- Better Days เป็นภาพยนตร์ดรามาสัญชาติจีนในปี 2019 บอกเล่าเรื่องราวของเฉินเหนียน นักเรียนชั้นม.6 ที่กลายเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งรังแกจากคำพูด การทำร้ายร่างกาย และไซเบอร์บูลลี่จากเพื่อนร่วมชั้นที่ตามราวีเธอไม่เลิกไม่ว่าจะในโรงเรียนหรือนอกโรงเรียน
- สิ่งที่บีบหัวใจผู้ชมคือแม้ครูกับตำรวจจะเห็นใจเฉินเหนียนที่ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งรังแก แต่สุดท้ายแล้วพวกเขากลับดีแต่พูดและไม่สามารถปกป้องอะไรเธอได้ ทำให้เฉินเหนียนตัดสินใจเลือกป้องกันตัวเองในแบบของเธอ
- การถ่ายทอดความรู้สึกกดดัน สิ้นหวัง และหดหู่จากการกลั่นแกล้งรังแกได้อย่างสมจริงทำให้ ‘โจวตงอวี่’ ผู้รับบทเฉินเหนียนโด่งดังแบบสุดๆ จนนิตยสาร Forbes จัดอันดับให้เธอเป็นดาราหญิงจากแดนมังกรที่ทรงอิทธิพลที่สุดในปีเดียวกัน
[*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์]
“คนพวกนั้นข่มเห่งฉันมาตลอด แต่ทำไมพวกเธอถึงไม่ทำอะไรเลย”
คำพูดก่อนเสียชีวิตของหูเสี่ยวตี้ เพื่อนนักเรียนชั้นม.6 ที่กระโดดตึกฆ่าตัวตายดังก้องในความคิดของ ‘เฉินเหนียน’ นางเอกนัยน์ตาเศร้าจากภาพยนตร์เรื่อง Better Days ที่มีดีกรีเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในปี 2021
แม้จะไม่เคยช่วยเหลือหูเสี่ยวตี้ในตอนที่ยังมีชีวิต แต่ตอนที่ร่างไร้วิญญาณนั้นนอนแน่นิ่งอยู่กลางลานกว้าง เฉินเหนียนกลับไม่ลังเลที่จะเอาเสื้อกันลมมาปิดบังใบหน้าของเพื่อนเพื่อปกป้องเธอจากการถูกนักเรียนเกือบทั้งโรงเรียนถ่ายคลิปด้วยความตื่นเต้นมากกว่าความรู้สึกสงสาร โดยหารู้ไม่ว่าการกระทำนั้นจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอกลายเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งรังแกคนถัดไป
เอาหมึกราดบนเก้าอี้ พูดจาจิกกัด ผลักตกบันได ตบลูกวอลเลย์บอลใส่ เอาเรื่องขายของเถื่อนของแม่มาประจานในแชทกลุ่ม คือตัวอย่างบางส่วนของชะตากรรมอันโหดร้ายของเฉินเหนียน
สิ่งที่ผมไม่เข้าใจเลย คือทุกครั้งที่เฉินเหนียนถูกกลั่นแกล้งไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน กลับไม่มีใครเลยสักคนที่จะยืนหยัดเคียงข้างเธอ
ทั้งเพื่อนที่ดูเพิกเฉย นิ่งเงียบ หรือไม่ก็หลบสายตา ครูที่พยายามจบเรื่องนี้ด้วยการประนีประนอมทุกครั้งโดยให้เหตุผลว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสอบ ‘เกาเข่า’ หรือการสอบเอนทรานซ์สุดหินของจีน ดังนั้นหากลงโทษไปแล้วเกรงว่าอาจเป็นการตัดอนาคตของนักเรียนที่กระทำผิดหลายชีวิต
“พวกเขายังเด็กนัก เราต้องให้โอกาสพวกเขาแก้ตัว พยายามอย่าคิดมากเรื่องนี้ อย่ายอมให้มันทำเธอไขว้เขว” ครูคนหนึ่งกล่าวกับเฉินเหนียน
ในฐานะที่เคยเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งรังแก ผมเข้าใจและรับรู้ความเจ็บปวดสิ้นหวังของเฉินเหนียนเป็นอย่างดี เพราะตอนเด็กๆ ผมเองมักถูกแก๊งนักเลงประจำรุ่นบูลลี่เรื่องรูปร่างหน้าตา รีดไถเงิน และทำร้ายร่างกายจนบริเวณแขนทั้งสองมีรอยช้ำเป็นประจำ ซึ่งแปลกที่เพื่อนสนิทของผมต่างเมินเฉยและไม่เคยให้ความช่วยเหลือผมเลยสักครั้ง โดยพวกเขาเพิ่งจะสารภาพกับผมเมื่อไม่นานมานี้ ว่าเป็นเพราะในเวลานั้นตัวเขาเองก็กลัวและไม่อยากโดนลูกหลงไปกับผมด้วย
ส่วนคุณครูที่ผมไปขอความช่วยเหลือก็มักรับปากจะจัดการให้ผมแบบ ‘ขอไปที’ และไม่เคยทำอะไรมากกว่าการสัญญาด้วยลมปาก แต่หากในกรณีนั้นผมถูกรุมทำร้ายถึงขั้น ‘ปากแตก เลือดกำเดาไหล’ ครูหลายคนดูจะกระตือรือร้นเข้ามามีส่วนร่วม ผ่านการดุด่าแก๊งนั้นพอเป็นพิธี ก่อนจะฟาดไม้เรียวไปคนละ 4-5 ครั้งอย่างฉุนเฉียว พร้อมกับตัดคะแนนจิตพิสัยเพื่อนนักเรียนที่ก่อเหตุ ซึ่งจนบัดนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจกฎระเบียบของโรงเรียนในเรื่องการตัดคะแนนความประพฤติ เพราะแก๊งที่ก่อเหตุนี้กระทำผิดเป็นประจำซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเรื่องเดิมๆ พักการเรียนกี่ครั้งก็ไม่เคยได้สำนึก สุดท้ายทางโรงเรียนก็มามุกเดิมทุกครั้งคือเลือกที่จะประคับประคองกลุ่มอันธพาลนี้ให้เรียนจนจบชั้นม.6 ทุกคน
ต่างกับผมที่คุณครูหลายคนทำได้เพียง ‘ปลอบใจ’ และขอให้ผม ‘ให้อภัย’ เพื่อนนักเรียนกลุ่มนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยไม่สนใจว่าทุกครั้งที่ผมนำเรื่องนี้มาบอกครู เพื่อนนักเรียนเหล่านั้นจะยิ่งทวีความโกรธแค้นและหาทางกลั่นแกล้งผมมากขึ้น จนผมแทบจะเป็นซึมเศร้าและรู้สึกโดดเดี่ยวที่ต้องเผชิญกับปัญหาที่มืดแปดด้านเพียงลำพัง ส่วนพ่อแม่ของผมก็ปล่อยปละละเลยกับเรื่องนี้ ทั้งยังมองว่าการกลั่นแกล้งรังแกมันมีทุกที่ “เรื่องแค่นี้ต้องอดทนผ่านมันไปให้ได้ โตขึ้นมีเรื่องที่น่าปวดหัวกว่านี้อีกเยอะ”
ย้อนกลับมาที่เรื่องของเฉินเหนียน เธอไม่มีทั้งเพื่อนสนิทและไม่กล้าไปเล่าให้ครูคนไหนฟัง โดยบุคลิกแบบนี้ชวนให้ผมนึกถึงเหตุการณ์เวลาที่เด็กบางคนถูกเพื่อนรังแก แล้วผู้ใหญ่ชอบถามว่า “ทำไมไม่สู้ ไม่ชกกลับ” ซึ่งคำตอบของผมก็คือ เพราะเด็กแต่ละคนต่างมีบุคลิกในแบบของตัวเอง เด็กบางคนไม่ได้อ่อนแอแต่รักสงบจึงได้แต่กล้ำกลืนความเจ็บปวดนั้นไว้ลำพัง
เฉินเหนียนได้รู้จักกับตำรวจนักสืบที่เข้ามาสืบสวนเรื่องการฆ่าตัวตายของหูเสี่ยวตี้ในโรงเรียน ไม่นานทางตำรวจก็เริ่มรู้แล้วว่าเฉินเหนียนเองก็ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งรังแกเช่นกัน แต่ด้วยคำว่า ‘เยาวชน’ ทำให้การจะดำเนินคดีมีความยุ่งยากและซับซ้อนกว่าคดีของผู้ใหญ่ ดังเช่นบทสนทนาของตำรวจสองคน
“มีเรื่องนึงที่ต้องบอกให้นายรู้ไว้ พวกคดีคุกคามกันในโรงเรียนเนี่ย…มันยากจัด หลักฐานไม่แน่นหนาพอนายก็ยื่นฟ้องไม่ได้ ท้ายที่สุดกระทรวงศึกษาฯมักเข้ามาแทรกแซงเสมอ
ไม่นานมานี้ มีกลุ่มนักเรียนม.ปลายรุมยำเพื่อนร่วมชั้นจนตาย ตอนที่ฉันไปสอบปากคำพวกเขา ไม่มีใครเลยที่คิดว่าคนเราสามารถยำใครคนหนึ่งถึงตายได้
แค่เพราะคดีพวกนี้เกิดขึ้นในสถานศึกษา ไม่ได้แปลว่าทางโรงเรียนต้องรับผิดชอบ ถ้านายพยายามคุยกับครูใหญ่ เขาก็โบ้ยไปที่พวกครู พอนายไปหาครู พวกเขาก็โบ้ยต่อไปที่ผู้ปกครอง แล้วผู้ปกครองก็จะอ้างว่าฉันทำงานที่เซินเจิ้น(พื้นที่ห่างไกลจากบ้าน) ปีๆ หนึ่งเจอลูกหนเดียว ทีนี้จะเหลือใครได้อีกล่ะ”
เมื่อปรึกษาขอความช่วยเหลือใครไม่ได้ เฉินเหนียนก็เริ่มหาวิธีปกป้องตัวเองด้วยการจ้าง ‘เสียวเป่ย’ อันธพาลข้างถนนที่เธอเคยช่วยชีวิตโดยบังเอิญให้ช่วยเป็นบอดี้การ์ดส่วนตัวในเวลาที่เธอเดินกลับบ้าน หลังเคยโดนกลุ่มเพื่อนนักเรียนตามมาดักรอหน้าบ้านพร้อมอาวุธจากการที่เฉินเหนียนให้การซัดทอดกับตำรวจถึงสาเหตุการคิดสั้นของหูเสี่ยวตี้ว่าถูกเพื่อนกลุ่มดังกล่าวกลั่นแกล้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แน่นอนว่าพอมีเสียวเป่ยออกหน้าคุ้มกัน เฉินเหนียนก็เริ่มใช้ชีวิตอย่างปกติสุขมากขึ้น แต่แล้ววันหนึ่งที่เสียวเป่ยติดธุระ กลุ่มเพื่อนนักเรียนจึงอาศัยโอกาสในการตบตี กล้อนผม และฉีกเสื้อผ้าของเฉินเหนียนจนขาดวิ่น พร้อมกับถ่ายคลิปเก็บไว้ ทำให้จิตใจของเฉินเหนียนแทบแหลกสลาย เพราะสิ่งเดียวที่ทำได้คือการร้องไห้ออกมาดังๆ ให้กับความอยุติธรรมที่ใครก็ไม่อาจช่วยเธอได้
ในตอนท้ายเรื่อง ผมรู้สึกบีบหัวใจที่สุดกับฉากสะเทือนอารมณ์ที่เฉินเหนียนเผลอทำเพื่อนนักเรียนที่ทำร้ายเธอคนหนึ่งเสียชีวิต ส่งผลให้ตำรวจที่รู้จักเธอผิดหวังและต่อว่าเธอ ว่าหากเฉินเหนียนหัดเชื่อใจผู้ใหญ่บ้าง ปัญหาทุกอย่างคงได้รับการช่วยเหลือและไม่บานปลายมาขนาดนี้
“เป็นความผิดหนูรึไงที่หนูโดนข่มเหง…ใครหน้าไหนล่ะที่ช่วย ไอ้พวกที่ถ่ายคลิปหนูเหรอ รึไอ้พวกที่ยืนดู รึว่าพวกที่โทษหนูที่ดันตกเป็นเป้า ไม่เห็นมีใครช่วยได้เลย…
การแก้แค้นอาจดูเหมือนเรื่องปกติ แต่สำหรับเราที่ต้องทนมันมาตลอด เพียงเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเกาเข่า(เอนทรานซ์) สมควรถูกตราหน้าว่าผิดเหรอ นี่เหรอสิ่งที่โลกนี้ควรเป็น คุณคิดว่ามันเข้าท่าไหม” เฉินเหนียนบอกกับตำรวจ
หลังจากรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมยังคงคิดวกวนกับเรื่องราวของเฉินเหนียน เพราะไม่ว่าจะยุคไหน พวกผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้ปกครองกับคุณครูมักเลือกเมินเฉยและมองว่าการกลั่นแกล้งรังแกเป็นเรื่องธรรมดาที่นักเรียนทุกที่ต้องเผชิญ พวกเขามักให้ความสำคัญกับเรื่องวิชาการและการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากกว่าจะสนใจปัญหาสุขภาพกายสุขภาพจิตของเด็ก รวมถึงเพื่อนหรือ Bystander หลายคนที่แม้จะไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุแต่ก็มักจะนิ่งเฉยเพราะกลัวจะมีปัญหา ส่งผลให้คนที่ถูกกลั่นแกล้งรังแกค่อยๆ จมลงไปใต้มหาสมุทรแห่งความเศร้า เพราะหมดที่พึ่งที่ปรึกษาไม่สามารถระบายปัญหากับใครได้ หรือต่อให้บอกแล้วก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น
ยิ่งกว่านั้นผู้ใหญ่ส่วนมากก็มักแสดงอาการ ‘ปากว่าตาขยิบ’ และมักยึดหลักการประนีประนอมเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้จบๆ ไป พวกเขามักมองว่านักเรียนที่ก่อเหตุเป็นเพียงแค่ ‘เยาวชน’ ที่อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้นการจะตัดอนาคตด้วยการฟ้องร้องหรือการไล่ออกจากโรงเรียนจะพาลทำให้เด็กคนนั้นหมดอนาคต ซึ่งมองมุมหนึ่งก็เข้าใจได้ แต่อีกมุมผู้ใหญ่เหล่านั้นกลับไม่คิดสักนิดว่าเยาวชนบางคนก็ไม่สามารถกลับตัวกลับใจได้จริงๆ
แม้ผมอยากเสนอหรือปรารถนาให้มีระบบการร้องเรียนในโรงเรียน มีกฎหมายลงโทษเยาวชนที่รุนแรงขึ้น รวมถึงการมีนักจิตบำบัดประจำในทุกโรงเรียน แต่ดูแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับการเข็นครกขึ้นหิมาลัย จึงได้แต่หวังว่าเรื่องราวของเฉินเหนียนจะเป็นอุทาหรณ์ที่จะช่วยให้พ่อแม่และคุณครูยุคใหม่ รวมถึงภาคสังคมตื่นตัวและร่วมด้วยช่วยกันต่อต้านปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกทุกรูปแบบโดยไม่มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยที่ใครๆ ก็ต้องเจอ