัน”
ดื่มเหล้าเคล้าชาตรีกับแวมไพร์ในคาบุกิโจ
เขียนโดย: รติพร ชัยปิยะพร
นิยายอ่านเพลินอ่านสนุกจากผู้เขียนที่เรียนมาทางปรัชญา และหลงใหลซับคัลเจอร์ญี่ปุ่น ตัวละคร ‘พอนจัง’ เป็นอีกภาคที่เราอยากเป็นเมื่อตกหลุมรักใครสักคน
เป็นหญิงสาวผู้รู้จักตัวเองดี และยืนยันที่จะ ‘ทำ’ ที่จะ ‘เป็น’ แคร์หรือไม่แคร์สิ่งใดอย่างรู้เนื้อรู้ตัวและไม่หวาดหวั่น
‘ดื่มเหล้าเคล้าชาตรีกับแวมไพร์ในคาบุกิโจ’ บอกกับเราว่า ความสัมพันธ์ขึ้นลง ห่างบ้างใกล้บ้างนั้นเป็นธรรมดาของชีวิต และการยืนหยัดในคุณค่าของตัวเองเป็นอำนาจภายในที่มีค่ายิ่งไม่ว่าในช่วงเวลาไหน หรือต้องผ่านประสบการณ์ใด
เป็นหนังสือที่ท้าทายความรัก ความหลงใหล ทำให้เราสำรวจความหมายของความสัมพันธ์ไประหว่างอ่าน ลุ้นไปกับหญิงสาวผู้หลงรักกลางคืนและโฮสต์หนุ่มในคาบุกิโจ
3
“ฉันอยากจะโยนอะไรสักอย่างลงไปในทะเล ฉันรู้สึกว่าจำเป็น”
มือสังหารบอด The Blind Assassin
เขียนโดย: มาร์กาเร็ต แอ๊ตวูด
แปล: นันทพร ปีเลย์ โพธารามิก
มือสังหารบอดเป็นนิยายเล่มหนาระดับรางวัลของ Margaret Atwood ที่เล่าเรื่องของสองสาวพี่น้องตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิตจนถึงวันสุดท้าย
ผู้เขียนเล่าเรื่องผ่านมุมมองหลากหลาย ทั้งจากตัวพี่สาว จากตัวนิยายอีโรติกพิสดารที่น้องสาวเขียน และจากบุคคลอื่น ความรู้สึกและความคิดที่ถูกเล่าอย่างละเอียดลออ เหตุการณ์แล้วเหตุการณ์เล่าที่พลิกผันเปลี่ยนชีวิต แต่ละส่วนเสี้ยวถักร้อยขึ้นมาเป็นสิ่งที่เราเป็น บอกให้ตัวเองเป็น และบอกให้คนอื่นรู้ว่าเป็น
ในความหนา คือความสนุกติดพัน เวลาที่เราไม่ยอมมูฟออนเสียที หนังสือแบบนี้คือสุดยอดแผนที่สำรวจ
4
“อนาคตจะเป็นยังไงก็ไม่รู้นะคะ ขอแค่จัดการตัวเองให้เข้าที่เข้าทางได้ก็พอ ต้องมีทางไปสักทางล่ะ”
ห้องอาหารนกนางนวล (かもめ食堂)
เขียนโดย: มูเระ โยโกะ
แปล: สิริพร คดชาคร
ห้องอาหารนกนางนวล เป็นงานเขียนของ มูเระ โยโกะ ผู้เขียน วันที่เหมาะกับขนมปัง ซุป และแมว หนังสือเล่าถึงผู้หญิงญี่ปุ่น 3 คนที่เดินทางประเทศฟินแลนด์ด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป แต่สิ่งที่คล้าย คือ พวกเธอต่างเหมือนนกที่เพิ่งกางปีกบินสู่โลกกว้างจริงๆ เป็นครั้งแรกในวัยที่ใครๆ ต่างมองว่ายากที่จะเริ่มต้นอะไรใหม่แล้ว
ตัวละครแต่ละตัวเจอกับช่วงเวลาที่ยาก และเลือกเดินออกจากสิ่งที่ฉุดรั้งพวกเธอไว้ มันไม่ง่าย หลายครั้งเป็นไปโดยแทบไม่รู้ตัว แต่ไม่ว่าจะเตรียมใจอย่างไร รู้ตัวแค่ไหน ‘วิกฤต’ นั้นเกิดได้เสมอ และ ‘การเริ่มใหม่’ ก็เช่นกัน
หนังสืออ่านสบายๆ รวดเดียวจบเล่มนี้เคยเป็นภาพยนตร์เมื่อปี ค.ศ. 2006
5
“เราจะเห็นโลกงามได้อย่างไร”
หนึ่งปี•แสง In Darkness We Light – ศิลปะบำบัด อิสรภาพของการค้นพบความมืด สี และแสงภายใน
เขียนโดย: ครูมอส – อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี
หนึ่งปี • แสง หนังสือของครูมอส – อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี จิตรกรและนักศิลปะบำบัดที่เล่าถึงศิลปะบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญา โลกที่สีสัน ความมืด จะพาเราไปพบแสงสว่างที่ซ่อนอยู่ภายใน
ในโลกที่มีฤดูกาล ผู้เขียนบอกกับเราว่าหัวใจของมนุษย์ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน เรามีฤดูฟ้าครึ้ม ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูหนาว ฤดูสดใส ที่เปลี่ยนไปอยู่ข้างในตัวเรา ถ้าปีนี้ทำให้ฤดูภายในของเราเปลี่ยนยากกว่าที่เคย ฝน หนาว หรือร้อนแล้ง ติดค้างอยู่ในใจนาน ใช้ปีใหม่นี้ ที่จะทบทวน มองเห็น แล้วปฏิสัมพันธ์กับโลกภายในของเรา
มูฟออนอย่างบทกวี อ่อนโยน ค่อยๆ พลิกเปลี่ยนหน้า หายใจ และให้เวลา
6
“การกวดขันกับตัวเองที่เราเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขความเป็นมนุษย์นั้น
แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่ทึกทักขึ้นมาเองหรือเปล่า”
Why Grow up? เติบโตอย่างไรไม่เจ็บปวด
เขียนโดย: Susan Neiman
แปล: โตมร ศุขปรีชา
ถ้าการเติบโตกำลังเป็นความเจ็บปวดและทำให้วิตกกังวล หนังสือเล่มนี้ อาจเปิดประตูบานใหม่ๆ ค่ะ
Susan Neiman พาเราย้อนประวัติศาสตร์ความคิดของบรรดานักปรัชญา ทบทวนการมองโลก การศึกษา คุณค่า และการใช้ชีวิตของเรา ในโลกที่หลายคนอาจรู้สึกว่าไม่เหมาะกับคนยุคเราเอาเสียเลย โดยเฉพาะกับคนอายุประมาณ 20-35 หนังสือเล่มนี้จะช่วยทำให้เห็นว่า ทำไมการเติบโตถึงได้เจ็บปวดนัก และมันมีทางไหนน่าสนใจกว่าที่เรากำลังพยายามกันอยู่อีกไหม
เราต้องโตแค่ไหนกัน การเติบโตเป็นเรื่องเดียวกับการได้รับการยอมรับ เก่ง ดัง ร่ำรวย ฉลาด หรือปรับตัวได้เก่งรึเปล่า?
ขอลงท้ายด้วยประโยคชวนมูฟออน “การเติบโตคือภาวะอุดมคติโดยตัวของมันเอง มันเป็นสิ่งที่แทบไม่อาจบรรลุได้เต็มที่ในตัวเอง แต่กระนั้นก็คุ้มค่าที่จะไขว่คว้าต่อสู้”
7
“ความสุขอันเจิดจรัสไม่อยู่ในสถานการณ์หรือสิ่งใด…เรารู้จริงๆหรือว่าอะไรทำให้เรามีความสุข”
สุขจรัสแสง: คู่มือผู้ใช้งานจิต (Radically Happy: A user’s guide to the mind)
เขียนโดย: พักชก ริมโปเช และ เอร์ริก โซโลมอน
แปล: สายพิณ กุลกนกวรรณ ฮัมดานี
หนังสือพาตั้งหลักกันใหม่ ไม่ว่าจะผ่านอะไรมาในปีนี้ ตอนนี้อาจได้เวลาเติมเครื่องมือให้กับกายใจแล้ว
งานเขียนโดยธรรมาจารย์ชาวธิเบตและผู้บริหารสายเทคในซิลิคอนวัลเลย์ ถึงวิธีการที่เราจะพบกับความอิ่มเอม สงบสุข ในชีวิตทั้งประจำวันและในระยะยาว เล่าง่ายๆ เป็นบทๆ ผ่านประสบการณ์ นิทาน งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ พร้อมแบบฝึกหัด ให้เราได้เริ่มต้นลองบริหารจิต จัดการใจ พบความอิ่มเอมต่อชีวิตได้
สำหรับหลายคน การภาวนาอาจทำให้นึกถึงศาสนาพุทธ หรือรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ชวนลองเริ่มต้นกับหนังสือเล่มนี้ อ่านเพลิน ตรงไปตรงมา และลึกซึ้ง
8
“เผยให้เห็นโลกในอุดมคติที่เรากำลังสร้าง แสดงให้เห็นว่าโลกเราสามารถเป็นอย่างไรได้
ทำให้โลกนั้นไม่ใช่แค่รู้สึกว่าเป็นไปได้ แต่เป็นสิ่งที่เราไม่อาจหยุดยั้งได้”
คู่มือปลุกปั่นเพื่อสร้างสรรค์: กล่องเครื่องมือเพื่อการปฏิวัติ
เขียนโดย: Andrew Boyd, Dave Oswald Mitchell
แปล: เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, สรวิสิฐ โตท่าโรง
มีคนเคยบอกว่า ถ้าเราได้สัมผัสความทุกข์ของคนอื่นมากขึ้น เราจะมูฟออนเป็นวงกลมน้อยลง และในสถานการณ์ทางสังคมช่วงนี้ หนังสือเล่มนี้คืออีกหนึ่งตัวแทนของการมูฟออนเลยค่ะ
คู่มือปลุกปั่นเพื่อสร้างสรรค์ เป็นหนังสือแปลที่นักกิจกรรมทางสังคมหลายคนยกให้เป็นหนังสือในดวงใจ หนังสือเล่าถึงสารพัดวิธีการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติวิธีจากทั่วโลก เต็มไปด้วยแนวคิดเชิงปรัชญาที่น่าสนใจ มุมมองที่เห็นความเป็นมนุษย์ของคนรอบตัว สนุก ทันสมัย ชวนคุยว่าการเคลื่อนไหวต่างๆ รอบตัวเรานั้นจะเกิดขึ้น สร้างการรับรู้ และสัมฤทธิ์ผลในมิติต่างๆ ได้อย่างไร
เป็นหนังสือพ็อกเกตบุคที่กราฟฟิกจัดเต็ม อ่านง่ายสบายๆ และครอบคลุมทั้งวิธีการ วิธีคิด และความเป็นมนุษย์
ชวนเขยื้อน มูฟไปด้วยกันทั้งสังคม
9
“เหงา ให้ออกกำลังกาย ถึงไม่หายเหงา อย่างน้อยร่างกายเราก็แข็งแรง”
ชายหนุ่มผู้ไม่ทำอะไรเลย
เขียนโดย: องอาจ ชัยชาญชีพ
บันทึกที่ผู้เขียนโปรยไว้ว่าเป็นบันทึกไร้สาระของชีวิต
หนังสือเล่มบางอ่านสบายๆ กับเรื่องราวจิปาถะในเรื่องรอบตัว เล่าถึงความรัก การก้าวข้ามช่วงเวลายากลำบาก ความเหงา ความเจ็วปวด ความห่วงกังวล และอีกหลายเรื่องราวหนักหนา ผ่านเรื่องของแมว รถมอเตอร์ไซค์ การไปซื้อนม การแอบรัก และอื่นๆ ของชายหนุ่มผู้ไม่ทำอะไรเลย
ชายหนุ่มผู้บอกเราอย่างอ่อนโยนว่า ชีวิตก็เป็นแบบนี้แหละ ธรรมดาๆ เอนหลัง แล้วก็เงี่ยหูฟัง
10
“รู้หรือไม่ว่า เวลาเฉลี่ยที่คนเราควรพักผ่อนต่อวันคือ 5 ชั่วโมง”
พักผ่อนศาสตร์ ศาสตร์แห่งการพักให้ได้พัก(อย่างแท้จริง) The art of rest
เขียนโดย: Claudio Hammond
แปล: สาริศา กนกวรกิตติ์
รู้หรือไม่ว่า เวลาเฉลี่ยที่คนเราควรพักผ่อนต่อวันคือ 5 ชั่วโมง” และที่สำคัญคือ การพักที่ว่าไม่ใช่การนอน
อยากชวนทุกคนรับวันหยุด และก้าวเข้าสู่การเริ่มต้นใหม่ๆ ด้วยการรู้ว่า นอกจากชีวิตต้องสู้ ต้องมูฟออนแล้ว ชีวิตก็ต้องพักด้วย
หนังสือเล่มนี้เล่าถึงหลายวิธี หลายรูปแบบ พร้อมเหตุผลหนักแน่นอ่านสนุก ว่าเราต้องพักจริงๆ และแต่ละวิธีการพักก็ให้ประโยชน์กับทั้งร่างกายและจิตใจต่างๆ กันไป บางวิธีช่วยพัฒนาสมอง บางวิธีช่วยให้เราสงบได้ในเวลาที่น่าเสียสติ บางวิธีบรรเทาอาการเจ็บปวดเรื้อรังได้อย่างน่าอัศจรรย์
ฟื้นฟูกายใจให้ปกติสุข และไม่ควรมีใครต้องรู้สึกผิดเพราะต้องการพัก
โดยเฉพาะในช่วงเวลาแบบนี้ 😊